วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงพ่อโศก สุวัณโณ วัดปากคลองบางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อโศก สุวัณโณ

วัดปากคลองบางครก
อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

พระครูอโศกธรรมสาร (หลวงพ่อโศก สุวัณโณ) วัดปากคลองบางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
พระครูอโศกธรรมสาร (หลวงพ่อโศก สุวัณโณ) วัดปากคลองบางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

พระครูอโศกธรรมสาร (หลวงพ่อโศก สุวัณโณ) วัดปากคลองบางครก พระเกจิอาจารย์ผู้มีกฤตยาคมแก่กล้า มีจิตตานุภาพสูง เชี่ยวชาญโหราศาสตร์ เวชศาสตร์ ไสยศาสตร์ แห่งเมืองเพชรบุรี

◉ ชาติภูมิ
พระครูอโศกธรรมสาร (หลวงพ่อโศก) วัดปากคลองบางครก เกิดเมื่อวันอังคาร ปีพ.ศ.๒๔๑๕ ที่บ้านแควใหญ่ ต.บางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี บิดาชื่อ “นายพันธุ์” และมารดาชื่อ “นางนาก พันธ์โพธิ์ทอง

เมื่อท่านอยู่ในวัยอันสมควรบิดาได้นำไปฝาก เรียนหนังสือกับพระอธิการเพิ่ม วัดสวนทุ่ง ท่านเป็นคนที่สนใจในการศึกษาเล่าเรียน จึงสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างรวดเร็ว

◉ อุปสมบท
หลังจากนั้นพออายุครบบวช บิดา-มารดา ได้ให้บุตรชาย อุปสมบทที่วัดปากคลอง ในปีพ.ศ.๒๔๓๕ โดยมี พระอธิการคล้ำ วัดปากคลอง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการทรัพย์ วัดเขาตะเครา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอธิการเพิ่ม วัดทุ่งสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “สุวณฺโณ

เมื่ออุปสมบทแล้วก็ ได้อยู่ปฏิบัติพระอุปัชฌาย์พอสมควรแล้ว ท่านก็ได้เดินทางมาอยู่ที่วัดมหาธาตุ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย บาลีไวยากรณ์ และวิปัสสนากัมมัฏฐานในสำนักพระอธิการครุฑ ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนาธุระ ศึกษาอยู่ได้ปีเศษ พระอธิการครุฑท่านถึงแก่มรณภาพ หลวงพ่อท่านจึงได้ศึกษาต่อกับ พระสุวรรณมุนี (หลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม)

ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๔๗ พระอธิการหลุบ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ลาออกจากตำแหน่ง ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุสืบแทน แต่ก็ดำรงตำแหน่งได้เพียงปีเศษเท่านั้น วัดปากคลองก็ว่าง เจ้าอาวาสลง ชาวบ้านบางครกต่างก็มานิมนต์หลวงพ่อโศก ให้ไปช่วยเป็นเจ้าอาวาส และช่วยพัฒนาวัดให้ หลวงพ่อจึงต้องกลับมาเป็น เจ้าอาวาสวัดปากคลอง

หลังจากที่ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดปากคลองแล้ว ได้จัดระเบียบและบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมให้เรียบร้อย สร้างศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ ศาลาบำเพ็ญกุศล โรงเรียน พระอุโบสถ จนวัดปากคลองเจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้

ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวดบางครก
ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ เป็นพระอุปัชฌาย์
ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ เป็นเจ้าคณะอำเภอบ้านแหลม และเป็น พระครูอโศกธรรมสาร

ตลอดเวลาที่ท่านดำรงอยู่ในสมณเพศนอกจากจะได้ศึกษาเล่าเรียนทางพระธรรมวินัย และปฏิบัติศาสนกิจแล้วท่านยังได้ใช้เวลาว่างเท่าที่มีอยู่ ศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆ เท่าที่นิยมกันอยู่ในสมัยนั้นด้วย เช่น วิชาโหราศาสตร์, เวชศาสตร์, ไสยศาสตร์ เป็นต้น ท่านได้ศึกษาอย่างจริงจัง และยังได้นำเอาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ มาช่วยเหลือผู้อื่นในโอกาสต่อมาด้วย

เมื่อท่านได้มาครองวัดปากคลองแล้ว ท่านก็ได้ใช้ควมรู้ที่ได้เล่าเรียนมา เช่น ในด้านเวชศาสตร์อันเกี่ยวกับการแพทย์แผนโบราณ เป็นต้น ได้ทำประโยชน์สงเคราะห์ผู้อื่นตลอดมาอีกอย่างหนึ่ง ท่านเป็นผู้มีกฤตยาคมแก่กล้า มีจิตตานุภาพสูง จึงทำให้ท่านเป็นผู้มีเกียรติคุณมีชื่อเสียง เป็นที่เคารพนับถือของชนทุกชั้นตั้งแต่ราษฏร สามัญชนไปจนถึงข้าราชการผู้ใหญ่ เช่น พระยาสุรพันธุ์เสนีย์ (อิ้น บุนนาค)

หลวงพ่อโศก ท่านทุ่มเทชีวิตจิตใจของท่าน ช่วยเหลือประชาชนในด้านหยูกยาด้วยความเมตตามิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย แม้บางครั้งจะได้พักผ่อนหรือจำวัดในเวลากลางคืนแล้วก็ตาม แต่เมื่อใครมีธุระมาหาท่านและมีเสียงสุนัขเห่าขึ้น หลวงพ่อก็จะลุกขึ้นลงจากกุฏิไปถามไถ่ดูถ้าเกี่ยวกับเรื่องเจ็บไข้ ก็จะจัดยาให้ทันที เพราะหลวงพ่อมียาสะสมไว้มากทั้งยาสมุนไพรและยาสำเร็จรูป ยาต่างๆ ของหลวงพ่อ มีไว้แจกจ่ายเป็นทานหลวงพ่อโศก มียาทุกชนิดที่จำเป็นแก่การรักษาโรคเป็นยาต้มก็มี ยาผง ยาเม็ด ยารักษาตา ยานัตถุ์ น้ำมันมนต์ ยาอุทัย ตั้งวางไว้เต็มห้องบนกุฏิและที่ปลูกไว้ในวัดก็มีอีกมาก วัดปากคลองในสมัยนั้น จึงเสมือนโรงพยาบาลเพราะมีคนไปขอยาท่านวันหนึ่งๆ มิใช่น้อย

หลวงพ่อโศก ท่านเดินทางไปเรียนวิชาการสร้างมีดหมอ (พระขรรค์) นี้มาจากสองสำนักคือ หลวงพ่อคล้าย วัดพระทรง และ หลวงพ่อแหล่ม วัดบางคลี่ จ.สมุทรสงคราม ตอนต่อมาได้ย้ายไปวัดจันทร์เจริญสุข

หลวงพ่อโศก ออกบิณฑบาตทุกวันและทำวัตรเช้าเย็นมิได้ขาด ท่านมีเมตตาปรานีแก่ทุกผู้ทุกนาม จึงเป็นที่รักเคารพของชาวบ้านเป็นอย่างมาก

พระครูอโศกธรรมสาร (หลวงพ่อโศก สุวัณโณ) วัดปากคลองบางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
พระครูอโศกธรรมสาร (หลวงพ่อโศก สุวัณโณ) วัดปากคลองบางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

◉ มรณภาพ
พระครูอโศกธรรมสาร (หลวงพ่อโศก สุวัณโณ) วัดปากคลองบางครก มรณภาพอย่างสงบ วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๒ สิริอายุรวมได้ ๖๗ พรรษา ๔๗

◉ วัตถุมงคล
ด้านวัตถุมงคล หลวงพ่อโศก จัดสร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง แต่ที่ขึ้นชื่อ อาทิ พระเครื่องรุ่นเนื้อเกสร และเนื้อชินต่างๆ ตะกรุดจันทร์เพ็ญ ตะกรุดจันทร์ตรี ตะกรุดสามเพ็ญ ผ้ายันต์ราชสีห์ ผ้ายันต์บัวคว่ำบัวหงาย ปลาตะเพียน น้ำมันมนต์ น้ำเต้ากันไฟ แต่ที่ลือชื่อมากที่สุดคือ เหรียญพระจันทร์ครึ่งซีก เนื้อโลหะทองเหลืองและเนื้อชิน กึ่งกลางเหรียญทำเป็น รูปพระจันทร์เสี้ยว เหนือพระจันทร์เป็นอุณาโลม ข้างล่างพระจันทร์เขียนคำว่า อุ และพระขรรค์เขาควายเผือก ใช้สำหรับการปราบภูตผีปิีศาจ และคุ้มกันอันตราย และปลัดขิกทำด้วยไม้คูน (การะพริก) ตายพรายลงอาคม มีอานุภาพป้องกันสรรพอันตรายร้อยแปด และปัจจุบันยังเป็นวัตถุมงคลที่ยังได้รับความศรัทธาสูง

พระครูอโศกธรรมสาร (หลวงพ่อโศก) เป็นเกจิอาจารย์ที่ชาวเมืองเพชรให้ความเคารพนับถือไม่น้อยกว่าพระอาจารย์องค์อื่น ท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดปากคลองมีเครื่องรางหลายอย่างที่โด่งดังเป็นที่รู้จักในยุคนั้น อาทิ คุณพระปลัด, น้ำเต้ากันไฟ, และอีกหลายอย่างเมื่อช่วงประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๐ กว่านั้นทางไปวัดปากคลอง แสนลำบาก ไม่สะดวกเหมือนปัจจุบันแต่ก็มีผู้ที่ศรัทธาเดินทางไปนมัสการท่านเพื่อขอของดีกันมากมายแน่นวัด ยิ่งตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตอนญี่ปุ่นบุกไทยด้วยแล้วผู้คนต่างต้องการของดีจากท่านเป็นจำนวนมากเพื่อคุ้มครองป้องกันชีวิต

เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก จ.เพชรบุรี ออกปี พ.ศ.๒๔๘๐ ส่วนมากเกจิยุคก่อนจะไม่ยอมสร้างเหรียญรูปเหมือน จึงขอให้เป็นเหรียญพระพุทธพนมมือดังหนึ่งจะให้พรแก่พุทธศานิกชนทุกคนหรือเหล่าลูกศิษย์ลูกหา และหลังยันต์มีคำข้าว หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ และหูเชื่อม

เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก จ.เพชรบุรี ปี๒๔๘๐
เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก จ.เพชรบุรี ปี๒๔๘๐

นอกจากนี้ยังมี เหรียญพระครูอโศกธรรมสาร หรือ หลวงพ่อโสก วัดปากคลองบางครก จ.เพชรบุรี พ.ศ.๒๔๘๓ สร้างเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพหลวงพ่อ นับเป็นเหรียญรุ่นแรก ที่มีการสร้างเป็นรูปหลวงพ่อ เนื่องจากสมัยที่หลวงพ่อยังอยู่ ท่านไม่เคยสร้างหรือยินยอมให้ผู้ใดสร้างวัตถุมงคลใดๆ ที่มีรูปของท่านไว้เลยแม้สักรุ่น

เหรียญหลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก ปี๒๔๘๓
เหรียญหลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก ปี๒๔๘๓

การสร้างพระขรรค์ตามตำราโบราณของท่าน กำหนดว่าเขาควายนั้นจะต้องประกอบด้วยลักษณะดังนี้ เขาควายเผือก ต้องตายโหง คือ ถูกยิงตาย ขวิดกันเองตายหรือถ้าถูกฟ้าผ่าตายได้ก็ยิ่งวิเศษ เขาควายนั้น จะต้องไม่ถูกต้มมาก่อนกล่าวคือเมื่อควายตายลงก็ต้องชำแหละตัดเขาออกสดๆ ไม่ต้องรอให้แล่ควายออกเป็นส่วนๆ แล้วจึงนำหัวมาต้มเพื่อเอาเขาออกได้ นำเขาควายนั้นมา แกะเป็นรูปพระขรรค์เวลาแกะให้ตัดออกเป็นชิ้นพอเหมาะกับการแกะให้จำไว้ว่าทางไหนทางโคนเขา ทางไหนทางปลายเขาให้ทำเครื่องหมายไว้เวลาแกะให้แกะจากโคนเขาไปหาปลายเขา เป็นทางเดียวตลอดเวลาการแกะจนสำเร็จเท่านั้นถ้าทวนแม้แต่ครั้งเดียวใช้ไม่ได้ต้องทิ้งไป ขั้นต่อมาจึงนำพระขรรค์ที่แกะเสร็จแล้วนำมาลงอักขระในที่นี้จะแยกออกเป็นสองลักษณะเพราะเป็นการลงเต็มและย่อทั้งนี้และทั้งนั้นก็เนื่องมาจาก พระขรรค์ของหลวงพ่อมีทั้งขนาดใหญ่บูชาประจำบ้านการลงถ้าอันใหญ่จะลงเต็มบทถ้าขนาดเล็กจะลงหัวใจเท่านั้น

คาถากำกับพระขรรค์มีดังนี้ ให้ตั้งนะโมฯ ๓ จบ แล้วตามด้วยพระคาถา “พุทโธปัพพะชายาโน สัพพะศัตรู วินาสสันติ ธัมโม ปัพพะชายาโน สัพพะศัตรู วินาสสันติ สังโฆปัพพะชายาโน สัพพะศัตรู วินาสสันติ

พระขรรค์ คือ อาวุธปลายแหลม คล้ายมีด แต่มีสองคมและเรียวตรงกลาง พระขรรค์เล่มนี้จัดเป็นเทพศาสตราใช้สำหรับการปราบภูตผีปีศาจ และคุ้มกันอันตรายคือแทนที่จะให้เหล็กตีเป็นใบมีดแต่ใช้เขาควายเผือกฟ้าผ่าตายมาทำเป็นพระขรรค์แทนวัตถุประสงค์ในการสร้างก็ดุจเดียวกับ “มีดหมอ” นั่นเองอย่างเช่นพระขรรค์ที่ทำด้วยเขาควายเผือกของ หลวงพ่อโศก วัดปากคลอง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เขาจะออกสีน้ำผึ้งเป็นที่นิยมสวยงามและหายากเป็นที่สุด ตลอดทั้งเล่มยาวประมาณ ๔ นิ้ว

พระขรรค์ หลวงพ่อโศก สุวัณโณ วัดปากคลองบางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
พระขรรค์ หลวงพ่อโศก สุวัณโณ วัดปากคลองบางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

ครั้งหนึ่ง มีเรื่องเล่ากันว่า “เสือขาว” ลูกศิษย์หลวงพ่อดิ่งแขวนพระปิดตา และตะกรุดหลวงพ่อดิ่ง แต่ไม่ประพฤติตนเป็นคนดีเป็นที่ต้องการตัวของตำรวจเป็นอย่างมาก อาวุธปืนไม่สามารถทำอันตรายเสือขาวได้แต่อย่างใดทางตำรวจจึงมากราบหลวงพ่อดิ่งผู้เป็นอาจารย์เพื่อปรึกษาหาแนวทางในการคัดของเสือขาวหลวงพ่อดิ่งท่านว่า ไม่มีอะไรคัดของของท่านได้ ยกเว้นอย่างเดียว คือ พระขรรค์หลวงพ่อโศก ผู้เป็นสหธรรมิกของท่านเพียงรูปเดียวโดยให้ใช้ปลายพระขรรค์เขียนคาถาตามที่ท่านให้ลงที่ลูกปืนผลสุดท้ายเสือขาวต้องจบชีวิตการเป็นโจรด้วยเหตุแห่งการล้างอาถรรพ์คัดของโดยพระขรรค์หลวงพ่อโศกวัดปากคลองฯ อันศักดิ์สิทธิ์นี้

วัตถุมงคลของหลวงพ่อโศก ไม่ว่าจะเป็นเหรียญพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว พระขรรค์ ปลัดขิก ผ้ายันต์และวัตถุที่เป็นมงคลอื่น ๆ ลูกศิษย์ลูกหาผู้ใกล้ชิด และประชาชนทั่วไปได้นำไปบูชาพกพาอาราธนาติดตัว ล้วนมีประสบการณ์ปาฏิหาริย์มากมายวัตถุมงคลของท่านโดดเด่นในเรื่องคงกระพันชาตรี สยบภูตผีปีศาจ เสนียดจัญไรแคล้วคลาดปลอดภัย จากภัยพิบัติอันตรายต่างๆ ไม่ว่าจะมาจากน้ำมือของเทวดา มนุษย์และผู้ที่ไม่ประสงค์ดี ก็มลายหายสิ้นอย่างสิ้นเชิง