ประวัติและปฏิปทา พระครูสถิตธรรมรัตน์ (หลวงปู่โถน ฐิตวุฑฺโฒ) วัดเรียบทายราม บ้านโสกแก อ.กุดจับ จ.อุดรธานี
นามเดิมชื่อ โถน จันดาพรหม เกิดวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๘
เป็นบุตรคนที่ ๒ ของนายจันดา-นางบุตร จันดาพรหม เกิดที่บ้านจำปา ตำบลเชียงพิณ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี มีพี่น้องร่วมท้องแห่งมารดาเดียวถึง ๖ คนด้วยกัน ดังมีรายชื่อดังต่อไปนี้
๑. นางนา จันดาพรหม
๒. นายโถน จันดาพรหม
๓. นางหนู จันดาพรหม
๔. นางแดง จันดาพรหม
๕. นางดำ จันดาพรหม
๖. นายชาลี จันดาพรหม
ครั้นจบการศึกษาชั้น ป.๔ เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี ตรงกับวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา ที่วัดขามเรียนบ้านจำปา โดยมีพระอธิการหล้า เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วก็ได้พำนักศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และได้ฝึกหัดอ่านหนังสือธรรม และหนังสือขอมในสำนักนี้ จึงเป็นที่พึงพอใจแด่ครูบาอาจารย์เป็นอย่างดี
ต่อมาเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี บริบูรณ์ ก็ได้อุปสมบท เป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนานามว่า (ฐิติวุฒโฑภิกขุ) โดยมีพระครูพุทธพจนประกาศ (บุญ ปุญฺญสิริ) หรือหลวงปู่ดีเนาะ เป็นพระอุปัชฌาย์ (ปัจุบันได้เลื่อนเป็นพระเทพวิสุทธาจารย์) และมีพระอาจารย์ไชย์ เป็นกรรมวาจาจารย์ มีพระอาจารย์สุภีร์ เป็นอนุสาวนาจารย์ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๑
เมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาในสำนักของพระอุปัชฌาย์ที่วัดมัชฌิมาวาส ตามลำดับ
พ.ศ. ๒๔๗๗ สอบ น.ธ. ตรีได้ จากสำนักเรียน วัดมัชฌิมาวาส จังงหวัดอุดรธานี โดยมีท่านอาจารย์เฉื่อยเป็นอาจารย์สอน
พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบรมสมภรณ์ บ้านหนองโน
(ชาวบ้านหนองโน ได้มาขออาราธนานิมนต์ หลวงปู่โถน จากพระอุปัชฌาย์ท่านคือหลวงปู่ดีเนาะ หลวงปู่ดีเนาะจึงได้ส่งให้ท่านไปอยู่วัดบรมสมภรณ์ บ้านหนองโน ตำบลกุดจับ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส)
พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้รับแต่งตั้ง เป็นเจ้าคณะตำบลกุดจับ อ.กุดจับ จ.อุดรธานี เพื่อสะดวกในการปกครองและเหมาะสม ญาติโยมทั้งหลายก็อาราธนานิมนต์ มาจำพรรษา ณ วัดเรียบทายราม กระทั่งละสังขาร
พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ประจำสำนักวัดเรียบทายราม
พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ประจำเขตตำบลกุดจับ จนถึงปัจจุบันนี้
พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้รับพระราชทานเป็นพระครูสัญญาบัตร มีนามว่า “ พระครูสถิตธรรมรัต”
การก่อสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์
นับตั้งแต่หลวงพ่อพระครูสถิตธรรมรัต ได้ย้ายออกจากสำนักศาสนาศึกษาวัดมัชฌิมาวาส ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย บ้านหนองโน นั้นเป็นเวลา ๔ ปี แต่หลวงพ่อพระครูเห็นว่าสถานที่วัดนี้แคบนัก จึงได้พาญาติโยมไปทำการ ปราบเนื้อที่ทางด้านตะวันตกของบ้านหนองโน และมีหนองน้ำมหึมาอยู่ทางทิศเหนือของวัด ท่านเห็นว่าน้ำนี้พอจะได้ความร่มเย็น เป็นสุขแก่พระภิกษุสามเณร ตลอดถึงญาติโยมได้ตลอดฤดูกาล ท่านจึงได้ทำการย้ายวัดไปตั้งที่ดังกล่าวซึ่งได้นามว่า “ วัดบรมสมภรณ์ ” สืบมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อถึงเวลาอันสมควรแล้วท่านมีศิษย์พอที่จะไว้วางใจได้ จึงได้ขอแต่งตั้ง เจ้าอาวาสให้อาจารย์ครูทิพย์ อานนโท ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสแทน และในขณะเดียวกันท่านก็ได้แต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลกุดจับ จึงได้รับอาราธนานิมนต์จากญาติโยมชาวบ้านโสกแก เพื่อจะได้ไปขยายศาสนกิจและอบรมสั่งสอนญาติโยมในละแวกนั้น ให้วิวัฒนาการเจริญยิ่งๆขึ้น นับว่าเป็นความคาดฝันที่เป็นจริงและน่าอนุโมทนาสาธุการอีกเป็นอย่างมาก เท่าที่หลวงพ่อพระครูได้มาบำเพ็ญศาสนกิจที่วัดเรียบทายรามอีกเป็นวาระหนึ่ง ท่านก็ไม่นิ่งนอนใจอะไรเพราะว่า การย้ายร่าง สร้างใหม่มันยากง่ายเพียงไรและแค่ไหนนั้น ผู้เขียนไม่จำเป็นต้องอธิบาย แต่ผู้อ่านก็คงจะทราบดีและในเขตนี้กันดารเสียสิ้นดี การจัดหาอุปกรณ์การก่อสร้างก็ลำบาก เพราะไกลจากตัวจังหวัด ตั้ง ๒๐ กิโลเมตร ทางก็แสนธุระกันดาร ถึงกระนั้นหลวงพ่อพระครูท่านก็ยังอุตส่าห์ พยายามบุกบั่นอบรมญาติโยมให้กลมเกลียวกันสร้างวัดเรียบทายราม และจัดสร้างกุฎิและศาลาการเปรียญให้เพียงพอแก่พระภิกษุสามเณรตามความต้องการแล้ว ท่านยังได้จัดสร้างพระอุโบสถขนาดถาวรขึ้นหนึ่งหลัง เพื่อทำกิจสงฆ์และสังฆกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นแก่พระสงฆ์ ดังปรากฎแก่ตัวเราเหล่าท่านทั้งหลายอยู่ในขณะนี้ เมื่อมีสถานที่เพียงพอพำนักแก่พระภิกษุสามเณร ผู้ใคร่ปฏิบัติในแขนง “ คันถธุรกิจ ” แล้วท่านเห็นว่า ในเขตปกครองของท่านยังขาดสถานที่บำเพ็ญของผู้ที่ต้องการบำเพ็ญ “ วิปัสสนาธุรกิจ ” อยู่ ท่านก็ได้ริเริ่มสร้างวัดวิปัสสนาขึ้นแห่งหนึ่ง เมื่อเสร็จแล้วท่านเห็นว่าขาดผู้ฝึกสอน ท่านก็ถือโอกาสอำลาญาติโยมไปฝึกฝนอบรมวิปัสสนา กัมมัฏฐาน จากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ พระนคร จนเป็นที่พอใจแล้วก็ได้อบรมสั่งสอนญาติโยมสืบต่อมา นอกจากนั้นท่านยังได้ชักชวนญาติโยม พัฒนาการถนนหนทาง สร้างโรงเรียนประชาบาล และวัดวาอารามตั้งหลายแห่ง ตลอดทั้งสะพาน อันเป็นสาธารณประโยชน์ตั้งหลายแห่งและครั้งล่าสุด ท่านได้พาญาติโยมสร้างสะพานระหว่างบ้านหัวขัวและบ้านโสกแกที่ทำการฉลองในวันวานนี้เอง ฯ
ดังนั้นในการงานทุกอย่าง ถึงแม้จะลำบากตรากตรำเพียงใดแค่ไหนก็ไม่ละความพยายาม และนอกจากนั้นท่านยังให้กำลังใจแก่ศิษยานุศิษย์อยู่เสมอ ซึ่งยกเอาภาษิต ขององค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้ามา กล่าวสอนว่า
“ กะยิราถะ กะยิราเถนัง ”
แปลว่า ทำจริงทุกสิ่งย่อมสำเร็จ
ดังนั้น การงานที่ท่านคาดคิดไว้แล้วก็ไม่แคล้วจากความจริงดังที่ปรากฏแก่สายตาของเราอยู่ในขณะนี้ ฯ
อุปนิสัย
สำหรับอุปนิสัยใจคอของท่านนั้นเล่า นับว่าท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยอ่อนโยน และเอื้ออารีต่อคนที่ไปมาหาสู่ โดยไม่เลือกขั้นวรรณะและคบง่าย เพราะท่านรู้จักกาละและเทศะนั้นเอง จึงทำให้คนคบได้อย่างสนิท และก่อนท่านจะทำจะพูดสิ่งใดท่านต้องใคร่ครวญพิจารณาอยู่เสมอ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า พุทธสุภาษิตที่ท่านยกขึ้นเป็นเบื้องต้นในการอบรมสั่งสอนคณะศิษยานุศิษย์เป็นประจำ
พระครูสถิตธรรมรัต เป็นพระมหาเถระที่ประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอกุดจับและใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ให้ความอนุเคราะห์สงเคราะห์ผู้ที่มาขอให้ท่านช่วยเหลือโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด มีความสุขุมเยือกเย็น ยึดหลักพรหมวิหารธรรมในการปฏิบัติตนเสมอมา ท่านพระครูสถิตธรรมรัต (โถน ฐิติวุฑฺโฒ) ได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๕ สิริรวมอายุได้ ๘๗ ปี พรรษา ๖๕
อภินิหารหลวงปู่โถน
การสร้างขวัญกำลังใจให้ทหารหาญผู้ปกป้องรักษาดินแดนชาติบ้านเมืองนั้น นอกจากการให้ธรรมะเป็นเครื่องเตือนสติ ในการดำรงตนอย่างไม่ประมาทแล้ว หลวงปู่โถน แห่งวัดเรียบทายราม บ้านโสกแก อำเภอกุดจับนั้นท่านยังได้สร้างวัตถุมงคล มอบไว้เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนียวจิตใจ อีกอย่างหนึ่ งคือ ตะกรุดหกกษัตริย์กบตายคาฮู (รู) อันเป็นสุดยอดครื่องรางที่ท่านสร้างขึ้น
ครั้งหนึ่งมีทหารมาขอความเมตตาจากท่าน อยากจะได้ตะกรุดกบตายคาฮู (รู) ของท่านไปบูชา ด้วยวิธีการทำที่ยากเพราะกบตายคาฮู (รู) นั้นจะต้องร้องด้วย จึงหายากเข้าไปใหญ่ ทั้งมีคนต้องการจำนวนมาก เวลานั้นหลวงปู่กำลังร้อยเชือกตะกรุดอยู่ ยังไม่ได้ทำพิธีอะไร ด้วยความใจร้อนและอยากได้ไปบูชาทหารท่านนั้นก็อ้อนวอนท่าน ว่าอยากได้ชุดนี้ถึงไม่เสร็จก็ตามบอกว่าหลวงปู่ทำถึงไม่เสร็จก็ขลัง จากนั้นทหารได้นำตะกรุดมาลองยิงต่อหน้าหลวงปู่ ที่หน้ากุฏิท่านจะมีต้นมะพร้าวได้เอาตะกรุดห้อยไว้แล้วยิง ปืนไม่แตกเลย หลวงปู่ท่านก็ไม่ได้เอ่ยอะไร เหตุการเช่นนี้เกิดขึ้นด้วยอานุภาพความขลังของหลวงปู่นั้นเอง
พระครูสถิตย์ธรรมรัต (หลวงปู่โถน ฐิติวุฑฺโฒ) วัดเรียบทายราม บ้านโสกแก อำเภอกุดจับ เป็นพระมหาเถราจารย์ผู้เรืองวิทยาคมแห่งอำเภอกุดจับ นอกจากตะกรุดหกดอกกบตายคารู ของหลวงปู่ที่โด่งดังแล้ว ยังมีเหตุการครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นภายในวัดเรียบทายราม เกิดมีโจรเข้ามาลักขโมยเอาเครื่องขยายเสียงภายในศาลา ตลอดทั้งคืนนั้นเขาได้เดินรอบวัดออกไปใหนไม่ได้ และได้นอนอยู่ภายในวัด พอรุ่งเช้าหลวงปู่ได้ไปปลุกโจร โจรตื่นและตกใจมาก เพราะเมื่อคืนตนได้นำเครื่องขยายเสียงกลับบ้านแล้วไฉนมานอนอยู่ตรงนี้ได้ ความเป็นจริงเขาได้เดินรอบวัดอยู่นั้นจนเหนื่อย และได้ไปนอนที่ใต้ต้นมะขาม โดยคิดว่าถึงบ้านแล้ว ด้วยเดชะบารีของหลวงปู่โถนนั้นเอง ทำให้โจรไม่สามารถออกจากวัดได้ เป็นที่เล่าขานกันมาจนถึงปัจจุบัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กลุ่ม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และพระเถระ จังหวัดอุดรธานี