ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อวงษ์ วังสปาโล
วัดปริวาสราชสงคราม
ยานนาวา กรุงเทพฯ
พระครูขันตยาภิราม (หลวงพ่อวงษ์ วังสปาโล) วัดปริวาสราชสงคราม พระเกจิชื่อดัง ทรงวิทยาคุณเข้มขลัง โด่งดังในเรื่องการปลุกเสกเครื่องรางเสือ
◉ ชาติภูมิ
พระครูขันตยาภิราม (หลวงพ่อวงษ์ วังสปาโล) วัดปริวาสราชสงคราม เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๕ ที่บ้านบางโพงพาง อ.บ้านทวาย (ยานนาวาในปัจจุบัน) กรุงเทพฯ บิดาชื่อ “นายเลียบ” และมารดาชื่อ “นางจั่น เจริญกุล” มีพี่น้องร่วมกัน ๘ คน ท่านเป็นคนที่ ๕
ในวัยเยาว์ บิดาได้พาท่านไปฝากเรียนหนังสือกับพระที่วัดปริวาส สอบไล่ได้เทียบชั้นระดับประถมศึกษา ๔ (สูงสุดในสมัยนั้น) พออายุได้ ๒๑ ปี ก็ถูกเกณฑ์เป็นทหารเรือที่กรมสรรพาวุธ บางนา
◉ อุปสมบท
ครั้นเมื่อปลดประจำการอายุ ๒๓ ปี ได้อุปสมบทที่วัดปริวาส เมื่อวันพุธที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๘ โดยมี พระครูวินยานุบูรณาจารย์ (หลวงพ่อเชย) วัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดไม้ วัดปริวาส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอธิการน้อย วัดด่าน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “วังสปาโล”
หลวงพ่อวงษ์ ท่านชอบเป็นพระนักปฏิบัติ ศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา โดยได้ศึกษาที่ (วัดทองธรรมชาติ), (วัดสามปลื้ม) และ (วัดมหาธาตุฯ) จนได้นักธรรมชั้นตรี ชำนาญทางด้านบาลีแบบมูลกัจจายน์ และภาษาขอมบาลี, ขอมไทย แต่ไม่ได้เข้าสอบต่อ เนื่องจาก (พระปลัดไม้) เจ้าอาวาสวัดปริวาส มรณภาพลงเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ ทำให้หลวงพ่อได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส และได้เป็นพระอุปัชฌาย์ในเวลาต่อมา
หลวงพ่อวงษ์ ท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาปรุงยาสมุนไพร และสูญฝีด้วยปูนกินหมาก รวมทั้งการจับยามสามตาจาก (พระปลัดไม้) ซึ่งมีผู้ป่วยและลูกศิษย์มารับการรักษาอยู่เสมอ นอกจากนี้ท่านยังเรียนรู้ วิชาการเล่นแร่แปรธาตุ การต้มปรอท การรักษาโรค การเขียนผงลบผง โดยเฉพาะผงนะปถมัง และผงอิทธิเจ การอาบน้ำมนต์ และการวิปัสสนากรรมฐาน จาก (ปู่เนียน สังข์เนตร) ฆราวาสแห่งอาศรมบางวัว และได้ศึกษาการวิปัสสนากรรมฐานจาก (หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่นอก) ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ ซึ่งพระบวชใหม่ในแถบบางโพงพางช่วงนั้น ถ้าจะออกธุดงค์ ต้องมาขึ้นกรรมฐานกับ (หลวงพ่อพุ่ม) ก่อนออกเดินธุดงค์ทุกครั้ง
วัดปริวาสราชสงคราม เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ดังมีหลักฐานยืนยันเป็นแผ่นทองคำจารึกไว้ กล่าวคือ เมื่อครั้งที่หลวงพ่อวงษ์บูรณปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์หน้าอุโบสถ โดยมีพระอาจารย์สมชาย ฉันสโร เป็นผู้ช่วย และจากการในครั้งนี้ได้พบแผ่นทองคำจารึกนามผู้สร้างเจดีย์ ช่วงส่วนบนของ “คอระฆัง” พระเจดีย์จารึกระบุว่า ยายเมืองเป็นผู้สร้างเจดีย์ไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แม้จะไม่ใช่วัดหลวง แต่จัดเป็นวัดใหญ่ที่ประกอบด้วย อุโบสถ วิหาร และพระมหาเจดีย์ เขตแนวกุฏิสงฆ์อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา การจารจรสะดวก ด้วยในสมัยก่อนนั้น มักใช้แม่น้ำลำคลองในการสัญจร แต่ปัจจุบันใช้ถนนพระราม ๓ เป็นเส้นหลักในการสัญจร
เจ้าอาวาสที่ปกครองวัด ตามที่มีผู้สืบค้นไว้มีอยู่ ๙ รูป ได้แก่ หลวงปู่ม่วง, หลวงปู่สุข พระอธิการเฮ้า, พระอธิการเปลี่ยน, พระอธิการโคก, พระปลัดไม้ ,พระครูขันติยาภิราม (พระอุปัชฌาย์วงษ์), พระครูใบฏีกาเจียม สุขิโต, พระครูพิศาลพัฒนพิธาน
เป็นผู้ที่ทำให้วัดปริวาส เป็นที่รู้จักแก่ประชาชน เนื่องจากเสือโลหะที่ได้สร้างไว้ นอกจากนี้ ยังเป็นพระนักพัฒนาที่เก่งอีกด้วย หลังจากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส ก็ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถ์ใหม่ สร้างศาลาการเปรียญ ศาลาอเนกประสงค์ รวมทั้งเสนาสนะอื่นๆ อีกหลายแห่ง
◉ มรณภาพ
พระครูขันตยาภิราม (หลวงพ่อวงษ์ วังสปาโล) วัดปริวาสราชสงคราม ท่านถึงแก่มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๓ สิริอายุรวมได้ ๗๘ ปี พรรษา ๕๕
◉ ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคลยุคต้น หลวงพ่อวงษ์ เริ่มสร้างวัตถุมงคลประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๕ เป็นพระพิมพ์สมเด็จเนื้อผง ท่านเขียนผงได้ตั้งแต่อายุไม่ถึง ๓๐ ปี ท่านเขียนผง นะปถมัง และผงอิทธิเจ ซึ่งหลวงพ่อใช้เวลาเขียนลบผงทั้ง ๒ อย่างกว่า ๑๐ ปี จนได้ผงพอสมควรแล้ว ท่านก็เริ่มทำพระผงพิมพ์สมเด็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ หลวงพ่อตำผงผสมผงพิมพ์พระ แต่ได้พระไม่มากเท่าไหร่ เพราะว่าท่านผสมผง นะปถมังและผงอิทธิเจมาก จึงเปลืองผงมากเนื้อพระก็มีมวลสารน้อยเพราะมีผงมาก และพระของท่าน จะถูกน้ำไม่ได้จะละลายเป็นก้อน พระของท่านมีดินสอพองเป็นหลัก มีกล้วยเป็นตัวประสาน มีข้าวสุกตากแห้ง พระของท่านจึงมีกลิ่นหอม ถ้าเก็บรักษาไม่ดีจะมีแมลงกัดแทะ ทำให้พระของท่านเหลือมาถึงปัจจุบันน้อยมาก
พระพิมพ์สมเด็จของท่าน เป็นพระที่มีเมตตาสูงมาก มักจะมีผู้ที่ชอบขูดขอบพระบ้าง เจาะด้านหลังบ้าง แช่น้ำบ้าง เพื่อนำผงของพระไปใช้ในทางเสน่ห์เรื่องผู้หญิง และใช้ได้ผลดี จนมีเรื่องมาถึงท่านหลวงพ่อต้องคอยแก้ไข จนท่านต้องเอ่ยปากแช่งผู้ที่นำผงไปใช้แล้ว ได้ผลแต่ไม่รับผิดชอบเลี้ยงดู “ขอให้ฉิบหาย” ท่านจึงนำพระผงที่เหลือไปบรรจุในเจดีย์
วิชาการสร้างและปลุกเสกพยัคฆราช เสือหล่อโลหะของหลวงพ่อวงษ์ ที่สร้างตั้งแต่รุ่น ๑ ถึงรุ่น ๖ (พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๑๙) มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ของนักสะสมเครื่องรางของขลังในรูปแบบเสือ ทั้งแบบปั๊มโลหะและหล่อโบราณ ที่หลวงพ่อวงษ์ ท่านได้สร้างไว้ พระเกจิอาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถ ในการสร้างและปลุกเสกเสือตามแบบที่ได้รับการถ่ายทอดจาก หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย ซึ่งหลวงพ่อปานได้ศึกษาวิชาการสร้างเสือมาจาก (หลวงปู่แตง วัดอ่างศิลา) จ.ชลบุรี พระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในด้านวิชาต่างๆ มากมายในสมัยเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว
สำหรับวิชาการสร้างเสือและปลุกเสกเสือนั้น หลวงพ่อวงษ์ ได้รับการถ่ายทอดจาก หลวงพ่อปาน ทางนิมิต เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นระยะเวลาหลายปี จนกระทั่งสำเร็จวิชาการสร้างเสือ หลวงพ่อวงษ์จึงได้สร้างเสือครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ และทุกครั้งที่มีการสร้างเสือ หลวงพ่อปาน จะมาร่วมพิธีด้วยการผ่านร่างประทับทรง จนถึงรุ่นหก ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ในการสร้างและปลุกเสกเสือนั้น หลวงพ่อวงษ์จะนั่งปลุกเสกเสือจนกระทั่ง เสือโลหะนั้นกระโดดได้เหมือนมีชีวิต จึงหยุดปลุกเสก บรรดาศิษย์ที่ศรัทธาในยุคนั้น เห็นท่านปลุกเสกเสือกระโดดได้เป็นเรื่องปกติ จึงศรัทธาเลื่อมใสมาก
“ตอนกูปลุกเสกเสือรุ่น ๑ นั้น กูเพิ่งจบชั้นประถม แต่เสือรุ่น ๖ นั้น กูจบปริญญาแล้ว พวกมึงว่ารุ่นไหนจะดีกว่ากัน” เป็นคำกล่าวปรารภของหลวงพ่อวงษ์แก่บรรดาคณะศิษย์