วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

หลวงพ่อสีทน กมโล วัดสิรินธรวราราม (วัดภูพร้าว) อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อสีทน กมโล

วัดสิรินธรวราราม (วัดภูพร้าว)
ต.ช่องเม็ก อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี

พระครูกมลภาวนากร (หลวงพ่อสีทน กมโล)
วัดสิรินธรวราราม (วัดภูพร้าว)
ต.ช่องเม็ก อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี


พระครูกมลภาวนากร (หลวงพ่อสีทน กมโล) มีนามเดิมว่า สีทน รักพงษ์ เกิดเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ ณ บ้านดอนจิก ต.ดอนจิก อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี โยมบิดาชื่อ นายเต็ง รักพงษ์ โยมมารดาชื่อ นางจันดี รักพงษ์ ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาทำไร่

◎ การอุปสมบท
ครั้นอายุได้ ๒๒ ปีบริบูรณ์ หลังได้เข้ารับการตรวจเลือกทหาร (เกณฑ์ทหาร) แล้ว ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดภูเขาแก้ว ต.พิบูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ โดยมี พระครูวิบูลธรรมภาร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระสมศรี อุตฺตโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระบุญเย็น โรจโน เป็นพระอนุศาสนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “กมโล” ซึ่งแปลว่า “ผู้งามดั่งดอกบัว

ครั้งแรกท่านตั้งใจจะบวชเพียงพรรษาเดียวตามประเพณี เพื่อเป็นการทดแทนพระคุณของบิดามารดาเท่านั้น

พระครูกมลภาวนากร (หลวงพ่อสีทน กมโล)
วัดสิรินธรวราราม (วัดภูพร้าว)
ต.ช่องเม็ก อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี

◎ ออกธุดงค์และปฏิบัติกรรมฐาน
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านก็ได้ศึกษาเล่าเรียนทางธรรม และชอบธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาความสงบวิเวก ท่านได้ธุดงค์ไปอยู่ประเทศลาว ๓ ปี จนประเทศลาวเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๗-๒๕๑๘ จึงได้เดินทางกลับประเทศไทย ระหว่างที่ธุดงค์อยู่ที่ประเทศลาวนั้น ได้พบและอยู่ปฏิบัติธรรมกับครูบาอาจารย์หลายรูป เช่น หลวงปู่บุญมาก ฐิติปัญโญ แห่งวัดภูมะโรง (วัดสาลวัน) เมืองจำปาศักดิ์ ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และยังได้ไปปฏิบัติธรรมกับ หลวงปู่กิ ธัมมุตฺตโม แห่งวัดป่าสนามชัย ต.โพธิ์ไทร อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่บุญมาก ฐิติปัญโญ

ครูบาอาจารย์สอนท่านนั่งกรรมฐานเพื่อฝึกจิต ท่านพานั่งเนสัชชิก คือ ปฏิบัติในอิริยาบถยืน เดิน นั่ง ไม่นอนตลอดคืนในป่าช้าข้างวัดนั่นเอง ปรากฏว่าเกิดความอัศจรรย์หลายอย่าง จิตดิ่งเข้าสู่ความสงบ เกิดนิมิตเป็นความสว่างทั้งๆ ที่เป็นกลางคืน มองเห็นทหาร ๒ คนขับรถมารับ แล้วนิมนต์หลวงพ่อให้ขึ้นรถไปกับพวกเขา ขณะที่รถแล่นไป ได้แลเห็นแผ่นดินสองข้างทางแยกออก และยกสูงขึ้น รถได้วิ่งไปเรื่อยๆ จนไปถึงที่แห่งหนึ่ง คล้ายๆ กับเป็นสถานที่ของยมบาล เจ้าหน้าที่บอกว่าทุกคนที่ตายแล้วจะต้องมาลงชื่อที่นี่

บริเวณนั้นมองเห็นเป็นโรงเรือนยาวสุดลูกตา ท่านพบคนที่รู้จักกันมากมาย มีทั้งพระ แม่ชี ผ้าขาว แม่ออก พ่อออก ที่ตายไปแล้ว เจ้าหน้าที่นิมนต์ให้หลวงพ่อเดินต่อไปจนถึงห้อง ๑๑๔ พอไปถึงเห็นไฟสีแดงอยู่หน้าห้อง จึงผลักประตูเข้าไป ปรากฏว่าเห็นโยมพ่อซึ่งตายไปแล้วเมื่อ ๕ ปีก่อน ถูกขังอยู่ในห้องนี้ ไม่ได้ไปไหนเลย ท่านรู้สึกสลดใจมาก สงสารโยมพ่อ เมื่อออกจากสมาธิแล้ว จึงปรึกษากับครูบาอาจารย์ถึงเหตุการณ์ที่ได้พบในนิมิต อาจารย์ถามว่า “ตั้งแต่ท่านบวชมา ท่านได้กรวดน้ำอุทิศไปให้โยมพ่อบ้างหรือเปล่า”

หลวงพ่อตอบประสาซื่อๆ ว่า “เป็นพระต้องกรวดน้ำด้วยหรือ” จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เอง เป็นมูลเหตุให้หลวงพ่อเลิกล้มความคิดที่จะลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาส เพราะคิดหาหนทางที่จะช่วยโยมพ่อออกมาจากห้องที่ถูกขังให้ได้ จึงตั้งใจบำเพ็ญภาวนาปฏิบัติกรรมฐานตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

◎ ศิษย์ของหลวงปู่บุญมาก ฐิติปัญโญ
สำหรับ “หลวงปู่บุญมาก ฐิติปัญโญ” นั้น ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง น่าเคารพเป็นยิ่งนัก วาจาท่านศักดิ์สิทธิ์มาก ซึ่งท่านได้มรณภาพไปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ ส่วนหลวงปู่กิท่านได้มรณภาพไปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ หลวงปู่ได้แนะนำวิธีอยู่ป่าคนเดียว สอนให้เห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา

หลวงปู่บุญมาก ฐิตปญฺโญ ภูมะโรง จำปาสัก ประเทศลาว

หลวงพ่อสีทนบอกว่า ตอนนั้นท่านตั้งใจบำเพ็ญภาวนามาก อยู่ตามป่าเขาลำเนาไพรในถิ่นทุรกันดาร แต่ก่อนนี้เวลาบำเพ็ญเพียรเต็มที่ จิตอยากจะพูด แล้วสิ่งที่พูดนั้นเป็นความจริงเสียด้วย รู้ไปหมดว่าใครเป็นอะไรมาแต่ก่อน มองเห็นกายทิพย์กายหยาบอยู่ด้วยกัน บางทีเขามานิมนต์แทนที่จะเดินลงทางบันได กลับออกไปทางหน้าต่างแทน ซึ่งอันนี้อันตรายมาก ครูบาอาจารย์ต้องมาช่วยกันแก้ไข ทั้งนี้ เนื่องจากจิตตึงเครียดเกินไป ต้องค่อยๆ ผ่อนให้สบายๆ พักผ่อนให้มากขึ้น อาการนั้นก็จะหายไปเอง

หลวงพ่อสีทน เป็นพระสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบที่มีความเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย และทำประโยชน์ต่อพระศาสนาและส่วนรวมไว้มากมาย อาทิเช่น เป็นหลักชัยให้กับข้าราชการทหาร ตำรวจ และผู้ยากไร้ตามแนวชายแดน ท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่บุญมาก ฐิติปัญโญ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ และต่อมาท่านได้มาพัฒนาวัดภูหล่น บ้านภูหล่น ต.สงยาง อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ มาสร้างไว้เมื่อกว่า ๑๐๐ ปีที่แล้ว

ต่อจากนั้นได้มาพัฒนาวัดภูพร้าวหรือวัดสิรินธรวราราม ต.ช่องเม็ก ต.ช่องเม็ก อ.พิบูลมังสาหาร ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัดเก่าของหลวงปู่บุญมาก ขณะนี้กำลังสร้างพระอุโบสถแต่ยังไม่แล้วเสร็จ

◎ พัฒนาวัดภูหล่นและวัดภูพร้าว
ปี พ.ศ.๒๕๒๘ หลวงพ่อสีทน ได้ไปพัฒนาวัดภูหล่น ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่นับเป็น ๑๐๐ ปี ซึ่งแต่ก่อนหลวงปู่เสาร์ และหลวงปู่มั่น ท่านได้มาปฏิบัติธรรมที่นี่ การมาสร้างวัดภูหล่นนี้มาตามนิมิตตั้งแต่ ๕ ปีที่แล้ว ในระหว่างนั้นท่านได้มาคอยอุปัฏฐากหลวงปู่กิ จึงต้องเดินทางไปมาระหว่างวัดหลวงปู่กิและวัดภูหล่น

(ซ้าย) หลวงพ่อสีทน กมโล (ขวา) หลวงปู่กิ ธัมมุตฺตโม

สำหรับวัดสิรินธรวราราม (วัดภูพร้าว) เป็นวัดเก่าของหลวงปู่บุญมาก ฐิติปัญโญ เป็นสถานที่สำคัญที่บูรพาจารย์หลายท่านได้มาพำนักจำพรรษาบำเพ็ญสมณธรรม นำพาพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาอบรมสมาธิภาวนา เมื่อประมาณกว่า ๕๐ ปีมาแล้ว หลวงปู่บุญมาก ได้อธิษฐานขอบิณฑบาตสถานที่ของภูพร้าวแห่งนี้ต่อเจ้าหน้าที่ทางราชการ ซึ่งสมัยนั้นเป็นวัดชื่อ “วัดสิรินธรวราราม” ครั้นต่อมา ด้วยความล่วงเลยไปตามกาลเวลาและความทุรกันดาร วัดสิรินธรวราราม (วัดภูพร้าว) แห่งนี้จึงทรุดโทรมลงเพราะขาดการบูรณะ หลวงพ่อสีทนจึงได้ขึ้นมาพัฒนาวัดภูพร้าวอีกวัดหนึ่ง ผลงานที่หลวงพ่อสีทนได้ทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม นอกจากการเผยแผ่ธรรมะซึ่งเป็นงานสำคัญของพระสงฆ์แล้ว ขณะที่ท่านมาสร้างวัดที่ภูพร้าว ได้เห็นทหารตำรวจชายแดนเขาลำบากมาก ท่านจึงได้ไปช่วยสร้างที่พักให้เขา หาน้ำหาไฟฟ้าไปให้ใช้ ทหารตำรวจจึงรักท่านมาก

เจดีย์บรรจุอัฐิธาตุพระอาจารย์บุญมาก ฐิติปัญโญ
ณ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว
ตำบลช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

◎ งานด้านส่งเสริมการศึกษา
ในด้านการส่งเสริมการศึกษาของเด็กและเยาวชน ท่านได้หาทุนอาหารกลางวัน ซื้อรถจักรยานบริจาค เด็กๆ จะได้ใช้เดินทางไปโรงเรียนเพราะบางแห่งบ้านอยู่ไกลโรงเรียนมาก ไม่มีรถโดยสารเหมือนในเมือง การได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และส่วนรวมทำให้เกิดความสุข ผู้เสียสละและทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนย่อมเป็นบุคคลที่โลกต้องการ แม้แต่เทวดาเขาก็รู้และอนุโมทนา

◎ การมรณภาพ
หลวงพ่อสีทน ได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๙ เวลา ๐๔.๑๕ น. ด้วยโรคเนื้องอกที่ตับ สิริรวมอายุได้ ๕๖ ปี พรรษา ๓๔ โดยก่อนหน้านี้ท่านเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอุบลรักษ์ธนบุรี ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙ เนื่องจากตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๓ แต่ท่านไม่ยอมบอกลูกศิษย์ และท่านรักษาบำบัดด้วยตัวเองมาตลอด จนมรณภาพในวันดังกล่าว

คณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ได้ร่วมจัดงานตั้งศพบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรม เป็นเวลา ๗ วัน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ ๒๑ ถึง วันศุกร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๙ และได้รับพระราชทานเพลิงศพในวันเสาร์ที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๙ เวลา ๑๖.๐๐ น. ณ วัดสิรินธรวราราม (วัดภูพร้าว) บรรยากาศเต็มไปด้วยความเศร้าสลดและความอาลัยเป็นอย่างยิ่งของบรรดาคณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไป

อนุสรณ์เจดีย์​ พระครูกมลภาวนากร​ (หลวงพ่อสีทน​ กมโล)​ ที่วัดภูหล่น​ ที่อำเภอศรีเมืองใหม่​ อุบลราชธานี​ ซึ่งเป็นปฐมสมถกัมมัฎฐานของหลวงปู่มั่น​ ภูริทัตโต​

◎ ธรรมโอวาท พระครูกมลภาวนากร (หลวงพ่อสีทน กมโล)
“..จงเอาธรรมเป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง
อย่าเอา หรือแสวงหาอย่างอื่นให้วุ่นวาย
และจงตั้งตนไว้ในความไม่ประมาททุกเมื่อ
ก็จะเป็นผู้อุดมมั่งคั่งสมดังปรารถนาทุกประการ..”

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ http://www.dhammajak.net