วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อสุ่น

วัดบางปลาหมอ
อ.บางบาลจ.พระนครศรีอยุธยา

หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อ.บางบาลจ.พระนครศรีอยุธยา
หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อ.บางบาลจ.พระนครศรีอยุธยา

หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งท่านเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก

วัดบางปลาหมอ เป็นวัดเก่าแก่ สืบค้นไม่ได้ว่าสร้างมาตั้งแต่ครั้งใด สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่ครั้งปลายกรุงศรีอยุธยา หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำเต้า อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ชื่อวัดบางปลาหมอนี้ คงได้มาตามชื่อของชุมชนในสมัยนั้น ซึ่งเมื่อสร้างวัดแล้วก็มักจะเรียกชื่อวัดตามชื่อของชุมชนนั้นๆ และชุมชนแห่งนี้ ตามห้วยหนองคลองบึงคงจะมีปลาหมอชุกชุม จนขึ้นชื่อและเป็นที่มาของชื่อชุมชน

และในสมัยที่หลวงพ่อสุ่น เป็นเจ้าอาวาสวัดนี้เจริญรุ่งเรืองมาก เนื่องจากชาวบ้านและมีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงพ่อสุ่นมาก จะมีคนมาฟังเทศน์ และมาให้หลวงพ่อช่วยบำบัดรักษา โรคภัยไข้เจ็บอยู่เสมอ

ประวัติของหลวงพ่อสุ่น นั้นเลือนรางมาก มีแต่การเล่าต่อๆ กันมาอีกทีหนึ่ง ที่พอจะสันนิษฐานจากรูปถ่าย ปีพ.ศ.ที่ถ่ายไว้ และประมาณอายุของท่านในตอนที่ได้ถ่ายรูปนั้น ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า หลวงพ่อสุ่น น่าจะเกิดในราวปี พ.ศ.๒๓๕๘

หลวงพ่อสุ่นอาจจะเป็นพระญาติของสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ฝ่ายเจ้าจอมมารดาก็อาจเป็นได้

สืบเนื่องจากพระราชนิพนธ์ “ประพาสต้น” ครั้งที่ ๒ ปีพ.ศ.๒๔๔๙ ของพระพุทธเจ้าหลวง กล่าวถึงว่า

“วันที่ ๕ เช้าโมงหนึ่ง น้ำลดสะพานเดินได้ ขึ้นไปถ่ายรูปในมณฑป ที่พูดเมื่อวานนี้ มีพระป่าเลไลยก์ และรูปเจ้าอธิการวัดบางปลาหมอ ที่เขาเรียกในคำจารึก แต่ว่าพระอาจารย์หมอ รูปร่างงาม ขนาดเท่าตัว ท่านอาจารย์คนนี้เป็นหมอรักษาบ้า ว่าเป็นพระญาติสมเด็จพระปวเรศ”

จากพระราชนิพนธ์นี้ทำให้ได้เค้าข้อมูลบางอย่าง ประการแรก ในปีพ.ศ.๒๔๔๙ นั้น พระพุทธเจ้าหลวงทรงนิพนธ์ไว้ว่า ได้ถ่ายรูป รูปเจ้าอธิการ จารึกว่าฯ แสดงว่าหลวงพ่อสุ่น มรณภาพแล้ว และที่ว่าเป็นพระญาติของสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ก็มาจากข้อมูลนี้

อีกทั้งรูปถ่ายของหลวงพ่อสุ่นนั้น ถ่ายคู่กับพัด ซึ่งมีจารึกไว้ที่พัดว่า เป็นที่ระลึกงานพระเมรุ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้า เสาวภาคนารีรัตน (พระนามเดิม หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์) แสดงว่าหลวงพ่อสุ่นได้รับนิมนต์ในงานพระเมรุนั้นด้วยครับ

จากหลักฐานที่ยังพอเหลืออยู่ก็ทำให้สันนิษฐานต่อได้ว่า หลวงพ่อสุ่นน่าจะมรณภาพในราวปีพ.ศ.๒๔๔๗ สิริอายุราว ๘๙-๙๐ ปี หลวงพ่อสุ่นเป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อปั้น วัดพิกุลโสคันธ์ และหลวงพ่อเนียม วัดน้อย

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านและหลวงพ่อฤๅษีลิงดำผู้เป็นศิษย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ซึ่งได้รับการบอกเล่าต่อมาจากหลวงพ่อปาน ก็พอจะได้เค้าลางดังต่อไปนี้ หลวงพ่อสุ่นเป็นพระเกจิอาจารย์ที่แก่กล้าในด้านวิทยาคม และวิชารักษาคนป่วยไข้ มีผู้มาบวชกับหลวงพ่อสุ่นอยู่มาก และหลวงพ่อสุ่นก็เป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค

เมื่อหลวงพ่อปานมาบวชอยู่กับหลวงพ่อสุ่นแล้ว ท่านก็ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาคมต่างๆ กับหลวงพ่อสุ่น ซึ่งหลวงพ่อสุ่นก็ได้ถ่ายทอดวิทยาคมให้แก่หลวงพ่อปานจนหมดสิ้น หนึ่งในนั้นก็เป็นวิชารักษาคนเจ็บไข้ ซึ่งมีผู้คนเข้ามาให้หลวงพ่อสุ่นช่วยปัดเป่ามากแต่ละวัน เมื่อหลวงพ่อสุ่นเห็นว่าหลวงพ่อปานท่านพอที่จะรักษาคนป่วยได้แล้ว

ท่านจึงให้หลวงพ่อปานรดน้ำมนต์ให้แก่คนไข้ หลวงพ่อปานก็เห็นว่าน้ำมนต์ในตุ่มเหลือน้อย หลวงพ่อปานก็กำลังจะไปตักน้ำเติมในตุ่มเพื่อทำน้ำมนต์ แต่หลวงพ่อสุ่นห้ามไว้ และให้หลวงพ่อปานรดน้ำมนต์เลย เมื่อหลวงพ่อปานรดน้ำมนต์ไปเรื่อยๆ ซึ่งมีผู้คนมาให้รดน้ำมนต์ประมาณ ๕๐ คน

หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อ.บางบาลจ.พระนครศรีอยุธยา
หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อ.บางบาลจ.พระนครศรีอยุธยา

แต่น้ำมนต์ในตุ่มกลับลดลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลังจากนั้นหลวงพ่อปานจึงถามหลวงพ่อสุ่นว่าทำไมน้ำมนต์ไม่ลดลงเลย หลวงพ่อสุ่นจึงบอกว่า “ฉันเอาใจตักแล้ว” จากนั้นหลวงพ่อสุ่นจึงได้สอนวิชาตักน้ำให้หลวงพ่อปาน

หลวงพ่อสุ่นเวลาที่จะรักษาคนไข้ท่านก็จะตรวจดูด้วยญาณก่อนเสมอ ว่าได้หรือไม่ ถ้าได้ท่านก็จะรักษาให้หายได้ทุกราย นอกจากคนที่ถึงฆาตแล้วจริงๆ เท่านั้น มีผู้คนทั้งไกลและใกล้จนถึงบางกอกทยอยเข้ามาให้หลวงพ่อสุ่นรักษาทุกๆ วันไม่ขาด

และท่านก็เป็นที่รักเคารพศรัทธาของชาวบ้านมาก ท่านจะสร้างสิ่งใดก็จะเข้ามาช่วยเหลือร่วมมือกันกระทำจนสำเร็จทุกเรื่อง หลวงพ่อสุ่นได้สร้างเสนาสนะ ศาลาการเปรียญ พระอุโบสถ วิหาร พระไสยาสน์ และองค์พระเจดีย์ วัดบางปลาหมอก็มีความเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนั้น

ก่อนที่หลวงพ่อสุ่นจะมรณภาพ ท่านเคยบอกแก่หลวงพ่อปานว่าถ้าท่านสิ้นไปแล้ว ให้หลวงพ่อปานไปเรียนกับหลวงพ่อเนียม วัดน้อยต่อ เนื่องจากท่านทั้งสองรูปนี้สนิทสนมกันมาก

◉ ด้านวัตถุมงคล
สำหรับวัตถุมงคลที่ท่านสร้างไว้นั้น เท่าที่สอบถามจากผู้รู้มีพระเนื้อดิน ๓ แบบ คือ
๑. พิมพ์กลีบบัว แตกกรุจากเจดีย์หน้าโบสถ์ เมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๔ ลักษณะเป็นทรงแบบกลีบบัว เนื้อพระสีแดง แบบพระเนื้อดินเผาทั่วไป กับอีกสีหนึ่งคือสีดำเนื้อละเอียด พุทธลักษณะด้านหน้าเป็นองค์พระปฏิมานั่งปางสมาธิเพชร พระพักตร์กลม ไม่มีพระเนตรและพระโอษฐ์ ลักษณะลำพระองค์กลมหนา พระชานุ (เข่า) โตทั้งสองข้าง ไม่มีอาสนะเนื้อพระแห้งสนิทอัดแน่น

๒. พิมพ์กลีบบัวฟันปลา

พระเนื้อดิน หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
พระเนื้อดิน หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

๓. พิมพ์กลีบบัวปลายแหลม กรุแตกขณะรื้อวิหารพระพุทธไสยาสน์องค์เล็กที่ทรุดโทรมเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ พระบรรจุอยู่ในตุ่มใบเล็กๆ ตรงช่วงหมอนรองรับพระเศียรของพระพุทธไสยาสน์ มีพระอยู่ ๓๐๐ องค์เท่านั้น

ลักษณะพระพิมพ์กลีบบัวฟันปลา คล้ายกับพิมพ์กลีบบัว แต่ด้านบนสุดจะป้านไม่แหลมเหมือนกลีบบัว คือไม่ได้ตัดกรอบพิมพ์ ฐานล่างใต้อาสนะเป็นกลีบบัวเล็กๆ สลับกัน องค์พระอวบหนา พระชานุโต (เข่า) ส่วนพระพิมพ์กลีบบัวปลายแหลม คล้ายพิมพ์กลีบบัว เนื้อพระออกแห้ง บางองค์ออกสีแดง สีเหลืองบ้าง บางองค์ก็มีดำแทรก จะปรากฏคราบกรุจากดินปลวกบ้างประปราย แต่บางองค์ก็ไม่มี

นอกจากพระเนื้อดินแล้ว ต่อมาทางวัดบางปลาหมอยังได้จัดทำเหรียญของหลวงพ่อสุ่นออกมาอีกหลายรุ่น โดยรุ่นแรกสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ เป็นเหรียญเสมาหลวงพ่อสุ่น เนื้อเงิน และทองแดง สร้างโดยพระครูสิริพัฒนกิจ วัดโคกเสือ เมื่อครั้งมารักษาการเจ้าอาวาส ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๒๐ สมัยพระครูโกวิทวิหารการ เป็นเจ้าอาวาส ได้จัดสร้าง เหรียญเสมาสองหน้า เนื้อทองแดง ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อสุ่นนั่งเต็มตัว ด้านหลังเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค

ปี พ.ศ.๒๕๒๖ ทางวัดได้สร้างเหรียญอาร์ม เนื้อทองแดง ที่ระลึกหารายได้บูรณะซ่อม แซมพระพุทธไสยาสน์ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อสุ่นครึ่งองค์ ด้านหลังเป็นยันต์ ระบุวันที่จัดสร้าง วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๖ หลังจากนั้น ปี พ.ศ.๒๕๓๒ จัดสร้างรูปหล่อหลวงพ่อสุ่น เนื้อทองแดง หน้าตัก ๕ นิ้ว และรูปหล่อชุด ๓ คณาจารย์ คือ หลวงพ่อสุ่น หลวงพ่อจง และ หลวงพ่อปาน นอกจากนี้ยังมีรูปหล่อลอยองค์เล็ก เนื้อเงินแท้กับเนื้อทองแดง และเหรียญ ๕ เหลี่ยมเนื้อทอง แดงอีกหนึ่งชุด

วัตถุมงคลทุกรุ่นได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะพระเนื้อดินหายากมาก ชาวบ้านบางปลาหมอต่างหวงแหนอย่างที่สุด เพราะ มีประสบการณ์ดีในด้านแคล้วคลาด คง กระพันชาตรี นอกจากนี้ ยังเล่าขานกันว่าพระเครื่องของท่านสามารถป้องกันภัยจากลมพายุฝนฟ้าคะนองได้ดีเยี่ยม เนื่องจากชื่อเสียงท่านไม่ขจรขจาย เป็นเพียงพระเกจิอาจารย์ดังในท้องถิ่นจึงทำให้ผู้คนไม่ค่อยรู้จักวัตถุมงคลของท่าน แต่หากพบเจอที่ไหน เก็บไว้ให้ดีๆ จะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก