วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงพ่อไข่ ธรรมรังสี วัดบางเลน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อไข่ ธรรมรังสี

วัดบางเลน
อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

หลวงพ่อไข่ ธรรมรังสี วัดบางเลน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
หลวงพ่อไข่ ธรรมรังสี วัดบางเลน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

หลวงพ่อไข่ ธรรมรังสี วัดบางเลน สุดยอดพระเกจิสายเหนียว เด่นแคล้วคลาดปลอดภัยแห่งเมืองสุพรรณบุรี

◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อไข่ วัดบางเลน เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๐ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน ณ บ้านบางเลน ตำบลกฤษณา อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี บิดาชื่อ “นายกอน” และมารดาชื่อ “นางอุ่ม” มารดาของหลวงพ่อไข่เป็นชาววัง เป็นผู้แสดงละครอยู่ในวังบูรพา (ต่อมากลายเป็นโรงภาพยนตร์ และเป็นย่านการค้าอันโอ่อ่าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ) ท่านเบื่อชีวิตการแสดงจึงลาออกมาจากวัง มาอยู่กับญาติที่บ้านบางเลน

ขณะนั้นบิดาของ หลวงพ่อไข่ กำลังเป็นหนุ่มรุ่นคะนองเป็นนักต่อสู่ตัวฉกาจของท้องที่นั้น ไม่เคยโกงใคร แต่ใครโกงไม่ได้ เคยต่อสู้กับนักเลงหัวไม้ต่างถิ่นอย่างถึงพริกถึงขิง อันเป็นแบบฉบับของชีวิตลูกทุ่ง เมื่อสังคมกับเหล่านักเลงก็ไม่เว้นที่จะหันเข้าหาสิ่งเสพติด เหล้ายาปลาปิ้งแม้แต่ฝิ่น

บิดาของหลวงพ่อไข่ เรียนรู้อย่างเจนจบ แต่แปลกหาได้ติดเหมือนเพื่อนๆก็หาไม่ บุพเพสันนิวาส ให้มาแต่งงานกับหญิงชาววัง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของชั่วเลิกหมดอย่างเด็ดขาด ไม่หวนกลับไปแตะต้องมันอีกเลย ที่นาของบิดา หลวงพ่อไข่อยู่ที่บ้านบางทองหลาง ห่างจากบ้านมาก ถึงเวลาทำนาจะต้องอพยพครอบครัวไปทำนาทำไร่ที่บางทองหลาง บิดาของหลวงพ่อไข่ทำงานด้วยความขยันขันแข็ง ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค มารดาก็ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ลืมชีวิตที่เคยสุขสบายในวัง คิดว่าอยู่ทุ่งนาอันเวิ้งว้าง มีแต่สายลมกับแสงแดด ไม่มีสิ่งอะไรที่จะให้ความรื่นรมย์ได้เลย ท่านไม่เคยบ่นแม้แต่น้อย ช่วยเป็นแรงงานได้เป็นอย่างดี ผิวเริ่มคล้ำเพราะต้องกรำแดดกรำฝน แต่หาได้ปริปากอะไรแม้แต่น้อยไม่ เมื่อคลอดบุตรออกมาก็ทำหน้าที่แม่บ้านที่ดี ทั้งเลี้ยงลูกและทำงานหาได้ย่อท้อไม่ มีทายาทคลานตามกันมาถึง ๗ คน คือ
๑. นายสั้น คล้ายสุบรรณ
๒. นายขาว คล้ายสุบรรณ
๓. หลวงพ่อไข่ ธมฺมรงฺสี
๔. นางโม คล้ายสุบรรณ
๕. นางวอน คล้ายสุบรรณ
๖. นายโฉม คล้ายสุบรรณ
๗. นายจิ๋ว คล้ายสุบรรณ

หลวงพ่อไข่ ถึงแม้จะเป็นบุตรคนที่ ๓ แต่มีความคิดดี ทำงานด้วยความขยันขันแข็ง เวลาทำงานต้องทำอย่างจริงจัง ทำเหลาะๆ แหละๆ ไม่ได้ พี่ๆ น้องๆ เมื่อมาช่วยกันไถนา จะต้องไถให้เต็มคันนาจึงจะหยุดได้ไม่ยอมให้ทำครึ่งๆกลางๆ เป็นการแสดงให้เห็นถึงนิสัยเอาการเอางานและเอาจริงเอาจัง จึงทำให้บิดา-มารดา รักใคร่หลวงพ่อไข่เป็นอันมาก ให้ความไว้วางใจได้ด้านการทำงานเป็นอย่างดี

จากการทำงานอย่างไม่ย่นย่อ ทำให้ฐานะของครอบครัวหลวงพ่อไข่ดีกว่าหลายๆ ครอบครัวในตำบลนั้น แต่เป็นที่น่าเสียดายหลวงพ่อไข่ไม่ได้เรียนหนังสือตั้งแต่เล็กๆ จึงทำให้หลวงพ่อไข่ไม่รู้หนังสือเลย

◉ อุปสทบท
เมื่อ หลวงพ่อไข่ อายุได้ ๒๑ ปี ตรงกับ พ.ศ.๒๔๕๑ บิดามารดาเห็นว่าหลวงพ่อไข่ ควรจะได้อุปสมบทตามประเพณีและ เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณบิดามารดา จึงไปอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดโบสถ์ ดอนลำแพน ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี พระอาจารย์สน เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ ดอนลำแพน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์พรหม วัดบางเลน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ส่วนพระอนุสาวนาจารย์ไม่การมีบันทึก ได้รับฉายาว่า “ธมฺมรงฺสี

หลวงพ่อสน วัดโบสถ์ดอนลำแพน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี
หลวงพ่อสน วัดโบสถ์ดอนลำแพน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

หลังอุปสมบทแล้ว หลวงพ่อไข่ ก็มาจำพรรษาที่วัดบางเลน อันเป็นวัดถิ่นกำเนิดของท่าน

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า หลวงพ่อไข่ ไม่ได้อยู่วัดตั้งแต่เด็ก จึงไม่ได้เรียนหนังสือ ทำอย่างไรหลวงพ่อจึงจะท่องบทสวดมนต์ได้หลวงพ่อไม่ยอมงอมืองอเท้า เริ่มเรียนหนังสือไทยกับ หลวงพ่อเอี่ยม ทันที เพราะต้องการจะท่องบทสวดมนต์หรือเจ็ดตำนานให้ได้ หากไม่เรียนหนังสือก็ยากที่จะท่องได้ ท่านจึงตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสือไทยอย่างจริงจัง ชนิดหามรุ่งหามค่ำ เวลาเมื่อนอนท่องหนังสือเกรงว่าจะนอนหลับง่ายๆ จึงไปเสาะหากะลามะพร้าวมาใบหนึ่งที่มีก้นแหลมเอามาทำเป็นหมอนหนุน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้หลับง่ายๆ เป็นการทรมานตัวเองเพื่อจะอ่านหนังสือให้ออก

ดูจะเป็นเรื่องที่ออกจะเหลือเชื่อสักหน่อย ในไม่ช้าหลวงพ่อไข่ก็อ่านหนังสือออกได้ในเวลาอันรวดเร็ว และเป็นสิ่งที่น่าประหลาดไม่น้อย หลวงพ่อไข่สามารถที่จะท่องบทสวดมนต์เจ็ดจำนานได้อย่างคล่องแคล่วไม่ผิดพลาด พอออกพรรษาหลวงพ่อยังไม่คิดจะลาสิกขา หลวงพ่อเฝ้าท่องบ่นปาฏิโมกข์รวมทั้งสิบสองจำนานด้วยความแม่นยำ การท่องบทปาฏิโมกข์หลวงพ่อไข่ ใช้ต่อเอาจากหลวงพ่อเอี่ยม ท่านต่อให้วันละ ๒-๓ แผ่นใบลาน หลวงพ่อไข่เอาไปท่องทั้งวันทั้งคืน พอรุ่งขึ้นท่านก็ท่องได้ไปขอต่อกับหลวงพ่อเอี่ยม

จนกระทั่งหลวงพ่อเอี่ยม สงสัยอุทานออกมาว่า “อะไรว่ะ เพิ่งต่อไปเมื่อวานนี้เอง ท่องได้แล้วหรือ?” สงสัยจึงถามว่าท่านท่องบทปาฏิโมกข์ที่ต่อไปเมื่อวันวานและอันก่อนๆ ได้แล้วหรือ หลวงพ่อไข่ตอบว่า ได้แล้วครับ หลวงพ่อเอี่ยม จึงบอกว่า “ไหน ลองท่องให้ดูหน่อยซิ?” แล้วหลวงพ่อก็ท่องบทปาฏิโมกข์เท่าที่ต่อมาให้หลวงพ่อเอี่ยมฟัง โดยไม่มีการติดขัดเลยแม้แต่น้อย ยังความแปลกใจให้แก่หลวงพ่อเอี่ยมเป็นอันมาก ทั้งนี้ย่อมเป็นการแสดงว่า สมองของหลวงพ่อไข่ มีความอัจฉริยะเพียงใด ความจำดีเยี่ยม ในไม่ช้าหลวงพ่อไข่ก็มีความสามารถเรียนได้ทั้งหนังสือไทย และหนังสือขอม พูดแล้วไม่น่าเชื่อหลวงพ่อไข่กับเป็นกำลังสำคัญในการสอนหนังสือใหญ่ (ขอม) ให้แก่พระภิกษุสามเณรที่บวชใหม่ต่อไป

ทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน หลวงพ่อไข่ มีความสนใจเป็นอันมาก เล่าเรียนจากหลวงพ่อเอี่ยม และ หลวงพ่อสน เพราะความจำของท่านเป็นเลิศ จึงทำให้ท่านเรียนได้ไม่ยากนักสำหรับหลวงพ่อสนนั้นท่านมีความสามารถเป็นพิเศษ สามารถใช้พลังจิตตึงต้นซุงให้เคลื่อนไหวตามของท่านมาอย่างง่ายดาย โดยมิได้ออกแรงดึงเท่าใดนัก เป็นสิ่งน่ามหัศจรรย์

หลวงพ่อไข่ จำพรรษาที่วัดบางเลนเรื่อยมา เรื่องคิดจะลาสิกขานั้นมิได้คิดเลยแม้แต่น้อย หลวงพ่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวัดอย่างยิ่ง จนเป็นที่กล่าวขวัญประชาชนให้ความเคารพนับถือรักใคร่พระภิกษุหนุ่มเป็นอันมาก หลวงพ่อเคร่งครัดต่อระเบียบวินัยสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้วัดมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย จวบจนกระทั่งอาจารย์ของท่านล่วงลับไปหมด ไม่มีเจ้าอาวาสคณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้หลวงพ่อไข่ ขึ้นรักษาการในจำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางเลน เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๗๐ และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในการต่อมา

หลวงพ่อไข่ ธรรมรังสี วัดบางเลน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
หลวงพ่อไข่ ธรรมรังสี วัดบางเลน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

◉ มรณภาพ
หลวงพ่อไข่ วัดบางเลน ถึงแก่มรณภาพ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๑๖ สิริอายุ ๘๖ปี พรรษา ๖๕

◉ วัตถุมงคลของหลวงพ่อไข่ มีดังนี้
๑.เหรียญรุ่นแรก เนื้ออัลปาก้า รูปไข่ หลวงพ่อนั่งกางข้อศอกขวา สร้าง ๑,๕๐๐ เหรียญ มักจะเรียกกันว่า รุ่นแขนกาง สร้างปี ๒๕๐๒
๒.เหรียญรุ่น ๒ เนื้ออัลปาก้า เหมือนรุ่นแรกทั้งหมด เพียงแต่ข้อศอกหุบเข้าเท่านั้น สร้าง ๒๐,๐๐๐ เหรียญ สร้างประมาณปลายปี ๒๕๐๒
๓.เหรียญรุ่น ๓ เป็นรุ่นเสาร์ห้า จำนวน ๘,๐๐๐ เหรียญ ปี พ.ศ.๒๕๐๙
๔.เหรียญรุ่น ๔ และแหนบ ๓,๐๐๐ อัน ปี พ.ศ.๒๕๑๒
๕.เหรียญรุ่น ๕ รูปเสมากะหลั่ยทอง ๕,๐๐๐ เหรียญ ปี พ.ศ.๒๕๑๕
๖.รูปเหมือนผง จำนวน ๑๐,๐๐๐ องค์

เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อไข่ วัดบางเลน
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อไข่ วัดบางเลน
เหรียญรุ่นสอง หลวงพ่อไข่ วัดบางเลน
เหรียญรุ่นสอง หลวงพ่อไข่ วัดบางเลน

โดย หลวงพ่อหยด ซิตสาโร ผู้สืบทอดวิชาหลวงพ่อไข่ เป็นผู้ทำและปลุกเสกเอง เอาอัฐิธาตุเถ้าถ่าน สบงจีวร เกศา ของหลวงพ่อ นำเอาป่นรวมกันกับผงเกสรร้อยแปด ผงอิทธิเจ ปถมัง ใช้รูปเหรียญรุ่นแรกทำเป็นแม่พิมพ์ สวยงาม สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นที่นิยมกันมาก

พระพุทธคุณของวัตถุมงคลของ หลวงพ่อไข่ นั่นมีผู้ประสบมาแล้ว ถูกยิง ถูกฟัน และอุบัติเหตุจากรถยนต์หลายราย แต่ไม่เป็นไรเลย ถือว่าเป็นยอดแห่งพระเครื่อง สายแคล้วคลาด คงกระพัน