ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่ออ่ำ เกสโร
วัดหนองกะบอก
อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
พระครูเทพสิทธิการ (หลวงพ่ออ่ำ เกสโร) วัดหนองกะบอก พระเกจิอาจารย์ เชี่ยวชาญเวทมนตร์คาถา ผู้สร้างตำนานแพะแกะเขาควายฟ้าผ่าตาย จ.ระยอง
◉ ชาติภูมิ
พระครูเทพสิทธิการ (หลวงพ่ออ่ำ) วัดหนองกะบอก หรือ พระครูเทพสิทธิการ นามเดิมชื่อ อ่ำ คงจำรูญ เกิดเมื่อ วันเสาร์ที่ ๒๙ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๐๘ ตรงกับวัน ๗ ฯ๕ ๖ ปีฉลู ณ บ้านหนองสะพาน ตำบลหนองตะพาน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง บิดาชื่อ นายคง คงจำรูญ และมารดาชื่อ นางนก คงจำรูญ เป็นบุตรคนที่สองในจำนวนพี่น้อง ๓ คน บิดามารดาประกอบอาชีพการเกษตรกรรม หลังสู้ฟ้าหน้าก้มดูดินและความแห้งแล้งของบ้านหนองสะพานทำให้ บิดามารดาตัดสินใจย้ายภูมิลำเนามาอยู่ที่บ้านละเวิง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมตามรอยบรรพบุรุษ
◉ ปฐมวัย
เด็กชายอ่ำเป็นเด็กที่มีอุปนิสัยผิดกับพี่น้องร่วมสายโลหิต ด้วยการชอบฟังเทศน์ติดตามบิดา มารดาเข้าวัดเป็นประจำ เมื่อเติบโตขึ้นยิ่งมีความสนใจในเรื่องการสวดมนต์และฟังเทศน์ เด็กชายอ่ำเมื่อเติบโตขึ้นได้แสดงความสนใจในการอุปสมบท โดยมักสอบถามผู้เป็นบิดามารดาว่า การจะเป็นพระสงฆ์นั้นทำอย่างไร
เด็กชายอ่ำเจริญวัยขึ้นจึงได้รับการศึกษาในวัด กับพระที่มีความรู้ด้านการศึกษาด้วย ณ เวลานั้น อ.ปลวกแดง ระบบการศึกษาที่เรียกกันว่าประชาบาลยังไม่เจริญเพราะไกลปืนเที่ยง ยิ่งโตขึ้นความแนบแน่นในพระพุทธศาสนายิ่งมั่นคงขึ้น และมักปรารภกับพี่ๆน้องๆร่วมสายโลหิตเดียวกันว่า
“หากข้ามีอายุครบบวชเมื่อใดข้าจะบวชๆ แล้วจะไม่สึกจนตายอยู่ในผ้าเหลืองนั่นแหละ”
เมื่อนายอ่ำ คงจรูญ มีอายุ ๒๑ ปี ครบอายุที่จะอุปสมบท ทางคุณพ่อคง คุณแม่นก จึงขวนขวายใน การเตรียมการอุปสมบทลูกชาย ทว่าในเวลานั้นงานบวชเป็นเรื่องใหญ่ เริ่มแต่การหาบริขาร ๘ ในการบวชสมัยนั้นไม่มีร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์แบบในปัจจุบัน บริขาร ๘ กว่าจะเสาะหามาได้นั้นแสนเข็ญ ได้บริขาร ๘ แล้วต้องไปนิมนต์พระอุปัชฌาย์ ซึ่งตอนนั้น ตามระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ ที่สมเด็จกรมหลวงวชิรญาณวโรรส ได้ตราขึ้นนั้น กว่าจะได้ตราตั้งพระอุปัชฌาย์สักองค์ก็ทั้งยาก ในหนึ่งมณฑลจะมีพระอุปัชฌาย์เพียงไม่กี่รูปเท่านั้น
คุณพ่อคงและคุณแม่นก จึงไปนิมนต์ หลวงปู่ขาว วัดทับมา ให้เป็นอุปัชฌาย์ หลวงปู่ขาว ท่านดูคิวแล้วถอนหายใจเพราะคิวเต็มไปหมด ในที่สุดหลวงปู่ขาวท่านได้ถามความสมัครใจของทางคุณพ่อคงและคุณแม่นกไปจนถึงนายอ่ำผู้จะอุปสมบทว่า
“จะรังเกียจหรือไม่ ที่จะนำลูกชายมาอุปสมบทในเวลากลางคืน หากไม่รังเกียจ ฉันมีเวลาที่จะอุปสมบทให้”
ทำไมเล่าญาติโยมจึงไม่ต้องการบวชลูกในตอนกลางคืน เหตุเพราะว่ามีพระอุปัชฌาย์หลายองค์เมตตาต่อพวกเสือร้าย ที่ปวารณาตนต่อหน้าพระประธานว่า ขอยุติการปล้นฆ่าหันมาบวชเพื่อชดใช้กรรม จนตลอดชีวิตจึงทำการอุปสมบทให้ในตอนกลางคืน เพื่อให้ปลอดคนและปลอดเจ้าหน้าที่บ้านเมือง
เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการปกครองคณะสงฆ์แล้ว สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวง วชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในแต่ละมณฑล เมื่อสอบพบว่าพระอุปัชฌาย์ท่านใดมีจิตเมตตาทำการอุปสมบทให้กับเสือร้ายที่ทางการต้องการตัว จะด้วยเหตุอันใดก็ตามทีจะทรงทำการปลดออกจากการเป็นพระอุปัชฌาย์ และถอดออกจากสมณะศักดิ์เป็นพระอธิการธรรมดา รวมไปถึงการถอดออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสจึงมีคำพูดติดปากผู้คนว่า
“บวชกลางวันคนชมชื่นบวชกลางคืนบวชเสือคน”
คุณพ่อคง คุณแม่นก ตลอดจนญาติโยมถือว่าเมื่อศรัทธาเกิดขึ้นแล้ว เครื่องบริขาร ๘ ครบ จะบวชกลางวันหรือกลางคืน ก็เป็นองค์พระเหมือนกัน จึงนมัสการให้หลวงปู่ขาว กำหนดคืนที่จะบวชและนิมนต์คู่สวดอุปัชฌาย์ ตลอดจนพระอันดับ ให้พร้อมจะเดินทางจากบ้านละเวิง เพื่อมาค้างอ้างแรมที่บ้านญาติที่เป็นผู้ติดต่อเรื่องการอุปสมบท คุณพ่อคง กับคุณแม่นก ตลอดจนญาติโยมที่จะร่วมงานบวช และนายอ่ำ นั่งเกวียนรอนแรมมาพักรอการอุปสมบท
ครั้นได้เวลานัดพระอุปัชฌาย์พร้อม คู่สวดพร้อม พระอันดับพร้อม ประตูอุโบสถจึงเปิดออกให้หลวงปู่ขาววัดทับมา ผู้ทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์ เข้าไปกราบพระประธาน ตามด้วยคู่สวด กับพระอนุศาสนาจารย์หลวงพ่ออ่ำ ท่านบอกว่า พระอนุศาสนาจารย์นั้นจำไม่ได้ถนัด แต่ที่จำได้แม่นคือพระคู่สวดเพราะเป็นพระเถระที่ชาว อ.บ้านค่าย และชาวระยอง ให้ความนับถือเป็นที่สุดท่านคือ “หลวงพ่อวงศ์” วัดบ้านค่าย ปัจจุบันเหรียญหลวงพ่อวงศ์ มีราคาหลักแสน
◉ อุปสมบท
ในปีพุทธศักราช ๒๔๒๙ อุโบสถวัดทับมา คือสถานที่คุณพ่อคงและคุณแม่นก ได้นำนายอ่ำ คงจรูญ ผู้เป็นบุตร เข้าทำการบรรพชาเป็นสามเณรก่อน จึงแปลงเพศจากสามเณร เป็นการขานนาคเพื่อทำการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ นายอ่ำ คงจรูญ ท่องขานนาคได้อย่างคล่องแคล่วฉะฉาน ก้องไปทั้งอุโบสถวัดทับมาในที่สุดพ่อนาคจึงอุปสมบทเป็นพระนวกะ ต่อหน้าหลวงพ่อขาววัดทับมา ได้รับฉายาว่า “เกสโร”
โยมบิดามารดากับเครือญาติ พากันออกเดินทางกลับภูมิลำเนา พร้อมกับได้นิมนต์ พระภิกษุอ่ำ เกสโร ให้จำพรรษาอยู่ที่วัดกระซัง ในฐานะพระนวกะลูกวัดในสมัยที่หลวงพ่อตาล ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ในหน้าน้ำหลากวัดกระซัง จะถูกน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี พระภิกษุอ่ำจึงต้องผจญกับความลำบากในพรรษาแรก เมื่อวัดกระซังถูกน้ำท่วม ครั้นเมื่อหลวงพ่อคำได้บริจาคที่ดินมรดกที่หนองละลอก ให้สร้างวัดใหม่แทนวัดกระซัง แล้วพระภิกษุอ่ำจึงย้ายมาอยู่ที่วัดหนองกะบอก สมัยที่หลวงพ่อคำเป็นเจ้าอาวาส
ครั้นออกพรรษาแล้ว พระภิกษุอ่ำ รับกฐินเสร็จทางคุณพ่อคงและคุณแม่นก ได้มาถามความสมัครใจของพระภิกษุอ่ำว่าจะลาสิกขา ไปประกอบอาชีพเพื่อมีครอบครัวหรือจะบวชต่อไป พระภิกษุอ่ำได้กล่าวกับโยมบิดามารดาว่า
“ดังที่ฉันได้เคยตั้งใจไว้ว่า เมื่อได้บวชแล้วจะไม่สึกจนตลอดชีวิต ขอมรณภาพในผ้าเหลืองขอให้โยมทั้งสองได้อนุโมทนากับฉันด้วย อีกทั้งที่ดินมรดกที่โยมทั้งสอง ตั้งใจจะแบ่งให้ฉันขอให้เฉลี่ยให้กับบรรดาพี่ ๆ น้อง ๆ ของฉันเถิด”
นับแต่วาระนั้นจนกระทั่งถึงวันมรณภาพในปี พ.ศ.๒๔๙๕ พระภิกษุอ่ำ เกสโร ได้ดำรงสมณะเพศในนามที่ชาวบ้านใน จ.ระยองและใกล้เคียงเรียกท่านว่า “หลวงพ่ออ่ำ เรือเก่า” กันจนติดปากจนลืมนามฉายาของท่านว่า “เกสโร” ไปหมด แม้ในภาพถ่ายประจำวัดก็ยังจารึกนามของท่านว่า “พระครูเทพสิทธิการ (หลวงพ่ออ่ำ เรือเก่า)”
หลวงพ่ออ่ำ เมื่อจำพรรษาอยู่ในวัดหนองกะบอก มิได้นิ่งเฉยได้เดินทางออกไปเรียนวิชาอาคมกับพระอาจารย์ ที่เป็นพระเกจิ อาจารย์ และที่เป็นฆราวาส ด้วยมีความสนใจด้านพลังจิตเป็นทุนเดิมมาแต่ก่อนบวชวันหนึ่งหลวงพ่ออ่ำกลับจากการเล่าเรียนวิชาอาคม ได้พบกับพระธุดงค์จำนวนมาก มาปักกลดรวมกันอยู่จึงเข้าไปถามความเป็นมาเป็นไป หนึ่งในพระธุดงค์ บอกกับหลวงพ่ออ่ำว่า มารุกขมูลกับท่านพระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ หลวงพ่อปานเจ้าอาวาสวัดบางเหี้ย หลวงพ่ออ่ำ จึงขอให้นำไปนมัสการ เมื่อได้เข้าไปนมัสการแล้วเห็นสมณสารูปของหลวงพ่อปาน เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงสอบถามตำบลที่อยู่ของหลวงพ่อปานก่อนนมัสการลากลับ
หลวงพ่ออ่ำ ไปฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อปาน ที่วัดบางเหี้ย ในพรรษาต่อมาหลวงพ่ออ่ำ ได้เล่าให้หลวงพ่อลัด ศิษย์สืบทอดวิชาสร้างและปลุกเสกแพะจากท่านฟังว่า
“ในพรรษานั้นได้เรียนอานาปานัสติจนสามารถเจริญฌานได้ดีจึงเรียน เตโชกสิณจนสำเร็จเมื่อฉันสำเร็จเตโชกสิณ โดยมีหลวงพ่อปานท่านคอยทดสอบและรับรองว่าทำได้จริง เมื่ออยู่ในกสิณอุปมาเหมือนอยู่ในแสงสว่าง ที่หาประมาณมิได้สามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องลืมตา..”
พรรษาที่สองได้ออกธุดงค์ไปกับหลวงพ่อปาน โดยถวายดอกไม้ธูปเทียน ขอเรียนวิชาสร้างเสือแกะจากเขี้ยวเสือ จากหลวงพ่อปาน ธุดงค์คราวนั้นหลวงพ่อปาน ได้ถ่ายทอดวิชาสร้างเสือแกะจากเขี้ยวเสื้อทั้งการลงอักขระ การปลุกเสกและการเรียกเสือกลับถ้ำ โดยหลวงพ่อปานได้มองเขี้ยวเสือแกะเป็นรูปเสือให้คนละตัว ณ เวลานั้นนอกจากหลวงพ่ออ่ำ แล้วยังมีพระอีกสี่รูปร่วมเรียนรุ่นเดียวกัน ที่จำได้แม่น คือ หลวงพ่อนก วัดสังกะสี (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดนาคราช)
หลวงพ่อปาน มากำกับการสอบว่าสำเร็จหรือไม่ โดยให้ปลุกเสกเสือให้มั่นใจก่อนโยนไปในพงรกจากนั้นภาวนาเรียกเสือกลับถ้ำ โดยนั่งบริกรรมจนเสือที่เขวี้ยงเข้าป่าไป บินกลับมาตกตรงหน้าผู้บริกรรมเรียกเสือกลับมาทั้งหมดสี่ตัว มีเสือหลวงพ่ออ่ำตัวเดียวที่ไม่บินกลับมา นั่นคือการสอบตก หลวงพ่อปานเรียกหลวงพ่ออ่ำ ไปพบเป็นการส่วนตัวบอกว่า หลวงพ่ออ่ำ ไร้วาสนาทางสร้างเสือมหาอำนาจ แต่ไม่ต้องเสียใจจะสอนวิชาสร้างแพะ แกะจากเขาควายเผือกฟ้าผ่าตาย อันเป็นสุดยอดมหาเสน่ห์ไห้แทน
หลวงพ่ออ่ำ จึงเรียนวิชาสร้างแพะแกะจากเขาควายเผือกฟ้าผ่าตาย จากหลวงพ่อปาน จนกระทั่งสอบผ่านด้วยการเรียกแพะที่เขวี้ยงเข้าป่ารกให้บินกลับออกมาตกตรงหน้าได้ หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย จึงกล่าวกับหลวงพ่ออ่ำว่า
“ฉันหมดห่วงแล้วว่าวิชาสร้างแพะของฉันจะตายไปพร้อมกับฉัน โดยไร้ผู้สืบทอดเธอคือผู้มีวาสนาบารมีกับการสร้างแพะมหาสเน่ห์ จงนำวิชานี้ไปใช้สงเคราะห์ผู้คนต่อไป…”
หลวงพ่ออ่ำ จำพรรษาอยู่ในวัดหนองกะบอก จนถึงสมัยหลวงพ่อยอด เจ้าอาวาสรูปที่ ๕ หลวงพ่อยอด ได้เริ่มงานสร้างอุโบสถวัดหนองกะบอก แต่แล้วหลวงพ่อยอดกลับมาอาพาธด้วยการโรคประสาท จนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสต่อไปได้ จึงลาสิกขาบทออกไปรักษาตัว ตำแหน่งเจ้าอาวาสจึงว่างลงทางการคณะสงฆ์ จึงประชุมชาวบ้านหนองกะบอก และพระเณรในวัดเพื่อฟังเสียงส่วนใหญ่ว่าจะให้พระในวัดหนองกะบอกรูปใด ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ ๖ สืบต่อจาก หลวงพ่อยอด
มติของชาวบ้านหนองกะบอกและพระเณรในวัด เป็นเอกฉันให้ทางการคณะสงฆ์ แต่งตั้งให้หลวงพ่ออ่ำ เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองกะบอก สืบแทนด้วยมีศิลาจารวัตรและสมณะสารูป เป็นที่เลื่อมใสของทั้งชาวบ้านและพระเณรในวัดหนองกะบอก
หลวงพ่ออ่ำ จึงรับตำแหน่งเจ้าอาวาสในปี พ.ศ.๒๔๔๐ เป็นต้นมา ต่อมาทางการคณะสงฆ์ เห็นว่าการปกครองวัดของหลวงพ่ออ่ำ เป็นที่น่าพอใจจึงออกใบตราตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.๒๔๔๔ ณ เวลานั้นอุโบสถ พึ่งเริ่มงานสร้าง เสนาสนะกุฏิสงฆ์จำพรรษาชำรุดทรุดโทรม ทุกอย่างต้องใช้เงินในการดำเนินการเป็นจำนวนมาก หลวงพ่ออ่ำ จึงต้องสร้างแพะเพื่อสมณาคุณแด่ผู้สละทรัพย์ในการสร้างอุโบสถ และบูรณปฏิสังขรณ์วัดหนองกะบอก เพื่อฉลองศรัทธาต่อมาจึงสามารถสร้างศาลาการเปรียญและโรงเรียนประชาบาล ด้วยการสร้างแพะสมณาคุณกับญาติโยมในเวลาต่อมา
หลวงพ่ออ่ำ ท่านเป็นพระสมถะไม่สะสม ไม่ว่าเมื่อเป็นพระลูกวัด หรือเมื่อเป็นสมภารหลวงพ่ออ่ำ เป็นพระที่ไม่สะสม พูดน้อยแบบถามคำตอบคำ ไม่โอ้อวดวิชาอาคมแต่ไม่ปฏิเสธหากมีผู้มาขอความช่วยเหลือ ทางด้านวิชาอาคมที่หลวงปู่พอจะมีความรู้ สั่งสอนให้ศิษย์ทุกคนบูชาพระอรหันต์ประจำชีวิต ให้ดีที่สุดก่อนจึงค่อยบูชาพระรัตนตรัย เพราะบิดามารดา นอกจากที่สมเด็จพระบรมศาสดา ได้ทรงมีพุทธดำรัสกับพุทธบริษัททั้งหลายว่า “ปิตุมาตาพรหมา” (บิดามารดานั่นแลคือพรหมแห่งบุตร) ทั้งยังเป็นพระอรหันต์ประจำชีวิตของลูกทุกคนอีกด้วย
ศิลาจารวัตรงดงามครองจีวรเป็นระเบียบ ตามพุทธบัญญัติมีพรหมวิหารต่อทั้งพระ และชาวบ้านเสมอหน้ากันไม่เลือกชั้นวรรณะ ทำให้ชาวบ้านหนองกระบอก ให้ความเคารพและศรัทธาหลวงพ่ออ่ำทุกคนไม่เคยบ่นหรือแช่งด่าใคร สันนิษฐานกันว่าปากท่านศักดิ์สิทธิ์ จึงเกรงว่าหากบ่นหรือแช่งด่าใครเข้าผู้นั้นจะเป็นไปตามปากของท่าน ๆ เป็นพระนักพัฒนาและพระเกจิอาจารย์ ผู้วิทยาคมพร้อมกันไปที่หายากยิ่งในเวลานั้น เพราะสรรพสิ่งที่เป็นรากฐานแห่งความเจริญ ในวัดล้วนเกิดในวาระที่หลวงพ่ออ่ำเป็นเจ้าอาวาสทั้งสิ้น
หลวงพ่ออ่ำ มิได้สั่งสอนให้เทิดทูนพระอรหันต์ประจำชีวิตแต่อย่างเดียว ได้แสดงตัวอย่างให้เห็นด้วยการสร้างผ้ายันต์ รอยเท้าบิดา มารดา ป้องกันภัย เรื่องนี้คุณลุงหน่าย มีสรรเสริญ (อายุ ๘๑ ปี) ผู้ได้รับผ้ายันต์รอยเท้า บิดา มารดา เป็นคนแรกๆ ได้เล่าไว้ว่า
เมื่อมีอายุครบเกณฑ์ทหาร จึงต้องไปรับการตรวจคัดเลือกคุณลุงหน่ายได้รับการคัดเลือกเป็นทหาร ในผลัดที่สอง (ดีหนึ่งผลัดสอง) จึงเกิดความกลัวเพราะการไปเป็นทหารเกณฑ์ต่างถิ่น ต้องผจญอันตรายทั้งจากการเดินทาง และการฝึกจากทหารเกณฑ์รุ่นพี่ๆ บางคนไม่ได้กลับมาเพาะป่วยหรือไม่ก็ประสบอุบัติเหตุในระหว่างการฝึก จึงไปกราบนมัสการหลวงพ่ออ่ำเพื่อขอของดี หลวงพ่ออ่ำ มองหน้าคุณลุงหน่ายแล้วหัวเราะก่อนจะกล่าวกับคุณลุงหน่ายว่า
“หน่ายเอ็งมีของดีอยู่ที่บ้านแต่กลับมองข้ามไปแล่นมาหาของดีจากข้าถึงกุฏิ”
“หลวงพ่อก็รู้ว่าพ่อแม่ของผมเป็นศิษย์หลวงพ่อ มาจนถึงตัวผม ไม่เคยมีของดีสำนักใดติดบ้านไว้เลยครับหลวงพ่อ”
“ก็พ่อแม่เอ็งนั่นไงเล่าเจ้าหน่าย พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าพ่อแม่คือพรหมแห่งลูกเป็นพระอรหันต์ของลูก ข้าจะให้ผ้าขาวเอ็งไปผืนหนึ่ง ไปกราบเท้าแม่เอ็งแล้วขอพรให้เอ็งแคล้วคลาดอันตราย ไปเป็นทหารเกณฑ์แล้วกลับบ้านด้วยความปลอดภัย เอ็งจงให้แม่เอ็งเหยียบเท้าข้างหนึ่งลงไปบนผ้า จากนั้นเอ็งเอาดินสอวาดเส้นไปรอบฝ่าเท้าของแม่เอ็ง เมื่อแม่เอ็งยกเท้าขึ้นจะปรากฏรอยเท้าแม่เอ็ง อยู่บนผ้าเอ็งเอาผ้านั้นมาให้ข้า ๆ จะลงอักขระให้เป็นผ้ายันต์รอยเท้าพระอรหันต์ของเอ็ง ศักดิ์สิทธิ์กว่าอักขระเลขยันต์ที่ข้าลงประกอบเสียอีก ไม่ต้องกลัวศึกเสือเหนือใต้ร้ายแรงแค่ไหนเอ็งจะกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย”
คุณลุงหน่าย พกผ้ายันต์รอยเท้าพระอรหันต์ติดตัวไปด้วยทำให้แคล้วคลาดจากอันตรายที่น่าจะตายเสียหลายครั้ง แต่รอดมาได้ปลดประจำการกลับบ้านด้วยความปลอดภัยคุณลุงหน่ายสรุปท้ายว่า
“พอตัวผมกลับบ้านด้วยความปลอดภัย หลวงพ่ออ่ำ ก็เจองานหนักเพราะต้องลงอักขระเลขยันต์บนผ้ายันต์รอยเท้าพระอรหันต์ ที่บรรดาทหาราเกณฑ์มาขอจากท่านจนมือไม้ของท่านปวดไปหมด นี่แหละครับอุบายที่หลวงปู่ ทำให้ลูกๆ ทุกคนได้รำลึกถึงพระคุณบิดามารดา ผ้ายันต์รอยเท้าพระอรหันต์มีอยู่สองแบบคือรอยเท้าเดี่ยวและรอยเท้าคู่ ตามแต่ผู้เป็นเจ้าของจะนำไปให้พ่อหรือแม่เหยียบรอยเท้าเดี่ยวหรือคู่”
นั่นคือความกตัญญูรู้คุณบิดามารดา ของหลวงพ่ออ่ำ ที่ท่านได้ดำรงชีวิตอยู่ในสมณเพศจนมรณภาพ เพื่ออุทิศกุศลทั้งหลายแด่โยมบิดา โยมมารดา ของท่าน ทั้งยังได้ปลูกฝังความยิ่งใหญ่ของคุณบิดา มารดา แก่ชาวหนองกะบอกผ่านผ้ายันต์รอยเท้าพระอรหันต์ดังได้กล่าวมาแล้ว ความแก่กล้าในวิชาอาคมของหลวงพ่ออ่ำนั้นแสดงออกให้เห็นต่างกรรมต่างวาระ แต่ที่นับว่าล่ำลือและเป็นฉายาของหลวงปู่ที่มีผู้รู้จักมากกว่านามฉายาของท่านว่า เกสโร เสียอีก นั่นคือฉายา “เรือเก่า” เรื่องมีอยู่ว่า
เช้าวันหนึ่ง หลวงพ่ออ่ำ ออกบิณฑบาตผ่านไปยังสถานที่ๆ เป็นอู่ต่อเรือ ที่ต่อเรือใหม่ขายกันเป็นพื้นไม่ว่าใครหากต้องการได้เรือใหม่สักลำต้องมาดูที่นี่ หรือจะสั่งต่อใหม่ตามแบบที่ต้องการก็ได้ หากเงินถึง ก่อนจะถึงอู่ต่อเรือใหม่ขาย มีสองตายายนำเรือเก่าที่ไม่ใช้แล้ว มาขึ้นคานติดประกาศขายไว้หน้าบ้านในราคาที่ถูกเพียงเพื่อจะเอาเงินที่ได้มาเลี้ยงชีวิตยามแก่ เวลาผ่านไปหนึ่งปีเต็มไม่มีใครมาแวะดูเรือเก่าของสองตายายเลย แกยินดีลดราคาให้อีกเพียงแต่ขอให้ต่อรองเท่านั้น สองตายายรู้สึกวิตกเป็นอย่างยิ่งเพราะเรือที่ขึ้นคานไว้บกบกนานนาน จะผุพังเร็วจนในที่สุดก็จะกลายเป็นเศษไม้ สองตายายรู้สึกว่าไม่มีที่พึ่งที่ไหนอีกแล้ววันหนึ่งเมื่อใส่บาตร หลวงพ่ออ่ำ เสร็จแล้ว ยายจึงยกมือพนมไหว้ หลวงพ่ออ่ำ แล้วบอกให้รู้ถึงความทุกข์ในใจ
“หลวงพ่ออ่ำเจ้าขา อิฉันประกาศขายเรือเก่ามาปีหนึ่งแล้วไม่มีใครใส่ใจดู เดินผ่านไปผ่านมาไปซื้อเรือใหม่กันหมด อิฉันต้องการให้หลวงพ่อช่วยให้อิฉันขายเรือเก่าลำนี้ได้ด้วยเถิดเจ้าข้า เงินที่ได้มาอิฉันกับตาจะได้เลี้ยงชีวิตจนกว่าจะตาย” หลวงพ่ออ่ำ ไม่ได้พูดอะไรเดินบิณฑบาตต่อไปจนครบบ้านญาติโยมที่คอยใส่บาตร จึงเดินกลับมาที่บ้านของสองตายายเรียกสองตายายออกมา เมื่อสองตายายออกมาพร้อมกันแล้ว หลวงพ่ออ่ำ เดินไปที่เรือเก่าใช้มือลูบหัวเรือไปมาก่อนจะถอยออกมายืนบริกรรมอยู่ด้านหน้าเรือที่ขึ้นคานแล้วบอกกับสองตายายว่า
“ในเจ็ดวันนี่แหละเรือนี้จะขายได้”
ข่าวเรื่องสองตายายขอให้หลวงพ่ออ่ำช่วยทำให้ขายเรือได้ หลวงพ่ออ่ำ พูดกับสองตายายว่าเจ็ดวันจะขายเรือเก่าได้ แพร่ออกไปเจ้า ของอู่ต่อเรือใหม่พูดลับหลัง หลวงพ่อว่า “เรือเก่ากะโหลกกะลาตั้งขายมาเป็นปีไม่เห็นมีใครเข้าไปดู เห็นแต่เดินมาซื้อเรือใหม่ ไม่ก็สั่งต่ออยากรู้เหมือนกันว่าจะขายได้ในเจ็ดวันหรือจะกลายเป็นฟืน”
ไม่กี่วันต่อมาหลังจาก หลวงพ่ออ่ำ ประกาศไว้มีผู้มาหาซื้อเรือผ่านมาที่หน้าบ้านของสองตายายแวะเข้าไปขอน้ำกิน แล้วเหลือบไปเห็นเรือเก่าที่ขึ้นคานจึงเดินไปดูแล้วกลับมาถามราคากับสองตายาย ๆ จึงบอกราคาไปโดยกะว่าหากมีการต่อรองจะลดราคาให้ทันทีเพราะต้องการขาย ปรากฏว่าคนซื้อตกลงซื้อโดยไม่ต่อรองราคาจ่ายเงินสดแล้วขนเรือเก่าไปทันที เรือเก่ากะโหลกกะลาตามที่เจ้าของอู่ต่อเรือปรามาสไว้ว่าจะกลายเป็นฟืน กลับขายได้ตามประกาศิตของ หลวงพ่ออ่ำ เป็นที่เล่าลือกันในวงกว้างทำให้เจ้าของอู่ต่อเรือใหม่ที่ปรามาสหลวงพ่ออ่ำ ไว้ได้สำนึกนำสำรับมาถวายหลวงพ่ออ่ำ แล้วกราบขอขมาหลวงปู่ท่านได้อวยชัยให้พร เจ้าของอู่ต่อเรือใหม่จึงกลายมาเป็นศิษย์วัดหนองกะบอก ได้แพะไปติดตัวทำมาค้าขึ้นตลอดมา
มีผู้มากราบขอให้หลวงพ่ออ่ำช่วยให้ขายเรือได้บ้างหลวงพ่ออ่ำท่านบอกว่า
“ทำให้เฉพาะรายของสองตายาย ที่เป็นสัตว์ผู้ยากเป็นวาสนาที่จะเกื้อกูลกันจึงทำให้เพียงรายเดียวเท่านั้นมิใช่นึกจะทำให้กับใครก็ได้”
นับแต่นั้นเป็นต้นมาผู้คนต่างถวายฉายาใหม่ให้กับหลวงพ่ออ่ำ เกสโร เป็น “หลวงพ่ออ่ำเรือเก่า” มาจนมรณภาพทางวัดจึงใส่ฉายาว่า “เรือเก่า” แทนนามฉายาภิกขุว่า “เกสโร”
อภินิหารอีกอย่างหนึ่งของหลวงพ่ออ่ำคือ “วิชากระสุนคด” เรื่องมีอยู่ว่า ขณะที่หลวงพ่ออ่ำกำลังประชุมพระเณรอยู่นั้น มีขี้เมาเดินเข้ามาส่งเสียงเอะอะในวัดจนสุนัขเห่าเกรียว หลวงพ่ออ่ำ ได้ยินเข้าจึงให้พระเณรนั่งรอท่านสักครู่ หลวงพ่ออ่ำเดินไปที่กุฏิหยิบคันยิงกระสุนดินขึ้นมาเสก หยิบกระสุนดินขึ้นมาบริกรรมแล้วเอากระสุนดินมาจิ้มที่กลางกระหม่อมท่าน ก่อนยัดลงไปในสาแหรกยิงกระสุนดินยิงออกไปนอกหน้าต่างในทิศตรงข้ามพลันมีเสียงคนร้องว่า
“โอยใครยิงกระบานกูวะเจ็บฉิบ เก่งจริงออกมาซีวะ”
พอขาดเสียงกระสุนดินอีกสองนัดก็ตามมาถูกที่สีข้าง และกลางหลังขี้เมาหายเมาเป็นปลิดทิ้งวิ่งปุเลงๆ ออกจากวัดหนองกะบอก ไม่กล้ามากร่างในวัดอีกเลย เรื่องนี้มีชาวบ้านหนองกะบอกคนหนึ่งบอกกับพวกพ้องว่า
“ไอ้ขี้เมานั่นมันยืนอยู่กลางแจ้งนี่หว่า หลวงพ่อเลยยิงถูกหากกูเข้าไปหลบอยู่ใต้ถุนกุฏิ จ้างหลวงพ่อก็ยิงไม่ถูกหรอกวะ”
เกิดการพนันขันต่อ วางเดิมพันหมอนั่นจึงแสร้งทำเอะอะให้หมาเห่าเสียงดัง แล้ววิ่งไปซ่อนใต้ถุนกุฏิกะว่าเดี๋ยวก็ได้เงินเดิมพันที่ไหนได้โดนกระสุนดินเข้ากลางกระหม่อม ๓ ลูกซ้อนทั้งที่ซุกอยู่ ใต้ศาลาการเปรียญแหกปากร้องว่า “เชื่อแล้วกลัวแล้วไม่ลองของอีกแล้ว” วิ่งเตลิดเปิดเปิงออกจากวัดอดเงินเดิมพันแถมหัวปูดอีกสามปูดเข็ดไปอีกนาน จากนั้นมาไม่มีใครกล้ามาส่งเสียงเอะอะในวัดให้หมาเห่าอีกเลย เพราะเกรงกระสุนคดของหลวงพ่ออ่ำ
น้ำมนต์ของหลวงพ่อนั้นเป็นน้ำมนต์สารพัดนึกอธิษฐาน เมื่อหลวงพ่อเสกน้ำมนต์และรดลงไปแล้วผู้รดจะตั้งใจอธิษฐานเอาเองว่าจะให้แก้ทางไหน แม้หลวงพ่ออ่ำจะมรณภาพไปแล้ว แต่การอธิษฐานขอความสำเร็จต่อหน้ารูปหล่อของหลวงปู่ ที่วิหารประดิษฐานรูปหล่อ ก็ยังคงให้ผลแก่ผู้เดือดร้อนหมดที่พึ่งคุณสุชิน ขำสุนทร ประธานชมรมอนุรักษ์แพะหลวงพ่ออ่ำที่เป็นชาวนครปฐมโดยกำเนิดเมื่อครั้งหมดที่พึ่งเพราะถูกไล่ที่ทำธุรกิจหาที่ใหม่ไม่ได้ ได้เข้ามากราบขอความช่วยเหลือต่อหน้ารูปหล่อของหลวงพ่ออ่ำ ก็พ้นจากความทุกข์ได้ที่ดินใหม่ทำธุรกิจยั่งยืนมาจนทุกวันนี้ ได้ปวารณาตนว่า จะเป็นคนระยองเป็นศิษย์หลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกะบอก จนลมหายใจสุดท้าย
◉ มรณภาพ
หลวงพ่ออ่ำ อยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวหนองละลอกมาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๕ ท่านได้อาพาธด้วยโรคชราอยู่ได้เพียง ๗ วันก็มรณภาพด้วยอาการอันสงบ สมกับเป็นพระนักปฏิบัติผู้ยิ่งด้วยขันติบารมีธรรมตรงกับ วันศุกร์ที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๕ (ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๙) สิริรวมอายุได้ ๘๗ ปี
◉ ด้านวัตถุมงคล
เครื่องรางแพะหลวงพ่ออ่ำ ท่านทำการสร้างจากเขาควายฟ้าผ่าตาย ซึ่งมีความเชื่อกันว่าเขาควายเผือกอันนั้นได้รับพลังจากเทพหรือรับพลังจากสวรรค์ แล้วนำมาแกะเป็นแพะ หลวงพ่ออ่ำทำการบรรจุวิชาอาคมเวทมนตร์คาถาที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา โดยวางไว้บนถาด บางทีก็แช่น้ำมันหอม น้ำมันว่านสมุนไพร น้ำมันจันทน์
ในการจะได้แพะแกะของท่านนั้น เมื่อจะทำการมอบให้ใคร ท่านจะทำพิธีปลุกเสกอีกครั้ง จนปรากฏว่าแพะที่วางไว้บนถาดหรือแช่ไว้ในน้ำมันนั้นเคลื่อนไหวเสมือนมีชีวิต ท่านจึงหยิบขึ้นมาจากโหลหรือขวด แจกกับบุคคลนั้น
สำหรับคุณวิเศษของ แพะหลวงพ่ออ่ำ ว่ากันว่าแพะตัวผู้หนึ่งตัว สามารถดูแลปกครองแพะตัวเมียได้เป็นสิบๆ ตัว ด้วยความรู้รักสามัคคีและเกื้อหนุนจุนเจือซึ่งกันและกัน
จึงมีความเชื่อกันว่า ผู้ใดมีแพะแกะจากเขาควายเผือกของหลวงพ่ออ่ำ ไว้พกพาผู้นั้นจะเป็นนักปกครองที่ยิ่งใหญ่ และนักรักที่มีคนนิยมชมชอบมากมาย และมีเสน่ห์เมตตามหานิยมทุกด้าน
นอกจากนี้ ในตำราสมุดข่อยที่คณาจารย์โบราณท่านได้จารึกไว้ว่า การสร้างแพะโดยใช้เขาควาย และเขาควายเผือกที่ถูกฟ้าผ่าตาย เนื่องจากมีความเชื่อกันว่าเขานั้นจะได้รับพลังจากมหาเทพ คือ สวรรค์ทุกชั้น ทุกวิมาน
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าในตัวแพะที่โดนฟ้าผ่าตายนั้นได้มีการพลีจากสรวงสวรรค์อีกด้วย พระเกจิอาจารย์และผู้มีวิชาอาคมหลายสำนักจึงได้นำมาเป็นวัสดุในการแกะเป็นรูปลักษณ์ของแพะ
และว่ากันว่าผู้ที่มี ‘แพะหลวงพ่ออ่ำ’ ไว้อยู่ในความครอบครอง จะเป็นผู้ที่มั่งคั่งสมบูรณ์เมตตามหานิยม ค้าขายเจริญรุ่งเรืองและอายุยืน
◉ คาถาบูชาแพะหลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกระบอก ตั้ง นะโม ๓ จบ แล้วกล่าว
‘อิทธิฤทธิ์ พุทธะนิมิตตัง อิมังคงกระพันธะนัง อธิฐามิ’
และก่อนจะนำแพะหลวงพ่ออ่ำ มาสวมคอให้กล่าวพระคาถาดังนี้ ‘อา กา เส จะ ปี ปัง กะ โร ’
โดยคาถานี้ เรียกว่า คาถากันฟ้าผ่า