ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อแพ เขมังกโร
วัดพิกุลทอง
อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี
พระธรรมมุนี (หลวงพ่อแพ เขมังกโร) วัดพิกุลทอง พระเกจิอาจารย์ทรงวิทยาคม ผู้สร้างคุณานุคุณสูงส่งแก่ชาวเมืองสิงห์บุรี
◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อแพ เขมังกโร เป็นชาวจังหวัดสิงห์บุรี นามเดิมชื่อ “แพ ใจมั่นคง” เกิดเมื่อวันจันทร์ ที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๘ ตรงกับ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ณ บ้านสวนกล้วย เลขที่ ๙๓/๓ หมู่ที่ ๓ ตำบลพิกุลทอง อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี บิดาชื่อ “นายเทียน” ใจมั่นคง และมารดาชื่อ “นางหน่าย ใจมั่นคง”
◉ ปฐมวัย
เมื่ออายุได้ ๘ เดือน มารดาผู้ให้กำเนิดได้ถึงแก่กรรม ดังนั้น นายบุญ และนางเพียร ขำวิบูลย์ สามีภรรยา ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา ได้ขอเด็กชายน้อยๆ ที่มีอายุเพียง ๘ เดือน จากนายเทียน ใจมั่นคง บิดาผู้บังเกิดเกล้าโดยรับอุปการะเป็นบุตรบุญธรรม
เมื่ออายุได้ ๑๑ ปี บิดามารดาบุญธรรม ได้นำเด็กชายแพไปฝากอยู่วัด กับสำนักอาจารย์ป้อม เพื่อที่จะศึกษาเล่าเรียนตามแบบโบราณนิยม คือ การเรียนภาษาไทยภาษาขอม
นอกจากนั้น ยังได้เรียนหนังสือ มูลบทบรรพกิจ ทางธรรมก็มีพระมาลัยสูตร และยังได้หัดอ่านพระธรรมเจ็ดคัมภีร์
เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี บิดามารดาบุญธรรมได้ส่งไปศึกษาต่อที่สำนักวัดอาจารย์สม ภิกษุชาวเขมร วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ การศึกษาในกรุงเทพฯขั้นแรกได้เริ่มเรียนหนังสือโบราณท่องสนธิ เรียนมูลกัจจายนสูตร เป็นเวลา ๑ ปี ต่อมา ก็ไปเป็นนักเรียนบาลีไวยากรณ์ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ
เมื่อศึกษาหาความรู้จนอายุได้ ๑๖ ปี ก็กลับบ้านเกิด เพื่อบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๓ ณ วัดพิกุลทอง ตำบลพิกุลทอง อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี โดยมี พระอธิการพันจันทสโร เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง เป็นพระอุปัชฌาย์
ครั้นเมื่อบวชเป็นสามเณรแล้วก็ได้เดินทางกลับไปอยู่วัดชนะสงครามตามเดิม และได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ต่อไปอีก จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร
ในปี พ.ศ.๒๔๖๘ นายเทียน ใจมั่นคง บิดาผู้บังเกิดเกล้าก็ได้ถึงแก่กรรม
โดยความมุมานะพยายาม โดยอาศัยแสงสว่างจากเทียนไขหรือตะเกียง โดยส่วนมากเพราะสาเหตุนี้ นัยน์ตา อันเป็นส่วนสำคัญของสังขาร ก็เกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง ทุกครั้งที่ตรากตรำอ่านหนังสือมากเกินไปในที่สุด นายแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ ได้แนะนำ ไม่ให้อ่านหนังสืออีกต่อไป มิฉะนั้น นัยน์ตาอาจพิการได้ ดังนั้นภายหลังจากสอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยคแล้ว การศึกษาด้านพระปริยัติธรรมก็ต้องยุติลง แต่ด้วยความที่เป็นผู้มีใจใฝ่การศึกษา พระภิกษุแพ เขมังกะโร จึงได้ศึกษา และปฏิบัติสมถกัมมัฎฐาน วิปัสสนากัมมัฎฐานในสำนักของพระครูภาวนา วัดเชตุพน จนชำนาญ และดำเนินการสั่งสอนให้แก่ประชาชนทั่วไป
◉ อุปสมบท
สามเณรเปรียญแพ ขำวิบูลย์ได้ทำการอุปสมบทเมื่ออายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ในวันขึ้น ๖ ค่ำ ปีขาล ตรงกับวันพุธที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๙ ณ พระอุโบสถวัดพิกุลทอง โดยมี พระมงคลทิพย์มุนี เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิ์ราชาวาส กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูสิทธิเดช วัดชนะสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ ท่านเจ้าอธิการอ่อน วัดจำปาทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “เขมังกะโร” แปลว่า “ผู้ทำความเกษม”
ภายหลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์แพ เขมังกะโร หรือมหาแพ ก็ได้เดินทางกลับสู่วัดชนะสงคราม เพื่อตั้งใจศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรม ให้ได้ในระดับสูงที่สุด เพื่อที่จะได้นำความรู้ ความสามารถที่ได้ฝักใฝ่ศึกษาเล่าเรียนนั้น นำไปสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่า และประโยชน์ต่อชุมชนและพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ พระภิกษุแพ เขมังกะโร พยายามที่จะศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ อ่านหนังสือตำราเรียนอยู่เสมอ
ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ อาจารย์หยด พวงมสิต เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง ได้ลาสิกขาบท ทำให้ตำแหน่งว่างลง ชาวบ้านพิกุลทอง และชาวบ้านจำปาทอง จึงนิมนต์ให้พระภิกษุแพมารับเป็นเจ้าอาวาสในเดือน เมษายน พ.ศ.๒๔๗๔ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุเพียง ๒๖ ปี ต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงค์ตำแหน่ง ตามหน้าที่การงานต่างๆ ดังนี้
พ.ศ.๒๔๘๒ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะตำบลถอนสมอ
พ.ศ.๒๔๘๓ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น พระอุปัชฌายะ
พ.ศ.๒๔๘๔ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะอำเภอท่าช้าง
พ.ศ.๒๕๒๕ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะจังหวัดสมณศักดิ์
พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ทำกิจปริยัติธรรมวินัยที่พระคณุศรีพรหมโสภิต
พ.ศ.๒๕๑๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ
พ.ศ.๒๕๒๑ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระสุนทรธรรมภาณี
พ.ศ.๒๕๓๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระสิงหคณาจารย์
พ.ศ.๒๕๓๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนชั้นสมณศักดิ์ เป็นกรณีพิเศษ
วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๕ ในวาระครบ ๖๐ พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นพระราชาคณะ ชั้นเทพที่พระเทพสิงหบุราจารย์
พ.ศ.๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นกรณีพิเศษ วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๙ ใน วโรกาสเสด็จครองราชย์ครบ ๕๐ ปี เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมมุนี
นับตั้งแต่พระมหาแพ ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดพิกุลทอง ได้บำเพ็ญประโยชน์ภายในวัด และสาธารณประโยชน์ทั่วไป พอสรุปได้ดังนี้ ดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัด ได้แก่ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ หอประชุมกุฎิสงฆ์ หอไตร หอฉัน ศาลาวิปัสสนา โรงฟังธรรม ฌาปนสถาน ศาลาเอนกประสงค์ เขื่อนหน้าวัด ฯลฯ ดำเนินการก่อสร้างสารธารณะประโยชน์ เพื่อเป็นการอนุเคราะห์แก่ประชาชนทั่วไป ดังนี้
๑.เป็นประธานในการก่อสร้างโรงพยาบาลอำเภอท่าช้าง
๒.เป็นประธานในการก่อสร้างที่ว่าการอำเภอท่าช้าง
๓.เป็นประธานในการก่อสร้างสถานีตำรวจอำเภอท่าช้าง
๔.เป็นประธานในการก่อสร้างสถานีอนามัยตำบลพิกุลทอง
๕.เป็นประธานในการก่อสร้างโรงเรียนประชาบาลวัดพิกุลทอง
๖.เป็นประธานในการหาทุนสมทบในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อำเภอ อินทร์บุรีและสะพานข้ามแม่น้ำน้อย อำเภอท่าช้าง
เป็นประธานดำเนินการก่อสร้างสาธารณประโยชน์ ให้กับโรงพยาบาลสิงห์บุรี พ.ศ.๒๕๒๘ ก่อสร้างอาคารหลวงพ่อแพ ๘๐ ปี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง ๔ ชั้น มูลค่า ๑๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท (สิบเอ็ดล้านหนึ่งแสนบาทถ้วน) สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ ๘๙ เตียง พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้เป็นค่ายาและเวชภัณฑ์ สำหรับพระภิกษุสามเณรที่อาพาธในโรงพยาบาลสิงห์บุรี เป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน)
พ.ศ. ๒๕๓๒ ก่อสร้างอาคารเอ็กซเรย์ (อาคารหลวงพ่อแพ ๘๖ ปี) เป็นอาคารคอนกรีต เสริมเหล็ก สูง ๒ ชั้น มูลค่า ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท (เจ็ดล้านบาทถ้วน) ก่อสร้างแล้วเสร็จ และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๓
พ.ศ.๒๕๓๔ ก่อสร้างอาคารหลวงพ่อแพ ๙๐ ปี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง ๖ ชั้น มูลค่า ๓๕,๐๙๕,๕๕๕ บาท (สามสิบห้าล้านเก้าหมื่นห้าพันห้าร้อยห้าสิบห้าบาทถ้วน) อาคารหลังนี้ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๔ เวลา ๐๙.๐๙ น. และเปิดให้บริการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์
พ.ศ.๒๕๓๗ โดยชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๕ เป็นหอผู้ป่วยสามัญ ชั้นที่ ๖ เป็นหอผู้ป่วยพิเศษ จำนวน๑๕ ห้อง และทางโรงพยาบาลสิงห์บุรีได้กราบทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารหลวงพ่อแพ ๙๐ ปี เมื่อวันจันทร์ที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๙
พ.ศ.๒๕๓๘ ก่อสร้างอาคารหลวงพ่อแพ เขมังกโร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง ๙ ชั้น มูลค่า ๑๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งร้อยยี่สิบล้านบาทถ้วน) ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อ วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ อาคารหลังนี้มีพื้นที่ใช้สอย ๑๑,๔๓๐ ตารางเมตร โดย ชั้นที่ ๑ – ๒ เป็นแผนกบริการผู้ป่วยนอก ชั้นที่ ๓ – ๔ เป็นฝ่ายอำนวยการ ชั้นที่ ๕ – ๙ เป็นห้องผู้ป่วย จำนวน ๖๐ ห้อง ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤษภาคม
พ.ศ.๒๕๔๑
พระธรรมมุนี ได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์อย่างเอนกอนันต์ และได้อุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้แก่ประชาชนผู้เดือดร้อน หรือตกทุกข์ได้ยากตลอดมาหลวงพ่อแพ เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรของประชาชนทั่วไปได้แผ่บารมีช่วยเหลือกิจการต่างๆ
นอกจากด้านศาสนา แล้วยังช่วยเหลือด้านการศึกษาและสาธารณสุขด้วยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมายโดยเฉพาะ ในส่วนของโรงพยาบาลสิงห์บุรี ได้รับความอนุเคราะห์จากพระเดชพระคุณหลวงพ่อแพ ดังจะเห็นได้จากการก่อสร้าง อาคารหลวงพ่อแพ ๘๐ ปี อาคารหลวงพ่อแพ ๘๖ ปี (อาคารเอ็กซเรย์) อาคารหลวงพ่อแพ ๙๐ ปี ที่เด่นเป็นสง่า และดูสวยงามภายในโรงพยาบาสิงห์บุรี และปัจจุบันกับอาคารหลวงพ่อแพ เขมังกโร ที่สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีก็ด้วยเพราะบุญบารมีของหลวงพ่อแพ ที่ท่านมอบต่อสาธุชนด้วยเมตตาธรรม
◉ มรณภาพ
จนกระทั่งวันพุธที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ เวลา ๑๒.๓๖ น. พระธรรมมุนี (หลวงพ่อแพ เขมังกโร) วัดพิกุลทอง ก็ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ ห้อง ๙๐๑ ชั้น ๙ อาคารหลวงพ่อแพ เขมังกโร โรงพยาบาลสิงห์บุรี สิริอายุ ๙๔ ปี ๗๓ พรรษา
ปัจจุบัน สรีระของ หลวงพ่อแพ ยังคงประดิษฐาน ณ วัดพิกุลทอง เพื่อให้ญาติโยมและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้สักการบูชาสืบมา
◉ วัตถุมงคล
หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง เริ่มสร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๒ และด้วยความศรัทธาในท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ท่านจึงได้สร้าง “พระสมเด็จ” ขึ้น โดยยึดถือแนวทางการสร้างของสมเด็จโตเป็นส่วนใหญ่ รวมแล้ววัตถุมงคลของท่านมีไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ พิมพ์ มีทั้งเนื้อผงและเนื้อโลหะ มีอาทิ พระสมเด็จ พระนางพญา พระรอด พระปิดตา พระลีลาทุ่งเศรษฐี พระสิวลี พระสังกัจจายน์ พระขุนแผน พระผงรูปเหมือน นางกวัก ฯลฯ ซึ่งท่านจะไม่เน้นเรื่องความสวยงามเป็นหลัก หากแต่เน้นในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ จะพิถีพิถันในการปลุกเสกให้เกิดความเข้มขลัง แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง, เมตตามหานิยม, อุดมด้วยลาภผลและโภคทรัพย์ แต่ผู้ที่ใช้วัตถุมงคลของท่านแล้วจะเกิดพุทธคุณได้นั้น ต้องรักษาศีล ๕ อย่างเคร่งครัด
สำหรับในการสร้างวัตถุมงคลของ หลวงพ่อแพ นั้นท่านได้จัดสร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางไว้จำนวนมาก แต่ที่เห็นจะเด็ดที่สุดในบรรดาวัตถุมงคลของท่าน นั้นก็คือ เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ โดยพระครูอดุลวิหารธรรม หรือพระอาจารย์ชั้น เจ้าอาวาส วัดวิหารขาว อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี เป็นผู้ขออนุญาตจัดสร้างขึ้น เพื่อแจกสมนาคุณแก่ผู้ที่ร่วมบริจาคทรัพย์บูรณปฏิสังขรณ์ ศาสนสถาน ภายในวัดวิหารขาว ซึ่งขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก
จำนวนสร้างประมาณ ๔,๐๐๐ เหรียญ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อแพครึ่งองค์ หน้าตรง ขอบเหรียญด้านบนเป็นตัวอักษรเขียนว่า “หลวงพ่อพระครูศรีพรหมโสภิต”
ด้านหลังเป็นยันต์พุดซ้อน ซึ่งเป็นยันต์เอกลักษณ์ประจำตัวของหลวงพ่อแพ ใต้ยันต์เป็นตัวอักษรเขียนว่า “วัดพิกุลทอง” มีเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียว แบ่งออกได้เป็น ๕ พิมพ์ คือ ๑.พิมพ์ยันต์ขาด ๒.พิมพ์หน้าหนุ่ม ๓.พิมพ์คิ้วแตก ๔.พิมพ์หูขีด และ ๕.พิมพ์มีเม็ดตา
สำหรับพิมพ์ยันต์ขาด เนื้อเหรียญเป็นทองแดงผิวไฟ ส่วนอีก ๔ พิมพ์ เป็นเหรียญทองแดงกะไหล่ทอง
หลังจากสร้างเหรียญเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อแพได้สั่งให้ พระอาจารย์ชั้น นำเหรียญรุ่นนี้ไปให้สหธรรมิกของท่านที่เก่งกล้าทางด้านไสยเวทปลุกเสกก่อน ๒ ท่าน คือ หลวงพ่อซวง อภโย วัดชีปะขาว ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี และ หลวงพ่อสวั่น อาทิจโจ วัดเทพมงคล ต.โรงช้าง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
พระอาจารย์ชั้น ได้นำเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อแพไปให้หลวงพ่อซวง ปลุกเสกก่อนเป็นปฐมฤกษ์ที่วัดชีปะขาว มีเรื่องเล่าเป็นเกร็ดว่า ในวันนั้นหลวงพ่อซวงรู้ด้วยพลังฌานของท่านว่า พระอาจารย์ชั้น จะนำเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อแพมาให้ท่านปลุกเสกช่วงกลางวัน ท่านจึงรีบฉันอาหารกลางวัน หลังจากฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระอาจารย์ชั้นได้เดินทางมาถึงพอดี หลวงพ่อซวงบอกให้รอสักประเดี๋ยว ท่านขอตัวแปรงฟัน อันเป็นกิจวัตรประจำวันของท่านก่อน
ขณะแปรงฟันได้เกิดอุบัติเหตุ โดยแปรงสีฟันได้ชำรุดหักทิ่มเหงือกของท่านจนมีเลือดไหลออกมาเล็กน้อย จากนั้นหลวงพ่อซวงได้นำเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อแพที่บรรจุอยู่ในถุงผ้าไปปลุกเสกต่อหน้าพระประธานในกุฏิของท่าน โดยใช้เวลาปลุกเสกประมาณ ๑ ชั่วโมง จึงนำถุงเหรียญมาส่งมอบให้กับพระอาจารย์ชั้น โดยท่านได้บอกกล่าวกับพระอาจารย์ชั้นว่า ท่านได้ปลุกเสกโดยเน้นไปทางคงกระพันชาตรีและมหาอุด เนื่องจากท่านต้องบริกรรมคาถา เพื่อห้ามเลือดที่ไหลออกมาจากเหงือกของท่านพร้อมกันไปด้วย
หลังจากนั้น พระอาจารย์ชั้นได้นำถุงเหรียญนี้ไปให้ หลวงพ่อสวั่น ปลุกเสกต่อ ที่วัดเทพมงคลในวันเดียวกัน
พระอาจารย์สวั่น รูปนี้นอกจากท่านจะเชี่ยวชาญทางด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี แล้ว ท่านยังเก่งทางใช้คาถาอาคมรักษาผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัด และสัตว์ที่มีพิษกัดต่อย ใครที่ถูกสุนัขบ้าหรืองูพิษกัด เมื่อนำมาให้ท่านรักษา จะรอดตายทุกคน
หลวงพ่อสวั่น ใช้เวลาปลุกเสกประมาณ ๑ ชั่วโมง และได้บอกกล่าวกับพระอาจารย์ชั้นว่า การปลุกเสกของท่านจะเน้นหนักให้เหรียญรุ่นนี้สามารถกันเขี้ยวงาและคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
หลังจากนั้น พระอาจารย์ชั้น ได้นำเหรียญทั้งหมดไปมอบให้หลวงพ่อแพ ซึ่งท่านได้ใช้เวลาปลุกเสกนานนับเดือน โดยท่านได้บอกกล่าวกับพระอาจารย์ชั้นว่า ท่านได้ปลุกเสกเน้นหนักไปทางด้านแคล้วคลาด และเมตตามหานิยม
เมื่อเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อแพได้รับการปลุกเสกครบทั้ง ๓ คณาจารย์แล้ว พระอาจารย์ชั้นได้แบ่งเหรียญส่วนหนึ่งถวายให้หลวงพ่อแพ เพื่อไว้แจกศิษยานุศิษย์ ส่วนที่เหลือพระอาจารย์ชั้นได้นำกลับไปที่วัดวิหารขาว เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้
เหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อแพ มีประสบการณ์สูงทางด้านพุทธคุณในทุกๆ ด้าน เรื่องที่มีการกล่าวขวัญกันมาก คือ ในช่วง พ.ศ.๒๕๐๕ มีนักโทษคนหนึ่งจากเรือนจำแดนบางขวาง ต้องโทษถูกประหารโดยการยิงเป้าด้วยปืนกลมือแบล็กมันน์ แต่ไม่ว่าจะยิงอย่างไร กระสุนก็ไม่ลั่น เจ้าหน้าที่กรมราชทันต์ต้องค้นตามตัวว่ามีของดีอะไรซุกซ่อนอยู่ ปรากฏว่าไปพบเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อแพ อยู่ในซอกรักแร้ด้านขวา เมื่อนำเหรียญนั้นออกจากตัวนักโทษ กระสุนก็ได้ปลิดชีพนักโทษผู้นั้นอย่างง่ายดาย
อีกเรื่องหนึ่ง คือ ในช่วงราว พ.ศ.๒๕๑๕ มีอาสาสมัครชาวไทยกลุ่มหนึ่งประมาณ ๑๐ คน ซึ่งเป็นอดีตทหารเกณฑ์ที่ปลดประจำการแล้ว ได้ไปเป็นนักรบรับจ้างที่ประเทศกัมพูชา โดยอยู่ทางฝ่ายเขมรเสรี (ฝ่ายสาธารณรัฐ) ได้ต่อสู้กับฝ่ายเขมรแดง (ฝ่ายคอมมิวนิสต์) ปรากฏว่า มีผู้รอดตายกลับเมืองไทยมาเพียงคนเดียว ที่เหลือเสียชีวิต โดยผู้ที่รอดตายกลับมาให้ข่าวว่า ที่เขารอดตายมาได้ครั้งนั้นเนื่องจากบารมี เหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อแพ ที่เขาพกพาติดตัวไปเพียงเหรียญเดียวเท่านั้น จึงทำให้เหรียญรุ่นนี้ได้รับสมญานามว่า “เหรียญหลวงพ่อแพ รุ่นเขมรแดง”
ปัจจุบัน เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อแพ ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในวงการพระเครื่อง โดยเฉพาะชาวสิงห์บุรีจะรักและหวงแหนเป็นพิเศษ