ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อย้อย ปุญญมี
วัดอัมพวัน
อ.เสาไห้ จ.สระบุรี
หลวงพ่อย้อย ปุญญมี วัดอัมพวัน พระเกจิชื่อดังที่มีวัตรปฏิบัติดี เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งจังหวัดสระบุรี
◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อย้อย ปุญญมี วัดอัมพวัน นามเดิมชื่อ ย้อย (ไม่ทราบนามสกุล) เกิดเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๕ ปีมะโรง ที่บ้านโรงเหล้า (บ้านอัมพวัน) หมู่ที่ ๓ ต.ศาลารีไทย อ.เสาไห้ จ.สระบุรี บิดา-มารดา ชื่อ นายนิ่มและนางแป๋ มารดาเป็นลูกคนจีนชาวอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี
ช่วงวัยเยาว์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ ที่โรงเรียนวัดวังแดงเหนือ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา
ก่อนเข้าพิธีบรรพชา ที่วัดอัมพวัน อ.เสาไห้ จ.สระบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ ขณะอายุ ๑๖ ปีเศษ โดยมีพระครูสา วัดวังแดงเหนือ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์
◉ อุปสมบท
กระทั่งอายุครบ ๒๑ ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดอัมพวัน เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๖ มีพระครูสา วัดวังแดงเหนือ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระใบฎีกาโป๋ วัดวังแดงเหนือ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระใบฎีกานาค วัดสมุหประดิษ ฐาราม อ.เสาไห้ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ปุญฺญมี”
ศึกษาวิทยาคมจากตำราต่างๆ โดยมี หลวงพ่อโป๋ วัดวังแดงเหนือ ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ คอยเป็นพระอาจารย์อบรมสั่งสอน
ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดอัมพวัน
เป็นพระภิกษุผู้ทรงศีล เจริญด้วยเมตตายิ่ง ผู้ที่ได้เข้ามากราบจะเห็นว่า เวลาท่านฉันภัตตาหารเช้าหรือเพล แทบจะกล่าวได้ว่า ทุกเวลาที่ท่านฉันจะมีสุนัขและแมวล้อมรอบตัวและสำรับกับข้าว แต่ไม่เคยไล่ให้หนีออกไป ฉันอาหารไป ก็ให้อาหารสุนัข-แมวไปด้วยทุกครั้ง
คุณลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่เคยขัดศรัทธาของลูกศิษย์ที่ไปหา มีวิทยาคม แต่ใช้ในทางที่ถูก ช่วยเหลือ, ป้องกันภัย ไม่ว่าจะลงกระหม่อม ทำน้ำมนต์อาบให้ หรือปลุกเสกเครื่องรางของขลัง
อีกประการหนึ่ง หลวงพ่อย้อย มีประสาทหูเสีย (หูหนวก) จึงมีสมาธิดีกว่าปกติ เพราะไม่สามารถฟังเสียงรบกวนจากบริเวณใกล้เคียง
กล่าวสำหรับ วัดอัมพวัน ม.๔ ต.ศาลารีไทย อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอ แต่เยื้องไปตามลำน้ำเล็กน้อย เดิมชื่อว่า “วัดม่วงล้อม” เพราะบริเวณวัดปรากฏว่าเต็มไปด้วยต้นมะม่วงขนาดใหญ่ยืนต้นอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณวัด
โดยสมัยนั้นยังปรากฏวิหารเป็นที่ตั้งของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ถือปูน ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๑๐ เซนติเมตร สูง ๑๔๕ เซนติเมตร ซึ่งมีหลักฐานปรากฏว่าได้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีอายุความเก่าแก่ประมาณ ๔๐๐ ปี ในละแวกนี้เดิมมีบ้านเรือนผู้คนมาขอปลูกอาศัยเป็นจำนวนมาก
ต่อมา พระครูติ๊บ ซึ่งเป็นพระครูเมืองวัดเขาแก้ว เข้ามาปฏิสังขรณ์วัดม่วงล้อมใหญ่ สร้างกุฏิสงฆ์ และอุโบสถ แล้วให้นามวัดว่า “วัดอัมพวัน” นับตั้งแต่นั้นมาจวบจนปัจจุบัน โดยมี หลวงตาจั่น เป็นเจ้าอาวาสและเมื่อหลวงตาจั่นมรณภาพไปแล้ว หลวงพ่อย้อย ปุญญมี จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสแทน
หลวงพ่อย้อย วัดอัมพวัน ท่านเป็นพระที่มีจิตที่ไม่มีความโกรธ มีบุคลิกที่มีความเมตตายิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ เมตตาต่อสรรพสัตว์น้อยใหญ่ มีความอิ่มเอิบสดชื่นเสมอๆ มีบารมีผ่องใสอยู่ในตัว ประกอบกับการที่มีสมาธิแก่กล้า เข้มขลัง จึงสามารถทำให้วัตถุมงคลของท่านบรรลุผลแห่งพุทธคุณด้านเมตตามหานิยมได้อย่างเต็มที่ เมื่อได้ปลุกเสกโดยการปรุงใจตามวิธีการปลุกเสกของตำราโบราณ ดังนั้นวัตถุมงคลของท่านจึงมีพุทธคุณที่เป็นเมตตามหานิยมด้วย
◉ มรณภาพ
ช่วงบั้นปลายชีวิต หลวงพ่อย้อย วัดอัมพวัน ท่านเกิดล้มป่วยด้วยโรคหัวใจ จึงถูกส่งไปรักษาตัวที่ ร.พ.ศิริราช แต่ด้วยความชราภาพในที่สุดมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๕ สิริอายุรวมได้ ๙๐ ปี พรรษา ๖๙
หลังมรณภาพ สังขารหลวงพ่อย้อยไม่เน่าเปื่อย วัดอัมพวันนำสังขารบรรจุไว้ในโลงแก้วให้ประชาชนได้สักการะขอพร ทุกปีจะนำสังขารทำความสะอาด ปิดทอง และเปลี่ยนสบงจีวรใหม่ มีประชาชนมาร่วมพิธีจำนวนมาก
◉ ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคลที่ หลวงพ่อย้อย ปุญญมี วัดอัมพวัน ได้จัดสร้างไว้มีหลายรุ่น อาทิ ผ้ายันต์ ตะกรุด เหรียญ ฯลฯ
นอกจากเหรียญรุ่นแรกแล้ว ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ เหรียญเสมา หลวงพ่อย้อย จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑
จัดสร้างเป็นเนื้อทองคำ ตามจำนวนสั่งจอง ไม่เกิน ๕๐ เหรียญ เนื้อเงิน ๒๐๐ เหรียญ เนื้ออัลปาก้า ๕๐๐ เหรียญ เนื้อทองแดง ๓,๐๐๐ เหรียญ มีทั้งผิวไฟและรมดำ
ประกอบพิธีพุทธาภิเษกเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๑ ที่อุโบสถหลังเก่าวัดอัมพวัน โดยพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังร่วมนั่งปรก อาทิ
หลวงพ่อย้อย ปุญญมี วัดอัมพวัน, หลวงพ่อแจ่ม วัดวังแดงเหนือ, หลวงปู่เทียม วัดกษัตราราม จ.พระนครศรีอยุธยา, พระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อเจียม จิรปุญโญ) วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา, พระวรพรตปัญญาจารย์ (หลวงปู่เฮี้ยง) วัดอรัญญิกาวาส จ.ชลบุรี, พระครูพินิจสมาจาร (หลวงพ่อโด่ อินทโชโต) วัดนามะตูม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี, พระครูภาวนานุโยค (หลวงพ่อหอม) วัดชากหมาก จ.ระยอง, พระราชมุนี (โฮม โสภโณ) วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ, พระรักขิตวันมุนี (หลวงพ่อถิร) วัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี ฯลฯ
ลักษณะเป็นเหรียญเสมา มีหู ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อย้อยนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ ด้านบนรูปเหมือน เขียนว่า ‘๒๕๑๑’ ขอบเหรียญรูปใบเสมา เขียนคำว่า ‘หลวงพ่อย้อย ปุญญมี วัดอัมพวัน อ.เสาไห้ จ.สระบุรี’
ด้านหลังเหรียญ ไม่มีขอบเหรียญ ตรงกลางเหรียญเป็นพระพุทธรูป ด้านบนเขียนว่า ‘หลวงพ่อขาว’