ประวัติและปฏิปทา หลวงพ่อสมศรี อัตตสิริ วัดเวฬุวนาราม ต.ผาน้อย อ.วังสพุง จ.เลย
หลวงพ่อสมศรี อัตตสิริ เป็นลูกศิษย์หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และหลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร และหลวงพ่อสมศรี อัตตสิริ ท่านทั้งสองสนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็ก เพราะท่านถือกำเนิดในหมู่บ้านเดียวกัน คือบ้านหนองบัวบาน ท่านบวชในสำนักเดียวกัน คือ วัดโพธิสมภรณ์ โดยมีหลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป เป็นพระอุปัชฌาย์เดียวกัน จากนั้นจึงได้ไปศึกษาธรรมอยู่ร่วมกันกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และหลวงปู่ชอบ ฐานสโม และได้ออกวิเวกแสวงหาโมกธรรมร่วมกันอีกหลายแห่งทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน หลวงปู่ชอบ และหลวงพ่อจันทร์เรียน ต่างช่วยกันเคี่ยวเข็ญหลวงพ่อสมศรี กันเอาอย่างจริงจัง คอยทดสอยและทรมานจิตหลวงพ่อสมศรี ต่าง ๆ แต่หลวงพ่อสมศรีก็หาได้บ่น หรือย่อท้อไม่
หลวงปู่ชอบท่านเคยปรารภให้ลูกศิษย์ฟังว่า “ท่านศรีเป็นลูกศิษย์อีกองค์หนึ่งของเราที่มีภูมิธรรมสูง ท่านศรีเป็นผู้ไม่มีความบกพร่องในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติ เป็นที่พึ่งพาอาศัยทางใจของลูกศิษย์ต่อไปในอนาคต” และ
หลวงปู่จันทร์เรียน ก็เคยปรารภว่า “ท่านศรี เป็นคนเงียบ ๆ พูดน้อย ถูกอัธยาศัยกับเรา เราจึงยอมให้ท่านศรีธุดงค์ไปร่วมกันกับเรา ท่านศรีไปไหนกับเราถึงไหนถึงกัน ไม่มีบ่น หรือท้อถอย”
“..ใบไม้หล่น ใบไม้ร่วง นำมาเป็นธรรมะย่อมเป็นธรรมะได้ เป็นเรื่องของสังขารที่ร่วงโรย เป็นเรื่องธรรมะ พิจารณากายทั้งภายนอกภายใน ถ้าจะพิจารณาเป็นของโลกก็เป็นของโลก ถ้าพิจารณาให้เป็นธรรมก็เป็นธรรม..” โอวาทธรรมคำสอนของหลวงพ่อสมศรี อัตตสิริ
พื้นเพต้นตระกูลบรรพบุรุษปู่ย่าตายายของหลวงพ่อสมศรี อัตตสิริ ท่านเป็นชาวบ้านผาน้อย ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย โยมปู่ของท่านมีอาชีพเกษตรกร ต่อมาเมืองเลยเกิดภัยแล้งติดต่อนานหลายปี ไม่สามารถทำการเกษตรกรรมเลี้ยงชีพได้ ทำให้เกิดความขัดสน ในการดำรงเลี้ยงชีพ โยมปู่ของท่านได้อพยพหนีภัยแล้งจากบ้านผาน้อยไปอยู่ที่บ้านหนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี โดยโยมปู่ของท่านได้อพยพไปพร้อมกับโยมบิดาของพระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ซึ่งมีฐานะเป็นเครือญาติกัน การอพยพหนีภัยแล้งเมืองเลยในครั้งนั้น มีบรรพบุรุษของพ่อแม่ครูอาจารย์หลายรูปที่ได้เดินทางอพยพไปด้วยกัน อาทิเช่น บรรพบุรุษของครอบครัวหลวงปู่ลี กุสลธโร บรรพบุรุษของครอบครัวหลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร บรรพบุรุษของครอบครัวหลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร เป็นต้น
หลวงพ่อสมศรี ท่านจึงได้มาถือกำเนิดที่ บ้านหนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ในครอบครัวตระกูล “ศรีบุญเรือง”
โยมบิดาท่านชื่อ นายชน โยมมารดาท่านชื่อ นางเผือ ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๙ ตรงกับวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ ปีจอ โดยมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน เป็นชาย ๖ คน เป็นผู้หญิง ๑ คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง พี่ชายคนโตของท่านชื่อ นายเหลือ ศรีบุญเรือง สมรสกับ นางก่อง สาลีเชียงพิณ ซึ่งเป็นน้องสาวของ หลวงปู่ลี กุสลธโร
ชีวิตในวัยเด็กนั้น พ่อแม่ชอบพาไปทำบุญเป็นประจำ ท่านเป็นคนเรียบร้อยมาตั้งแต่เด็ก เป็นคนพูดน้อย ขยันเอาการเอางาน เมื่ออายุได้ ๕ ขวบ พ่อท่านได้เสียชีวิตลง ต่อมา ท่านได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประถมบ้านหนองวัวซอ เมื่อจบชั้น ป.๔ แล้ว จึงตัดสินใจไม่เรียนต่อ เพราะไม่สะดวกต่อการเดินทางไปเรียน โดยอยู่ช่วยครอบครัวทำไร่ทำนา ในช่วงนั้นเมื่อว่างเว้นจากการทำไร่ ทำนา ท่านได้ศึกษาทางการแพทย์กับทหารเสนารักษ์ที่ประจำอยู่ในหมู่บ้าน ทำให้ท่านมีความรู้ในเรื่องของยาและการรักษาในเบื้องต้น และได้รักษาคนในหมู่บ้าน
อายุครบ ๒๐ ปี เพื่อน ๆ ในรุ่นเดียวกัน รวมถึงรุ่นพี่ในหมู่บ้าน อาทิ หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร, หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร ได้พากันออกบวชแล้ว คงเหลือแต่เราเท่านั้นที่ยังไม่ได้ออกบวชเหมือนท่านเหล่านั้น เมื่อหันมามองดูวิถีชีวิตของตนเองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชีวิตนี้ก็หมุนเวียนอยู่แต่ในวัฏฏจักรวังวนหนเดิมอยู่ซ้ำซาก พอฝนก็มาทำนา พอสิ้นฟ้าก็ทำไร่ จับแอกจับไถไล่ควายอยู่กลางทุ่ง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ไม่จบสิ้น ท่านจึงพิจารณาหาแนวทางในการขจัดวงจรทุกข์เหล่านั้นออกจากจิตใจของตนเอง จึงได้ข้อสรุปว่า
“การบวชและการปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์เท่านั้น จึงจะเป็นการดับทุกข์ทั้งมวลได้อย่างสิ้นเชิง”
ท่านจึงไปขออนุญาตจากโยมแม่ โดยโยมแม่นำบุตรชายไปฝากเป็นนาคกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่วัดป่านิโครธาราม อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ในปีนั้นมีนาคที่จะบวชพระด้วยกันรวมท่านด้วยจึงเป็น ๑๐ คน เนื่องจากมีผู้ที่เตรียมตัวบวชเป็นผ้าขาวมาก หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ จึงมอบหมายให้ ท่านพระอาจารย์ลี หรือหลวงปู่ลี กุสลธโร แห่งวัดภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี และท่านพระอาจารย์อว้าน หรือหลวงปู่อว้าน เขมโก แห่งวัดป่านาคนิมิต อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ซึ่งมาอยู่ร่วมจำพรรษาอยู่ที่วัดป่านิโครธารามในขณะนั้น ช่วยกันแบ่งเบาภาระเป็นผู้ฝึกหัดให้ท่องขานนาคสวดมนต์ และแนะนำข้อวินัยสงฆ์ และข้อวัตรปฏิบัติครูบาอาจารย์
หลวงพ่อสมศรี เล่าว่า สมัยนั้นท่านเคยแต่กินข้าว ๓ มื้อ แต่พอต้องมาเป็นผ้าขาวต้องหัดกินมื้อเดียว จึงทำให้ทรมานด้วยความหิว ผ้าขาวหลาย ๆ คนในยุคนั้นแอบครูบาอาจารย์กิน ๒ มื้อบ้าง ๓ มื้อบ้าง แต่ท่านเอง เล็งเห็นว่าขนาดครูบาอาจารย์ท่านยังฉันมื้อเดียวเลย ท่านเองจึงตั้งใจจะปฏิบัติตามคำสอนของพ่อแม่ครูจารย์จะขอฉันข้าวมื้อเดียว และตั้งแต่นั้นมาจวบจนถึงปัจจุบันหลวงพ่อสมศรี ก็ฉันข้าวเพียงวันละมื้อเท่านั้น
หลวงปู่ลี ท่านได้ถามหลวงปู่อว้าน ว่าในบรรดานาคทั้ง ๑๐ คนนี้ จะพอมีใครไหมที่จะบวชไม่สึกหรือเป็นครูบาอาจารย์เพื่อสืบทอดพระศาสนาสืบต่อไปได้ หลวงปู่อว้านตอบว่าที่พอจะมีเค้าอยู่ก็มีนาคสมศรี กับนาคบุญรอด เพียงแค่ ๒ รูปเท่านั้น
หลวงพ่อสมศรี ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุคู่กับหลวงพ่อบุญรอด โดยหลวงพ่อสมศรีเป็นนาคขวา หลวงพ่อบุญรอดเป็นนาคซ้าย เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๙ ณ พระอุโบสถวัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมีหลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป ครั้นดำรงสมณศักดิ์พระเทพเมธากรณ์ เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ มีพระจันโทปมาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูอุดรคณานุศาสน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาในทางพระพุทธศาสนานามว่า “อัตตสิริ” มีความหมายว่า “ผู้งดงามในธรรม”
ส่วนหลวงพ่อบุญรอดนั้น ได้รับฉายาว่า อภิปุญโญ ต่อมาได้มาอยู่ที่วัดถ้ำไทรทอง อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรูปหนึ่ง และเป็นครูบาอาจารย์คอยสั่งสอนอบรมพระกัมมัฏฐาน อีกทั้งได้ช่วยเผยแผ่ศาสนาโดยมีวัดสาขาเกือบ ๒๐ วัด หลวงพ่อบุญรอด อภิปุญโญ ท่านมรณภาพเมื่ออายุเพียง ๖๑ ปีเท่านั้น ท่านได้บวชตลอดชีวิตสมดังที่หลวงปู่อว้าน พยากรณ์ไว้
หลังจากที่หลวงพ่อสมศรี อุปสมบท ท่านได้อยู่จำพรรษาและปฏิบัติด้านจิตตภาวนากับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่วัดป่านิโครธาราม หลังออกพรรษาที่สองแล้วองค์ท่านหลวงปู่อ่อน บอกให้ท่านกับหลวงปู่บุญรอด และพระอีกสามรูปเดินทางไปฝึกปฏิบัติกับองค์หลวงปู่ชอบ ที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ หลวงพ่อสมศรีกับเพื่อนอีกสี่รูปพากันเดินเท้ามาหาองค์ท่านหลวงปู่ชอบที่ วัดป่าสัมมานุสรณ์ บ้านโคกมน อ.วังสะพุง จ.เลย
ในระหว่างที่หลวงพ่อสมศรีอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ชอบนั้น หลวงปู่ชอบแนะนำเรื่องการปฏิบัติอย่างไร หลวงพ่อสมศรีท่านก็นำไปปฏิบัติตาม หลวงพ่อสมศรีเป็นคนพูดน้อยแต่เน้นเรื่องการปฏิบัติเป็นหลัก องคืหลวงปู่ชอบพิจารณาเห็นวาสนาของหลวงพ่อสมศรีในอนาคต ท่านจึงมอบหมายให้หลวงพ่อจันทร์เรียน คุณวโร ซึ่งเป็นญาติกันเป็นผู้คอยชี้แนะอบรมสั่งสอน ท่านทั้งสองจึงมีความสนิทสนมกันมาก
ในพรรษาที่ ๓ หลวงพ่อสมศรี ได้อยู่ร่วมปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ผาง ปริปุณโณ และหลวงพ่อจันทร์เรียน คุณวโร กับเณรอีก ๒ รูป ที่บ้านซำขี้นาค ต.หินฮาว อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์
พรรษาที่ ๔ ท่านจำพรรษาที่วัดป่าอุบมุง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
พรรษาที่ ๕ ท่านมาจำพรรษาที่วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ร่วมกับหลวงปู่ผาง ปริปุณโณ และได้ช่วยเตรียมงานถวายเพลิงสรีระสังขารหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ
พรรษาที่ ๖ ท่านได้ติดตามหลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร ไปกราบนมัสการหลวงปู่ชอบ ฐานสโม และได้อยู่จำพรรษาที่วัดป่าห้วยลาด อ.ภูเรือ จ.เลย ร่วมกัน ๓ รูป คือหลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร และหลวงพ่อเจริญ อมโร แห่งวัดป่าภูวังทอง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี
พรรษาที่ ๗ ท่านได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านเหล่า อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ร่วมกับหลวงปู่ศรีนวล ขันติธโร และหลวงพ่อบุญรอด อภิปุญโญ ซึ่งท่านสองรูปได้มรณภาพไปแล้ว
พรรษาที่ ๘ จำพรรษาที่บ้านวังไฮ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร
พรรษาที่ ๙ จำพรรษาที่วัดป่าสานตม อ.ภูเรือ จ.เลย ร่วมกับหลวงปู่ลี กุสลธโร และหลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร กับสามเณรเหลา (ปัจจุบันคือ พระอาจารย์เหลา เจ้าอาวาสวัดป่าสานตม)
พรรษาที่ ๑๐ ก่อนเข้าพรรษาท่านได้ธุดงค์ร่วมไปกับหลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร แล้วได้ไปจำพรรษาที่สำนักสงฆ์แม่แสะ ต.โป่งเดือด อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
พรรษาที่ ๑๑ หลวงปู่จันทร์เรียน พาท่านกลับมาดูแลอุปัฏฐากหลวงปู่ชอบ ฐานสโม และจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสานตม อ.ภูเรือ จ.เลย โดยมีหลวงพ่อขันตี ญาณวโร แห่งวัดป่าม่วงข่ อ.ภูเรือ จ.เลย ร่วมจำพรรษาด้วย
พรรษาที่ ๑๒ ท่านได้ติดตามหลวงปู่จันทร์เรียนธุดงค์เที่ยววิเวกไปทางภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และได้อยู่จำพรรษาด้วยกันสองรูป กับสามเณร ๑ รูป ที่ สำนักสงฆืบ้านป่าสักน้อย อ.เวียงชัย จ.เชียงราย หลังออกพรรษาท่านก็ธุดงค์กลับลงมาอุปัฏฐากหลวงปู่ชอบ ฐานสโมที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ อ.วังสะพุง จ.เลย
พรรษาที่ ๑๓ ท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำผาสิงห์ ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย ร่วมกับหลวงปู่คำแปลง ปุณณชิ แห้งวัดป่าพรไพรสณฑ์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู
พรรษาที่ ๑๔ – ๒๐ หลวงพ่อสมศรีเที่ยววิเวกอยู่ที่เมืองเลย และจำพรรษาเวียนสลับอยู่ ๓ ที่ คือวัดป่าห้วยลาด วัดป่าสวนกล้วย และวัดป่าอัมพวัน
พรรษาที่ ๒๑ – ๒๕ หลวงพ่อสมศรี ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดถ้ำสหายธรรม อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ร่วมกับหลวงพ่อจันทร์เรียน คุณวโร และได้อยู่ช่วยสร้างเสนาสนะภายในวัดถ้ำสหาย ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นสถานที่ธุรกันดารยิ่งนัก
พรรษาที่ ๒๖ หลวงพ่อสมศรี กลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสวนกล้วย อ.เมือง จ.เลย ร่วมกับหลวงพ่อมัย ธัมมโฆสโก แห่งวัดป่าบุญญานุสรณ์ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
พรรษาที่ ๒๗ – ๒๘ หลวงพ่อสมศรี กลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดถ้ำสหายร่วมกับหลวงพ่อจันทร์เรียน คุณวโร พอออกพรรษาแล้วท่านจึงกลับมาอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่ชอบ ฐานสโม และเป็นหัวหน้าหมู่คณะสงฆ์ที่วัดป่าโคกมน อ.วังสะพุง จ.เลย
พรรษาที่ ๒๙ หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร ได้ให้หลวงพ่อสมศรี มาอยู่ที่วัดป่าเวฬุวนาราม ตงผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเป็นวัดเก่าที่หลวงพ่อประสิทธิ์ เคยอยู่มาก่อน หลวงพ่อสมศรี จึงอยู่จำพรรษาที่วัดป่าเวฬุวนาราม ตั้งแต่นั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน พ่อแม่ครูบาอาจารย (หลวงพ่อสมศรี อัตตสิริ) วัดป่าเวฬุวนาราม อ.วังสะพุง จ.เลย เจริญอายุวัฒนะมงคล ๗๔ ปี (๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๓)
โอวาทธรรมคำสอนหลวงพ่อสมศรี อัตตสิริ
“..การพิจารณาความตายก็คือ การใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท เวลามีชีวิตอยู่ให้รีบทำแต่ความดี เอาตายเข้ามาน้อมเอา ชีวิตที่มีอยู่ให้เป็นคุณค่า พิจารณาความกลัวตาย พิจารณาความตายให้เป็นธรรม จิตที่ภาวนาก็ผ่องใสพอตายไปจิตก็เป็นบุญ..”
คัดลอกจาก หนังสือสวดมนต์ วัดป่าเวฬุวนาราม พิมพ์แจกในโอกาสหลวงพ่อสมศรี อัตตสิริ มีอายุครบรอบ ๖๖ ปี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เพจ ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน
ขอเชิญร่วมงานหล่อยอดเจดีย์ทองคำและพระพุทธรูปทองคำ ๙ นิ้ว
เพื่อบรรจุเจดีย์จตุราจารย์บูชา (หลวงพ่อสมศรี อัตตสิริ) ในวันที่พุธ ที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๓
ท่านใดมีจิตศรัทธาในการก่อสร้างเจดีย์จตุราจารย์บูชา (หลวงพ่อสมศรี อัตตสิริ)
ร่วมทำบุญได้ที่ ชื่อบัญชี เจดีย์จตุราจารย์บูชา (หลวงพ่อสมศรี อัตตสิริ) เลขที่บัญชี 020291964011 ธนาคารออมสิน สาขา วังสะพุง เท่านั้น
หรือติดต่อสอบถามได้ที่ 087-2229955 ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน