วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ อ.เมือง จ.ลำปาง

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อเกษม เขมโก

สุสานไตรลักษณ์
อ.เมือง จ.ลำปาง

หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ อ.เมือง จ.ลำปาง
หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ อ.เมือง จ.ลำปาง

หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ พระเถราจารย์ผู้สืบเชื้อสายเจ้านายฝ่ายล้านนาแห่งลำปาง ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงให้ความเคารพนับถือ

◉ ชาติภูมิ
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๕ ได้มีครอบครัว เชื้อเจ้าผู้ครองนครลำปาง หรือเขลางค์นครในอดีต หัวหน้าครอบครัว คือ เจ้าหนูน้อย ณ ลำปาง ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น มณีอรุณ รับราชการเป็นปลัดอำเภอ ภรรยาชื่อ เจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง ทั้งสองเป็นหลานเจ้าของพ่อบุญวาทย์ วงศ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย

ครอบครัวนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ บ้านท่าเก๊าม่วง ริมแม่น้ำวัง อ.เมือง จ.ลำปาง อยู่กินกันมาอย่างมีความสุขในที่สุดเจ้าแม่บัวจ้อนได้ตั้งครรภ์ และพอถึงกำหนดคลอดตรงกับวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๕ ตรงกับวันพุธ เดือนยี่ (เหนือ) ปีชวด ร.ศ.๑๓๑ ค.ศ.๑๙๑๒ เจ้าแม่บัวจ้อนให้กำเนิดทารกเพศชาย เป็นลูกคนแรกของครอบครัว

ขณะนั้นไม่มีใครทราบกันเลย ตนบุญ ที่ครูบาศรีวิชัยได้พยากรณ์ไว้นั้นได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว บิดามารดาก็ได้ตั้งชื่อทารกนั้น เกษม ณ ลำปาง เพราะเด็กชายเกษม ณ ลำปาง ได้เกิดมาในเชื้อสายของเจ้าทางเหนือ จึงได้รับการยกย่องของคนทั่วไป ทุกคนต่างเรียกกันว่า เจ้าเกษม ณ ลำปาง หลังจากที่ได้คลอดบุตรมาได้ไม่กี่ปี เจ้าแม่บัวจ้อนได้ให้กำเนิดทารกอีกคน แต่เป็นเพศหญิง ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องของ เจ้าเกษมสืบสายเลือด แต่ทว่าเจ้าแม่น้อยคนนี้วาสนาน้อย ได้เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก จึงไม่มีโอกาสได้รูว่าพี่ชายของเธอคือ ตนบุญ ที่ชาวลำปางรอคอยเป็นสิบๆ ปี

◉ ปฐมวัย
เมื่อวัยเด็ก เจ้าเกษม ณ ลำปาง เป็นคนมีลักษณะค่อนข้างเล็กบอบบาง ผิวขาวแต่ดูเข้มแข็ง คล่องแคล่ว และมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นเด็กที่ชอบซน คืออยากรู้อยากเห็น เมื่อถึงวัยเรียน เจ้าเกษม ณ ลำปาง ได้รับการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนบุญทวงศ์อนุกูล ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ อ.เมือง จ.ลำปาง

สมัยนั้นเปิดเรียนชั้นสูงสุดแค่ชั้นประถมปีที่ ๕ เท่านั้น เจ้าเกษม ณ ลำปาง ได้ศึกษาจนจบชั้นสูงของโรงเรียน คือชั้นประถมปีที่ ๕ ใน พ.ศ.๒๔๖๖ ขณะนั้นอายุ ๑๑ ปี

เมื่อออกจากโรงเรียนก็ไม่ได้เรียน อยู่บ้าน ๒ ปี ใน พ.ศ.๒๔๖๘ อายุขณะนั้นได้ ๑๓ ปี เจ้าเกษม ณ ลำปาง ก็ได้มีโอกาสเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ โดยบรรพชาเป็นสามเณร เนื่องในโอกาสบรรพชาหน้าศพ (บวชหน้าไฟ) ของเจ้าอาวาสวัดป่าดั๊วะ ครั้นบวชได้เพียง ๗ วันก็ลาสิกขาออกไป ต่อมาอีก ๒ ปี ราว พ.ศ.๒๔๗๐ ขณะนั้นมีอายุ ๑๕ ปี เจ้าเกษม ณ ลำปาง ก็ได้มีโอกาสเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้งหนึ่ง โดยบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดบุญยืน จ.ลำปาง

เมื่อบรรพชาแล้วสามเณรเจ้าเกษม ณ ลำปาง ก็ได้จำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดบุญยืนนั่นเอง สามเณรเจ้าเกษม ณ ลำปาง เป็นคนที่ทำอะไรจริงจัง เรียนทางด้านปริยัติศึกษาธรรมะจนถึง ปี พ.ศ.๒๔๗๔ สามเณรเจ้าเกษม ก็สามารถสอบนักธรรมชั้นโทได้

◉ อุปสมบท
ครั้นมีอายุได้ ๒๑ ปี อายุครบที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุได้แล้ว จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ณ พัทธสีมาวัดบุญยืน โดยมี พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระ ธรรมจินดานายก (ฝ่าย) เจ้าอากาสวัดบุญวาทย์วิหาร ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอในขณะนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ พระคุณเจ้าท่านพระครูอุตตรวงศ์ธาดา หรือที่ชาวบ้านเหนือรู้จักกันในนาม ครูบาปัญญาลิ้นทอง เจ้าอาวาสวัดหมื่นเทศ และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเมือง จังหวัดลำปางในขณะนั้น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และยังพระเดชพระคุณ ท่านพระธรรมจินดานายก(อุ่นเรือน) เจ้าอาวาสวัดป่าดั๊วเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “เขมโก” แปลว่า “ผู้มีธรรมอันเกษม

หลังจากได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว พระภิกษุเกษม เขมโก ก็ได้ศึกษาทางด้านภาษาบาลี ซึ่งเป็นการศึกษาปริยัติอีกแขนงหนึ่ง ที่สำนักวัดศรีล้อม สมัยนั้นก็มีอาจารย์หลายรูป เช่น มหาตาคำ พระมหามงคล เป็นครูผู้สอน และยังได้ไปศึกษาที่สำนักวัดบุญวาทย์วิหาร ซึ่งมีพระมหามั่ว พรหมวงศ์ และพระมหาโกวิทย์ โกวิทญาโน เป็นครูสอน
ในเวลาเดียวกันนั้น พระภิกษุเจ้าเกษม เขมโก ก็ได้ไปศึกษาทางด้านปริยัติ ในแผนกนักธรรมต่อที่สำนักวัดเชียงราย ครูผู้สอนคือ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระเทพวิสุทธิโสภณ ซึ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดลำปางสมัยนั้น ปรากฎว่าพระภิกษุเจ้าเกษม เขมโก ก็สามารถสอบนักธรรมชั้นเอกได้ในปี พ.ศ.๒๔๗๙ ส่วนทางด้านการศึกษาบาลีนั้น ท่านเรียนรู้จนสามารถเขียนและแปลได้เป็น (มคธ) เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ยอมสอบเอาวุฒิ จนครูบาอาจารย์ทุกองค์ต่างเข้าใจว่า พระภิกษุเกษม เขมโก ไม่ต้องการมีสมณศักดิ์สูง ๆ เรียนเพื่อจะนำเอาวิชาความรู้มาใช้ในการศึกษาค้นคว้าพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาเท่านั้น

เมื่อสำเร็จทางด้านปริยัติพอควรแล้ว สามารถนำไปปฏิบัติได้โดยไม่หลงทาง ท่านจึงหันมาปฏิบัติต่อไปจนแตกฉาน แค่นั้นยังไม่พอ พระภิกษุเกษม เขมโก ได้เสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ ที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ จนกระทั่งได้ทราบข่าวภิกษุรูปหนึ่งมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนา ภิกษุรูปนี้ คือ ครูบาแก่น สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดประตูป่อง
ครูบาแก่น สุมโน เป็นพระภิกษุสายวิปัสสนา ถือธุดงค์เป็นวัตร หรือที่เรียกกันว่า พระป่า หรือภาษา ทางการเรียกว่า พระภิกษุฝ่ายอรัญญวาสี ตอนนั้นครูบาแก่น ท่านได้ธุดงค์แสวงหาความวิเวกทั่วไป ยึดถือป่าเป็นที่บำเพ็ญเพียร นอกจากมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนาแล้ว ท่านยังเก่งรอบรู้ในด้านพระธรรมวินัยอย่างแตกฉานอีกด้วย
พระภิกษุเกษม เขมโก จึงเดินทางไปขอฝากตัวเป็นศิษย์ และได้อธิบายความต้องการที่จะศึกษาในด้านวิปัสสนาให้ครูบาแก่นฟัง ครูบาแก่น สุมโน เห็นความตั้งใจจริงของภิกษุเกษม เขมโก ท่านจึงรับไว้เป็นศิษย์ และได้นำภิกษุเกษม เขมโก ออกท่องธุดงค์ไปแสวงหาความวิเวก และบำเพ็ญเพียรตามป่าลึกตามที่ภิกษุเกษม เขมโก ต้องการ จึงถือได้ว่า ครูบาแก่น สุมโน รูปนี้เป็นอาจารย์ทางวิปัสสนากรรมฐานรูปแรกของ พระภิกษุเจ้าเกษม เขมโก

ดังนั้น พระภิกษุเกษม เขมโก จึงได้เริ่มก้าวไปสัมผัสชีวิตของภิกษุฝ่ายอรัญญวาสี ประกอบกับจิตของท่านโน้มเอียงมาทางสายนี้อยู่แล้ว จึงไม่ใช่เป็นเรื่องลำบากสำหรับในการไปธุดงค์ กลับเป็นการได้พบความสงบสุขโดยแท้จริง กับความเงียบสงบ ซ้ำยังได้ดื่มด่ำกับรสพระธรรมอันบังเกิดท่ามกลางความวิเวก พระภิกษุเกษม เขมโก จึงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง โดยมีครูบาแก่นแนะอุบายธรรมอย่างใกล้ชิด ระหว่างท่องธุดงค์แสวงหาความวิเวกในที่สงัดตามป่าเขาและป่าช้าต่าง ๆ การฉันอาหารในบาตร คือ อาหารหวานคาวรวมกัน เรียกว่า ฉันเอกา ไม่รวมอาสนะกับสงฆ์อื่น ฉันมื้อเดียว ช่วงบ่ายก็จะเดินจงกรม เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ พร้อมกำหนดจิตจนกระทั่งถึงเย็น

เมื่อเสร็จจากการเดินจงกรม ก็กลับมานั่งบำเพ็ญภาวนาต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงประมาณ ๕ ทุ่ม เสร็จจากการบำเพ็ญภาวนาก็สวดมนต์ทำวัตรเย็น ในตอนดึกก่อนจำวัดท่านก็ไม่นอนเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ท่านจะหมอบเท่านั้น และท่านจะทำเป็นกิจวัตร คือการกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล แผ่เมตตาไปให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย
จนกระทั่งถึงช่วงเข้าพรรษา ที่พระภิกษุจำเป็นต้องยุติการท่องธุดงค์ชั่วคราว ต้องอยู่กับที่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง จะเป็นวัดอาราม หรือถือเอาป่าช้าเป็นวัด โดยกำหนดเขตเอาตามพุทธบัญญัติ ดังนั้นภิกษุเจ้าเกษม เขมโก จึงต้องแยกทางกับอาจารย์ คือ ครูบาแก่น ตั้งแต่นั้นมาภิกษุเจ้าเกษม เขมโก กลับมาจำพรรษาที่วัดบุญยืนตามเดิม พอครบกำหนดออกพรรษาภิกษุเกษม เขมโก ก็ติดตามอาจารย์ของท่าน คือครูบาแก่น ออกธุดงค์บำเพ็ญภาวนา ท่านถือปฏิบัติเช่นนี้เรื่อยมา

ภาพถ่าย ปี ๒๕๐๐ หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ อ.เมือง จ.ลำปาง
ภาพถ่าย ปี ๒๕๐๐ หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ อ.เมือง จ.ลำปาง

ต่อมาเจ้าอธิการคำเหมย เจ้าอาวาสวัดบุญยืนถึงแก่มรณภาพลง ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืนว่าง ทางคณะสงฆ์จึงต้องเลือกภิกษุที่มีคุณสมบัติมาปกครองดูแลวัด เพื่อเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อไป คณะสงฆ์จึงได้ประชุมกันและต่างลงความเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะเป็นภิกษุเกษม เขมโก เพราะเป็นพระที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อท่านได้รับเลือกเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน ท่านก็ไม่ยินดียินร้าย แต่ท่านก็ห่วงทางวัด เพราะท่านเคยจำวัดนี้ ท่านก็เห็นว่าบัดนี้ทางวัดบุญยืนมีภารกิจต้องดูแล ก็ถือว่าเป็นภารกิจทางศาสนาเพราะท่านเองต้องการให้พระศาสนานี้ดำรงอยู่ จึงไม่อาจจะดูดายภารกิจนี้ได้ จึงยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืน

ครูบาเจ้าเกษม เขมโก อยู่ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืนเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๒ ท่านก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส ทำหนังสือลาออกกับพระเดชพระคุณท่านเจ้าพระอินทรวิชาจารย์ (ท่านเจ้าคุณอิน อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำปาง) แต่ก็ถูกท่านเจ้าคุณยับยั้งไว้ ครูบาเจ้าเกษม เขมโก จึงจำใจกลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืนอีกระยะหนึ่งนานถึง ๖ ปี ท่านคิดว่าควรจะหาภิกษุที่มีคุณสมบัติมาแทนท่าน เพราะท่านอยากจะออกธุดงค์ ดังนั้นท่านจึงตัดสินใจสละตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืน โดยยื่นใบลากับคณะสงฆ์ในเขตปกครอง ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงเดินทางไปลาออกกับเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งอยู่ที่วัดเชียงราย แต่ท่านเจ้าคณะจังหวัดก็ไม่อนุญาต

เรื่องการลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสของครูบาเจ้าเกษม เขมโก นี้ดูค่อนข้างจะเป็นเรื่องแปลกพิสดาร แม้แต่การสละตำแหน่งลาภยศ ท่านยังต้องประสบกับอุปสรรคต่าง ๆ นานา ไม่เหมือนกับพระองค์อื่น ๆ ที่ฟันฝ่าเพื่อแสวงหาลาภยศ เมื่อท่านลาออกไม่สำเร็จประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๒ ก่อนเข้าพรรษาในปีนั้น หลวงพ่อก็หนีออกจากวัดบุญยืนก่อนเข้าพรรษา เพียงวันเดียวโดยไม่มีใครรู้ พอเช้าวันรุ่งขึ้นเข้าพรรษา หมู่ศรัทธาก็นำอาหารมาเตรียมถวายในวิหาร ทุกคนรอแล้วรอเล่าก็ไม่เห็นหลวงพ่อเกษม จึงเกิดความวุ่นวายเที่ยวตามหาตามกุฏิก็ไม่พบหลวงพ่อเกษม พอมาที่ศาลาทุกคนเห็นกระดาษวางบนธรรมาสน์ เป็นข้อความที่หลวงพ่อเกษมเขียน ลาศรัทธาชาวบ้านยาวถึง ๒ หน้ากระดาษ
ข้อความบางตอนที่จำได้มีอยู่ว่า ทุกอย่างเราสอนดีแล้ว อย่าได้คิดไปตามเรา เพราะเราสละแล้วการเป็นเจ้าอาวาส เปรียบเหมือนหัวหน้าครอบครัวต้องรับผิดชอบภาระหลายอย่าง ไม่เหมาะสมกับเรา เราต้องการความวิเวกจะไม่ขอกลับมาอีก แต่พวกชาวบ้านก็ไม่ละความพยายาม เพราะชาวบ้านเหล่านี้ศรัทธาในตัวหลวงพ่อพอรู้ว่าหลวงพ่ออยู่ที่ไหนเมื่อรวมกันได้ ๔๐-๕๐ คน ก็ออกเดินทางไปตามหาหลวงพ่อเกษม และไปพบหลวงพ่อที่ศาลาวังทาน หลวงพ่อเกษมได้ปฏิบัติธรรมที่นั่น พวกชาวบ้านได้อ้อนวอนหลวงพ่อขอให้กลับวัด บางคนร้องไห้เพราะศรัทธาในตัวหลวงพ่อมาก แต่หลวงพ่อเกษมท่านก็นิ่งไม่พูดไม่ตอบ จนพวกชาวบ้านต้องยอมแพ้ ตลอดพรรษาปี พ.ศ.๒๔๙๒ หลวงพ่อเกษมท่านก็อยู่ที่ศาลาวังทานโดยไม่ยอมกลับวัดบุญยืน

หลวงพ่อเกษม เขมโก รูปถ่ายขาวดำยุคปี พ.ศ. ๒๔๙๖
หลวงพ่อเกษม เขมโก รูปถ่ายขาวดำยุคปี พ.ศ. ๒๔๙๖

พวกชาวบ้านจึงพากันเข้าไปพบโยมแม่ของหลวงพ่อ โยมแม่รักหลวงพ่อเกษมมาก เพราะท่านมีลูกชายคนเดียว จึงให้คนพาไปหาหลวงพ่อที่ศาลาวังทาน โดยมี (เจ้าประเวทย์ ณ ลำปาง) ตอนนั้นยังบวชเป็นสามเณรอยู่ โยมแม่ได้ขอร้องให้หลวงพ่อเกษมกลับวัด แต่หลวงพ่อกลับบอกโยมแม่ว่า “แม่เฮาบ่เอาแล้ว เฮาบ่เหมาะสมกับวัด เฮาชอบความวิเวก เฮาขออยู่อย่างวิเวกต่อไป เฮาจะไปอยู่ที่ป่าเหี้ยว แม่อาง” จนทำให้โยมแม่หมดปัญญา ไม่รู้จะขอร้องยังไง ผลที่สุดก็ต้องตามใจหลวงพ่อ

วันรุ่งขึ้นหลวงพ่อเกษมก็ออกจากศาลาวังทานเดินทางไปบ้านแม่อางด้วยเท้าเปล่า เช้ามืดไปถึงป่าเหี้ยวแม่อางก็ค่ำพอดี ฝ่ายโยมมารดาพอกลับมาบ้านก็เกิดคิดถึงพระลูกชาย เพราะเกรงว่าพระลูกชายจะลำบากจึงออกจากบ้านไปตามหาพระลูกชาย โดยมีคนติดตามไปด้วยชื่อ โกเกตุ โยมแม่สั่งให้โกเกตุขนของสัมภาระเพื่อจะไปอยู่บนดอย ของที่เหลือในร้านเพชรพลอยแจกให้ชาวบ้านจนหมดเกลี้ยง ไม่เอาอะไรเลย นอกจากของใช้ที่จำเป็นบางอย่างเท่านั้น

เกตุ พงษ์พันธุ์ ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดก็พาโยมแม่ไปส่งที่แม่อาง และพวกชาวบ้านเห็นโยมแม่ของหลวงพ่อมาก็สร้างตูบกระท่อมอยู่ข้างวัดแม่อาง ส่วนหลวงพ่อเข้าบำเพ็ญภาวนาในป่าช้าบนดอยแม่อาง บำเพ็ญภาวนาบารมีวิปัสสนาปฏิบัติธรรมได้หนึ่งพรรษา ทิ้งให้โยมแม่ซึ่งอยู่กระท่อมตีนดอยก็คิดถึงพระลูกชาย โดยแม่ก็ตามไปหาที่ป่าช้าข้างเนินดอย ก็มีชาวบ้านแถวนั้นอาสาสร้างตูบกระท่อมให้โยมแม่พักใกล้ ๆ ที่หลวงพ่อปฏิบัติ ธรรม โดยมแม่บัวจ้อนได้พำนักที่ข้างเนินดอยได้พักหนึ่ง ก็ล้มป่วยลงด้วยโรคไข้ป่า ชาวบ้านก็ไปตามหมอทหารมาฉีดยารักษาให้ แต่โยมแม่ท่านมีสติที่เข้มแข็ง และยังได้สั่งเสียเณรเวทย์ว่ามีเงินซาวเอ็ดบาท ให้เก็บไว้ถ้าโยมแม่ตายให้เณรไปบอกลุงมา เมื่อสั่งเสร็จโยมแม่ก็หลับตา เณรเวทย์ก็ไปบอกหลวงพ่อเกษม หลวงพ่อก็มา ท่านได้นั่งดูอาการของโยมแม่ท่านนั่งสวดมนต์ เป็นที่น่าแปลกใจขณะที่หลวงพ่อสวดมนต์ มีผึ้งบินมาวนเวียนตอมไปตอมมาสักครู่ใหญ่ ๆ โยมแม่ก็ถอดจิตอย่างสงบ นัยน์ตาหลวงพ่อเกษมมีน้ำตาค่อย ๆ ไหลขณะที่ท่านแผ่บุญกุศลให้กับโยมแม่ ท่านยังเอ่ยว่า “แหม เฮาว่า เฮาจะบ่ไห้(ร้องไห้) แล้วนา…”

ศพของโยมแม่บัวจ้อน มีเณรเวทย์และชาวบ้านได้มาช่วยจัดการจนเสร็จพิธี ชาวบ้านช่วยเป็นเงินในสมัยนั้นได้ ๗๐๐ บาท ถือว่ามาก ศพของโยมแม่บัวจ้อนเผาที่ป่าช้าแม่อาง หลังจากที่เสร็จพิธีงานศพโยมแม่จ้อนแล้ว หลวงพ่อก็สั่งเณรเวทย์ให้กลับไปเรียนธรรมที่วัดบุญยืน อยู่มาไม่นานหลวงพ่อก็จากป่าช้าแม่อางกลับมาบำเพ็ญภาวนาที่ป่าช้าศาลาวังทานอีก เพียงหนึ่งพรรษาท่านก็เดินทางไปอยู่ที่ป่าช้านาป้อ และกลับมาอยู่ประตูม้า ซึ่งก็คือ สุสานไตรลักษณ์ ในปัจจุบัน

เมื่อสำเร็จทางด้านปริยัติธรรมแล้ว “หลวงพ่อเกษม” แสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนา จนกระทั่ง ท่านทราบข่าวว่ามีพระเกจิรูปหนึ่งมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนา คือ ครูบาแก่น สุมโน “หลวงพ่อเกษม” จึงฝากตัวเป็นศิษย์

หลวงพ่อเกษม” ได้ติดตามครูบาแก่น สุมโน ออกท่องธุดงค์ไปแสวงหาความวิเวกและบำเพ็ญเพียรตามป่าลึก

จนถึงช่วงเข้าพรรษาซึ่งพระภิกษุจำเป็นต้องยุติการท่องธุดงค์ชั่วคราวท่านจึงต้องแยกทางกับพระอาจารย์ และกลับมาจำพรรษาที่วัดบุญยืนตามเดิม พอครบกำหนดออก ก็ติดตามอาจารย์ออกธุดงค์บำเพ็ญภาวนา

ต่อมา เจ้าอธิการคำเหมย เจ้าอาวาสวัดบุญยืน มรณภาพลง ทางคณะสงฆ์ได้ประชุมกันเพื่อหาเจ้าอาวาสรูปใหม่และต่างลงความเห็นพ้องต้องกันเห็นควรว่า พระภิกษุ เจ้าเกษม เขมโก มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อท่านได้รับเลือกเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน ท่านก็ไม่ยินดียินร้าย แต่ท่านก็ห่วงทางวัดเพราะท่านเคยจำวัดนี้ “หลวงพ่อเกษม” เห็นว่าถือเป็นภารกิจทางศาสนาเพราะท่านเองต้องการให้พระศาสนานี้ดำรงอยู่ จึงยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืน หลังจากนั้นท่านก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสหลายครั้ง เนื่องจากท่านอยากจะออกธุดงค์ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ดังนั้น หลวงพ่อเกษม จึงออกจากวัดบุญยืนไปที่ศาลาวังทานพร้อมเขียนข้อความลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสไว้ด้วย

หลวงพ่อเกษม เขมโก เป็นพระสายวิปัสสนาธุระ ไม่ยึดติดแม้แต่สถานที่ ท่านได้ปฏิบัติธรรม ณ สุสานไตรลักษณ์ตลอดชนชีพ ท่านปฏิบัติศีลบริสุทธิ์ตามพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่ติดยึดในกิเลสทั้งปวง ท่านเป็นพระที่เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดลำปางและพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ

หลวงพ่อเกษม" เถราจารย์แห่ง ลำปาง ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงนับถือ
หลวงพ่อเกษม” เถราจารย์แห่ง ลำปาง ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงนับถือ

หรือแม้กระทั่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ทรงมีความเคารพศรัทธาในความที่ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการ หลวงพ่อเกษม หลายครั้ง และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๖

หลวงพ่อเกษม เขมโก ได้บำเพ็ญเพียรภาวนาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ท่านฉันอาหารน้อยมาก อีกทั้งอดอาหารเป็นระยะ ๆ ร่างกายของท่านเป็นโรคกระดูกผุและมีอาการหืดหอบมีอาการไข้ขึ้นสูง

จนถึงเมื่อวันอังคารที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๘ เวลาประมาณ ๑๖.๓๐ นาฬิกา หลวงพ่อเกษม เขมโก เจ้าสำนักสุสานไตรลักษณ์ ประตูม้า จังหวัดลำปาง ได้ถูกนำตัวเข้ารักษาในห้องไอซียู โรงพยาบาลศูนย์ภาคเหนือลำปางเป็นการด่วน ด้วยอาการเลือดน้อยจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ

(มีข่าวว่าหลวงปู่สิ้นลมหายใจ ที่กุฏิของท่าน และคุณอดิศร วัฒนบุตร หรือเจ้าของนามปากกา “ดาว ลำปาง” เป็นคนนำส่งที่โรงพยาบาลลำปาง หลวงปู่สิ้นลมหายใจไปประมาณ ๒ ชั่วโมง และแพทย์ได้ปั๊มหัวใจช่วยชีวิต ขึ้นมาได้ ได้ความว่า “หลวงปู่ฟื้นขึ้นมาจากสิ้นลมหายใจไป ๒ ชั่วโมง ท่านก็ได้สวดมนต์พึมพำทันที เป็นอันว่าท่านปลอดภัย”)

หลังจากนั้นในวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๘ ทางสำนักพระราชวังได้ส่งแพทย์หลวงมาดูแลอาการของหลวงพ่อเกษมอย่างใกล้ชิด และแพทย์ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องของโรคแทรกซ้อนระบบหายใจของหลวงพ่อ ทั้งนี้เนื่องจากหลวงพ่อเกษม มีโรคเกี่ยวกับถุงลมโป่งพอง ปอดติดเชื้ออยู่ อาการหลังจากนั้นประมาณ ๒ สัปดาห์ก็ดีขึ้นเป็นบางส่วน โดยเฉพาะในเรื่องของอาการไข้ที่ลดลง แต่การให้อาหารก็ยังใช้สายยาง ใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้อาการหลอดลมตีบตันดีขึ้น

ทางคณะแพทย์ที่ทำการรักษา หลวงพ่อเกษม ได้สรุปอาการของหลวงพ่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบเป็นระยะ ๆ โดยในวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๘ และ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๘ ได้สรุปอาการของหลวงพ่อเกษมตลอด ๒๔ ชั่วโมงที่ผ่านไปว่าอาการดีขึ้น ไม่มีเลือดออกทางเดินอาหารและทางสายยาง ไม่มีไข้ อาการรับหรือตอบสนองมีเล็กน้อย ส่วนปอดที่ติดเชื้อสามารถควบคุมได้ ส่วนอาการทั่วไปปกติ

นอกจากนั้น ผลการตรวจรักษาต้องมีการทำหนังสือแจ้งรายงานไปยังกองราชเลขาธิการเป็นระยะ ๆ เพื่อนำความกราบบังคมทูล ตามรายงานของการตรวจรักษาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ทางโรงพยาบาลได้ระดมคณะแพทย์ฝีมือดีเข้าช่วยรักษาอย่างสุดความสามารถ และตลอด ๒ อาทิตย์กว่า ๆ ก่อนที่จะมรณภาพลงนั้น อาการได้ทรุดหนักลงอย่างเห็นได้ชัด

◉ มรณภาพ
เมื่อเวลา ๑๘.๓๐ น. ของวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๙ หลวงพ่อเกษม ท่านเกิดอาการของหลอดลมตีบตันโดยฉับพลันและได้หยุดหายใจไปครั้งหนึ่ง คณะแพทย์ต้องระดมกำลังทำการรักษาอย่างเร่งด่วน ด้วยการให้ยาช่วยขยายหลอดลม และการกระตุ้นหัวใจรวมทั้งต้องใช้ไฟฟ้าช่วยกระตุ้นหัวใจ แต่แล้วก็สุดที่จะช่วยเหลือเยียวยารักษาไว้ได้ หลวงพ่อเกษมจึงได้ละสังขารด้วยอาการอันสงบ เมื่อเวลา ๑๙.๔๐ น. ของวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๙ สิริอายุได้ ๘๓ ปี ๑ เดือน ๑๗ วัน พรรษา ๖๓

◉ ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคลต่างๆ ที่ หลวงพ่อเกษม เขมโก สร้างและปลุกเสกจึงล้วนเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน อีกทั้งทวีความทรงคุณค่าเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา อาทิเช่น

เหรียญศิริมงคลเสาร์ ๕ หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง
เหรียญศิริมงคลเสาร์ ๕ หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง

เหรียญศิริมงคลเสาร์ ๕” เหรียญที่ชาวลำปางหวงแหนมาก เป็นหนึ่งในหลายๆ เหรียญที่ได้รับความนิยมอย่างสูง

ได้รับการเรียกขานว่า “เหรียญวีรชน” และด้วยรูปทรงของเหรียญเป็นรูประฆังคว่ำ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เหรียญระฆัง”

เหรียญศิริมงคลเสาร์ ๕ หรือเหรียญวีรชน หรือเหรียญระฆังหลวงพ่อเกษม ปี พ.ศ.๒๕๑๖ นี้มี ๒ เนื้อ คือ เนื้อเงินและเนื้อทองแดง ทุกเนื้อจะมีจุดตำหนิเพื่อการพิจารณาดังนี้ ด้านหน้าจะมีเส้นรัศมีออกจากองค์หลวงพ่อ และแผ่ไปยังบริเวณข้างเหรียญ ส่วนด้านหลัง จะมีเส้นรัศมีแผ่ไปยังบริเวณข้างเหรียญ และที่ใต้ตัวนะ (เหนือยันต์แถวแรก) จะมีขนแมวคล้ายกอหญ้าแผ่ออก

นอกจากนี้จะแบ่งเป็นบล็อก (พิมพ์) ต่างๆ ตามการเล่นหาของชาวลำปางได้ ๕ บล็อก คือ ๑.บล็อกเสาอากาศ (พิมพ์นิยม) ๒.บล็อกเขี้ยว ๓.บล็อกสิบโท ๔.บล็อกสิบโทมีเขี้ยว และ ๕.บล็อกสายฝน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันของจุดตำหนิแม่พิมพ์ในแต่ละบล็อก

เหรียญกองทัพสร้าง หลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง
เหรียญกองทัพสร้าง หลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง

เหรียญหลวงพ่อเกษม เขมโก รุ่นกองพันลำปาง” จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๗ สร้างโดยสามเณรนิติรัตน์ ศิษย์ใกล้ชิด ร่วมกับจังหวัดทหารบกลำปาง เพื่อแจกทหาร จำนวนการสร้าง รวมทั้งหมด ๒,๕๑๓ เหรียญ ประกอบด้วย เนื้อทองคำ ๑๓ เหรียญ, เนื้อเงิน ๓๐๐ เหรียญ, เนื้อนวโลหะ ๒๐๐ เหรียญ และเนื้อทองแดง ๒,๐๐๐ เหรียญ

รูปหล่อรุ่นแรก หลวงพ่อเกษม เขมโก ปี ๒๕๑๘
รูปหล่อรุ่นแรก หลวงพ่อเกษม เขมโก ปี ๒๕๑๘

รูปหล่อรุ่นแรก หลวงพ่อเกษม เขมโก ปี พ.ศ.๒๕๑๘ ได้มอบหมายให้เจ้าประเวศน์ ณ ลำปาง และคณะศิษย์สร้างขึ้น เพื่อหารายได้สร้างถนนลาดยางเข้าไปยังอนุสาวรีย์เจ้าแม่สุชาดา หมู่บ้านวังย่าเฒ่า ซึ่งได้มีการหล่อรูปเหมือนเจ้าแม่ไว้เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๗ ปีต่อมา (๒๕๑๘) ได้มีการจัดงานประเพณีเจ้าแม่สุชาดา ขึ้นระหว่างวันที่ ๙-๑๓ เมษายน ๒๕๑๘

รูปเหมือนรุ่นนี้จัดสร้างด้วยเนื้อโลหะต่างๆ คือ ๑.เนื้อทองคำ สร้าง ๑๙ องค์ มีทั้ง ตอกโค้ดดอกจัน ๑ ดอก และ ๓ ดอก
๒.เนื้อเงิน สร้าง ๓๐๐ องค์ ตอกโค้ดดอกจัน ๒ ดอก และ ๓ ดอก ๓.เนื้อนวโลหะ แจกกรรมการ ๕๐๐ องค์ ตอกโค้ดดอกจัน ๑ ดอก และ ๔.เนื้อนวโลหะ ๒,๕๑๘ องค์ ตอกโค้ดรูป “หนู” วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๑๘ หลวงพ่อเกษม ได้เมตตาอธิษฐานจิตปลุกเสกตลอดคืน นานกว่าพระทุกรุ่นที่มีการสร้างขึ้นมาก่อนหน้านี้ รับพระวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๘

เนื่องจากรูปหล่อ เนื้อนวโลหะ ตอกโค้ดรูป “หนู” มีจำนวนมาก นิยมแพร่หลาย จึงเรียกกันติดปากว่า “รูปหล่อก้นหนู” เป็นที่ยอมรับกันว่า องค์พระมีความสวยงามคมชัด และเหมือนกับหลวงพ่อมากที่สุด สมัยนั้นนิยมกันอย่างกว้างขวาง แค่เปิดจองก็หมดแล้ว โดยเฉพาะเนื้อทองคำ ส่วนใหญ่อยู่กับศิษย์ใกล้ชิดหลวงพ่อ ซึ่งเป็นร้านทอง ใน จ.ลำปาง