วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท วัดจุฬามณี อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท

วัดจุฬามณี
ต.บางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท วัดจุฬามณี ต.บางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท วัดจุฬามณี ต.บางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท (พระครูโกวิทสมุทรคุณ) วัดจุฬามณี ต.บางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคมอีกท่านหนึ่งของเมืองแม่กลอง ท่านเป็นศิษย์เอกของ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม หลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ ฯลฯ วิชาความรู้ทางคาถาอาคม

◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท นามเดิมชื่อ “เนื่อง เถาสุวรรณ” เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๒ ปีระกา เป็นบุตรของ “นายถมยา” และ “นางตาบ” เกิดที่บ้านคลองใหญ่ หมู่ที่ ๔ ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

◉ การศึกษา
จบการศึกษาชั้นประถม ๔ จากโรงเรียนวัดบางกะพ้อม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓

◉ อุปสมบท
หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท (พระครูโกวิทสมุทรคุณ) วัดจุฬามณี เมื่ออายุ ๒๓ ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๕ ณ อุโบสถวัดบางกะพ้อม ต.อัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยมี หลวงพ่อคง ธมฺมโชโต เจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อแช่ม โสฬส เจ้าอาวาสวัดจุฬามณี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ปล้อง วัดบางกะพ้อม เป็นอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “โกวิโท”

หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท วัดจุฬามณี ท่านสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดจุฬามณี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ ขณะเดียวกันท่านก็มีความเชี่ยวชาญในทางวิปัสสนา และพุทธาคม เป็นอย่างมาก เนื่องด้วยท่านได้อาจารย์ดีเป็นเบื้องต้น ตั้งแต่อุปสมบท ประกอบกับความตั้งใจมั่นในการศึกษา และปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยได้ศึกษาจาก หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม พระเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังของ จ.สมุทรสงคราม เจ้าของเหรียญ ๑ ใน ๕ ชุดเบญจภาคีเหรียญยอดนิยมของวงการพระเครื่องเมืองไทย

นอกจากนี้ท่านยังได้เรียนวิชาอาคมต่างๆ จาก หลวงพ่อแช่ม เจ้าอาวาสวัดจุฬามณี และ หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ ผู้สร้างตำนาน ตะกรุดลูกอม อันลือลั่น ไล่เรียงรายนามอาจารย์ของหลวงพ่อเนื่องแล้ว จึงไม่ต้องแปลกใจในความรู้ความสามารถ และความเข้มขลังในสายพุทธาคม ที่หลวงพ่อเนื่อง ท่านได้สืบทอดมาจากพระเกจิอาจารย์ผู้แก่กล้าสามารถหลายท่านด้วยกัน

หลวงพ่อเนื่อง เป็นพระบริสุทธิสงฆ์ที่ชาวสมุทรสงคราม และจังหวัดใกล้เคียง มีความศรัทธาเลื่อมใสเป็นอันมาก รวมทั้งงานความสามารถในด้านงานพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองมาสู่วัดจุฬามณี และชุมชนท้องถิ่น มาโดยตลอด

จนทำให้ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูโกวิทสมุทรคุณ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ และเลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาคันธุระ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ในราชทินนามเดิม

มีเรื่องเล่าขานกันมาว่า หลวงพ่อเนื่อง เคยต้องอธิกรณ์ โดนตั้งกรรมการสอบสวนถอดสมณศักดิ์ เนื่องจาก ท่านมีชื่อเสียงเรื่องการใบ้หวย จนมีชาวบ้านเข้าขอเลขเด็ดกันไม่ขาดสาย

จนมีพระเถระรูปหนึ่ง ท้าทายท่านว่า..“คุณเนื่อง ถ้าคุณแน่จริงเห็นเลขจริง ให้มาพิสูจน์สักสองตัวได้ไหม

หลวงพ่อเนื่องตอบกลับไปว่า..“พระเดชพระคุณจะให้สัจจะกับเกล้ากระผม ได้ไหมว่าจะไม่เอาไปแทง ถ้าให้สัจจะ เกล้ากระผมก็จะให้เลขเพื่อพิสูจน์ว่า เกล้ากระผมเห็นจริงหรือไม่จริง

หลังจากท่านเจ้าคุณให้สัจจะ ท่านก็ได้เขียนตัวเลขรางวัลที่ ๑ ใส่กระดาษแล้วก็ได้ขอให้ท่านเจ้าคุณท่านเก็บไว้ในตู้เซฟ ครั้นประกาศผลก็ให้เปิดกระดาษนั้นคลี่ดู ปรากฏว่า “ตัวเลขที่ท่านเขียนไว้ในกระดาษตรงกับรางวัลที่ ๑ ของกองสลากไม่ผิดเพี้ยน”

วัดจุฬามณี เป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่างปี ๒๑๗๒-๒๑๙๐ ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง เดิมชื่อ วัดแม่เจ้าทิพย์ เป็นวัดที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับราชวงศ์จักรี ฝ่ายราชนิกูล (ตระกูลบางช้าง) โดยเดิมกุฏิและอุโบสถ ล้วนสร้างจากไม้สัก ซึ่งย่อมผุพังและเสื่อมโทรมไปตามกาล ก็ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ให้อยู่ในสภาพคงทนแข็งแรง และมีความสวยงามยิ่งขึ้น ก็ด้วยความสามารถของหลวงพ่อเนื่องอย่างแท้จริง วัดจุฬามณี มีเจ้าอาวาสปกครอง เท่าที่สืบค้นได้ มีดังนี้
๑.พระอธิการยืน
๒.พระอธิการเนียม
๓.พระอาจารย์แป๊ะ
๔.พระอาจารย์ปาน
๕.หลวงพ่ออ่วม
๖.พระอาจารย์นุ่ม
๗.หลวงพ่อแช่ม
๘.หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท
๗.พระครูโสภิตวิริยาภรณ์ (พระอาจารย์ อิฏฐ์ ภทฺทจาโร) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

หลวงพ่อเนื่อง ได้ดูแลบูรณปฏิสังขรณ์วัดจุฬามณี จนเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรือง และมีความสมบูรณ์ในทุกด้าน โดยเฉพาะอุโบสถจตุรมุข หินอ่อน ๓ ชั้น กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร สูง ๑๐ เมตร มูลค่าการก่อสร้างนับสิบล้านบาท ซึ่งได้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๑ โดย สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (จวน อุฏฐายี) เสด็จทรงประกอบพิธี เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๓๐

◉ มรณภาพ
หลวงพ่อเนื่อง ท่านเริ่มมีอาการอาพาธ จนกระทั่งในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๐ เวลา ๐๖.๒๐ น. ท่านก็ได้ละสังขาร มรณภาพอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลสมิติเวช สิริอายุ ๗๘ ปี พรรษา ๕๖ ยังความโศกเศร้าเสียใจ แก่ศิษยานุศิษย์เป็นอันมาก ทิ้งไว้แต่หลักคำสอน วัตถุมงคล และผลงานการก่อสร้างวัดจุฬามณี ที่มีความสวยงาม และร่มรื่นจนทุกวันนี้ และเรื่องที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่งก็คือ สรีระของท่าน กลับไม่เน่าเปื่อยแต่อย่างใด คงอยู่ในสภาพเดิมๆ ภายในหีบแก้ว บนมณฑป ที่ทางวัดและศิษยานุศิษย์ร่วมกันจัดสร้างขึ้นมาอย่างงดงามยิ่ง

◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท” วัดจุฬามณี ต.บางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พระเกจิอาจารย์สายแม่กลอง “วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม คือ “เหรียญหลวงพ่อเนื่อง รุ่นนั่งโต๊ะ” สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๑ จำนวน ๒,๐๐๐ เหรียญ เนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียว เป็นเหรียญรุ่นแรกของวัดจุฬามณี

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง รุ่นนั่งโต๊ะ ปี พ.ศ.๒๕๑๑
เหรียญหลวงพ่อเนื่อง รุ่นนั่งโต๊ะ ปี พ.ศ.๒๕๑๑

ตอนแรกออกแบบสร้างเป็นรูปแบบเต็มองค์นั่งโต๊ะ แต่หลวงพ่อเนื่องไม่ถูกใจ จึงได้ให้สร้างเหรียญครึ่งองค์ขึ้นมาแทน จนมรณภาพ ภายหลัง พระครูโสภิตวิริยาภรณ์ (พระอาจารย์อิฏฐ์ ภัททจาโร) เจ้าอาวาสรูปต่อมา นำออกมาสมนาคุณแก่ผู้ที่ร่วมทำบุญ

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปไข่ แบบมีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนห่มจีวรลดไหล่ นั่งเต็มองค์มีโต๊ะรองรับ มือทั้งสองข้างจับที่หัวเข่า มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “พระครูโกวิทสมุทรคุณ(เนื่อง) วัดจุฬามณี” ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “ลาภผลพูนทวี สส พ.ศ.๒๕๑๑” มีอักขระยันต์ล้อมไปกับขอบเหรียญ

นอกจากนี้ยังมี วัตถุมงคลของ หลวงพ่อเนื่อง อีกรุ่นที่โด่งดัง ที่หลายคนเล่นเป็นรุ่นแรก คือ เหรียญรุ่นแรก ปี พ.ศ.๒๕๑๑ เนื้อทองแดงรมดำ รุ่นนี้ตอกโค้ดแตกต่างกันไป มีการ ตอกโค้ดตัว “น” เหนือศีรษะหลวงพ่อ เรียกว่า “น.หัว” บางเหรียญตอกโค้ดตัว “น” ที่หัวไหล่ขวาของหลวงพ่อ เรียกว่า “น.หัวไหล่” นอกจากนี้ยังมีตอกตัว “น” ที่สังฆาฏิ เรียกว่า “น.สังฆาฏิ” และตัวขอมอ่านว่า “นะ” ที่สังฆาฏิ เรียกว่า “นะ สังฆาฏิ” ฯลฯ

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นแรก
เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นแรก

พระเครื่องและวัตถุมงคลทั้งที่สร้างเองและร่วมนั่งปรก ล้วนแล้วแต่พุทธคุณสูง ผู้ครอบครองต่างมีประสบการณ์ เป็นที่ประจักษ์ “เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์” ก็เป็นหนึ่งในนั้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๗ จัดทำขึ้นโดยนายกเทศมนตรีอำเภออัมพวาขณะนั้น และเป็นเจ้าของร้านสวรรค์โอสถ ตั้งอยู่ในตลาดอัมพวา เนื่องในงานฉลองสมณศักดิ์ที่ได้รับ แบ่งออกเป็นบล็อกตาไก่ และบล็อกธรรมดา โดยบล็อกตาไก่นั้นปั๊มก่อน

บล็อกธรรมดานั้น เกิดจากการที่แจกเหรียญบล็อกตาไก่ไปจนเกือบหมด จึงสั่งให้กรรมการวัดไปปั๊มเหรียญเพิ่มเติมมาอีก แต่เนื่องจากเนื้อโลหะของชุดหลังแข็ง จึงทำให้บล็อกเริ่มชำรุด

เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท วัดจุฬามณี ต.บางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท วัดจุฬามณี ต.บางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

ดูได้จากเหรียญที่ออกมา ตัวหนังสือด้านหลังเริ่มล้ม ตาไก่ก็เริ่มที่จะไม่เป็นเม็ด ทางโรงงานก็ปั๊มจนชนวนหมด ได้เหรียญชุดนี้ออกมาไม่น่าเกิน ๓,๐๐๐ เหรียญ

รูปทรงคล้ายดอกบัวตูมคว่ำ ด้านหน้าเป็นรูปเหมือน นั่งขัดสมาธิเต็มองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคด ด้านหลังหลวงพ่อเป็นรูปพัดยศ เขียนว่า “พระครูโกวิทสมุทรคุณ (เนื่อง)” โดยบางเหรียญจะมีรอยจาร

ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์เหมือนเหรียญปาดตาลของหลวงพ่อคง เขียนว่า “ที่ระลึกงานเลื่อนสมณศักดิ์ วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม” มีอักขระยันต์ล้อมไปกับขอบเหรียญ ทุกวันนี้ กลายเป็นอีกเหรียญที่หายาก