วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่วรพรตวิธาน
วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น

หลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น
หลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น

หลวงปู่วรพรตวิธาน วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น พระอริยะสงฆ์ ๕ แผ่นดิน เต็มเปี่ยมด้วยศีลาจารวัตรอันงดงาม

๏ ชาติภูมิ
หลวงปู่วรพรตวิธาน วัดจุมพล นามเดิมชื่อ “พันธ์ ทับงาม” เกิดเมื่อวันพุธที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๔ ที่บ้านน้ำอ้อม ตำบลน้ำอ้อม อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด (ที่จริงแล้วท่านเกิดในปี พ.ศ.๒๔๓๗ แต่แจ้งวันเกิดช้ากว่ากำหนดโดยวันเดือนเกิดไม่ทราบแน่ชัด) บิดาชื่อ “นายศิลา ทับงาม” และมารดาชื่อ “นางทอง ทับงาม” เป็นบุตรคนที่ ๔ ในบรรดา พี่น้อง ๘ คน

อายุย่างเข้าวัย ๑๒ ปี ในปี พ.ศ.๒๔๕๖ ได้รับการคัดเลือกจาก พระครูกิจจพินิจพิจารย์ (หลวงปู่ทอง) เจ้าอาวาสวัดสว่างอารมณ์ บ้านน้ำอ้อม ตำบลน้ำอ้อม อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเกษตรวิสัย ให้เข้าเรียนหนังสือ เมื่อการเรียนการสอน ๒ ปีผ่านไป ผลปรากฏว่า นักเรียนทั้งหมด ๘๐ คน สอบผ่านเพียง ๑๘ คน และ สามารถสอบผ่านได้อันดับที่หนึ่ง บิดามารดาครูบาอาจารย์ต่างปรีดาปราโมทย์กันทั่วหน้า

๏ ในชีวิตราชการ
หลวงปู่ท่านเป็นคนเรียนหนังสือเก่งมาก ขุนเกษตรวิสัย (เทียน) นายอำเภอเกษตรวิสัย ซึ่งมีความต้องการนักเรียนที่สอบผ่านไปรับราชการเป็นเสมียน เขียนหนังสือประจำอยู่ที่อำเภอเกษตรวิสัย แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องการคนเก่งที่มีลายมือสวยที่สุด ท่านจึงได้รับคัดเลือกจากพระครูกิจจพินิจพิจารย์ เข้ารับราชการรับใช้บ้านเมืองเป็นเสมียนอำเภอ ตามความจำนงของขุนเกษตรวิสัย และชีวิตรับราชการของหลวงปู่ในสมัยนั้น ท่านเป็นคนขยัน หมั่นเพียร ไม่เกียจคร้านในหน้าที่รับผิดชอบ ไม่เกี่ยงงานหนักเอาเบาสู้ ท่านยินดีทำทุกอย่าง ไม่มีการยกสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นข้ออ้างหลีกเลี่ยงงาน เพื่อนร่วมงานทุกคนต่างก็มีความรักใคร่ให้ความเมตตา โดยเฉพาะปลัดขวาได้อุปถัมภ์ค้ำชูให้ที่พักอาศัย รับราชการได้ ๑ ปี ก็ได้รับคำสั่งย้ายไปอยู่ที่อำเภอจตุรพักตร์พิมาน เพื่อช่วยงานปลัดขวา

๏ บรรพชา
ใน ปี พ.ศ.๒๔๖๐ อายุได้ ๑๖ ปี จึงตัดสินใจลาออกจากราชการ และขออนุญาตจากบิดามารดา เพื่อเข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสว่างอารมณ์ บ้านน้ำอ้อม ตำบลน้ำอ้อม อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี ท่านพระครูกิจจพินิจพิจารณ์ (หลวงปู่ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์ และจำพรรษาที่นี่เป็นเวลา ๕ ปี ท่านสนใจวิชาการด้านพุทธศาสนา ท่องตำราสวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน แม้แต่คัมภีร์ภิกขุปาฏิโมกข์ว่าด้วยศีล ๒๒๗ ของภิกษุที่เป็นภาษาบาลีล้วนๆ ก็ท่องจำปากเปล่าได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว ทำให้เกิดอัศจรรย์ใจแก่คนทั้งหลาย คัมภีร์ภิกขุปาฏิโมกข์นี้ถ้าพระภิกษุสามเณรใดไม่มีศรัทธาตั้งใจพากเพียรแล้วยากที่จะท่องจำได้ด้วยปากเปล่า แต่หลวงปู่ท่านท่องจำได้ตั้งแต่สมัยบวชเป็นสามเณร ถือว่ามีความจำเป็นเลิศ

๏ อุปสมบท
ต่อมาใน ปี พ.ศ.๒๔๖๕ อายุได้ ๒๑ ปี จึงได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมี พระครูธรรมสังฆบาล เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายาเป็นชื่อภาษาบาลีว่า “ติสฺโส” ซึ่งแปลว่า สาม อันหมายถึง พระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั่นเอง

ในปี พ.ศ.๒๔๖๗ได้เข้าศึกษาพระปริยัติธรรม และสอบได้นักธรรมชั้นตรี ท่านเป็นผู้ไม่ประมาทในธรรม จึงเป็นปัจจัยสำคัญนำให้ท่านบรรลุความประสงค์ดังตั้งใจ

ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ เข้ากรุงเทพมหานคร และจำพรรษาอยู่ที่วัดอัมพวัน สามเสน เพื่อศึกษาต่อนักธรรมชั้นโท และท่านก็สามารถสอบผ่านได้นักธรรมชั้นโท และในเวลาเดียวกันนั้น โยมบิดาได้ถึงแก่กรรม ด้วยความเป็นผู้กตัญญูรู้คุณบุพการี หลวงปู่วรพรตวิธาน จึงได้เดินทางกลับทันที เสร็จงานโยมมารดาขอให้ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดสว่างอารมณ์ หลวงปู่จึงตัดสินใจอยู่ หลวงปู่เป็นคนมีจิตสำนึกสูงส่งท่านคงคิดว่าลาภยศชื่อเสียงเกียรติคุณนั้นมัยเป็นของลวงหลอกให้คนลุ่มหลง แต่การตอบแทนคุณบิดามารดานั้นมันเป็นแก่นแท้ของการปฏิบัติธรรม ส่วนลาภยศชื่อเสียงเกียรติคุณนั้นมันมาแล้วก็หมดไป ไม่ตายก็หาใหม่ได้ถ้ายังชอบใจที่จะหามันอยู่

หลวงปู่วรพรตวิธาน ได้จัดตั้งสำนักเรียนสอนนักธรรมตรี ขึ้นที่วัดสว่างอารมณ์ โดยท่านเองเป็นครูสอน จนทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณดังขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ และในปี พ.ศ.๒๔๗๒ ได้รับนิมนต์จากเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ดให้ไปรับตำแหน่ง ครูสอนปริยัติธรรม และตำแหน่ง เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด ท่านเก่งในการสอนทุกวิชา ไม่ว่าวิชากระทู้ ธรรมะ พุทธะวินัย

และปี พ.ศ.๒๔๗๒ นั้น หลวงปู่สอบนักธรรมชั้นเอกได้ แต่เพียงรูปเดียวเท่านั้นทั่วมณฑลอีสาน ร้อยเอ็ด รวมทั้งกาฬสินธุ์ และมหาสารคามด้วย ปิติธรรมได้เกิดขึ้นแก่วงการคณะสงฆ์ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระโพธิวงศาจารย์ แม่กองธรรมอุบล จึงได้มอบรางวัลเป็นรูปภาพของท่านไว้เป็นที่ระลึก
ฝึกฝนเป็นพระธรรมกะถึก (พระนักเทศน์)

พ.ศ.๒๔๗๓ หลวงปู่ได้ลาจากตำแหน่งเลขานุการ และการเป็นครูสอนปริยัติธรรม หลวงปู่ได้มาเรียนเทศนากับท่านเจ้าคุณกัณหา ณ วัดหนองทุ่ม อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น (เจ้าคุณกัณหา เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นในสมัยนั้น พ.ศ.๒๔๗๓) ศึกษาวิธีการแสดงธรรมด้วยปากเปล่าในเชิงแห่งเทศนาโวหาร สาธกโวหาร พรรณนาโวหาร บรรยายโวหาร เพื่อเป็นการเพิ่มพลังแห่งปัญญาบารมีของตนให้สูงขึ้น และได้เปิดทำการเรียนการสอนนักธรรมชั้นตรี โท เอก ที่วัด

ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ บ้านเมืองได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปีนั้นท่านได้รับการแต่งตั้งจากเข้าคณะจังหวัดขอนแก่นให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดจุมพล บ้านก้านเหลือง ตำบลแวงน้อย อำเภอพล จังหวัดขอนแก่นในขณะนั้น และใน พ.ศ.๒๔๗๕ นี้ เป็นปีที่ก่อตั้งวัดจุมพล ที่ชื่อว่าวัดจุมพล เพราะสถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยหนามจุมพล

พ.ศ.๒๔๘๐ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น ให้ดำรงตำแหน่งบริหารในด้านการปกครอง เป็นเจ้าคณะตำบลแวงน้อย ในเวลานั้น และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรพัดยศชั้นตรี มีพระราชทินนามว่า “พระครูวรพรตวิธาน

หลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น
หลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น

และในปี พ.ศ.๒๔๘๐ นี้ท่านได้ทำการพัฒนา บูรณะศาสนาวัตถุ ก่อสร้างอาคารอุโบสถขึ้นในบริเวณพื้นที่วัดจุมพล ท่านเป็นผู้ริเริ่มและได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และฝ่ายบรรพชิต เป็นอย่างดี ในการสร้างอุโบสถ ใช้เวลาเพียง ๓ ปีก็แล้วเสร็จ เป็นปูชนียสถาน สำหรับทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์และอุโบสถบวชนาคและอื่นๆ ตามพุทธานุญาตได้อย่างสมบูรณ์ หลวงปู่ได้ขอพระราชทาน พระปรมาภิไธยย่อของรัชกาลที่ ๘ แต่พระองค์ท่านได้พระราชทานเหรียญพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านให้แทน หลวงปู่เอาเหรียญนั้นติดไว้หน้าพระอุโบสถ ต่อจากนั้นมาหลวงปู่ได้พัฒนาวัดจุมพลมาเรื่อย ๆ สร้างศาลาการเปรียญ สร้างกุฏิสงฆ์อีก ๔ หลัง ตลอดจนวัดต่างๆ ในอำเภอแวงน้อยและอำเภอพล

พ.ศ.๒๔๙๙ ได้รับนิมนต์ให้ไปสร้างอุโบสถทรงไทยหลังหนึ่งที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
พ.ศ.๒๕๐๐ ได้สร้างอุโบสถ ที่วัดหนองแวงห้วยทราย ตำบลแวงน้อย อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น และวัดบ้านหัวหนองแวง อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด อุโบสถสองหลังสร้างเสร็จภายในเวลา ๓ ปี คือ ปี พ.ศ.๒๕๐๓ และท่านได้สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ที่วัดบ้านน้ำอ้อม

พ.ศ.๒๕๐๕ สร้างอุโบสถที่วัดบ้านโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี และที่วัดบ้านตูมกลาง อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี และสร้างศาลา กุฏิสงฆ์ ให้กับวัดบ้านหนองทุ่ม ตำบลเก่างิ้ว อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น

หลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น
หลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น

พ.ศ.๒๕๑๐ สร้างอุโบสถ สร้างศาลาการเปรียญ ให้แก่วัดบ้านโนนทอง ตำบลแวงใหญ่ อำเภอพล และสร้างอุโบสถหลังใหม่ สร้างฌาปนกิจสถาน ให้แก่วัดสว่างอารมณ์ บ้านน้ำอ้อม และได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่และกุฏิหลังใหญ่ที่วัดจุมพล ไปพร้อมๆกัน และในปีต่อมาได้สร้างอุโบสถที่วัดบ้านท่านางแนว จังหวัดขอนแก่น อีกหนึ่งหลัง และสร้างให้แก่วัดบ้านโนนแต้ จังหวัดชัยภูมิ สร้างศาลาการเปรียญหลังหลังใหญ่ให้แก่วัดบ้านอีโล วัดบ้านแวงน้อย และสร้างอุโบสถให้แก่วัดบ้านโคกสี อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น สร้างศาลาการเปรียญที่วัดบ้านหนองสะแบง อำเภอแวงน้อย สร้างกุฏิ ๒ หลัง ที่วัดบ้านอีด่อน อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด สร้างพระอุโบสถที่วัดบ้านดอนหัน อำเภอแวงใหญ่ นอกจากนี้ท่านยังสร้างโรงเรียน สร้างสถานีอนามัย ศาลาท่าน้ำ ฝายน้ำล้นที่บริเวณภูระงำ จากความเมตตาค้ำจุนโลกของหลวงปู่จึงได้มีคำเยินยอจากคุณ วินัย คล่องขยัน แห่งนิตยสาร นะโม

เมื่อวันที่ ๑๙ เดือน มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอแวงน้อย
วันที่ ๕ เดือน ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๐ มหาเถรสมาคมมีมติให้เลื่อน พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น ตำแหน่ง เจ้าคณะอำเภอชั้นเอกเป็นชั้นพิเศษ

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า หลวงปู่วรพรตวิธาน ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในทุกรูปแบบเป็นพระมหาเถระที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใสมากเอาใจใส่ในด้านการปกครอง การศึกษาอบรม การประพฤติ ปฏิบัติ การอบรมวิปัสนากรรมฐาน เป็นผู้นำทางขนมธรรมเนียมประเพณีอันดีงามถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ชักนำให้เกิดประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น เป็นบุคคลตัวอย่าง เป็นแม่พิมพ์ที่ควรทำตาม และสมควรที่จะยกท่านขึ้นเป็นปูชนียบุคคลที่เป็นแนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติตาม หลวงปู่มีความห่วงใยประชาชนในท้องถิ่นและทั่วไป เพื่อการอยู่ดีกินดีของประชาชนในท้องถิ่น อย่างเช่น ชักชวนแนะนำขอร้องให้ประชาชนไปปิดกั้นฝายใหญ่ที่ภูกระแต เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ หลวงปู่ได้ซื้อที่นาเพื่อให้เป็นแหล่งพักน้ำ เพื่อระบายสู่หนองวัดหนองบ้าน

หลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น
หลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น

๏ พระธรรมกะถึกชื่อดัง
หลวงปู่มีความเก่งทางสาธกโวหาร ยกนิทานมาเล่าได้กินใจมากๆ หลวงปู่จะเล่านิทานประกอบให้ผู้ฟังรู้สึกสนุกสนานมาก เรื่องที่มักนำมาเทศนาให้คนฟังอยู่เสมอจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโทษภัยของอบายมุขว่ามันเป็นอย่างไร จะได้พากันเกิดการเรียนรู้เปลี่ยนแปลพฤติกรรมทางกายวาจาใจ ไม่ให้ตกเป็นทาสของอบายมุข

๏ อารมณ์กรรมฐาน
หลวงปู่เป็นคนทำอะไรทำจริง ชอบคนขยันเข้มแข็ง ยิ่งสู้ตายยิ่งทหารทำงานเพื่อนชาติแล้วท่านยิ่งชอบ ท่านตอบสนองคุณต่อสังคมประเทศชาติด้วยการแจกวัตถุมงคลแคล้วคลาดภยันตรายในสมรภูมิเกาหลี เวียดนาม ลาว มาแล้วอย่างภาคภูมิ

๏ ศึกษาวิชาอาคม
หลวงปู่ท่านเป็นผู้มีวิชาอาคมขลังมาก ได้เรียนวิชาอาคมมาจาก ๕ อาจารย์ด้วยกัน อาจารย์ท่านแรกเป็นฆราวาส คือ หลวงศรีธรรมศาสตร์ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เมื่อเรียนจบได้เดินทางไปศึกษาวิชาอาคมจากพระอาจารย์ขัน วัดบ้านท่าสะแบง ตำบลมะบ้า อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด พระอาจารย์ขัน วัดท่าสะแบงนี้ท่านเป็นผู้มีวิชาอาคมรูปหนึ่งในภาคอีสานในสมัยนั้นไม่ว่าจะเป็นวิชาอาคมทางด้านเมตตามหานิยม, คงกระพันชาตรี, แคล้วคลาด, มหาอุด ป้องกันขับไล่คุณไสย ภูติผีปีศาจ หลวงปู่วรพรตได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมจนหมดแล้วหลวงปู่ก็ได้ไปศึกษากับอาจารย์บ้านฟ้าเหลี่ยม (หลวงปู่โส วัดบ้านฟ้าเลื่อม) อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด เกจิอาจารย์ดังรูปหนึ่งในสมัยนั้น หลังจากนั้นได้ไปศึกษากับ หลวงปู่ชม ฐานธัมโม แห่งวัดกู่พระโกนา อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของท่าน หลวงปู่ชมรูปนี้ท่านมีวิชาอาคมแก่กล้าสามารถมาก มีอิทธิปาฏิหาริย์นานัปการ หลวงปู่ท่านได้ศึกษาวิชาอาคม และวิปัสนากัมมัฏฐานอยู่ ๒ ปี ก็ได้กราบลาหลวงปู่ชม กลับวัดจุมพล
พ.ศ.๒๔๗๙ หลังจากที่ท่านได้เล่าเรียนวิชาอาคมจากพระอาจารย์ต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านได้ออกเดินธุดงค์ไปกับ หลวงพ่อผาง จิตฺตคุตฺโต และได้แยกทางกันที่อำเภอมัญจาคีรี จากนั้นหลวงปู่วรพรต ได้เดินผ่านดงพญาเย็น-พญาไฟ ผ่านไปประเทศลาว พม่า เขมร เรื่องราวตอนที่ท่านเดินธุดงค์ไปนั้นมีมากมาย แต่ท่านก็ผ่านอุปสรรคนั้นมาได้
อภินิหารเหยียบรถกระดกขึ้น

หลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น
หลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น

หลวงปู่วรพรต ได้แสดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏแก่สายตาของผู้คนเป็นครั้งแรก คือ เรื่องหลวงปู่เหยียบรถกระดก(ลอยขึ้น) เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ หลวงปู่จะออกเดินทางจาก อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ด้วยรถโดยสาร เพื่อจะไปจังหวัดร้อยเอ็ด รถคันที่หลวงปู่จะขึ้นเป็นรถสองแถวขนาดใหญ่ ตามธรรมดาโดยทั่วไปแล้ว พระเณรจะต้องนั่งด้านหน้าติดกับคนขับ เพื่อจะได้ไม่ปะปนกับผู้โดยสารคนอื่น แต่รถคันนี้มีผู้หญิงนั่งเต็มอยู่ด้านหน้าแล้ว ด้านหลังรถยังพอมีที่นั่งได้ คนขับรถจึงบอกให้หลวงปู่ขึ้นทางท้ายรถ หลวงปู่ก็ได้ปฏิบัติตาม แต่ก่อนจะขึ้นรถหลวงปู่ได้พูดกับคนขับรถว่า “โยม รถจะไม่เดี่ยงหรือ” (เดี่ยง เป็นภาษาไทยอีสานแปลว่า “กระดก”) คนขับก็บอกว่า “หลวงพ่อนิมนต์ก้าวเหยียบขึ้นได้เลย รถมันไม่เดี่ยงหรอกเพราะรถรับน้ำหนักได้หลายตัน” พอคนขับพูดจบ หลวงปู่ก็ก้าวเท้าขึ้นรถ ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นทันที ด้านหน้ารถลอยขึ้น คนขับรถเห็นเช่นนั้นถึงกับตกตะลึงจึงกราบนิมนต์หลวงปู่มานั่งด้านหน้า โดยให้พวกผู้หญิงไปนั่งด้านหลัง ตั้งแต่นั้นมาสมญานาม “หลวงปู่วรพรตเหยียบรถเดี่ยง” จึงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป

หลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น
หลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น

๏ มรณภาพ
หลวงปู่วรพรตวิธาน ท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒๐ เดือน พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๔ ณ วัดจุมพล ตำบลก้านเหลือง อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น รวมสิริอายุได้ ๑๐๑ ปี

สรีระสังขารอันอมตะ หลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น
สรีระสังขารอันอมตะ หลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น

๏ ด้านวัตถุมงคล
หลวงปู่วรพรตวิธาน วัดจุมพล ท่านได้สร้างวัตตถมงคลไว้มากมายหลายรุ่น ซึ่งแต่ละรุ่นล้วนมีประสบการณ์มากมาย โดยวัตถุมงคล ที่ท่านดำริสร้างไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงหลวงปู่ท่านแล้ว ถึงจะไม่โด่งดังคับประเทศแต่ก็เป็นที่รู้จักของคนส่วนใหญ่ ในแถบภาคอีสานและภาคใต้บางส่วน ก็เพราะเป็นความประสงค์ของหลวงปู่ท่าน โดยท่านให้เหตุผลว่า “จะโด่งดังไปทำไม เราไม่อยากให้คนอื่นมาใช้เราทำโน่นทำนี่

เหรียญรูปไข่ รุ่นแรก หลวงปู่วรพรตวิธาน วัดจุมพล ขอนแก่น ปี2504
เหรียญรูปไข่ รุ่นแรก หลวงปู่วรพรตวิธาน วัดจุมพล ขอนแก่น ปี2504
เหรียญกลม รุ่นแรก หลวงปู่วรพรตวิธาน วัดจุมพล จ.ขอนแก่น ปี2504 กะไหล่เงิน
เหรียญกลม รุ่นแรก หลวงปู่วรพรตวิธาน วัดจุมพล จ.ขอนแก่น ปี2504 กะไหล่เงิน
เหรียญกลม รุ่นแรก หลวงปู่วรพรตวิธาน วัดจุมพล จ.ขอนแก่น ปี2504
เหรียญกลม รุ่นแรก หลวงปู่วรพรตวิธาน วัดจุมพล จ.ขอนแก่น ปี 2504
เหรียญกลม รุ่น๒ หลวงปู่วรพรตวิธาน วัดจุมพล จ.ขอนแก่น ปี2510
เหรียญกลม รุ่น๒ หลวงปู่วรพรตวิธาน วัดจุมพล จ.ขอนแก่น ปี 2510
เหรียญกลม รุ่น๒ หลวงปู่วรพรตวิธาน วัดจุมพล จ.ขอนแก่น ปี2510
เหรียญกลม รุ่น๒ หลวงปู่วรพรตวิธาน วัดจุมพล จ.ขอนแก่น ปี 2510
พระสมเด็จ7ป่าช้า หลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น
พระสมเด็จ7ป่าช้า หลวงปู่พระครูวรพรตวิธาน วัดจุมพล อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น