ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่ออ่วม ติสสรัสโส
วัดไทร
อ.บางคณที จ.สมุทรสงคราม
หลวงพ่ออ่วม ติสฺสรสฺโส วัดไทร พระเถราจารย์ยุคเก่าผู้มีตบะบารมีแก่กล้าและมากด้วยอิทธิคุณและบุญฤทธิ์แห่งเมืองสมุทรสงคราม
◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่ออ่วม วัดไทร เกิดเมื่อราวปี พ.ศ.๒๓๖๐ เล่าเรียนศึกษาวิชากับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม ในยุคสมัยไล่เลี่ยกับ หลวงปู่อ้น วัดบางจาก ตอนมีชีวิตอยู่ หลวงพ่ออ่วม มีชื่อเสียงทางวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือ แพร่หลายไปทั่งแถบลุ่มน้ำแม่กลอง ท่านสำเร็จวิชาผงวิเศษห้าประการ และเก่งกาจมากเรื่องการทำน้ำมนต์ น้ำมนต์ของท่านนอกจากจะรักษาโรคภัยไข้เจ็บหลายอย่างให้หายอย่างอัศจรรย์แล้ว ยังแก้และรักษาคุณไสย ขับไล่ภูตผีปีศาจได้ชยัดอีกด้วย
หลวงพ่ออ่วม ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ของจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีกิติคุณเป็นที่นับถือกันมากเมื่อยุคสมัยหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน พระเกจิอาจารย์ ที่ร่วมยุคสมัยเดียวกับท่านในแถบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง อันประกอบไปด้วยสามจังหวัดด้วยกัน คือ สมุทรสงคราม ราชบุรีและกาญจนบุรี เช่น
๑. หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย ท่านมีกิตติคุณเป็นที่เลื่องลือไปทั่วจนมาถึงเมืองหลวง ขนาดว่าเจ้านายหลายองค์ยังเสด็จไปนมัสการ ถึงวัดกันเลยที่เดียว
๒. หลวงพ่อหรุ่น วัดอัมพวัน ท่านมีความเชี่ยวชาญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นที่สุด ชำนาญในธุดงค์วัตร จนมีประสงฆ์จากทั่วสารทิศไปฝากตัวเป็นศิษย์ขอขึ้นธุดงค์กับท่านกันมาก
๓. หลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย ท่านนี้เค้าว่าศักดิ์สิทธิ์ขนาดว่าเดินท่ามกลางสายฝนไม่เปียก
๔.หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ท่านนี้แก่กล้าวิทยาคมเป็นยิ่งนักและเป็นอาจารย์อีกท่านหนึ่งของหลวงพ่อคง วัดบางกระพ้อม
๕. หลวงพ่อห้อง วัดช่องลม ท่านนี้เก่งด้านคงกระพันที่สุด ลูกศิษย์ที่ได้รับการสักยันต์จากท่านไปไม่เคยปรากฏว่าถูกคมอาวุธให้แมลงวันกินเลือดให้เสียชื่อเลย ๖.หลวงพ่อเทียน วัดป่าไก่ ท่านนี้มีวิทยาคมแก่กล้า และอิทธิฤทธิ์มากเป็นเจ้าของเหรียญที่หายากที่สุดในจังหวัดราชบุรี
๗. หลวงพ่อคง วัดศัทธาราษฏร์ ท่านนี้เก่งกาจถึงขนาดเจ้านายหลายองค์ไปกราบนมัสการและเป็นศิษย์ถึงวัดเลยเหมือนกัน
๘. หลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน ท่านนี้สร้างแหวนพิรอดได้ศักดิ์สิทธิ์มากขนาดทำกับผ้าแต่โยนเข้ากองไฟก็ไม่ไหม้
๙ .หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว ท่านนี้มีฉายาว่า ปรมาจารย์ทางวิทยาคมแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง เป็นเจ้าของพระปิดตาเนื้อผงที่สร้างความเข้มขลังยิ่งนัก จนมีสนนราคาเล่นหาเป็นแสนๆ ซึ่งแม้แต่กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ยังทรงนับถือเป็นอาจารย์
วัดไทร ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลกระดังงา อำเภอบางคณที จังหวัด สมุทรสงคราม เป็นวัดเก่าแก่แต่สมัยโบราณวัดหนึ่งในละแวกนี้ สันนิษฐานว่าสร้างมาไม่น้อยกว่าต้นกรุงศรีอยุธยาแต่กลายเป็นวัดร้างมานานหลายปี
จนถึงปี พ.ศ.๒๐๒๓ ขุนวิเศษฯซึ่งเป็นนายด่านพระเจดีย์สามองค์เมืองกาญจนบุรี ได้มาทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ แต่นั้นมาก็เริ่มมีพระสงฆ์มาจำพรรษา แต่วัดก็ไม่ได้มีการพัฒนา ให้เจริญรุ่งเรือง เพียงแต่เป็นที่พำนักของพระสงฆ์และเป็นที่ประกอบการบุญทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น
เจ้าอาวาสวัดไทรแต่ละรูปในอดีตมา ล้วนแต่มีอายุยืนมากหลายรูปอายุ ๙๐ กว่าปี และ ๑๐๐ กว่าปี
จนถึง พ.ศ.๒๔๖๐ สมัยที่พระอธิการนวล เป็นเจ้าอาวาส ท่านก็เริ่มทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดไทรเป็นการใหญ่ มีการสร้างเสนาสถาน ศาสนสถานต่างๆ จนมีการพัฒนเจริญรุ่งเรืองกว่าวัดอื่นๆ ในระแวกนั้น และมีความเจริญรุ่งเรืองตามลำดับมาจนกระทั่งทุกวันนี้
ในอดีตวัดไทรเป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางสวน มีความร่มรื่นด้วยต้นไม้และสงบเดินทางไปวัดสมัยก่อนก็โดยทางเรือ หรือไม่ก็เดินลัดเลาะไปตามร่องสวนค่อนข้างลำบาก จึงเป็นสถานที่มีความสงบวิเวก เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนา และเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาคม แม้การเดินทางไปวัดไทรสมัยก่อนจะลำบาก แต่ก็เป็นสำนักที่พระสงฆ์ผู้ใฝ่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และวิทยาคมเดินทางไปเป็นศิษย์เรียนวิชาด้วยเสมอ
หลวงพ่ออ่วม ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดไทร รูปที่ ๘ ประวัติของท่านข่อนข้างเลือนลางมาก เนื่องจากไม่มีหลักฐานจารึกไว้เป็นหลักฐาน จึงอาศัยการบอกเล่าของผู้สูงอายุที่มีชีวิตทันท่านต่อๆ กันมา
หลวงพ่ออ่วม วัดไทร ท่านเป็นศิษย์ท่านหนึ่งของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) สำเร็จวิชาผงวิเศษห้าประการ ท่านสร้างพระสมเด็จเนื้อผง พิมพ์ทรงคล้ายสมเด็จวัดระฆัง ชาวบ้านรุ่นเก่าๆ หลายคนได้รับพระสมเด็จมาจากท่าน แล้วตกทอดมายังลูกหลานรุ่นหลังๆ พระสมเด็จหลวงพ่ออ่วม ที่ผ่านการใช้เนื้อก็จะเข้มและจัดคล้ายพระสมเด็จ วัดระฆังมาก ขนาดว่าบางคนตีเป็นสมเด็จ วัดระฆังไปเลยก็มี บางคนก็เชื่อว่าทันยุคสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) คือหลวงพ่ออ่วมสร้างให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ปลูกเสกแล้วนำมาแจกที่วัดไทร เพราะว่าพระสมเด็จหลวงพ่ออ่วม ดูความเก่าแล้วอายุต้องหนึ่งร้อยกว่าปี ขึ้นไป แต่ถ้าจะให้สันนิษฐานหลวงพ่ออ่วมคงสร้างพระสมเด็จหลังจากที่สมเด็จ (โต) มรณภาพไปแล้ว สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)
ปัจจุบัน พระสมเด็จหลวงพ่ออ่วม หายากมากชาวบ้านในพื้นที่ก็หวงแหนกันเป็นอย่างยิ่ง ตอนมีชีวิตอยู่ ชื่อเสียงทางวิทยาคมของหลวงพ่ออ่วม เป็นที่เลื่องลือแพร่หลายไปทั่งแถบลุ่มน้ำแม่กลอง ท่านเก่งเรื่องการทำน้ำมนต์ น้ำมนต์ของท่าน นอกจากจะรักษาโรคภัยไข้เจ็บหลายอย่างให้หายอย่างอัศจรรย์ ก็ยังแก้และรักษาคุณไสยขับไล่ภูตผีปีศาจได้ชยัดอีกด้วย แม้การเดินทางไปวัดไทรสมัยก่อนจะลำบาก แต่ก็มีคนบากหน้าขอความอนุเคราะห์ให้หลวงพ่ออ่วมรดน้ำมนต์อยู่เสมอ คนป่วยบางคนญาติต้องนำใส่เรือนอนมาจากที่ไกลๆ ให้ท่านรดน้ำมนต์ถึงวัดแสดงว่ากิตติศัพท์หลวงพ่ออ่วม ในสมัยนั้นเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่วทุกหัวระแหงเลยที่เดียว
นอกจากนี้หลวงพ่ออ่วมยังเก่งในเรื่องการต่อกระดูก ใครกระดูกแตกหรือหักรักษาที่ไหนไม่หายมาหาหลวงพ่ออ่วม ท่านต่อได้หมดถึงขนาดเล่ากันว่าท่านเอาขาเป็ด กับขาไก่มาต่อได้ติดเป็นปกติก็แล้วกัน
ส่วนวัตถุมงคลที่ หลวงพ่ออ่วม สร้างที่เป็นเครื่องราง ก็ได้แก่ ตะกรุด ลูกสะกด ประสบการณ์ชาวบ้านนำไปใช้แล้วมีมากทางด้านคงระพัน และมหาอุตย์ยิ่งนัก ถูกแทง ถูกฟัน ถูกยิงไม่เข้า และไม่ออกหลายรายด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันเครื่องราง หลวงพ่ออ่วม เหล่านี้ก็เป็นที่หวงแหนและก็หายากพอๆกับพระสมเด็จเช่นกัน วัตถุมงคลหลวงพ่ออ่วม ที่ขึ้นชื่อและโดดเด่นมาก็ได้แก่ เหรียญหล่อโบราณพิมพ์สี่เหลี่ยม เนื้อทองผสม ซึ่งประวัติว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐
นับว่าเป็นเหรียญหล่อโบราณเหรียญแรกๆ ของเมืองไทยก็ว่าได้ เหรียญหล่อรุ่นนี้ก็คง สันนิษฐานว่าคงสร้างตอนท่านมีอายุครบ ๙๐ ปี เข้าใจว่าคงจะสร้างเป็นที่ระลึกในงานทำบุญอายุ
เหรียญหล่อโบราณ พิมพ์สี่เหลี่ยม หลวงพ่ออ่วม วัดไทร เป็นเหรียญหล่อโบราณ หล่อจากโลหะผสมหลายชนิดที่ชาวบ้านนำมาถวาย ออกเนื้อทองผสม หรือสำริดก็มี เป็นพิมพ์สองหน้าด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธปฏิมากรปางขัดสมาธิเพชร ขนาบข้างซ้าย-ขวาเป็นตัวจันทร์ครึ่งเสี้ยวกับสูริย์อยู่ตรงกลาง ข้างบนเป็นอุณาโลม ส่วนข้างล่างเป็นอักขระขอมตัวอ ด้านล่างเป็นอักขระขอมอ่านได้ว่า “ติสฺสรสฺส” ซึ่งเป็นฉายาของห ลวงพ่ออ่วม
ส่วนด้านหลังเป็นรูป หลวงพ่ออ่วม นั่งสมาธิ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ที่สังฆาฏิมีอักขระขอมว่า “มะ อะ อุ” ข้างขวาเป็นตัวหนังสือไทย ว่า วัดไทร ด้านซ้ายเป็นอักขระขอมว่า “นะ มะ พะ ธะ” เนื่องจากเหรียญหล่อพิมพ์สี่เหลี่ยมหลวงพ่ออ่วมรุ่นนี้เป็นพิมพ์สองหน้า จึงมีการถกเถียงกันว่าด้านไหนเป็นด้านหน้าและด้านหลังกันแน่ เพราะมีบางคนบอกว่าด้านที่เป็นรูปหลวงพ่ออ่วมเป็นด้านหน้า แต่เมื่อพิจารณาจากหูขอบเหรียญซึ่งหล่อติดมาจากในพิมพ์ ด้านหน้า มีลักษณะนูน ส่วนด้านหลังมีลักษณะแบนราบ ประกอบกับว่า พระสงฆ์ยุคสมัยนั้นไม่นิยมสร้างวัตถุมงคลเป็นรูปตัวเอง จะสร้างพระเครื่องก็จะสร้างเป็นรูปพระพุทธ
การที่ หลวงพ่ออ่วม สร้างเหรียญหล่อขึ้นมาโดยเอารูปท่านไว้ด้านหน้า แล้วเอารูปพระพุทธ ไว้ด้านหลัง ก็คงเป็นไปไม่ได้ เหรียญหล่อโบราณพิมพ์สี่เหลี่ยม หลวงพ่ออ่วมรุ่นนี้ ด้านหน้าจึงเป็นรูปพระพุทธส่วนรูปท่าน อยู่ด้านหลังดังที่กล่าวมาแล้ว ประสบการณ์เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่ออ่วมก็มีมาก ทางแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และมหาอุตย์ อย่างที่สุดครับและจัดว่าเป็นเหรียญหล่อโบราณที่พบเห็นยากอันดับต้นๆเหรียญหนึ่ง ของเมืองไทยเลยทีเดียวครับเมื่อสมัยก่อนถือว่าเป็นเบญจภาคี แห่งเหรียญหล่อโบราณอีกหนึ่งเหรียญครับ คือ เหรียญหล่อหลวงพ่อแก้ว, หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก, หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน เหรียญจอบหลวงพ่อเงิน และ เหรียญหล่อหลวงพ่ออ่วม วัดไทร ซึ่งเหรียญหล่อหลวงพ่ออ่วมหายากมากในปัจจุบัน
◉ มรณภาพ
หลวงพ่ออ่วม หรือ พระอุปัชฌาย์อ่วม ติสฺสรสฺโส วัดไทร ท่านมรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๖๐ ขณะมีอายุ ๑๐๐ ปี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย