ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ธีร์ เขมจารี
วัดมิ่งเมืองพัฒนาราม อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น
พระมงคลวราจารย์ (หลวงปู่ธีร์ เขมจารี) วัดมิ่งเมืองพัฒนาราม พระเกจิอาจารย์ชื่อดังทางด้านเครื่องรางของขลังและวัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองขอนแก่น
๏ ชาติภูมิ
พระมงคลวราจารย์ (หลวงปู่ธีร์ เขมจารี) นามเดิมชื่อ “ธีร์ คำใสขาว” เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๕๓ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีจอ ณ บ้านกระจาย ต.น้ำคำ (ต.หนองหมื่นถ่าน ในปัจจุบัน) อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด บิดาชื่อ “นายจันทา” และมารดาชื่อ “นางบับ คำใสขาว”
๏ การศึกษาเบื้องต้น
ในช่วงวัยเยาว์ได้เข้าศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย ก.ข. ที่โรงเรียนบ้านกอก ต่อมาย้ายกลับมาเรียนที่โรงเรียนบ้านกระจาย อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓
๏ การบรรพชา
บรรพชาเมื่ออายุครบ ๑๖ ปี นายธีร์ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๙ ณ วัดโพธิ์ศรี บ้านกระจาย อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด โดยมีพระใบฎีกาหล้า เจ้าคณะอำเภอสุวรรณภูมิ เป็นพระอุปัชฌาย์
ด้วยจิตใจที่ฝักใฝ่ในการศึกษาพระปริยัติธรรม จึงย้ายไปอยู่จำพรรษาที่ วัดราศีไศล บ้านฟ้าเลื่อม ต.หน่อม อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด โดยมี หลวงปู่ญาครูเฒ่าโส ธมฺมปาโล เป็นพระอาจารย์ใหญ่ และพระอาจารย์เมืองกับพระอาจารย์สอน เป็นพระอาจารย์ถ่ายทอดวิชาความรู้ สวดมนต์น้อย มนต์กลาง มนต์หลวง และมูลกัจจายน์
๏ อุปสมบท
กระทั่งอายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ จึงได้เข้าพิธี อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๒ ณ พัทธสีมาวัดราศรีไสล บ้านฟ้าเลื่อม ต.หน่อม อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด โดยมี ครูบาเฒ่า หรือ หลวงปู่ญาครูโส ธมฺมปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูขันตี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระครูจำปา เป็นพระอนุสาวาจารย์ ได้รับฉายาว่า “เขมจารี”
๏ การศึกษาพระปริยัติธรรม
ภายหลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้ขอย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านพันขาง ต.บ้านเขวา อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อศึกษามูลกัจจายน์
- พ.ศ.๒๔๗๕ ศึกษาบาลีไวยากรณ์ ที่วัดบ้านเค็งใหญ่ อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี
- พ.ศ.๒๔๗๗ ย้ายไปเรียนนักธรรมบาลี ที่วัดบางกะจะ ต.สำเภาล่ม จ.พระนครศรีอยุธยา
- พ.ศ.๒๔๗๘ ย้ายไปอยู่ที่วัดหงส์รัตนาราม ต.วัดอรุณ อ.บางกอกใหญ่ จ.ธนบุรี
- พ.ศ.๒๔๘๑ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก ที่สำนักเรียนวัดศรีนวล อ.เมือง จ.ขอนแก่น
เมือปี พ.ศ.๒๔๗๙ การศึกษาปริยัติธรรมขั้นสูงไม่สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม เมื่อการศึกษาพระปริยัติธรรมชั้นสูง ไม่สำเร็จตามความตั้งใจไว้แต่เดิม ประจวบกับกลับมาเยี่ยม และรักษาพยาบาลโยมบิดา-โยมมารดาบังเกิดเกล้า
ท่านจึงได้มุ่งมั่นความเพียรในการปฏิบัติธรรม และศึกษาพระเวทวิทยาคม กับ หลวงปู่ญาครูเฒ่าโส ธมฺมปาโล อย่างจริงจัง ตลอดจนได้นำเอาวิชาความรู้แขนงต่างๆ ที่เคยร่ำเรียนออกมาใช้ในทางปฏิบัติ ทั้งการสอน การปกครอง การสาธารณูปการ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งหมดล้วนแต่เป็นงานที่จำเป็นต้องทำและรับผิดชอบมากขึ้น
ช่วงที่หลวงปู่กลับมาเยี่ยมบ้าน และอยู่ปรนนิบัติโยมพ่อโยมแม่ท่านในยามป่วยนี้ ความตั้งใจเดิมท่าน ก็หลังจากโยมทั้ง สอง อาการดีขึ้นแล้ว หลวงปู่ท่านจะกลับไปเรียนปริยัติธรรมต่อที่กรุงเทพฯ
หลังจากโยมทั้งสองของท่านอาการดีขึ้นแล้ว หลวงปู่ท่านเดินทางไปกราบเยี่ยมพระอุปัชฌาย์หลวงปู่ญาครูเฒ่าโส ที่บ้านฟ้าเลื่อม แล้วได้กราบเรียนท่านว่าจะกลับไปเรียนพระปริยัติธรรมต่อที่กรุงเทพฯ องค์พระอุปัชฌาย์ใดฟังก็นิ่งไปพักหนึ่งแล้วตอบกลับเชิงสั่ง หลวงปู่กลับว่า ไม่ต้องไปแล้วกรุงเทพฯให้อยู่กับท่านที่นี้ ปริยัติธรรมถ้าอยากเรียนท่านจะสอนให้เอง หลวงปู่จึงต้องอยู่กลับหลวงปู่ญาครูเฒ่า ในช่วงแรกๆนี้หลวงปู่ท่านก็นึกแคลงใจในองค์พระอุปัชฌาย์ท่านว่า ท่านไม่ได้เป็นมหาเปรียญ จะมีความรู้ด้านบาลีสอนท่านได้อย่างไร
รุ่งเช้าของวันรุ่งขึ้น หลวงปู่ท่านได้ลงไปฉันจังหันที่ศาลารวมกับหลวงปู่ญาครูเฒ่า และพระเณรในวัด วันนี้นั้นหลวงปู่ญาครูเฒ่าฉันเสร็จ ท่านมองมาที่หลวงปู่ธีร์ แล้วชี้นิ้วมาที่บาตรของท่าน เชิงสั่งหลวงปู่ให้รับบาตรของท่านไปดูแลจัดการต่อไป แล้วองค์พระอุปัชฌาย์ท่านก็ลุกจากที่ฉันไป
ระหว่างท่านเดินลงจากศาลาที่ฉันไปนั้นหลวงปู่ท่านมองตามไปอยู่นั้นก็เห็นร่างของพระอุปัชฌาย์กรายเป็นเสือโคร่งรายพาดกร ตัวใหญ่เดินลงศาลาไป หลวงปู่ท่านจึงรีบนำบาตรท่านไปล้างและตามท่านไปที่กุฏิ เพื่อกราบขอขมาที่คิดประมาทในองค์ท่าน และหลวงปู่ญาครูเฒ่าโส ได้ไห้โอวาทแก่หลวงปู่ว่า “พระสงฆ์ที่ไปเรียนปริยัติธรรม บาลี เป็นมหานั่นก็ด้วยมุ่งหวังเป็นเจ้าเป็นนายคน ซึ่งวาสนาทางนี้ท่านก็พอมีอยู่ ไม่ต้องไปเรียนก็ได้เป็น แต่วิชาที่จะรักษาความเป็นพระ คือ พระกรรมฐานและการสงเคราะห์ญาติโยมเพื่อดำรงความเป็นพระไว้เพื่อสร้างบารมีต่อไปนี้สำคัญว่า ซึ่งองค์ท่านจะสอนให้”
หลังจากนั้นหลวงปู่ธีร์ ท่านก็อยู่ศึกษากับองค์หลวงปู่ญาครูเฒ่าโส เรื่อยมา
๏ ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ.๒๔๘๒-๒๔๙๑ เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี อ.เมืองขอนแก่น
พ.ศ.๒๔๙๑-๒๔๙๓ เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง บ้านกงกลาง อ.หนองเรือ
พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นเจ้าคณะตำบลโนนทันเขต ๒
พ.ศ.๒๔๙๔ เป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าคณะอำเภอภูเวียง
พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองพัฒนาราม
พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอภูเวียง
๏ ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ.๒๔๘๕ ได้รับแต่งตั้งพระฐานานุกรมของพระราชสารมุนี อดีตเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น
พ.ศ.๒๕๑๒ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ
พ.ศ.๒๕๔๔ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระมงคลวราจารย์”
หลวงปู่ธีร์ เขมจารี ท่านได้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บรรดาคณะศิษยานุศิษย์ ดังเช่น การตื่นเวลาตี ๔ ทำวัตรภาวนาสาธยายพุทธมนต์ แผ่เมตตาเป็นเวลา ๑ ชั่วโมง ตี ๕ ตีสัญญาณระฆัง ทำวัตรร่วมกับพระภิกษุ-สามเณร ก่อนออกรับบิณฑบาต ดังนี้แล
๏ มรณภาพ
หลวงปู่ธีร์ เขมจารี ได้ละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา ๒๔.๐๐ น. ของวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ณ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น หลังเข้ารับการรักษาอาการโรคปอดติดเชื้อ มาตั้งแต่ช่วงกลางปี พ.ศ.๒๕๔๙
วงการสงฆ์ต้องสูญเสียพระเถระรูปสำคัญผู้บำเพ็ญคุณูปการต่อชาวเมืองขอนแก่นมาอย่างยาวนาน ด้วยความอุตสาหวิริยะ เหลือทิ้งไว้แต่ผลงานอันทรงคุณค่าที่อุทิศให้แด่พระพุทธศาสนา เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำไว้เบื้องหลัง
ทั้งนี้ ทางวัดและคณะศิษยานุศิษย์ได้จัดงานบำเพ็ญกุศล ณ ศาลาการเปรียญวัดมิ่งเมืองพัฒนา อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น และตั้งศพให้ญาติโยมทั่วไปได้กราบไหว้ พร้อมทั้งสวดพระอภิธรรมศพ จนครบ ๑๐๐ วัน ก่อนทำพิธีพระราชทานเพลิงศพต่อไป
ทุกวันนี้แม้สังขารหลวงปู่ธีร์จะดับสูญ แต่คุณงามความดียังคงปรากฏไพศาล
● ด้านวัตถุมงคล
พระเครื่องวัตถุมงคลของหลวงปู่ธีร์ที่โด่งดัง ท่านได้สร้างตะกรุด นั่งแผ่เมตตาโดยการเขียนลงยันต์ ตะกรุด ในแผ่นทอง ผ้า แผ่นหินหรือกระเบื้อง รวมทั้งการฟั่นปลุกเสกด้ายสายสิญจน์เพื่อผูกแขนและคอ เด็กผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชายทุกวัย หรือนำไปติดเสาติดฝาเรือนชาน ร้านค้า รถยนต์พาหนะ หรือฝังไว้ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อป้องกันอาถรรพ์ภูตผีปีศาจ
ขณะเดียวกัน หลวงปู่ยังเสกน้ำพระพุทธมนต์มอบให้ผู้เจ็บป่วยเป็นไข้ที่มาพึ่ง บารมีธรรมได้นำไปดื่มกินหรืออาบ เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
ในยามว่างของหลวงปู่ธีร์ ท่านมักจะทุ่มเทชีวิตจิตใจทั้งชีวิตในการสะสมพระเครื่อง ทั้งพระรุ่นเก่า พระใหม่ พระบูชา พระพุทธรูปปางต่างๆ โดยจะนั่งพินิจพิเคราะห์และเก็บสะสมไว้จนนับไม่ถ้วน รวมไปถึงของเก่าของโบราณวัตถุต่างๆ มากมาย ที่เป็นมรดกอารยธรรมภูเวียง อาทิ ระฆัง ฆ้อง หม้อ จาน ถ้วย โถ โอ ชาม ขันหมาก ถาด ไหดิน หิน เงินทอง สำริด จนต้องมีการสร้างเก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ในที่สุด