ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด
วัดอัมพวัน
ดุสิต กรุงเทพฯ
หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน พระเกจิผู้แก่กล้าวิชาอาคม หนังเหนียว อดีตขุนโจรขมังเวทย์ ผู้สร้างตำนานยันต์เก้ายอดอันลือลั่น
◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน นามเดิมชื่อ “หรุ่น ใจภารา” เกิดเมื่อราวปี พ.ศ.๒๓๙๐ พื้นเพเป็นคนเกิดในตำบลเชียงราก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาซื่อ “นายน้อย ใจภารา” และมารดาซื่อ “นางคำ ใจภารา” ซึ่งตั้งรกรากทำนามาแต่บรรพบุรุษในตำบลเชียงรากนั่นเอง
นายหรุ่นไม่เคยสนใจในการทำนาและไม่เคยช่วยบิดามารดาทำงานเลย สนใจแต่เพียงว่ามีพระเกจิอาจารย์องค์ใดที่เก่งกล้าในวิชาอาคมทางไสยศาสตร์อยู่ที่ไหน เป็นต้องหนีออกจากบ้านไปครั้งละหลายวัน บางครั้งก็เป็นเดือน เพื่อขอร่ำเรียนวิชาต่างๆ ทำความอิดหนาระอาใจให้แก่นายน้อยและนางคำเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอยู่ต่อมาบิดาและมารดาเห็นว่าจะเลี้ยงลูกคนนี้ไว้ไม่ได้แล้ว จึงได้ปรึกษากันและกล่าวว่า ถ้าเอ็งไม่ช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ข้าทั้งสองก็เห็นจะเลี้ยงเอ็งต่อไปไม่ได้ เพราะเอ็งเอาแต่เที่ยวเตร่อย่างเดียว นายหรุ่นเป็นคนที่ทิฐิมานะแรงกล้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงก้มลงกราบพ่อแม่แล้วพูดว่า ถ้าชีวิตยังไม่ตายเสียก่อน จะกลับมาสนองพระคุณพ่อแม่ให้ได้ต่อไป พร้อมทั้งรวบรวมเสื้อผ้าข้าวของที่มีอยู่ใส่ในย่ามและลงเรือหายสาบสูญไปเป็นเวลานานโดยไม่มีข่าวและวี่แววอีกเลย
จนกระทั้ง พ.ศ๒๔๒๕ “เสือหรุ่น ใจภารา” ปรากฏตัวขึ้น โดยปล้นและฆ่าเจ้าทรัพย์มานับเป็นร้อยๆราย ตลอดทุกตำบลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลอื่นๆ ไม่มีใครที่จะปราบเสือหรุ่นลงได้ แม้แต่กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเสือหรุ่นผู้นี้แก่กล้าวิชาอาคมสามารถผูกหุ่นลวงให้เจ้าหน้าที่ยิงและจับมานับครั้งไม่ถ้วน และตัวเองก็สามารถหลบหนีจากเงี้ยมมือของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ในสมัยนั้นไปได้ทุกครั้ง ทำความปวดเศียรเวียนเกล้าให้แก่เจ้าหน้าที่ไปตามๆ กั นทางการสมัยนั้นยังไม่รุ่งโรจน์พอ เครื่องมืออาวุธยุทธภัณฑ์ก็ล้าสมัย เจ้าหน้าที่ก็มีน้อย อีกทั้งยานพาหนะก็ไม่เคยปรากฏว่ามีกันเลย จนถึงพูดกันในสมัยนั้นว่า นักเลงโตกว่าตำรวจ
ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่สามารถปราบเสือหรุ่นได้ กิตติศัพท์ของเสือหรุ่นในสมัยนั้นเลื่องลือไปจนกระทั้งชาวบ้านทุกๆ ตำบลของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พากันนอนไม่หลับ
จนกระทั้งนายอำเภอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เขียนประกาศปิดไว้ในที่ต่างๆ ให้เสือหรุ่นเข้าพบ โดยมีข้อแม้ว่าให้เสือหรุ่นมาเพียงคนเดียว และห้ามพกอาวุธ พบกันที่บ้านพักนายอำเภอ จะได้เจรจากันเพื่อเข้ารับราชการต่อไป โดยจะไม่เอาผิดในครั้งที่แล้วๆ มา
เมื่อ “เสือหรุ่น” ได้ทราบหนังสือประกาศของนายอำเภอแล้วจึงรีบเดินทางมาพบนายอำเภอทันที เพื่อมอบตัวหวังกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี แต่เสือหรุ่นติดกับนายอำเภอเสียแล้ว เพราะนายอำเภอจัดเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน พร้อมทั้งอาวุธปืนรายล้อมบริเวณนั้นไว้อย่างหนาแน่น เสือหรุ่นได้เดินทางมายังบ้านพักนายอำเภอ เพื่อหวังเจรจากัน เมื่อใกล้ถึงบ้านพัก เสือหรุ่นได้ยินเสียงนายอำเภอตะโกนมาว่า เสือหรุ่นจงหยุดอยู่กับที่ และยอมมอบตัวเสียแต่โดยดี มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่และชาวบ้านที่รายล้อมอยู่รอบตัวเสือหรุ่นจะยิงทันทีเสือหรุ่นเมื่อรู้ตัวว่าถูกลวง ก็มิได้สะทกสะท้านแต่ประการใด นึกแค้นใจนายอำเภอเป็นที่สุดจึงสำรวมใจเป็นสมาธิแล้วภาวนาคาถาที่ได้ร่ำเรียนมา ผูกหุ่นลวงนายอำเภอไว้ และหนีฝ่าวงล้อมรอดไปได้
นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เสือหรุ่นได้ทวีการปล้นฆ่าหนักยิ่งขึ้น จนเจ้าเมืองพระนครศรีอยุธยาได้เรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านตำบลต่างๆ มาพบและปรึกษาหารือกันว่าเสือหรุ่นนี้ยากแก่การปราบปราม อยากจะเกลี้ยกล่อมให้เสือหรุ่นกลับใจเข้ารับราชการเสีย
จึงเขียนประกาศด้วยตัวของเจ้าเมืองเองให้เสือหรุ่นมาพบกับท่านโดยตรงโดยท่านจะไม่เอาโทษทัณฑ์กับเสือหรุ่นเลยเพราะทางการต้องการคนดีใว้ใช้ต่อไปเมื่อเสือหรุ่นทราบเรื่อง ครั้งแรกก็ยังลังเลใจอยู่ เพราะเคยถูกนายอำเภอต้มมาหนหนึ่งแล้ว แต่ใจหนึ่งก็คิดว่าตัวเองได้ก่อกรรมทำเข็ญสร้างเวรกรรมไว้มากแล้ว คิดจะกลับตัวกลับใจเลิกเป็นโจรเสียที จึงตัดสินใจเขียนจดหมายถึงเจ้าเมืองพระนครศรีอยุธยาว่า ตนยินดีที่จะพบกับท่านเจ้าเมืองทุกเวลาแต่มีข้อแม้ว่าให้ท่านเจ้าเมืองมาเพียงคนเดียว เสือหรุ่นรับรองในความปลอดภัย และให้พบได้ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ลานนวดข้าวหลังโรงสีเวลา ๒ ทุ่มตรง
ครั้นถึงเวลานัด เจ้าเมืองได้มาถึงที่ลานนวดข้าวก่อน พอได้เวลาเสือหรุ่นจึงเดินแหวงพุ่มไม้ออกมาพบ ท่านเจ้าเมืองจึงพูดขึ้นว่าหรุ่นเอ๊ยสิ่งใดที่ผ่านมาขอให้ลืมมันเสีย จงกลับตัวกลับใจเสียใหม่ ทางราชการยังขาดคนดีมีฝีมือเช่นเจ้าอยู่ ฉะนั้นข้าจะแต่งตั้งให้เอ็งเป็นกำนันปกครองคนในตำบลเชียงรากบ้านเดิมต่อไป เสือหรุ่นได้ฟังดังนั้นก็ตื่นตันใจ จึงทรุดตัวลงนั่งยกมือไหว้ท่านเจ้าเมืองและกล่าวว่าจะพยายามปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด
นับแต่นั้นมาเสือหรุ่นก็ได้ทำหน้าที่อย่างดีตลอดมาประมาณ ๓ ปี จึงได้พระราชทานยศเป็น “ขุนภาวิจล ใจภารา”
หลังจากได้รับพระราชทานยศเพียง ๑ ปี ก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก คือ “เสืออุ่น” ได้มาปรากฏตัวขึ้นในตำบลนั้น “ขุนภาวิจล” จึงเรียก เสืออุ่น เข้ามาพบแล้ว ท่านกำนันตำบลเชียงรากหรือเสืออหรุ่นจึงอบรมสั่งสอนให้เสืออุ่นให้ประพฤติแต่สิ่งดีงาม ขอให้เลิกทำความชั่วเสียเพราะได้เคยสร้างเวรสร้างกรรมไว้มาก
ส่วน “เสืออุ่น” นั่งฟังอยู่ก็มิได้รับคำแต่ประการใด กับนึกในใจว่า ขุนการวิจลเห่อยศศักดิ์จนลืมเพื่อนเก่าๆ เสียสิ้น จึงรีบลา “ขุนภาวิจล” กลับไป
เมื่อเสืออุ่นลา “ขุนภาวิจล ใจภารา” กลับมา ด้วยความไม่พอใจเสืออุ่นเริ่มปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์คนแล้วคนเล่า แล้วเมื่อปล้นฆ่าแล้วทุกๆ ราย “เสืออุ่น” จะเอ่ยซื่อ “เสือหรุ่น” ปล้นฆ่าทุกครั้ง ความทราบถึงเจ้าเมืองพระนครศรีอยุธยาให้มีความสงสัยจึง มีหนังสือถึงขุนกาวิจลให้เข้ามาพบด่วน
ฝ่ายขุนกาวิจลได้รับหนังสือแล้วคิดว่าการครั้งนี้ เราคงมีความผิดแน่ๆ เพราะเจ้าเสืออุ่นถูกจับได้ซัดทอดมาถึง และอีกประการหนึ่ง ใครๆ ก็ย่อมรู้ว่าเสืออุ่นคือ สมุนมือขวาของขุนกาวิจลมาก่อน คงจะรู้เห็นเป็นใจกันแน่จึงได้หลบหนีหายเข้ามาในกรุงเทพฯ แต่เจ้าหน้าที่ก็พยายามล่าตัวอยู่ตลอดเวลา ขุนกาวิจลเห็นว่าถ้าขืนอยู่ในกรุงเทพต่อไป มิวันใดก็วันหนึ่งต้องถูกจับจนได้ จึงหนีย้อนกลับขึ้นไปบวชอยู่ที่วัดลำลูกกานั้นเอง
◉ อุปสมบท
อุปสมบท ประมาณปี พ.ศ.๒๔๓๑ โดยมี พระญาณไตรโลก (สะอาด) อดีตเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งยังเป็นที่ “พระธรรมราชานุวัตร” เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์นั้น เป็นที่ถกเถียงกัน บ้างก็ว่าเป็นพระวัดลำลูกกา บ้างก็ว่าเป็นวัดกลางนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บ้างก็ว่าเป็นพระวัดสามไห แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดลำลูกกามากกว่า
ภายหลังจากอุปสมบทได้หลายพรรษาแล้ว ท่านจึงเริ่มเดินธุดงค์ ก่อนหน้านั้นนอกจากจะได้ศึกษาพระธรรมวินัยแล้ว ยังได้ร่ำเรียนด้านวิปัสสนากรรมฐานด้วย ภายหลังได้ธุดงค์มาปักกลดในบริเวณข้างวัดอัมพวัน ถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ชาวบ้านได้เห็นถึงกิจวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด และมีคาถาอาคมแก่กล้าจึงได้นิมนต์ท่านมาพำนักที่วัดอัมพวันตั้งแต่บัดนั้น
ในช่วงเวลานั้นมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เพราะกิติศัพย์ยันต์เก้ายอดอันลือชื่อ กล่าวกันว่าในยุคนั้น ไม่มีใครดังใครเหนียวเท่าก๊ก “เก้ายอด”
ซึ่งในยุคนั้นเมืองกรุงเทพ หรือจังหวัดพระนครในสมัยนั้น มีก๊กนักเลงอยู่หลายก๊กด้วยกัน ที่ขึ้นชื่อก็มี ลูกศิษย์หลวงพ่อโม วัดสามจีน (วัดไตรมิตรวิทยาราม) มีถิ่นอยู่แถวเยาวราช-วงเวียน ๒๒ กรกฎาฯ แถววรจักร ก็มีศิษย์หลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร บางขุนพรม มีอาวุธประจำกายคือ ไม้ตะพดของหลวงปู่ภู หรือที่เรียกว่านิ้วเพชรพระอิศวร ว่ากันว่าหากใครโดนหัวไม้ตะพดตีนั้น อาจถึงแก่ชีวิต หลวงปู่ภูท่านจึงบอกศิษย์อยู่เสมอว่าอย่าใช้หัวไม้ตีใคร มันจะบาปตัวท่านเองด้วยและที่ขึ้นชื่อลือชาด้านความเหนียวอยู่ยงคงกระพันไม่เป็นสองรองใครก็คือ แก๊งเก้ายอด ลูกศิษย์ของหลวงพ่อหรุ่น ใจภารา วัดอัมพวัน ราชวัตร กรุงเทพมหานคร
หลวงพ่อหรุ่น ท่านสำเร็จเรื่องยันต์เก้ายอด และมักสักยันต์เก้ายอดให้แก่ศิษย์ ต่อมาภายหลังจึงได้มอบวิชานี้ให้กับอาจารย์ภู่ ซึ่งถือว่าเป็นศิษย์เอกที่ใด้รับวิชาสักนี้ไป หลวงพ่อหรุ่น ท่านมีบุตรชายคนโตชื่อ นายเสงี่ยม ใจภารา มีตำแหน่งเป็นทหารม้ารักษาพระองค์ภายหลังใด้เป็นมหาดเล็กใน เสด็จเตี่ย (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) สมัยก่อนแก๊งเก้ายอดนี้มีถิ่นอยู่แถวนางเลิ้งไปจนถึงดุสิต
เรื่องราวเล่าขานของเสือหรุ่นหรือหลวงพ่อหรุ่นเก้ายอดเป็นที่น่าเกรงขาม แม้แต่เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรฯ ยังทรงยกย่องยอมรับ พอเลิกจากการเป็นเสือได้หันหน้าเข้าหาพระธรรม ตอนหลังเป็นพระอาจารย์ชื่อดังขึ้นชื่อเรื่องการสักยันต์เก้ายอดให้ลูกศิษย์ ใครที่มียันต์เก้ายอดติดกายเข้ารณรงค์สงครามลูกปืนมาเป็นห่าฝน มีดดาบคมกริบไม่เคยระคายผิว
กล่าวสำหรับ วัดอัมพวัน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ราว พ.ศ.๒๓๘๕ โดยพระยาราชชนะสงคราม (วัน) เป็นผู้สร้างเพื่ออุทิศแก่มารดาของท่านชื่อ “อ่ำ” จึงได้รับการขนานนามวัดว่า “วัดอ่ำวัน” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอัมพวัน” เพื่อให้มีความหมายดีขึ้น
◉ มรณภาพ
หลังจากมาจำพรรษาอยู่ที่วัดอัมพวันได้ไม่นานนัก หลวงพ่อหรุ่นก็ได้อาพาธกระเสาะกระแสะเรื่อยมา ด้วยโรคอัมพาต ในที่สุด หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน ท่านได้ถึงกาลมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ ณ.วัดอัมพวัน นั่นเอง ภายในกุฏิหลังโบสถ์ปัจจุบันนี้ สิริอายุรวมได้ ๘๑ ปี พรรษา ๓๕
◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน ท่านสร้างวัตถุมงคลแค่ ๔ ชนิดคือ
๑.เหรียญรูปใข่ครึ่งองค์ หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน รุ่นแรก
๒.ตะกรุดโทน ยาวประมาณ ๒ องคุลีนิ้ว (ประมาณ ๕-๖นิ้วฟุต)
๓.ตะกรุดกระดูกห่าน จารอักขระขอม ยาวประมาณ ๑ องคุลีนิ้ว (ประมาณ ๒นิ้วครึ่ง-๓นิ้วฟุต)
๔.แหวนพิรอดเก้ายอด ของมงคลทุกอย่างที่เอ่ยมาของท่านสร้างไว้น้อยมากๆ
คำว่า ๙ ยอด คือ ยอดของยันต์ ที่มีความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ ๙ ทาง ดังจะผูกเป็นวลี ๙ ทางดังนี้ ชาตรี , แคล้วคลาด , กันภัย ,มหาระงับ, ดับทุกข์ , สุขล้น , พ้นสงสาร , การงานรุ่ง, พยุงดวง
“ยอดที่ ๑ ชาตรี” โดนของหนัก ของเบา ของแหลม ของคม ไม่ระคายผิว
“ยอดที่ ๒ แคล้วคลาด” ศัตรูหมู่มารเหตุเพศภัยอันใดแคล้วคลาดผ่านพ้นจากเราไปหมด
“ยอดที่ ๓ กันภัย ” ภัยจากทิศทั้ง ๔ บนบก บนน้ำ บนอากาศ ทำอันตรายเรามิได้
“ยอดที่ ๔ มหาระงับ” ดับเรื่องร้อนเลวร้ายขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นความเป็นคดีระงับดับหมดทุกเรื่อง
“ยอดที่๕ ดับทุกข์” ทุกข์ภัยที่เกิดกับตัวลำบากยากจนหน้าดำคล้ำหมอง หายจืดจางไป
“ยอดที่ ๖ สุขล้น” ทวีความผาสุก เกษมสำราญ ทั้งสุขภาพจิต สุขภาพใจ
“ยอดที่ ๗ พ้นสงสาร” จิตเกาะเกี่ยวกับธรรมคุณความดีงามละชั่วประพฤติเลว ทำดีตลอดไป
“ยอดที่ ๘ การงานรุ่ง” หน้าที่การงานเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เจ้านายรักลูกน้องหนุน เพื่อนร่วมงานดี
“ยอดที่ ๙ พยุงดวง” แก้ทุกข์ภัยจากการกระทำของดวงตก ดวงไม่ดี เคราะห์เวรกรรม บรรเทาลงโดยพลัน
ขอบคุณข้อมูลและภาพจากหนังสือ 108 พระคณาจารย์แดนสยาม โดย คุณพยัพ คำพันธุ์