วันเสาร์, 26 ตุลาคม 2567

พระหลักแก้วมหาเหวด มะเสนัย (ມະຫາເຫວດ ມະເສໄນ) วัดสีสะเกดนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

ประวัติและปฏิปทา
ยาท่านมหาเหวด

วัดสีสะเกด
นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

พระหลักแก้วมหาเหวด มะเสนัย (ມະຫາເຫວດ ມະເສໄນ) วัดสีสะเกด (ວັດສີສະເກດ)

พระหลักแก้วมหาเหวด มะเสนัย (ມະຫາເຫວດ ມະເສໄນ) หรือ ยาท่านมหาเหวด รองประธานองค์การพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ แห่ง สปป.ลาว ผู้ชี้นำกรรมาธิการเผยแผ่ศิลธรรม และปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทั่วประเทศลาว

◎ ชาติภูมิ
ยาท่านมหาเหวด (ມະຫາເຫວດ ມະເສໄນ) หรือพระหลักแก้วมหาเหวด นามเดิมชื่อ เหวด นามสกุล มะเสนัย เกิดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2481 (ค.ศ. 1938) ที่บ้านเหล่าพัฒนา อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม บิดาชื่อ สุลิ มะเสนัย และมารดาชื่อ นางดวง มะเสนัย มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 9 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 3

◎ อุปสมบท
เมื่ออายุได้ 20 ปี นายเหวด มะเสนัย ได้เข้าอุปสมบท ในพุทธศาสนา ที่พัทธสีมา วัดธาตุมงคล บ้านดอนแดง อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 (ຄ.ສ. 1958) โดยมี พระธรรมปริยัติมุนี (นวน เขมจารี) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุ จ.นครพนม เมื่อคร้้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระปรีชาญาณมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์นิกร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์บุดดี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

พระธรรมปริยัติมุนี (นวน เขมจารี ป.ธ.๖) อดีตเจ้าอาวาส วัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร จ.นครพนม
พระธรรมปริยัติมุนี (นวน เขมจารี ป.ธ.๖) อดีตเจ้าอาวาส วัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร จ.นครพนม

◎ การศึกษา
• ในปี พ.ศ. 2495 (ຄ.ສ. 1952) ได้เรียนจบชันประถมศึกษา ที่บ้านเหล่าพัฒนา อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม (บ้านเกิด)

• ในปี พ.ศ. 2501 (ຄ.ສ. 1958) หลังจากอุปสมบท เป็นพระภิกษุแล้ว ได้ศึกษาร่ำเรียนทางด้านพระปริยัติธรรม และในปีนั้นเองท่านได้เรียนจบนักธรรมชั้นตรี

• ในปี พ.ศ. 2502 (ຄ.ສ. 1959) จบนักธรรมชั้นโท ที่สำนักวัดบ้านดอนแดง บ้านดอนแดง อำเภอศรีสงคราม (ปัจจุบัน อำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม

• ในปี พ.ศ. 2503 (ຄ.ສ. 1960) เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) ที่วัดพระธาตุเชิงชุม วรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และในปีเดียวกันได้จบนักธรรมชั้นเอก พร้อมทั้ง มหาเปรียญ 3 ประโยค (ป.ธ.3) ที่สำนักวัดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

◎ หน้าที่การงาน
• ในปี พ.ศ. 2507 (ຄ.ສ. 1964) ได้เป็นครูสอน นักธรรม-บาลี ที่สำนักวัดธรรมมาวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
• ในปี พ.ศ. 2509 (ຄ.ສ. 1966) ได้ข้ามมาอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ประเทศลาวในปัจจุบัน โดยได้พำนักอยู่ที่วัดสีสะเกด เมืองจันทะบุลี นครหลวงเวียงจันทน์
• ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 – 2517 (ຄ.ສ. 1966 – 1974) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอน ที่โรงเรียนพุทธยุวชน วันอาทิตย์ ที่สำนักวัดสีสะเกด
• ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2517-2521 (ຄ.ສ. 1974-1978) เป็นครูสอนประชาศึกษา ให้ออกตนญาติโยม บ้านเชียงยืน
• ในปี พ.ศ. 2525 (ຄ.ສ. 1982) ได้เป็นอาจารย์สอน ที่โรงเรียนสร้างครู ชั้นต้น อยู่วัดสะหว่าง และ ชั้นกลาง อยู่วัดองค์ตื้อวรมหาวิหาร
• ในปี พ.ศ. 2539 (ຄ.ສ. 1996) เป็นอาจารย์สอนและได้แต่งโครงร่างหลักสูตร วิชาการทางด้านพระปริยัติธรรม สำหรับวิทยาลัยสงฆ์องค์ตื้อ วัดองค์ตื้อวรมหาวิหาร
• ในปี พ.ศ. 2543 (ຄ.ສ. 2000) ได้เปิดหลักสูตรสอนและอบรมพระธรรมกถึก ให้แก่พระสงฆ์สามเณร ในระยะเข้าพรรษาเป็นประจำทุกๆ ปี

◎ ด้านการปกครอง
• ในปี พ.ศ. 2526 (ຄ.ສ. 1983) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสีสะเกด เมืองจันทะบุลี นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
• ในปี พ.ศ. 2539 (ຄ.ສ. 1996) ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการ ฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยสงฆ์องค์ตื้อ วัดองค์ตื้อวรมหาวิหาร นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
• ในปี พ.ศ. 2541 (ຄ.ສ. 1998) ได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้ากรรมาธิการ เผยแผ่ศิลธรรม และปฏิบัติักัมมัฏฐาน ขององค์การพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว (อพส) เมืองจันทะบุลี และประธาน พสล (อพส) ตาแสงวัดจัน นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
• ในปี พ.ศ. 2548 (ຄ.ສ. 2005) ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ วิทยาลัยสงฆ์องค์ตื้อ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
• ในปี พ.ศ. 2551 (ຄ.ສ. 2008) ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาวิทยาลัยสงฆ์องค์ตื้อ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
• ในปี พ.ศ. 2553 (ຄ.ສ. 2010) ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธาน ศูนย์กลางองค์การพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว (อพส) สมัยที่ 6 ผู้ประจำการ
• ในปี พ.ศ. 2559 (ຄ.ສ. 2016) ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธาน ศูนย์กลางองค์การพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว (อพส) สมัยที่ 7 ผู้ชี้นำการงานกรรมาธิการเผยแผ่ศิลธรรม และปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทั่วประเทศลาว
• ในปี พ.ศ. 2561 (ຄ.ສ. 2018) ยาท่านมหาเหวด มะเสนัย เจ้าอาวาสวัดสีสะเกด รองประธานองค์การพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว (อพส) ได้รับ มหารัตนจารึกชื่อ หรือได้รับสมณศักดิ์ที่ “ພຣະຫຼັກແກ້ວມະຫາວໍຣະຍານາທິບໍດີ ຕຣີປິດົກຄັມພີຣະຍານ ປະຕິພານທັມມະວິພູສິດ ວິຈິດສິດທິສາສະນາຈານ (ມະຫາເຫວດ ມະເສໄນເຖຣະ) ຫຼື ພຣະຫຼັກແກ້ວມະຫາວໍຣະຍານາທິບໍດີ (ມະຫາເຫວດ ມະເສໄນເຖຣະ)

◎ ด้านศาสนวัตถุ
พระเดชพระคุณ ยาท่านมหาเหวด ได้พัฒนา ศาสนวัตถุอย่างมากมายโดยเฉพาะการก่อสร้างเสนาสนะ ถาวรวัตถุภายในวัดสีสะเกดวรมหาวิหาร ให้เจริญรุ่งเรือง ดังที่เห็นในปัจจุบัน ด้วยสติปัญญาความสามารถในการเป็นผู้นำพาสร้างสาพัฒนาศาสนวัตถุทั้งหลาย

◎ ปฏิปทา จาริยวัตร
นับตั้งแต่พระเดชพระคุณ ยาท่านมหาเหวด มะเสนัย ได้รับภาระการงานทางด้านพุทธศาสนา นับตั้งแต่เจ้าอาวาสวัดสีสะเกด เป็นอาจารย์สอน เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์องค์ตื้อ เป็นประธาน พสล (อพส) ตาแสงวัดจัน จนถึงก้าวขึ้นมารับภาระการงานทางพรุพุทธศาสนา ได้มีความเอาใจใส่และปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย อย่างเต็มความสามารถ

พระเดชพระคุณ ยาท่านมหาเหวด ท่านเป็นพระมหาเถระที่มีความขยันหมั่นเพียร และมีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีความรับผิดชอบสูง มีความเมตตาธรรมสูง มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีปิยะวาจา เป็นที่เคารพเลื่อมใสแก่ศิษยานุศิษย์ และออกตนญาติโยมทั้งหลาย ตลอดจนพุทธศาสนิกชนชาวลาวโดยทั่วไป

พระหลักแก้วมหาเหวด มะเสนัย (ມະຫາເຫວດ ມະເສໄນ) วัดสีสะเกด (ວັດສີສະເກດ)
พระหลักแก้วมหาเหวด มะเสนัย (ມະຫາເຫວດ ມະເສໄນ) วัดสีสะเกด (ວັດສີສະເກດ)

ปัจจุบัน พระเดชพระคุณ ยาท่านมหาเหวด (ມະຫາເຫວດ ມະເສໄນເຖຣະ) ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสีสะเกด (ວັດສີສະເກດ) เมืองจันทะบุลี นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ท่านมีอายุ 83 ปี พรรษา 63 (พ.ศ. 2564)