ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร
วัดพวงมาลัย
อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม
พระครูวินัยธรรม (หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร) วัดพวงมาลัย พระเกจิผู้เชี่ยวชาญในทางวิปัสสนากัมมัฏฐานและเรืองพุทธาคมแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง
◉ ชาติภูมิ
พระครูวินัยธรรม (หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร) วัดพวงมาลัย ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๓ ที่ตำบลบางแค อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ บิดาชื่อ “นายเทียน” และมารดาชื่อ “นางเนียม ทองพันธุ์” เป็นบุตรคนที่ ๒ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๓ คน
◉ ปฐมวัย
ในวัยเด็กของ หลวงพ่อแก้ว ได้ศึกษาพุทธาคมครั้งแรกจากบิดาตอนเป็นสามเณร ซึ่งกล่าวกันว่าบิดาของท่านเคยเป็นทหารสังกัดวังหน้า มีวิชาแก่กล้าเชี่ยวชาญในคาถาอาคม และเป็นทหารคนโปรดของวังหน้า เป็นคนอยู่ไม่เป็นที่ เนื่องเพราะร้อนวิชามักจะออกจากวังเสมอ ไม่ว่าจะเป็นตอนกลางวันหรือกลางคืน นึกอยากจะออกก็ออกเลย โดยมากมักจะปีนกำแพงหนี และถูกไล่ยิงทุกครั้ง แต่หาได้รับอันตรายไม่ แต่เมื่ออายุมากขึ้น จึงได้ลาออกจากราชการมาอยู่ที่หมู่บ้านบางแค อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
◉ บรรพชาอุปสมบท
บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๓ ขณะมีอายุได้ ๑๐ ปี ณ วัดบางแคใหญ่ อำเภออัมพวา อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๓ ณ วัดบางแคใหญ่ โดยมี หลวงพ่อเพ็ง วัดบางแคใหญ่ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “พรหมสโร”
หลังอุปสมบทได้ศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอุปัชฌาย์และเรียนหนังสือที่วัดนี้ ศึกษากับหลวงพ่อเพ็ง วัดบางแคใหญ่ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ที่เชี่ยวชาญและเก่งกล้าในทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน และเรืองพุทธาคม จากนั้นเดินทางไปเมืองเพชร เพื่อศึกษาเพิ่มเติมด้านพุทธาคมและวิปัสสนากัมมัฏฐานจาก พระอาจารย์เกตุ (พี่ชายของท่าน) วัดทองนพคุณ จังหวัดเพชรบุรี พร้อมทั้งศึกษาเรียนรู้ด้านวิชาช่างไม้ ช่างปูน จากวัดต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี จนมีความชำนาญ ด้วยเหตุที่พำนักจำพรรษาและใช้เวลาศึกษาสรรพศาสตร์ต่างๆ อยู่เมืองเพชรเป็นเวลานาน ทำให้มีคนเข้าใจผิดคิดว่าท่านเป็นชาวเพชรบุรี
ในปี พ.ศ.๒๔๒๔ ประชาชนนิมนต์ท่านให้ไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดช่องลม เนื่องจากชื่อเสียงของท่านเริ่มโด่งดังในทางคุณวิเศษต่างๆ แล้วโดยมาพร้อมกับ หลวงพ่อบ่าย ธมฺมโชโต ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสอยู่ ๖ ปีก็ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดพวงมาลัย หลวงพ่อบ่าย จึงเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลมสืบแทน ผู้คนเชื่อว่าหลวงพ่อแก้วท่านมีคุณวิเศษ สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ที่อยู่ใกล้ตัวและไกลตัวของท่านทั้งในอดีตและในอนาคตได้อย่างแม่นยำ
หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย เป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ มีคุณวิเศษหยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า มีวาจาสิทธิ์ และเป็นพระนักพัฒนา สมัยที่เป็นเจ้าอาวาสวัดพวงมาลัย ท่านทำการบูรณปฏิสังขรณ์และก่อสร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ และเสนาสนะต่างๆ ภายในวัดจนเจริญรุ่งเรือง ท่านยังได้ช่วยสร้างวัดอีกหลายแห่ง เช่น วัดเขาอีโก้ วัดสาธุชนาราม เป็นต้น ท่านจึงเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของบรรดาพุทธศาสนิกชน แม้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่อย่างพระองค์เจ้าภาณุรังษีก็ทรงเคารพเลื่อมใส ถึงกับมาสร้างวังอยู่ใกล้ๆ วัดพวงมาลัยและเสด็จมาเยี่ยมท่านเป็นประจำ
กิตติศัพท์ทางด้านวิทยาอาคมของ หลวงพ่อแก้ว เป็นที่เลื่องลือขจรไกล ลูกศิษย์ลูกหาและพุทธศาสนิกชนได้ปรากฏประจักษ์เป็นเนืองนิจ ยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่ง เมื่อครั้งดำเนินการสร้างวัดเขาอีโก้ ซึ่งอยู่ในถิ่นทุรกันดารไม่ค่อยมีใครเข้าไปนัก วันหนึ่งลูกศิษย์มาบอกว่าข้าวสารหมด ท่านก็บอกไม่เป็นไรพร้อมนั่งบริกรรมพระคาถาหยิบผ้าอาบมาพาดบนบ่าแล้วฟาดลงบนพื้นดิน ๓ ครั้ง จากนั้นก็เดินเข้าไปจำวัดปกติ พอรุ่งขึ้นเช้า ปรากฏมีพวกชาวตลาดได้หาบข้าวสารมาถวายมากมายเป็นที่อัศจรรย์แก่บรรดาลูกศิษย์ยิ่งนัก ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านในสมัยนั้นโด่งดังมาก พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงกล่าวพาดพิงถึงวัดพวงมาลัยไว้ในเรื่องวัดอัมพวันเจติยารามตอนหนึ่ง มีความว่า
“…ข้อขัดข้องนั้นคือหาเจ้าอธิการ (หมายถึงวัดอัมพวันฯ) ไม่ได้ แต่ก่อนมาเป็นวัดพระราชาคณะอยู่เสมอ แต่โทรมเข้า โทรมไม่สิ้น เพราะไม่มีใครยอมไปอยู่ การที่ไม่ยอมไปนั้นเห็นด้วยปราศจากลาภผล ไม่เหมือนวัดบ้านแหลม และวัดพวงมาลัย ซึ่งได้ประโยชน์ในด้านของขลังต่างๆ แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีสมภารดีจนราษฎรในคลองอัมพวาพากันไปทำบุญเสียที่วัดปากน้ำลึกเข้าไปข้างใน การที่จะแก้ไม่ให้ร้างไม่มีอย่างอื่นนอกจากจะหาสมภารที่ดีมาไว้…”
สําหรับ วัดพวงมาลัย ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ต.แม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ โดยสัสดีพ่วง และนางมาลัย จึงตั้งชื่อวัดว่า วัดพวงมาลัย โดยอาราธนาหลวงพ่อแก้วจากวัดช่องลม มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปแรก
ในห้วงที่ครองวัดพวงมาลัย มีผลงานการพัฒนาหลายประเภท โดยเฉพาะด้านการก่อสร้าง ด้วยหลวงพ่อแก้ว ท่านมีฝีมือเชิงช่างที่ได้ศึกษามาจากเมืองเพชร ศิษย์ของท่านสมัยนั้น หากลาสิกขาจะเก่งด้านช่างไม้, ช่างปูน สามารถนำไปประกอบอาชีพได้
รวมทั้งสร้างเจดีย์แบบมอญที่วัดพวงมาลัย เรียกว่า เจดีย์หงสาวดี หรือเจดีย์หงษา ด้านในมีพระพุทธบาทจำลองและพระพุทธปฏิมากรอยู่ทั้ง ๔ ทิศ
ชื่อเสียงเกียรติคุณในด้านความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ของท่านเป็นที่เล่าขานโด่งดังขนาดที่ว่าเจ้านายหลายพระองค์ในกรุงเทพฯ แวะมาสนทนาธรรมกับท่านถึงเมืองสมุทรสงคราม อาทิ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฯลฯ
โดยเฉพาะสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงมีความคุ้นเคยกับหลวงพ่อแก้วเป็นพิเศษ โดยได้สร้างตำหนักส่วนพระองค์ชื่อว่า “ญาโณยาน” ไว้ที่ข้างวัดพวงมาลัย ๑ หลัง เพื่อเป็นที่พักผ่อน
ตำหนักหลังดังกล่าวเป็นหลังเดียวกับที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เคยเสด็จมาประทับ แต่ปัจจุบันตำหนักนั้นได้ชำรุดทรุดโทรมลงและถูกรื้อไปในที่สุด เหลือเพียงที่ดินตกทอดแก่ทายาทในตระกูลภาณุพันธ์ ซึ่งทายาทท่านนั้นได้ถวายให้เป็นที่ธรณีสงฆ์
◉ มรณภาพ
หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย ท่านถึงแก่มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ รวมอายุได้ ๖๙ ปี พรรษา ๔๙ ในวันพระราชทานเพลิงศพ ประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธาต่างเฮโลเข้าไปแย่งอัฐิของท่านในขณะที่ไฟลุกโชนอยู่ แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดเป็นแผลไฟไหม้เลยเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก และความศักดิ์สิทธิ์ของท่านยังมีมากมายมาจนถึงปัจจุบัน
◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร วัดพวงมาลัย พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งแม่กลอง เกียรติคุณปรากฏหลักฐานในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าวัดบ้านแหลมและวัดพวงมาลัย อุดมด้วยวัตถุมงคลเครื่องรางของขลัง หลวงพ่อแก้วสร้างวัตถุมงคลไว้ให้แก่ศิษย์หลายอย่าง เช่น ตะกรุดใบลานบางปืน เหรียญปั๊ม และเหรียญหล่อหลายรุ่น ซึ่งล้วนเป็นที่นิยมอย่างมากในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์ โดยเฉพาะชาวแม่กลองและพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธา โดยเฉพาะ “เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแก้ว ปี ๒๔๕๙” ซึ่งสร้างขึ้นในโอกาสสร้างพระอุโบสถวัดพวงมาลัย มีการจัดสร้างหลายเนื้อ และแบ่งแยกพิมพ์เป็น ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์วัดและพิมพ์วังบูรพา นับเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด และสนนราคาค่อนข้างแพง เนื่องด้วยจำนวนการสร้างน้อยและหาดูหาเช่ายากในปัจจุบัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตะกรุดใบลานบังปืน หลวงพ่อแก้ว ที่จัดสร้างให้บรรดาลูกศิษย์และผู้ใกล้ชิด ตะกรุดของท่านจะยึดเอาใบลานเป็นหลักในการทำ เจาะจงจะต้องนำมาจากต้นตาลที่ขึ้นอยู่ที่ปากคลองบางปืน ต.นางตะเคียน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ใช้ยอดใบลานอ่อนเดือนห้า เหตุที่ต้องใช้ต้นตาลจากบางปืน เพราะเป็นเคล็ดคำว่า “บางปืน” นั้น เป็นคำพ้องเสียงกับคำว่า “บังปืน” ที่กร่อนคำเป็นบังปืน ใช้เป็นการข่มนาม
ครั้นได้ใบลานมาแล้ว จะนำใบลานตัดเป็นชิ้นๆ ขนาดประมาณ ๕-๖ นิ้ว แล้วจึงนำไปผึ่งแดดให้แห้ง จากนั้นจึงนำมาลงอักขระบนใบลาน อักขระตัวขอม อ่านได้ว่า “ภู ภิ ภู ภะ” ล้อมรอบด้วยตัว “มิ” ไว้ตรงกลาง ประกอบด้วยอักขระหนุนตามสมควร คาถาในการอาราธนาตะกรุดใบลานบังปืน ตั้งนะโมสามจบ นำตะกรุดจบที่หน้าผาก ว่าดังนี้ “ภูภิ ภูภะ อะมิ อุทถัง อัดโธ นะโมพุทธายะ” เมื่อคาดเข้าติดตัวให้ว่าคาถาเวลาผูกปมเชือก ดังนี้ “ภูภิ ภูภะ อะมิ มิมังกายะพัทธนัง อธิษฐานมิ” ตะกรุดใบลานบ้านบางปืน เป็นวัตถุมงคลที่ชาวแม่กลองหวงแหน เด่นด้านอยู่ยงคงกระพัน มีประสบการณ์มามากมาย
“เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย พิมพ์วัด” ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ หูเชื่อม ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อแก้วเต็มองค์ นั่งขัดสมาธิ ล้อมโดยรอบด้วยช่อดอกไม้ เหนือศีรษะเป็นตัว “อุณาโลม” หางยาวจดขอบเหรียญ รอบนอกสุดเป็นอักขระขอมอ่านว่า “พุทยัด ธาปิด ยะอุด นะอุด โมอัด” ล่างสุดเป็นปี พ.ศ.ที่สร้าง “๒๔๕๙” ด้านหลัง บนสุดเป็นตัว “อุณาโลม” ถัดมาตามแนวรอบขอบเหรียญเป็นอักขระขอมอ่านว่า “นะ โม พุท ธา ยะ อุ ทัง อัด โท ปิด คะ นะ” ช่วงกลางลงอักขระขอมว่า “ภู ภี ภุ ภะ” ต่อลงมาเป็นฉายาอ่านว่า “พรหมสโร” สำหรับ “เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย พิมพ์วังบูรพา” พระองค์เจ้าภาณุรังษี เป็นผู้สร้างถวาย ลักษณะเหรียญจะเป็นแบบเดียวกับพิมพ์วัด ต่างกันที่หูเป็นแบบหูในตัว และศิลปะการแกะแม่พิมพ์เป็นฝีมือช่างคนละคนกัน