ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อสุด สิริธโร
วัดกาหลง
อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
พระครูสมุทรธรรมสุนทร (หลวงพ่อสุด สิริธโร) วัดกาหลง เจ้าตำหรับยันต์ตะกร้อ พระอาจารย์ของตี๋ใหญ่จอมโจรขมังเวทย์
◉ ชาติภูมิ
พระครูสมุทรธรรมสุนทร (หลวงพ่อสุด สิริธโร) วัดกาหลง เกิดวันที่ ๗ พฤษภาภาคม พ.ศ.๒๔๔๕ ตรงกับ วันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล ณ บ้านค้อใหญ่ ตำบลคำไฮ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ในแผ่นดินของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ บิดาชื่อ “นายมาก” และมารดาชื่อ “นางอ่อนศรี” ครอบครัวมีอาชีพทำนา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๓ คน คือ
๑. นางบุตรดี มูลลิสาร
๒. นางสาวหวด สัตตัง
๓. พระครูสมุทรธรรมสุนทร (หลวงพ่อสุด สิริธโร)
◉ บรรพชาอุปสมบท
ในสมัยเด็ก ท่านเป็นเด็กที่ฉลาดกว่าเด็กทั่วไป หลวงพ่อสุด สิริธโร ได้รับวิทยฐานะสำเร็จชั้นประถมปีที่ ๓ จากโรงเรียนวัดคำหยาด ต.คำไฮ อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด และได้ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพด้วยความขยันขันแข็ง นอกจากนี้ท่านยังมีความศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จนเมื่อหลวงพ่อสุด มีอายุได้ ๑๖ ปี ท่านได้บวชบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดกลางพนมไพร ตำบลคำไฮ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ โดยมี ท่านพระครูเม้า เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากบวชเป็นเณร ท่านได้ศึกษาการเขียนอ่านภาษาบาลีตามแบบสมัยนิยมกับหลวงพ่อเม้า จนอ่านออกเขียนได้
จนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๕ หลวงพ่อสุด มีอายุครบบวชพอดี จึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดกลางพนมไพร ตำบลคำไฮ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๕ ได้รับฉายาว่า “สิริธโร”
หลวงพ่อสุด ท่านมีความรู้ด้านภาษาลาวและภาษาขอม เข้าใจว่าหลังจากบวชเณรแล้วคงได้เดินธุดงค์อยู่ละแวกอีสานระยะหนึ่งอย่างแน่นอน กว่าจะเดินทางมาถึงจังหวัดสมุทรสาครได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ในยุคนั้นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของภาคอีสานเดินทางมาแสวงหาความรู้ในกรุงเทพฯ กันมากมาย เช่น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จันทร์ สิริจันโท) เป็นต้น
พระเถระอาวุโสหลายรูปเคยเล่าว่า พระเณรจำนวนไม่ใช่น้อยที่มาตายอยู่ในป่า ด้วยต้องการจะเดินทางมาศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ ผู้ที่ผ่านป่าดงดิบลึกมาได้โดยตลอดปลอดภัยจึงแก่วิทยาคมพอสมควร จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเดินผ่านเข้าดงดิบลึกที่มีทั้งไข้ป่า พิษว่าน สัตว์ร้ายนานาชนิด ผ่านมาจนถึงวัดกาหลงได้นับว่าเป็นยอดหนึ่งเดียวด้านวิทยาคม
หลังจากที่ หลวงพ่อสุด ท่านได้เดินธุดงค์ เพื่อไปศึกษาวิชาอาคมต่างๆ จากหลายๆอาจารย์ เพื่อแสวงหาความรู้ทางธรรมจากสำนักเรียนในกรุงเทพฯ จนในที่สุดได้เดินทางมาถึงวัดกาหลง และได้ถูกนิมนต์ให้จำวัดอยู่ที่วัดกาหลงแห่งนี้เรื่อยมา และในปี พ.ศ.๒๔๘๑ อายุได้ ๓๖ สอบได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดกาหลง
ปี พ.ศ.๒๔๗๘ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกาหลง ได้ว่างลง ชาวบ้านและกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อสุด ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดกาหลงสืบต่อมา
หลังจากที่ หลวงพ่อสุด ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดกาหลง ท่านได้พัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองในหลายๆ ด้าน ทั้งการพัฒนาจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่วัดและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงการพัฒนาและปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัดให้มั่นคงแข็งแรง จนท่านมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่นับถือของชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก
ด้วยคุณงามความดีของท่านนี้เอง ทำให้หลวงพ่อสุดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นตรี ที่ “พระครูสมุทรธรรมสุนทร” ในปี พ.ศ.๒๔๙๐
◉ ด้านการปกครอง
ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ เป็นเจ้าอาวาสวัดกาหลง
ในปี พ.ศ.๒๔๗๙ เป็นเจ้าคณะหมวด
ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นเจ้าคณะตำบล
ในปี พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นสาธารณูปการอำเภอ
◉ ด้านการศึกษา
ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ เป็นผู้อุปการะโรงเรียนวัดกาหลง
ในปี พ.ศ.๒๔๘๕ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม
ในปี พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นกรรมการการตรวจธรรมสนามหลวง
◉ ด้านสมณศักดิ์
ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นพระครูสัญญบัตร ชั้นตรี
ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ เป็นพระครูสัญญบัตร ชั้นโท
ในปี พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นพระครูสัญญบัตรชั้นเอก
พระครูสมุทรธรรมสุนทร (หลวงพ่อสุด สิริธโร) วัดกาหลง ถึงแม้ท่านมิใช่คนสมุทรสาคร แต่ท่านก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของชาวทะเลเลือดสมุทร เพราะคนในแถบ จ.สมุทรสาคร ท่านก็ได้เมตตาช่วยเหลือมาตลอด และเป็นที่รักของลูกศิษย์ลูกหา
หลวงพ่อสุด สิริธโร ท่านได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลมากมายหลายพิธีไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ครั้ง โดยเฉพาะพิธีปลุกเสกพระพุทธ ๒๕ ศตวรรษ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วจากการเป็นพระอาจารย์ของตี๋ใหญ่ จอมโจรชื่อดังในอดีต ด้วยร่ำลือกันว่าท่านเป็นคนมอบเครื่องรางของขลังให้ตี๋ใหญ่ ทำให้รอดพ้นแคล้วคลาดจากการถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเข้าจับกุม
อีกทั้งท่านยังเป็นเกจิต้นตำรับ ยันต์ตะกร้อ ที่มีพุทธคุณด้านอยู่ยงคงกระพันยันต์ตะกร้อเป็นยันต์ที่จัดทำขึ้นมาด้วยการปลุกเสกลงอาคม โดยใช้ภาษาขอม เขมร และลาว ได้รับความนิยมจากบรรดาสานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง แต่เดิมเป็นอาจารย์สักยันต์เลื่องชื่อ มีคนนิยมไปสักยันต์มาก ทั้งยันต์เสือเผ่นและยันต์ตะกร้อ ซึ่งผู้ที่ได้รับการสักยันต์จะอยู่ยงคงกระพัน โดยเฉพาะลูกศิษย์ชาวตังเก แต่บางคนประพฤติเป็นโจร ทำให้ยากต่อการปราบปรามโดยตำรวจ ตอนหลังทางการต้องขอร้องให้หลวงพ่อสุดเลิกทำการสักยันต์
หลวงพ่อสุดบอกเล่าเรื่องยันต์ตะกร้อไว้ว่า “ยันต์ตะกร้อทนทานแคล้วคลาด เมื่อตอนเป็นเด็กหลวงพ่อชอบดูการเตะตะกร้อมาก สวยดี ลองเตะบ้างมันเจ็บ ก็ลองคิดดูว่าจะเขียนอักขระยันต์อย่างไรให้งดงามไม่ไปซ้ำของใคร ได้เห็นเด็กๆ เตะตะกร้อเล่นที่ลานวัดกาหลง ก็เลยวาดแบบรอยสานตะกร้อดู พยายามอยู่นานจนได้ดี จุดสำคัญคือสวยงามและตะกร้อนั้นแข็งแรงทนทาน หมายถึงความอดทนแคล้วคลาดของคนเรา โดนเท่าไรก็ไม่เป็นไร ใครเคยเห็นตะกร้อโดนเตะเพียงทีสองทีก็เสียเคยเห็นไหม เห็นมีแต่คนเตะบ่นปวดเท้า ถือเป็นปรัชญาแห่งชีวิตข้อหนึ่งคือความอดทนและมีศิลปะ”
ศิลปะในการออกแบบยันต์ตะกร้อของหลวงพ่อสุด นับว่าสุดยอดทั้งความงดงาม การลากเส้นอักขระขอม ลวดลายของยันต์สง่างามและสวยงามอย่างยิ่ง
โดยที่บทสวดที่ท่านสวดปลุกเสกยันต์ตะกร้อนั้น มีใจความว่า “จะกระสุนก็ดี จะไฟก็ดี ก็ไม่สามารถจะทำอะไรเนื้อหนัง และกระดูกได้”
นอกจากนี้ยันต์ตะกร้อยังเป็นที่กล่าวขานและเป็นที่นิยมกันใน ชาว จ.สมุทรสาคร อีกด้วย
◉ พระอาจารย์ของหลวงพ่อสุด
ตอนที่ท่านไปศึกษาหาความรู้ทางพระพุทธศาสนาและวิชาอาคมในที่ต่างๆ จากพระอาจารย์หลายท่าน อาทิ หลวงปู่เม้า วัดกลางพนมไพร (วัดกลางอุดมเวทย์ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ในปัจจุบัน) (พระที่บวชให้ท่านในสมัยตอนเป็นเณร)
หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ (สำหรับหลวงพ่อรุ่ง ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ หลวงพ่อสุดเป็นเจ้าคณะตำบล หลวงพ่อรุ่ง ได้จัดเหรียญรุ่นแรกของท่านหลวงพ่อสุดได้อยุ่ในการร่วมสร้าง เหรียญนี้ด้วยเช่นกัน)
หลวงพ่อคง วัดบางกระพ้อม (เป็นพระที่หลวงพ่อสุดนับถือมาก) เป็นต้น
◉ มรณภาพ
หลวงพ่อสุด สิริธโร วัดกาหลง ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย รักสันโดษมีความเป็นอยู่เรียบง่าย ยึดพรหมวิหารและสังคหวัตถุธรรมเป็นหลักปฏิบัติ ได้บำเพ็ญศาสนกิจอันเป็นหิตานุหิตประโยชน์เพื่อความเจริญรุ่งเรือง เพื่อความวัฒนาสถาพรแก่พระพุทธศาสนาและปวงชนอย่างแท้จริง พ.ศ.๒๕๒๑ ได้อาพาธด้วยโรค โพรงจมูกอักเสบ ได้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว ได้กลับมาปฏิบัติศาสนกิจตามปกติ
วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๔ หลวงพ่อสุด ท่านได้อาพาธด้วยโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ได้เข้าพักรักษาตัวและทำการผ่าตัดกระเพาะที่โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล ถนนพหลโยธิน กทม. หลังจากออกจากโรงพยาบาลเปาโลแล้ว ได้กลับมาปฏิบัติศาสนกิจ ณ วัดกาหลง ตามปกติ และเนื่องด้วยหลวงพ่อชราภาพมาก สุขภาพไม่แข็งแรง ร่างกายอ่อนเพลีย เดินไม่สะดวก เจ็บออดๆแอดๆ เรื่อยมา
ครั้น ถึง วันอาทิตย์ ที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๖ ตรงกับ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุน เวลา ๑๓.๑๕ น. หลวงพ่อสุด สิริธโร ก็ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ ๘๑ ปี ๓ เดือน ๘ วัน ยังมาซึ่งความเศร้าโศกและอาลัยรักของบรรดาศิษยานุศิษย์และผู้ใกล้ชิดทั้งใกล้และไกลเป็นอย่างยิ่ง
◉ ด้านวัตถุมงคล
เหรียญหลวงพ่อสุด วัดกาหลง รุ่นแรก สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว สร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมงานและบริจาคทรัพย์เพื่อผูกพัทธสีมา วัดกาหลง มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ แต่คาดกันว่าสร้างไม่เกิน ๕,๐๐๐ เหรียญ
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อสุดครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “พระครูสมุทรธรรมสุนทร วัดกาหลง จ.สมุทรสาคร”
ด้านหลัง เป็นยันต์ตะกร้อ ซึ่งเป็นยันต์ครูที่เป็นเอกลักษณ์ของหลวงพ่อ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “งานผูกพัทธสีมา ๒๕๐๖”
นอกจากนี้วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม คือ เหรียญรุ่นเสือเผ่น หลวงพ่อสุด ในปี พ.ศ.๒๕๑๗ ในโอกาสทำบุญฉลองอายุวัฒนมงคล ครบ ๖ รอบ (๗๒ ปี)
ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่กระหนกข้าง หูในตัว ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนนั่งขัดสมาธิราบ เต็มองค์บนอาสนะ ด้านข้างซ้ายและขวาเป็นอักขระยันต์ ด้านล่างเป็นรูป “เสือเผ่น” จารึกวันที่ “๗ พ.ค. ๑๗” ด้านบนจารึกอักษร “ที่ระลึกทำบุญครบ ๖ รอบ พระครูสมุทรธรรมสุนทร (สุด) วัดกาหลง รุ่นพิเศษ”
ด้านหลังเป็นอักขระ “ยันต์ตะกร้อ” มีด้วยกัน ๓ พิมพ์ คือ พิมพ์ A ไม่มีรอยบล็อกแตก พิมพ์ B บล็อกเริ่มแตกมี ๒ ขีดในซอกแขนขวาหลวงพ่อสุด และพิมพ์ C บล็อกแตกเพิ่มขึ้นอีกจากมุมอาสนะใต้เข่าขวา เป็นสุดยอดเครื่องรางของขลังที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จัก