วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

เจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต (ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ) วัดเทพศิรินทร์

ประวัติและปฏิปทา
เจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต (ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ)

วัดเทพศิรินทร์
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ

เจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต (ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ) วัดเทพศิรินทร์
เจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต (ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ) วัดเทพศิรินทร์

ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ของพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นับได้ว่า เราชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนาประจําชาติ ได้สูญเสียพระมหากษัตริย์ผู้ปรีชายิ่งไปอีกพระองค์หนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ปีฉลู

แต่ชาวพุทธทุกคน ก็ได้อีกสิ่งหนึ่งมา คือ พระอริยสงฆ์ไทยนั้นคือ ท่านเจ้าคุณนรฯ หรือที่ เราเรียกตามฉายาท่านว่า ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ เพราะท่านได้อุปสมบทหน้าพระเพลิง อย่างสามัญชนเรียกว่า “บวชหน้าไฟ” และท่านได้ครองสมณเพศตลอดมาจนถึงมรณภาพ ท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุ มีนาม เดิมว่า ตรึก จินตยานนท์ เกิดเมื่อ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๐ ตรงกับวันเสาร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีระกา

ท่านเจ้าคุณนรฯ ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ ท่านเป็นบุตรคนแรกของ พระยานรราชภักดี (ตรอง จินตยานนท์) และ นางนรราชภักดี (พุก จินตยานนท์)

การศึกษา ท่านมีความสามารถพิชิตผลสอบได้ที่ ๑ ของประเทศไทย เพราะสมัยนั้นมีโรงเรียนต่างๆ มาเข้าสนามสอบรวมกันในที่เดียว ต่อมาท่านได้เป็นบัณฑิต จุฬารุ่นแรก

ความเป็นจริงท่านมีความประสงค์จะเป็นนักปกครองสืบตระกูลจากบิดา การศึกษาขั้นสูงจบบริบูรณ์ ก็มีเหตุผลักดันชีวิตไปอีกทางหนึ่ง คือ ได้มีการซ้อมรบเสือป่า ท่านต้องเข้าซ้อมรบด้วย

ท่านมีรูปร่างแบบบาง ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ จึงรับสั่งว่า “ตัวเล็กๆ อย่างนี้ ถ้านําข่าวไปแล้ว ถูกข้าศึกดักทําร้ายจะสู้ไหวหรือ” ท่านเจ้าคุณนรฯ ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ กราบบังคมทูลว่า “ต้องลองสู้กันดูก่อน ส่วนจะสู้ไหวหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง” เพียงประโยคเดียวล้นเกล้าฯ ร.๖ ทรงพอพระราชหฤทัยมาก แล้วในที่สุดท่านก็ได้รับราชการ อยู่ในพระราชวังแต่บัดนั้นมา

ในชีวิตการงานของท่านเจ้าคุณนรฯ นับได้ว่าท่านมีบารมีสูงล้ำ เพราะท่านได้เป็นพระยาพานทอง ตั้งแต่อายุเพียง ๒๕ ปีเท่านั้น จะถือได้ว่าเป็นความสําเร็จอย่างสูงสุด จะใครมีวาสนาเช่นนี้น้อยเหลือเกิน

ความจงรักภักดีของท่านนั้น “ประเสริฐยิ่ง” ตลอดเวลา ๑๐ ปี ท่านสนองพระเดชพระคุณอย่างใกล้ชิด ขณะอยู่กันเพียงลําพัง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกระแสรับสั่งว่า “ตรึก นี่เราเป็นเพื่อนกันนะ แต่เวลาออกงานออกการแล้ว เราจึงจะ เป็นเจ้าเป็นข้ากัน”

ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต ท่านได้อุปสมบทอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่ล้นเกล้าฯ ร.๖ เมื่อ วันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ณ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอุดมศีลคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระพุทธวิริยากร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ”

เมื่อบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ แล้วท่านได้หมั่นศึกษาพระธรรมวินัยด้วยดีโดยตลอดไม่เคยขาด ทําวัตรลงพระอุโบสถตลอด ๔๐ กว่าปีที่ท่านบวชมา จะมีขาดเพียง วันเดียว ด้วยอาพาธเท่านั้น

การปฏิบัติสมาธิภาวนา ท่านมีความชํานาญการดําเนินจิต เพราะท่านเคยปฏิบัติมาก่อนสมัยเป็นฆราวาส ท่านเคยไปนั่งภาวนาในป่าช้า ท่านเจ้าคุณนรฯ ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ ท่านบําเพ็ญภาวนาเสมอไม่เคยขาดใน เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ท่านอาศัยกุฏิของท่านจําพรรษานั้นเป็น สัปปายะทางใจ เมื่อจิตใจท่านสงบแล้ว ความเป็นสัปปายะย่อมเกิดมีขึ้นได้เสมอในทุกโอกาส

การเพ่งภาวนาธรรม ท่านพิจารณา “กระดูก” เพราะภายในกุฏิของท่านมีโครงกระดูกแขวนอยู่ ทําให้ท่านน้อมถึงหลักความจริงในกฎพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริง เช่นนี้แล้ว ทําให้จิตใจของท่านเข้มแข็งมั่นคงเด็ดเดี่ยว จะเห็นได้เมื่อคราวที่ท่านอาพาธ ด้วยโรคมะเร็งอย่างหนัก ท่านไม่เคยแสดงอาการอันใดให้จิตมัวหมอง ท่านอาศัยความเป็นหนึ่งแห่งภูมิจิตภูมิธรรมเท่านั้น

จิตใจที่เคลือบแฝงไว้ด้วยคุณธรรมนั้น ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ เป็นพระภิกษุผู้มีวาสนาบารมีมากองค์หนึ่ง กล่าวคือ…
ท่านมีความสนใจในเรื่องปฏิบัติภาวนากรรมฐาน ตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาส ท่านมักจะหลบหนีผู้คนเข้าหาที่อันเป็นสัปปายะ ดําเนินจิตเข้าสู่องค์สมาธิเสมอ ๆ
ในการปฏิบัติสมาธิภาวนานี้ บรรดาท่านครูบาอาจารย์ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวตักเตือนไว้ว่า การที่จะมุ่งจิตให้เข้าสู่แดนเกษมได้นั้น ต้องอาศัยความพาก เพียรและความอดทนอดกลั้นทั้งปวง

ซึ่งกระแสแห่งโลกธรรมนี้ มีกระแสพัดพาได้รุนแรงมาก ฉะนั้น ผู้จะดําเนินจิตให้ผ่านพ้น กระแสโลกที่พัดเข้ามาอยู่ตลอดเวลา ต้องอาศัยหลักนี้ เข้าฟันฝ่า โต้คลื่นโต้ลมกิเลสให้ผ่านพ้นไปจงได้ เราจะต้องอาศัยธรรมะและกําลังใจ สัจจะความจริงนี้แหละ จึงจะผ่านพ้นกระแสมันได้ จึงจะได้ชื่อว่า “เป็นบุคคลผู้ไม่มีความประมาท ที่มีการปฏิบัติธรรมเป็นต้น”

ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ (ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ) ท่านเป็นผู้ไม่ประมาทในเรื่องนี้ ท่านจะแอบไปหาสถานที่อันวิเวก นั่งสมาธิทําความสงบอยู่ในป่าช้าโดยลําพังเสมอ ๆ ท่านพิจารณาธรรมความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ว่าเป็นสิ่งธรรมดาในโลก ที่วนเวียนเปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกขณะจิต

จิตใจของท่าน นับตั้งแต่อุทิศชีวิตเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ จนได้อรรถธรรมชั้นสูง และเป็นช่วงเวลาอันยาวนานถึง ๔๖ พรรษา ท่านมิเคยว่างเว้นในการเจริญพรหมวิหารธรรม แผ่ส่วนบุญส่วนกุศลไปให้แก่บุคคลโดย เฉพาะและสรรพสัตว์ทั้งปวง ให้ได้รับความสุขความเจริญ ในทางโลกและทางธรรมอยู่เป็นนิจ

เพราะท่านได้มองเห็นทุกข์ ในหมู่สัตว์โลกโดยทั่วหน้า ดังนี้ว่า “ไม่มีความสุขใดๆ ในชีวิต ฆราวาส ที่จะไม่มีความทุกข์ ที่แทรกซ้อนอยู่ในความสุขนั้น ๆ”

วาระสุดท้ายของท่านมาถึง เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ท่านเจ้าคุณนรฯ ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ ได้ละจากโลกไปแล้ว คงเหลือไว้แต่คุณ งามความดีที่ได้กระทําไว้ทั้งทางโลกและทางธรรม

ทางโลกนั้น ท่านเป็นยอดของความกตัญญูรู้คุณ แด่ล้น เกล้าฯ ร.๖

ทางธรรม ท่านเป็นยอดของการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา และรู้แจ้งในธรรมองค์หนึ่งแห่งยุค