วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงเตี่ยสุรเสียง ปัญญาวชิโร วัดป่าเลิงจาน อ.เมืองจ.มหาสารคาม

ประวัติและปฏิปทา
หลวงเตี่ยสุรเสียง ปัญญาวชิโร

วัดป่าเลิงจาน (วัดโพธิชัยวราราม)
ต.แก่งเลิงจาน อ.เมือง จ.มหาสารคาม

หลวงเตี่ยสุรเสียง ปัญญาวชิโร วัดป่าเลิงจาน

พระครูสุนทรธรรมโฆษิต หรือ หลวงเตี่ยสุรเสียง ปัญญาวชิโร เป็นพระป่ารูปหนึ่งที่ครองตนอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์อย่างสันโดษสมถะเสมอต้นเสมอปลาย และเป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนในวงกว้าง ท่านเป็นศิษย์สายพระกัมมัฏฐานที่ได้ศึกษาแนวทางปฏิบัติมาจาก ท่านเจ้าคุณพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) แห่งวัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

หลวงพ่อเตี่ยวเสียง ปัญญาวชิโร มีนามเดิมว่า สุรเสียง แซ่เตี๋ย เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๓ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง ณ ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี โยมบิดาชื่อ นายเป็งติ่ง แซ่เตี๋ย เกิดที่เมืองจีน โยมมารดาเป็นคนไทยชื่อ นางเปี่ยม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓

◎ อาชีพและการอุปสมบทครั้งแรก
ชีวิตในวัยเด็กเป็นคนที่ต่อสู้ชีวิตดิ้นรน เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน ท่านจึงจบการศึกษาเพียงแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนในหมู่บ้าน ในขณะที่มีอายุได้เพียง ๑๑ ปี

หลังจากนั้นก็ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาพักอาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง และได้ไปฝึกงานซ่อมรถที่อู่เคาะพ่นสีรถ ย่านสีลม ทำงานอยู่ได้นานถึง ๒๐ ปี จนอายุย่างเข้าเลขสี่ จึงได้เดินทางกลับมายังบ้านเกิดเพื่อเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ซึ่งเป็นการบวชตามประเพณีเท่านั้น บวชอยู่ได้ ๕ เดือนก็ลาสิกขา ไปทำงานเกี่ยวกับซ่อมรถต่อ โดยทำงานอยู่ในฐานะเจ้าของอู่ดำเนินการซ่อมรถด้วยตนเอง

ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ ขณะที่กิจการกำลังเจริญรุ่งเรือง อู่ก็ถูกไฟไหม้จนหมดเนื้อหมดตัว แต่ท่านก็ไม่ยอมย่อท้อ ได้ต่อสู้หาเงินมาลงทุนใหม่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้หันเหชีวิตเปลี่ยนอาชีพมาทำงานด้านรับเหมาถมดินถมทราย แต่มีคู่แข่งขันแย่งชิงกัน ท่านจึงถูกคุกคามข่มขู่จะเอาชีวิตจากผู้ที่เสียผลประโยชน์จึงต้องหนี หลังจากที่ท่านครุ่นคิดว่าจะหนีไปไหน ก็ได้คิดว่านอกจากวัดก็คงไม่มีที่ใดดีไปกว่านี้ซึ่งมีความสงบ

◎ การอุปสมบทครั้งที่ ๒
อุปนิสัยของท่านเป็นผู้มีจิตใจโน้มเอียงเข้าหาพระธรรม ชอบศึกษาหาเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา รวมทั้งแนวทางปฏิบัติของพระภิกษุสายกัมมัฏฐาน โดยเฉพาะท่านให้ความศรัทธาในวัตรปฏิบัติ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ดังนั้น วัดที่ท่านหนีไปพักก็คือ วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย

การไปปฏิบัติธรรมในครั้งนั้น ทำให้ท่านได้สัมผัสกับรสชาติแห่งความสงบ จึงได้ตัดสินใจสละทางโลกมุ่งหน้าเข้าสู่ร่มเงาผ้ากาสาวพัสตร์ เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุอีกครั้ง ณ พัทธสีมาวัดหินหมากเป้ง เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๗ โดยมี พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวิชัยวัฒนกิจ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระชุมพล อภิพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์

◎ สายธรรมหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
หลักจากอุปสมบทแล้ว หลวงพ่อสุรเสียงได้พำนักจำพรรษาแรกอยู่กับ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย เพื่อฝึกปฏิบัติภาวนาจากบรมครูหลวงปู่เทสก์ ซึ่งท่านเมตตาคอยให้คำชี้แนะแนวทางการปฏิบัติธรรมแก่หลวงพ่อสุรเสียงมาโดยตลอด

(ซ้าย) หลวงเตี่ยสุรเสียง ปัญญาวชิโร (ขวา) หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

หลวงพ่อสุรเสียงเล่าว่า ระหว่างที่ปฏิบัติภาวนาอยู่ก็เกิดโอภาสเป็นแสงสว่างสุกใส เย็นตาเย็นใจ กว้างไกลไม่มีประมาณ ครั้นเมื่อท่านไปเล่าให้หลวงปู่เทสก์ฟัง หลวงปู่ท่านก็บอกว่าบางคนปฏิบัติเป็นสิบๆ ปีก็ยังไม่เกิดแบบนี้เลย ฉะนั้นโอภาสที่ได้จึงถือว่าเป็นวาสนาบารมีเก่าอย่างหนึ่งซึ่งเคยบำเพ็ญมา ตลอดเวลาถึงแม้หลวงพ่อสุรเสียงจะเพิ่งบวช แต่ท่านก็ใส่ใจต่อการเจริญภาวนาอย่างเต็มที่ จนเกิดผลเป็นความสงบแก่จิตใจ จากความคิดที่จะบวชเพียงชั่วคราวจึงหมดไป กลายเป็นความคิดที่อยากจะอุทิศชีวิตให้กับพระศาสนาต่อไป

หลวงพ่อสุรเสียงเมื่อได้รับถ่ายทอดอุบายธรรมจากหลวงปู่เทสก์ จนกระทั่งมีภูมิปัญญาพอที่จะรักษาตัวได้แล้ว ท่านก็เริ่มออกจารึกธุดงค์ ท่านไปมาหลายแห่งหลายที่ แต่ที่ประทับใจมากที่สุดเป็นสถานที่ที่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เคยไปอยู่คือ ถ้ำยูงทองหรือน้ำตกยูงทอง อ.นายูง จ.อุดรธานี โดยท่านเดินด้วยเท้าจาก จ.หนองคาย ไปด้วยกัน ๓ รูป ต่างแยกกันอยู่คนละภูเขา องค์หนึ่งอยู่ที่ถ้ำน้ำทิพย์คือ พระอาจารย์นิรันดร อีกองค์หนึ่งคือ พระอาจารย์ทองพูน ปุญญกาโม วัดป่าอภัยวัน ต.บ้านทุ่ม อ.เมือง จ.ขอนแก่น (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว)

หลวงเตี่ยสุรเสียง ปัญญาวชิโร วัดป่าเลิงจาน

◎ สร้างวัดกกไม้แดงและวัดประชาบำรุง
หลังจากนั้นหลวงพ่อสุรเสียงก็กลับมายังวัดหินหมากเป้ง หลวงปู่เทสก์ก็ได้ให้หลวงพ่อสุรเสียงไปช่วยงานที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งในขณะนั้น พระอาจารย์ทองพูน ปุญญกาโม ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่ป่าช้าบ้านหนาด อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ก่อนแล้ว ครั้นเมื่อหลวงพ่อสุรเสียงเดินทางไปถึง พระอาจารย์ทองพูนซึ่งตั้งใจจะไปเรียนฝึกอบรมเป็นพระธรรมกถึก ที่ศูนย์ฝึกอบรมพระธรรมกถึกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ศ.ธ.ภ.) วัดบึงพระลานชัย ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ก็ได้ชวนหลวงพ่อสุรเสียงไปเรียนฝึกอบรมเป็นพระธรรมกถึก รุ่นที่ ๑๕ ด้วยกัน

หลังจากนั้น หลวงพ่อสุรเสียงกลับมาจำพรรษาที่ป่าช้าบ้านหนาด และได้ร่วมกันสร้าง วัดสีลวรรณ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดกกไม้แดง” ซึ่งเป็นวัดแรกที่หลวงพ่อสุรเสียงได้สร้างไว้ในพระศาสนา ด้วยเป็นพระที่มีวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงทำให้ท่านเริ่มมีชื่อเสียงเลื่องลือ แม้ว่าอายุพรรษาจะยังน้อยก็ตาม

หลวงพ่อสุรเสียงได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม จนสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ถึง พ.ศ.๒๕๓๐ ตามลำดับ แล้วได้สร้างวัดที่ ๒ ขึ้น คือวัดประชาบำรุง ซึ่งเป็นวัดกรรมฐาน จากคุณงามความดีของหวงพ่อสุรเสียง ต่อมาพระราชวินยาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม ฝ่ายธรรมยุต ได้มีหนังสือไปขอตัวหลวงพ่อสุรเสียงจากหลวงปู่เทสก์ มาสร้างวัดป่าโนนแท่น ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม

◎ สร้างวัดป่าโนนแท่น
หลวงปู่เทสก์จึงได้บอกกับหลวงพ่อสุรเสียงว่า สมควรจะไปช่วยงานเพราะเป็นพระฐานานุกรม ดังนั้น ท่านจึงได้สร้างวัดป่าโนนแท่นขึ้น เนื่องมากจากได้มีโยมท่านหนึ่งมอบที่ดินให้จำนวน ๗ ไร่ ๓ งาน ๖๙ ตารางวา หลวงพ่อสุรเสียงร่วมกับบรรดาคณะศรัทธาญาติโยมช่วยกันก่อสร้าง “วัดป่าโนนแท่น” จนแล้วเสร็จใช้เวลา ๓ ปี ต่อมาท่านได้รับตราตั้งเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดป่าโนนแท่น

หลวงพ่อสุรเสียงได้พยายามทุ่มเทพลังกายพลังใจพัฒนาวัดป่าโนนแท่น จนเจริญรุ่งเรืองในเวลาอันรวดเร็ว ตลอดจนปรับปรุงภายในบริเวณวัดให้มีแต่ความร่มรื่นสวยงามจนกลายเป็นลานธรรม

◎ พัฒนาวัดป่าเลิงจาน
หลังจากพัฒนาวัดป่าโนนแท่นจนเจริญรุ่งเรืองแล้ว หลวงพ่อสุรเสียงได้ย้ายไปพำนักจำพรรษาอยู่ที่ วัดโพธิชัยวราราม อยู่ริมแก่งเลิงจาน บ้านโนนหัวฝาย ต.แก่งเลิงจาน อ.เมือง จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นวัดร้าง ในอดีตมีพระธุดงค์มานักอยู่ชั่วคราวแล้วก็จากไป จนทำให้บางครั้งที่วัดแห่งนี้ว่างขาดพระภิกษุสงฆ์พำนักจำพรรษา

หลวงพ่อสุรเสียงจึงเริ่มพัฒนาวัดขึ้นใหม่ สร้างเสนาสนะต่างๆ ขอซึ้อที่ดินจำนวน ๗ ไร่จากชาวบ้าน ซึ่งที่เดิมเป็นเขตป่าช้าของวัด แต่ถูกชาวบ้านจับจองจนเหลือเนื้อที่เพียง ๑๘ ไร่ ท่านสร้างกุฏิพร้อมห้องน้ำห้องส้วม รวมทั้ง จัดหาพระพุทธรูปปางต่างๆ มาประดิษฐานไว้ตามมุมต่างๆ ในวัด ให้พุทธศาสนิกชนที่มาปฏิบัติธรรมได้สักการบูชา และในเวลาต่อมา “วัดโพธิชัยวราราม” ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดป่าเลิงจาน

◎ ลำดับงานปกครองและสมณศักดิ์

พ.ศ.๒๕๓๒ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระฐานานุกรมที่ พระครูปลัดสุรเสียง

พ.ศ.๒๕๓๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทที่ “พระครูสุนทรธรรมโฆษิต”

พ.ศ.๒๕๔๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม และได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอกันทรวิชัย ฝ่ายธรรมยุต จ.มหาสารคาม

นอกจากนี้แล้ว หลวงพ่อสุรเสียงได้ไปเรียนหลักสูตรครูสอนปริยัติชั้นต้น ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ศึกษาต่อจนจบพระสังฆาธิการ ชั้นต้น-ชั้นสูง รุ่น ๑๖ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ และจบหลักสูตรครูสอนปริยัติธรรมชั้นกลาง ที่วัดศรีษะเกษ อ.เมือง จ.หนองคาย เป็นต้น

หลวงเตี่ยสุรเสียง ปัญญาวชิโร

◎ สร้าง “เจดีย์เทสรังสี”
ตลอดเวลาของชีวิตภายใต้ร่มกาสาวพัตร์ หลวงพ่อสุรเสียง ปัญญาวชิโร ได้ยึดแนวทางการปฏิบัติจาก พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) อย่างเคร่งครัด สมกับเป็นเนื้อนาบุญของพุทธศาสนาโดยแท้ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๘ ท่านได้มีโครงการก่อสร้าง “เจดีย์เทสรังสี” ขึ้น ณ วัดป่าเลิงจาน (พร้อมกับอุโบสถ ๓ ชั้นและศาลา โดยจะก่อสร้างอยู่ภายในหลังเดียวกัน) เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระบูรพาจารย์ คือ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งภายในเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ จะบรรจุอัฐิธาตุของพระบูรพาจารย์สายกรรมฐานที่มีชื่อเสียงทั้ง ๔ ภาคของประเทศไทย ปัจจุบันการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ประกอบกับหลวงพ่อสุรเสียงมีความตั้งใจจะสร้างและพัฒนาให้ “วัดป่าเลิงจาน” เป็น “สถานที่ปฏิบัติธรรม” สำหรับสาธุชนทั่วทุกสารทิศอีกด้วย

◎ มรณภาพ
ด้วยความไม่เที่ยงของสังขาร หลังจากหลวงเตี่ยสุรเสียง ปฏิบัติศาสนกิจรับใช้พระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน หลวงปู่สุรเสียง หรือ หลวงเตี่ยสุรเสียง ปัญญาวชิโร วัดป่าเลิงจาน ท่านมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๗ สิริอายุ ๗๔ พรรษา ๓๐

หลวงเตี่ยสุรเสียง ปัญญาวชิโร วัดป่าเลิงจาน มรณภาพ
อัฐิธาตุ หลวงเตี่ยสุรเสียง ปัญญาวชิโร วัดป่าเลิงจาน จ.มหาสารคาม

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ http://www.dhammajak.net