ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สนธิ์ เขมิโย
วัดอรัญญานาโพธิ์ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม
หลวงปู่สนธิ์ เขมิโย วัดอรัญญานาโพธิ์ พระเกจิชื่อดัง ๕ แผ่นดิน ผู้มีอายุยืนถึง ๑๐๘ ปี แห่งเมืองนครพนม ศิษย์หลวงปู่ศรีทัตถ์ ญาณสัมปันโน
◎ ชาติภูมิ
หลวงปู่สนธิ์ เขมิโย มีนามเดิมว่า “สนธิ์ โคตะบิน” เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๓ ที่บ้านนาโพธิ์ ต.โพนสว่าง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม บิดาชื่อ “นายคำ โคตะบิน” และมารดาชื่อ “นางอุ่น โคตะบิน” มีพี่น้องรวมทั้งหมด ๑๐ คน ท่านเป็นบุตรคนโต ในจำนวนชาย ๖ คน หญิง ๔ คน
ชีวิตฆราวาส ในช่วงเป็นฆราวาสได้ใช้ชีวิตเป็นปกติเหมือนชาวบ้านทั่วไป
เมื่อครั้งอายุ ๑๘ ปี ออกหาปลาในลำน้ำอูน ขณะนอนตะแคงในท่าพนมมือสองข้างหนุนศีรษะ ผู้เฒ่าผู้แก่ทักว่าจะไม่ได้ครองเรือนเช่นคนทั่วไป แต่จะได้สืบทอดพระพุทธศาสนาตลอดชีวิต
จนอายุย่าง ๑๘ ปี นายสนธิ์ได้ออกหาปลาตามลำน้ำอูนใกล้หมู่บ้านพร้อมเพื่อนบ้าน พอถึงเที่ยงวันหลังรับประทานอาหารเสร็จ ได้พักผ่อนใต้ต้นไม้ริมน้ำอูน ในท่านอนตะแคงมือพนมสองข้างหนุนศรีษะ ผู้เฒ่าผู้แก่ประจำหมู่บ้านที่ไปหาปลาด้วยกันจึงทักขึ้นว่า นายสนธิ์นอนตะแคงเอามือสองข้างพนมหหนุนศรีษะ จะไม่ได้ใช่ชีวิตเหมือนคนทั่วไป แต่จะได้สืบทอดพระพุทธศาสนาตลอดชีวิต
พออายุครบ ๒๐ ปี หลวงปู่สนธิ์ เขมิโย ก็ได้นิมิตว่าได้เดินไปพบทางสองแพร่ง ซึ่งเส้นทางซ้ายมือมีผู้คนกำลังฟ้อนรำอยู่อย่างสนุกสนานและเชิญชวนให้หลวงปู่เข้าไปร่วมขบวนด้วย แต่หลวงปู่ได้ปฏิเศษ แล้วท่นเลือกเดินไปเส้นทางขวามือ ไปพบสถานที่ร่มรื่นมีศาลา หลวงปู่ได้ขึ้นไปพักบนศาลา หลังจากนั้นก็ตื่นจากนิมิต
◎ อุปสมบท
ต่อมาไม่นานมีญาติผู้ใหญ่ฝ่ายพ่อถึงแก่กรรม ไม่มีผู้บวชหน้าไฟให้ พ่อของท่านจึงขอให้หลวงปู่สนธิ์บวช ที่วัดศรีชมชื่น ต.โพนสว่าง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม โดยมี เจ้าอธิการแก้ว รตนวณฺโณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเกตุ กตปญฺโญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระเกิด สีลวณฺโณ พระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “เขมิโย”
หลังจากบวชหน้าไฟแล้ว หลวงปู่สนธิ์ ก็ไม่ได้ลาสิกขาเลย ในช่วงบวชปีแรกมีพระเณรจำพรรษากันเก้ารูปได้ฉายแววความมีอัจฉริยะโดยการเป็นผู้มีมานะ ตื่นแต่เช้า ขยันท่องตำรา จำบทสวดต่างๆ ได้แม่นยำจนหลวงพ่อเจ้าอาวาสชมว่า “พระเณรกลุ่มนี้สู้พระสนธิ์ไม่ได้หรอก” ก็เป็นความจริงดั่งคำที่ท่านกล่าว เพราะในปัจจุบันในเก้ารูปนั้นยังคงเหลือแต่หลวงปู่สนธิ์ ที่ยังครองสมณะเพสอยู่อย่างมั่นคงตราบจนปัจจุบัน
หลังจากจำพรรษาแรก หลวงปู่สนธิ์ ได้เดินธุดงค์เท่าเปล่าไปจำพรราาที่วัดต่างๆ อีกหลายวัดในเขตอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร อำเภอโพนสวรรค์ และอำเภอท่าอุเทน เป็นเวลา ๘ พรรษา ช่วงที่จำพรรษาที่อำเภอท่าอุเทน ได้ปวารนาตนเป็นศิษย์หลวงปู่ศรีทัตถ์ วัดพระธาตุท่าอุเทน และได้ร่วมสร้างพระธาตุท่าอุเทน พรรษาที่เก้าท่านออกธุดงค์ด้วยเท้าเปล่าแสวงบุญขึ้นไปทางเหนือ ถึงวัดพระบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และข้ามลำน้ำโขงไปหมู่บ้าน กะลิงหะลัง แขวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว จำพรรษาอยู่ ๒ พรรษา แล้วธุดงค์เลียบตามลำน้ำโขงลงไปทางใต้ ถึงภูเขาควายและได้อยู่จำพรรษาที่ภูเขาควายเป็นเวลา ๔ พรรษา หลวงปู่เล่าว่า
คืนหนึ่งในเวลาตีสองขณะที่นั้งปฏิบัติธรรมอยู่นั้น ได้มีฝูงสัตว์ป่า มีเสือโคร่ง หมี ได้เข้ามาใกล้บริเวณที่หลวงปู่อยู่ และเสือได้แสดงอาการใช้เท้าครูดกับลานหินคลล้ายเตรียมตะปปเหยื่อ หลวงปู่ได้ภาวนาและแผ่เมตตา ให้ฝูงสัตว์เหล่านั้น ประมาณ ๑๐ นาทีต่อมาได้มีโขลงช้างป่าส่งเสียงดังก้องป่า ทำให้ฝูงสัตว์ร้ายเหล่านั้นค่อยๆ ถอยห่างออกไปโดยไม่มีเหตุร้ายใดๆ เกิดขึ้นเลย
หลังจากจำพรรษาที่ประเทศลาว รวม ๖ พรรษา หลวงปู่สนธิ์ เขมิโย ท่านออกธุดงค์ไปทางเหนือของลาวข้ามลำน้ำโขง มาที่อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน แวะจำพรรษาตามที่ต่างๆ ในเขตภาคเหนือ เช่น สามเหลี่ยมทองคำ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ และอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ เดินธุดงค์ลงมาทางภาคกลางที่จังหวัดชัยนาท นครปฐม สิงห์บุรี สระบุรี จนลงมาถึงจังหวัดนครราชสีมา และได้กลับมายังบ้านเกิดเพื่อโปรดโยมพ่อโยมแม่ และญาติพี่น้อง หลังจากนั้นได้เดินทางไปสร้างวัดและจำพรรษา ที่บ้านเปงจาน อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย และได้ทราบข่าวว่าโยมพ่อป่วย จึงเดินทางกลับมายังบ้านนาโพธิ์เพื่อดูแลอาหารป่วยของโยมพ่อ และได้มาสร้างวัดอรัญญานาโพธิ์ขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๐๙ อยู่จำพรรษาจนกระทั่งละสังขาร
หลวงปู่สนธิ์ เป็นพระที่มีความสมถะ ใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายเวลาเดินธุดงค์จะไม่มีทรัพย์สินมีค่าติดตัว ไม่สวมรองเท้า และบิณฑบาตก็รับแต่พอฉันในแต่ละมื้อเท่านั้นไม่เก็บสิ่งของมีค่า
ด้านปาฏิหาริย์ จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ญาติโยมที่พบเห็นขณะที่หลวงปู่สนธิ์กำลังออกบิณฑบาต ฝนตกปรากฏว่าเม็ดฝนไม่ถูกตัวของหลวงปู่เลย ทั้งที่หลวงปู่สนธิ์ก็ออกเดินบิณฑบาตไปตามปกติ แต่ฝนก็ตกตามหลังไป แต่ไล่ไม่ทันตัวหลวงปู่ ชาวบ้านก้เลยเรียกว่า “ฝนไล่ไม่ทันหลวงปู่”
หลวงปู่สนธิ์ เขมิโย ท่านเป็นพระที่มีความสมถะ ใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายเวลาเดินธุดงค์จะไม่มีทรัพย์สิน มีค่าติดตัว ไม่สวมรองเท้า และบิณฑบาตก็รับแต่พอฉันในแต่ละมื้อเท่านั้นไม่เก็บสิ่งของมีค่า มักน้อยสันโดษ เป็นอยู่ง่ายๆ กินแต่น้อย ไม่สะสมทรัพย์สิ่งของ จนเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธา
สร้างวัดอรัญญานาโพธิ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ และยังสร้างโรงเรียนอีก ๕ แห่ง และตึกอาพาธสงฆ์ที่ ร.พ.ศรีสงคราม สร้างศาลาการเปรียญวัดกุฏิอีกหลายแห่ง พร้อมตั้งมูลนิธิสนับสนุนทุนเรียนดีแต่ยากจน
๏ ผลงานด้านสาธารณะสงเคราะห์
◎ ด้านการศึกษา
๑. โรงเรียนสนธิราษฏร์วิทยา บ้านดอนถ่อน ตำบลบ้านเอื้อง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
๒. โรงเรียนสนธิราษฏร์บำรุง บ้านโพนสว่าง ตำบลโพนแพง อำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย
๓. โรงเรียนบ้านนาเพียงเก่าสนธิราษฏร์สามัคคี บ้านนาเพียงเก่า ตำบลนาเพียง อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร
๔. โรงเรียนประชาสนธิ์นุสรณ์ บ้านหนองนกทา ตำบลโพนสว่าง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
๕. สร้างศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์ บ้านนาโพธิ์
๖. เป็นประธานอุปถัมภ์ หาทุนซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มอบให้โรงเรียน หนองซนวิทยา อำเภอนาทม
๗. เป็นประธานอุปถัมภ์ หาทุนซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มอบให้โรงเรียนนาเดื่อพิทยาคม ตำบลนาเดื่อ อำเภอศรีสงคราม
๘. จัดตั้งมูลนิธิหลวงปู่สนธิ์ เขมิโย อำเภอศรีสงคราม เพื่อเป็นทุนสนับสนุนเด็กเรียนดีแต่ยากจน
◎ ด้านการศาสนา
๑. เป็นประธานสงฆ์สร้างอุโบสถวัดศรีชมชื่น บ้านนาโพธิ์ ตำบลโพนสว่าง อำเภอศรีสงคราม
๒. สร้างอุโบสถ ศาลการเปรียญ กุฎิสงค์ วัดศรีสวาดิ์ บ้านโพนสว่าง ตำบลโพนสว่าง อำเภอศรีสงคราม
๓. สร้างศาลาการเปรียญ กุฎิสงฆ์ วัดคำบางประสิทธิ์ บ้านหนองนกทา ตำบลโพนสว่าง อำเภอศรีสงคราม
๔. สร้างศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ วัดศรีมงคล บ้านโคกกลาง ตำบลโพนสว่าง อำเภอศรีสงคราม
๕. สร้างกุฏิ วัดป่าวิเวกธรรมบ้านนาเพียงเก่า อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร
◎ ด้านสาธารณสุข
๑. สร้างตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลอำเภอศรีสงคราม
๒. ซื้อที่ดินและอุปกรณ์การแพทย์มอบให้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนบ้านนาโพธิ์
◎ ด้านศิลปวัฒนธรรม
๑. สนับสนุนจัดตั้งวงดนตรีพื้นเมือง ตำบลโพนสว่าง
๒. สนับสนุนการจัดตั้งวงดนตรีพื้นเมืองโปงลาง โรงเรียนสนธิราษฏร์ พาทย์ พิน แคน ตำบลบ้านเอื้อง
◎ ด้านกีฬานันทนาการ
๑. สร้างสนามกีฬาร่มสนธิ์ บ้านม่วง ตำบลนาคูณใหญ่ อำเภอนาหว้า
๒. สนับสนุนอุปกรณ์กีฬาแก่เด็กและเยาวชน ตำบลโพนสว่างและใกล้เคียง
◎ ด้านพัฒนาสังคม
๑. จัดตั้งธนาคารหมู่บ้าน บ้านนาโพธิ์
๒. นำพาศรัทธาญาติโยมสร้างทำนบคันดิน บ่อออง บ้านโพนสว่าง ตำบลโพนสว่าง
๓. นำพาศรัทธาญาติโยมสร้างทำนบคันดินหนองขุมดิน บ้านหนองนกทา ตำบลโพนสว่าง
๔. นำพาศรัทธาญาติโยมสร้างทำนบคันดินหนอง กุดแข้-กุดค้าว-กุดเป่ง บ้านท่าและบ้านนาโพธิ์
◎ มรณภาพ
ในบั้นปลาย เมื่อเข้าสู่วัยชรา หลวงปู่สนธิ์ เขมิโย จึงกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านเกิด แต่ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง ท่านอาพาธเป็นโรคเส้นเลือดในสมอง ก่อนนำตัวเข้ารักษาที่ ร.พ.ศรีสงคราม เมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙ แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงส่งต่อไปรักษาตัวที่ ร.พ.นครพนม จากนั้นจึงส่งตัวไปรักษาต่อที่ ร.พ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น นาน ๒ เดือน ก่อนกลับมารักษาตัวที่ ร.พ.ศรีสงคราม
กระทั่งต่อมา หลวงปู่สนธิ์ เขมิโย ท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อเวลา ๑๐.๒๐ น. วันที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐ ซึ่งเป็นวันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ โดยความเชื่อของศิษยานุศิษย์ถือว่าเป็นผู้มีบุญละสังขารในวันพระใหญ่ สิริอายุรวมได้ ๑๐๘ ปี พรรษา ๘๘
◎ ด้านวัตถุมงคล
หลวงปู่สนธิ์ เขมิโย วัดอรัญญานาโพธิ์ ต.โพนสว่าง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้มากหมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตะกรุด พระผง โดยเฉพาะเหรียญ จัดสร้างจำนวนกว่า ๕๙ รุ่น แต่ละรุ่นจัดสร้างจำนวนจำกัด โดยเฉพาะรุ่นพิเศษที่คณะศิษย์จัดสร้างถวายเนื่องในโอกาสสำคัญ และที่ระลึกงานต่างๆ มีเจตนามอบเป็นที่ระลึก
โดยไม่ได้ให้เช่าบูชาหรือการค้าใดๆ ทั้งสิ้น เหรียญรุ่นแรก หลวงปู่สนธิ์ เขมิโย ปี พ.ศ.๒๕๑๖ ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.๒๕๑๖ พระอาจารย์สว่าง จันทโชโต เจ้าอาวาสวัดสะพานคำ จ.สกลนคร ขออนุญาตสร้าง “เหรียญหลวงปู่สนธิ์ รุ่น ๑”
เหรียญรุ่นนี้ที่พบเห็นมีเนื้อทองแดงผิวไฟ จัดสร้างจำนวนน้อย ลักษณะเป็นเหรียญกลม รูปไข่ มีหูห่วง
ด้านหน้าเหรียญ ขอบเหรียญมีเส้นสันนูน ๒ ชั้น ตรงกลางเหรียญมีรูปเหมือนหลวงปู่ครึ่งองค์หน้าตรง ใกล้ขอบเหรียญจากซ้ายไปขวา สลักตัวหนังสือนูนคำว่า “อาจารย์สนธิ์ เขมปัญโญ วัดอรัญญานาโพธิ์”
ด้านหลังเหรียญ ขอบเหรียญมีเส้นสันนูนหนา ใต้หูห่วงมีอักขระอักษรธรรม อ่านว่า “อะสังวิ” บรรทัดถัดมาอ่านว่า “สุโลปุ” บรรทัดสุดท้ายอ่านว่า “สะพุภะ” บรรทัดต่อมาระบุ “๒๕๑๖ รุ่น ๑” พุทธศักราชและรุ่นที่สร้าง
เหรียญรุ่น ๑ นี้มี ๒ บล๊อก บล๊อกแรกไม่ตอกโค้ด บล๊อกสองด้านหน้าเหรียญที่จีวรตอกโค้ด “สก” อันมีความหมายว่า ลูกศิษย์สกลนครสร้าง และด้านหลังเหรียญมีตำหนิรอยขีดบริเวณหางเลข “๖” ไทย
เหรียญรุ่นนี้และอีกหลายรุ่น คนทำบล๊อกผิดพลาด สลักฉายาคำว่า “เขมปัญโญ” ส่วนฉายาที่ถูกต้องของหลวงปู่คือ “เขมิโย” เหรียญรุ่นดังกล่าว หลวงปู่สนธิ์นั่งปลุกเสกเดี่ยว
และในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ลูกศิษย์จังหวัดสกลนคร ขออนุญาต จัดสร้าง “เหรียญหลวงปู่สนธิ์ รุ่น ๓” โดยมี เนื้อเงิน เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง เนื้อทองแดงชุบนิกเกิล เนื้อทองแดงผิวไฟ และเนื้อทองแดงรมดำ…•
ลักษณะเป็นเหรียญกลม มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญ ขอบเหรียญตัดขอบ ใต้หูห่วงสลักคำว่า “วัดอรัญญานาโพธิ์ รุ่น ๓” ตรงกลางเหรียญมีรูปเหมือน ตรงจีวรตอกโค้ด “สก” ย่อมาจาก “สกลนคร” ด้านล่างสลักตัวหนังสือคำว่า “พระอาจารย์สนธิ์ เขมปัญโญ”…•
ด้านหลังเหรียญ ขอบเหรียญมีเส้นสันนูนหนาและบาง ๒ ชั้น ใต้หูห่วงใกล้ขอบเหรียญจากซ้ายไปขวา สลักตัวหนังสือคำว่า “ศิษย์ ส.น.สร้าง ๒๕๑๘” ตรงกลางเหรียญมีรูปเหมือนหลวงปู่ศรีทัตถ์ครึ่งองค์หน้าตรง พระอาจารย์หลวงปู่สนธิ์ ใกล้ใบหูซ้ายขวาสลักอักขระตัวธรรมรวม ๘ ตัว ด้านล่างสุดสลักตัวหนังสือคำว่า “พระอาจารย์สีทัตถ์ สร้างธาตุท่าอุเทน” ด้านหน้าเหรียญรุ่น ๓ สลักฉายาหลวงปู่คำว่า “เขมปัญโญ” ผิด ส่วนฉายาที่ถูกต้องคือ “เขมิโย” เป็นอีกเหรียญที่นับวันจะหายากเช่นกัน