วันเสาร์, 26 ตุลาคม 2567

ยาท่านนน (ຍາທ່ານນົນ) วัดบ้านละหาโคก เมืองสองคอน แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว

ประวัติและปฏิปทา
ยาท่านนน
(ຍາທ່ານນົນ)

วัดบ้านละหาโคก
เมืองสองคอน แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว

ยาท่านนน (ຍາທ່ານນົນ) วัดบ้านละหาโคก (ວັດບ້ານລະຫາໂຄກ)
ยาท่านนน (ຍາທ່ານນົນ) วัดบ้านละหาโคก (ວັດບ້ານລະຫາໂຄກ)

ยาท่านหลักคำนนท์ (ຍາທ່ານ ຫຼັກຄຳນົນທ໌) หรือที่นิยมเรียกโดยทั่วไปคือ ยาท่านนน (ຍາທ່ານນົນ) ยอดพระอริยะสงฆ์แห่งเมืองสะหวันนะเขต อดีตเจ้าคณะเมืองสองคอน แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว

◎ ชาติภูมิ
ยาท่านนน (ຍາທ່ານນົນ) ท่านมีนามเดิมว่า ท้าวหนู หรือ นนท์ เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน 11 แรม 7 ค่ำ ปีจอ พ.ศ. 2427 (ค.ศ. 1884) เวลาจวนใกล้รุ่ง ณ บ้านท่านาเหนือ (ห่างจากบ้านหัวหาดไปทางเหนือ ประมาณ 3 กิโลเมตร) เขตตาแสงแก้งโดน เมืองสองคอน แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ยาท่านนน (ຍາທ່ານນົນ) ท่านเป็นลูกคนสุดท้อง บิดาชื่อ ท้าวเล่ว หรือ อาญญามหาราช และมารดาชื่อ นางด่อน มีพี่น้อง่วมบิดามารดาเดียวกัน 9 คน ครอบครัวของท่านประกอบอาชีพเกษตรกร ทำไร่ ทำนา ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ตามประชาชาวชนบท ซึ่งต่อมาบิดาของท่านได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่บ้านหัวหาด

◎ การบรรพชา อุปสมบท
ในวัยเด็ก ยาท่านนน (ຍາທ່ານນົນ) เวลาว่างท่านมักเข้าไปช่วยเหลืองานต่างๆ ภายในวัดหัวหาดเป็นประจำ จนมีความคุ้นเคยและสนิทสนมกับพระเณร ท่านมีความสนใจในการท่องบ่นบทตำรา และสวดมนต์ต่างๆ และท่านสามารถท่องบ่นตำรา บทสดสวด รวมถึงคัมภีร์ต่างๆได้เร็วกว่าพระเณรบางรูปอีกด้วย เนื่องจากท่านเป็นเด็กที่ใคร่รู้ มีความจำเป็นเลิศ บิดามารดาเห็นว่าท่านชอบไปในทางพุทธศาสนา จึงได้ขออนุญาตให้ท่านบวชเป็นสามเณร ในขณะมีอายุได้ 14 ปี โดยมี ยาคูลา เจ้าอาวาสวัดหัวหาด เป็นพระอุปัชฌาย์

ชีวิตในขณะเป็นสามเณร ยาท่านนน (ຍາທ່ານນົນ) ท่านชอบในการท่องบ่นตำรา บทสวดมนต์ และแปลบาลี ทั้งยังสนใจเป็นพิเศษในด้านศิลปะ การช่าง มีความคิดสร้างสรรค์ชอบคิดหรือทำสิ่งใหม่ๆ เหมือนพรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เมื่อได้ไปเห็นพุทธศิลปะ ฮูปแต้ม สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่มีลักษณะแปลกแตกต่าง ท่านมักจะจดบันทึกไว้เพื่อเรียนรู้และศึกษา ท่านยาคูลา พระอุปัชฌาย์เห็นว่า สามเณรนนท์ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในพระสูตรต่างๆ อาทิ มนต์น้อย มนต์กลาง เทศนาสังสอนออกตนญาติโยม อย่างชำนาญ รวมถึงมีฝีไม้ลายมือในทางศิลปะ และการช่าง ท่านยาคูลาจึงได้มอบหมายงานาให้แก่ ยาท่านนน (ຍາທ່ານນົນ) ผู้เป็นศิษย์คนสำคัญให้เป็นผู้สอนพระเณรแทนตนเอง

ในปี พ.ศ. 2447 (ค.ศ. 1904) ท่านมีอายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ ท่านยาคูลาผู้เป็นอาจารย์และออกตนญาติโยม จึงได้ร่วมกันจัดพิธีอุปสมบทให้แก่สามเณรนนท์ เป็นพระภิกษุ การศึกษาของท่านในตอนนั้นได้ศึกษาจนจบขั้นมนต์น้อย มนต์กลาง พระอภิธรรม ปาฏิโมกขสังวร หมายความว่าวิชาความรู้ต่างๆท่านยาคูลาพระอาจารย์ผู้เป็นอุปัชฌาย์ได้สอนให้จนหมดสิ้น

◎ ด้านการศึกษา
ในระหว่างปี พ.ศ. 2451 (ค.ศ. 1908) ได้ไปศึกษาร่ำเรียนหลักสูตร มูลเดิม หลักไวยกรณ์ กับยาท่านหอม วัดบานท่าเดื่อ ตาแสงสะบูไซ เมืองสองคอน แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว

ในระหว่างปี พ.ศ. 2455-2458 (ค.ศ. 1912 – 1915) ได้ไปจำพรรษาเรียนหลักสูตรมูลเดิม ภาษาบาลี กับยาท่านพระครูยู ที่วัดกลาง เมืองจำปาสัก หลังจากนั้นได้ค้นคว้าร่ำเรียนด้วยตัวเอง ได้จดบันทึก จารบทสวด บทพระธรรมเทศนา ลงในหนังสือผูก (ใบลาน) เพื่อใช้สำหรับสอนพระเณรและออกตนญาติโยม วิชาการช่างและศิลปะเป็นวิชาที่ท่านยาท่านนน (ຍາທ່ານນົນ) มีพรสวรรค์มาแต่กำเนิด ทั้งความคิดและการกระทำนำพาได้ผลสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์

◎ ด้านการพัฒนา
ในระหว่างปี พ.ศ. 2451 (ค.ศ. 1908) ได้นำพาออกตนญาติโยมพัฒนาและปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม สร้างศาลาโรงธรรม (หอแจก) กุฏิ ขุดบ่อ ขุดสระ ที่วัดบ้านหัวหาด (ปัจจุบันได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงแล้วโดย ยาท่านโฮม ได้เป็นผู้บูรณะสิ่งปลูกสร้างที่ผุพังไปตามกาลเวลา)

ศาลาโรงธรรม วัดบ้านหัวหาด (ຫໍແຈກ ວັດບ້ານຫົວຫາດ)
ศาลาโรงธรรม วัดบ้านหัวหาด (ຫໍແຈກ ວັດບ້ານຫົວຫາດ)

ในปี พ.ศ. 2472 – 2473 (ค.ศ. 1929- 1930) ได้นำพาพระสงฆ์ สามเณร และออกตนญาติโยมก่อสร้างพัทธสีมา ที่วัดหัวหาด ก่อด้วยดินเผา เป็นรูปวิจิตรงดงาม (สิมดังกล่าวได้ พังทลายลง พร้อมกับศาลา 2 หลัง เนื่องด้วยเกิดน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2521 (ค.ศ. 1978) หลังจากนั้นได้ก่อสร้างสิมไม้ขึ้นแทน

ในปี พ.ศ. 2474 (ค.ศ. 1931) ยาท่านนน (ຍາທ່ານນົນ) ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะเมืองสองคอน แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว พระยาหนู เจ้าเมืองสองคอน (1906-1933) พร้อมด้วยประชาชนเมืองสองคอน ได้ไปนิมนต์ยาท่านนน (ຍາທ່ານນົນ) ให้ไปจำพรรษา ณ วัดเมืองสองคอน โดยเจ้าพระยาหนูเป็นศาสนูปถัมภ์ (พ่อออกค้ำ) ยาท่านนนท่านได้นำพาออกตนญาติโยมก่อสร้างสิม ศาลาโรงธรรม (หอแจก) ก่อด้วยดินเผาที่วัดสีบุนเรือง บ้านสองคอน

ในปี พ.ศ. 2476 – 2478 (ค.ศ. 1933 – 1935) ได้นำพาญาติโยม สร้างศาลาท่าน้ำ รวม 6 หลัง และสร้างกำแพงด้วยไม้แก่น รอบวัดสีบุนเรือง บ้านสองคอน (ວັດສີບຸນເຮືອງ ບ້ານສອງຄອນ)

ในปี พ.ศ. 2479 – 2480 (ค.ศ. 1936 – 1937) ได้นำพาญาติโยมบ้านสองคอน สร้างสะพานข้ามหนองลำปะเตา (ໜອງລຳປະເຕົາ) ความยาว 120 หลา กว้าง 6 หลา ก่อสร้างด้วยไม้ หลังสร้างเสร็จได้ทำการเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่

ในปี พ.ศ. 2481 – 2482 (ค.ศ. 1938 – 1939) ได้นำพาภิกษุสงฆสามเณร และญาติโยมไปสร้างโรงทานขึ้นอีกหลังหนึ่ง ที่บ้านหนองหญ้าโนง ตาแสงบึงซ้าง เส้นทางระหว่าง บึงซ้าง ไปเมืองสองคอน

ในปี พ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939) ได้นำพาพระสงฆ์สามเณร และออกตนญาติโยม บ้านตาแหลว ตานโกน นาต้าย ตาแหลวน้อย บ้านโพนค้อ บ้านดอนแดง สร้างศาลาใหญ่ขึ้นอึกหนึ่งหลัง อยู่ที่บ้านหนองขะนูน โดยได้ตั้งชื่อว่า ศาลาสุขะสำราญหนองขะนูน เพื่อเป็นที่พักผ่อนระหว่างเดินทางตามเส้นทางที่ยาวไกล ระหว่างบ้านแก้งกอก – บ้านบึงซ้าง เมืองฟ้อง เมื่อก่อสร้างสำเร็จแล้วได้ทำการเฉลิมฉลองอย่างมโหราฬ ด้วยศาลาหลังนี้เป็นที่เหมาะสมแก่ประชาชนอย่างมากมายในเวลานั้น เพราะมีหนองน้ำอยู่ใกล้ และมีความร่ำเย็นดี

ในปี พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940) อำนาจการปกครองได้โยกย้าย ที่ว่าการเมืองสองคอน มาตั้งที่บ้านละหาน้ำ (ບ້ານລະຫານ້ຳ) และ ยาท่านนน (ຍາທ່ານນົນ) ท่านจึงได้ย้ายมาบ้านละหาน้ำ และได้นำพาสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม (โรงเรียนสงฆ์) ขึ้นที่นั้นในปีต่อมา

พระธาตุอุปมุงละหาโคก (ພະທາດອຸມຸງທີ່ບ້ານລະຫາໂຄກ)
พระธาตุอุปมุงวัดบ้านละหาโคก (ພະທາດອຸມຸງວັດບ້ານລະຫາໂຄກ)

ปี พ.ศ. 1984 (ค.ศ. 1941) เป็นปีที่ท่านยาท่านนน (ຍາທ່ານນົນ) ได้ย้ายมาจำพรรษาที่บ้านละหาโคก (ບ້ານລະຫາໂຄກ) ในเวลาต่อมาได้นำพาพระสงฆ์สามเณร และออกตนญาติโยมบ้านละหาโคก และเขตเมืองสองคอน เมืองฟ้อง เมืองจำพอน ห้วยหมื่น และอื่นๆ มาร่วมกันก่อสร้างพระธาตุอุปมุง ที่บ้านละหาโคก เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของชาวพุทธในภายภาคหน้า โดยเริ่มลงมือก่อสร้างขึ้นในวันเสาร์ เดือน 7 ขึ้น 9 ค่ำ ปมะโรง พ.ศ. 2495 (ค.ศ. 1952) และเมื่อถึงปีมะแม พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) องค์พระธาตุที่สูง 15 วา รวมทั้งยอดช่อฟ้า และวัดรอบฐานได้ 36 หลา พร้อมทั้งกำแพงชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 ได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เป็นพระธาตุที่สูงสง่า งดงามตา ดูคล้ายคลึงพระธาตุอิงฮัง (ພະທາດອີງຮັງ) และได้ทำการเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกปีในวันเพ็ญเดือนยี่ (หลังฉลองพระธาตุอิงฮัง 1 เดือน) จนกระทั่งทุกวันนี้ ส่วนการปูพื้นด้วยคอนกรีตนั้นได้สำเร็จในกาลต่อมา

(ผู้เขียนคิดว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ท่านยาท่านนน (ຍາທ່ານນົນ) ได้ย้ายจากวัดบ้านละหาน้ำ (ວັດບ້ານລະຫານ້ຳ) ซึ่งเป็นสำนักปกครองเมือง ไปก่อสร้างและพัฒนาวัดบ้านละหาโคก (ວັດບ້ານລະຫາໂຄກ) เพราะเนื่องจากว่าชาวบ้านละหาโคกเป็นญาติพี่น้องของชาวบ้านหัวหาด โดยมียาพ่อตาแสงจัน เป็นกำลังหลักผู้นำของหมู่บ้าน และเป็นผู้นำพาอุปถัมภ์ค้ำชูพุทธศาสนาวัดวาอาราม หมายความว่ายาท่านนนท์ ท่านได้นำพาสร้างวัดบ้านหัวหาด (ວັດບ້ານຫົວຫາດ) สำเร็จแล้ว ก็ควรให้พี่น้องที่อยู่ทางนี้ ได้มีความเจริญงอกงามในด้านพุทธศาสนาตามไปด้วย)

◎ กาลมรณภาพ
ในปี พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) ได้เป็นปีที่ ยาท่านหลักคำนนท์ (ຍາທ່ານ ຫຼັກຄຳນົນທ໌) ท่านได้มรณภาพลง ในวันอาทิตย์ ที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1964 ตรงกับแรม 6 ค่ำ เดือน 11 พ.ศ. 2507 สิริรวมอายุได้ 80 ปี พรรษา 60

ยาท่านหลักคำนนท์ (ຍາທ່ານ ຫຼັກຄຳນົນທ໌) ท่านได้จากโลกนี้ไปแต่ร่างกาย แต่มรดกทางพุทธศาสนาและคุณงามความดีของท่านที่สร้างไว้ให้แก่ลูกหลาน ศิษยานุศิษย์ ออกตนญาติโยมได้สักการะกราบไหว้ได้เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา และสังคมประเทศชาติ ก็ยังคงอยู่สืบไป

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากท่าน Hongheun Khounphithak