ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อแช่ม อินทโชโต
วัดตาก้อง
อ.เมือง จ.นครปฐม
หลวงพ่อแช่ม อินทโชโต พระเกจิอาจารย์แห่งลุ่มน้ำนครชัยศรี วัดตาก้อง ต.ตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม อีกรูปหนึ่งของจังหวัดที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่เคารพนับถือของมหาชนมาตั้งแต่ครั้งสงครามอินโดจีน เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้-ไกล หลวงพ่อแช่ม เป็นพระผู้ทรงอภิญญา มีญาณทัศนะหยั่งรู้วาระจิต ท่านเป็นผู้ทรงวิทยาคมและพุทธาคมเป็นเลิศ เจ้าของฉายาว่า “เหรียญปืนไขว้”
◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อแช่ม อินทโชโต เป็นชาวนครปฐมโดยกำเนิด เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๕ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ตำบลตาก้อง จังหวัดนครปฐม โยมบิดาชื่อ ชื่น โยมมารดาชื่อ ใจ พอถึงวัยเรียนบิดามารดาจึงนำมาฝากเรียนกับ พระอาจารย์จ้อย วัดดอนเจดีย์ และได้บรรพชาเป็นสามเณร ศึกษาหนังสือไทย-ขอม และวิทยาคม ได้ศึกษาร่ำเรียนอักขระทั้งภาษาไทยและภาษาขอมกับพระอาจารย์จ้อย วัดดอนเจดีย์ ผู้เรืองวิทยาคม พระอาจารย์เห็นถึงคุณวิเศษและความใฝ่ใจของหลวงพ่อแช่ม จึงประสิทธิ์ประสาทวิทยาการด้านพุทธเวทพร้อมเคล็ดลับต่างๆ ให้โดยไม่ปิดบัง ซึ่งท่านก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างแตกฉาน
◉ อุปสมบท
ต่อมาเมื่ออายุครบบวช ท่านจึงเดินทางกลับมาอุปสมบท ณ บ้านเกิด ที่วัดตาก้อง โดยมี พระครูอุตรการบดี (ทา) วัดพะเนียงแตก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสมถกิตติคุณ (กลั่น) วัดพระประโทน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ตุ่ม ซึ่งเป็นน้าของท่าน เป็นพระ อนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “อินทโชโต”
จากนั้นท่านขออนุญาตพระอุปัชฌาย์ออกธุดงค์แสวงหาความรู้เพิ่มเติมไปจนข้ามไปถึงฝั่งพม่า และศึกษาศาสตร์ต่างๆ จากอาจารย์พม่า เดินทางกลับผ่านทางเมืองกาญจน์ เข้าสุพรรณบุรี แล้ววกกลับมา จ.นครปฐม โดยการเดินทางเท้าทั้งสิ้น ไม่ได้ขึ้นรถลงเรือ อาศัยเกวียนหรือช้างม้าแต่อย่างใด เมื่อถึงวัดพะเนียงแตก เข้ากราบนมัสการหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก พระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อทา กล่าวปรารภว่า.. “เกิดเป็นคนก็ยาก บวชเป็นพระก็ยาก บวชแล้วได้เดินธุดงค์ก็ยาก ไม่เสียทีที่เกิดหรอกชาตินี้ พระศาสนาของเราได้พระภิกษุอย่างคุณ พระศาสนาไม่ตกอับหรอก”
หลวงพ่อแช่ม จึงกราบเรียนว่า..“กลับมาครั้งนี้ก็คิดจะกราบลาไปจำพรรษาอยู่ที่วัดตาก้อง เพื่ออยู่ใกล้ญาติโยมทางโน้น”
ครั้นเมื่อมาอยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดตาก้อง หลวงพ่อแช่มถูกพระภิกษุบางกลุ่มเพ่งโทษคอยจับผิดท่าน นินทาว่าร้ายท่านว่าเป็นพระภิกษุพิเรนทร์ ไม่ร่วมสังฆกรรมกับพระสงฆ์ในวัด ไม่สวดมนต์ทำวัตรเย็นเช้า ไม่ลงฟังสวดพระปาฏิโมกข์ในวันพระ ไม่บิณฑบาตโปรดสัตว์ ไม่ปฏิบัติกิจของสงฆ์ ไม่อยู่ในปกครองของเจ้าอาวาส และหุงข้าวทำครัวกินเหมือนชาวบ้าน
จนในที่สุดมีหนังสือร้องเรียนกล่าวโทษถึงเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม เมื่อเจ้าคณะจังหวัดสอบสวนอธิกรณ์นี้ หลวงพ่อแช่มสามารถแก้ข้อกล่าวหาแต่ละข้อได้ด้วยถ้อยคำฉะฉาน
ยิ่งทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังยิ่งไปขึ้น
บำเพ็ญกิจช่วยเหลือญาติโยมตามกำลังสติปัญญาและวิชาความรู้ จนกระทั่งชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนชาวนครปฐมและใกล้เคียง รวมทั้งพุทธศาสนิกชนทั่วไป
หลวงพ่อแช่ม ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาเพิ่มเติมจากพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงของ จ.นครปฐม ในสมัยนั้นอีกด้วย อาทิ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว, หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก, หลวงพ่อกลั่น วัดพระประโทน, พระอาจารย์ตุ่ม เป็นต้น หลวงพ่อแช่ม ท่านมีพลังจิตสูง จนเป็นที่กล่าวขวัญเลื่องลือกันว่าท่านสำเร็จกสิณถึงขั้นอภิญญาทีเดียว เคยมีคนมานิมนต์ท่าน และนำรถมารับ ท่านกลับบอกว่า..“ให้ไปก่อน เดี๋ยวข้าไปถึงก่อนเอ็ง”
ปรากฏว่าท่านไปยืนรออยู่ก่อนจริงๆ ซึ่งเรื่องนี้ชาวบ้านในแถบนั้นรู้กันเป็นอย่างดี และเชื่อว่าท่านย่นระยะทางได้ เคยมีลูกศิษย์ถามท่านและอยากจะเรียนวิชานี้กับท่าน ท่านก็บอกว่า..“เมื่อเราไปย่นเขา กลับมาวัดก็ต้องมาเดินจงกรมใช้หนี้เขานะ มันไม่ง่ายนักหรอกข้าจะบอกให้ พวกเอ็งรู้ไว้ ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปย่นเข้า ที่ว่าจำเป็นก็คือ มันมีธุระด่วนต้องรีบไป”
และมีอยู่เรื่องหนึ่ง เคยมีคนมาขโมยมาลักม้าที่วัดของท่าน แต่พวกขโมยกลับจูงม้าออกจากวัดไม่ได้ เดินวนเวียนอยู่อย่างนั้น ต้องนำมาคืน ท่านก็ไม่ได้เอาเรื่อง และเทศน์สอนให้กลับใจ หลวงพ่อแช่มท่านไม่ยึดติดกับยศศักดิ์ ท่านให้พระปลั่งเป็นเจ้าอาวาสวัดตาก้อง ส่วนท่านขอเป็นพระลูกวัดธรรมดา
หลวงพ่อแช่ม อินทโชโต วัดตาก้อง ท่านสามารถทำวัตถุมงคลได้ศักดิ์สิทธิ์นัก เป็นที่เคารพนับถือของชาวนครปฐมมาก วัตถุมงคลของหลวงพ่อแช่มที่ท่านได้สร้างไว้ ได้แก่ ตะกรุดโทน ตะกรุด สามกษัตริย์ พระผงผสมดินหน้าตะโพน ธง เสื้อยันต์ ผ้าประเจียดแดง ลูกสะกด
◉ มรณภาพ
หลวงพ่อแช่ม อินทโชโต วัดตาก้อง ได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ สิริอายุรวมได้ ๘๖ ปี พรรษาที่ ๗๖
◉ ประวัติวัดตากล้อง
วัดตาก้อง เดิมมีชื่อว่า วัดไพรวัลย์นิกาวาส สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๒๒๕ เป็นเวลากว่า ๓๓๑ ปี เดิมทีนั้นบริเวณหน้าวัดมีแม่น้ำสายโบราณสายหนึ่งที่ใช้เป็นเส้นทางเดินเรือไปบ้านยาง พระแท่นดงรัง จ.กาญจบุรี หมู่บ้านตาก้องเป็นหมู่บ้านที่ประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมาเป็นเวลานับร้อยปีมาแล้ว เดิมเรียกว่า “บ้านอ้ายก้อง” สันนิษฐานว่าคงเรียกตามชื่อชาวจีนคนหนึ่งซึ่งมีฐานะร่ำรวยเป็นเจ้าของโรงหีบอ้อย ในหมู่บ้านที่มีชื่อว่า เจ๊กก่อง หรือเจ๊กก้อง
จากการบอกเล่าของผู่เฒ่าที่เล่าสืบต่อๆ กันมาว่า เหตุที่ใช้ชื่อวัดว่า “วัดไพรวัลย์นิกาวาส” นั้น เนื่องจากที่ตั้งของวัดยังเป็นป่าอยู่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้แบ่งการปกครองเป็หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ในครั้งนั้นหมู่บ้านอ้ายก้องได้ยกฐานะเป็นตำบลชื่อว่า “ตำบลตาก้อง” สันนิษฐานว่าชื่อของ “วัดไพรวัลย์นิกาวาส” คงเปลี่ยนตามชื่อของตำบลเป็น “วัดตาก้อง” มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งมีพระครูสาราภิวัฒน์ (วีระวงศ์ เตชฺสมฺปนฺโน) หรือหลวงพ่อเล็ก เป็นเจ้าอาวาส
เมื่อหลวงพ่อเล็กได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ ท่านขึ้นชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนารูปหนึ่งของ จ.นครปฐม ทั้งด้านก่อสร้างและด้านส่งเสริมการศึกธรรม ทั้งพระภิกษุและฆราวาส ในแต่ละปีมีนักเรียนในเขตใกล้เคียงกับวัดมาเรียนและสอบธรรมศึกษาไม่ตำว่า ๓,๐๐๐ คน ปัจจุบันวัดตาก้องกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในตำบลตาก้อง มีบรรยากาศร่มรื่นเหมาะกับการปฏิบัติธรรม
วัดตาก้อง มีหลวงพ่อแช่มซึ่งเป็นที่ศรัทธาของศิษยานุศิษย์ โบสถ์มหาอุตม์ อายุ ๒๐๐ ปี โบสถ์มหาอุตม์เป็นวิธีการสร้างโบสถ์ของคนโบราณเราจะเห็นว่าในอุโบสถแต่เดิมจะมีการควบคุมไม่ให้แสงสว่างจนเกินไป จะก่อผนังทึบ ไม่มีช่องหน้าต่างและมีประตูเข้าแค่ทางเดียว แต่เขากลับเจาะช่องเล็กๆ ไว้บนผนังด้านหลังพระประธาน เมื่อเราปิดประตู แสงที่ออกมาจากด้านหลังจะทำให้ดูเหมือนพระ และยังมีรูปปั้นของครูสุรพล สมบัติเจริญ
พระจุฬามณี สร้างขึ้นตามตำนานกล่าวว่า ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระเจดีย์ใหญ่งดงาม สร้างด้วยแก้วอินทนิล ยอดเจดีย์ทำด้วยทองคำแท้ ประดับด้วยรัตนะคือแก้ว ๗ ประการ ล้อมรอบด้วยกำแพงทองประดับด้วยธงทิวสีต่างๆ อย่างงดงาม มีเทพเจ้าทั้งหลายมาบรรเลงด้วยดุริยางค์ บูชาพระเจดีย์ทุกวัน พระจุฬามณีองค์นี้ท้าวสักกะเทวราชพระองค์นี้ ทรงสร้างไว้ให้เป็นเครื่องสักการบูชาของหมู่เทวดาในชั้นฟ้า ในฐานะที่พระเจดีย์นี้เป็นที่บรรจุของสำคัญสองประการคือ “พระเกศธาตุ กับพระเขี้ยวแก้วขวาของพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้พระจุฬามณีวัดตาก้อง สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.๒๔๖๕
◉ ภาพจิตรกรรมยันต์๑๐๘
จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ วิหาร และศาลาวัด สวนใหญ่เป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติมหาชาติชาดก ประเพณีท้องถิ่น รวมทั้งภาพจากวรรณคดี แต่ปัจจุบันมีวัดหลายแห่งรวมทั้งจิตรกรหลายท่านมักจะใส่ภาพเหตุการณ์ปัจจุบันลงไปด้วย สร้างสีสันเป็นข่าวฮือฮาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับภาพจิตรกรรมฝาผนังบนศาลาวัดตาก้อง แม้ว่าจะไม่มีภาพเหตุการณ์ปัจจุบันให้เป็นข่าวฮือฮา แต่จิตรกรรมฝาผนังของวัดแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าขลังสุดๆ สามารถใช้เป็นตำราเล่มใหญ่ของผู้สนใจในอักขระเลขยันต์ ทั้งนี้ พระครูสาราภิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดตาก้อง ใช้เงินหลายล้านบาทจ้างช่างมาวาดภาพยันต์ด้วยสีน้ำมัน พร้อมคำบรรยายไว้ครบ ๑๐๘ ยันต์
อุปเท่ห์อย่างหนึ่งของการลงอักขระเลขยันต์ คือให้ระวังอย่าลงอักขระทับเส้นยันต์เพราะจะทำให้ยันต์นั้นใช้ไม่ได้ ท่านเรียกว่าเป็นยันต์ตาบอด การลงยันต์หรือการเขียนยันต์หากยันต์นั้นมีคาถาหรือสูตรกำกับไว้ผู้เขียนจะต้องภาวนาคาถานั้นไปด้วยพร้อมกับการลงยันต์ ฉะนั้นจึงต้องใช้สมาธิสูง ส่วนขั้นตอนและวิธีการลงยันต์พร้อมทั้งสูตรต่างๆ ยังมีอีกมาก
สำหรับผู้ที่มีความสนใจเรื่องอักขระเลขยันต์ หากใครได้แวะไปกราบไหว้ขอพรรูปเหมือนหลวงพ่อแช่ม หากมีเวลามากพอน่าจะขึ้นไปชมภาพ “จิตรกรรม ยันต์ ๑๐๘” บนศาลาชั้น ๒
◉ ด้านวัตถุมงคล
เรื่องอภินิหารหรือความสามารถเหนือมนุษย์ปุถุชนธรรมดาของ หลวงพ่อแช่ม อินทโชโต พระเกจิอาจารย์แห่งลุ่มน้ำนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มีบุคคลที่ประสบพบเห็นด้วยตาอยู่หลายต่อหลายคน อีกทั้งเรื่องวิทยาคม มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อแช่มเป็นที่กล่าวขวัญของบรรดาผู้ที่มีโอกาสพบปะหรือใกล้ชิดกับท่าน จนบางเรื่องเมื่อฟังแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริง อย่างเช่น ทอดแหหาปลาบนบก ใช้ลอบดักเงินกลางอากาศ บางเรื่องก็พอจะฟังได้บ้าง อาทิ ย่นหนทาง และหยุดรถไฟที่กำลังวิ่งอยู่ เสกผ้าเช็ดหน้าให้เป็นกระต่าย หรือเสกผ้าอาบน้ำให้กลายเป็นงู สามารถคลุกคลีกับสัตว์ร้ายต่างๆ เช่น เสือ หมูป่า และสัตว์เลื้อยคลานมีพิษ เช่น งูจงอาง และงูเห่า ได้โดยที่มันไม่ทำอันตราย
วัตถุมงคลของท่านเป็นที่เคารพเลื่อมใสและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ซึ่งสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๕ ในช่วงที่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ทหารญี่ปุ่นยกพลเข้าสู่ประเทศไทย ลูกศิษย์จึงขอให้หลวงพ่อแช่มสร้างเหรียญพระเครื่อง ท่านจึงได้สร้างเหรียญพระเครื่องขึ้นเป็นรุ่นแรก ว่ากันว่ามีพุทธคุณล้ำเลิศในด้านคงกระพันชาตรี ฟันแทงไม่เข้าทีเดียว
นอกจากนี้แล้วยังมีวัตถุมงคลต่างๆ ของท่านล้วนได้รับความนิยมและเป็นที่แสวงหาอย่างสูง ท่านสร้างวัตถุมงคลไว้หลายชนิด ได้รับความนิยม ซึ่งแต่ละประเภทมีจำนวนไม่มากนัก บางชนิดมีราคาเช่าหากันค่อนข้างสูง มีดังนี้
๑.เหรียญรุน ๒ เป็นเหรีญเสมารูปหลวงพ่อแช่มนั่งบนพาน
๒.พระผงดินหน้าตะโพน
๓.กุมารดูดรก
๔.ตะกรุดไม้รวก ตะกรุด สามกษัตริย์ ตะกรุดฝาบาตร
๕.มหาอุตม์
๖.ผ้ายันต์ ผ้าประเจียด ผ้าเช็ดหน้ามหานิยม และ
๗.เสื้อยันต์แดง
◉ เหรียญ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง รุ่นแรก
ครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา ปีพ.ศ.๒๔๘๔ ลูกศิษย์ขอให้หลวงพ่อออกเหรียญรูปท่าน ซึ่งท่านก็อนุญาต นั่นคือที่มาของ เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแช่ม รุ่นแรก สร้างเป็นเหรียญปั๊มขอบหยัก บางทีจึงเรียกกันว่า “เหรียญพัดพุดตาน” หรือ “เหรียญกงจักร” มีหูในตัวแล้วเชื่อมต่อด้วยห่วงกลม โดยสร้างเป็นเนื้อทองแดง มีทั้งแบบรมดำและไม่รมดำ
ด้านหน้าตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อแช่มนั่งครองจีวรห่มคลุม เต็มองค์ มือข้างซ้ายยกขึ้นและมีอักขระขอม “ตัวนะ” ที่ฝ่ามือ ไม่มีอาสนะสำหรับรองนั่งแต่กลายเป็น “ปืนไขว้” แทน ซึ่งเป็นอุปเท่ห์อย่างหนึ่งทางไสยเวทเรียกกันว่า “ข่มอาวุธ” หรือเรียกว่าเป็นการตัดไม้ข่มนาม โดยรอบมีอักษรไทยว่า “หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง” มีอักขระขอมตรงอกเป็น “ตัวอะ” และบริเวณโดยรอบองค์ท่านอ่านว่า “นะ โม พุท ธา ยะ” ในหยักทั้ง ๑๖ หยัก มีพระนามย่อ พระเจ้าสิบหกพระองค์ อ่านว่า “นะมะนะอะ นอกอนะกะ กอออนออะ นะอะกะอํ”
เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกนี้ยังแบ่งแยกออกเป็น ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์หูเดียวและพิมพ์สองหู มีความแตกต่างกันที่ใบหูของรูปเหมือนหลวงพ่อแช่ม ถ้าเป็น “พิมพ์หูเดียว” หูที่รูปเหมือนจะมีเพียงหูข้างขวาของท่านเพียงหูเดียว ส่วน “พิมพ์สองหู” รูปเหมือนจะปรากฏหู ๒ หู แบบปกติ แต่พิมพ์หูเดียว จะมีจำนวนน้อยกว่าจึงเล่นหาได้ยากกว่า ประสบการณ์มากมาย เด่นทางมหาอุด คงกระพัน แคล้วคลาด