วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก วัดป่าวิเวกธรรม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ประวัติและปฏิปทา พระโสภณวิสุทธิคุณ หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก วัดป่าวิเวกธรรม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก วัดป่าวิเวกธรรม

พระนักปฏิบัติ ผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงาม เป็นเนื้อนาบุญของชาวพุทธ ที่ควรแก่การสักการบูชา

หลวงปู่บุญเพ็ง ท่านมีนามก่อนอุปสมบทว่า บุญเพ็ง เหล่าหงษา ท่านถือกำเนิดจากโยมบิดาคือ นายเอี่ยม โยมมารดาคือ นางคง ในวันมาฆบูชา ปีมะโรง จ.ศ.๑๒๙๐ ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๑ ณ บ้านบัวบาน ตำบลกู่ทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม

มีพี่น้องร่วมท้อง ๗ คน เป็นชาย ๕ คน หญิง ๒ คน ได้แก่
๑. นางแถว
๒. พระครูศีลสารวิมล (ล้วน สีลราโม)
๓. นางสาย
๔. นายเลียบ
๕. นายเลี่ยม
๖. นายสำเริง และ
๗. พระอาจารย์บุญเพ็ง กัปปโก (บุตรคนสุดท้อง)

ปัจจุบันพี่ของท่านมรณภาพ และเสียชีวิตหมดแล้ว

ครอบครัวของหลวงปู่บุญเพ็ง มีอาชีพทำไร่ทำนาตามสภาพของคนในชนบท มีฐานะพอมีอันจะกินตระกูลหนึ่งในหมู่บ้านบัวบาน หลวงปู่มีโอกาสศึกษาถึงชั้นประถมปีที่ ๔ ท่านเล่าให้ฟังว่า

ท่านเคยควบคุมดูแล การหลบลูกระเบิดสมัยสงครามอินโดจีน เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ตั้งแต่ท่านเป็นนักเรียนชั้นประถมปีที่ ๔ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้ที่มีความฉลาดเฉลียว และมั่นใจในตนเองมาตั้งแต่เด็ก

ในการประกอบสัมมาชีพของท่านในแต่ละวัน ท่านก็ยังคิดเมตตาสงสารวัวควายที่ท่านใช้งาน และคิดสลดสังเวชการวนเวียนดำเนินชีวิตของผู้คนรอบข้างที่ทุกข์ยาก สู้ภัยธรรมชาติปีแล้วปีเล่า แม้ว่าหลวงปู่บุญเพ็งท่านอยากจะบวช แต่ก็ต้องรับผิดชอบในการทำงานแทนบรรดาพี่ชายซึ่งบวชกันไปหมด จนกระทั่งท่านมีอายุได้ ๒๑ ปี จึงได้มีโอกาสบวช

ก่อนออกบวชท่านก็ได้ทดแทนคุณบิดามารดา ด้วยการสร้างบ้านให้บิดามารดาและพี่น้องด้วยตัวท่านเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่หาไม้จนกระทั่งสำเร็จเป็นบ้านอยู่อาศัยได้

มูลเหตุที่หลวงปู่ท่านมีความตั้งใจอยากจะบวชเป็นพระแทนการสร้างครอบครัวเฉกเช่นชาวบ้านอื่น ก็คงเป็นเพราะท่านเกิดมาในตระกูลที่ฝักใฝ่ในทางศีลธรรม ประกอบกับพี่ชายของท่านคือ พระครูศีลสารวิมล (ล้วน สีลราโม) ก็ได้บรรพชาตั้งแต่หลวงพ่อท่านยังเป็นเด็ก จนได้เป็นพระกรรมฐานผู้มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธบริษัทอย่างกว้างขวาง

หลวงปู่บุญเพ็งเล่าให้ฟังว่า ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม แม่ทัพธรรม พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์หลายรูปได้เดินทางมาจากจังหวัดอุบลราชธานี มาธุดงค์กรรมฐานที่โคกเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรมในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นป่ารก เป็นป่าช้าผีดุ แล้วก็มีหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่อ่อน หลวงปู่ภูมี หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่กงมา หลวงปู่คำดี ฯลฯ มาอยู่รับการอบรมธรรมปฏิบัติจากหลวงปู่สิงห์
พอออกพรรษาเข้าหน้าแล้ง บรรดาท่านเหล่านี้ก็พากันไปแสวงหาที่วิเวกภาวนา โดย หลวงปู่เทสก์ ก็ได้ไปแสวงหาที่วิเวกกรรมฐานทางทิศตะวันออกของเมืองขอนแก่น คือไปทางจังหวัดมหาสารคาม ท่านได้ไปพักอยู่ที่ป่าช้าหัวหนองตอกแป้น บ้านบัวบาน อำเภอเชียงยืน และได้อบรมหลักการปฏิบัติธรรมแก่ญาติโยมบ้านบัวบาน รวมทั้งโยมบิดา มารดา ของหลวงปู่บุญเพ็งท่านด้วย
โยมบิดา มารดาของหลวงปู่บุญเพ็ง มีความเลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่เทสก์เป็นอย่างยิ่ง จึงได้มอบบุตรชายคนโตคือ พระครูศีลสารวิมล (ล้วน สีลราโม) เป็นลูกศิษย์ติดตามหลวงปู่เทสก์ไปธุดงค์กรรมฐานตามสถานที่ต่าง ๆ จนกระทั่งได้อุปสมบท และ ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ภูมี วัดคีรีวัลย์ อำเภอท่าช้าง จังหวัดนครราชสีมา จนเกิดความมั่นใจในความรู้ความเข้าใจในธรรมะคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็นึกถึงญาติพี่น้องทางบ้าน จึงกลับมานำญาติพี่น้องบวช และได้มาจำพรรษาที่วัดเทพนิมิต บ้านบัวบาน ในปี ๒๔๘๕ เพื่อโปรดโยมบิดามารดาและญาติพี่น้อง

ในขณะนั้นหลวงปู่บุญเพ็งท่านมีอายุประมาณ ๑๔-๑๕ ปี จึงต้องรับภาระการประกอบอาชีพดูแลครอบครัวแทนบรรดาพี่ๆ ที่ออกบวชไป นี้จึงเป็นเหตุให้ท่านไม่เคยมีโอกาสบรรพชาเป็นสามเณร


ในการประกอบอาชีพ หลวงปู่บุญเพ็ง ท่านก็สามารถทำได้ดีกว่าชาวบ้านทั่วไป ท่านรู้จักประกอบอาชีพหารายได้นอกฤดูทำนา จนมีเงินทองมาจุนเจือครอบครัวอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ หลวงพ่อยังมีพรสวรรค์ในการรักษาโรคโดยวิธีการพื้นบ้าน ตามที่โยมบิดาท่านสอนให้ เช่น รักษาตาต้อ คางทูม ฯลฯ เป็นเหตุให้ท่านสอนให้พวกลูกศิษย์ใช้คาถาและพลังจิตรักษาโรคมาจนกระทั่งปัจจุบัน ท่านบอกว่า เอาไว้ช่วยตนเองและสงเคราะห์คนอื่น ยามที่ไม่อาจรับการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันได้

หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก

หลวงปู่บุญเพ็ง ท่านอุปสมบทในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๔๙๒ ที่วัดศรีจันทร ์(ธรรมยุต) จังหวัดขอนแก่น โดยมี พระพิศาลสารคุณ เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูคัมภีรนิเทศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาสุพจน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายา “กัปปโก” ซึ่งแปลว่า “ผู้สำเร็จ


เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาที่วัดเทพนิมิต บ้านบัวบาน เป็นเวลา ๒ ปี ในระหว่างนั้น โยมบิดาได้ป่วย และเสียชีวิต ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๓

หลังจากจัดการฌาปนกิจศพโยมบิดาเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่บุญเพ็งจึงได้เดินทางมาศึกษาปริยัติธรรม และพำนักยังวัดสุทธจินดา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จนถึงเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๙๔ โยมมารดาเสียชีวิต ท่านจึงเดินทางกลับมายังวัดป่าวิเวกธรรม เพื่อจัดการงานศพของโยมมารดา และท่านก็ไม่กลับไปศึกษาปริยัติธรรมอีก ขณะนั้นท่านได้วิทยฐานะเป็น นักธรรมโท

ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ พระพี่ชายคือ พระครูศีลสารวิมล ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกธรรม หรือวัดเหล่างา หลวงพ่อท่านจึงจำพรรษาที่วัดเทพนิมิต บ้านบัวบานเพียงองค์เดียว เป็นเวลา ๕ ปี ต่อมาจึงได้ติดตามพระพี่ชายมาจำพรรษาที่วัดป่าวิเวกธรรม เมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๙๙

ระหว่างนั้นหลวงพ่อได้เดินทางไปธุดงค์ตามสถานที่ต่าง ๆ โดยไปทางโคราช และอรัญญประเทศ จนกระทั่งข้ามไปยังประเทศกัมพูชา ระหว่างทางท่านก็ได้ผจญกับสัตว์ร้ายและโรคภัยสารพัด และยังได้มีโอกาสช่วยเหลือรักษาโรคภัยให้แก่ชาวบ้าน

หลวงปู่บุญเพ็ง เล่าว่าการเดินธุดงค์ส่วนมากใช้เท้าเปล่าและเอารองเท้าพาดบ่า เพราะรองเท้าตัดจากหนังควายแห้งใส่แล้วกัดเท้าเจ็บ แต่ถ้าเข้าป่ามีหนามจึงนำออกมาสวม

จนกระทั่ง ปีพุทธศักราช ๒๕๐๒ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ซึ่งขณะนั้น ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสันติธรรม ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางมายังจังหวัดขอนแก่นและแวะเยี่ยมพระครูศีลสารวิมล หลวงพ่อจึงได้มีโอกาสฟังธรรมจากหลวงปู่สิม เป็นเหตุให้ท่านมีโอกาสเข้าใจในเรื่องการภาวนาที่ลึกซึ้งมากขึ้น และหลวงปู่สิมได้ชวนหลวงพ่อให้ไปอยู่เชียงใหม่ด้วยกัน หลังจากหลวงปู่สิมเดินทางกลับไปแล้ว หลวงพ่อจึงตัดสินใจเดินทางติดตามไปโดยลำพัง หลวงพ่อเล่าว่าท่านขึ้นรถไฟเข้ากรุงเทพฯ ไปแวะพักค้างคืนที่วัดบรมนิวาส เชิงสะพานกษัตริย์ศึก แล้วนั่งรถไฟต่อไปถึงเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓

หลวงปู่บุญเพ็ง ได้รับการฝึกหัดอบรมกรรมฐานจากหลวงปู่สิม และได้ติดตามหลวงปู่สิมไปธุดงค์กรรมฐานที่ภูกระดึง จังหวัดเลย ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นป่าที่มีสัตว์ร้ายอยู่มาก แต่หลวงปู่สิมก็นำท่านบุกป่าฝ่าดงไปเพื่อแสวงหาโมกขธรรม โดยอาศัยความสงบของจิตและ “พุทโธ” เป็นเครื่องต่อสู้กับความทุรกันดาร และสัตว์ร้ายนานาชนิด

ต่อมาหลวงปู่บุญเพ็ง ยังได้มีโอกาสไปศึกษาธรรมะกับ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และได้สั่งสมความรู้ และไหวพริบปฏิภาณในการแก้ไขปัญหาธรรมะจากหลวงปู่ตื้อ รวมทั้งด้านอิทธิวิธีซึ่งหลวงปู่ตื้อท่านมีความเป็นเลิศ ยามว่างหลวงปู่บุญเพ็ง ท่านจะเล่าให้บรรดาสานุศิษย์ฟังถึงความสงบเย็น ความมุ่งมั่น อดทน ความกล้าหาญ เมตตา และเสียสละของหลวงปู่สิม และปฏิภาณ ไหวพริบ อิทธิฤทธิ์ ของหลวงปู่ตื้อ ซึ่งหลวงปู่บุญเพ็งท่านรับมาปฏิบัติจนเท่าทุกวันนี้

(ซ้าย) หลวงตามหาบัว (ขวา) หลวงปู่บุญเพ็ง
เมื่อคนจังหวัดขอนแก่นไปกราบหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ที่วัดป่าบ้านตาด
ท่านจะบอกว่า
“อยู่ขอนแก่นไม่ต้องมาหาเรานะ ให้ไปหาท่านเพ็ง วัดเหล่างา เหมือนกับมาหาเรา”
เมื่อหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน มาเยี่ยม หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก ที่ กุฎิวิเวกวัฒนาธร วัดป่าวิเวกธรรม (เหล่างา) หลวงตามหาบัวกล่าวว่า “ท่านเพ็งนี่สำคัญนะ ไม่มีใครอยู่วัดเหล่างาได้หรอก นอกจากท่านเพ็ง เขากลัวผี ที่นี่ผีเยอะ” พูดแล้วก็หัวเราะทั้ง ๒ องค์

หลวงปู่บุญเพ็ง ท่านได้เดินทางไปจำพรรษาและศึกษาปฏิบัติธรรมในหลายพื้นที่ด้วยกัน ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้

พ.ศ.๒๕๑๐ จำพรรษาที่วัดพระศรีมหาธาตุ ตามคำบัญชาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธัมมธโร) เพื่ออบรมจิตตภาวนา หลังจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธัมมธโร) มรณภาพในปี พ.ศ.๒๕๑๗ และเสร็จงานศพในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๑๘ จึงเดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัดป่าวิเวกธรรม จ.ขอนแก่น

ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกธรรม เมื่อวันที่ ๑ พ.ค.๒๕๑๘ ขณะที่ท่านอายุ ๔๘ ปี

(ซ้าย) หลวงปู่ท่อน (ขวา) หลวงปู่บุญเพ็ง

วัดป่าวิเวกธรรมเดิมเป็นป่าช้า ชาวบ้านเรียกว่าป่าช้าวัดป่าเหล่างา หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม มาสร้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๑ มีพระครูบาอาจารย์หลายรูปเคยมาพำนักอยู่ที่วัดแห่งนี้

(ซ้าย) หลวงปู่บุญเพ็ง (ขวา) หลวงตามหาบัว
(ซ้าย) หลวงพ่ออินถวาย (กลาง) หลวงปู่บุญเพ็ง (ขวา) หลวงปู่ท่อน

หลวงปู่บุญเพ็ง สร้างกุฏิหลังแรกด้วยตัวท่านเอง สร้างเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๒๔ พอกุฏิแล้วเสร็จเริ่มอบรมภาวนาให้แก่ศิษย์ที่เป็นข้าราชการในหลายหน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการทหาร ตำรวจ โดยเฉพาะในช่วงเวลาตั้งแต่ ๒๐.๓๐.-๒๒.๐๐ น.ทุกวัน จะมีญาติโยมบรรดาลูกศิษย์มานั่งสมาธิหรือนั่งภาวนาจิตเต็มศาลาทุกวัน

ศาลาดังกล่าวหลวงปู่ตั้งชื่อว่า “ศาลาขันตยาคมานุสรณ์” เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและบำเพ็ญกุศลไว้รองรับญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรม ซึ่งการก่อสร้างก็ไม่ได้หรูหราเกินความจำเป็น หากยึดหลักความเรียบง่ายเหมาะแก่ประโยชน์ใช้สอย

นอกจากนี้ยังได้รวบรวมปัจจัยก่อสร้างพระอุโบสถที่ใช้ประกอบพิธีสงฆ์ สร้างรั้วและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีกมากมายที่ปรากฏอยู่ในวัดป่าวิเวกธรรมในปัจจุบันสำเร็จลุล่วงด้วยดี

หลวงปู่บุญเพ็ง ท่านมีชื่อเสียงในด้านอบรมภาวนาจิต มีลูกศิษย์เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทำให้ผู้คนจากทั่วทุกทิศที่มีความเลื่อมใสศรัทธา นอกจากจะมีการเผยแผ่อบรมภาวนาจิตให้กับลูกศิษย์ภายในประเทศแล้ว ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ ท่านเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) เพื่อเผยแผ่อบรมภาวนาแก่พุทธบริษัท

ยังให้ความช่วยเหลือสังคมในด้านสาธารณสุข ด้วยการบริจาคครุภัณฑ์ทางการแพทย์ประจำปี ๒๕๔๒-๒๕๔๔ ใช้ประจำห้องผ่าตัดโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น อาทิ เครื่องวัดคลื่นหัวใจเครื่องไตเทียม เครื่องกระตุกหัวใจ พ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๔๖ มอบเครื่องครุภัณฑ์ทางการแพทย์ประจำห้องผ่าตัด โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาทิ เครื่องวัดคลื่นหัวใจเครื่องไตเทียม ฯลฯ

ช่วงบั้นปลายชีวิตยังคงเดินหน้าพัฒนาวัดและจิตใจของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง จวบจนวาระสุดท้าย

เมื่อวันที่ ๑๗ ธ.ค.๒๕๖๐ เวลา ๑๕.๓๙ น. หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก ได้มรณภาพลงอย่างสงบ สิริอายุรวม ๘๙ ปี พรรษา ๖๘

หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก

โอวาทธรรม พระโสภณวิสุทธิคุณ วิ. (หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก)

“…เราทุกคนที่ได้เกิดมาสมบูรณ์แล้วด้วยความเป็นมนุษย์สมบัติ ควรรักษาคุณสมบัติอันที่จะนำให้เราเป็นมนุษย์สมบัตินี้เอาไว้ ที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เอาชีวิตไปแลกมา ก่อนที่เราจะได้มาประพฤติปฏิบัติ พระองค์เอาชีวิตไปแลกมาแต่ผู้เดียวในครั้งแรก ต่อมาจึงค่อยมีพระสงฆ์ สาวกเอาชีวิตไปแลกมา แล้วเราจึงได้พากันมาปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้วก็ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าจะมาแย่งเอากับเรา พระองค์สอนก็เพื่อจะให้เธอทั้งหลายถ้ายังไม่ถึงที่สุด ก็ให้ได้ไปเกิดทางที่ดีบ้าง เพื่อจะได้เป็นมนุษย์สมบัติบ้าง ความหมายของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ ให้เราเข้าใจตามนี้ ถ้าไปได้ถึงที่สุดก็ไป พระองค์ก็ไม่ได้ว่า ถ้าไม่ถึงก็ให้ได้มนุษย์สมบัติ…”


“…..ไหนๆ เราก็เกิดมาแล้ว ผลสุดท้ายก็ตายทั้งนั้น หนีไม่พ้นหรอก ก่อนตาย ทำอย่างไรเราจึงจะมีความสุข หาความสุข หาความดีเอาไว้ ความสุขที่เกิดจากใจที่สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เพื่อจะได้เป็นคุณสมบัตินำเราไปสู่สุคติ….”


” … พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั่น ท่านไม่เลือกใคร ไม่เลือกเด็ก เลือกหนุ่มเลือกสาว เลือกเฒ่าเลือกแก่ เลือกหญิง เลือกชาย ท่านยอมรับเป็นที่พึ่งของหัวใจแห่งสัตว์โลกทั้งหลายได้ทั้งนั้น ขอให้หัวใจนั้นมีความสงบเท่านั้น … วิสัยของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มีแต่ความสงบ ถ้าจิตเรามีความสงบ ไม่ต้องเรียกร้องและไม่ต้องไปขอพรว่าให้ท่านมาเป็นที่พึ่ง เมื่อท่านอยู่แล้ว และเราก็อยู่กับท่านแล้ว จะไปขอร้องอะไรที่ไหน เมื่อท่านมาอยู่กับเรา เราก็มีความสุข ใจเราอยู่ตรงไหน ความสุขก็อยู่ตรงนั้น ใจเราอยู่ที่ไหน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็อยู่ที่นั่น … “

“…..นอกจากความสงบแล้ว ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะมาเป็นผลของการทำความเพียร ผลของการภาวนา …..ความสงบไม่ใช่สงบภายนอก ไม่ใช่สงบกาย สงบวาจา สงบบรรยากาศ สิ่งที่เราต้องการคือความสงบภายในคือใจสงบ …..เอาความสงบก่อน อย่าเพิ่งคิดอยากได้ความรู้ ความรู้ที่เกิดจากการอ่านมีอยู่ทั่วไป แต่ไม่สามารถช่วยให้ใจสงบได้ แต่ความรู้ที่เกิดจากใจที่สงบ ดับสัญญาอารมณ์ภายนอก จิตวางลงสู่ท่ามกลางทรวงอกแล้วจึงค่อยรู้ ค่อยเห็น ทั้งเห็นทั้งรู้ ทั้งรู้ทั้งเห็น …..ที่สำคัญคืออย่ากลัว…แก้ปัญหาตัวเองให้ได้ แก้อยู่ที่ภายในท่ามกลางทรวงอก สติ สัมปชัญญะ ปัญญา มันก็เกิดอยู่ตรงนั้น เราหาความรู้ที่มันมีในตัวเอง…”

“…สติอยู่ที่ไหน สติก็อยู่ที่ใจนั้นแหละคล้าย ๆ กับว่าเอาตัวเองรักษาตัวเอง ก็ใจนั้นมีสติ ก็เอาสติที่มีอยู่กับตัวเองรักษาตัวเอง แล้วก็เสกพุทโธลงไป เสกให้มากเท่าที่จะมากได้ถ้าใครอยากเจอของดีอันที่มีในตัวเอง ไม่จำเป็น กับเรื่องอื่นคือเราเสกพุทโธให้มาก เรียกว่า พุทธาภิเษกตัวเอง เสกตัวเองให้เป็นพุทธะ…”