วันจันทร์, 28 ตุลาคม 2567

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร อ. บางละมุง จ. ชลบุรี

ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

วัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร
อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต เจริญอายุวัฒนมงคลครบ ๗๓ ปี องค์ท่านอยู่ใต้ผ้ากาสาวพัสตร์มา ๔๖ พรรษา (พ.ศ.๒๕๖๓)

หลังจากที่ท่านเบื่อชีวิตฆราวาสจึงแสวงหาหนทางหลุดพ้น จึงได้รับธรรมะจากหลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร และได้รับการแนะนำให้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน องค์ท่านได้ออกค้นหาสัจธรรมชีวิตในป่าดงพงไพร บนเขาชีโอน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ด้วยการแสวงหาจากหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนำมาสอนให้กับบุคคลที่ต้องการเรียนรู้ความเป็นไปของโลกในพระพุทธศาสนา

พระจุลนายก (พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต) เป็นพระภิกษุฝ่ายวิปัสสนาธุระ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ศิษย์ของพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)

ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร

หลวงตามหาบัว ท่านเคยปรารภถึง ท่านพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต ไว้ว่า…
“..ท่านสุชาติเป็นคนพัทยา แต่เป็นพระวัดป่าบ้านตาด ไปอยู่วัดป่าบ้านตาดหลายปี พอออกจากวัดป่าบ้านตาดแล้วก็มาอยู่วัดญาณสังวรฯ ท่านปฏิบัติแบบสันโดษมักน้อยตลอดมา อยู่ที่นั่น ท่านอยู่หลายปีแล้ว พอออกจากวัดป่าบ้านตาดมาก็เข้านั้นเลย เข้าอยู่ที่วัดญาณสังวรฯในป่านั้นละ..

ปีที่แล้วก็ไปดูนะ ไปพบท่านอยู่ที่นั่น ดีอยู่ ท่านเป็นคนพัทยา แต่เป็นพระวัดป่าบ้านตาด พอออกจากวัดป่าบ้านตาดก็เข้าวัดญาณสังวรฯเลย จนกระทั่งป่านนี้ไม่ไปไหนละ ท่านมักน้อยสันโดษมาก ท่านยึดหลักปฏิปทาของครูบาอาจารย์ไว้ได้ดีนะ ลูกศิษย์วัดป่าบ้านตาดนี้มากนะ ถ้าหากว่าจะยึดเอาหลักของครูบาอาจารย์ไปปฏิบัติ ก็รู้สึกชุ่มเย็นทั่วๆไป แต่นี้มันยึดได้น้อยมาก สายพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ถือพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเป็นหลักใหญ่ แตกกระจายไปก็เป็นกิ่งแขนง..
ทีนี้ก็มารุ่นลูกรุ่นหลานแล้วแหละ เราจะว่าเป็นลูกก็ไม่เชิง เป็นรุ่นหลานไปละเรา ครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้ใหญ่ๆ ซึ่งก็เป็นเพชรน้ำหนึ่งๆ จากหลวงปู่มั่นเรานี้มีน้อยเมื่อไร เพชรน้ำหนึ่งก็คือเป็นพระอรหันต์นั่นเอง…”

คัดจากหนังสือ “ชาติสุดท้าย
“..เราเป็นคนนอกศาสนา ไม่ได้อยู่ในบ้านที่นับถือพระพุทธศาสนาที่ไปวัดเป็นประจำ ก็เลยไม่มีความผูกพันกับพิธีกรรม และงานบุญต่าง ๆ พอมาสัมผัสรับรู้เรื่องของพระศาสนา ก็มารู้เรื่องการภาวนาเลย พอเริ่มปฏิบัติแล้วก็จะเอาแต่เดินจงกรม นั่งสมาธิเท่านั้น ไปอยู่วัดของหลวงตามหาบัว ท่านก็ให้ทำอย่างนั้น ท่านไม่ให้ไปไหน ไม่ให้ทำงานอื่น..” ท่านพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

ปฐมวัย
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต ท่านถือกำเนิดตรงกับวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ เมื่อท่านอายุได้ประมาณ ๒ ขวบ คุณพ่อของท่านจึงได้นำท่านมาฝากกับคุณย่าที่สุพรรณฯ ให้ช่วยเลี้ยงดูแทน เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่สะดวกในการเลี้ยงดูท่าน เนื่องจากต้องทำงานและย้ายที่ทำงานบ่อย

ท่านเข้าเรียนที่โรงเรียนเซเว่นเดย์ ตั้งแต่ชั้น ป.๑ จนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แล้วมาทำงานที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา (ระยอง-พัทยา) อยู่ปีกว่าพอเก็บเงินได้เพียงพอแล้วเดินทางไปศึกษาต่อ ที่มหาวิทยาลัย State University ในรัฐแคลิฟอร์เนีย จนจบ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา

◎ นักเรียนนอก
ความที่เรียนโรงเรียนเซเว่นเดย์ฯ เป็นภาคภาษา อังกฤษ ก็ง่ายเวลาไปเรียนต่อที่อเมริกา ไม่ต้องกังวลเรื่องภาษา ไปทีแรกเรียน Junior College ก่อน
สองปีครึ่ง แล้วค่อยไปเรียนที่ State University ในแคลิฟอร์เนียอีกสองปีครึ่ง จนเรียนจบวิศวะฯ โยธา ที่เลือกเรียนวิศวะฯ เพราะอาตมาชอบวิชาคำนวณ
ไม่ชอบพวกวิชาท่องจำ ประเภทวิชาประวัติศาสตร์

ตอนนั้นต้องไปเรียนวิชาที่ทำคะแนนได้ไม่ดีใหม่ เพราะมหาวิทยาลัย มีการทดสอบดูความสามารถในวิชาหลักๆ จึงต้องเรียนบางวิชาซ้ำ ก็เลยเสียเวลานิดหน่อย แตก็ไม่รีบร้อนอะไร ถือว่าจบช้าจบเร็วก็จบเหมือนกัน และที่เรียน ๕ ปีก็เพราะทำงานไปด้วย ก็เลยไม่ได้เรียนเต็มที่ หลักสูตรเขา เรียน ๔ ปี แต่อาตมาเรียนช้าไปหนึ่งปี

ตอนไปอยู่อเมริกาก็อยู่แบบคนจนอยู่ ไม่ได้ไปอยู่อย่างสบาย ต้องทำงานพร้อมกับเรียนไปด้วย อดข้าวด้วย บางเวลามีเงินพอกินข้าวได้วันละมื้อเท่านั้นเอง ก็ต้องอดเพราะตอนนั้นหางานที่อยากทำไม่ได้ งานที่หา หาได้จะเป็นงานล้างชามก็ไม่ทำ ยอมอดเอา พออดไปนาน ๆ ก็ทนไม่ไหว อากาศมันหนาวเย็น เวลาเรียนหนังสือก็เรียนไม่รู้เรื่อง ในที่สุดก็ยอมล้างชาม

ตอนเรียนจบ ได้แวะเที่ยวยุโรปก่อนกลับเมืองไทย ก็ไปเที่ยวอยู่หลายประเทศ อาตมานั่งเครื่องบินจากอเมริกามาลงที่เบลเยี่ยม แล้วก็ซื้อตั๋วรถไฟเดินทางระหว่างประเทศแถบยุโรป โดยไล่จากเบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ต่อไปยังเดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ และลงมาเยอรมัน ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี แต่ไม่ได้ไปอังกฤษ เพราะตอนนั้นซื้อตั๋วลง เบลเยี่ยม ถ้าจะเข้าก็ต้องขอวีซ่าใหม่ เลยไม่ได้ไป ตอนเที่ยวก็มีเป้อยู่ใบหนึ่ง นอนตาม YMCA บ้าง หอพักนักเรียน คนละเหรียญบ้าง หรือบางทีก็นอนในรถไฟระหว่างเดินทางก็ประหยัดค่าโรงแรมได้ ส่วนอาหารก็มื้อละเหรียญหรือบางทีก็ไม่ได้เสีย เพราะมีไปบางสถานที่ท่องเที่ยวเขาจะมีให้ชิมอาหารหรือเครื่องดื่มฟรี ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตอนที่ไปเที่ยววันหนึ่งก็ใช้ไม่เกิน ๕ เหรียญ

ความตั้งใจก่อนออกบวช
เมื่อก่อนเราไม่เคยคิดหาครูบาอาจารย์ ตอนเรียนหนังสือก็เรียนอีกศาสนาหนึ่ง ไปเรียนต่อก็ไปอยู่อีกซีกโลก แต่ทำไมยังมาทางนี้ได้ เพราะที่ไปมานั้น ไม่ถูกใจ ไปเพราะหน้าที่ ต้องไปเรียนหนังสือ พอหมดหน้าที่แล้ว ก็มีสิทธิที่จะเลือกเองได้ พอได้หนังสือธรรมะมาเล่มเดียวก็ติดใจเลย ก็เขียนไปขอมาอีกหลายเล่ม พอได้อ่านก็รู้ว่าต้องปฏิบัติ พอปฏิบัติได้ผลปุ๊บ ก็รู้ว่าต้องหาที่ปฏิบัติ เพราะชอบความสงบ เวลาจะบวชก็กำหนดไว้เลยว่า ตองบวชวัดที่สงบ ไม่มีกิจกรรมต่างๆ ไม่มีงานบุญบังสังสวด

ในสมัยแรก ๆ ตอนที่ปฏิบัติอยู่คนเดียว ตอนที่เป็นฆราวาสนั้นไม่เคย คิดอยากจะบวชเลย คิดว่าถ้าเป็นลูกคนรวยมีเงินสักก้อนหนึ่งแล้ว ไม่ต้องบวชได้ นึกจะไม่บวช จะอยู่เป็นฆราวาสปฏิบัติของเราไป ได้ตั้งใจไว้ว่า จะปฏิบัติอยู่ปีหนึ่ง เพราะมีเงินใช้กับการปฏิบัติได้ปีหนึ่งพอดี พอครบเวลาปีหนึ่งก็ถามตัวเองว่าจะเอาอย่างไรต่อไป เพราะเสบียงคือเงินที่มีไว้สำหรับใช้จ่ายค่าอาหารก็ใกล้จะหมด ก็มีอยู่ ๒ ทางเลือก คือ

ถ้าจะอยู่แบบฆราวาสก็ต้องไปหางานทำอีก ถ้าไปทำงานเวลาปฏิบัติก็มีน้อย ไปทำงานวันละ ๘ ชั่วโมง เดินทางไปกลับอีก รวมกันอย่างน้อยก็ ๑๐ ชั่วโมง กว่าจะกลับมาถึงบ้านก็เหนื่อย เวลาที่จะปฏิบัติอย่างต่อเนื่องก็จะมีไม่มาก จะปฏิบัติได้เท่าที่เวลาจะอำนวย ไม่มีทางที่จะภาวนาได้ทั้งวันทั้งคืน แต่ถ้าอยากจะปฏิบัติต่อก็ต้องไปบวช ถ้าบวชจะมีเวลาปฏิบัติได้เต็มที่

ตอนนั้นใจหนึ่งก็ไม่อยากจะบวช กิเลสยังห่วงความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ความเป็นอิสรภาพที่จะไปไหนมาไหน เพราะคิดว่าการบวชเหมือนกับ ถูกจับขังอยู่ในกรง ก็เลยยังกล้า ๆ กลัว ๆ ตอนนั้นก็ทรมานใจพอสมควร ตอนที่ยังตัดสินใจไม่ได้

พอได้คิดไปคิดมาและตัดสินใจได้แล้วว่าต้องบวช เพราะจะได้มีเวลาปฏิบัติ ไม่ต้องกังวลกับเรื่องทำมาหากินก็รู้สึกโล่งอกไปเลย เบาใจ บวชก็บวช เรื่องบวชก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะตลอดปีที่ปฏิบัติก็กินอยู่เหมือนนักบวชอยู่แล้ว ไม่ได้ไปเที่ยวเตร่ไปหาความสุขจากอะไร วัน ๆ หนึ่งก็อ่านแต่หนังสือธรรมะ นั่งสมาธิ เดินจงกรม รับประทานอาหารวันละมื้อ ที่สำคญเมื่อบวชแล้วจะต้องหาวัดที่สงบ ไม่ต้องเรียนปริยัติ อย่าไปเจอวัดที่มีการสวด มีกิจนิมนต์ต่าง ๆ มีงานศพ งานบุญ หรือไปทำอะไรที่ไม่ใช่เรื่องภาวนาเลย เพราะเท่าที่ได้ศึกษาในพระไตรปิฎกก็ไม่เห็นมีงานอย่างที่ทำกันเหมือนในสมัยปัจจุบันนี้หรอก

ในสมัยพุทธกาลพอออกบวชแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงสอน ให้ไปอยู่ตามป่าตามเขา ไปภาวนากัน แต่สมัยนี้บวชแล้วต้องไปทำโน่นทำนี่ ไปสวดศพ ไปงานบุญ ไปงานอะไรเต็มไปหมด ซึ่งไม่ใช่เป็นงานของพระเลย เพราะเหตุนี้เองจึงต้องหาวัดที่มีแต่การปฏิบัติ

ตอนก่อนจะบวชก็เคยศึกษาดูว่ามีวัดแบบไหนบ้าง พอดีตอนนั้น ได้อ่านหนังสือของฝรั่งชาวอเมริกันชื่อ Jack Kornfield ซึ่งเคยบวชมาแล้ว เขาทำหนังสือเกี่ยวกับวัดปฏิบัติธรรมในเมืองไทยชื่อวา A Guide to Buddhist Monasteries and Meditation Centres in Thailand เขาไปมาหมดเลยนะวัดที่สำคัญ ๆ ในประเทศไทยนี่ ฝรั่งคนนี้ขวนขวายหาความรู้มาก

เขาจะรู้รายละเอียดของแต่ละวัดว่าอาจารย์สอนแบบไหน อาหารเป็นอยางไร มีพระเณรกี่รูป เขารู้จักวัดปฏิบัติทั้งหมดในเมืองไทย แล้วทำเป็นหนังสือไกด์ เหมือนกับเวลาไปเที่ยวยุโรปหรือประเทศอื่น ๆ

เขาก็มีหนังสือไกด์แนะนำให้ไปดูสถานที่ต่าง ๆ อันนี้เขาทำเป็นหนังสือไกด์แนะนำวัดกรรมฐาน วัดปฏิบัติธรรมต่าง ๆ เราก็เปิดดู ก็พอรู้ว่ามีวัดปฏิบัติอยู่ที่ไหนบ้างแต่ยังไม่ได้ไป เพราะตอนนั้นยังไม่ได้บวช ตอนที่ได้ตัดสินใจบวชแล้ว อาตมาได้ไปกราบเรียนปรึกษาพระที่วัดช่องลม ต.นาเกลือ เป็นวัดธรรมยุติที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยในจังหวัดชลบุรี และมีชาวบ้านนับถือเลื่อมใส คือ พระครูวิบูลธรรมกิจ หรือ หลวงพ่อบัวเกตุ ปทุมสิโร ขณะนั้นท่านเป็นเจ้าอาวาสและเป็นพระอุปัชฌาย์ของวัดนี้ ช่วงไหนที่ไม่มีกิจในวัดท่านจะเดินทางไปศึกษาด้านปฏิบัติกรรมฐาน จากครูบาอาจารย์ลูกศิษย์สายหลวงปู่มั่น ทางภาคอีสานอยู่เป็นประจำ ตอนนั้นท่านเพิ่งกลับมาจากไปกราบ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร มาโดยอาตมาได้กราบเรียนท่านว่าอยากจะบวช แต่ไม่อยากบวช อยู่วัดที่มีพิธีกรรมต่าง ๆ มีงานบุญสวดมนต์มากไม่เอา อยากจะหาวัดที่มีการปฏิบัติภาวนาเพียงอย่างเดียว เพราะกำลังปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ อยู่
ท่านบอกว่า วัดของท่านไม่มีการปฏิบัติ เป็นวัดปริยัติ เป็นวัดเรียน วัดสวด มีเมรุ มีฉันเพล มีพิธีกรรม มีกิจนิมนต์ ถ้าบวชกับท่านก็ต้องอยู่จำพรรษากับท่าน ๕ พรรษา ตามพระธรรมวินัย ท่านจึงเมตตาแนะนำว่า.. ถ้าอยากจะบวชแล้วภาวนา ต้องไปหาครูบาอาจารย์ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ทางภาคอีสาน สมัยนั่นก็มี หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, หลวงปู่ชา สุภัทโท โดยให้ไปบวชกับสมเด็จพระญาณฯ วัดบวรฯ นี่ ท่านเมตตารับบวชให้ เมื่อบวชแล้วต้องการไปภาวนาไปปฏิบัติ ท่านก็จะอนุญาตให้ลาไปอยู่กับครูบาอาจารย์สายปฏิบัติ แทนที่จะต้องอยู่กับท่าน ๕ พรรษาตามพระธรรมวินัยได้

อุปสมบท
ท่านพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต อุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ โดยมี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านบวชได้ประมาณ ๖ อาทิตย์ที่วัดบวรฯ พอห่มจีวรเป็น บิณฑบาตเป็น ดูแลรักษาอัฐบริขารต่างๆ และสามารถเดินทางได้โดยไม่รู้สึกลำบากใจเกี่ยวกับการห่มผ้า ก็ได้กราบลาสมเด็จฯ ขออนุญาตไปอยู่กับ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ที่วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี

การจำพรรษา
พรรษา ๑ – ๙ จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด

◎ บททดสอบแรกของพระนวกะ
ที่ตัดสินใจเลือกวัดป่าบ้านตาด เพราะมีพระชาวต่างประเทศแนะนำ ก็ไม่ได้ตั้งใจจะไปอยู่ จะไปดูว่าเป็นอย่างไร ถ้าไม่ถูกใจก็ไม่อยู่ ถ้าถูกใจก็อยู่ ถ้าถูกใจแต่ไม่ให้อยู่ก็อยู่ไม่ได้ ไม่ได้ยึดติดอะไรมากจนเกินไป เพียงแต่ต้องการสถานที่สงบ ให้ได้มีเวลาปฏิบัติอย่างเต็มที่เท่านั้น เป็นเป้าหมายที่ไป ตอนแรกไม่ได้คิดพึ่งพาครูบาอาจารย์เป็นหล็ก เพราะมีหนังสือธรรมะพอเป็นแนวทางได้

ตอนไปอยู่บ้านตาด ก็ไม่คิดว่าจะได้อยู่หรือไม่ จะอยู่นานไม่นานก็ไม่ได้คิด เพียงแต่ขอให้ได้ไปก็แล้วกัน ตอนนั้นอยากจะได้ที่ภาวนาเท่านั้นเอง อยากจะได้ที่สงบ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่ามีครูบาอาจารย์ระดับไหนอยู่ในประเทศไทย เพราะไม่เคยอ่านหนังสือของทางสายปฏิบัติ หนังสือที่ได้อ่านส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่คัดมาจากพระไตรปิฎกก็เลยจะรู้แต่เรื่องพระในอดีต แต่พระใน ปัจจุบันจะไม่รู้ แต่ตอนนั้นรู้แล้วว่าจิตของเราต้องการสถานที่ที่สงบสงัด สถานที่ที่สามารถบำเพ็ญภาวนาได้
นั่งรถไฟไปตอนเย็น ถึงอุดรฯ ตอนเช้ามืด มีรถของญาติโยมที่อุดรฯ มารับ พอมาถึงศาลาวัด ก็พอดีได้เวลาออกบิณฑบาต หลวงตาท่านก็เพิ่งลงมา ก็เลยไปกราบท่าน ท่านก็พูดว่า อยู่ไม่ได้นะ อยู่ได้ชั่วคราว กุฏิไม่ว่าง เสร็จแล้วท่านก็ไม่พูดอะไร ก็รีบเตรียมบริขารแล้วก็ออกบิณฑบาต

อาตมาเหมือนเด็กเกิดใหม่ ยังไม่เดียงสาในการเป็นพระนัก วันแรก ที่ไปถึงก็เห็นสมรรถภาพของตวเอง จากการเดินบิณฑบาตที่เร็วมากของวัดป่าบ้านตาด เราไม่เคยเดินเร็วอย่างนั้น ขาไปก็เดินตามปกติไปแบบสบายๆ แต่ขากลับ พอพ้นบ้านหลังสุดท้ายใส่บาตรเสร็จ พระรับบาตรของหลวงตาปั๊บ ต่างคนต่างโกยแนบกันเลย เราไม่เคยเดินวิ่งแบบนั้น ซึ่งเหมือนแข่งเดินเร็วในโอลิมปิก มีข้าวเหนียวเต็มบาตรที่หนักมาก ถลกบาตรก็ผูกไม่แน่น เดินกลับมาได้ครึ่งทางถลกบาตรก็หลุด จีวรก็จะหลุด ต้องคอยประคบประคองอย่างทุลักทุเล กว่าจะไปถึงศาลาเขาก็เริ่มจัดแจกอาหารกันแล้ว

ตอนนั้นหลวงตาท่านคงมอง แต่ท่านเมตตา ท่านไม่พูดอะไร ส่วนใหญ่ถ้าเป็นพระมาใหม่ ท่านจะไม่ใช้มาตรการหนัก ท่านจะเฉยๆ ไปก่อน นอกจากแย่จริง ๆ ก็อาจจะถูกว่าโดยตรง แต่ใหม่ ๆ ท่านจะสังเกตุดู ถ้าเห็นว่า มีความตั้งใจปฏิบัติ จะช้ากว่าเขา ยังไม่เข้าร่องเข้ารอย ท่านก็ไม่พูดอะไร จนประมาณสัก ๑ เดือนก่อนจะเข้าพรรษา ท่านจะบอกพระที่มาขออยู่ จำพรรษาว่า องค์ไหนอยู่ได้ องค์ไหนอยู่ไม่ได้ ช่วงนั้นท่านจะรับพระประมาณ ๑๕-๑๖ รูปเท่านั้นเอง ตอนนั้นพอมาถึงเรา ท่านก็บอกว่า ท่านจำได้ไหมว่า วันที่ท่านมานี่ ได้ตกลงกันไว้แล้วว่าอยู่ไม่ได้ อยู่ได้ชั่วคราว ดังนั้นท่านก็อยู่ไม่ได้นะ พอได้ยินอย่างนั้น เราก็ไม่รู่ว่าจะทำอยางไรดี ก็เฉยๆ ไว้ก่อน ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร

จากนั้นหลวงตาท่านก็แสดงธรรมเกือบ ๒ ชั่วโมง พอจะเลิกประชุม ก็ลุกขึ้นมากราบพระพร้อม ๆ กัน ท่านก็พูดขึ้นว่า ท่านที่มาจากวัดบวรฯ ท่านจะอยู่ก็อยู่นะ พอท่านอนุญาตให้อยู่ได้ พระเก่าก็มาแสดงความยินดี เพราะท่านจะไม่รับใครง่าย ๆ มีพระหลายรูปด้วยกันที่ท่านไม่ให้อยู่ ท่านต้องการให้เห็นคุณค่าของการได้อยู่ จะได้มีความตั้งใจ เพราะเวลาได้อะไรมาง่าย ๆ เราจะไม่เห็นคุณค่าของมัน สิ่งใดที่ได้มาด้วยความยากลำบากเราจะรักษามัน อาตมาก็เลยได้อยู่ต่อ

อยู่ที่นั่นก็มีกติกาว่า ถ้ายังไม่ได้ ๕ พรรษาก็จะไม่ให้ไปไหน เพราะพระวินัยกำหนดไว้ ถ้ายังไม่ได้ ๕ พรรษาไม่ให้อยู่โดยปราศจากครูบาอาจารย์นอกจากมีเหตุคอขาดบาดตาย มีธุระจำเป็นที่จะต้องไปทำ แต่ถ้าจะไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ท่านจะไม่ให้ไป ให้อยู่ให้ได้ ๕ พรรษาก่อน เช่น บวชได้ ๒ พรรษาแล้ว จะไปธุดงค์องค์เดียวก็ยังไปไม่ได้ นอกจากท่านเห็นว่าสมควร ถ้าไปแล้วได้ประโยชน์ แต่ถ้าไปแล้วไม่เกิดประโยชน์ ท่านก็ไม่ให้ไป มีพระอยู่รูปหนึ่งอยู่ได้ ๒-๓ พรรษาก็ขอลาไปธุดงค์ ลาสองสามครั้ง ท่านก็ไม่อนุญาต ครั้งสุดท้ายไปลา ท่านก็บอกว่า ถ้าไปก็ไม่ต้องกลับมา ท่านจะดูจิตของผู้ปฏิบัติเป็นหลัก อายุพรรษาไม่สำคัญเท่าไหร่ บางทีได้ ๕ พรรษาแล้ว ถ้าท่านเห็นว่ายังไม่สมควรไป ไปแล้วเสีย ไปแล้วสึก ท่านก็พยายามดึงไว้ อย่างน้อยอยู่ในวัดก็ยังได้ศึกษาจากครูบาอาจารย์ สำหรบอาตมาก็อยู่มาตลอด ๕ ปีแรกก็ไม่ได้ไปไหนเลย

ชีวิตพระวัดป่าบ้านตาด
พระที่ไปอยู่กับหลวงตาก็เป็นเหมือนลูกของท่าน ท่านเป็นเหมือนพ่อเป็นเหมือนแม่ของพระเณรที่ไปอยู่ศึกษากับท่าน พระเณรจึงเรียกท่านว่า พ่อแม่ครูจารย์ สมัยที่ไปอยู่บ้านตาดใหม่ ๆ นี่ ท่านรับพระเณรประมาณ ๑๗ รูปเท่านั้น ใครเป็นลำดับที่ ๑๘ ก็อยู่ไม่ได้ ต้องออกไป แต่ตอนหลังท่านก็เพิ่มจำนวนให้มากขึ้น เพราะมีผู้สนใจมาก ครูบาอาจารย์ที่ให้การอบรมสั่งสอนได้ก็ชราภาพลงไปมาก มีน้อยลงไป ท่านก็เลยต้องรับภาระเพิ่มมากขึ้น คุณภาพก็ด้อยลงไปด้วย พอมีพระเณรมากขึ้น ก็จะไมสงบเหมือนเมื่อก่อน เพราะถ้ามีพระเณรที่ไม่มีธรรมมาก ก็จะดึงไปในทางที่ไม่ใช่ธรรม ถ้ามีจำนวนน้อยแต่มีธรรม ก็จะไปในทางธรรมกัน เวลารับพระรับเณร ท่านถึงต้องดูคุณสมบัติว่าใฝ่ธรรมหรือไม่ สนใจที่จะปฏิบัติธรรมจริง ๆ หรือไม่ จะดูว่ามีสติหรือไม่ ถ้ามีสติแสดงว่าใฝ่ธรรมแล้ว ถ้าไม่มีสตินี่แสดงว่าไม่ใฝ่ธรรม ถึงแม้จะใฝ่ก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ ถ้าทำอะไรผิดๆ ถูกๆ สะเปะสะปะ แสดงว่าไม่มีสติอยู่กับตัว ดูก็รู้ ท่านจึงเลือกพระเณรพอสมควร

พระที่ได้อยู่ศึกษากับหลวงตานี่ พออยู่ได้ระยะหนึ่งท่านจะไล่แล้ว ท่านจะบอกว่าเปิดโอกาสให้พระอื่นเขามาเรียนข้อวัตรปฏิบัติของวัดป่าบ้านตาดช่วงที่ไปอยู่ พอตื่นเช้าขึ้นมาทำกิจส่วนตัวเรียบร้อยก็ลงไปที่ศาลา ต้องรีบไปให้ทัน ถ้าไปหลังเขาแสดงว่าเอารัดเอาเปรียบ พอไปถึงศาลาก็เตรียมจัดอาสนะ จัดบาตร จัดอะไรก่อนที่จะออกบิณฑบาต และก็จะกวาดถูศาลากัน เมื่อก่อนนี้ หลวงตาจะลงมาคุมพระทำงานที่ศาลาเอง ช่วงที่พระกำลงทำงาน ท่านก็จะนั่งยืดเส้นยืดสายไปด้วย ท่านใช้เวลานี้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการทำกิจของท่านไปในตัว และคุมพระไปด้วย แทนที่จะอยู่ทำกิจของท่านที่กุฏิ ปล่อยให้พระละเลงกันเองที่ศาลา คนขยันก็ทำแทบเป็นแทบตาย คนขี้เกียจก็จะไมทำเลย แต่พอมีท่านนั่งคุมอยู่ ทุกคนก็พร้อมเพรียงกัน

แต่บางครั้งท่านก็ต้องลุกมาทำเองนะ เพราะบางทีมีพระที่หูหนวก ตาบอดมาจากที่อื่น ไม่รู้ว่าหน้าที่ของพระเป็นอย่างไร เช่นตอนเช้าที่พวกเราจะช่วยกันกวาดถูศาลา บางทีมีพระมาจากกรงเทพฯ เขาจะไม่เคยกวาดถูศาลามาก่อน ก็จะยืนเฉยๆ บางทีหลวงตาท่านก็ต้องลงไปถูเองกวาดเอง เขาถึงจะทำตาม พื้นศาลาที่นั่นใช้เทียนไขทา เอาเทียนไขมาต้มกับน้ำมันก๊าด แล้วก็มาทาบนพื้นไม้ เวลาเดินจะมีรอยติดอยู่ จงต้องถูพื้นด้วยกะลามะพร้าวทุกเช้า ทุกเย็น ทุกคนต้องช่วยกันทำ พอเริ่มถูก็ถูกันหมดทุกรูปเลย ถูเสร็จก็ ช่วยกันกวาด กวาดเสร็จก็เตรียมห่มจีวรออกบิณฑบาต

ท่านพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต เล่าว่า ได้ฝึกความอดทนต่ออากาศหนาว เพราะบางปีอุณหภูมิเหลือแค่ ๖ องศา เวลาออกบิณฑบาต เหยียบก้อนหินหนาวเหมือนเหยียบก้อนน้ำแข็ง และสมัยที่อยู่กับหลวงตาจะได้รับการอบรมทุก ๔-๕ วัน อย่างน้อยครั้งล่ะ ๒ ชั่วโมง ฟังธรรมแล้วจิตหมุนไปทางธรรม เหมือนต้นไม้ได้น้ำ แต่หากไม่ได้ฟัง กิเลสจะหึกเหิม และไม่หมั่นภาวนา อดอาหารแก้กิเลส ท่านพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต ได้ฝึกการอดอาหารเพื่อสร้างภาวะที่กดดันจิตใจ เพื่อจะได้ผลิตธรรมออกมาต่อสู้ ผลิตปัญญา ผลิตสมาธิ ผลิตสติ ถ้าอยู่ในสภาพที่สบายกิเลสจะออกมาเพ่นพ่าน ซึ่งการอดอาหารนั้น ก็ต้องดูตามความเหมาะสมของธาตุขันธ์ด้วย

พรรษาที่ ๑๐ จำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิสัมพันธ์ในเมืองพัทยา

พรรษา ๑๑ ถึงปัจจุบัน อยู่ที่วัดญาณฯ ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.๒๕๒๗

ปัจจุบัน ท่านพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต พักจำวัดอยู่ที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า เขาชีโอน พัทยา จ.ชลบุรี (ใกล้ๆกับบริเวณ วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร) ซึ่งเป็นสถานที่สัปปายะ เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรมและเผยแผ่ธรรม

ประวัติที่พักภาวนาบนเขาชีโอน
พระที่วัดนี้เป็นเหมือนลูกกำพร้า สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นมา แต่ไม่ได้ควบคุมดูแลพระเณรเอง ทรงฝากให้พระองค์นั้นดูแลบ้าง พระองค์นี้ดูแลบ้าง ตอนหลังนี่ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ดูแลกันเอง ตอนนั้นที่วัดญาณฯ ยังไม่ม่พระหัวหน้าอยู่ประจำ สมเด็จฯ อยากจะให้เป็นวัดป่าเป็นวัดกรรมฐาน เจ้าคุณที่วัดบวรฯ ก็ไม่ถนัดเรื่องกรรมฐานกัน ก็เลยไม่ได้มาอยู่ สมเด็จฯ จึงต้องไปขอพระจากครูบาอาจารย์ทางภาคอีสาน ให้มาอยู่ ท่านเคยนิมนต์หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท มาอยู่สักพรรษาหรือสองพรรษา แล้วหลวงปู่เจี๊ยะก็ไป หลังจากนั้นก็นิมนต์องค์นั้นองค์นี้มาสลับกันไป

จนปี พ.ศ.๒๕๒๖ ได้นิมนต์ พระอาจารยหวัน จุลปัณฺฑิโต ลูกศิษย์ หลวงปู่ขาว อนาลโย จากวัดถ้ำกลองเพลให้มาอยู่ ท่านก็อยู่เป็นหัวหน้าสงฆ์ที่วัดญาณฯ นี้หลายพรรษา ช่วงที่ท่านมาอยู่เห็นว่าที่บนเขาเป็นที่สงบสงัดวิเวกดี ก็เลยปรารถนาขึ้นมาทำสถานที่ปฏิบัติ ก็เลยขออนญาติสมเด็จฯ ขึ้นมาพัฒนา พอดีมีญาติโยมรื้อบ้านแล้วเอาไม้มาถวายวัด ท่านก็เลยชวนญาติโยมแบกไม้ขนมาสร้างศาลาและกุฏิ สมัยนั้นไม่มีถนนขึ้นมา เป็นทางเดินป่า ก็ต้องแบกไม้ ขึ้นมาอย่างลำบากลำบนเพื่อมาสร้างกุฏิและศาลาหลังนี้

พอสร้างเสร็จได้ไม่กี่เดือน สมเด็จพระสังฆราชฯ ก็รับเสด็จในหลวง รัชกาลที่ ๙ บนศาลาหลังนี้ ทรงสนทนาธรรมกัน พวกคุณหญิงคุณนายที่ติดตามมา ก็เห็นว่าศาลาหลังนี้ไม่เหมาะไม่สมพระเกียรติเลย ก็เลยอยากจะรื้อแล้วสร้างใหม่ พอพวกชาวบ้านที่ช่วยสร้างรู้เข้าก็ขวาง ถ้ารื้อก็จะไมใส่บาตรพระ

พอสมเด็จฯ ทราบก็เลยห้ามไม่ให้รื้อ ก็เลยเก็บรักษามาจนถึงปัจจุบันนี้ ศาลาหลังนี้มีทั้งในหลวง มีสมเด็จพระสังฆราช มีหลวงตามหาบัว ได้มาใช้แล้ว เป็นศาลาที่มีความเป็นมงคลอยู่มาก มีบุคคลสำคญทั้งทางโลกและทางธรรม ได้มาเยี่ยมเยียนก็เลยรักษามา มีคนมาขอสร้างให้ใหม่หลายคน แต่สร้างใหม่ไม่ได้ เดี๋ยวพระไม่มีข้าวกิน ตอนหลังชาวบ้านก็บอกไม่เป็นไร จะรื้อก็รื้อได้ เขาไม่ว่าอะไรแล้ว แต่ตอนนั้นมันเสียความรู้สึก เพราะอุตส่าห์แบกไม้กันขึ้นมาอย่างลำบากลำบน สร้างได้เพียงไม่กี่เดือนก็จะไปรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่ นี่ก็เป็นเรื่องของศาลาหลังนี้ พอมีใครไปยึดติดแล้วก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาทันที แต่ถ้าไม่ยึดติด ก็ไม่เป็น ใครจะรื้อก็รื้อไป

สมณศักดิ์
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะปลัดซ้าย ฐานานุกรมในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ พระจุลนายก ธรรมนีติสาธกมหาเถราธิการ คณะกิจบรรหารธุรการี สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจาร

บทสรุปปิดท้าย
ชีวิตก็อยู่กับธรรมะตั้งแต่วันเริ่มต้นเลย ตั้งแต่วันที่เกิดฉันทะได้อ่านหนังสือธรรมะเล่มแรก แล็วก็เกิดความพอใจที่จะปฏิบัติธรรม จึงมุ่งแต่ปฏิบัติ คิดแต่เรื่องปฏิบัติ จดจ่อกับการปฏิบัติ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอะไรเลย ถ้าทำอย่างนี้ ผลจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ไม่เกิน ๗ ปี ดังที่ พระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้ ๗ ปีนี้จะนานเกินไปเสียด้วยซ้ำ แต่เวลาอ่าน พยากรณ์นี่ก็ไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้คิดว่าเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ ตอนนั้น ไม่สนใจ สนใจอยู่ที่การปฏิบัติเท่านั้น ขอให้ได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุด ไม่ล้มพับ ไม่ถอย กลัวอย่างเดียวคือกลัวจะไปไม่ตลอดรอดฝั่ง จะเสร็จ เมื่อไหร่ไม่สำคัญ ถ้าทำอย่างไม่หยุดต้องถึงแน่ ๆ เหมือนกับรับประทานอาหาร ถ้ารับประทานไม่หยุด ก็ต้องอิ่มแน่ ๆ

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

โอวาทธรรมคำสอนของท่านพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

“..ทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เราเป็นเศรษฐี ให้เราพอ ให้เราไม่ต้องการอะไร ให้เราไม่มีความทุกข์กับสิ่งต่างๆ ก็คือการทำทาน รักษาศีล และภาวนานี่เอง..”


นี่เป็นส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนา เรื่อง “มหาเศรษฐีที่แท้จริง” ที่ท่านพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต ได้แสดงไว้เป็นคติสอนใจแก่ศิษยานุศิษย์ ซึ่งเป็นแนวทางของพระพุทธศาสนาที่จะยังความร่มเย็นผาสุกให้เกิดขึ้นทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

คัดลอกประวัติจากหนังสือ ความเป็นท่าน พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

ขอขอบคุณข้อมูลจาก เพจ ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน