ประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร
กรุงเทพมหานคร
◎ ชาติภูมิ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ติสสเถระ ฉายา ติสฺโส นามเดิม อ้วน นามสกุล แสนทวีสุข เกิดวันเสาร์ที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๑๐ เวลา ๐๕.๐๐ น. ณ บ้านแคน ตำบลดอนมดแดง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือ บ้านแคน อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี) โยมบิดาชื่อ เพี้ย เมืองกลาง ตำแหน่งกรรมการเมืองอุบลราชธานี โยมมารดาชื่อ บุดสี
◎ บรรพชาและอุปสมบท
บรรพชา เป็นสามเณรสังกัดมหานิกาย เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๙ ขณะที่อายุได้ ๑๙ ปี ที่วัดสว่าง ตำบลสว่าง อำเภอวารินชาราบ จังหวัดอุบลราชธานี แล้วแปลงเป็นยุติกนิกายที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม ในปัจจุบัน) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
อุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๐ ณ พัทธสีมา วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม ในปัจจุบัน) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีท่านเทวธมฺมี (ม้าว) เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านโชติปาโล (ชา) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
◎ การศึกษาเล่าเรียน
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ได้ศึกษาเล่าเรียน หลังจากอุปสมบทแล้ว ก็ได้เล่าเรียนอักษรสมัย และพระปริยัติธรรมที่สำนักเรียนวัดศรีทอง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ในปี พ.ศ.๒๔๓๓ ได้ย้ายสำนักเข้ามาศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ โดยศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสำนักพระสาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก) สอบได้เปรียญตรีใน พ.ศ.๒๔๓๙ และสอบได้เปรียญโท ใน พ.ศ.๒๔๔๐ หลังจากนั้นก็ศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติมจนสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค
◎ ตำแหน่งหน้าที่การงาน
๑. การปกครองวัด (เจ้าอาวาส) สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสต่าง ๆ ดังนี้
พ.ศ.๒๔๔๖ เจ้าอาวาสวัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ.๒๔๗๐ เจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา จังหวัดนครราชสีมา
พ.ศ.๒๔๗๕ เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร
พ.ศ.๒๔๘๕ เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร
๒. การปกครองมณฑล ได้ดารงตาแหน่งเจ้าคณะมณฑลต่างๆ ดังนี้
พ.ศ.๒๔๔๒ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลอีสาน
พ.ศ.๒๔๔๖ ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าคณะมณฑลอีสาน
พ.ศ.๒๔๔๗ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอีสาน
พ.ศ.๒๔๕๔ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอุบลและรักษาการเจ้าคณะมณฑลร้อยเอ็ดอีกตำแหน่ง หนึ่ง (พ.ศ.๒๔๕๔ โปรดเกล้าฯ ให้แยกมณฑลอีสานออกเป็นมณฑลอุบลและ มณฑลร้อยเอ็ด)
◎ สมณศักดิ์
ได้รับสมณศักดิ์ต่างๆ ตามลำดับดังนี้
พ.ศ.๒๔๔๗ พระราชาคณะที่ พระศานดิลก
พ.ศ.๒๔๔๘ พระอุปัชฌาย์
พ.ศ.๒๔๕๔ ได้รับสมณศักดิ์พิเศษเสนอราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นราชในนามเดิม
พ.ศ.๒๔๕๕ พระราชมุนี
พ.ศ.๒๔๖๔ พระเทพเมธี
พ.ศ.๒๔๖๘ พระโพธิวงศาจารย์
พ.ศ.๒๔๗๒ พระธรรมปาโมก
พ.ศ.๒๔๗๕ พระพรมมุนี
พ.ศ.๒๔๘๒ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
พ.ศ.๒๔๘๕ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “สังฆนายก” และนับเป็นสังฆนายกองค์แรกของประเทศไทย
ในช่วงบั้นปลายของชีวิต สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ได้ย้ายไปประจำที่วัดบรมนิวาส และมรณภาพที่วัดบรมนิวาส เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๙ เวลา ๑๘.๔๕ นาฬิกา สิริอายุ ๘๙ ปี พรรษา ๖๘
◎ ผลงานเฉพาะที่สำคัญ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เป็นผู้มีผลงานโดดเด่นในหลายด้านแต่จะขอนำมากล่าวเฉพาะที่สาคัญ ดังนี้
๑. ด้านการปกครอง อันหมายถึงการปกครองวัด และการปกครองมณฑลนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ได้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ ๒ ลักษณะ คือ การปกครองวัดหรือเป็นเจ้าอาวาส รวม ๔ วัด และเป็นเจ้าคณะมณฑลอีกหลายมณฑล คือเจ้าคณะมณฑลอีสาน เจ้าคณะมณฑลอุบล เจ้าคณะมณฑลร้อยเอ็ด เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา และรักษาการเจ้าคณะมณฑลอุดร ๒ ครั้ง ในระยะแรกเมื่อมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสุปัฏนาราม เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ เป็นต้นมานั้น ได้ช่วยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสุปัฏนาราม และเจ้าคณะมณฑลอีสานวางกฎระเบียบ การปกครองวัด และมณฑลไว้เป็นหลักการในการบริหารจัดการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ต่อมา พ.ศ.๒๔๔๖ ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสุปัฏนาราม และได้ปฏิบัติหน้าที่ เจ้าคณะมณฑล (ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอีสาน เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๔๗ ขณะที่อายุเพียง ๓๗ ปี พรรษา ๑๗) สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ได้เล่าถึงปัญหา วิธีการทำงาน และผลสำเร็จ ในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามและตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอีสานไว้บางตอนว่า
“…ในชั้นแรกรู้สึกหนักใจอยู่บางประการ เพราะว่า เจ้าหน้าที่ทุกชั้นล้วนเป็นผู้มีพรรษาอายุมาก ส่วนเจ้าคณะมณฑลมีพรรษาอายุยังน้อย ทั้งท่านเหล่านั้น ยังหนักอยู่ในลัทธิธรรมเนียมที่เคยประพฤติมาแต่โบราณอีกด้วย ถึงกระนั้น ก็ไม่ทอดธุระ พยายามหาหนทางแก้ไข ด้วยธรรมิกอุบายประคองบ้าง ข่มขี่บ้าง แนะคือชี้ให้เห็นเหตุผลเพื่อให้ละส่วนหายนะ คือ เสื่อม และเพื่อให้ดำเนินตามส่วนวัฒนะ คือเจริญ แนะนำคือ มาหลีกเลี่ยงส่วนที่ผิด มาประพฤติในส่วนที่ถูก แต่หลักสำคัญที่จะให้สำเร็จประโยชน์ในการปกครองหมู่คณะนี้ อยู่ที่ทำให้มีความรักใคร่ เคารพนับถือ การที่จะให้รักใคร่เคารพนับถือนั้นต้องเพ่งมองดูบุคคล คือ ถ้าผู้ที่มีพรรษาอายุสูงกว่า ก็นับถือโดยฐานะผู้ใหญ่ไม้สูง ถ้าผู้มีพรรษาอายุเสมอกัน ก็นับถือโดยฐานมิตร ถ้าผู้มีพรรษาอายุน้อยกว่า ก็นับถือโดยฐานะศิษย์…”
เมื่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรม พระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ตรัสถามว่า “…เมื่อทราบถึงวิธีดำเนินการของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ก็ทรงชมว่า
“ปฏิปทาที่เธอดำเนินดีถูกต้อง ถ้าสมเด็จบรมพิตร (คงทรงหมายถึง พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว – ผู้เขียน) พระราชสมภารเจ้าทรงทราบ จะทรงพระกรุณาโปรดเธอยิ่งกว่านี้” นับเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง
๒. ด้านการศึกษา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เป็นผู้มีผลงานโดดเด่นทางด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก จนเป็นที่ยอมรับว่า “เป็นผู้บุกเบิกการจัดการศึกษาสาหรับทวยราษฎร์” ซึ่งขอนามากล่าวอ้างเฉพาะที่สาคัญ ดังนี้
๒.๑ การจัดตั้งโรงเรียนสำหรับทวยราษฎร์ ในขณะนั้น เรียกว่า โรงเรียนสอนหนังสือไทย ต่อมาภายหลังเรียกว่าโรงเรียนประชาบาล และเป็นโรงเรียนประถมศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มแต่การ ตั้งโรงเรียนอุบลวิทยาคมที่วัดสุปัฏนาราม เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๔๐ โดยการนาของ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันฺโท) พอถึงปี พ.ศ.๒๔๔๗ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันฺโท) ได้เข้ามาพานักที่ วัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งยังเป็นพระศาสนดิลก ได้เป็นเจ้าคณะมณฑลอีสานสืบต่อมา และได้ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยเพิ่มขึ้นอีก ๒ โรงเรียน คือ
๑) โรงเรียนพิบูลวิทยาเจริญ ที่วัดสระแก้วรังสี อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
๒) โรงเรียนพานิชผดุงราษฏร์ ที่วัดเผยกมล อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ.๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายให้มีการจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการสำรวจวัดทั่วประเทศ โดยแบ่งออกเป็น ๔ ระดับ คือ
วัดชั้นที่ ๑ ได้แก่วัดที่ได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการจัดการเรียนการสอนอย่างสม่ำเสมอและสมบูรณ์แบบ
วัดชั้นที่ ๒ ได้แก่ วัดที่ยังไม่ได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่มีการแบ่งสอนเด็กวัดที่มีอยู่เป็นหมวดหมู่ชัดเจน
วัดชั้นที่ ๓ ได้แก่ วัดที่มีการจัดการเรียนอยู่ในบางลักษณะที่เรียกว่า “ศิษย์ใครใคร่สอน”
วัดชั้นที่ ๔ ได้แก่ วัดที่ไม่มีการจัดการเรียนการสอนเลย
ผลจากการสารวจในปี พ.ศ.๒๔๕๑ พบว่า ทั่วพระราชอาณาจักรมีวัดทั้งสิ้น จำนวน ๑๒,๓๖๔ แต่เป็น
วัดชั้น ๑ เพียง ๒๓๓ วัด หรือ คิดเป็นร้อยละ ๑.๘๘ ส่วนในมณฑลอีสาน มีวัดทั้งหมดจำนวน ๒,๖๓๐ วัด ซึ่ง
มากกว่าทุกมณฑล (ทั้งหมด ๑๗ มณฑล) ทั่วพระราชอาณาจักร แต่เป็นวัดชั้นหนึ่งเพียง ๒๔ วัด คือคิดเป็น
ร้อยละ ๐.๙๑ นั้นเฉพาะในเขตเมืองอุบลราชธานี มีวัดทั้งหมด ๘๙๔ วัด เป็นวัดชั้นหนึ่ง ๑๒ วัด หรือคิดเป็น ร้อยละ ๐.๓๔ เท่านั้น
หลังจากนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ก็ได้ร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องจัดให้มี การจัดการเรียนการสอนหนังสือไทยในวัดต่างๆ ให้เพิ่มขึ้นทุกปี จนถึง พ.ศ.๒๔๕๕ เมืองอุบลราชธานี มีวัดทั้งหมด ๘๙๑ วัด เป็นวัดชั้นหนึ่งที่จัดการเรียนการสอนเป็นระบบเรียบร้อยแล้วจำนวน ๑๔๔ วัด หรือ คิดเป็นร้อยละ ๑๖.๑๖ ซึ่งนับว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นพอสมควร
พ.ศ.๒๔๕๖ โรงเรียนวัดที่สอนหนังสือไทยก็เปลี่ยนสภาพเป็นโรงเรียนประชาบาลตามโครงการศึกษา พ.ศ.๒๔๕๖ พอถึงปี พ.ศ.๒๔๖๔ รัฐบาลก็ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.๒๔๖๔ ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติฉบับแรกที่บังคับเด็กเข้าเล่าเรียน กระทรวงธรรมการได้ประกาศบังคับเด็กที่มีอายุในวัยเกณฑ์บังคับเข้าเล่าเรียนเป็นตำบลๆ ไป ในปี พ.ศ.๒๔๖๘ อันเป็นปีสุดท้ายที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) เป็นเจ้าคณะมณฑลอุบลนั้น มณฑลอุบล มี ๓ จังหวัด คือ อุบลราชธานี ขุขันธ์ และสุรินทร์ ๒๕ อำเภอ และ ๓๗๑ ตำบล ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาบังคับเด็กเข้าเล่าเรียนแล้ว ๓๖๑ ตำบล คิดเป็นร้อย ๙๗.๓๐ ซึ่งมากกว่า หลายมณฑล เพราะบางมณฑลสามารถประกาศใช้พระราชบัญญัติบังคับเด็กเข้าเล่าเรียนได้เพียง ร้อยละ ๒๐ หรือร้อยละ ๓๐ ของจำนวนตาบลทั้งหมดเท่านั้น ในทำนองเดียวกัน จำนวนโรงเรียนประชาบาลก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วดังที่ปรากฏว่า ในปี พ.ศ.๒๔๖๘ มณฑลอุบล แบ่งการปกครองเป็น ๓ จังหวัด ๒๕ อำเภอ ๓๗๑ ตำบล นั้นมีโรงเรียนประชาบาลทั้งสิ้น ๑,๗๒๘ โรง คิดเฉลี่ยตำบลละ ๔ – ๕ โรงเรียน
๒.๒ การตั้งโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑล ในปี พ.ศ.๒๔๔๙ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งยังเป็นพระศาสนดิลก ได้เป็นผู้นำในการสร้างโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลขึ้นที่วัดสุปัฏนาราม การก่อสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะขาดแคลนงบประมาณ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๕๑ กระทรวงธรรมการจึงให้เงินสนับสนุนจำนวน ๘๐๐ บาท การก่อสร้างจึงแล้วเสร็จ
โรงเรียนตัวอย่างประจามณฑลอีสานเปิดสอนในระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้พระสงฆ์และบุคคลที่เป็นครูสอนหนังสือไทยในวัดต่างๆ ได้เข้าเรียนเพื่อให้มีความรู้ความสามารถพอที่จะเป็นครูสอนในโรงเรียนที่ตั้งขึ้นในวัดต่างๆ ได้
๒.๓ ตั้งโรงเรียนสอนภาษาบาลี ตั้งโรงเรียนสอนภาษาบาลีขึ้นที่วัดสุปัฏนาราม มีพระภิกษุสามเณรเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก ทั้งภิกษุสามเณรที่อยู่ต่างมณฑลก็มาเรียนด้วย เช่น จากมณฑลอุดรธานี เป็นต้น
๓. ด้านการพระศาสนา ได้แก่
๓.๑ การอบรมสั่งสอนประชาชน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ได้กล่าวถึงผลงานด้านการอบรมสั่งสอนประชาชนไว้บางตอนว่า
“…คือการสั่งสอนอบรมประชาชนทุกเพศทุกชั้น ให้มีสันดาน ประกอบด้วย ศีลธรรม เพราะว่า บุคคลทุกหมู่เหล่า แม้จะปกครองกันเป็นหมวดหมู่และได้ศึกษาสำเหนียกจนเกิดความฉลาดรอบรู้ ถ้าไม่มีศีลธรรมประจำสันดานก็ไม่อาจตั้งตนเป็นพลเมืองดีได้ ต่อเมื่อมีการสั่งสอนอบรมให้ประกอบด้วยศีลธรรมจึงจะยังประโยชน์ปัจจุบัน และประโยชน์เบื้องหน้าให้สำเร็จได้ อาศัยเหตุผลทั้งปวงนี้เป็นที่ตั้ง เจ้าคณะมณฑลจึงได้พยายามปลุกปวงชนภาคอีสานทั้งบรรพชิตและทั้งฆราวาส อันมีสันดานหลับสนิท คือจมอยู่ในลัทธิธรรมเนียมเก่าแก่ด้วยธรรมิกอุบายนานาประการเพื่อให้ตื่นขึ้น…”
การอบรมสั่งสอนประชาชนโดยมากเป็นการแสดงธรรมเทศนาในโอกาสต่างๆ นับว่าเป็นผลงานที่โดดเด่นของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เพราะท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถสูง สานวนโวหารดี ตลอดจนปฏิภาณไหวพริบเป็นเยี่ยม
๓.๒ การเขียนหนังสือและบทความ นอกจากแสดงพระธรรมเทศนาเพื่ออบรมสั่งสอนประชาชนแล้ว ท่านก็ได้เขียนหนังสือและบทความอีกเป็นจำนวนมาก ที่มีการพิมพ์เผยแพร่ในโอกาสต่างๆ เท่าที่สืบค้นได้ในปัจจุบัน คือ
บทคัดเลือก ศิษยานุศิษย์ผู้ใช้นามแฝงว่า “แม่น้าโขง” พิมพ์ชำร่วยในการรับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ของ พระครูวิมลอุปลารักษ์ เป็น พระศรีธรรมวงศาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ.๒๔๗๘
“ตำนานวัดสุปัฏนาราม” ใน ที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมาและฉลองพระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ.๒๔๗๙
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ได้กล่าวถึงข้อเขียนและบทความของท่านว่า
“…นอกจากการพร่ำสอนแล้ว ยังได้แต่งหนังสือหลายเรื่อง อาทิ คือ เรื่อง “หลักชูชาติ” ว่าด้วยการเพาะปลูก, การช่าง, การซื้อขาย, เรื่อง “แว่นใจ” ว่าด้วยการคุ้ยเขี่ยทรัพย์ในดิน สินในน้ำ เรื่อง “สองหนุ่มน้อย” ว่าด้วยการเตือนเด็กให้รีบเร่งศึกษา แต่อายุยังเยาว์ ถ้าแก่เกินควรแล้วจะเรียนไม่สำเร็จเหมือนดินที่ปั้นหม้อ กำลังหมาดกำลังเหนียวพอดีให้รีบปั้น ถ้าทิ้งไว้ให้แห้งก็ปั้นไม่ได้ เรื่อง “สอนนายนาง” ว่าด้วยลูกอุปถัมภ์บำรุงดีในพ่อแม่ ก็เป็นบ่อให้เกิดบุญ พ่อแม่เลี้ยงดูอบรมดีในบุตรก็เป็นบ่อเกิดบุญ ผัวถนอมดีในเมีย ก็เป็นบ่อให้เกิดบุญ เมียปฏิบัติดีในผัวก็เป็นบ่อให้เกิดบุญ ทุกคนขยันหมั่นเพียรดีในหน้าที่การงาน ก็เป็นบ่อให้เกิดบุญ คือ ทรัพย์สิน เรื่อง “หลักครู” ว่าด้วยผู้เป็นครูที่จะสอนให้บุคคลต้องให้เหมาะกับพื้นภูมิของบุคคลทั่วไป เรื่อง “ผดุงชาติ” ว่าด้วยสายชาติ สายศาสนาเป็นมาอย่างไร แนะนำให้ไทยทุกหน่วยร่วมสามัคคีกันและช่วยกันผดุงชาติ ศาสนา ตามหลักการที่วางไว้ และได้แต่งเป็น พระธรรมเทศนาบ้าง เป็นโอวาทบ้าง เป็นสารคดีบ้าง เป็นบทความบ้าง … การแต่งหนังสือเหล่านี้ พิมพ์แจกจ่ายก็เพื่ออบรมบ่มนิสัยให้น้อมไปในประโยชน์ปัจจุบัน และประโยชน์เบื้องหน้าทั้งสิ้น…”
นอกจากการเขียนหนังสือและบทความต่างๆ แล้ว สิ่งที่น่าชื่นชมอีกประการหนึ่งคือ การเขียนประวัติและผลงานของท่านไว้อย่างสมบูรณ์ จากปีที่เกิดจนถึง พ.ศ.๒๔๙๘ อันเป็นปีก่อนที่จะมรณภาพไม่ถึงปี ดังจะเห็นได้ว่าประวัติและผลงานของท่านที่นำมาตีพิมพ์ในโอกาสต่างๆ เป็นประวัติและผลงานที่ท่านเรียบเรียงไว้ด้วยตนเองทั้งสิ้น ผู้จัดพิมพ์เพียงแต่เรียบเรียงเพิ่มเติมเฉพาะส่วนที่เป็นอาการอาพาธและการมรณภาพเท่านั้น
ประชุมโอวาท คณะศิษยานุศิษย์พิมพ์ถวายในงานได้รับพระราชทาน เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วันศุกร์ที่ ๑ มีนาคม ๒๔๘๒
นิพนธ์ต่างเรื่อง จอมพลสฤษดิ์ – วิจิตรา ธนรัชต์ พิมพ์น้อมถวายเป็นสักการะในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ณ วัดพระศรีมหาธาตุ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๙๙
นิพนธ์บางเรื่อง พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมบัณฑิต (ญาณ ญาณชาโล) ณ เมรุวัดสุทธจินดา อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๙
หนังสือที่ได้มีการตีพิมพ์ดังกล่าว เป็นการรวบรวมข้อเขียน บทความที่เขียนในโอกาสต่างๆ บางส่วนเป็นคำสอนที่ได้แสดงพระธรรมเทศนาไปแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิพนธ์ต่างเรื่อง ที่จอมพลสฤษดิ์ – วิจิตรา ธนรัชต์ จัดพิมพ์นั้นนับว่าเป็นหนังสือที่มีความสมบูรณ์และมีค่ามากที่สุด เพราะเป็นการรวบรวมข้อเขียน บทความทั้งหมดเกือบ ๕๐ เรื่อง แยกเป็น ๔ หมวด ได้แก่
หมวดธรรมเทศนา ๑๔ เรื่อง
หมวดโอวาท ๑๒ เรื่อง
หมวดบทความ ๑๔ เรื่อง
หมวดสารคดี ๖ เรื่อง
จากข้อเขียน บทความ และโอวาทดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เป็นผู้มีความรู้สูงยิ่ง ทั้งในด้านศาสนา เรื่องของโลก เรื่องของประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ของจังหวัดอุบลราชธานี ข้อเขียนและบทความดังกล่าว ถ้าหากท่าผู้ใดได้ศึกษาอย่างละเอียดแล้ว ก็สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
๓.๓ การสร้างพระพุทธรูปและถาวรวัตถุที่สำคัญ ได้แก่
พระพุทธสัพพัญญูเจ้า เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดหน้าตักกว้าง ๔ คืบ พระสุคต ปางมารวิชัย ใช้โลหะทองประมาณ ๓๐ หาบ (๑ หาบหนัก ๖๐๐ กิโลกรัม) พระอุปัชฌาย์สีทา วัดบูรพา อำเภอเมืองอุบลราชธานี เป็นช่างหล่อ
พระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสัพพัญญูเจ้า ขนาดกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๒๔ เมตร สูง ๒๒ เมตร หลวงสถิตนิมมานการ นายช่างทางหลวงแผ่นดินเป็นผู้ออกแบบ เป็นพระอุโบสถที่สวยงามมาก ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนหลังคาเป็นไทย ส่วนกลางเป็นเยอรมัน ส่วนฐานล่างเป็นแบบขอมโบราณ รวมเงินค่าก่อสร้างทั้งหมด ประมาณ ๗๐,๐๐๐ บาท
อาคารเรียนโรงเรียนอุบลวิทยาคม ตั้งอยู่ในบริเวณวัดสุปัฏนาราม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
อาคารเรียนโรงเรียนปริยัติธรรมจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ในบริเวณวัดสุปัฏนาราม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
พระอุโบสถวัดสุทธจินดา อำเภอเมือง จังหวัดนคราชสีมา
ศาลาการเปรียญวัดสุทธจินดา อำเภอเมือง จังหวัดนคราชสีมา
มหาวีรวงศ์พิพิธภัณฑสถาน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์สถาน ประจำจังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่ที่วัดสุทธจินดา อำเภอเมือง จังหวัดนคราชสีมา
๔. หลักธรรมคำสอนลบไม่ศูนย์ คติพจน์ คติธรรมคำสอนของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ นับว่าเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าควรอย่างยิ่งที่ปุถุชนนาไปปฏิบัติ เพื่อเป็นข้อคิด คำสอนในการดารงชีวิตเพื่อให้ประสบความสำเร็จและมีความสุขคติพจน์ดังกล่าวมีอยู่มากมาย กระจายอยู่หลายแห่ง หลายที่ ซึ่งโรงเรียนบ้านแคน (สมเด็จอุปถัมภ์) อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี ได้รวบรวมไว้ได้ทั้งหมด ๑๓๓ บท ขอยกมากล่าวอ้างไว้ บางส่วนดังนี้
๑) โง่ไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก
๒) โง่น่ารัก ฉลาดน่านับถือเป็น “เสน่ห์” แต่โง่น่าเกลียด ฉลาดน่าชังเป็น “ยาพิษ”
๓) อวดดี ก็ยังดี กว่าอวดชั่ว อวดฉลาด ก็ยังดี กว่าอวดโง่
๔) ผู้หามโลก อยู่ในระดับต่ำ ผู้หิ้วโลก อยู่ในระดับกลาง ผู้วางโลก อยู่ในระดับสูง ฯลฯ
ที่ควรกล่าวอ้างถึงอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๘๕ รัฐบาลอันมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และกิ่งพระศรีมหาโพธิ์มาจากประเทศอินเดีย สำหรับพระบรมสารีริกธาตุได้ประกอบพิธีบรรจุประดิษฐานไว้ที่ วัดพระศรีมหาธาตุ ส่วนกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ ๕ กิ่งนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ประกอบพิธีปลูกที่ วัดพระศรีมหาธาตุ ๒ กิ่ง เหลืออีก ๓ กิ่ง ประสงค์จะไปปลูกที่วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม (ภาคอีสาน) ๑ กิ่ง ปลูกที่วัดพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช (ภาคใต้) ๑ กิ่ง และปลูกที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ (ภาคเหนือ) ๑ กิ่ง ในการนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ให้สมญาภาคเหนือว่าเป็น “ถิ่นไทยงาม” สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) จึงดำริว่า ทั้งนี้คงเป็นเพราะคนภาคเหนือ เป็นภาคที่ผู้คนสวยงาม มีความร่าเริงแจ่มใสดี ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อได้วิเคราะห์ลักษณะภูมิประเทศ ดิน ฟ้า อากาศ ประชาชนพลเมืองที่อยู่อาศัยในภูมิภาคนั้นแล้ว จึงให้สมญาภาคอีสานว่า “ถิ่นไทยดี” ภาคใต้ว่า “ถิ่นไทยอุดม” และภาคกลาง และกรุงเทพฯ ว่า “ถิ่นจอมไทย” ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปจนถึงปัจจุบัน
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือประวัติและผลงานของคนเมืองอุบลราชธานีคนหนึ่ง ที่ถือกำเนิดในหมู่บ้านที่ห่างไกลการคมนาคมไม่สะดวก ไม่มีแหล่งเรียนรู้ หรือสถานศึกษาพอที่จะศึกษาหาความรู้ได้ แต่เนื่องเพราะเป็น “ผู้ใฝ่เรียนใฝ่รู้” จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร และอุปสมบทเป็นพระภิกษุเพื่อศึกษา เล่าเรียน เมื่อศึกษาหาความรู้ที่สำนักวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนารามในปัจจุบัน) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ได้ระยะหนึ่ง ก็หาโอกาสเข้ามาศึกษาหาความรู้ที่กรุงเทพมหานคร จนสามารถสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค ในด้านการปฏิบัติงาน ก็ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากยิ่ง กล่าวคือ ในด้านการคณะสงฆ์ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดที่สาคัญๆ ถึง ๔ วัด ได้เป็นเจ้าคณะมณฑล ๔ – ๕ มณฑล ได้เป็นสังฆนายกองค์แรกของประเทศไทย ในด้านการศึกษา เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยขึ้นในวัดต่างๆ ในบริเวณเมืองอุบลราชธานี และเมืองใกล้เคียงจำนวนมาก จนเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็น “ผู้บุกเบิกการศึกษาไทยในภาคอีสาน” รวมทั้งการตั้งโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลอีสาน ด้านการศาสนา เป็นผู้สร้างถาวรวัตถุขึ้นในวัดต่างๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการอบรมสั่งสอนประชาชนโดยการแสดงธรรมเทศนาในโอกาสและสถานที่ต่างๆ การเขียนหนังสือหรือบทความตีพิมพ์เผยแพร่ การสร้าง คติธรรมหรือคติพจน์อันเฉียบคม เพื่อเป็นข้อคิดหรือแนวปฏิบัติสาหรับประชาชนโดยทั่วกัน
ผลงานดังกล่าวมากด้วยปริมาณและคุณภาพ นับเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนักที่ปุถุชนคนธรรมดาจะสามารถทำได้ พวกเราชาวเมืองอุบลราชธานีจึงพร้อมใจกันชื่นชมและยอมรับว่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เป็น “ปราชญ์” ผู้สำคัญของเมืองอุบลราชธานีโดยแท้