วันศุกร์, 25 ตุลาคม 2567

หลวงพ่อสาร์ สุขุโม วัดบ้านแต้ ต.กุง อ.ศิลาลาด จ.ศรีสะเกษ

ประวัติและวัตถุมงคล พระครูพิทักษ์วินัยกิจ (หลวงพ่อสาร์ สุขุโม) วัดบ้านแต้ ต.กุง อ.ศิลาลาด จ.ศรีสะเกษ

หลวงพ่อสาร์ สุขุโม วัดบ้านแต้

ชาติภูมิ
หลวงพ่อสาร์ ท่านมีนามเดิมว่า สาร์ ผิวจันทร์ เกิดเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๔ ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ต้นรัชกาลที่ ๖ ที่บ้านเมืองแคน ต.เมืองแคน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
ในช่วงวัยเยาว์ บิดามารดาได้พาย้ายครอบครัว มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านแต้ หมู่ที่ ๓ ต.กุง อ.ราษีไศล (ปัจจุบัน อ.ศิลาลาด จ.ศรีสะเกษ)

หลวงพ่อสาร์ สุขุโม วัดบ้านแต้ ศรีษะเกษ


หลวงพ่อสาร์ ท่านถือกำเนิดในครอบครัวของชาวไร่ชาวนาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ มีบิดาชื่อ นายดำ ผิวจันทร์ มารดาชื่อ นางพา ผิวจันทร์ เป็นบุตรชายคนที่ ๓ ในจำนวนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๖ คน ประกอบด้วย คือ
๑. นายวรรณา ผิวจันทร์
๒. นางอำคา ผิวจันทร์
๓. นายสาร์ ผิวจันทร์ (หลวงพ่อสาร์ สุขุโม)
๔. นายจันทา ผิวจันทร์
๕. นางทา ผิวจันทร์
๖. นางผา ผิวจันทร์
พี่น้องของท่าน ได้ลงหลักปักฐานที่เขต อ.ศิลาลาด จ.ศรีสะเกษ และปัจจุบันเสียชีวิตหมดแล้วคงเหลือแต่ลูกหลาน
รูปพรรณสัณฐาน นายสาร์ ผิวจันทร์ เป็นคนหน้าตาคม ผิวเข้ม รูปร่างท่านเป็นคนไม่สูงนัก ผิวคล้ำตามแบบฉบับของชาวบ้านส่วนใหญ่ของจังหวัดศรีสะเกษ


อุปนิสัย ชีวิตในวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นเป็นผู้มีจิตใจสุขุมเยือกเย็น พูดน้อย ใฝ่รู้ มีใจโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนฝูง และมีจิตใจศรัทธาเสื่อมใสในพระพุทธศาสนามากกว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกัน

การศึกษา
ในสมัยที่หลวงพ่อสาร์ อยู่ในวัยเยาว์ ได้เข้าเรียนหนังสือโดยศึกษาทั้งภาษาไทย และภาษาขอม ที่วัดบ้านแต้ สถานการศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้าน มิได้มีโรงเรียนทำการสอนเช่นในสมัยปัจจุบัน นอกจากเรียนภาษาไทยและขอมแล้ว พระอาจารย์ยังมีเมตตาอบรมสั่งสอนวิชา คาถาอาคม เพื่อป้องกันอันตรายต่าง ๆ ให้แก่หลวงพ่อสาร์ ด้วย นับว่าหลวงพ่อได้เรียนรู้วิชาไสยศาสตร์มาแต่เยาว์วัย เลยก็ว่าได้

บรรพชาและอุปสมบท
ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ขณะนั้นหลวงพ่อสาร์ สุขุโม ท่านอายุได้ ๑๒ ปี มารดาของท่านได้เสียชีวิตลง ท่านจึงบวชหน้าไฟเพื่อทดแทนคุณแด่บุพพาการี จนกระทั่งสึกออกมา และได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุอีกครั้ง ตอนอายุได้ ๒๑ ปี ณ พัทธสีมาวัดศรีมงคล บ้านคลีกลิ้ง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เมื่อพ.ศ.๒๔๗๕ โดยมีพระครูโกศลธรรมคุณ (สนธิ์) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อใบ (พระอุปัชฌาย์ใบ) วัดบ้านโพธิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูสุขุมธรรมรัต (หลวงพ่อนวล) วัดศรีมงคล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ท่านได้รับฉายาว่า “สุขุโม” แปลว่า ผู้มีความสุขุมรอบครอบ


ทางด้านวิปัสนากัมมัฏฐาน และ ประสบการณ์การออกธุดงควัตร
หลังจากที่ หลวงพ่อสาร์ สุขุโม อุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้ว ท่านได้จำพรรษาและศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ฝึกการทำสมาธิตลอดทั้งเรียนสวดมนต์ สวดโอวาทปาติโมกข์ ควบคู่กับการศึกษาไสยเวทย์กับพระอุปัชฌาย์อยู่นานหลายปี ซึ่งในขณะนั้นพระครูโกศลธรรมคุณ (สนธิ์) ก็นับได้ว่า พระเกจิอาจารย์ที่คนในพื้นที่ให้ความเคารพและศรัทธานับถือ เป็นอย่างมากในขณะนั้น อีกทั้งยังมีความเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนาและไสยเวทย์เป็นอย่างยิ่ง ถึงกับมีเรื่องเล่าว่า ในงานฌาปนกิจศพของท่าน ก็เกิดปาฏิหาริย์มากมายให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตามาแล้ว หลังจากนั้นญาติโยมก็ได้นิมนต์หลวงพ่อจำพรรษาที่วัดบ้านแต้ เพื่อความสะดวกในการโปรดเทศน์ญาติโยม ซึ่งในขณะนั้นวัดบ้านแต้มีสภาพทรุดโทรมมาก ยังไม่มีศาลาการเปรียญ อุโบสถและศาสนสถานอื่น ๆ อีกทั้งชาวบ้านในขณะนั้น ไม่ค่อยได้ให้ความสนใจในการเข้าวัดทำบุญมากนัก เนื่องมาจากพระภิกษุบางรูปอยู่ไม่นานก็สึกหรือย้ายไปจำพรรษาที่อื่น ทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากขณะนั้นพื้นที่ดังกล่าวอยู่ไกลปืนเที่ยงและเป็นถิ่นทุระกันดารเพราะเป็นเขตพื้นที่ท้องทุ่งกุลาร้องไห้ กระทั่งหลวงพ่อได้มาจำพรรษาและเทศนาสั่งสอน ชักชวนและพูดจาโน้มน้าวจึงทำให้ชาวบ้านเริ่มหันเข้าวัดฟังธรรมกันมากขึ้น

หลังจากที่หลวงพ่อสาร์พร้อมคณะได้เดินทางกลับจากการธุดงค์ และเรียนวิชาจากพระอาจารย์จากประเทศกัมพูชา ท่านและคณะก็เดินธุดงค์สู่ประเทศไทย ทางด้านเขตอำเภอกันทรลักษณ์ หลวงพ่อก็ได้เดินทางไปเรียนวิชาต่อกับ อาจารย์ซึ่งเป็นฆราวาสที่บ้านกระต่ายด่อน อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งอาจารย์ฆราวาสได้สอนวิชาให้ท่านจนหมดไส้หมดพุง โดยมิได้ปิดบังเลย ท่านยังได้แนะนำให้ไปเรียนวิชากับคณาจารย์ต่าง ๆ อีกหลายท่าน จนอาจารย์เหล่านั้นได้พิจารณาเห็นสมควรแล้วว่า วิชาที่ได้ประสิทธิประสาทวิชาให้หลวงพ่อสาร์นั้น สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และมีความเหมาะสมกับสมณเพศ และตัวหลวงพ่อเองก็เห็นว่า สมควรแก่เวลาที่นำแนวทางปฏิบัติในพระพุทธศาสนาตลอดทั้งพุทธาคมและไสยเวทย์ที่รับการถ่ายทอดกลับมาช่วยเหลือชาวบ้าน และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป ท่านและคณะจึง ลาครูบาอาจารย์ที่ อ.ปรางค์กู่ ออกเดินทางเข้าสู่ อ.ราษีไศลกลับมาจำพรรษาที่ วัดบ้านแต้ตามเดิม

การศึกษาวิชาอาคม
หลวงพ่อสาร์ สุขุโม ท่านยังได้ไปร่ำเรียนวิชาอาคม วิชาครั่ง (พอกครั่ง) กับ หลวงพ่อชม ฐานธัมโม วัดกู่พระโกนา อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด (หลวงพ่อทองศุข วัดป่าสุขวราราม ซึ่งเป็นสหธรรมมิกกับหลวงพ่อสาร์ ก็ได้ไปเรียนวิชานี้เช่นเดียวกัน) หลวงพ่อสาร์ สุขุโม วัดบ้านแต้ ท่านเป็นคนพูดน้อย มักน้อย สันโดษ สหายธรรมของท่าน ในสมัยนั้น ส่วนมากจะอยู่ ในแถวแถบถิ่น จ.ศรีสะเกษ และ จังหวัดใกล้เคียงอาทิ
๑. พระครูประสาธน์ขันธคุณ (หลวงพ่อมุม วัดปราสาทเยอร์) อ.ไพรบึง (ท่านนับถือเป็นครูบาอาจารย์)
๒. พระครูประสิทธิ์วิทยาคม (หลวงพ่ออ่อน วัดเพียมาตร อ.ราษีไศล (สนิทสนมกันมาก)
๓. พระครูโอภาสพัฒนาทร (หลวงพ่อเหลี่ยม วัดบ้านเดื่อ) อ.ราษีไศล (สนิทสนมกันกับหลวงพ่อสาร์ เป็นศิษย์รุ่นพี่สำนักเดียวกัน)
๔. พระครูโสภณวิสุทธิ์ (หลวงพ่อเกลี้ยง บ้านเป๊าะ อ.บึงบูรพ์)
๕. หลวงพ่อทองศุข เหมโก วัดป่าสุขวราราม อ.บึงบูรพ์
๖. พระครูวิสณฑ์ธรรมรัต (หลวงพ่อเพ็ง วัดไทรทอง) จ.ร้อยเอ็ด
๗. หลวงพ่อกอง วัดท่าไฮ อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด

ด้านงานปกครอง
หลวงพ่อสาร์ สุขุโม ท่านเป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีวัตรปฏิบัติ เพียบพร้อมด้วยศีลวัตรอันงดงาม ท่านจึงได้รับสมณศักดิ์ที่ พระครูพิทักษ์วินัยกิจ
ในปี พ.ศ.๒๕๑๗ และมีงานฉลองสมณศักดิ์ ในวันที่ ๙ – ๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๗
ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลกุง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๑
ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๔

กิจนิมนต์
ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมท่านหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในสมัยนั้น ท่านได้รับการนิมนต์ไปนั่งปลุกเสกวัตถุมงคล ในหลายครั้งหลายวาระด้วยกัน โดยเฉพาะงานมหาพุทธาภิเศก เสาร์๕ วัดมหาพุทธาราม (วัดพระโต) อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ โดยมี พระครูประสาธน์ขันธคุณ (หลวงพ่อมุม อินทปัญฺโญ) เป็นประธาน ในวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๖

วัตถุมงคล
หลวงพ่อสาร์ สุขุโม ท่านได้มีการสร้างวัตถุมงคลไว้จำนวนไม่มากนัก เพื่อให้ชาวบ้านไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ อาทิ เช่น
๑. เหรียญรูปไข่รุ่นแรก สร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เท่าที่พบเห็น มี ๓ เนื้อ คือ เนื้ออัลปาก้า ,เนื้อฝาบาตร ,เนื้อทองแดง จำนวนการสร้างแต่ละเนื้อ ประมาณ อย่างละ ๑,๐๐๐ เหรียญ หรืออาจจะไม่ถึง เหรียญนี้ออกที่วัดกัลยาโฆสิตาราม (วัดท่าโพธิ์) บางเหรียญมีรอยจารทั้งด้านหน้า-หลัง บางเหรียญจารเฉพาะด้านหลังอย่างเดียว
๒. เหรียญรูปไข่ รุ่น ๒ สร้างปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ออกที่วัดบ้านเดื่อ ต.คลีกลิ้ง อ.ศิลาลาด จ.ศรีสะเกษ เท่าที่พบเห็นมีเนื้อเดียว คือเนื้อทองแดง รมดำและบางเหรียญเป็นทองแดงผิวไฟก็มี จำนวนการสร้างไม่แน่ชัด คาดว่าน่าจะประมาณ ๓,๐๐๐ เหรียญ (พิธีใหญ่มีคณาจารย์ร่วมนั่งปรกมากมาย)
๓. เหรียญกลม รุ่น ๓ สร้างปีพ.ศ. ๒๕๒๐ (รุ่นพิเศษ) เท่าที่พบเจอมีเนื้อเดียวคือ เนื้อฝาบาตร จำนวนการสร้างไม่แน่ชัด พบเจอน้อย หายากกว่าเหรียญรุ่นแรก
๔. แหวนหลวงพ่อสาร์ รุ่น ๑ เนื้ออัลปาก้า จำนวนการสร้างไม่แน่ชัด พบเจอน้อยแต่คาดว่าน่าจะออกพร้อมกันกับเหรียญรุ่น ๑ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒
๕. แหวนรุ่น ๒ หลวงพ่อสาร์ ข้างเป็นนางกวัก เนื้อฝาบาตรกะไหล่เงิน ไม่ทราบปีที่สร้างจำนวนการสร้างไม่แนชัด พบเจอน้อยเช่นกัน
๖. ตะกรุด ไม่มีจำนวนสร้างที่แชัดเจน ใครมาขอหลวงพ่อก็ทำให้ เป็นตะกรุดที่ทำด้วยแผ่นโลหะ ทองแดง, ฝาบาตร, หม้ออะลูมิเนียม, ตะกั่ว วัสดุเท่าที่พอจะหาได้ในสมัยนั้น โดยมากจะพันด้วยเชือกฝ้ายก่อนจากนั้นนำมาพอกด้วยครั่งอีกชั้นหนึ่ง มีทั้งแบบไม่พอกครั่ง และแบบพันด้วยเชือกอย่างเดียว แบบเป็นแผ่นทองแดงม้วนเลยก็มี ซึ่งตะกรุดโทนจะยาวประมาณ ๔.๕ – ๕ นิ้ว ตะกรุดสาริกา ยาวประมาณ ๒ – ๓.๕ นิ้ว ซึ่งตะกรุดเท่าที่เคยพบเจอจะเป็นตะกรุดพอกด้วยครั้งเป็นส่วนใหญ่
๗. พระปิดตา หลวงพ่อสาร์ เนื้อตะกั่ว ปีที่สร้างไม่แน่ชัดจำนวนการสร้างไม่แน่นอน แต่น้อยมากๆๆ
๘. สมเด็จหลวงพ่อสาร์ เนื้อว่านสีดำ คาดว่าน่าจะสร้างปี พ.ศ. ๒๕๑๖ พิธีเดียวกันกับเหรียญรุ่น ๒ ปลุกเสกที่ วัดบ้านเดื่อ พบเจอน้อยเช่นเดียวกัน
๙. ผ้ายันต์ หลวงพ่อสาร์ ออกวัดบ้านเดื่อ สร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๔

สำหรับ ผ้ายันต์รุ่นแรก มีทั้งสีขาว แดง และสีเหลือง ซึ่งทำจากจีวรของหลวงพ่อและผ้าบังสกุลคนตายโหง มีขนาดไม่แน่นอนเนื่องจากคณะกรรมการวัดและชาวบ้าน ได้ช่วยกันตัดผ้าและปั๊มกันเองภายในวัด แต่ส่วนใหญ่มีขนาดใหญ่กว่าฝามือผู้ใหญ่ ไม่ทราบจำนวนสร้างที่แน่นอน แต่เข้าใจว่าคงจะสร้างจำนวนเท่า ๆ กัน  และจำนวนไม่มากเท่าไหร่เนื่องจากต้องทำด้วยมือ ซึ่งมีดังนี้

ผ้ายันต์พระเจ้า ๑๖ พระองค์ , ผ้ายันต์เมตตามหานิยม       

เฉพาะในส่วนของผ้ายันต์นี้ ได้รับการปรกเสกโดยหลวงพ่อมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๓  ผ้ายันต์จึงหมดไปจากวัด ในส่วนของผ้ายันต์นี้  ได้นำเข้าปรกเสกในพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดศรีสะเกษขณะนั้น  ณ  วัดมหาพุทธาราม เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๖ ซึ่งในงานดังกล่าว มีเกจิที่ทรงวิทยาคมทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดมาร่วมปรกเสกหลายรูป

๑๐.รูปถ่าย ฯลฯ


ซึ่งวัตถุมงคลของหลวงพ่อสาร์แต่ละรุ่น จัดทำไม่มากนัก ส่วนมากจะทำแจกลูกศิษย์ทหาร-ตำรวจ และชาวบ้านแถวๆนั้น แค่นั้นเอง ประสบการณ์ในพื้นที่มีให้พบเห็นอยู่เสมอ วัตถุมงคลของท่านพุทธคุณเด่นในทางคงกระพัน (เหนียว) แคล้วคลาด

มรณกาล
หลวงพ่อสาร์ สุขุโม ท่านได้มรณภาพลงในราวๆ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งการมรณภาพของหลวงพ่อสาร์ ยังความโศกเศร้าเสียใจมาสู่คณะญาติมิตร ลูกศิษย์ลูกหาเป็นอย่างมาก
สิริอายุได้ ๖๘ ปี พรรษา ๔๙

หลวงพ่อสาร์ สุขุโม วัดบ้านแต้

ในวันงานฌาปนกิจศพ ของหลวงพ่อสาร์ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ทั้งข้าราชการตำรวจทหาร พ่อค้า ประชาชน มาร่วมงานคนแน่นวัด หนึ่งในนั้นคือ พระครูประสิทธิ์วิทยาคม (หลวงพ่ออ่อน วัดเพียมาตร) ซึ่งท่านมาทำพิธีขอขมาศพ ของหลวงพ่อสาร์ ก่อนทำการฌาปนกิจ ซึ่งหลังเสร็จงานหลวงพ่ออ่อน ได้ขอรูปถ่ายขาวดำ นั่งเต็มองค์ของหลวงพ่อสาร์ ไปไว้เป็นที่ระลึกจากกรรมการวัด โดยกล่าวเป็นภาษาอีสานว่า

รูปถ่ายของอาจารย์ใหญ่นี้ ให้อาตมาขอซะเด้อ เผิ่นกะเป็นครูบาอาจารย์ที่อาตมาเคารพนับถือ อาตมาสิเอาไปไว้เป็นที่ระลึกและกราบไหว้