ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่ถิร ฐิตธัมโม (พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์) วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดป่าบ้านจิก) อ.เมือง จ.อุดรธานี
พระครูสถิตธรรมวิสุทธิ์ หรือ “หลวงปู่ถิร ฐิตธมโม” มีนามเดิมชื่อ ถิร บุญญวรรณ เกิดเมื่อวันพุธที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ตรงกับขึ้น ๑๔ ค่ํา เดือน ๑๒ ปีมะโรง ณ บ้านสิงห์มงคลใต้ อ.มุกดาหาร จ.นครพนม (ในสมัยนั้น)
โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายลอย และนางช่วย บุญญวรรณ มีพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกันทั้งหมด ๖ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ ในวัยเด็กเรียนหนังสือจบชั้นประถมภาคบังคับที่ โรงเรียนมุกดาหารมุกดาลัย อ.มุกดาหาร จ.นครพนม (ปัจจุบันเป็น จ.มุกดาหาร) เมื่ออายุ ๑๐ ขวบ ได้ ขอโยมบิดาไปเป็นลูกศิษย์วัดที่วัดยอดแก้วศรีวิชัย (วัดกลาง) ต.ศรีบุญเรือง อ.มุกดาหาร จ.นครพนม คอยปรนนิบัติรับใช้พระอยู่ในวัด
เมื่อเรียนจบการศึกษาจึงได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดยอดแก้วศรีวิชัย ในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ขณะนั้นอายุได้ ๑๖ ปี โดยมีพระมหาแก้ว รัตนปัญโญเป็นพระอุปัชฌาย์ ด้วยคาดหวังจะได้ศึกษา หลักสูตรการเรียนของสามเณร ทั้งการฝึกหัดครู ศาสนาพุทธ ภาษาบาลีและสันสกฤตควบคู่กันไป ต่อมาโยมบิดาได้พาไปอยู่ที่วัดป่าศีลาวิเวก และได้รับการอบรมวิธีการบําเพ็ญเพียรภาวนา สมาธิ และ กัมมัฏฐานจากพระอาจารย์ดี ฉันโน เจ้าอาวาสวัด เป็นเวลา ๒ พรรษา จนกระทั่งสามเณรถรอายุครบ ๒๐ ปี บริบูรณ์จึงตัดสินใจขออุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๘ ณ วัดหัวเวียง ต.พระธาตุพนม จ.นครพนม โดยมี พระสารภาณมุนี (จันทร์ เขมิโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอธิการทอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ฐิตธัมโม” แปลว่า ตั้งมั่นในธรรม
หลังจากนั้น พระถิรได้มาจําพรรษาที่วัดป่าศีลาวิเวกกับพระอาจารย์ดี ฉันโน เช่นเดิม โดยได้ฝึกปฏิบัติตนตามแนวสายพระป่าอย่างจริงจัง เมื่อเข้าพรรษาที่ ๒ จึงเดินทางไปจําพรรษาที่วัดเกาะแก้ว แต่ไม่พบกับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล เนื่องจากท่านไปจําพรรษาที่ จ.อุบลราชธานีในพรรษาที่ ๔ ได้ออกธุดงค์กับพระอาจารย์อุ่น ไปบ้านปากดง ส่วนท่านเดินทางกลับมายังวัดบ้านจิก
พ.ศ.๒๔๘๓ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้เดินทางมาจําพรรษาที่วัดป่าโนนนิเวศน์ จ.อุดรธานี พระถิรได้เดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น พ.ศ. ๒๔๘๖ เป็นช่วงเกิดสงครามโลก ครั้งที่ ๒ พระถิรได้เดินทางไปธุดงค์และจําพรรษาที่วัดบ้านงิ้วพึง ข้างสนาม บินอุดรธานี (กองบิน ๒๓) จากนั้นได้กลับมาจําพรรษาที่วัดบ้านจิกอีก แต่มีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นในวัดมากมาย หลวงปู่จึงออกธุดงค์อีก
พ.ศ.๒๔๘๘ พระอาจารย์อุ่น เจ้าอาวาสย้ายไปจําพรรษาที่อื่น หลวงปู่จึงต้องเป็นเจ้าอาวาสแทน แต่ปรากฏมีพระเถระบางรูปไม่พอใจ ทําให้ท่านท้อใจออกธุดงค์ไป จําพรรษาที่วัดบ้านโป่ง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และได้เข้านมัสการหลวงปู่แหวน สุจินโณ ที่วัดดอยแม่ปั๋ง
ต่อมา ร.ต.ท.ขุนรัฐกิจบรรหารและคณะชาวบ้านได้ไปนิมนต์ท่านให้กลับมาอยู่วัดบ้านจิกอีกครั้ง ในพ.ศ. ๒๔๙๘
พ.ศ.๒๔๙๘ คณะภรรยาข้าราชการตำรวจและพ่อค้าชาวจีนในอุดรธานี ได้ร่วมกันซื้อที่ดินให้วัดเพิ่มขึ้นอีก ทำให้วัดกว้างขึ้นมากในปัจจุบันนี้
หลวงปู่ถิร มีวัตรปฏิบัติเป็นประจำ ๓ ประการ คือ
๑. บิณฑปาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารออกบิณฑบาตมาฉัน เป็นนิจ (ยกเว้นวันที่ท่านอาพาธ)
๒. เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาตร โดยใช้ภาชนะใบเดียวตลอด และ
๓. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวตลอดมา และธุดงควัตร
นอกจากนี้ ทุกเย็น ๑๗.๐๐-๒๑.๐๐ น. จะมีการอบรมฝึกบำเพ็ญเพียรภาวนาให้แก่พุทธศาสนิกชนเป็นประจำทุกวันด้วย
เมื่อวันที่ ๒๖ ก.ค.๒๕๔๘ หลวงปู่ถิร ฐิตธัมโม มรณภาพ อย่างสงบด้วยโรคชรา สร้างความเศร้าสลดแก่คณะศิษยานุศิษย์ โดยถ้วนหน้า ซึ่งก่อนหน้านี้ หลวงปู่ถิรอาพาธกะทันหัน คณะศิษย์ได้นำหลวงปู่ส่งโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี จากนั้นได้ถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ ๙ พ.ค.๒๕๔๘ จนกระทั่งหลวงปู่ถิรท่านได้ละสังขารไปอย่างสงบ
หลักคำสอน
หลวงปู่ถิร เน้นการสอนให้รู้จักฝึกจิต ดับไฟราคะ โทสะ โมหะ รู้บุญบาป การบําเพ็ญ เพียรภาวนาเป็นการรักษาจิตใจ ไม่ให้เกิดพิษภัยขึ้นจากภายในจิต สิ่งที่เป็นพิษ สิ่งที่เป็นภัย คือ ตัวกิเลส ตัวความโลภ ตัวความโกรธ ตัวความหลงกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจ ตัณหา คือ ความทะเยอทะยานอยากอยากไม่มีจุดจบ หลงไปตามกิเลสจึงต้องฝึกข่มไว้ด้วยสมถะ คือ ด้วยสมาธิ ธรรม ให้จิตใจอยู่กับพุทโธ อย่าให้อารมณ์อื่น ๆ เกิดขึ้นอารมณ์ที่ประกอบด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่มีอยู่ภายในจิตใจให้เบาบาง ความระมัดระวังไม่ให้เกิดบาปขึ้น ทางกาย ทาง วาจาทางใจ เมื่อเราละบาปได้แล้ว ศีลของเราก็ไม่มีความเศร้าหมอง เพราะเราละความโลภละ ความโกรธละความหลงไม่ให้เกิดขึ้นภายในจิต จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้ประกอบความเพียรด้วยความไม่ประมาท