ประวัติและปฏิปทา ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก (พระครูญาณวิศิษฏ์) วัดธรรมสถิต ต.สำนักทอง อ.เมือง จ.ระยอง
พระผู้เปี่ยมด้วยรอยยิ้มแห่งเมตตาธรรม
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก องค์ท่านได้รับการฝึกฝนอบรมภาวนาจากท่านพ่อลี ธัมมธโร จนเกิดเป็นหลักจิตหลักใจ และมั่นใจในคุณของพระพุทธศาสนา ท่านพ่อเฟื่อง และหลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท จึงได้เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่ใหญ่มั่น ภูริทัตโต ท่านพ่อเฟื่อง ท่านเป็นพระสมถะ มักน้อย สันโดษ ไม่ยึดติดในสมณศักดิ์ และลาภยศ รักการเดินธุดงค์เป็นชีวิตจิตใจ เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นที่ควรรำลึกน้อมเป็นสังฆานุสสติอย่างยิ่ง
ชาติภูมิและชีวิตในเยาว์วัย
พระครูญาณวิศิษฏ์ (หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก) หรือ ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ตรงกับเดือน ๖ แรม ๖ ค่ำ ปีเถาะ ณ บ้านน้ำอู่ ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี
โยมบิดา-มารดาชื่อ นายเทียน และนางเหลื่อม เชื้อสาย ครอบครัวมีอาชีพทำนา (ตามนิทานที่ผู้ใหญ่เล่ากันต่อๆ มาว่า บรรพบุรุษในตระกูลนี้เคยคลอดลูกเป็นงู ดังนั้น ลูกหลานในตระกูลเชื้อสาย จะไม่รังแกหรือทำร้ายงูเป็นอันขาด)
มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๕ คน มีชื่อตามลำดับดังนี้
๑. นายกลิ่น เชื้อสาย
๒. นายนิด เชื้อสาย
๓. นางทองหล่อ สาสะเน
๔. ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก
๕. ด.ญ. ชม เชื้อสาย
ปัจจุบันทุกท่านได้ถึงแก่กรรมและมรณภาพไปทั้งหมดแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ของท่านในวัยเด็กมีความยากลำบากมาก เมื่ออายุได้ ๖ ขวบ เกิดความอดอยากขึ้นในตำบลที่ท่านอยู่ ท่านเล่าให้ฟังว่า
“มีนกเป็ดน้ำนับร้อยๆ ตัว ลงมากินข้าวที่พึ่งหว่านในนาใหม่ๆ จนหมด โยมพ่อต้องไปหายอดหวายมาเลี้ยงครอบครัว เพื่อประทังชีวิตไปวันๆ ส่วนตัวท่านก็ออกหากบหาเขียดมาเพื่อใช้เป็นอาหาร (ต่อมาภายหลัง เมื่อท่านเกิดเป็นโรคผิวหนัง ท่านก็ชอบเล่าว่าเป็นผลกรรมที่เนื่องมาจากการถลกหนังกบและหนังเขียดในวัยเด็กนั้นเอง)”
ครั้นต่อมาอีก ๓ ปี เมื่อท่านอายุได้ ๖ ขวบ โยมพ่อเทียน เชื้อสาย ก็ถึงแก่กรรม ด.ช. เฟื่อง เชื้อสาย (หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า ด.ช. แดง) ได้ไปช่วยน้าเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย จนกระทั่งวัวได้ออกลูกมาตัวหนึ่ง น้าจึงยกให้เป็นรางวัล ต่อมาเมื่อลูกวัวโตขึ้น มีคนมาขอซื้อในราคา ๙ บาท ซึ่งสำหรับเด็กบ้านนอกในสมัยนั้นนับว่าเป็นเงินจำนวนมาก (ท่านภูมิใจและดีใจในเงินจำนวนนี้มาก) แต่พอได้เงินมา ด.ช. เฟื่อง ก็เกิดอาการป่วยหนักเป็นไข้ ถ่ายท้อง และผมร่วง ต้องนอนรักษาตัวอยู่เป็นเดือน เงินที่ได้มาจากการขายวัวนั้นต้องใช้เป็นค่ายาและค่าหมอในการรักษาทั้งหมด พอหายป่วยได้ไม่นานโยมแม่เหลื่อม เชื้อสาย ก็ถึงแก่กรรมอีก
ขณะนั้น ด.ช. เฟื่อง อายุได้ ๑๑ ขวบ ทางญาติจึงพาไปฝากให้อยู่กับเจ้าอาวาส หลวงพ่อเจริญ ที่เข้มงวดในการอบรมลูกศิษย์วัดเป็นอย่างมาก หลวงพ่อจะเป็นผู้สอนหนังสือและสอนให้ฝึกเล่นดนตรีไทย (ท่านฝึกหัดเล่นระนาดเอกเป็นดนตรีชิ้นแรก) เวลาเรียนหนังสือ ถ้าอ่านตัวไหนผิดก็จะถูกตีที่ศีรษะหนึ่งที เวลาเรียนดนตรีไทย หลวงพ่อจะเคาะที่ศีรษะผู้เรียนไปตลอดจนกว่าจะเรียนจบในวันนั้น
ขณะนั้น ด.ช. เฟื่อง เป็นเด็กวัดที่มีอายุมากที่สุด มีหน้าที่หุงข้าวถวายพระทั้งเช้าและเพล จึงไม่มีเวลาที่จะท่องจำหนังสือ พอเรียนได้ถึงบท ก.เกย. หลวงพ่อให้ท่องผันเสียง ด.ช. เฟื่องท่องไม่ได้ จึงโดนตี ๖ ที ด.ช. เฟื่อง ตัดสินใจหนีกลับไปที่บ้านคุณปู่ พอถึงบ้านคุณปู่บอกว่าจะส่งให้กลับไปอยู่ที่วัดอีก ด.ช. เฟื่อง จึงบอกว่า
“ถ้าอย่างนั้น ไม่ต้องไปส่งก็ได้ ฉันจะกลับเอง”
ด.ช. เฟื่อง จึงออกจากบ้าน เดินผ่านวัดแล้วเลยเข้าไปในอำเภอขลุง เพื่อหาเพื่อนของพ่อแม่ที่นับถือกันเหมือนญาติ ซึ่งได้พาท่านไปฝากไว้ที่วัดอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งวัดนี้ปรากฏว่าเจ้าอาวาสเป็นผู้ที่ซื้อวัวจาก ด.ช. เฟื่อง (ท่านจำชื่อวัดไม่ได้)
หลังจากนั้นไม่นาน พี่สาวไปหาแล้วชวนนั่งเรือเข้าอำเภอเมือง เพื่อไปหาญาติฝ่ายแม่ พอไปถึงพี่สาวได้พา ด.ช. เฟื่อง ไปฝากให้อยู่กับเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ ตำบลบางกระจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เพื่อให้เข้าเรียนหนังสือ ป. ๑ อายุ ๑๒ ขวบ เป็นเด็กโตที่สุดในห้องเรียน เมื่ออยู่ ป. ๒ อายุ ๑๓ ขวบ ทางโรงเรียนได้พานักเรียนที่เป็นลูกเสือไปเที่ยวกรุงเทพฯ โดยพักที่โรงเรียนวชิราวุธ ทางโรงเรียนได้พาเที่ยวที่สนามหลวง วัดพระแก้ว และพาเดินไปสะพานพุทธ ด.ช. เฟื่อง ได้มีโอกาสชมบารมีในหลวงรัชกาลที่ ๗
ท่านเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ บางกระจะ ท่านเก่งในทางเป็นหมอจับเส้น เวลาท่านเจ้าอาวาสออกตรวจคนไข้ตามบ้านเรือนต่างๆ นั้น ด.ช. เฟื่อง จะต้องติดตามไปด้วย แล้วทำหน้าที่เป็นผู้วิ่งหายา ต่อมาท่านเจ้าอาวาสเกิดความรักและสงสาร จึงบอกว่าจะสอนวิชาจับเส้นให้ ด.ช. เฟื่อง เห็นถึงความเหน็ดเหนื่อยในการเป็นหมอ ในการหายา ซึ่งไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง จึงปฏิเสธไม่เรียนวิชาจับเส้นนี้
ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า
“สมัยที่ท่านอยู่วัดใหม่ๆ ท่านยังไม่รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษเท่าไรนัก บางครั้งเมื่อต้องการเงินก็แอบต้มเหล้าขาย บางครั้งก็ช่วยเหลือพี่ชายนำเรือบรรทุกของเถื่อนเข้าไปขายในเมืองจันท์ แต่พอท่านอายุได้ ๑๖ ปี ธรรมะที่พระเทศน์ประจำนั้น ก็เริ่มจะซึมซาบเข้าไปในหัวใจ ท่านพิจารณาเห็นว่า ตนต้องพึ่งตนเอง พ่อแม่ก็ไม่มี ทรัพย์สมบัติก็ไม่มี วิชาความรู้ก็ไม่มี ท่านจึงเกิดศรัทธาที่จะบวชแสวงบุญ”
การอุปสมบท
ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ พออายุครบได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดโบสถ์ จังหวัดจันทบุรี นั้นเอง ได้รับนามฉายาว่า “โชติโก” แปลว่า “ผู้มีธรรมอันเจริญรุ่งเรือง”
พอเริ่มเรียนพระธรรมวินัย ท่านพ่อเฟื่องจึงรู้ขึ้นมาว่า เพื่อนพระในวัดไม่ได้ปฏิบัติถูกต้องตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ และถ้ามีพระองค์ใดพยายามปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ก็จะถูกโจมตี ท่านรู้สึกผิดหวัง แต่ความตั้งใจเดิมยังมีอยู่ ท่านจึงตัดสินใจอยู่ต่ออีก ๑ พรรษา พอเข้าพรรษาที่ ๒ มีโยมคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า มีพระธุดงค์มาพักอยู่ในป่าช้าคลองกุ้ง มีคณะศรัทธาญาติโยมไปฟังธรรมะจากท่านเป็นจำนวนมาก พระธุดงค์องค์นั้นคือ ท่านพ่อลี ธัมฺมธโร โยมคนนั้นจึงพาท่านไปฟังธรรมะจากท่านพ่อลี พอฟังธรรมะและเห็นปฏิปทาของท่านพ่อลีก็เกิดศรัทธา ต่อจากนั้น ท่านจึงได้ไปฟังธรรมจากท่านพ่อลีทุกวันเป็นประจำ
การเดินธุดงค์และญัตติเป็นธรรมยุติ
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร เล่าถึงความเป็นอยู่ของพระป่า ท่านพ่อเฟื่องจึงนึกอยากจะออกไปอยู่ป่ากับท่านพ่อลี ดังนั้น จึงได้ตัดสินใจทดลองฝึกตนเองก่อนว่าจะมีความอดทนได้หรือไม่ ทุกวันพอกลับจากบิณฑบาต แทนที่จะฉันร่วมกับหมู่เพื่อนพระ ท่านก็แยกเข้าโบสถ์ ฉันองค์เดียว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ท่านก็เห็นว่าพออยู่ได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อออกพรรษา ท่านพ่อเฟื่องจึงขอติดตามท่านพ่อลี เดินธุดงค์ โดยเดินทางออกจากป่าช้าคลองกุ้งไปทางเขาวงกต ตำบลนายายอาม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นเขตต่อแดนกับจังหวัดระยอง แล้วเดินธุดงค์ต่อเข้าเขตปากน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง โดยมีเพื่อนพระอีกองค์หนึ่งร่วมเดินทางด้วย
ขณะนั้นเป็นช่วงระยะเวลาที่ท่านตัดสินใจว่าจะสึกหรือจะญัตติ ท่านดำริว่า
“ถ้าสึกออกไปคงไม่มีโอกาสเงยหน้าขึ้น คงจะต้องมีแต่ความทุกข์ยากลำบากต่อไป แต่ถ้าญัตติอยู่กับท่านพ่อลี ก็คงจะได้มีโอกาสเห็นแสงสว่างในชีวิตบ้าง”
ท่านจึงตกลงใจกลับไปเมืองจันทบุรีเพื่อลาพระอุปัชฌาย์ ฝ่ายพระอุปัชฌาย์พยายามถ่วงไว้ว่า “รอไว้ก่อน” ส่วน พระครูครุนาถสมาจาร (เศียร) เจ้าอาวาสวัดจันทนาราม ซึ่งเป็นวัดธรรมยุติแห่งเดียวในจังหวัดจันทบุรี ในสมัยนั้น ท่านก็ไม่กล้าให้ญัตติ เนื่องจากจังหวัดจันทบุรีไม่เคยมีพระมหานิกายญัตติเป็นธรรมยุติมาก่อน ท่านเจ้าอาวาสเกรงว่าจะมีวิพากษ์วิจารณ์กันในคณะมหานิกาย แต่ในที่สุด อุปสรรคเหล่านั้นท่านก็ผ่านพ้นมาได้ เมื่อท่านกลับไปบอกกับพระอุปัชฌาย์ว่า
“ถ้าท่านอนุญาต ผมจะสึกแล้วบวชใหม่”
พระอุปัชฌาย์จึงยินยอม ฉะนั้น ท่านจึงได้ญัตติธรรมยุติเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ที่วัดจันทนาราม ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยมี พระครูครุนาถสมาจาร (เศียร) (ต่อมาเป็น พระอมรโมลี) เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระครูพิพัฒน์วิหารการ (เชย) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พอญัตติเรียบร้อยท่านก็ไปอยู่กับท่านพ่อลีที่วัดป่าคลองกุ้ง
ท่านพ่อเฟื่อง เล่าให้ฟังถึงการปฏิบัติเมื่อไปอยู่กับท่านพ่อลี ว่า ผู้ใดที่จะอยู่กับท่านพ่อลี ต้องหนักแน่นที่สุด มีความตั้งใจ กลางวันปฏิบัติท่านพ่อลี คอยต้มน้ำชงน้ำชาเมื่อเวลาท่านพ่อลีมีแขก กลางคืนจะมีการอบรมตั้งแต่ ๖ โมงเย็น ถึง ๔ ทุ่มบ้าง ๕ ทุ่มบ้าง ๖ ทุ่มบ้าง มีการไหว้พระสวดมนต์นั่งภาวนา ฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระไตรปิฎก บุพพสิกขาวรรณนาและวินัยมุข เป็นต้น พออบรมเสร็จแล้ว ห้ามกลับไปนอนที่กุฏิ ต่างคนต่างเดินจงกรมและนั่งภาวนาต่อ
นอกจากเวลาเทศน์ ท่านพ่อลีเป็นพระที่พูดน้อย ถ้ามีใครปฏิบัติหรืออยู่รับใช้ท่าน ท่านพ่อลีจะใช้สายตาแทนคำพูด ท่านพ่อลีถือว่า “ถ้าถึงกับต้องพูดกัน แสดงว่าไม่รู้จักกัน” เป็นอุบายฝึกให้ลูกศิษย์เป็นคนช่างสังเกต (อุบายนี้ท่านพ่อเฟื่องนำมาใช้กับลูกศิษย์ต่อมาด้วย)
บางครั้งท่านพ่อลีจะพูดสั้นๆ ห้วนๆ ผู้ฟังต้องนำไปคิดพิจารณา จึงจะเกิดความเข้าใจ ท่านพ่อเฟื่องเคยเล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่ง มีโยมคนหนึ่งมาพูดกับท่านพ่อลีว่า “ดิฉันจะสร้างกุฏิถวายให้ท่านพ่ออยู่” ท่านพ่อลีก็ตอบว่า “โยมเห็นอาตมาเป็นตัวปลวกตัวมอดหรือ” โยมคนนั้นเลยร้องไห้เพราะไม่เข้าใจในความหมายของท่านพ่อลี ถ้าจะสร้างกุฏิก็ให้อุทิศแก่สงฆ์จากทิศทั้ง ๔ เสีย อย่าอุทิศเฉพาะคนนั้นคนนี้
ครั้งพำนักจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่มั่น
ท่านพ่อเฟื่อง สมัยที่พำนักจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านเคยเล่าให้ฟังไว้ว่า เย็นวันหนึ่ง ท่านขึ้นกุฏิ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ปรากฏว่าพระองค์อื่นไม่ได้ขึ้นไป หลวงปู่มั่นก็เทศน์เรื่องพระบรมสารีริกธาตุอย่างละเอียดว่า
“พระธาตุที่มีลักษณะนั้นๆ มาจากส่วนนั้นๆ ของพระวรกาย”
ท่านเองก็ไม่ได้จดจำไว้เพราะตอนนั้นท่านไม่ค่อยสนใจในเรื่องนี้
ก่อนที่ท่านจะไปหาหลวงปู่มั่น มีโยมคนหนึ่งนำพระบรมสารีริกธาตุมาถวายท่าน ท่านก็เก็บไว้ในที่พัก แสดงความเคารพเป็นธรรมดาไม่ได้ใส่ใจเป็นพิเศษ ตลอดเวลาที่ท่านฟังเทศน์ของหลวงปู่มั่น ท่านก็ได้แต่นึกว่า
“ทำไมหลวงปู่มั่น ทราบว่าเรามีพระธาตุ”
ต่อมาเมื่อท่านมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพระบรมธาตุ เช่น การสร้าง “พระธุตังคเจดีย์” ที่วัดอโศการาม ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ และ “พระเจดีย์ศรีธรรมสถิต” ที่วัดธรรมสถิต ท่านก็นึกเสียดายที่ไม่ได้จดจำคำสอนของหลวงปู่มั่นไว้ จำได้แต่ว่า
“พระธาตุส่วนที่มีลักษณะใสนั้นมาจากส่วนสมอง”
จากหนังสือหยดน้ำบนใบบัว หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๙ ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก ได้มรณภาพลงอย่างสงบด้วยอาการโรคหัวใจวาย ณ ห้องพักสำนักกรรมฐานรังสี ประเทศฮ่องกง สิริรวมอายุได้ ๗๑ ปี ๑๐ วัน พรรษา ๔๙
โอวาทธรรม ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก
“…เราเกิดมานับอสงไขยไม่ถ้วน ถ้าจะเอากระดูกที่เราเคยตายเกิดมากองไว้ ก็จะโตกว่าเขาพระสุเมรุ น้ำในแม่น้ำมหาสมุทรน้อยใหญ่ทั้งหลายนะ ก็ยังน้อยกว่าน้ำตาที่เคยหลั่งรินเพราะความทุกข์ทั้งหลายเสียอีก..”
• เขาภาวนาเพื่อให้ละ ไม่ใช่ภาวนาเพื่อให้เอา
• ก่อนที่จะพูดอะไร ให้ถามตัวเองว่า ที่จะพูดนี้จำเป็นหรือเปล่า ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าพูด นี่เป็นขั้นต้นของการอบรมใจ เพราะถ้าเราควบคุมปากตัวเองไมได้ เราจะควบคุมใจได้อย่างไร
• คนเราต้องบ้าภาวนา จึงจะภาวนาได้ดี เวลาภาวนาอย่าไปกลัวว่า ภาวนาแล้วจะเป็นนั่นเป็นนี่ เพราะเป็นของแก้กันได้ ให้กลัวอย่างเดียวว่า จะภาวนาไม่เป็น
• ให้ภาวนา อย่ามัวแต่ง่วงนอน นอนกันมาไม่รู้กี่ชาติแล้ว ไม่รู้จักอิ่มสักที มัวแต่เป็นผู้ประมาท ไม่รู้จักมนุษย์สมบัติเอาไว้ ระวังจะเหลือไม่เท่าเก่า
• อะไรๆ ก็ขึ้นอยู่กับความสังเกตของเรา ถ้าความสังเกตของเรายังหยาบๆ เราจะได้แต่ของหยาบๆ การภาวนาของเราก็จะไม่มีทางเจริญก้าวหน้าไปได้
• พระธรรมถามว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่…แล้วเราจะตอบท่านว่ายังไง
• ไปกี่วัดกี่วัด รวมแล้วก็วัดเดียวนั่นแหละคือ วัดตัวเรา
• คนเราเวลานั่งภาวนา กว่าใจจะสงบได้ก็ต้องใช้เวลานานแต่พอจะออกจากที่นั่งก็ทิ้งเลย อย่างนี้เรียกว่า เวลาขึ้นบ้านก็ขึ้นบันใด เวลาลงก็กระโดดลงหน้าต่าง
• ผู้รู้แล้วจะไม่ทุกข์ ผู้ไม่รู้เท่านั้นเป็นทุกข์ ทุกข์มันก็มีอยู่กับทุกคน ไม่มีใครไม่มีหรอก ตราบใดที่ยังมีขันธ์ ๕ อยู่ ทุกข์ก็ต้องมีแต่ถ้าเรารู้แล้ว เราจะอยู่อย่างสบาย
• ผู้มีปัญญา เมื่อเห็นเช่นนี้ ย่อมเกิดความสลดสังเวชในภพชาติ ไม่ยินดีในการเกิดมีจิตมุ่งตรงต่อนิพพานอย่างเดียว
• คนทั้งหลายเขาก็อยู่กับทุกข์ๆๆ ทั้งนั้น แต่ไม่รู้จักทุกข์จึงพ้นจากทุกข์ไม่ได้
• มัวแต่ตัดรากถอนโคน ระวังลูกมันจะหล่นลงมางอกอีก
• ใจจะคิดจะปรุงอะไรก็ปรุงได้ แต่อย่าหลง
• การกำหนดทุกข์ ก็ต้องเอาให้ละเอียด ต้องเอาถึงขนาดแค่ลืมตาปุ๊บ รูปมากระทบก็รู้ว่าทุกข์แล้ว
• นิพพานนั้นเป็นเรื่องละเอียด ต้องใช้ปัญญาเอามากๆ ไม่ใช่ของจะถึงด้วยแรงอยาก ถ้าเป็นของที่จะถึงด้วยแรงอยาก พวกเราคงจะตรัสรู้กันหมดแล้วทั้งโลก
• เมื่อรู้แล้ว ก็ให้อยู่เหนือรู้
• อย่าทำแต่ถูกใจ ต้องทำให้ถึงใจ
• ผู้มีปัญญาย่อมใช้อะไรๆ ให้เป็นประโยชน์ได้ทั้งนั้น
• จิตเปรียบเหมือนพระราชา อารมณ์ทั้งหลายเปรียบเหมือนเสนา…เราอย่าเป็นพระราชาที่หูเบา
• ปฏิบัติยังไม่เข้าขั้นแล้วอย่าไปเที่ยวสอนเขา มันมีโทษนะ ที่จริงไปถูกเขาเผยแพร่มากกว่า สอนไปสอนมากลายเป็นปฏิกูลน่ากิน อสุภะน่ากอด
• ของดีจริงไม่ต้องโฆษณา คนชอบขายความดีของตัวเอง ที่จริงขายความโง่ของตัวเองมากกว่า คมให้มีในฝัก ให้ถึงเวลาที่จะต้องใช้จริงๆ จึงคอยชักออกมา จะได้ไม่เสียคม
• มัวแต่นึกถึงวันเกิด ให้นึกถึงวันตายเสียบ้าง
• ต้องหมั่นมีสติ หมั่นพิจารณาร่างกายจนเป็นเป็นกระดูกจนร่วงลงไปกอง แล้วเผาให้เกลี้ยงไปเลย ถามตัวเองซิ มีตัวตนไหม อะไรทำให้ทุกข์ ทำให้เจ็บปวด มีตัวเราไหม ดูให้ถึงแก่นแท้ของธรรมชาติพิจารณาไปจนไม่มีอะไรของเราสักอย่าง
• มันไม่มีใครเจ็บ มันไม่มีใครตาย นั่นแหละ ตรงนั้นแหละ มันมีอยู่แล้วทุกคน เหมือนเราคว่ำมืออยู่ เราก็หงายมือเสีย แต่ผู้ที่มีปัญญาเท่านั้นที่จะทำได้ ถ้าโง่ก็ไม่เห็น ก็ไม่ได้ ไม่พ้นเกิด พ้นตาย
• การภาวนาของเราต้องมี ปีติ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ไม่อย่างนั้น ทำไปๆ มันจะเหี่ยวแห้ง
• สักวันหนึ่งความตายจะมาถึงเรา มาบีบบังคับให้เราปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง ฉะนั้น เราต้องหัดปล่อยวางล่วงหน้าให้มันเคย ไม่อย่างนั้น พอถึงเวลาไปจะลำบาก
• จิตเห็นจิตตามความเป็นจริง เขาก็วางของเขาเอง
• เมื่อคิดที่พุทโธแล้วไม่ต้องลังเลว่า จะนั่งไม่ได้ดี ถ้าตั้งใจจริงแล้วมันต้องได้ สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเป็นมารผจญ เขาเล่นละครอะไรๆ เราก็ไปดู ไม่ใช่ว่าไปเล่นกับเขาด้วย
• อยู่บนที่สูงแล้ว ก็สามารถมองเห็นอะไรๆ ได้หมด
• ถึงความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้าเรายึดเข้าไว้มันก็ผิด
• เวลาเราทำงานอะไรอยู่ ถ้าเราสังเกตว่าใจเราเสีย ก็ให้หยุดทันที แล้วกลับมาดูใจของตนเอง เราต้องรักษาใจของเราไว้เป็นงานอันดับแรก
• คนอื่นเขาด่าเรา เขาก็ลืมไป แต่เราไปเก็บมาคิด เหมือนเขาคายเศษอาหารทิ้งไปแล้ว เราไปเก็บมากิน แล้วจะว่าใครโง่
• ธรรมะ เราอ่านมามากแล้ว ฟังมานานแล้ว เราก็ว่าเราเข้าใจ แต่มันถึงใจ ดีจริงหรือยัง
• การภาวนาต้องทิ้งเป็นขั้นๆ เหมือนเขายิงจรวจในอวกาศพอพ้นจากโลกแล้ว กระสวยอวกาศก็ต้องทิ้งยานแม่ จึงจะไปถึงโลกพระจันทร์ได้
• คนเราถ้าทำดีแล้วติดดีก็ไปไม่รอด เมื่อใจยังมีติดภพชาติยังมีอยู่
• ทำดีให้มันถูกตัวดี อย่าให้มันดีแต่กิริยา
• การภาวนาก็คือการฝึกตาย เพื่อเราจะได้ตายเป็น
• ของจริงจึงอยู่กับเรา ถ้าเราทำจริงเราจะได้ของจริง ถ้าเราทำไม่จริงเราจะได้แต่ขอ