ประวัติและปฏิปทา
พระอุปัชฌาย์วงค์ พรหมฺสโร
วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
พระอุปัชฌาย์วงค์ พรหมฺสโร วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ ตําบลชีทวน อําเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
● ชาติภูมิ
พระอุปัชฌาย์วงค์ พรหมฺสโร เกิดปี พ.ศ.๒๔๐๗ ณ บ้านชีทวน ตําบลชีทวน อําเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อ “นายคูณ” และมารดาชื่อ “นางศรีสอง” มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ๗ คน ดังนี้
๑. นางบัวพันธ์ ประสานวรรณ (ถึงแก่กรรมยังเยาว์)
๒. นายวงค์ ประสานวรรณ
๓. นายเคน ประสานวรรณ
๔. นายเถื่อน ประสานวรรณ
๕. นางวันทอง ประสานวรรณ
๖. นายเพ็ง ประสานวรรณ
๗. นางกองศรี ประสานวรรณ
ปัจจุบันเสียชีวิตหมดแล้ว
● การบรรพชา
ในปี พ.ศ.๒๔๒๕ อายุได้ ๑๘ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ ตําบลชีทวน อําเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
● การอุปสมบท
ในปี พ.ศ.๒๔๒๘ อายุได้ ๒๑ ปี ได้รับการอุปสมบท ณ วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ ผู้นั่งอุปัชฌาย์สังฆพินิจ เป็นพระอุปัชฌาย์จารย์ อาจารย์สวดชื่อ “เคน” ทั้งสองรูปอายุพรรษาระหว่าง อุปสมบทได้ ๖๕ พรรษา
● การศึกษา
เมื่อสมัยยังเยาว์วัย โรงเรียนในท้องถิ่นยังไม่มีโรงเรียนแห่งแรกของท่านจึงอยู่ที่วัด และศึกษาเล่าเรียนด้วยตนเอง จากหนังสือไทยเดิม (ไทยน้อย) ลาว สามารถศึกษาเล่าเรียน จนอ่านออกเขียนภาษาไทยได้ ศึกษาเล่าเรียนจากหนังสือขอม มูลกระจาย เจ็ดตำนาน สิบสองตํานาน ท่องบ่นคัมภีร์ธรรมวิปัสนากรรมฐานจนแตกฉาน
● หน้าที่การงาน
ในปี พ.ศ.๒๔๔๕-๒๔๙๒ เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ (อุปสมบทได้ ๒๐ พรรษา)
ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ เป็นรองอุปัชฌาย์พิมพ์ นั่ง ๕ ตําแหน่ง (อุปสมบทได้ ๒๕ พรรษา)
ในปี พ.ศ.๒๔๕๕ เป็นอุปัชฌาย์ นั่งปกครอง ๕ ตําบล
– ตําบลชีทวน ตําบลท่าไห ตําบลหัวดอน อําเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
– อําเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ มีบ้านหนองแวง บ้านนาคํา บ้านป่าข่า บ้านหนองมุก บ้านทุ่ง รวม ๒ ตําบล
● งานเพื่อชาติภูมิและเกียรติประวัติดีเด่น
ท่านพระอุปัชฌาย์วงค์ พรหมฺสโร ซึ่งมีชาติภูมิ ณ บ้านชีทวน ตําบลชีทวน อําเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ได้ช่วยเหลือ บูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม และสร้างสรรค์ความเจริญในด้านต่างๆ ให้แก่ชาติภูมิ ดังนี้
๑. เป็นนักบริหารและนักพัฒนา เช่น สร้างกําแพงรอบวัด ตัดถนน ขุดบ่อ ทําศาลากลางบ้าน ศาลาพักร้อน ศาลาริมท่าน้ำ เพื่อให้คนเดินทางไปมา ได้นั่งพักพิง ทําท่าน้ําริมแม่น้ำชี จัดให้มีการแข่งขันเรือพายเป็นสนามใหญ่คู่กับ จังหวัดอุบลราชธานี ทําให้ตําบลชีทวนสมัยนั้น มีความเจริญทั้งทางโลก ทางธรรม ได้ชื่อว่าเป็นบ้านของ นักปราชญ์ ถนน ศาลา ท่า บ่อน้ำ เกือบทุกแห่งจะมีชื่อว่า ญาพ่อท่าน ลงท้ายเสมอ ปัจจุบันถาวรวัตถุบางอย่างก็ชํารุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ต้องไต่ถามคนเฒ่าคนแก่ อาจได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์
๒. เป็นปราชญ์และนักปกครอง สามารถปกครองดูแลพระภิกษุ สามเณร ในเขตรับผิดชอบให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในขอบข่ายของพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ทุกปีจะมีพิธีกรรมตามชายป่า ทําสังฆกรรมร่วมกันทุกปี ทําให้พุทธศาสนิกชนเกิดความเคารพเลื่อมใส ยําเกรงในตัวท่านเป็นอย่างมาก
๓. เป็นนักศิลปกรรม วิจิตรกรรม สร้างกุฏิ ภาพเวสสันดรชาดก หล่อ พระพุทธรูปและระฆังทอง สร้างพระอุโบสถ เฉพาะธรรมาสน์ตั้งสิงห์ ซึ่งมีลวดลาย วิจิตรพิสดาร สร้างขึ้นในราว พ.ศ.๒๔๖๘-๒๔๗๐ ใช้เวลาก่อสร้างอยู่ถึง ๓ ปี จึงแล้วเสร็จ ออกแบบและดําเนินการสร้างโดยช่างชาวญวน ชื่อ เวียง การตกแต่งภายใน และรายละเอียดต่างๆ ท่านพระอุปัชฌาย์วงค์ ทําด้วยตนเอง โดยมีลูกมือเป็นพระภิกษุ สามเณร ที่บวชเรียนอยู่กับท่าน ปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานวัตถุของกรมศิลปากรเรียบร้อยแล้ว
๔. เป็นผู้ถือเคร่งยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณ เคร่งต่อฮีต ๑๒ ครอง ๑๔ ถือฤกษ์ยามและพิธีการในการประกอบพิธีสําคัญๆ เช่น จะทําบุญปลูกบ้าน หรือ จะทําการฌาปนกิจศพ จะต้องไปหาท่านเป็นผู้กําหนด
ความสําคัญของท่านพระอุปัชฌาย์วงค์ ในขณะที่มีชีวิตอยู่ สามารถบอกกล่าวเล่าขานได้ในหมู่พุทธศาสนิกชนที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งที่เคยเป็นศิษย์ที่เคยบรรพชาเป็น ภิกษุและสามเณร เช่น พระอาจารย์บุญรอด จนฺทรํษี ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว ผู้ที่มีส่วนสําคัญในการจัดทํา เหรียญท่านอุปัชฌาย์วงค์ วัดศรีนวล รุ่นแรก ทําแจกเนื่องในงานพระไตรปิฎก จํานวน ๒,๕๐๐ เหรียญ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนท้ายของประวัติ พ่อใหญ่จารย์คําดี แสงงาม ปัจจุบัน เสียชีวิตแล้ว ซึ่งเคยบรรพชาอยู่กับท่านพระอุปัชฌาย์วงค์ ๕ พรรษา เล่าว่า..
เวลาท่านจะไปปฏิบัติกิจกรรมในชุมชน จะมีประชาชนแห่แหนหามขึ้นคานหาม มีกลดหรือสัปทนตามด้วยพัดโบก เป่าปี่หอยสังข์ ซึ่งยากที่จะมีผู้บารมีเท่ากับท่านพระอุปัชฌาย์วงค์ เวลาโกนผมจะมีผู้ชิงเอาผม ขอตัดเอาเล็บมือเล็บเท้าไปไว้บูชา คราวเก็บอัฐของท่าน จะมีผู้พยายามชิงเอาจีวร ห่อหุ้มศพของท่านไปไว้บูชา
อานุภาพและบารมีธรรมของท่านพระอุปัชฌาย์วงค์ เป็นที่เลื่องลือไปไกลยิ่งนัก แม้กระทั่งพระอาจารย์สายวิปัสนาดังๆ หลายท่านก็เคยมาสนทนาธรรมและเสด็จมานมัสการท่านถึงวัดดังเช่นในปี พ.ศ.๒๔๘๗ สมเด็จพระมหาวีรวงค์ (ติสโส อ้วน) เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดพระศรีมหาธาตุ กทม. ซึ่งชาติภูมิของสมเด็จท่านอยู่บ้านแคน ตําบลดอนมดแดง อําเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี ในปัจจุบัน ได้เสด็จมานมัสการท่านถึงวัด ในฐานะที่เคยเป็นพี่เณรร่วมสํานักเดียวกัน และในปีนั้น ได้มีการตัดถนน โดยเสด็จจากบ้านท่าวารีถึงบ้านชีทวนสายปัจจุบัน และมีชื่อว่า ถนนมหาวีรวงค์จนตราบเท่าทุกวันนี้ คุณงามความดีของท่านมีมากสุดที่จะพรรณนา
● มรณภาพ
ท่านพระอุปัชฌาย์วงค์ พรหมฺสโร มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ ด้วยโรคชรา สิริอายุได้ ๘๕ ปี โดยได้ทําการเก็บศพไว้เป็นเวลา ๑ ปี ครั้นปี พ.ศ.๒๔๙๓ พุทธศาสนิกชน ศิษยานุศิษย์ ได้ทําการฌาปนกิจศพที่เมรุกลางทุ่งใกล้บริเวณวัดทุ่งศรีวิไลในปัจจุบัน โดยมีนายช่าง ครูคําหมา แสงงาม ศิษย์เอก ซึ่งก็เป็นชาวชีทวนโดยกําเนิด ต่อมาได้ไปประกอบอาชีพอยู่ จังหวัดร้อยเอ็ด นายคําหมา แสงงาม ได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ด้านศิลปกรรมเป็นปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากสถาบันราชภัฏมหาสารคาม เป็นผู้ทํานกหัสไดลิง สูงใหญ่มาก และในการทำพิธีศพก็จัดอย่างสมเกียรติ ๗ วัน ๗ คืน มีประชาชนทุกสารทิศแห่ศพจากวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ ถึงบริเวณเมรุกลางทุ่งทางทิศตะวันตก จนถึงวัดทุ่งศรีวิไล ระยะทางยาวร่วมกิโลเมตรเศษ มีผู้คนเป็นหมื่นๆ คน ร่วมขบวนแห่ศพของท่าน นับว่าเป็นงานใหญ่ที่สุดที่มีมา จนบัดนี้ยังไม่มีเช่นคราวนั้นอีกเลย
● ประวัติเหรียญที่ระลึก
ปี พ.ศ.๒๕๓๔ ข้าพเจ้า นายอาทิตย์ ฉลวยศรี ได้เขียนจดหมายถึงนายบุญเลิศ ประสานวรรณ ซึ่งเป็นชาวชีทวน ประกอบอาชีพรับราชการที่ ศูนย์วิจัยการยางจังหวัดสงขลา ขณะนั้นให้ติดต่อและสอบถามประวัติการจัดทําเหรียญที่ระลึก ท่านพระอุปัชฌาย์วงค์ รุ่นแรก จากท่านอาจารย์บุญรอด จนฺทรํษี ซึ่งเคยบรรพชาอยู่กับ ท่านพระอุปัชฌาย์วงค์ แต่ได้ไปประกอบ อาชีพอยู่ที่ภาคใต้ จังหวัดสตูล ได้ความดังนี้
ตัวหนังสือคําว่า “วัดศรีนวล” หรือ “วัดสรีนวล” ของเหรียญรุ่นแรก ตามตัวอย่างที่เขียนให้ช่างกรมศิลปากร เขียนไปว่า “วัดศรีนวล” ทางกรมศิลปากรแก้ไขเป็นดังนี้
คําว่า “ศรี” เป็น “สรี”
คําว่า “นวล” เป็น “นวน”
และแก้ไขกันอยู่ถึง ๓ ครั้ง เป็นข้อยุติ
จึงปรากฏว่าเหรียญรุ่นแรกชื่อของวัดจะเป็นวัดศรีนวน ดังที่กรมศิลปากรแก้ไข การจัดทําทํากับช่างกรมศิลปากรจัดพิมพ์เข้าบล็อกที่โรงกลึงข้างโรงหนังศาลาเฉลิมกรุง กรุงเทพมหานคร ยันต์และอักขระปรากฏด้านหลังของเหรียญเป็นฝีมือของท่านพระอุปัชฌาย์วงค์ จัดทําเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ จํานวน ๒,๕๐๐ เหรียญ เพื่อจะแจกพุทธศาสนิกชน เนื่องในงาน เฉลิมฉลองพระไตรปิฎก ทําการปลุกเสกโดยท่านพระอุปัชฌาย์วงค์ นานถึง ๑ เดือน ก็พอดีถึงวันฉลองพระไตรปิฎกและสรงน้ำท่านพระอุปัชฌาย์วงค์ เมื่อเดือน๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปี พ.ศ.๒๔๘๙ แล้วก็เริ่มแจกตั้งแต่วันนั้น ท่านอาจารย์บุญรอด จนฺทรํษี ยังบอกถึงคาถาปลุกเสกเหรียญ ดังนี้
ให้ว่า นะโม ๓ จบ แล้วตามด้วย “นะโมพุทธายะ นะชาลิตํ เมอะมะอุ พุทโธ อะระหัง พุทโธ” ให้ว่า ๓-๗ จบ
ภาพ เหรียญรุ่นแรก พระอุปัชฌาย์วงค์ พรหมฺสโร วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ ด้านหน้า และด้านหลัง
เหรียญรุ่นที่ ๒-๓ จัดทําขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๙๓ และ พ.ศ.๒๕๒๒ ตามลําดับ โดยศิษยานุศิษย์ที่ให้ความเคารพนับถือท่านพระอุปัชฌาย์วงค์ เนื่องจากความต้องการของญาติโยม แต่ก็ได้นําเอาสิ่งที่เป็นวัตถุมงคลและส่วนที่เกี่ยวข้องกับท่านพระอุปัชฌาย์วงค์ มาผสมรวมกัน รุ่นที่ ๒ จัดทําขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๙๓ โดย ครูคําหมา แสงงาม ศิษย์เอกของท่านจะมีข้อแตกต่างที่ชื่อของวัด คําว่า “สรีนวน” จะเป็น “ศรีนวล” และก็ได้รับความนิยมเช่นเดียวกับเหรียญรุ่นแรก
● พระเจดีย์บรรจุอัฐิ
พระเจดีย์บรรจุอัฐิ เกิดจากศิษยานุศิษย์ได้รําลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ที่ท่านพระอุปัชฌาย์วงค์ ได้สั่งสมกระทําความดี แผ่เมตตาบารมี แก่เหล่าพุทธศาสนิกชนให้ประสบแต่ความสุขความเจริญ ทั้งใกล้และไกลจึงได้ก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ปี พ.ศ.๒๔๙๔
ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ ได้ก่อพระสถูปบรรจุรูปเหมือนของท่านพระอุปัชฌาย์วงค์ และนับตั้งแต่ท่านมรณภาพเป็นเวลาครึ่งศตวรรษ ประชาชน ญาติโยม พุทธศาสนิกชน ที่เคารพเลื่อมใสโดยเฉพาะชาวซีทวน ได้ร่วมรําลึกจัดงานนมัสการพระธาตุ ระหว่างเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อให้ดวงวิญญาณของท่านปกป้องคุ้มครอง ให้แคล้วคลาดภัยพิบัติ เสมือนท่านยังมีชีวิตอยู่และยึดมั่น เป็นมิ่งขวัญคู่บ้าน คู่ใจ เป็นที่พึ่งตราบเท่าทุกวันนี้ และที่อัศจรรย์แก่ผู้พบเห็นโดยทั่วไปคือ ที่บรรจุอัฐิของ ท่านอุปัชฌาย์วงค์ ในองค์พระเจดีย์จะมีความสุกใส ดั่งทองแวววับ ปราศจากคราบไคล เพราะต้องลมฝนมาเป็นเวลาครึ่งศตวรรษ นับว่าเป็นเรื่องแปลกมหัศจรรย์ เสมือนหนึ่งว่าอัฐิของท่านนั้น ปราศจากมลทิน ดั่งแก้วที่บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เป็นเครื่องเตือนสติลูกหลานบ้านชีทวนให้ตั้งมั่นอยู่แต่ในคุณงาม ความดี มีสติสัมปชัญญะ ประกอบกิจการงานสิ่งใดก็ขอให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต มีความมานะ อดทน จะได้มีความเจริญก้าวหน้าในการประกอบอาชีพและมีความสุขตามควรแก่อัตภาพ
ธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบกที่ศาลาการเปรียญ (หอแจก) วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี สร้างประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๘-๒๕๗๐ โดย พระอุปัชฌาวงค์ เจ้าอาวาสในสมัยนั้น และได้ให้ชาวญวน (ชาวเวียดนาม) ชื่อ เวียง หรือชาวบ้านเรียกว่า แกวเวียง ซึ่งมาขออาศัยอยู่ภายในวัด มาเป็นผู้สร้างธรรมมาสสิงห์ในส่วนฐานจนถึงยอดธรรมมาสน์
งานบันไดนาค รั้วกั้น พร้อมกับเสาหงษ์เป็นฝีมือของ พระอุปัชฌาวงศ์ พรหมฺ สโร เกจิอาจารย์ชื่อดัง และครูคำหมา หรือที่ผู้คนส่วนมากจะรู้จักในนาม ดร.คำหมา แสงงาม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การปั้นแกะสลัก) ลูกศิษย์เรียนวิชาศิลปะกับพระอุปัชฌาวงศ์ ในการก่อสร้างธรรมมาสน์สิงห์ฯ แสดงให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ญวณที่เข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านชีทวน แสดงให้เห็นถึงศิลปกรรมที่ใช้ในการตกแต่งธรรมมาสน์สิงห์ฯ ล้วนเป็นภาพที่มีความในเชิงสัญลักษณ์แบบพุทธศาสนานิกายมหายานแบบจีนผสมกับเรื่องราวในไตรภูมิและชาดกประกอบกัน หล่อหลอมจนเป็นงานศิลปะพื้นบ้านของอีสานอีกชิ้นหนึ่งที่มีเอกลักษณ์และมีแห่งเดียวในโลก เป็นสื่อของพุทธศาสนาตั้งแต่ตัวฐาน จนถึงตัวยอด และยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมไม้ร่วมมือและการอนุรักษ์ของชาวบ้านชีทวน อีกด้วย
ทั้งนี้วัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดในการก่อสร้างก็คือการใช้ธรรมมาสน์สิงห์ฯ ในงานบุญเทศน์มหาชาติ เท่านั้น ๑ ปี จะมีเพียงครั้งเดียว สำหรับงานประเพณีอื่นๆ จะใช้ธรรมมาสน์ตัวอื่นแทน แต่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ ชาวบ้านได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ จึงได้ช่วยกันบริจาคทรัพย์สินสมทบทุนกับกรมศิลปกร ในการบูรณะธรรมมาสสิงห์ ที่เสื่อมโทรม และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติ และด้วยเหตุนี้เองวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ จึงงดประเพณีบุญมหาชาติ โดยการเทศน์บนธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก และใช้ธรรมมาสที่เรานิยมเห็นได้ในปัจจุบันแทน
จากการอนุรักษ์ดังกล่าว “ศาลาธรรมาสน์สิงห์ วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์” ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖ ประเภท “ปูชนียสถานและวัดวาอาราม” จากสมาคมสถาปนิกสยาม