วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

หลวงพ่อเฮง อินทโชโต วัดโสภณาราม (วัดบ้านขอม) อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อเฮง อินทโชโต

วัดโสภณาราม (วัดบ้านขอม)
อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

หลวงพ่อเฮง อินทโชโต วัดโสภณาราม (วัดบ้านขอม) อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
หลวงพ่อเฮง อินทโชโต วัดโสภณาราม (วัดบ้านขอม) อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

หลวงพ่อเฮง อินทโชโต พระเกจินักปฏิบัติ เคร่งครัดในพระวินัยมากผู้หนึ่ง แห่งวัดโสภณาราม (วัดบ้านขอม) อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อเฮง อินทโชโต นามเดิมชื่อ “เฮง สีลวรรณ์” ท่านเป็นชาวเขมรโดยกำเนิด สถานที่เกิดคือตำบลตัพพัง อำเภอเมือง จังหวัดพระตะบอง เกิดวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ ๒๔๓๓ ตรงกับวันอังคาร แรม ๔ ค่ำ ปีเถาะ เดือน ๖ บิดาของท่านชื่อ “โต” และมารดาชื่อ “ต่วน

เมื่อท่านอยู่ในวัยเยาว์อายุได้ ๑๕ ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอินทราธิบดี ตำบลหนองกระโดน อำเภอเมือง จังหวัดพระตะบอง และด้วยความที่ท่านมีจิตใจใฝ่ทางธรรมซาบซึ้งในบวรพระพุทธศาสนา หลวงพ่อเฮง จึงไม่ยอมสึก โดยครองเพศเป็นสามเณร เพื่อศึกษาวิชาความรู้ ทางภาษาบาลี และภาษาประจำชาติของท่าน

◉ อุปสมบท
จนกระทั่งมีไว้ครบ ๒๐ ปี จึงได้เข้าสู่พิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเดียวกันนี้ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๔ โดยมี พระครูธรรมจริยา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูธรรมสุวรรณ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูพรหมสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “อินทโชโต

ศึกษาพระธรรมวินัยและภาษาบาลีสันสกฤตจนมีความชำนาญ จึงหันมาศึกษาด้านสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตลอดจนพุทธาคมต่างๆ กระทั่งเห็นว่ามีภูมิความรู้พอเอาตัวรอดและรักษาตัวเองได้ จึงออกปฏิบัติธรรมรุกขมูล ธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรและสถานที่ต่างๆ ทำให้ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนสรรพวิทยากับคณาจารย์หลายท่าน

จากนั้นท่านก็ออกธุดงค์จากประเทศเขมรเข้ามายังประเทศไทย การธุดงค์ของท่านเป็นการธุดงค์แบบรุกขมูลคือ จะต้องพักปักกลดอยู่ที่โคนไม้เท่านั้น ท่านรอนแรมบุกป่าฝ่าเขา ฝ่าอันตรายทั่วทิศา จนกระทั่งมาถึงที่วัดบ้านขอม ในวันที่หลวงพ่อเฮงมาที่วัดบ้านขอมนั้น เล่ากันว่าสภาพวัดทรุดโทรมเต็มที่ วัดมีพระอยู่ ๒ รูปคือหลวงตาแฉ่ง กับหลวงตาจ๋อง

การที่ท่านมุ่งตรงมาที่วัดบ้านขอม เล่ากันว่าท่านอาจจะมาหาพรรคพวกที่เป็นชาวเขมรด้วยกันเอง เพราะเห็นว่าชื่อวัดเรียกขานว่าวัดบ้านขอม ท่านคงเข้าใจว่าหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านชาวขอมหรือเขมรอาศัยอยู่ ด้วยตัวท่านเองก็เป็นเขมรเช่นกัน แต่จริงๆ แล้วบรรดาชาวขอมหรือเขมร เคยมาอยู่ที่หมู่บ้านและวัดโสภณารามจริง ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเล่าว่า ในสมัยโบราณพวกขอมมาขุดคลองไว้ที่หน้าวัด จึงเรียกว่า “คลองบ้านขอม” หรือ “คลองขอม” และพวกขอมก็เข้ามาอยู่อาศัยจึงเรียกว่าบ้านขอม แต่วันที่หลวงพ่อเฮงเดินทางมา ถึงวัดบ้านขอม ขณะนั้นไม่มีชาวขอมหรือเขมร หลงเหลืออยู่แล้ว

วันแรกที่หลวงพ่อเฮงมาถึงวัดบ้านขอมท่านพูดภาษาไทยไม่ได้ ท่านเข้ามาถามเด็กด้วยภาษาเขมร เด็กวัดก็ฟังไม่รู้เรื่องสอบถามใครๆ ก็ฟังไม่รู้เรื่อง ชาวบ้านเมื่อทราบว่ามีพระธุดงค์ชาวเขมรมาปักกลดอยู่บริเวณวัดพูดภาษาไทยไม่ได้ก็ ไปตามตาพุ่ม ซึ่งมีเชื้อสายชาวเขมรพอพูดภาษาเขมรได้มาเจรจากับหลวงพ่อเฮง ตอนนั้นท่านอายุราว ๓๐ ปี ท่านบอกว่าจะขอพักที่วัดและจำพรรษาอยู่ด้วย ทางหลวงตาแฉ่งเองก็ไม่ขัดข้องจะได้มีเพื่อนจำพรรษาด้วย ที่วัดบ้านขอมสมัยนั้น พระที่ไหนจะไปจะมาพักไม่ขัดข้องไม่เข้มงวดกวดขันแต่อย่างใด ชาวบ้านเองก็ยินดีต้อนรับและให้ความเคารพพระอาคันตุกะทุกรูป

หลวงพ่อเฮง อยู่จำพรรษาแรก ที่วัดบ้านขอม ท่านหัดพูดภาษาไทยกับเด็กวัดบ้างกับหลวงพ่อแฉ่งและหลวงตาจ๋องบ้าง จนสามารถพูดภาษาไทยได้ดีในเวลาอันรวดเร็ว หลังออกพรรษาท่านก็หายไปจากวัด ๑ พรรษา แล้วก็กลับมาอีกครั้งหนึ่งคราวนี้เป็นการกลับมาอยู่อย่างถาวรจวบจนกระทั่งมรณภาพเลย หลวงพ่อเฮง เป็นพระนักปฏิบัติ ท่านเคร่งครัดในพระวินัยมาก ฉันอาหารมื้อเดียว ท่านเคยเล่าให้กับพระเณรฟังว่า ท่านบวชมาตั้งแต่เป็นสามเณรที่พระตระบองเรียนวิชาคาถาอาคมต่างๆ มากมาย นอกจากนั้นยังเรียนบาลีสันสกฤตอีก เวลาเรียนตอนกลางคืนไม่มีไฟฟ้าต้องใช้ธูปดอกใหญ่ๆ จุดพอมีแสงสว่างให้ท่องอ่านตำรับตำราได้ นับว่าท่านเป็นภิกษุผู้มีความเพียรเป็นเลิศ

นอกจากนี้ท่านยังมีความอดทนชอบแสวงหาความสงบ โดยการออกธุดงค์แบบรุกขมูลไปตามท้องถิ่นต่างๆ ร่ำเรียนวิชาไปเรื่อยๆ เจอพระอาจารย์รูปไหนกลางป่าเขาก็ถ่ายทอดวิชาซึ่งกันและกัน จนกระทั่งท่านเป็นพระที่มีวิชาอาคมแก่กล้าหลวงพ่อเฮง ท่านพูดภาษาฝรั่งเศสเก่งมากเนื่องจากประเทศกัมพูชา สมัยนั้นยังตกเป็นเมืองขึ้นแก่ฝรั่งเศส ประชาชนต้องพูดภาษาฝรั่งเศสตามผู้ปกครองไปด้วย

ความเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านจำพรรษาที่วัดบ้านขอมมาหลายปี ชาวบ้านก็ให้ความเคารพศรัทธากันมาก พอหลวงตาแฉ่ง มรณภาพลง ผู้ใกล้ชิดท่านก็พาไปพบกับหลวงพ่อเชย หรือพระครูมหาชัยบริรักษ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลในสมัยนั้น หลวงพ่อเชยก็พาท่านไปฝากตัวกับ หลวงพ่อชด วัดคอกกระบือ พระอาจารย์ทั้งสองรูปมีความเห็นต้องกันคือให้ หลวงพ่อเฮง ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านขอม สืบแทนหลวงพ่อแฉ่ง ท่ามกลางความยินดีปรีดาจากชาวบ้านที่ให้ความเคารพนับถือ ท่านเป็นอย่างมาก

แต่แล้วก็มีเรื่องขึ้นมาจนได้ เมื่อมีเสียงร้องเรียนไปยังท่านเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวหาว่าหลวงพ่อเฮงเป็นเพียงแค่พระปฏิบัติถือศีลบำเพ็ญเพียรเพียงอย่างเดียว ไม่มีความรู้ความสามารถอะไร ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งเจ้าอาวาสที่จะปกครองวัดได้ อีกทั้งเป็นพระที่ไม่พัฒนาอีกด้วย ซึ่งทางท่านเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาครก็เรียกหลวงพ่อเฮงไปทดสอบความรู้ ขอให้ท่านสอบนักธรรมให้ได้ ซึ่งหลวงพ่อท่านก็รับปฏิบัติ แถมยังข้ามขั้นจากนักธรรมตรีไปถึงนักธรรมโทเลยทีเดียว

ปรากฏว่าท่านเจ้าคณะจังหวัดต้องให้ท่านสอบผ่าน แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส วัดบ้านขอมอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา กาลต่อมาหลวงพ่อเฮงท่านก็ได้รับ แต่งตั้งให้เป็นประธานคุมสอบนักธรรมจังหวัดสมุทรสาครอีกด้วย หลวงพ่อเฮงท่านเป็นพระที่แปลกมาก คือท่านจะห่มจีวรอยู่เสมอ ไม่ว่าอากาศจะหนาว จะร้อนอบอ้าวสักเพียงใดก็ตาม ท่านก็จะห่มจีวรอยู่ตลอดเวลาไม่มีใครเคยเห็นท่านคลายจีวรหรือ เปลี่ยนจีวรมาเป็นลดไหล่เลย แม้แต่ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดก็ไม่เคยเห็นร่างกายของท่าน และยิ่งไปกว่านั้น ท่านไม่เคยสรงน้ำ แต่ร่างกายก็ไม่มีกลิ่นเหม็นคราบเหงื่อไคลแต่ประการใดจากคำบอกเล่าของลูกศิษย์ เวลาเอาจีวรแช่น้ำในถังน้ำถึงกับเน่าเหม็นเลยทีเดียว แต่เนื้อตัวท่านกลับไม่มีกลิ่นเหม็น ใครเข้าใกล้ชิดจะได้กลิ่นร่างกายท่านหอมเหมือนดอกพิกุล เป็นเรื่องที่ชวนสงสัยมากว่าท่านไม่เคยสรงน้ำเลยยังอยู่สุขสบายดี

สมัยที่ หลวงพ่อเฮง ท่านเป็นสมภารปกครองวัดบ้านขอม ชาวบ้านย่านบ้านขอม ย่านโคกขาม ย่านบ้านขวาง บ้านโคก และย่านมหาชัยต่างก็ให้ ความเคารพเวียนไปกราบท่านมิได้ขาดบรรดา เถ้าแก่เรือประมง พอต่อเรือเสร็จก่อนนำเรือลงน้ำ หาปลา จะต้องเอาเรือไปให้หลวงพ่อเฮงเจิมทุกครั้งไป พุทธคุณจากคาถาที่หลวงพ่อบริกรรมภาวนานั้นศักดิ์สิทธิ์นัก เรือลำนั้นจะโชคดีทำมาค้าขึ้นใครต่อเรือเสร็จจึงมักไปให้หลวงพ่อเฮงเจิมก่อน และเวลาออกเรือหาปลาก่อนออกปากอ่าวมหาชัย เรือผ่านวัดโกรกกรากลูกเรือจะต้องจุดธูปบอกกล่าว พร้อมทั้งจุดประทัดขอความเป็นสิริมงคลจงบังเกิด และให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายทั้งหลายทั้งปวงในท้องทะเลกับหลวงพ่อปู่ วัดโกรกกรากทุกลำ นี่ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่ชาวประมงมหาชัยให้ความเคารพนับถือกันมากเพราะมีความศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้กัน

รูปหล่อ หลวงพ่อเฮง วัดโสภณาราม (วัดบ้านขอม) อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
รูปหล่อ หลวงพ่อเฮง วัดโสภณาราม (วัดบ้านขอม) อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
รูปหล่อ หลวงพ่อเฮง วัดโสภณาราม (วัดบ้านขอม) อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
รูปหล่อ หลวงพ่อเฮง วัดโสภณาราม (วัดบ้านขอม) อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

◉ มรณภาพ
พระอธิการเฮง หรือ หลวงพ่อเฮง แห่งวัดบ้านขอม ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๘ ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ตึกสงฆ์อาพาธ สิริอายุของท่าน ๗๕ ปี ๕๔ พรรษา รวมสิริอายุได้ ๗๕ ปี ๕๕ พรรษา ท่ามกลางความโศกเศร้าอาลัยของชาวบ้านขอม และชาวมหาชัยเป็นอย่างมาก เล่ากันว่างานพระราชทานเพลิงศพของท่านนั้น มีผู้คนแห่แหนกันไปร่วมงานจนแน่นวัด ขณะที่สัปเหร่อเปิดดูศพหลวงพ่อครั้งสุดท้าย บรรดาลูกศิษย์ลูกหาต่างก็ยื้อแย่งเอาผ้าจีวรที่ห่มร่างอสุภท่าน เพื่อนำไปเก็บไว้บูชา เล่นเอาโกลาหลเป็นที่สุด แม้แต่ตายไปแล้วร่างของท่านก็แทบไม่เหลืออะไรเลย ก่อนจะถูกไฟเผาผลาญมอดไหม้ไป

หลวงพ่อเฮง แม้ท่านจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ เหลือไว้แต่เพียงชื่อให้สาธุชนรุ่นหลังได้รับทราบถึงคุณงามความดี เมื่อครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่ ต่อมาทางวัดได้หล่อรูปของท่านไว้ให้สักการะ กราบไหว้กัน ในแต่ละวันจะมีผู้คนเดินทางไป กราบไหว้ขอพรกันมิได้ขาด หลังสิ้นบุญหลวงพ่อเฮงไปแล้ว ทางวัดก็ได้พระอาจารย์สง่า จากวัดราษฎร์รังสรรค์ (วัดคอกควาย) มาเป็นเจ้าอาวาสแทนเมื่อวันที่ ๑๐พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๙ และได้รับแต่งตั้งเป็น “พระครูสาครธรรมโสภณ

◉ ด้านวัตถุมงคล
สำหรับวัตถุมงคล หลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม ท่านสร้างเอาไว้หลายชนิด เช่น ตะกรุดพระพุทธ, ตะกรุดน้ำเต้า, เหรียญพระพุทธพิมพ์สี่เหลี่ยม เนื้อทองแดง, เหรียญพระพุทธพิมพ์จอบ เนื้อทองแดง, เหรียญพระพุทธพิมพ์น้ำเต้า เนื้อทองแดง, พระหล่อพิมพ์พระพุทธ เนื้อเมฆพัด, พระสมเด็จยันต์ลึก ผงสีขาว

เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อเฮง อินทโชโต วัดบ้านขอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อเฮง อินทโชโต วัดบ้านขอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อเฮง อินทโชโต วัดบ้านขอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อเฮง อินทโชโต วัดบ้านขอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อเฮง อินทโชโต วัดบ้านขอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อเฮง อินทโชโต วัดบ้านขอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อเฮงยังไม่หมดเท่านั้น หลังจากท่านได้มรณภาพไปแล้ว ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ทางวัดได้มีการจัดงานฝังลูปนิมิตจึงมีการจัดสร้างวัตถุมงคลรุ่นย้อนยุกของ หลวงพ่อเฮงขึ้นมาด้วยกันหลายอย่าง เช่น
เหรียญใบสาเกรูปเหมือนหลวงพ่อเฮง, พระสมเด็จ, เหรียญพระพุทฑพิมพ์สี่เหลี่ยม, เหรียญพระพุทธพิมพ์น้ำเต้า

วัตถุมงคลชุดนี้เป็นที่ยอบรับของคนในแถวมหาชัยเป็นอย่างมากเพราะมีประสบการณ์มากจริง ขนาดโดนยิงกันจะๆ ยังไม่เป็นอะไรเลย คนมหาชัยที่หาเหรียญรุ่นแรกของท่านไม่ได้แล้วก็นิยมห้วยเหรียญสาเกรูปเหมือน หลวงพ่อเฮงกันแทนเพาะพุทธคุณมากไม่เป็นรองกัน