ประวัติ หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ วัดทุ่งศรีวิไล ณ บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
ตํานานที่เล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนว่า ที่วัดทุ่งศรีวิไล บ้านชีทวน อําเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี มีพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ศักดิ์สิทธิ์ล้ําค่าอยู่องค์หนึ่ง ซึ่งชาวบ้านต่างเรียกว่า “พระพุทธวิเศษ“
ตามตํานานกล่าวว่า พระพุทธรูปองค์นี้สร้างในสมัยขอม อายุประมาณศตวรรษ ที่ ๑๕ เป็นพระพุทธรูปปางนาคปก ศิลปะขอมแกะสลักด้วยศิลาแลง ขนาดหน้าตักกว้าง ๒๒ นิ้ว สูง ๓๖ นิ้ว ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า พวกขอมได้นำพระพุทธวิเศษองค์นี้ พร้อมพระพุทธรูปอีกหลายองค์ เดินทางไปสมทบในการสร้างพระธาตุพนม เมื่อมาถึงจุดอันเป็นที่ตั้งวัดทุ่งศรีวิไล ได้ทราบข่าวว่า การสร้างพระธาตุพนมได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงนําพระพุทธรูปทั้งหลายฝังดินไว้
เวลาได้ผ่านไปหลายร้อยปีสภาพภูมิประเทศได้เปลี่ยนแปลงไป บริเวณที่ตั้งพระพุทธรูปได้กลายเป็นป่า โดยมีที่นาของชาวบ้านล้อมรอบ เด็กเลี้ยงโค-กระบือ ได้อาศัยร่มเงาของป่าบริเวณนั้นเป็นที่หลบแดด และขุดคุ้ยหาอาหารจําพวกมันป่า พบเกศพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมา จึงนําเรื่องไปบอกเล่าให้ผู้ใหญ่ฟัง ชาวบ้านจึงได้พากันไปขุดค้น พบพระพุทธรูปศิลาแลงขนาดต่างๆ เป็นจํานวนมาก ชาวบ้านจึงร่วมใจกันสร้างอุโมงค์บรรจุพระพุทธรูปไว้ บริเวณนั้น เพื่อสักการะบูชา
หลายปีต่อมาอุโมงค์ชํารุดเสียหาย ชาวบ้านพร้อมใจกันสร้างโรงเรือนแล้วอัญเชิญพระพุทธรูปทั้งหมดขึ้นประดิษฐาน ต่อมาเกิดไฟไหม้ป่าลุกลามไหม้โรงเรือนด้วย เป็นเหตุให้ พระพุทธรูปทั้งหมดแตกชํารุดเสียหาย เหลือแต่พระนาคปกองค์เดียวที่ยังคงอยู่ในสภาพปรกติ ชาวบ้านได้พากันสร้างโรงเรือนใหม่แทนหลังที่ถูกไฟไหม้ต่อมาเกิดพายุลมแรงฝนฟ้าคะนอง เป็นเหตุให้ต้นมะพลับขนาดใหญ่ล้มฟาดหลังคาโรงเรือน และทําท่าจะทับพระพุทธรูปวิเศษ ชาวบ้านก็ได้แต่พากันดูไม่กล้าจะทําอะไรเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นเหตุให้หลังคาพังลงมาทับพระพุทธรูป จึงได้พากันจุดธูปบอกล่าวถึงความสิ้นหวัง และขอให้ท่านแสดงปาฏิหาริย์ช่วยเหลือองค์เอง
ปรากฏว่าเข้าวันรุ่งขึ้นชาวบ้านต่างก็พบว่าต้นมะพลับใหญ่ได้พลิกไปอีกทางหนึ่ง จึงยิ่งเป็นที่เลื่อมใสต่อชาวบ้านยิ่งนัก นอกจากนั้น หากชาวบ้านผู้ใดมีอาการเจ็บปวดตรงใดอธิษฐานและนําทองไปปิดองค์พระพุทธรูปบริเวณที่เจ็บปวดก็จะหายไปสิ้น จึงเป็นที่นับถือ ของชาวบ้านได้ปฏิบัติกันมานาน จนทองคําเปลวที่ปิดองค์พระเหลืองอร่ามไปทั้งองค์ แม้แต่แต่งงานที่ปรารถนาจะมีบุตรพากันไปอธิษฐานขอก็สมหวัง
ในวันเพ็ญเดือนห้าของทุกปี ชาวบ้านชีทวนจะจัดงานเฉลิมฉลอง ซึ่งเรียกว่า “งานปิดทองหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ” ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารเก่าแก่กว่าร้อยปี และมีพุทธศาสนิกชนหลั่งไหลไปกราบไหว้บูชากันอย่างเนืองแน่น เพื่อความเป็นสิริมงคลและความรุ่งเรืองแห่งชีวิต