ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่ออี๋ พุทธสโร
วัดสัตหีบ
อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
พระครูวรเวทมุนี (หลวงพ่ออี๋ พุทธสโร) พระเกจิอาจารย์ชื่อก้องแห่งภาคตะวันออก วัดสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ว่าตรงกันว่า ท่านเป็นที่พึ่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๘ ของไทย ที่มีเรือ่งเล่าถึงอิทธิปาฏิหาริย์ของท่าน ว่าหลวงพ่ออี๋ยกผ้าเหลืองโบกไปโบกมา พร้อมทั้งยืนบริกรรมพระคาถาอย่างสงบนิ่ง ลูกระเบิดที่หย่อนมาจากเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรหมายถล่มตลาดและฐานทัพเรือให้ราบเป็นจุล กลับเบี่ยงเบนปลิวไปตกในทะเลจนหมดสิ้น ไม่อาจทำลายฐานทัพเรือและชีวิตของประชาชนชาวอำเภอสัตหีบได้
◉ ชาติภูมิ
พระครูวรเวทมุนี (หลวงพ่ออี๋ พุทธสโร) วัดสัตหีบ นามเดิมชื่อ “อี๋ ทองขำ” เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๐๘ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีฉลู ปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบิดาชื่อ “นายขำ” และมารดาชื่อ “นางเอียง ทองขำ” ที่บ้านตำบลสัตหีบ กิ่งอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี บิดาของท่านรับราชการ ตำแหน่งที่ชาวบ้านในสมัยนั้นเรียกว่า “นายกอง”
◉ อุปสมบท
เมื่ออายุได้ ๒๕ ปี หลวงพ่ออี๋ พุทธสโร ท่านได้อุปสมบท ณ วัดอ่างศิลานอก (ซึ่งปัจจุบันได้ยุบรวมเป็นวัดอ่างศิลาเดียววัดเดียว) โดยมี พระอุปัชฌาย์จั่น จนฺทสโร วัดเสม็ด เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ทิม เป็นพระกรรมวาจารจารย์ , และ พระอาจารย์แดง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “พุทฺธสโร” แปลว่า “ผู้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า”
ภายหลังอุปสมบท ได้ศึกษาพระธรรมวินัยและศาสนพิธีในสำนักพระอุปัชฌาย์รวม ๖ พรรษา และต่อมาได้ไปศึกษาวิปัสสนาธุระ ในสำนักของท่านพระครูนิโรธาจารย์ (หลวงพ่อปาน) วัดคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ซึ่งช่วงนั้นมีชื่อเสียงมาก และท่านยังได้ออกธุดงควัตรไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย เมื่อบังเกิดความกล้าแข็งทางจิต สัมฤทธิ์ในธรรมแล้ว จึงเดินทางกับมาสร้างวัดสัตหับขึ้น ใช้เวลาเพียง ๕ ปีจึงสมบูรณ์ จนมีความชำนาญในสมถวิปัสสนา จึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดอ่างศิลาอีก
หลวงพ่ออี๋ พุทธสโร ท่านได้ใช้วิชาอาคมอันแก่กล้ามาสร้างและปลุกเสกเครื่องรางของขลังต่างๆ มาแจกกับศิษยานุศิษย์ โดยเฉพาะปลัดขิกนั้นโด่งดังที่สุดในเมืองไทย เป็นที่เลื่องลือในคุณวิเศษมาจนถึงทุกวันนี้
พรรษาที่ ๑๑ ท่านได้กลับมาเยี่ยมญาติที่วัดสัตหีบ และในพรรษานั้นเองท่านได้ร่วมมือกับญาติโยมจัดการย้ายสำนักสงฆ์เดิมที่มีอยู่ที่หัวตลาด มาสร้างที่วัดสัตหีบในปัจจุบัน และญาติโยมได้อาราธนาให้ท่านปกครองวัดสัตหีบ สืบจนสิ้นอายุขัยของท่าน
หลวงพ่ออี๋ พุทธสโร เป็นพระเถระที่มีศีลาจารวัตรงดงาม มีเมตตาธรรม เป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ให้การสงเคราะห์แก่ผู้เดือดร้อนและผู้ที่เจ็บป่วยไข้ด้วยยาแผนโบราณและเวทมนตร์คาถา
มีตำนานเล่าขานว่า เมื่อครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพพันธมิตรได้โจมตีฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งอยู่ในน่านน้ำ อ.สัตหีบ ปรากฏว่าลูกระเบิดที่ทิ้งลงมาไม่ลงมาในพื้นที่สัตหีบแม้แต่ลูกเดียว
มีผู้เห็นว่าขณะที่เกิดสงครามมีการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินอยู่นั้น หลวงพ่ออี๋ได้นั่งบำเพ็ญจิตตภาวนาอยู่กลางแจ้ง อธิษฐานจิต ทำให้ลูกระเบิดจากเครื่องบินกองทัพพันธมิตรที่โจมตีฐานทัพเรือสัตหีบ เที่ยวแล้วเที่ยวเล่าไม่ลงมาในพื้นที่สัตหีบเลยแม้แต่ลูกเดียว
ประชาชนชาวสัตหีบจึงเลื่อมใสศรัทธาในบุญญาธิการของหลวงพ่ออี๋ จนเกิดความเคารพเลื่อมใสศรัทธามาอย่างไม่เสื่อมคลาย
ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ได้สร้างคุณงามความดีไว้ให้กับ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี อย่างมากมาย อาทิ สร้างโรงเรียนประชาบาลบั๊กเส็งขึ้นภายในวัดสัตหีบ ปัจจุบันได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่ถนนบ่านนา เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสัตหีบมาถึงปัจจุบัน
สำหรับศิษย์ผู้ที่ทำหน้าที่ช่วยหลวงพ่ออี๋ลงอักขระ และสืบทอดวิชาทำปลัดขิกได้แก่ อาจารย์บรรจบ (น้องชายแท้ๆ หลวงพ่ออี๋), หลวงตาจำเนียร สุขรุ่ง วัดสัตหีบ, หลวงพ่อหงุ่น วัดสัตหีบ, อาจารย์มั่น กิโล ๑๐ นั้นคือรายนามศิษย์ที่อาศัยอยู่ภายในอารามเดียวกับหลวงพ่ออี๋
ส่วนศิษย์ที่มาขอเรียนวิชากับท่าน และออกไปทำปลัดขิกจนมีชื่อเสียงในเวลาต่อมา คือ หลวงพ่อทองอยู่ จนฺทสาโร วัดบางเสร่คงคาราม จ.ชลบุรี (หลวงพ่อรูปนี้สามารถทดลองวิชาทำปลัดขิกแล้วนำไปทิ้งในทะเล แล้วอธิษฐานให้ลอยทวนน้ำขึ้นไปหาหลวงพ่ออี๋ พระอาจารย์ของท่านมาแล้ว สำหรับหลวงพ่อทองอยู่นั้นหลวงพ่ออี๋ท่านชื่นชมมาก) หลวงพ่อลั้ง วัดอัมพาราม จ.ชลบุรี, หลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, หลวงพ่อกี๋ วัดหูช้าง จ.นนทบุรี, หลวงพ่อเปี่ยม วัดทุ่งเหียง จ.ชลบุรี, หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่, หลวงพ่อเริ่ม วัดจุกกะเฌอ จ.ชลบุรี และรูปสุดท้ายที่ได้วิชาในช่วงท้ายของอายุของของหลวงพ่ออี๋ คือ หลวงพ่อชม วัดโป่ง จ.ชลบุรี
◉ ในด้านงานปกครอง
ในปี พ.ศ.๒๔๖๗ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลสัตหีบ
ในปี พ.ศ.๒๔๖๗ เป็นพระอุปัชฌาย์
ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวงกิ่งอำเภอสัตหีบ
◉ สมณศักดิ์
ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ได้รับพระพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่ “พระครูวรเวทมุนี”
◉ มรณภาพ
หลวงพ่ออี๋ ท่านเริ่มอาพาธด้วยโรคฝีที่คอ ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ แต่ท่านก็ไม่ได้ใส่ใจรักษานัก ท่านเคยปรารภว่ามันจะมาเอาชีวิตท่าน คงใช้แต่ยาของท่านเองบ้าง ปิดบ้าง พอกบ้าง ใช้น้ำมนต์บ้าง เรื่อยมาและไม่หยุดการรับนิมนต์ในที่ใด ๆ ทั้งสิ้น โรคฝีได้กำเริบขึ้นเป็นลำดับมา จนเข้าพรรษาแล้ว พิษของฝีจึงแสดงอาการให้ต้องพักทำวัตรสวดมนต์
กำลังของท่านเริ่มลดลง หัวฝีเล็ก ๆ ใต้คางด้านขวาก็เริ่มบวมมากขึ้น มีผู้ห่วงใยแนะนำท่านให้เข้าโรงพยาบาลผ่าตัดเสีย ท่านก็บอกว่า..“ช่างมันเถอะ เป็นกรรมเก่าของฉัน เจ้ากวางหนองไก่เตี้ย มันมาตามทวงหนี้แล้ว”
เพราะท่านเคยบอกคนใกล้ชิดว่าชาติก่อนเคยไปยิงกวางตัวหนึ่งที่หนองไก่เตี้ย ถูกที่ซอกคอตาย กรรมนั้น จึงตามมาให้ผลแล้ว ท่านก็คิดว่าเป็นกรรมเก่า อยากจะชำระหนี้ให้เสร็จเสียที จึงไม่ได้สนใจรักษาทางแพทย์ปัจจุบัน แม้โรงพยาบาลก็ไม่ได้พูดถึง จนถึงเวลาที่ฝีสุกแก่จัด และโตขึ้นมาก จึงทวีความรุนแรงมากยิ่ง ทำให้กำลังร่วงโรยประกอบกับเข้าสู่วัยชราภาพมาก
แล้วพอถึงวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๙ ตรงกับแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีจอ เวลา ๒๐.๓๕ น. หลวงพ่ออี๋ท่านก็บอกให้พระที่นั่งเฝ้าพยาบาลแวดล้อมท่านอยู่ ช่วยประคองให้ท่านลุกขึ้นนั่ง แล้วสั่งไม่ให้ทุกคนแตะต้องตัวท่าน เสร็จแล้วท่านก็นั่งสมาธิตัวตรง เริ่มเข้าสมาธิ
ชั่วครู่สิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึง ทำให้ทุกคนตกใจกันสุดขีดคือ ไม้กระดานแผ่นหนึ่ง ซึ่งตั้งพิงฝาผนังภายในกุฏิและตั้งอย่างนั้นมานานแล้ว ก็ล้มโครมลงมาฟาดกับพื้น และกระจกแผ่นหนึ่งที่ติดกับบานประตูตู้ ห่างจากไม้กระดานหลายเมตร ก็กระเด็นหลุดออกมาแตกกระจายทั่วพื้น
ทั้งพระและลูกศิษย์วัดที่คอยนั่งเฝ้าพยาบาลแวดล้อมท่านอยู่ตกใจมาก พอหายตกใจได้สติก็หันมาดูหลวงพ่ออี๋ ซึ่งตรงกับเวลา เวลา ๒๑.๐๕ น.ท่านก็นั่งสงบปราศจากลมหายใจเข้าออกเสียแล้ว สิริอายุรวมได้ ๘๒ ปี พรรษา ๕๗ ข่าวการการมรณภาพก็กระจายไปทั่วกิ่งอำเภอสัตหีบอย่างรวดเร็ว
จนถึงปัจจุบันชื่อเสียงของท่าน ยังเป็นที่บอกกล่าวเล่าขานสืบกันต่อมา
◉ ด้านวัตถุมงคล
ด้านวัตถุมงคล หลวงพ่ออี๋ พุทธสโร ท่านสร้างไว้ให้เป็นขวัญและกำลังใจของประชาชนไว้แจกทหารเรือหรือเสื้อยันต์ ผ้าพันหมวก ที่ขึ้นชื่อมากที่สุดในบรรดาเครื่องรางของท่าน ได้แก่ ปลัดขิก ที่มีชื่อเสียงในด้านมงคล ทำมาค้าขึ้นที่ผู้คนนิยมเช่าไปบูชากัน สร้างพระและเครื่องรางต่างๆ ไว้มาก ทั้งตะกรุด เสื้อยันต์ เหรียญ พระปิดตา “พระสาม” และ “พระสี่” หรือพรหม ๔ หน้า
รวมทั้งเครื่องรางปลัดขิกที่มีชื่อเสียงมาก สร้างออกมาหลายแบบในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ช่วงสงครามโลก ส่วนเหรียญยอดนิยม คือ เหรียญรุ่นแรก รูปไข่ เนื้อทองแดง ปี พ.ศ.๒๔๗๓
นอกจากนี้ ยังมีเหรียญอีกรุ่นหนึ่ง ที่ได้รับความนิยม คือ เหรียญรุ่นสร้างโรงเรียน จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๓ เป็นที่ระลึกในโอกาสสร้างโรงเรียนบ้านสัตหีบ นับเป็นเหรียญรุ่นที่สอง
จนถึงปัจจุบันชื่อเสียงของท่านยังเป็นที่บอกกล่าวเล่าขานกันสืบต่อมา และบารมีของท่านและวัดหลวงพ่ออี๋ก็ยังคงอยู่ตราบนานเท่านาน รวมถึงด้านวัตถุมงคลแทบทุกชนิด ล้วนแต่หายากยิ่ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.dharma-gateway.com