วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

ยาคูขี้หอม พระครูโพนสะเม็ก หรือเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก สปป.ลาว

ตำนาน ประวัติ
พระครูขี้หอม หรือ หลวงพ่อขี้หอม ยาคูขี้หอม (ญาคูขี้หอม) พระครูโพนสะเม็ก เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก

พระอริยสงฆ์สองฝั่งโขง พระเถรจารย์ผู้เป็นตำนานแห่งศรัทธาอันยิ่งใหญ่แห่งล้านช้าง

พระครูขี้หอม หรือ หลวงพ่อขี้หอม ยาคูขี้หอม (ญาคูขี้หอม)
พระครูโพนสะเม็ก เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก

พระครูขี้หอม พระครูโพนสะเม็ก หรือ ยาครูขี้หอม เป็นมหาเถระผู้มีชีวิตอยู่ในอาณาจักร ลาวเมื่อ 300 ปีเศษมาแล้ว เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงลือชาปรากฏ เป็นที่รู้จักกันทั้งสองฝั่งโขง ของอาณาจักรลาวตั้งแต่เหนือสุดใต้ เพราะความที่ท่านเป็นผู้มีชื่อเสียง และเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนเป็นอย่างสูงนี้เอง จึงทําให้ประวัติของท่านเกือบจะกลาย เป็นบุคคลในเทพนิยายไปเพราะประวัติบางตอนเล่ากันไปในทํานองอภินิหาร แต่ อย่างไรก็ตาม ท่านผู้นี้ก็มีชื่อจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์แห่งแผ่นดินลาว ที่นับว่าละเอียดพอสมควร และสมบูรณ์กว่าพระเถระองค์อื่นๆในสมัยเดียวกันนั้นหลายสิบองค์ เป็นธรรมดาที่คนที่มีชื่อเสียง ย่อมจะเป็นที่นับถือของคนหลายถิ่นหลายแดน คนย่อมจะกล่าวถึงผิดแผกแตกต่างกันไปและเป็นธรรมดาที่ประวัติของคนอันยาวนานนั้น ย่อมจะมีทั้งเปลือกทั้งกระพี่หุ้มห่อแก่นแท้อยู่หนาแน่น เราผู้อ่านประวัติจะต้องใช้ วิจารณญาณไตร่ตรองให้ดี อย่าเพิ่งเชื่อหรือไม่เชื่อโดยไม่มีเหตุผล

พระครูโพนสะเม็ก เป็นพระสงฆ์ผู้ทรงคุณงามความดีเป็นที่เคารพรักและ นับถือของประชาชนอย่างยิ่ง จนเล่าลือกันว่าแม้อุจจาระของท่านก็ไม่เหม็น จึงถวายเนมิตกนามว่า “ญาครูขี้หอม” ซึ่งประวัติติดพันอยู่กับคนชั้นเจ้าชั้นจอม ตั้งแต่ยังอยู่นครเวียงจันทน์ หรือกรุงศรีสัตนาคนหุต จนถึงคราวอพยพไปอยู่นครจําปากนาคบุรี หรือนครจําปาศักดิ์ และในที่สุดท่านได้มีส่วนจัดตั้งราชวงศ์ฝ่ายใต้ และอาณาจักรจําปาศักดิ์ อันเป็นอาณาจักรที่ 3 ในดินแดนล้านช้างด้วย

พระครูโพนสะเม็ก ชื่อนี้เรียกตามพงศาวดาร ฉบับกระทรวงศึกษาธิการลาวแต่ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ 70 เรื่องนครจําปาศักดิ์ฉบับภาษาไทย ใช้ว่าพระครูโพนสะเม็ด จะไม่ขอตัดสินว่าชื่อใดผิดชื่อใดถูก แต่จะขอใช้คําว่าพระครูโพนสะเม็ก ในการเขียนประวัติของท่านตลอดเรื่อง

ชาติภูมิ คือสถานบ้านเกิดเมืองนอนเดิมของท่านอยู่ที่ยโสธร และเป็นคน ลาวแท้หรือไม่เป็นเรื่องที่น่าสงสัย ในหนังสือเถรประวัติภาคภาษาไทยของพระเทพ รัตนโมลี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมกล่าวว่า พระครูโพนสะเม็ก เกิดในปีมะแม พ.ศ. 2174 (ค.ศ. 1631) ที่บ้านกะลืมเมืองพาน อยู่ติดภูพานที่ประดิษฐานพระบาทบัวบก อยู่ในเขตเมืองผือ จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทยเดี๋ยวนี้ แต่ในเรื่องเมืองจําปาศักดิ์ดังกล่าวข้างต้นนั้นกล่าวไว้ว่า ท่านมาแต่กะลืม เมืองพานเหมือนกัน แต่ไม่แน่ใจว่าบ้าน เมืองอันนั้นอยู่ที่ใด และบอกว่าท่าน (เมื่อยังเป็นสามเณร) เป็นลูกศิษย์ของพระครูลืมบอง ฟังดูตามชื่อบ้านและชื่ออาจารย์ของท่าน ก็ใกล้ไปทางภาษาเขมรซึ่งเกี่ยวกับหวายๆ นี้แหละ ส่วนชื่อของท่านว่า พระครูโพนสะเม็กนั้น เป็นชื่อที่อยู่หรือชื่อแท้ของท่าน หรือท่านมีชื่อแท้อยู่อีกต่างหากก็ยังเป็นที่สงสัยอยู่ ถ้าคําว่ากะลืมและลืมบอง เป็นภาษาเขมร พระครูโพนสะเม็กอาจเป็นคนเขมรไม่ใช่คนลาว จะเป็นคน เขมรบ้านกะลืม ที่อยู่แถวเมืองอุดรหรือเป็นคนเขมรที่ขึ้นมาจากดินแดนเขมรกัมพูชาแท้ๆ ก็อาจเป็นได้ เพราะเวลาพาญาติโยมลงไปทางใต้ จึงกล้าเข้าไปในดินแดนของเขมร อย่างอาจหาญจนถึงกับถูกไล่จึงถอยกลับ ถ้าท่านเป็นคนลาวคงจะไม่กล้าหาญจนปานนั้น แต่เพราะท่านคิดว่าเป็นบ้านเก่าเมืองเดิมของท่าน จึงทําไปอย่างนั้นก็อาจเป็นได้

ต่อไปนี้ จะเล่าประวัติของพระครูโพนสะเม็ก ตามข้อความในพงศาวดารลาวบ้าง ตามข้อความในเรื่องเมืองจําปาศักดิ์บ้าง และอาจมีความเห็นของผู้เขียนแทรก เข้ามาด้วยเป็นบางตอน ดังต่อไปนี้

เมื่อปี จ.ศ. 1005 ปีมะแม (พ.ศ. 2186/ค.ศ. 1643) มีพระครูยอดแก้วองค์หนึ่ง อยู่นครเวียงจันทน์ ในรัชกาลของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ตอนกลางคืนเวลาจําวัดก็เกิดสุบินนิมิตฝันว่า มีช้างพลายใหญ่ตัวหนึ่งเข้ามาในอาราม ทําลายพระวิหาร แล้วขึ้นไปบนกุฏิเอางวงแทงหอไตรพังทลายลง และจับเอาพระคัมภีร์ต่างๆ กลืนกินเป็นอาหารหมดทั้งหีบ พอรุ่งเช้าก็ตกใจตื่นขึ้น พระครูยอดแก้วก็เล่านิมิตนั้นให้สงฆ์ ทั้งปวงฟัง แล้วก็พากันไปบิณฑบาต พอถึงตะวันสายพระสงฆ์ก็กลับจากบิณฑบาต ก็เห็นสามเณรองค์หนึ่งอายุประมาณ 13-14 ปี มานั่งอยู่ในอาราม พระสงฆ์ทั้งปวงจึง ถามสามเณรนั้นว่ามาจากไหน สามเณรจึงบอกแก่พระสงฆ์ว่า “มาแต่กะลืมเมืองพาน” เป็นลูกศิษย์ของพระครูลืมบอง เที่ยวมาหาที่ศึกษาเล่าเรียน พระสงฆ์ทั้งปวงจึง ไปกราบเรียนความนั้นแด่พระครูยอดแก้ว พระครูยอดแก้วจึงรับเอาสามเณรนั้นขึ้นไปบนกุฏิ แล้วให้อยู่ด้วยทั้งอุปถัมภ์สามเณรนั้นอย่างดี ต่อมาพระครูยอดแก้วได้ให้ สามเณรนั้นท่องสวดมนต์ จนถึงพระปาฏิโมกข์ สามเณรก็เรียนได้หมดจนชํานิชํานา ญ พระครูยอดแก้วก็ให้สามเณรท่องจําพระสูตรต่างๆ จนจําได้หมด ต่อไปก็ให้เรียน พระไตรปิฎกตั้งแต่พระธรรมบทบั้นต้นบั้นปลาย และไม่ว่าจะเป็นพระคัมภีร์ใดๆ ตลอดจนเอาคัมภีร์ในหีบบนหอไตรมาให้เรียน สามเณรก็เรียนรู้จนหมดสิ้นไม่มีใครสู้ได้สักคน ชื่อเสียงอันนั้นได้เล่าลือไปถึงองค์พระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ก็มีพระราชหฤทัยเลื่อมใส ทรงสถาปนาขึ้นเป็น “ซาว” นับแต่นั้นมาก็ลือชาปรากฏไปทั่วอาณาเขตประเทศล้านช้าง ครั้นชาจัวนั้นอายุได้ 21 ปี พอที่จะอุปสมบทเป็นพระ ภิกษุได้ พระเจ้าแผ่นดินจึงนิมนต์ “ซาว” ให้บวชเป็นภิกษุ ชาวจึงไหว้พระครูยอดแก้วว่า ถ้าจะบวชให้ตนแล้ว ขอให้นิมนต์พระสงฆ์นั่งหัตถบาสให้ได้ 500 รูป ให้สร้างสิมน้ำจึงจะบวช พระครูยอดแก้วก็เข้าไปถวายพระพรให้สมเด็จพระเจ้าฯ ทรงทราบตามถ้อยคําของซาจั่ว เมื่อสมเด็จพระเจ้าฯ ทรงทราบดังนั้น ก็ตรัสสั่งให้เสนาข้า ราชการ จัดหาเรือใหญ่มาผูกติดกันทําเป็นสิมน้ำเมื่อถึงวันกําหนดแห่นาคสามเณรไปสู่สิมน้ำ พระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์กับพระสงฆ์หัตถบาส 500 รูป ก็พร้อมกันทําอุปสมบทชาจัว ขึ้นเป็นพระภิกษุขอนิสัยเสร็จแล้ว พระกรรมวาจาจารย์ จะให้อนุศาสน์ (คําสอนพระใหม่) แพที่ทําเป็นสิมน้ำก็จมลงพอดี พระสงฆ์ทั้งปวงพากันลอยน้ำขึ้นฝั่งไตรจีวรเปียกหมดทุกรูป แต่ภิกษุที่บวชใหม่นั้นไม่เปียก สบงจีวรยังแห้งอยู่ดังเดิม สงฆ์ทั้งหลายเห็นแล้วก็พากันอัศจรรย์ใจ สมเด็จพระเจ้าฯ ก็ทรงยินดีเป็นที่ยิ่ง

ครั้นภิกษุรูปนั้นอุปสมบทได้ครบหนึ่งพรรษา สมเด็จพระเจ้าฯ ก็ทรงจัดหาเครื่องอัฐบริขารครบถ้วนแล้ว พร้อมด้วยคณะสงฆ์จึงตั้งภิกษุรูปนั้นให้เป็นพระครู ให้อยู่วัดโพนสะเม็ก (ในเรื่องนครจําปาศักดิ์ว่าวัดโพนสะเม็ด) คนทั้งหลายจึงเรียกชื่อ ตามที่อยู่ว่าพระครูโพนสะเม็ก ตั้งแต่นั้นสืบมา

ในหนังสือเรื่องนครจําปาศักดิ์นั้นได้กล่าวว่า พระครูโพนสะเม็ก ได้รักษาสิกขาบทวินัยอย่างบริบูรณ์ สําเร็จถึงขั้นอภิญญา 5 และสมาบัติ 8 ประการ ประกอบไปด้วยญาณ จะพูดจะจาสิ่งใด ก็ศักดิ์สิทธิ์ดังใจนึกเพราะบุญบารมี คนทั่วไปก็นิยมนับถือมากมาย ต่างก็พากันสรรเสริญบุญบารมีพระครูโพนสะเม็ก สมเด็จพระเจ้าฯ ก็ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์

สมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ได้เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2533/ค.ศ. 16901 โดยไม่มีพระราชโอรสจะสืบราชบัลลังก์ ทรงมีพระราชโอรสอยู่องค์เดียว แต่ก็ทําความผิด จนถึงพระองค์ต้องตรัสสั่งให้ประหารชีวิต แต่มีพระราชนัดดาที่เกิดจาก พระราชโอรสองค์นั้นอยู่ 2 องค์ คือเจ้ากิ่งกีสราชกุมารกับเจ้าอินทโสม แต่ก็ยังทรงพระเยาว์ ส่วนพระราชนัดดาอีกองค์หนึ่ง ประสูติจากพระนางสุมังคลา ราชธิดาของ พระองค์มีพระนามว่า เจ้าองค์หล่อและยังทรงพระเยาว์เช่นเดียวกัน เจ้านายองค์อื่นๆก็คงจะมีอยู่ แต่อาจจะอยู่ในลักษณะที่ว่า “มีชื่อไม่ปรากฏ มียศไม่ลือชา เหตุนั้นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่เวลานั้น คือพระยาเมืองจันทน์” จึงยึดอํานาจในราชบัลลังก์ได้ โดยง่ายแล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ในปีนั้นนั่นเอง

เมื่อพระยาเมืองจันทน์ สถาปนาตนเองเป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังจะบังคับเอา เจ้านางสุมังคลา ผู้เป็นหม้าย ทั้งยังทรงครรภ์อยู่ประมาณ 6-7 เดือน ให้เป็นมเหสีของ ตนอีกแต่เจ้านางสุมังคลาไม่ยินยอม พระยาเมืองจันทน์ไม่พอใจ และโกรธเคืองเจ้านางสุมังคลา คิดจะกําจัดนางพร้อมกับเจ้าองค์หล่อ ผู้เป็นเสี้ยนหนามต่อราชบัลลังก์ ของตนนั้นเสีย

เสนาอํามาตย์ผู้เป็นฝ่ายของพระนางรู้ทัน จึงพากันลักเอาเจ้าองค์หล่อโอรส ของเจ้านางสุมังคลา หนีไปประทับอยู่เมืองพานภูชน ฝ่ายเจ้านางสุมังคลา ได้เข้าไปอาศัยอยู่กับพระครูโพนสะเม็ก

พระเจ้าเวียงจันทน์ถึงแก่พิลาลัย ในความเป็นมาของลาว โดย อู่คํา พรหมวงศ์ ว่าพระเจ้าสุริยวงศาเสด็จสวรรคต ปี พ.ศ. 2537 เรื่องนครจําปาศักดิ์ ว่า “พระยาเมืองแสน” หนังสือเรื่องนครจําปาศักดิ์ กล่าวว่า “พรรคพวกของเจ้านางสุมังคลา เอาเจ้าองค์หล่อไปอยู่เมืองญวน (แกว) ๆ ก็รับเอาเจ้าองค์หล่อไว้แล้วตั้งชื่อว่า เจ้าองค์เวียด” ส่วนในหนังสือความเป็นมาของลาว กล่าวว่า “อํามาตย์ที่เป็นพวกของเจ้าองค์หล่อ จึงพาเจ้าองค์หล่อหนี้ไปเมืองพานภูสุน ประเทศเวียดนาม”

พระยาเมืองจันทน์ เห็นคนนับถือพระครูโพนสะเม็กมากมาย กลัวว่าจะเป็น ศัตรูต่อราชบัลลังก์ในภายหน้า จึงคิดจะกําจัดพระครูโพนสะเม็กนั้นเสียอีก แต่ท่านก็รู้ ตัวเสียก่อน จึงพาญาติโยมจํานวน 3,000 คน พร้อมทั้งเจ้านางสุมังคลาหนีจาก เวียงจันทน์ล่องลงไปตามลําน้ำโขง จนถึงบ้านงิ้วพันลําสมสนุก จึงพักอยู่ที่นั่น ส่วนเจ้านางสุมังคลานั้น ท่านได้ให้คนพาไปหลบซ่อนหนีราชภัยอยู่ภูสะง้อหอคํา (กล่าวกันว่าอยู่ในเขตแขวงบริคัน)

ขอแทรกความเห็นของข้าพเจ้าไว้ที่นี้หน่อยหนึ่งว่า การที่พระครูโพนสะเม็กพา คนจํานวนถึง 3,000 คน หนีลงไปทางใต้จากเวียงจันทน์นั้น นับว่าเป็นเหตุการณ์ใหญ่ อันหนึ่ง คงจะได้ยินไปถึงหูพระยาเมืองจันทน์ แต่เหตุใดพระยาเมืองจันทน์ จึงไม่แต่งกองทัพไปตามเอาราษฎรเหล่านั้นกลับคืน หรือทําลายเสีย หรือว่าเป็นความประสงค์ ของพระยาเมืองจันทน์เอง ที่อยากจะให้พระครูโพนสะเม็กหนีไปไกลหูไกลตา เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่น่าคิด ข้าพเจ้าขอสันนิษฐานว่า เมื่อพระครูโพนสะเม็กรู้ตัวว่าจะมีภัยมาถึง ท่านคงทําการปล่อยข่าวไปว่าท่านจะลงไปปฏิสังขรณ์และไหว้พระธาตุพนม แล้วก็ออกเดินทางไปพร้อมกับลูกศิษย์จํานวนไม่เท่าใด ส่วนญาติโยมนั้นคงจะได้นัดแนะให้ ค่อยทะยอยกันไปทีละเล็กทีละน้อย อย่าให้ผิดปกติ และบอกจุดหมายปลายทางให้รู้ว่าไปพร้อมกันอยู่ที่บ้านงิ้วพันลําสมสนุก ส่วนเจ้านางสุมังคลานั้น พระครูโพนสะเม็กคงจะจัดคนให้การอารักขา และพาหนีไปหลบซ่อนอยู่ที่ภูสะง้อหอคํา เป็นพิเศษ ดังนี้ก็เป็นได้

เมื่อพระยาเมืองจันทน์ ขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินครองนครเวียงจันทน์มาได้ 6 เดือน เสนาอํามาตย์ผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อองค์หล่อก็ยกกองทัพมาตีนครเวียงจันทน์ และเมื่อจับพระยาเมืองจันทน์ได้แล้วก็ให้ประหารชีวิตเสีย จึงเชิญเอาเจ้าองค์หล่อขึ้นเป็น เจ้าแผ่นดิน

ขอย้อนกลับไปกล่าวถึงพระครูโพนสะเม็ก ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า พระครูยอดแก้ว เมื่อท่านเดินทางจากนครเวียงจันทน์ลงไปทางเมืองใต้นั้น ไปถึงที่ใดก็มีแต่คนรัก คนชอบการเดินทางสะดวกปลอดภัยการอยู่กินก็สบาย พวกญาติโยมประชาชนทั่วไป จึงเรียกท่านด้วยความรักและเคารพว่า “ญาครูขี้หอม

ฝ่ายเจ้านางสุมังคลา ผู้ไปหลบหนีราชภัยอยู่ที่เมืองสะง้อหอคํา ไปประสูติพระโอรสองค์หนึ่งอยู่ที่นั่น พระครูโพนสะเม็ก ถวายพระนามว่า เจ้าหน่อกษัตริย์ ภายหลังท่านได้เชิญเอาเจ้านางสุมังคลา พร้อมทั้งโอรสมาพักอาศัยอยู่ที่บ้านงิ้วพันลํา ส่วนตัวท่านเองได้ไปทําการปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม เป็นเวลา 3 ปี จึงเสร็จตาม ประสงค์ แล้วพาญาติโยมล่องลงไปทางใต้เรื่อยๆ

ในหนังสือเรื่องนครจําปาศักดิ์นั้นได้เล่าว่า “ครั้นอพยพไปแห่งใด ญาติโยมก็ติดตามไปด้วยแห่งละ 2-3 ครอบครัว แล้วพระครูโพนสะเม็กก็ลงไปกรุงอินทปัตถ์มหานคร ครอบครัวที่เมื่อยล้าหมดแรง ตามลงไปด้วยไม่ได้ก็ตั้งบ้านเรือนเรียงรายกันไป จึงเรียกว่าลาวเดิม บ้านบารายมาจนทุกวันนี้ แล้วพระครูโพนสะเม็กกับครอบครัวญาติโยมศิษยานุศิษย์ ก็ลงไปถึงทางตุยจังวะสุดแดน แต่บัดนี้เรียกว่า จะโรยจังวา (แปลว่า แหลม) พระครูโพนสะเม็กเห็นท้องถิ่นจะโรยจังวา เป็นชัยภูมิกว้างขวางและมีภูเขาใหญ่น้อย จึงพักญาติโยมศิษยานุศิษย์อยู่ ณ ที่นั้นพระครูโพนสะเม็กจึงสร้าง พระเจดีย์องค์หนึ่งบนภูเขานั้น เมื่อวันจะเสร็จมีผู้หญิงเขมรคนหนึ่งชื่อเป็นลงไปอาบน้ำในลําน้ำใหญ่ แม่เฒ่าเป็นเห็นพระบรมธาตุลอยมาเหนือน้ำ มีพระรัศมีรุ่งเรืองงดงาม แม่เฒ่าเป็นเห็นประหลาด จึงเอาขันน้ำเข้ารองรับขึ้นไปถวายพระครูโพนสะเม็ก ๆ เห็นเป็นพระบรมธาตุแน่นอนแล้ว ก็ขอบิณฑบาตเอากับแม่เฒ่าเป็น แล้วพระครูโพนสะเม็กก็อัญเชิญเอาพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ ท่านเห็นว่าภูเขานั้นภาษาเขมรเรียกว่า “พนม” แล้วเอาชื่อแม่เฒ่าเป็นที่ได้พระบรมสารีริกธาตุมา ประกอบเข้ากัน พระครูโพนสะเม็กจึงให้ชื่อว่า พระเจดีย์พนมเป็น ครั้นภายหลังมาเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีย้ายจากเมืองปะทายเพชร ลงไปสร้างเมืองขึ้นที่ถิ่นนั้นเป็นเมืองหลวง จึงเรียกชื่อเมืองว่า “พนมเปญ” มาจนทุกวันนี้ และเมื่อพระครูโพนสะเม็กสร้างพระธาตุแล้ว จึงหล่อพระพุทธปฏิมาองค์หนึ่งเสร็จแต่พระเศียร ตั้งแต่พระกรเบื้องขวาลงมายังไม่เสร็จ เจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีแจ้งว่า พระครูโพนสะเม็กพาครอบครัวญาติ โยมลาวเข้ามาอยู่ในเขตแดน จึงแต่งให้พระยาพระเขมรไปตรวจบัญชีครอบครัวลาว พระยาพระเขมร จึงเรียกเอาเงินคนละ 8 บาท พระครูโพนสะเม็กเห็นว่าญาติโยมจะได้รับความลําบาก จึงพาครอบครัวญาติโยมหนีขึ้นไปตามลําน้ำโขง

เรื่องที่ว่า พระครูโพนสะเม็ก สร้างพระธาตุเจดีย์ไว้และใส่ชื่อว่า พระธาตุพนมเปญ จนเมื่อเขมรมาตั้งเมืองหลวงลงที่นั่น ก็ตั้งชื่อเมืองตามชื่อพระธาตุว่า กรุงพนมเปญนั้น เรื่องนี้จะมีความจริงเพียงใดต้องตรวจดูประวัติศาสตร์ของเขมร และต้องตรวจดูพระธาตุองค์นั้นด้วย ในด้านโบราณวัตถุนั้นพวกเราควรจะศึกษาประวัติ ศาสตร์ของเขมรตอนนี้ดูให้แน่ชัดด้วย

พงศาวดารเรื่องเมืองนครจําปาศักดิ์ ได้กล่าวต่อไปอีกว่า “ครั้นไปถึงบ้านแห่งหนึ่งเรียกว่า เมืองสมบูรณ์ในปัจจุบันนี้ พระครูโพนสะเม็กจึงพาครอบครัว ญาติโยมพักอาศัยอยู่ในที่นั้น แล้วพระครูโพนสะเม็กจึงได้ชักชวนศิษยานุศิษย์ของท่านสร้างพระวิหารไว้ที่นั่นหลังหนึ่ง ครั้นเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีได้รับแจ้งว่าพระครูโพนสะเม็กยกไปยังไม่พ้นเขตแดน จึงแต่งให้พระยาพระเขมรยกทัพมาขับไล่ พระครูโพนสะเม็กเห็นว่าญาติโยมจะพากันเป็นอันตราย จึงตั้งจิตอธิษฐานว่าเดชะบารมีธรรมที่ได้บําเพ็ญมาแต่ปางหลัง จงมาช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นอันตราย ขอเทพยดาเจ้าจงช่วยอภิบาลในครั้งนี้ ด้วยอํานาจบุญกุศลทําให้พระยาพระเขมรไม่คิดจะทําอันตราย พระครูโพนสะเม็กก็พาครอบครัวหนีไปได้โดยสะดวก พระยาพระเขมร ก็เลิกทัพกลับไปกรุงกัมพูชาธิบดี

“ฝ่ายพระครูโพนสะเม็ก ไม่มีที่พักอาศัยจึงตั้งจิตอธิษฐานเสี่ยงทาย ด้วยเดซะกุศลธรรม ดินก็ผุดขึ้นเป็นเกาะอยู่ที่นั่น เกิดเป็นหาดทราย ราษฎรเรียกว่า หาดท่านพระครูมาจนทุกวันนี้ พระครูโพนสะเม็ก ก็พาเอาญาติโยมหยุดพักอยู่ที่เกาะนั้น พร้อมกับหล่อพระพุทธปฏิมา แต่บ่าพาดพระกรเบื้องซ้ายถึงหน้าตัก พระเพลา ตลอดพระแท่น สําเร็จแล้ว จึงให้ศิษย์ไปเชิญพระพุทธรูป ที่หล่อไว้ที่เจดีย์พนมเปญ ซึ่งยังไม่เสร็จนั้นมาสวมต่อกันเข้า เกาะนั้นก็เรียกกันว่า ตอนพาด ดอนทราย มาจนทุก วันนี้ แล้วพระครูโพนสะเม็กจึงพาญาติโยมแห่พระขึ้นมาถึงทางโค ปากน้ำเซกอง ฝั่ง ตะวันออก เห็นสถานที่นั้นเหมาะสมดี พระครูโพนสะเม็กเห็นว่า ต่อไปภายหน้าคงจะ เป็นเมือง จึงพาญาติโยมสร้างพระวิหารไว้ ณ ที่นั่นแล้วอัญเชิญพระพุทธรูปพระแสน มาประดิษฐานไว้ในวิหารนั้น แล้วก่อพระเจดีย์ไว้ที่บาจงองค์หนึ่ง พระครูโพนสะเม็ก จึงให้ศิษย์ผู้หนึ่งและครอบครัว เป็นผู้อุปัฏฐากพระพุทธปฏิมาพระแสน อยู่ที่นั่น”

เรื่องเกี่ยวกับพระแสนนี้ มีกล่าวไว้ในตํานานนครจําปาศักดิ์ ฉบับของเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจําปาศักดิ์ว่า “เมื่อพระครูโพนสะเม็กกับครอบครัวอพยพมาจากเมืองเขมร มาตั้งอยู่ที่เชียงแตงครั้งแรกนั้น ได้เรี่ยไร พวกครอบครัวให้รวบรวมทองแดง ทองเหลือง ได้น้ําหนักมากถึง 360 ชั่งกว่า หล่อขึ้น เป็นพระพุทธรูปองค์หนึ่งเนื้อหนาดี ขัดสีเกลี้ยงขึ้นเงางาม พระครูโพนสะเม็กถวาย พระนามว่า พระแสน เพราะคิดน้ําหนักได้หลายกว่าแสนเฟื้อง แล้วประดิษฐานไว้ใน วัด ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระครูโพนสะเม็ก ในเมืองเชียงแตง พระแสนนั้นก็อยู่ที่เมืองเชียงแตงมาจนถึงแผ่นดินปัจจุบัน (หมายถึงสมเด็จพระจอมเกล้ารัชกาลที่ 4) พระบาม สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (เป็นเจ้าแผ่นดินคู่กับรัชกาลที่ 4) ทรงสืบทราบ ทรงมีพระราชประสงค์จะได้ไว้สักการะ จึงเสด็จลงมากราบทูลขอให้มีคําสั่งให้ข้าหลวงขึ้น ไปอาราธนาลงมา เมื่อปีมะแม นักษัตรเอกศก ศักราช 1221 (พ.ศ. 2402) ตรงกับปี คริสต์ศักราช 1859 ครั้นเชิญเสด็จพระแสนลงมาถึงแล้ว ก็พระราชทานไปในพระราชวังบวร ตามประราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงตรัสสั่งให้อัญเชิญไปสร้างแท่นประดิษฐานไว้ ในพระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม คลองบางกอกใหญ่ (ฝั่งธนบุรี) อยู่มาจนทุกวันนี้”

ส่วนคํากล่าวที่ว่า ก่อพระเจดีย์ไว้ที่บาจงองค์หนึ่งนั้น ไม่ทราบว่าจะเป็นที่ใดแท้ สําหรับข้อความเกี่ยวกับบันทึกของพ่อค้าชาวฮอลันดาที่เข้ามานครเวียงจันทน์ เมื่อปี ค.ศ. 1641 ในรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช มีกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ที่ เมืองสามบารู (Sambarour) พวกพ่อค้าได้เปลี่ยนเรือเพื่อจะผ่านความลําบากของแก่ง ก่อนจะไปถึงแก่ง พวกพ่อค้าฮอลันตาได้หยุดพักที่บ้านบัดจอง (Bactiong หรือ Bachong) ซึ่งเป็นบ้านที่มีวัดโบราณเก่าแก่ของเขมร อยู่ติดกับเมืองเชียงแตงใหม่”

ที่ว่าก่อเจดีย์ไว้ที่บาจง จะเป็นที่เดียวกับที่บันทึกของพ่อค้าฮอลันดากล่าวไว้นี้หรือไม่ ก็ยังเป็นที่สงสัยอยู่ จะขอเอาข้อความในพงศาวดาร เรื่องเมืองนครจําปาศักดิ์ มากล่าวต่ออีกนิดหน่อย เพราะเห็นว่ามีข้อความกล่าวไว้ละเอียด พิสดารกว่าที่พบในที่อื่น

“ครั้นนานมา ศิษย์ผู้นั้นมีลูกชายผู้หนึ่งชื่อเชียงแปง พอผู้พ่อถึงแก่กรรมแล้ว เชียงแบ่งก็รักษาครอบครัวอยู่ที่นั่นสืบต่อมาและพระครูโพนสะเม็กก็พาศิษย์ทั้งปวง ขึ้นไปตามลําน้ำโขง ถึงเกาะหลี่ผี ท่านจึงสร้างพระเจดีย์ด้วยหินองค์หนึ่ง สูง 4 ศอก สร้างพระวิหารไว้หลังหนึ่ง แล้วก็ขึ้นไปตามลําน้ำโขงถึงเกาะใหญ่แห่งหนึ่ง จึงพักอยู่ที่นั่น แล้วพระครูโพนสะเม็กก็นั่งบริกรรมเห็นว่า เกาะนี้ต่อไปภายหน้าจะได้เป็นเมือง จึงสร้างพระเจดีย์ไว้องค์หนึ่ง ที่บนยอดธาตุจารึกเป็นอักษรขอมไว้ว่า “ศักราชได้ 1070 ปี (จุลศักราช) วันอาทิตย์ขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่ (พ.ศ. 2251) พระครูโพนสะเม็กมีศรัทธา สร้างพระเจดีย์ไว้ที่นครโขง ให้เป็นที่ใหว้ที่บูชาแก่เทพยดาและคนทั้งหลาย” แล้วหล่อระฆังใหญ่ไว้ลูกหนึ่ง ปากกว้างสองศอก แล้วจึงประชุมลูกหลานลาวเดิม ให้ไว้เป็นข้าพระมหาธาตุเจดีย์ดอนโขงตราบเท่า 5000 พระพรรษา แล้วให้อาจารย์ทวดอยู่รักษา อาณาเขตเมืองโขง ต่อจากนั้นพระครูโพนสะเม็กก็ขึ้นมาหัวดอนชัย เห็นว่าถ้าตั้งอยู่ที่ นี่คงจะมีชัย แต่ดอนน้อยไม่พอจะเป็นเมืองได้ จึงให้เรียกว่าดอนชัยมาจนถึงทุกวันนี้ แล้วพระครูโพนมะเม็กก็ขึ้นมาถึงดอนแดงและพักอยู่ที่นั่น แล้วให้ลูกศิษย์ 16 คนนุ่งขาวห่มขาว รับศีลแล้วไปเที่ยวนอนเอานิมิตอยู่ที่กลางเกาะและที่หัวเกาะ ชีผ้าขาว 16 คน มาถึงกลางเกาะพักนอนพร้อมกับอธิษฐานเสร็จแล้ว เทพเจ้าก็ลงมาให้นิมิตว่า ที่แห่งนี้จะเป็นศรีนครแต่จะมีปรปักษ์มาเบียดเบียนในศาสนา ครั้นได้นิมิตแล้วซีผ้า ขาว 16 คนก็ขึ้นไปนอนหัวเกาะ พร้อมกับตั้งสัตยาธิษฐานเสร็จแล้ว เทพเจ้าก็ลงมา ให้นิมิตว่า เห็นปุถุชนทั้งหลายมีใจกล้าหาญหยาบช้า ก่อการวิวาทเป็นปรปักษ์แก่กันอยู่ ชีผ้าขาว 16 คน ได้นิมิต 2 แห่งแล้ว ก็เข้าไปไหว้เล่าความแด่พระครูโพนสะเม็กๆเห็นว่า สถานที่แห่งนี้กษัตริย์องค์ใดมาครอบครองราชสมบัติในนครนี้ สองพี่น้องก็จะไม่ถูกต้องปรองดองกัน ประชาราษฎรก็จะเป็นปรปักษ์ ฉ้อโกงลักขโมย เบียดเบียนซึ่ง กันและกัน”

“ฝ่ายว่าเมืองนครกาลจําปากนาคบุรีศรี นางเพาถึงแก่กรรม นางแพงผู้เป็นธิดากับท้าวพระยาก็ทําฌาปนกิจเสร็จแล้ว นางแพงผู้ธิดากับพระยาคําหยาด พระยาสองราช จึงจัดราชการบ้านเมืองสืบมา ครั้นได้ทราบกิตติศัพท์ว่า พระครูโพนสะเม็กมาพักอยู่ที่ดอนแดงมีคนนับถือมาก นางแพงผู้เป็นแม่เมืองก็มีจิตเลื่อมใส จึงปรึกษากับท้าวพระยาผู้ใหญ่ผู้น้อยว่า เราจะอาราธนาพระครูโพนสะเม็กมา จะได้รุงพระพุทธศาสนาให้พัฒนาถาวรสืบไปภายหน้า ท้าวพระยาทั้งปวงก็เห็นดีด้วย นางแพงจึงให้พระยาคําหยาด พระยาสองราชไปอาราธนาพระครูโพนสะเม็กๆ ก็พาญาติโยมศิษยานุศิษย์ข้ามน้ำโขง มาตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกที่ห้วยสระหัว นางแพงจึง สร้างกุฏิเสนาสนะถวายพระครูโพนสะเม็ก ให้จําพรรษาอยู่วัดสระหัว คนทั้งหลายก็เรียกว่า วัดหลวง แล้วนางแพงกับท้าวพระยาทั้งปวง ก็มอบพุทธจักร-อาณาจักร ถวายพระครูโพนสะเม็ก ทํานุบํารุงสมณพรามณาจารย์ ท้าวพระยาและอาณาประชาราษฎรในเมืองนครกาลจําปากนาคบุรีศรี”

ในปี (จุล) ศักราช 1071 ปีฉลู (พ.ศ. 2252/ค.ศ. 1709) พระครูโพนสะเม็ก ได้ชักชวนชาวเมืองหล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่งหน้าตักกว้าง 19 นิ้ว สําเร็จบริบูรณ์แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นั้น ไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารวัดบางซ้าย ยังอยู่เท่าทุก วันนี้ ครั้นเวลานานเข้าประชาชนทั้งหลาย ก็เกิดเป็นโจรผู้ร้าย ขโมยเอาสิ่งของมีค่า ทั้งของสมณะและทรัพย์สินสิ่งของประชาราษฎรทั้งปวง แล้วก็เกิดฆ่าฟันกันขึ้นหลาย แห่งหลายที่ พระครู โพนสะเม็กจะชําระตัดสินลงอาชญา ก็กลัวว่าจะผิดต่อสิกขาบทวินัย ครั้นจะอยู่เฉยเสียไม่ปราบปรามให้หมดสิ้น สมณพราหมณาจารย์และราษฎรก็จะได้รับความรุ่มร้อนยิ่งขึ้น พระครูโพนสะเม็กพิจารณาเห็นว่า เจ้าหน่อกษัตริย์ซึ่งเป็นโอรสพระเจ้าเวียงจันทน์ จะปกครองประชาราษฎรต่อไปได้ พระครูโพนสะเม็กจึงให้ อาจารย์แก้ว อาจารย์เสียงช้าง กับท้าวเพียไพร่พลไปอัญเชิญเอาเจ้าหน่อกษัตริย์ ซึ่งตั้งอยู่บ้านงิ้วพันลําสมสนุก ลงมาเมืองนครกาลจําปากนาคบุรีศรี”

ขอแทรกความเห็นหน่อยหนึ่งว่า ญาครูขี้หอม แม้ว่าจะตั้งอยู่ในฐานะราชปุโรหิตหรือเป็นราชครูอยู่หลายปีก็ตาม ท่านก็คงจะเป็นผู้ที่มั่นคงในเพศสมณะและใน พระวินัยอย่างแรงกล้า เพราะถ้าท่านเป็นคนมักโลภในอํานาจราชศักดิ์ คงจะสึกออกมาประกาศตนเป็นกษัตริย์ ซึ่งก็คงทําได้เพราะราษฎรก็เป็นใจอยู่แล้ว หรืออาจจะเป็นเจ้าแผ่นดินพระ คือเป็นเจ้าแผ่นดินในเพศสมณะอย่างองค์ดาไลลามะของที่ประเทศ เบตก็ได้แต่ท่านไม่คิดถึงอํานาจราชศักดิ์ดังกล่าว เมื่อพิจารณาเห็นว่าเป็นสมณะจะจัดราชการบ้านเมืองไปไม่ตลอด เพราะขัดกับวินัยของสงฆ์หลายประการ จึงหาทางออกโดยแต่งให้คนไปเชิญเอาเจ้าหน่อกษัตริย์ มาปกครองบ้านเมืองแทนตน

ครั้นถึงปี พ.ศ. 2257-ค.ศ. 1714 (ในเรื่องนครจําปาศักดิ์ว่า จ.ศ. 1075 ตรงกับ พ.ศ. 2256) เมื่อพระมารดาของเจ้าหน่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์แล้ว พระครูโพนสะเม็กจึงให้ตั้งพลับพลาราชพิธีเพื่อประกอบพิธีราชาภิเษก ครั้นถึงวันอันเป็นมหาพิชัยฤกษ์ ก็อัญเชิญเอาเจ้าหน่อกษัตริย์มาสู่โรงราชพิธีแล้ว ก็สรงน้ำมุรธาภิเษก ท้าวพระยาทั้งปวงก็ถวายพระนามว่า “พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร” เป็นเจ้าเอกราชครองราช สมบัติตามโบราณราชประเพณีแล้วพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯ ก็สร้างปรับปรุงเมืองให้แข็งแรงขึ้นอีกที่ริมฝั่งศรีสุมัง แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่า “นครจําปาศักดิ์นาคบุรีศรี” ส่วนนางแพงนั้นพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯ ก็ทรงรับเข้าไปไว้ในโรงหลวง ทรงอุปการะเลี้ยงดูเป็นอย่างดี แล้วพระองค์ก็จัดการบริหารราชการบ้านเมือง แต่งตั้งเจ้านาย ท้าวพระยาเสนาบดี และตําแหน่งอื่นๆตามสมควรแก่ราชการ เช่นเดียวกับในกรุงศรีศัตนาคนหุตเวียงจันทน์

เหตุการณ์ที่เป็นมาดังกล่าวนี้แสดงว่า อิทธิพลของพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต เวียงจันทน์ คงจะครอบคลุมไปไม่ถึง หรือไปถึงก็คงอ่อนเต็มที่ อันนี้ก็เพราะว่ามัวแต่พากันแย่งราชบัลลังก์อํานาจฝ่ายบิหารบ้านเมืองก็อ่อนลง หาผู้จะบังคับบัญชาควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองให้สงบอย่างแท้จริงไม่ได้ อํานาจฝ่ายทหารก็คงจะถูกควบคุมอยู่ที่จุดใครจุดมัน ความเข้มแข็งของกองทัพส่วนกลางก็อ่อนแอ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเหนื่อยหน่ายทั้งกายและใจเอาตนหลบหลีกภัยเสีย จนอํานาจศูนย์กลางของนครหลวง ที่เคยยิ่งใหญ่ไพศาลมาแต่สมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชนั้น ต้องแตกสลายลง ไม่แผ่กระจายครอบคลุมไปทั่วทั้งรัฐสีมาอาณาเขต เป็นเหตุให้พระครูโพนสะเม็กผู้เป็นสมณะที่ถูกพระยาเมืองจันทน์ ผู้ได้อํานาจในราชบัลลังก์ในนครเวียงจันทน์ปองร้าย ต้องหาอุบายเอาตนหลบหลีกราชภัย ล่องไหลไปตามเส้นทางของลําน้ำโขง พร้อมกับเจ้านายบางองค์กับประชาราษฎรเป็นจํานวนมาก ซึ่งในนั้นคงจะ มีข้าราชการที่มียศศักดิ์และมีภูมิปัญญาปะปนอยู่ไม่น้อย เมื่อได้โอกาสและชัยภูมิ อันเหมาะสม จึงประกาศตนเป็นราชอาณาจักรเอกราชขึ้นอีกประเทศหนึ่ง ในดินแดนถิ่นใต้ของอาณาจักรล้านช้าง ได้อย่างสะดวกสบาย ความเป็นเอกภาพของแผ่นดินลาวสมัยนั้น ก็แตกสลายลง

ต่อจากนั้น พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯได้ทรงสร้างพระอารามขึ้นใหม่อีกแห่ง หนึ่งเมื่อสร้างเสร็จแล้ว จึงอาราธนาพระครูโพนสะเม็กกับพระสงฆ์บริวารมาอยู่ที่อารามใหม่นั้น จึงเรียกว่า วัดหลวงใหญ่ ส่วนวัดเดิมนั้นเรียกว่า วัดหลวงเก่า ตั้งแต่นั้นมา

อันพระครูโพนสะเม็กนั้น เข้าใจว่าคงจะได้ดํารงตําแหน่งพระสังฆราชแห่งอาณาจักรจําปาศักดิ์ จึงมีชื่อที่คนทั้งหลายมักเรียกกันว่า พระครูยอดแก้ว วัดโพนสะเม็ก แต่คนมักจะเรียกตามชื่อวัดของท่านว่าพระครูโพนสะเม็ก บางครั้งอาจจะได้ตําแหน่งพระครูยอดแก้วไปแต่นครเวียงจันทน์แล้วก็เป็นได้ ส่วนคําว่า “ญาครูขี้หอม” นั้นคนเรียกด้วยความเคารพรักในตัวท่าน

ครั้นถึง พ.ศ. 2263-ค.ศ. 1720 (จ.ศ. 1982) ปีชวด พระครูยอดแก้วโพนสะเม็ก

ก็อาพาธลงเพราะโรคชรา และถึงแก่มรณภาพในวันพุธ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 7 อายุได้ 90 ปี พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯ พร้อมด้วยเสนาอํามาตย์ข้าราชการและประชาราษฎร ก็ร่วมกันจัดการทําบุญให้ทาน มีการละเล่นสนุกสนานเนื่องในงานฌาปนกิจศพอยู่เดือนหนึ่ง จึงพากันถวายเพลิงศพของท่าน ครั้นเสร็จสิ้นการถวายเพลิงศพแล้ว พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯ ให้สร้างอารามขึ้นในที่ฌาปนกิจศพนั้นวัดหนึ่งและก่อพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่ง องค์น้อยอีก 3 องค์ บรรจุอังคารของท่านไว้ในอารามนั้น เรียกวัดนั้นว่าวัดธาตุมาจนทุกวันนี้ ส่วนอัฐิหรือธาตุอีกส่วนหนึ่ง พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯ ได้ให้ข้า ราชการชั้นพระยาอัญเชิญขึ้นมา สร้างธาตุน้อยประดิษฐานไว้ข้างพระธาตุพนม ตามความปรารถนาของท่าน

วัดธาตุฝุ่นสันติธรรมวราราม แขวงจำปาสัก สปป ลาว เป็นสถานที่เก็บอัฐิธาตุ ของ ยาคูขี้หอม ຍາຄູຂີ້ຫອມ หรือ (เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก)
วัดธาตุฝุ่นสันติธรรมวราราม แขวงจำปาสัก สปป ลาว เป็นสถานที่เก็บอัฐิธาตุ ของ ยาคูขี้หอม ຍາຄູຂີ້ຫອມ หรือ (เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก)

ตามประวัติว่า พระครูยอดแก้วโพนสะเม็ก มีความเลื่อมใสในพระธาตุพนม เป็นอย่างยิ่ง เมื่อท่านไปอยู่เป็นหลักแหล่งที่จําปาศักดิ์แล้ว ถ้ามีโอกาสก็มักจะขึ้นมาไหว้และบูรณะซ่อมแซมพระธาตุและบริเวณพระธาตุนั้นทุกปี และเมื่อจวนจะมรณภาพนั้น ก็ยังสั่งให้เอาอัฐิธาตุของท่าน ไปบรรจุไว้ข้างพระธาตุพนมส่วนหนึ่ง ซึ่งเวลานั้นดินแดนแถบนั้นเป็นของลาวโดยแท้จริงและพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯ ก็ได้ทรงปฏิบัติให้คําปณิธานของท่านสําเร็จลง เรียกว่าธาตุญาครูขี้หอมจนถึงบัดนี้

พระครูขี้หอม หรือ หลวงพ่อขี้หอม ยาคูขี้หอม (ญาคูขี้หอม) พระครูโพนสะเม็ก เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก
สถานที่บรรจุ อัฐิธาตุ พระครูขี้หอม
หรือ หลวงพ่อขี้หอม ยาคูขี้หอม (ญาคูขี้หอม) พระครูโพนสะเม็ก เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก
วัดธาตุฝุ่นสันติธรรมวราราม แขวงจำปาสัก สปป.ลาว

เมื่อปี พ.ศ. 2513 พระเทพรัตนโมลี (แก้ว) เจ้าอาวาสวัดธาตุพนมได้จัดการ หล่อรูปของพระครูยอดแก้วโพนสะเม็กหรือญาครูขี้หอมไว้ที่วัดธาตุพนมด้วยทองเหลือง และว่าหล่อตามนิมิตของผู้นั่งสมาธิที่มีกําลังจิตบอกลักษณะรูปร่างของท่าน

เถระประวัติของญาท่านครูขี้หอม ก็จบลงเท่านี้ก่อนแล