ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อแช่ม ธัมมานันโท
วัดนวลนรดิศ
เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
พระราชสังวรวิมล (หลวงพ่อแช่ม ธัมมานันโท) วัดนวลนรดิศ พระเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณทางวิปัสสนาธุระ ย่านฝั่งธนบุรี กรุงเทพฯ
◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อแช่ม วัดนวลนรดิศ นามเดิมชื่อ “แช่ม เอี้ยวสำราญ” เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๔ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นชาวธนบุรี เกิดที่บ้านบางแวก (หลังวัดโตนดในปัจจุบัน) เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ บิดาชื่อ “นายค้วน” และมารดาชื่อ “นางยิ้ม เอี้ยวสำราญ” เป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวน ๗ คน
◉ บรรพชาอุปสมบท
ในสมัยเด็กศึกษาเบื้องต้นกับชาย ตาบอดทั้งสองข้าง ชื่อ นายมา ครั้นอายุ ๑๘ ปีจึงออกจากบ้านไปบวชเณร ที่วัดนวลนรดิศ ตรงกับวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๓ โดยมี พระสาสนานุรักษ์ (ทิม รตนโชโต) เป็นพระอุปัชฌาย์
ถัดมาอีก ๒ ปี อุปสมบทที่วัดนวลนรดิศ โดยมี พระสาสนานุรักษ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดเจือและพระสมุห์เทียม วัดนวลนรดิศ เป็นคู่สวด ได้รับฉายา “ธมฺมานนฺโท”
สมัยก่อนการเล่าเรียนของพระเป็นไปอย่างลำบาก ท่านต้องข้ามไปฝั่งพระนคร เข้าศึกษานักธรรมในสำนักวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) โดยมี พระวิเชียรกวี (ฉัตร) วัดหนัง บางขุนเทียน ครั้งยังอยู่วัดพระเชตุพนฯ เป็นครูบาอาจารย์
ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี จากสำนักเรียนวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แล้วกลับมาศึกษาต่อด้านภาษาขอมกับพระอุปัชฌาย์ จนอ่านเขียนได้คล่องแคล่ว แม่นยำ กระทั่งท่องปาติโมกข์และบาลีได้เป็นอย่างดี
เมื่อท่านมีอายุพรรษามากขึ้น จึงมอบหมายหน้าที่ให้เป็นครูสอนนักธรรม และรักษาการเจ้าอาวาสแทน
◉ ในด้านการปกครอง
ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดนวลนรดิศ
ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ เจ้าอาวาสวัดนวลนรดิศ ฯ
ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ เป็นเจ้าคณะตําบลปากคลองภาษีเจริญ (สมัยนั้น)
ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นสาธารณูปการอําเภอภาษีเจริญ-หนองแขม
ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นพระอุปัชฌาย์
ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะอําเภอภาษีเจริญ-หนองแขม
ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ เป็นเจ้าคณะอําเภอภาษีเจริญ-หนองแขม (สมัยนั้น)
ในปี พ.ศ.๒๕๑๔ เป็นกรรมการสภาบริหารการคณะสงฆ์จังหวัดธนบุรี
◉ ด้านงานการศึกษา
ในปี พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม
ในปี พ.ศ.๒๔๖๒ เป็นผู้อุปการะโรงเรียนวัดนวลนรดิศ โรงเรียนภาษาไทยฯ
ในปี พ.ศ.๒๔๘๗ เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง
ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นประธานกรรมการดําเนินการสอบธรรมสนามหลวง
◉ ลำดับสมณศักดิ์
ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่พระครูศีลคุณธราจารย์
ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระนรดิศคุณาจารย์
ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชสังวรวิมล
สำหรับวัดนวลนรดิศตั้งอยู่ริมคลองบางหลวง เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดมะกอกใน ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๔
หลวงปู่ทิม พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อแช่ม เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนวัดนวลนรดิศ เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๓๓
เดิมท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เชิงสะพานพุทธฯ มีชื่อเสียงทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน และได้รับการยกย่องว่าวิทยาคมกล้าแข็ง มีเหรียญรุ่นแรก ดังและหายาก
หลวงพ่อแช่ม เป็นพระเกจิที่ไม่เคยว่างเว้นจากศาสนกิจโปรดญาติโยม ยิ่งพิธี พุทธาภิเษกพระเครื่อง จะงานเล็กงานใหญ่ ต้องมีหลวงพ่อแช่ม วัดนวลนรดิศ เข้าร่วมพิธีมิเคยขาด
พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระราชสังวรวิมล เกิดมาเพื่อทําประโยชน์ให้แก่วัดนวลนรดิศอย่างจริงจัง สมกับที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดํารงตําแหน่ง เจ้าคณะเขตภาษีเจริญ-หนองแขม พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระราชสังวรวิมลก็ได้ปกครองพระ สงฆ์ในเขตปกครองของพระเดชพระคุณด้วยเมตตาธรรม-กรุณาธรรม-มุทิตาธรรม และอุเบกขาธรรม มาโดยตลอดอย่างสม่ําเสมอ ให้การบริหารการคณะสงฆ์ในเขตนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเสมอมา จึงนับได้ว่าพระเดชพระคุณ ได้มีชีวิตอยู่เพื่อสร้างคุณธรรมและบารมีธรรม จนเป็นที่เคารพสักการ และนับถือของท่านสาธุชนในถิ่นนี้และใกล้เคียงทุกระดับบุคคล จนชาวบ้านทั่วไปมักจะเรียกพระเดช พระคุณว่า “หลวงพ่อวัดนวล” นานนับเป็นเวลาหลายสิบปีจนถึงแก่การมรณภาพลงในที่สุดของ
หลวงพ่อแช่ม วัดนวลนรดิศ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ท่านเป็นศิษย์เอกและครองวัดต่อจากหลวงปู่ทิม พระอุปัชฌาย์ จึงซึมซับพุทธาคมไว้เต็มๆ ในสมัยของท่านได้ปรากฏความเจริญรุ่งเรืองทั้งด้านศาสนวัตถุ-ถาวรวัตถุและการศึกษา เนื่องจากท่านเป็นพระเถระที่ชอบพัฒนาสร้าง สรรค์ทั้งวัตถุและผู้คนอย่างแท้จริง คนละแวกวัดจะรู้จักว่า ท่านไม่ต้องใช้คาถาใดๆ เรียกศรัทธา แค่เพียงบุคลิกหน้าตา อุปนิสัยใจคอ วัตรปฏิบัติ ก็ทำให้ผู้ที่พบเห็นเกิดความเลื่อมใสอยากกราบไหว้ทันที พ่วงด้วยหลัก ‘พรหมวิหาร ๔’ ที่ผูกมัดใจได้อย่างดีเยี่ยม
ในยุคของท่าน นับเป็นพระมหาเถระที่ไม่เคยว่างเว้นจากศาสนกิจโปรดญาติโยม ยิ่งพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่องแล้ว จะงานเล็กงานใหญ่ นอกจากหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ แล้วต้องมี หลวงพ่อแช่ม วัดนวลนรดิศ ติดบัญชีตีคู่ไปกับ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี
ทั้งนี้ ก็ด้วยเชื่อในบุญฤทธิ์จิตตานุภาพของท่านทั้งสามที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันกล่าวขวัญกันว่า กสิณของหลวงพ่อแช่มแก่กล้ามาก สำเร็จทั้งอาโปกสิณ และเตโชกสิณ สามารถล่วงรู้ว่าโยมจะใส่บาตรด้วยอะไร ถึงขนาดหลวงปู่ทิมต้องตักเตือนอยู่เสมอด้วยกลัวว่าจะใช้ผิดทาง ในประวัติหลวงปู่เอี่ยมปฐมนาม วัดสะพานสูง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เจ้าของพระปิดตาอันลือลั่น บันทึกไว้ว่าได้เคยมาอยู่จำพรรษาที่วัดนวลนรดิศประมาณ ๕-๖ ปี จึงเชื่อกับว่า หลวงพ่อแช่ม ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากหลวงปู่เอี่ยมด้วย เนื่องจากท่านเป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่ทิม สิ่งที่ยืนยันได้ชัดก็คือ เมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว ได้พบ ‘ตะกรุดของหลวงปู่เอี่ยม’ อยู่ในกุฏิถึง ๓ ดอก
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องจริงจากปากผู้ใกล้ชิดว่า ในคราวที่ท่านจัดสร้างเหรียญรุ่นแรกปี พ.ศ.๒๕๑๐ ท่านได้ตั้งใจปลุกเสกจนกระทั่งได้ยินเสียงเหรียญวิ่งกระทบกันอย่างชัดเจน
ส่วนใหญ่แล้วท่านจะแจกโดยไม่ต้องแลกกับการทำบุญใดๆ เพราะนิสัยของท่านไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ให้ความเสมอภาคแก่ผู้ที่บากหน้ามาพึ่ง ช่างตัดผมซึ่งปลงเกศาท่านเป็นประจำ และปรนนิบัติรับใช้ท่านตลอดมาจนละสังขาร ถึงกับกล่าวว่า ‘หลวงพ่อวัดนวลฯ ท่านจะไม่รักใคร่เอ็นดูใครมากกว่าใคร’
ด้วยเหตุนี้ ในยามที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ใครต่อใครก็อยากไปสนทนาวิสาสะ ด้วยซาบซึ้งในไมตรีจิตที่ท่านหยิบยื่นให้ และข้อธรรมเตือนใจที่มากด้วยอรรถรส เห็นชัดในพระเดชและพระคุณที่เกื้อการุณแก่ทุกผู้นาม ทั้งนุ่มนวล และทำให้แช่มชื่นใจไม่รู้คลาย
◉ มรณภาพ
พระราชสังวรวิมล (หลวงพ่อแช่ม ธัมมานันโท) วัดนวลนรดิศ ท่านมรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๗
◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงพ่อแช่ม ธัมมานันโท วัดนวลนรดิศ แม้จะมีวัตถุมงคลไม่มาก แต่ในด้านความนิยมศรัทธานั้นไม่น้อย อาทิ เหรียญรุ่นแรกปี พ.ศ.๒๕๑๐, รุ่น ๒ ปี พ.ศ.๒๕๑๓, รุ่น ๓ ปี พ.ศ.๒๕๑๘ ฉลองอายุ ๙๐ ปี นอกจากนี้ มีพระผงสมเด็จ ๙ ชั้น หูบายศรี, พระสมเด็จขาโต๊ะ, รูปเหมือน ส่วนพระกริ่งมีรุ่นเดียวปี พ.ศ.๒๕๑๘