วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่สี สิริญาโณ พระมหาเถระผู้เดินตามรอยธรรมพระโพธิญาณเถร วัดป่าศรีมงคล

ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่สี สิริญาโณ วัดป่าศรีมงคล ตำบลโนนกาเล็น อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี

หลวงปู่สี สิริญาโณ

ชาติภูมิ
หลวงปู่สี เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ เดือน พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๗ ตรงกับ วันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๖ ปี ชวด ณ บ้านเปือย หมู่ที่ ๓ ตำบลโนนกาเล็น อำเภอวารินชำราบ (ปัจจุบันเป็นอำเภอสำโรง) จังหวัดอุบลราชธานี

เป็นบุตรของโยมพ่ออินทร์ – โยมแม่นาง นามนาง
มีพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกัน คือ
๑. เด็กหญิงจันทร์มี นามนาง เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก
๒. หลวงปู่สี สิริญาโณ
๓. เด็กชายเนียม นามนาง เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก
๔. นายสง่า นามนาง อยู่ที่บ้านโนนใหญ่ อำเภอทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เสียชีวิตแล้ว
๕. นางหนู วรรณพาล อยู่ที่บ้านโนนใหญ่ อำเภอทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
๖. นางสิงห์ เจริญธง ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว
๗. นายฟอง อยู่ที่บ้านบุ่ง หมู่ ๔ ตำบลโนนกาเล็น อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี
๘. นายข่อง นามนาง อยู่ที่บ้านเปือย หมู่ ๑๒ ตำบลโนนกาเล็น อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี
๙. นายคำภา นานนาง อยู่ที่บ้านบุ่ง หมู่ ๔ ตำบลโนนกาเล็น อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี

หลวงปู่สี สิริญาโณ

• ชีวิตวัยเด็ก
เด็กชายสี นามนาง เป็นเด็กที่อยู่ในโอวาทของพ่อ – แม่ ว่านอนสอนง่ายเสมอ ด้วยเหตุที่ เด็กชายสี เป็นคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างผี คือ พี่สาวและน้องชาย ที่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก จึงทำให้เด็กชายสีได้เป็นพี่คนโตของน้อง ๆ โดยปริยาย คนเฒ่าคนแก่สมัยนั้นเรียกเด็กชายสี ว่า เป็นคนหามผี หรือหาบผี ในฐานะที่เป็นพี่คนโต เด็กชายสี จึงมีหน้าที่รับผิดชอบมากกว่าน้องคนอื่นๆ หน้าที่หลักคือ งานเลี้ยงควาย, ทำไร่อ้อย, และหาอาหาร ควายกินหญ้าทุกวันก็ต้องไปเลี้ยงทุกวันไม่มีวันจบสิ้น และทุกๆ วันที่ไปเลี้ยงควาย เด็กชายสี ก็จะหาอาหารไปด้วย เพื่อมาเป็นอาหารสำหรับครอบครัว ด้วยความอัตคัดขัดสนนี่เอง ที่ทำให้เด็กชายสี ต้องขยันอดทน ว่องไวใจกล้า แก้ปัญหาเป็น เมื่อวันใดครอบครัวขาดเขิน ข้าวขาดแลง แกงขาดหม้อ เด็กชายสีก็จะแบ่งห่อข้าวที่ไปเลี้ยงควายไว้ครึ่งหนึ่ง เพื่อเก็บไว้กินตอนเย็น ซึ่งเป็นการช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง อย่างน้อยอาหารมื้อเย็นในส่วนของตนน้องก็อิ่มได้หนึ่งคน

หลวงปู่สี สิริญาโณ

• ชีวิตเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่ม
เมื่อน้องโตขึ้น พอที่จะเลี้ยงควายแทนได้แล้ว นายสี ก็เอาใจใส่ในการดูแลไร่อ้อยเป็นหลัก จะเป็นคนที่มีรูปร่างเล็ก แต่ก็แข็งแรง บึกบึน ขยัน อดทน กระฉับกระเฉง ว่องไว ไฟแรง ชอบแสวงหารู้จากรุ่นพี่ คนเฒ่า คนแก่ เป็นประจำ จึงได้ฝึกหัด ช่างจักสาน และช่างไม้ด้วย ที่เคยได้บวชเรียน เขียนอ่านเพื่อที่จะให้ตัวเอง อ่านออกเขียนได้ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน หลังจากกลับจากไร่อ้อยในแต่ละวันพอตกเย็น นายสี ก็จะไปเล่นกับคนเฒ่า คนแก่ คนเฒ่าคนแก่จึงชอบ บางคนก็อยากได้มาเป็นเขย งานไร่อ้อยที่นายสีรับผิดชอบอยู่มีที่ประมาณ ๓ ไร่เศษ ต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษในช่วงต้นอ้อยยังเล็กต้องถอนหญ้าพรวนดิน ใส่ปุ๋ยจนกว่าจะโตสมบูรณ์

เมื่อต้นอ้อยโตแล้ว จึงมีเวลาว่าง ก็จะถางป่า เพิ่มขยายไร่อ้อยไปอีก จนวันหนึ่ง ขวานที่ใช้ถางป่า ได้ฟันเข้าที่เท้าซ้ายจนเป็นรอยแผลเป็น ถึงปัจจุบัน การทำไร่อ้อยของนายสี เป็นช่องทางหนึ่งที่สร้างรายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัว ที่เหลือก็จะเก็บไว้ซื้อนา ซื้อควาย ซึ่งในสมัยนั้น ถ้าใครมานามาก มีควายมาก ก็ถือว่ามีฐานะดี ร่ำรวย เมื่ออ้อยโตเต็มที่ ก็ตัดเอาไปบดเอาแต่น้ำ แล้วเอาไปต้มเคี้ยวจนเหลวเหนียว แล้วนำมาปั้นเป็นก้อน ตากให้แห้ง จึงนำไปขาย ที่อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ขณะนั้นกิโลกรัมละ ๒๕ สตางค์ , ๔ กิโลกรัม ได้ ๑ บาท และ ๑๒ กิโลกรัมก็จะได้ ๓ บาท

อยู่มาวันหนึ่ง ความคิดของนายสีก็เริ่มเปลี่ยนไป เกิดความเบื่อหน่ายกับการงานที่ทำ จำเจไม่จบไม่สิ้น อยากจะบวชเรียนเขียนอ่าน หาความรู้ใส่ตัว จึงพูดทีเล่นทีจริงกับพ่อแม่ว่า “อยากไปอยู่วัด คัดทหารแล้วไปบวช” พ่อแม่ยังไม่อยากให้บวช เพราะนายสีเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว เพื่อเติมเต็มให้น้องๆ ได้เติบใหญ่ สมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี เมื่อถึงอายุ ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ชายไทยทุกคนต้องรับการตรวจเลือกเป็นทหารกองเกิน ผลการตรวจเลือกออกมาว่า ไม่ต้องเป็นทหาร พ่อแม่ และนายสี ก็โล่งใจ อยู่ต่อมาความฝันที่คิดจะบวชก็ใกล้ความจริง เมื่อพ่อพานายสีไปฝากเป็นศิษย์วัดกับหลวงพ่อกลม เจ้าอาวาสวัดบ้านเปือย ม.๓ ต.โนนกาเล็น อ.วารินฯ (สำโรง) จ.อุบลฯ นายสีจึงมีโอกาสศึกษากฎระเบียบ วินัย กิจวัตรประจำวันของสงฆ์ และท่องหนังสือ ๗ ตำนาน พอถึงวันที่กำหนดบวชก็จัดงานบวชให้ ท่ามกลางความปีติยินดี ของญาติพี่น้องทุกคนโดยเฉพาะนายสีเอง เพราะมีจิตศรัทธาแรง ที่คิดจะบวชมานานแล้ว

• เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์
นาคสี ได้บรรพชาอุปสมบท เมื่ออายุ ๒๑ ปี วันที่ ๑๙ เดือน กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ ที่สิม วัดบ้านเปือย ( สิม เป็นศาลากลางน้ำใช้ในการทำสังฆกรรม เช่น บวชพระ – เณร เป็นต้น ในกรณีวัดที่ยังไม่มีโบสถ์) สมัยนั้นยังไม่มีโบสถ์ โดยมี พระครูศรีระสุนทร (ทา) เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อกลม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อสงค์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้รับ ฉายาว่า “สิริญาโณ

หลวงปู่สี สิริญาโณ

เมื่อบวชได้ ๓ พรรษา ตามประสาพระหนุ่มไฟแรง ก็อยากเรียนโน่นเรียนนี่ เรียนคาถาอาคมบ้าง ตามความนิยมในสมัยนั้น จึงไปเรียน “สนธิ มูลกระจาย” แต่ก่อนเรียกว่า “เฮียนสนเฮียนนาม” (ศาสตร์ชั้นสูง พระไตรปิฎก หลักไวยากรณ์ ภาษาบาลี – มคธ) ที่สำนักวัดบ้านโพธิ์ ต.โพธิ์ อ.กันทรารมย์ (อ.โนนคูณ) จ.ศรีสะเกษ (ญาถ่านพิมพ์) โพธิคุณ กับ พระครูโสภณ เจ้าอาวาสวัดบ้านโพธิ์

นอกจากนั้นยังเรียนปริยัติและบาลี สอบได้ นักธรรมชั้น โท ต่อมาคิดอยากจะท่องปาฎิโมกข์ จึงหาหนังสือมาท่องประมาณ ๒ เดือนเศษ ก็ท่องได้ขึ้นใจ พระสี บวชได้ ๔ พรรษา หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดบ้านเปือย ก็มรณภาพ พระสีก็รักษาการแทนต่อมา พระสีเป็นพระที่มีความมุมานะ ชอบทำงานใหญ่ พาญาติโยมบ้านเปือย กั้นน้ำร่องชี – ร่องบักยาง (ห้วยควร) ถ้าไม่มีความขยันอดทนสูงจำทำไม่ได้ เพราะบริเวณที่กว้างและยาวมาก และยังใฝ่หาความรู้ตลอดเวลา แสวงหาพระเถระผู้ใหญ่ ที่มีความรู้ความชำนาญ เพื่อจะขอเป็นศิษย์ และศึกษาธรรมะด้วย จนในละแวกเขตใกล้เคียง ไม่มีที่ใด น่าไปศึกษา พระผู้ใหญ่ก็ไม่มีอะไรจะสอนอีก กระทั้งปี พ.ศ.๒๔๙๕ ขณะนั้นพระสีบวชได้ ๘ พรรษา มีความรู้มากขึ้น อายุมากขึ้น และพรรษามากขึ้น ญาติโยมก็เริ่มเรียกพระสีว่า “พระอาจารย์สี” สุดท้ายก็เรียก “ญาถ่านสี

ญาถ่านสี นอกจากจะขยันหมั่นเพียรศึกษาธรรมะ หาความรู้ และยังช่วยงานพระอุปัชฌาย์ทามาตลอด จนได้รับความไว้วางใจเป็นพิเศษ พระอุปัชฌาย์ทา จึงคิดที่จะให้ญาถ่านสีมาเป็นอุปัชฌาย์แทนตน เพราะอายุมากแล้ว แต่ยังไม่พูดอะไร และในปีนี้เอง (พ.ศ.๒๔๙๕) ญาถ่านสี คิดอยากเปลี่ยนไปสถานที่ไกลๆ เผื่อจะได้มีโอกาสพบปะ พระเถระผู้ใหญ่ พอจะศึกษาธรรมะด้วย จึงตัดสินใจไปที่บ้านคอแลน อ.บุณฑริก จ.อุบลฯ อยู่ที่นี้เป็นเวลา ๔ ปี แต่จำพรรษาจริงๆ แค่ ๒ พรรษา ช่วงที่อยู่วัดคอแลน ได้พาพระเณร ญาติโยมพัฒนาวัด สร้างศาลา กุฏิให้กว้างขวางขึ้น เพราะศาลาหลังเก่าคับแคบไม่พอที่จะให้โยมมาทำบุญ เจ้าคณะอำเภอบุญฑริกเห็นว่าญาถ่านสี เป็นพระที่มีความรู้ ความสามารถ เลยจะแต่งตั้งให้เป็น เจ้าหน้าที่ผู้เผยแพร่พระพุทธศาสนา ของอำเภอบุญฑริก แต่ญาถ่านสี ไม่ชอบในลาภยศสรรเสริญ จึงไม่ขอรับตำแหน่งและกลับมาที่บ้านเปือยในปี พ.ศ.๒๔๙๘

คราวนี้ญาถ่านสี คิดที่จะสร้างโบสถ์วัดบ้านเปือย จึงปรึกษาหาหรือกับผู้นำหมู่บ้านตอนนั้นมี พ่อใหญ่ดี (ด่าง) กุลบุตรดี เป็นผู้ใหญ่บ้านท่านมีธุระมาก ไม่มีเวลาที่จะดูแล การก่อสร้างโบสถ์ได้ จึงยังไม่ให้สร้างเลยต้องล้มเลิกไป ญาถ่านสีเสียความตั้งใจ จึงออกท่องเที่ยวไปในเขตตำบลอื่น จึงได้มาพบกับหลวงพ่อพระครู วัดบุ่งหวาย ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และสนทนากันเรื่องธรรมะ หลวงพ่อพระครู วัดบุ่งหวาย จึงได้หยิบหนังสือธรรมะของเจ้าคุณพุทธทาส มาอ่านให้ฟัง ท่านเกิดความรู้สึกชอบในหนังสือเล่นนั้น เพราะมีแต่ธรรมดีๆ คิดอยากจะเห็นหน้าท่านเจ้าคุณพุทธทาสขึ้นมา จึงตัดสินใจเดินทางไป ที่วัดสวนโมกข์พลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี กับอาจารย์ศักดิ์ เมื่อไปถึงเข้ากราบนมัสการท่านเจ้าคุณพุทธทาส เพื่อฝากเนื้อฝากตัว และแจ้งวัตถุประสงค์การครั้งนี้ พอเริ่มศึกษาไปได้พักหนึ่ง จิตใจเริ่มไม่ชอบ คำเทศน์คำสอนของท่านดีมีสาระ แต่ไม่ชอบที่ไม่ถือวินัย เช่น ขุดดิน พรากของเขียว ด้วยตัวเอง เป็นต้น จึงขอกราบลาท่านเจ้าคุณพุทธทาสกลับสู่อุบลราชธานี ดังเดิม

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ได้พบกับพระอาจารย์อินทร์ ซึ่งเป็นคนชอบฟังธรรม ที่ไหนมีการแสดงธรรมเทศนาของพระดังๆ ก็จะเดินทางไปฟังเป็นประจำ ขณะนั้นวัดหนองป่าพงเริ่มมีคนรู้จัก หลวงปู่ชาเริ่มมีคนกล่าวถึง ในสาระเนื้อหาการแสดงพระธรรมเทศนาของท่าน พระอาจารย์อินทร์จึงชวนญาถ่านสีไปฟังธรรมหลวงปู่ชา ที่วัดหนองป่าพง เดินทางโดยทางเท้าเพราะยังไม่มีถนน มีแต่ทางเกวียนเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน บางหมู่บ้านก็ไม่มีเลย ต้องเดินลัดเลาะตามป่าละเมาะ ทุ่งไร่ ทุ่งนา ใช้เวลาเดินทางเกือบค่อนวัน จึงลำบากพอควร พอไปถึงวัดหนองป่าพง เข้าไปกราบหลวงปู่ชา บอกท่านว่า อยากมาฟังธรรมครูบาอาจารย์ (สมัยนั้นพระชอบเรียก-พระผู้มีพรรษามากกว่าว่า ครูบาอาจารย์) ปีนั้นคนฟังธรรมยังไม่มีมากจึงมีเวลาสนทนาเรื่องธรรมะมากพอสมควร

หลวงปู่สี สิริญาโณ

วันนั้นหลวงปู่ชาได้เทศน์เรื่อง อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น และเรื่องของการปล่อยวางอุปาทาน การไม่ยึดมั่นถือมั่นความเป็นอนัตตา ญาถ่านสีได้ฟัง เกิดความคิดขัดแย้งขึ้นในใจ และด้วยมานะทิตฐิในตัว ที่เข้าใจว่า ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมาเหมือนกัน จึงถ่ามขึ้นว่า
” แล้วที่ครูบาอาจารย์ ฉันในบาตร อยู่ในป่า ห่มผ้า ๓ ผืน มันบ่แม่นการมีอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นบ้อ”
หลวงปู่ชาจึงพูดว่า = ” เอ๋า…..! เป็นจังได๋ว่าไปเบิ่ง”
ญาถ่านสีจึงได้พูดว่า = ” การฉันในบาตร บ่ยอมฉันในภา อยู่แต่ในป่าบ่อยู่ในบ้าน ถือผ้าแค่ 3 ผืน บ่ยอมเปลี่ยนแปลง ถึงสิมีผู้หามาถวาย กะบ่ยอมเปลี่ยน ยังคงเฮ็ดคือเก่า แล้วสิบ่ให้เอิ้นว่า อุปาทานได้จักได๋ “
หลวงปู่ชา = “ท่านเคยไปตลาดบ่”
ญาถ่านสี = ” เคย “
หลวงปู่ชา = ” เห็นคนเขาซื้อกล้วยบ่ “
ญาถ่านสี = ” เห็น “
หลวงปู่ชา = ” เขาซื้อกล้วยเขาปอกเอาแต่เนื้อมันบ้อมา เปลือกเขาบ่กิน เขาเอาอยู่บ้อ เป็นหยังเขาจังเอาเปลือกมันมานำ เป็นหยังเขาบ่เอาเปลือกมันถิ่ม เอาแต่เนื้อมันมา มันกะเป็นแนวของมันจังซี่ อันนี้มันกะคือกัน อันนี้กะแนวของพระกรรมฐาน บ่แม่นแนวเอา เป็นแนวใช้ มันกะเป็นของมันแนวนี้ “

แล้วหลวงปู่ชาจึงได้เทศน์อธิบายเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ และธรรมะนานพอสมควร ท่านได้ฟังแล้วทำให้จิตใจสงบเยือกเย็นลง เกิดความเคารพศรัทธาในหลวงปู่ชาขึ้นมา (หลวงปู่ชาได้พูดกับญาถ่านสีภายหลังว่า “เทศนาวันนั้น พลิกแผ่นดินเทศน์เลยนะ) หลังจากได้ฟังธรรมแล้ว ทำให้ท่านเกิดความศรัทธาอยากประพฤติปฏิบัติ จึงได้กลับมาสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นมา ที่บ้านเปือย (ปัจจุบันคือที่ตั้งโรงเรียนบ้านเปือย) จากนั้นก็เข้าไปฟังธรรมจากหลวงปู่ชาอยู่เนืองๆ มิได้ขาด จนมั่นใจว่าทางนี้แหละที่ท่านจะก้าวเดินต่อไป ท่านคิดว่า การที่จะไปอยู่วัดหนองป่าพงดื้อๆ ง่ายๆ นั้น ไม่ได้แน่ เพราะผู้ใหญ่ดี (ด่าง) เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านเปือยสมัยนั้นเป็นคนที่อิทธิพลมีอำนาจมาก สั่งอะไรต้องได้หมดไม่มีใครไม่เกรงกลัวผู้ใหญ่ดี

ญาถ่านสีจึงคิดหาอุบายที่จะไปจึงคิดว่า ต้องสร้างโบสถ์วัดบ้านเปือย เมื่อสร้างเสร็จก็จะย้ายที่อยู่หรือไปจำพรรษาที่อื่นก่อน จึงจะกลับมาที่เดิมได้ เพราะตามประเพณีธรรมเนียมปฏิบัติของพระสงฆ์ รูปใดสร้างถาวรวัตถุ อะไรแล้วเสร็จต้องย้ายไปจำพรรษาที่อื่น ช่วยจังหวะนี้คงพอจะมีโอกาสไปวัดหนองป่าพงได้ พอคิดได้ก็เริ่มวางแผนงานดูสถานที่ จุดที่จะสร้างพร้อมทั้งโครงการกำหนดไว้ ๕ ปีต้องแล้วเสร็จ และในการสร้างโบสถ์ครั้งนี้ มีการกำหนดไว้ว่า ชาวบ้านเปือยครัวเรือนใด ที่มีคนหนุ่มคนสาวอยู่ในครอบครัวจะต้องจายเงินช่วยสร้างโบสถ์ ใช้ดินบริเวณร่องชี ตัดต้นไม้ในป่าสาธารณะ (ป่าช้า) ใกล้ๆ มาเป็นเชื้อเพลิงในการเผาอิฐ ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ เริ่มเผาอิฐ วางผังตอกเสาเข็มเทคาน ก่ออิฐ จนการสร้างโบสถ์แล้วเสร็จสมบูรณ์ในต้นปีปี พ.ศ.๒๕๐๙ เสร็จตามกำหนด ๕ ปี

จากนั้นชาวบ้านโคก (บ้านดอนผึ้ง) ก็มานิมนต์ท่านไปจำพรรษาที่วัดบ้านโคก เพื่อเป็นการย้ายที่อยู่ หลังจากสร้างโบสถ์เสร็จ จำพรรษาอยู่วัดบ้านโคก ๒ พรรษา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ และ พ.ศ.๒๕๑๑ สมัยที่ท่านอยู่วัดบ้านโคก ก็ได้พาพระ เณร ญาติโยม สร้างศาลา ๑ หลัง กุฏิ ๑ หลัง เพราะญาติโยมบ้านโคกเริ่มจะเข้าวัด ท่านไม่ใช่คนนิ่งดูดาย มีเวลาก็จะเข้าไปศึกษาธรรมะกับหลวงปู่ชา และระยะหลังๆ นี้ เริ่มถี่ขึ้น

ในคือวันหนึ่งที่วัดบ้านโคก วันนั้นเป็นคืนธรรมสวนะ หลังจากทำวัตรเสร็จญาติโยมลากลับบ้านกันหมด เหลือแต่ท่านอยู่พับพระลูกวัด ท่านจึงเข้าพักในกุฏิ นั่งสมาธิ ภาวนาตามดูจิตเองนึกคิด สมัยนั้นท่านยังไม่ได้ฝึกหัดศึกษาการทำสมาธิภาวนาอย่างถูกต้อง และเข้าใจพอ นั่งไปถึงเวลาตีหนึ่งตีสอง จิตเกิดความสงบสบายใจและว่างเปล่า จึงนั่งต่อไปอีกจนถึงตีสามตีสี่ ตอนหลังเกิดความผิดปกติจิตใจว้าวุ่นไม่สงบกระวนกระวายเหมือนจะเป็นบ้า กลัวธรรมจะแตก เหมือนโบราณว่า

พอรุ่งเช้าวันใหม่หลังจากฉันภัตตาหารเช้าเสร็จ จึงชวนญาติโยมออกเดินทางไปหาหลวงปู่ชา ที่วัดหนองป่าพง ในเวลาช่วงบ่ายๆ ขณะนั้น หลวงปู่ชากำลังมีแขกอยู่พอดี จึงเข้าไปกราบ
หลวงปู่ชาจึงถามญาถ่านสีว่า “มีเหตุฮ้อนประการแท้สิ่งใด๋น้อ” (มีเหตุเดือดร้อนอะไร)

ท่านจึงเล่าเรื่องการนั่งสมาธิภาวนาให้ฟัง ว่ามันเหมือนจะเป็นบ้า แล้วถามหลวงปู่ชาว่า “มันเป็นเพราะหยังครูบาอาจารย์”
หลวงปู่ชาตอบทันทีว่า “มันเป็นภวตัณหากะบ่ฮู้จัก” เพราะการที่อยากได้โนนได้นี่ เป็นนั้นเป็นนี่ เป็นตัณหา พอได้ฟังท่านก็เกิดความกระจ่างสว่างขึ้นในใจ ความวิตกกังวลก็พลันหายไป
หลวงปู่ชาจึงพูดกับท่านว่า “ถ้าบ่มาอยู่กับผมบ่เป็นด่อก” เพราะท่านมาติดขัดที่การปฏิบัติ การภาวนาต้องฝึกหัดปฏิบัติจริงๆ มันจึงจะเป็นญาถ่านสีตัดสินใจว่า จะต้องอยู่ปฏิบัติให้ได้ พอกลับถึงวัดบ้านโคก ความก็รู้ถึงพระอุปัชฌาย์ทาว่า ญาถ่านสีจะหนีไปอยู่วัดหนองป่าพง ท่านจึงไม่สบายใจ เพราะความตั้งใจที่จะให้ญาถ่านสีมาเป็นอุปัชฌาย์แทนตน วันต่อมาจึงให้ญาติโยม บ้านโพนงาม และบ้านโพนเมือง จัดเตรียมเกวียน ๙ เล่ม มารับญาถ่านสี ไปเป็นอุปัชฌาย์ ตามคำสั่งของอุปัชฌาย์ ส่วนผู้ใหญ่ดี บ้านเปือย ก็เข้ามาขวาง ชาวบ้านโคกก็หวงไม่อยากให้ไป ญาถ่านสีก็เลยพูดขึ้นว่า “หลายทางโพด จักสิไปทางใด๋ สิตัดสินใจเองดอกมื้อแลง ” พอตกตอนเย็น ญาถ่านสี ก็ไปหาอุปัชฌาย์ทา ที่วัดบ้านโนนกาเล็น เพราะวันนั้นท่านไปธุระที่บ้านโพนเมืองบ้านเกิดของท่านอุปัชฌาย์ ญาถ่านสีจึงกลับมาวัดบ้านโคกโดยไม่พูดอะไรเพราะตัดสินใจแล้ว

เช้าวันต่อมาจึงเดินทางไปวัดวัดหนองป่าพง พร้อมญาติโยมคณะหนึ่ง ได้ขอฝากตัวเป็นศิษย์ เพื่อฝึกหัด ปฏิบัติกรรมฐาน ในวัดหนองป่าพง ซึ่งหลวงปู่ชา ก็ให้ความอนุเคราะห์เมตตา รับเป็นศิษย์ โดยไม่ต้องเป็นพระอาคันตุกะอีกต่อไป ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ หลวงปู่ชาได้บอกกับคณะสงฆ์วัดหนองป่าพง ในคณะนั้นเลยว่า “พระรูปนี้เคยเข้ามาศึกษาธรรมะกับผมมานานแล้ว ผมจะรับรองเอง”

เริ่มต้นเส้นทางธรรมสายใหม่
เมื่อท่านมาอยู่วัดหนองป่าพงแล้ว เกิดความประหม่า กระวนกระวายเพราะยังไม่คุ้นเคย กับกลิ่นไอของป่าใหญ่ที่เยือกเย็น จากการเป็น ญาถ่านสี กลับมาเป็นพระสี หรือ พระอาจารย์สี อีกครั้ง มันรู้สึกเขินๆ แต่ด้วยพระอาจารย์สี เป็นพระที่มีพรรษามากกว่าพระสงฆ์รูปอื่นๆ ในขณะนั้น จึงได้นั่งต่อจากหลวงปู่ชา เพราะฉะนั้นการทำอะไรทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการขมฉัน การวางตัว จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้ได้ฝึกสมาธิเบื้องต้น ระยะแรกๆ มีความลำบากพอควร เพราะข้อปฏิบัติแตกต่างกับที่เคยปฏิบัติมา ในขณะนั้นท่านจึงเปรียบเสมือนพระที่บวชใหม่ ที่ต้องฝึกหัดและทำความเข้าใจใหม่

วันหนึ่งญาติโยมทางบ้านเปือย ได้ไปเยี่ยมท่านที่วัดหนองป่าพง พอไปถึง ก็เข้ากราบหลวงปู่ชา จึงถามหาญาถ่านสี หลวงปู่ชาตอบว่า “บ่มีดอก ญาถ่านสี มีแต่พระบวชใหม่ “พระอาจารย์สีได้พบกับญาติโยมบ้านเปือยที่ไปเยี่ยมเยียน จึงพูดเล่นๆ ว่า ” ข่อยบวชใหม่ แล้วใด๋ หลวงปู่ชาบวชให้” เพราะต้องปฏิบัติใหม่หมด จนบางครั้งเกิดความท้อแท้ แต่ด้วยการเป็นพระที่มีพรรษามาก ทั้งยังมีความขยันอดทน เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงทำให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้ ด้านการศึกษาปฏิบัติ ก็ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เริ่มเคยชินกับสภาพที่อยู่ใหม่ที่แสงสว่างไสว ให้ก้าวเดินไปตามความปรารถนา สู่เส้นทางธรรมอันทรงคุณค่าของพระอาจารย์สี สิริญาโณ ผู้เปลี่ยนเส้นทางตัวเองสู่ทางวิปัสสนากรรมฐาน ได้อย่างถูกต้องบรรลุผล ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดหนองป่าพงได้ ๓ พรรษา การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ก็เป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์ในสาขาต่างๆ คณะสงฆ์จึงเรียกคำนำหน้าเป็น หลวงพ่อสี เพราะอายุและพรรษามากแล้ว เมื่อประมาณปลายปี พ.ศ.๒๕๑๓ ต้นปี พ.ศ.๒๕๑๔

หลวงปู่ชา ได้พาหลวงพ่อสี และพระเณร ไปทำทางขึ้นที่สำนักสงฆ์วัดถ้ำแสงเพชรบน ซึ่งแต่ก่อนชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำวัวนอน” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกอำเภออำนาจเจริญ (จังหวัดอำนาจเจริญ) การทำถนนขึ้นไป ด้วยความลำบาก อุปกรณ์เครื่องมือ ตามมีตามได้ ไม่มีเครื่องทุนแรง มีแต่จอบเสียมชะแลง บุ้งกี่ ที่สำคัญที่สุดคือกำลังแรงกายและความอดทน ในวันที่มีแสงเดือน ก็ทำกลางคืนด้วย ที่พักก็อยู่ตามพะลานหิน และชะง่อนผา เมื่อทำถนนขึ้นเสร็จ พอที่พระเณรจะใช้ประโยชน์ได้แล้ว จึงกลับมาวัดหนองป่าพง และจะพรรษาต่อหลวงพ่อสีจำพรรษาที่วัดหนองป่าพง ได้ ๓ พรรษา ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒ ถึง พ.ศ.๒๕๑๔

หลังจากออกพรรษาในปี พ.ศ.๒๕๑๔ หลวงปู่ชาได้มอบหมายให้หลวงพ่อสีไปดูแลรักษาป่าวนอุทยาน ซึ่งทางการกำลังสร้างเขื่อนสิรินธร ท่านไปกับพระ ๑ รูป ผ้าขาว ๑ คน พอไปถึงที่นั้นยังไม่มีอะไรเลย กุฏิก็ไม่มี ตอนนั้นเป็นปลายฝนต้นหนาว วันหนึ่งฝนตกลมแรง ต้องอาศัยซอกหินเป็นที่หลบฝน วันหลังหลวงปู่ชาจึงให้โยมพ่อจวน พ่อคูณ นำเต็นท์มาให้ พ่อจอมพ่อคูณได้ช่วยกันเกี่ยวหญ้าคาไปทำกุฏิชั่วคราวพอได้อาศัย และหาเรือไว้ให้ใช้ ๑ ลำ หลายวันต่อมาหลวงปู่ชาจึงมาเยี่ยม พร้อมพร้อมเรือลำใหญ่กว่าเดิมไว้ให้ ๑ ลำ เพราะถ้าลำเล็กอาจจะเป็นอันตราย เมื่อมีฝนตกลมแรงเวลาออกบิณฑบาตก การบิณฑบาตก็ลำบาก หมู่บ้านอยู่ไกลๆ ส่วนหลวงพ่อสีจะเดินไปบิณฑบาตที่ช่องเม็ก ทั้งไปและกลับ ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร กว่าจะกลับมาถึงพักที่พักก็สายมาก วันไหนโชคดีหน่อยมีรถทหารมาเจอ เขาก็รับไปสังที่พัก ระยะหลังญาติโยมเริ่มรู้จักว่ามีพระมาอาศัยอยู่ป่าแห่งนี้ และเริ่มทยอยกันมาช่วยทำงาน และอุปถัมภ์ตามศรัทธา

ต่อมาหลวงปู่ชาจึงได้ส่งพระเณรและแม่ชีมาอยู่ด้วย หลวงพ่อสีก็ได้พาพระเณร และญาติโยมสร้างศาลานาบุญขึ้น ๑ หลัง เป็นศาลาไม่ยกสูงจนแล้วเสร็จ พื้นที่นั้นจึงตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นมา ชื่อว่า “วัดป่าโพธิญาณ” หรือวัดเขื่อนสิรินธร ที่หลายคนชอบเรียก ในคืนวันหนึ่งหลวงพ่อสีนั่งสมาธิอยู่ในกุฏิ คือนั้นฝนตกหนักลมแรง ต้นไม้ใหญ่ได้โค่นล้มทับกุฏิที่หลวงพ่อสีพังทั้งหลัง พอรู้สึกตัวก็คิดว่า “เฮาตายหรือยัง” และคิดต่อไปว่า ถ้าตายก็สบายไม่เจ็บ ถ้ายังไม่ตายก็จะเดินออกไป ถ้ามีคนถามก็แสดงว่ายังไม่ตาย ต่อจากนั้นหลวงพ่อสีจึงได้ถือบาตรจีวร เดินออกจากกุฏิ พอเดินไปได้สักพัก โยมได้ถามขึ้นว่า “หลวงพ่อสิไปไส” หลวงพ่อสีอุทานขึ้นว่า “ฮึอ! ยังบ่ตาย” โยมจึงถามต่อว่า “หลวงพ่อเป็นจังได๋ต้นไม่ใหญ่ล้มทับ” หลวงพ่อสีตอบว่า “นึกว่าตายแล้ว ถ้าบ่ตายย่างไปคือสิมีคนถามยุ” หลวงพ่อสีอยู่ที่วัดป่าโพธิญาณนี่สองปีเศษ เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๑๔ ถึงปลายปี พ.ศ.๒๕๑๖ (ไปเป็นหมู่ลิง อยู่หั่นสองปี หลวงปู่เล่าให้ฟัง)

หลวงพ่อสี ได้ถือโอกาสกลับมาเยี่ยมโยมพ่อโยมแม่ และญาติพี่น้องทุกคน ว่าสุขสบายดีหรือไม่ วันนั้นหลวงพ่อสีขอนอนพักที่บ้านเปือยสักคืน แต่ความเคยชินที่หลวงพ่อสี เคยอยู่ป่ามาหลายปี หลวงพ่อสีจึงพาญาติโยมคณะหนึ่ง เพื่อสำรวจสถานที่ พักปักกลดในคืนนั้น จึงไปสำรวจที่ดอนปู่ตา หรือป่าดงกุด เป็นบริเวณกว้างมีหนองน้ำใหญ่กลางป่า มีคนเข้าไปในป่าได้เห็นจระเข้ใหญ่เชื่อกันว่าเป็น เจ้าที่ ถ้ามีใครไปลักขโมยล่าสัตว์ป่าและไม่ขออนุญาต บางคนถึงกับลอยบก (เพราะเห็นพื้นที่ดินเป็นพื้นน้ำ) จึงทำให้ชาวบ้านเกรงกลัว ไม่กล้าเข้าไปคนเดียวกลัวเป็นอันตราย ในบริเวณนั้นชาวบ้านเคารพนับถือ เวลาชาวบ้านที่ผ่านไปบริเวณนั้น จะเก็บดอกไม้บอกทุกครั้งทุกคน เพราะกลับตนเองจะมีภัย และมีเสาลักษณะแหลวฝังไว้เป็นสัญลักษณ์ ” ปัจจุบันเสานั้น นำไปฝันไว้ใกล้ๆรูปเหมือนหลวงปู่”

แล้วคืนนั้นหลวงพ่อสี ก็ได้ปักกลดในบริเวณนั้น เป็นบริเวณโคนส้มป่อย (โพนส้มป่อย) ไกลจากกุดหินแห่ไม่มาก นับเป็นการปักกลดครั้งแรกของท่านกลางดงกุดหินแห่แห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ “ปัจจุบันจุดที่พักปักกลดนี้ เป็นที่ตั้งรูปเหมือนหลวงปู่” ต่อมาจึงเดินทางกลับวัดหนองป่าพง แล้วจำพรรษาต่อ ชาวบ้านเปือยเวลาหลวงพ่อสีกลับมาพัก ก็พากันออกมาทำความสะอาดตรงที่หลวงพ่อปักกลด เพื่อรักษาไว้เป็นอนุสรณ์ จะได้จดจำให้ลูกหลานได้ฟัง

หลังจากออกพรรษาที่ วัดหนองป่าพง ท่านได้มาร่วมงานกฐิน ที่วัดหนองไฮ สาขาที่ ๔ วัดหนองป่าพง ซึ่งในขณะนั้นสาขายังไม่พระมาก พระสงฆ์แต่ละวัดก็มาช่วยกันทุกวัด ในช่วงก่อนหน้านี้บริษัทรับเหมาสร้างถนนสายเดชอุดม-โชคชัย หรือถนนสายยุทธศาสตร์ ๒๔ ได้มาตั้งแคมป์ที่พักที่บ้านไทพัฒนา อ.เดชอุดม จ.อุบลฯ เมื่อสร้างถนนเสร็จก็ย้ายไปที่อื่น จึงทำให้บริเวณที่ตั้งแคมป์ว่างเปล่า เจ้าของที่ดินเลื่อมใสศรัทธาในหลวงปู่ชา จึงถวายที่ดินบริเวณนั้นให้กับหลวงปู่ชา หลวงปู่ชาจึงมีคำสั่งให้ หลวงพ่อสีไปปรับพื้นที่บูรณะเป็นที่พักสงฆ์ หลวงพ่อสีเมื่อได้รับคำสั่ง ท่านก็เข้าไปสำรวจบริเวณรอบๆที่ตั้งแคมป์ มีแต่ป่าตำแย (หมามุ่ย) หลวงพ่อสีคิดว่า “ไม่อย่ากมาอยู่มีแต่ตำแย” หลังจากนั้นพระสงฆ์วัดหนองป่าพง ก็ลงมาช่วยรวมทั้งญาติโยมบ้านใกล้เคียงช่วยกันสร้าง ศาลา ๒ หลัง กุฏิ ๕ หลัง ก็แล้วเสร็จในเวลาไม่นาน แล้วจึงตั้งเป็นที่พักสงฆ์ ชื่อว่า “วัดแคมป์” ปัจจุบัน คือ วัดไทยพัฒนา

หลวงปู่สี สิริญาโณ

ในระหว่างหลวงพ่อสีอยู่วัดแคมป์ ได้มีคณะญาติโยมทางบ้านเปือย นำโดย นายคำ เสนาพันธ์ กำนันตำบลโนนกาเล็นในสมัยนั้น ได้เข้าไปหาหลวงปู่ชาที่วัดหนองป่าพง เพื่อจะนิมนต์หลวงพ่อสี ไปอยู่ที่บ้านเปือย เพราะมีพื้นที่ป่าใหญ่สมบูรณ์เหมาะที่จะสร้างวัดได้ และได้เตรียมการไว้เบื้องต้นแล้ว พอถึงวัดหนองป่าพง คณะญาติโยมก็เข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่ชา แล้วบอกความประสงค์ว่า “สิมานิมนต์ญาถ่านสี โอ๊ะ! หลวงพ่อสี ไปอยู่บ้านเปือย ข้าน้อย” หลวงปู่ชาตอบว่า “บ่แม่นสิเอาพระข่อยไปถิ่มบ้อ” ญาติโยมตอบว่า “บ่ดอกข้าน้อย จังใด๋หลวงพ่อสีกะเป็นคนบ้านเปือย พี่น้องกะมีหลายอยู่” หลวงปู่ชาจึงพูดกับญาติโยมบ้านเปือยว่า “ข่อยกะยังบ่รับปากด้วย ให้คุยกับเพิ่นเบิ่งก่อน” แล้วคณะญาติโยมก็พากันกลับบ้าน

วันต่อมาหลวงปู่ชาจึงให้โยมไปตามหลวงพ่อสีที่วัดแคมป์กลับมาวัดหนองป่าพง หลวงปู่ชาจึงแจ้งข่าวให้ทราบว่าญาติโยมบ้านเปือยมานิมนต์ให้กลับไปอยู่บ้านเปือย หลวงพ่อสีบอกว่า “บ่อยากไปอยู่ปานได๋แหลวแนวเคยอยู่มาแล้ว” แต่ด้วยความเคารพนับถือหลวงปู่ชาจึงรับปากว่าจะไป วันต่อมาหลวงปู่ชาก็พาหลวงพ่อสีมาส่งที่ป่าดงกุดหินแห่ ญาติโยมบ้านเปือยคณะหนึ่งก็ออกมารับ และจัดเตรียมสถานที่พอได้พักอาศัยก่อน เลือกจุดที่หลวงพ่อสีมาปักกลดครั้งแรก เมื่อช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๔ เป็นจุดเริ่มต้นตั้งวัด บริเวณนั้นจึงถือกำเนิดเป็นวัดป่าศรีมงคล เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ มาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาหลวงปู่สี สิริญาโณ ก็ได้อยู่ที่วัดป่าศรีมงคลมาโดยตลอด และมีวัดที่หลวงปู่เคยไปสร้างไปบูรณะอีกหลายแห่ง และอยู่จะพรรษา เช่น
๑. วัดป่าเลิงแฝก บ้านเลิงแฝก ต.หนองหัวช้าง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ
๒. วัดเขาภูแพน บ้านหนองยาง ต.ท่าเกวียน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว
๓. วัดป่าภูตามุย บ้านตามุย ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
๔. วัดป่าสิริพะลานทราย บ้านหนองฆ้อง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
๕. ศรีมงคลธรรมสถาน (ริมโขง) บ้านตามุย ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

ที่วัดป่าศรีมงคล ท่านได้สร้างฌาปนสถานไว้สำหรับองค์ท่านเองไว้แล้ว เป็นการเตรียมการอย่างไม่ประมาทและเพื่อไม่ให้รบกวนแก่ศิษย์ในภายหลัง ถือเป็นการสอนมรณานุสติให้แก่ศิษยานุศิษย์ด้วย

หลวงปู่สี สิริญาโณ

หลวงปู่สี สิริญาโณพระมหาเถระผู้เดินตามรอยธรรมพระโพธิญาณเถร

แห่งวัดป่าศรีมงคล (วัดป่าบ้านเปือย) อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี ท่านเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของ พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) แห่งวัดหนองป่าพง ที่เคยได้ออกธุดงค์ติดตามหลวงพ่อชา ไปตามป่าเขาในที่ต่างๆ ด้วยกัน

ปัจจุบัน นับได้ว่าท่านเป็นพระมหาเถระผู้มีพรรษามากที่สุดในบรรดาศิษย์ของหลวงพ่อชา สุภัทโท ที่ยังดำรงค์ธาตุขันธ์อยู่

ปัจจุบัน หลวงปู่สี สิริญาโณ สิริอายุ ๙๖ ปี ๗๕ พรรษา (พ.ศ.๒๕๖๓)

คัดลอกมาจากหนังสือ “สิริญานุสรณ์ ๒” ; พิมพ์โดย พระเสกสรรค์ มหาปุญโญ ผู้ให้คำปรึกษา พระอธิการเฉลิมพันธ์ ภูริปัญโญ พระอาจารย์มหาสำเนา ปัญญาปทีโป และคณะสงฆ์วัดป่าศรีมงคล ทุกรูป กราบขอขอบพระคุณและขออนุญาตคัดลอกเพื่อเผยแผ่เป็นธรรมทาน ขออนุโมทนาบุญมา ณ โอกาสนี้ครับ สาธุ

เจดีย์ หลวงปู่สี สิริญาโณ ณ วัดป่าภูตามุย บ้านตามุย ต.ห้วยไผ่ อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี
รูปเหมือน หลวงปู่สี สิริญาโณ ณ วัดป่าภูตามุย บ้านตามุย ต.ห้วยไผ่ อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี

โอวาทธรรมคำสอนของหลวงปู่สี สิริญาโณ

“..นั่งอยู่นี่บ่มีคน มีแต่ธาตุ
ธาตุธรรมชาติอันดำรงไว้ซึ่งสัตว์..”

“..การทำบุญ ถ้าพูดตรงๆ บุญก็คือความสุข บาปก็คือความทุกข์ บุญหมายถึงสภาพความสุข ความรื่นเริงพอใจในตนเอง อารมณ์ที่ชอบใจก็เป็นบุญ อารมณ์ที่ขัดใจก็เป็นบาป สวรรค์นรกมันไม่มีจริง แค่พูดตามกันไปเฉยๆ พูดตรงๆ ตามธรรมะของพระพุทธเจ้า สวรรค์กับนรก ก็คือ ทุกข์กับสุข..”

“..อันตัวเราก็มี ๒ อย่าง รูปธรรมก็คือ ธาตุดินกับธาตุน้ำ สำหรับธาตุไฟกับธาตุลม เป็นนามธรรม รวมกันเป็นธาตุทั้ง ๔ ที่ทุกคนมีเหมือนกันหมด ฉะนั้นอย่าได้ยึดมั่นถือมั่น ให้เจริญภาวนารักษาศีล มีสติด้วย นั่งสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญา..”

“..มีโยมต่างชาติอยู่ทางใต้ จ.สุราษฎร์ธานี มาถามอาตมาว่าท่านเป็นธรรมยุติ หรือมหานิกาย อาตมาว่า หลวงพ่อชา ท่านพาว่า ไม่เป็นธรรมยุติ ไม่เป็นมหานิกาย เป็นพุทธนิกาย นิกายของพระพุทธเจ้า ไม่ต้องเป็นอะไรทั้งนั้น ไม่เอาอะไรทั้งนั้น ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็ไม่เอา สุขทุกข์ก็ไม่เอา อยู่กับความว่างดีที่สุด..”

ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน