ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อพรหม ติสฺสเทโว
วัดขนอนเหนือ
อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
หลวงพ่อพรหม ติสฺสเทโว วัดขนอนเหนือ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา พระเกจิชื่อดัง “หนังดีมีอาคมขลังตั้งแต่วัยรุ่น”
◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อพรหม วัดขนอนเหนือ ถือกำเนิด เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๖ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีฉลู จากดวงชะตาของบุตรชายเมื่อพ่อสุวรรณได้นำไป “ผูกดวง” จึงทราบว่าบุตรชายคนนี้เป็นผู้มีบุญมาเกิด เมื่อเติบใหญ่จะเป็นที่พึ่งสำคัญในพระศาสนา มีความเจริญในธรรมชั้นสูง จึงตั้งชื่อบุตรชายของตนว่า “พรหม”
วัยเด็ก เด็กชายพรหม มีนิสัยต่างจากเพื่อนวัยเดียวกัน เพราะเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบ ช่วยเหลืองานบิดามารดา มีเมตตาต่อสัตว์ เสียสละ รักพวกพ้อง ไม่ยอมใครหากตนไม่ผิด มีความกล้าหาญอดทน เชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดา เป็นที่ถูกใจของผู้เป็นบิดายิ่งนัก พ่อสุวรรณได้สอนบุตรชายให้หัดเขียนอักขระเลขยันต์ ฝึกฝนท่องคาถาอาคมในวัยเพียง ๗ ขวบ(เด็กชายพรหม อายุ ๒ ขวบ พ่อสุวรรณได้ออกบวชเป็นพระได้ ๑ พรรษา) ความสามารถตามประสาเด็กของบุตรชายเป็นที่พอใจของผู้เป็นบิดา พ่อสุวรรณได้มั่นพร่ำสอนวิชาอาคมอย่างต่อเนื่อง ด้วยนิสัยใฝ่รู้ของเด็กชายพรหม ทำให้เข้าใจและแตกฉานในวิชาที่บิดาสอน สามารถเสกว่าน ให้คงทนต่อศาสตราวุธ ในวัย ๑๕ ปี ครั้งหนึ่งในช่วงเวลานั้น วัดต่างถิ่นได้จัดงานประจำปีขึ้น เด็กชายพรหมได้ทำการเสกว่าน แจกให้กับเพื่อนๆประมาณ ๓-๕ คน เพื่อป้องตัว ก่อนที่ทุกคนจะเข้าสู่บริเวณงานวัดแห่งนั้น สมัยนั้นเมื่อมีการข้ามถิ่นของไอ้หนุ่มต่างบ้านเมื่อใด ย่อมเกิดการเขม่นหรือไม่พอใจของทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องปกติ แต่ครั้งนี้คู่กรณี ซึ่งฝ่ายหนึ่งเป็นไอ้หนุ่มเจ้าของถิ่น ส่วนอีกฝ่ายเป็นไอ้หนุ่มบ้านเดียวกันกับเด็กชายพรหม ทั้งสองฝ่ายไม่ยอมลงให้กัน เหตุการณ์ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้น ท่ามกลางสายตาของประชาชนที่มาเที่ยวงานจำนวนมาก ผู้เป็นเจ้าถิ่นนั้นมีพวกมาก ซ้ำยังมีกองเชียร์ร่วมลุ้นด้วย การต่อสู้ดำเนินต่อไป ฝ่ายที่ดูจะเพรี่ยงพร้ำกลับเป็นไอ้หนุ่มต่างถิ่นที่ขณะนี้สถานการณ์ เปลี่ยนเป็นถูกรุมอย่างไม่ยุติธรรม เด็กชายพรหมและเพื่อนๆเห็นเหตุการณ์โดยตลอด เลือดไอ้หนุ่มบ้านกรด แห่บางปะอินคนนี้ ยอมไม่ได้! เด็กชายพรหมเชื่อมั่นในวิชาอาคมที่ได้เรียนจากบิดา ทั้งว่านกันศาสตราวุธ ที่ทำการเสกก่อนมาเที่ยวงาน ลูกผู้ชายคนนี้ไม่เคยกลัวใครที่ไร้คุณธรรม วันนี้แหละ ! เป็นไงเป็นกัน ! เด็กชายพรหมและเพื่อนๆเข้าช่วยเหลือเพื่อนบ้านเดียวกัน อย่างไม่เกรงกลัว แม้ว่าคู่ต่อสู้นั้นมีจำนวนมากกว่า สร้างความไม่พอใจให้กับนักเลงเจ้าถิ่นเป็นทวีคูณ การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือด! อาวุธมีดทั้งสั้น , ยาว ถูกนักเลงเจ้าถิ่นนำมาใช้ ท่ามกลางสายตาและเสียงโจษขานอื้ออึงของผู้คนในงาน นักเลงเจ้าถิ่นมั่นใจว่าคมมีดทั้งหลายแทงถูกคู่ต่อสู้หนุ่มชาวบ้านกรดอย่างแน่นอน ต่อหน้าต่อตาผู้คนที่มองดู ด้วยความหวาดเสียว เหตุการณ์สงบลงด้วยความบอบซ้ำของนักเลงเจ้าถิ่นอย่างสิ้นท่า เพื่อนๆของเด็กชายพรหม พากันสำรวจร่างกายของตนที่ถูกอาวุธ ของคู่ต่อสู้แทงอย่างไม่ยั้งมั่นใจอย่างไรก็ต้องได้แผล แต่เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจนัก ทั่วทั้งร่างกายของทุกคนไม่มีแม้เลือดสักหยดให้เห็น มีเพียงรอยช้ำบริเวณจุดที่คิดว่าถูกแทง หรือถูกของหนักเท่านั้น เหตุการณ์ครั้งนี้ผู้ที่ได้พบเห็นต่างโจษขานกัน ถึงความหนังเหนียวของเด็กชายพรหมและเพื่อนๆ ทำให้เด็กชายพรหมเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อนเป็นอย่างมาก ว่าเป็นผู้มีวิชาอาคมหรือมีของดี
เมื่อย่างเข้าสู่วัยหนุ่มวิชาอาคมที่ฝึกฝนมาตลอด จากการคุมเข้มของบิดานั้น ได้แก่กล้ามากขึ้น สร้างความมั่นใจและไม่เกรงกลัวผู้ใดแม้คู่ต่อสู้จะมีพละกำลังที่เหนือกว่า นายพรหมเป็นคนชอบความถูกต้อง เมื่อใดที่นายพรหมเห็นคนถูกรังแก เมื่อนั้นนายพรหมลูกกรุงเก่าคนนี้จะต้องเข้าช่วยเหลือ เป็นที่เลื่องลือถึงความหนังเหนียวและมีของดีคุ้มครองตัว คำร่ำลือนั้น มีทั้งบวกและลบเพราะนายพรหม อยู่ที่ไหนมักเกิดการชกต่อยกันที่นั่นเสมอ แต่ความเป็นคนชอบช่วยเหลือผู้อื่นทั้งเป็นคนไม่กลัวใคร จึงเป็นที่ชื่นชมและเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน
ครั้งหนึ่งนายพรหมเดินทางไปทำธุระที่จังหวัดปทุมธานีเพียงผู้เดียว ขณะนั่งรับประทานอาหารในร้านข้าวแกงได้มีกลุ่มนักเลงเจ้าถิ่นหลายคนด้วยกัน ซึ่งนั่งอยู่ก่อน มองมาที่นายพรหมอย่างไม่พอใจ พร้อมทั้งส่งเสียงพูดคุยกระทบกระทั่งหนุ่มต่างถิ่นอยู่เป็นระยะๆ เพราะหึงหวงแม่ค้าข้าวแกงร้านนั้น นายพรหม อดทน อดกลั้นนั่งทานอาหารจนเสร็จ จ่ายเงินแล้วจึงลุกออกจากร้านไปอย่างมีเลศนัย กลุ่มนักเลงเจ้าถิ่นมองตามนายพรหมอย่างสงสัยนักเลงเจ้าถิ่นกลุ่มนี้มีชื่อว่า “เสือฉาย” และลูกสมุน
นายพรหม หายออกจากร้านไปพักใหญ่ กลับมาอีกครั้งในมือถือมีดพก ๒ เล่ม นายพรหมเดินตรงเข้าไปที่เสือฉายนั่งอยู่ สีหน้าจริงจังและส่งมีดให้เสือฉาย ๑ เล่ม พร้อมกล่าวคำท้าดวลกันตัวต่อตัว ใครดีใครอยู่ เสือฉายรับคำท้า ก้าวเดินออกมายังคู่ต่อสู้ ในใจชื่นชมความกล้าหาญของหนุ่มต่างถิ่นร่างบอบบางแต่ใจนักเลงคนนี้นัก การต่อสู้เริ่มขึ้นต่อหน้าผู้คนที่มุงดูด้วยใจจดจ่อ ทั้งสองพลัดกันลุก พลัดกันรับไม่มีทีท่าว่าจะเพรี่ยงพร้ำแก่กัน
นายพรหมซึ่งบอบบางกว่าถูกเสือฉายแทงที่อกอย่างจัง ผู้คนส่งเสียงกรีดร้องด้วยความตกใจ แต่กลับไม่เห็นบาดแผลเลยสักนิด นายพรหมต่อสู้อย่างไม่เกรงกลัว เสือฉายเสียท่าถูกนายพรหมแทงเสียงดังดั่งทะลุอก แต่หาระคายผิวของเสือฉายไม่ นายพรหมยกมีดขึ้นอีกครั้งแต่ถูกเสือฉายจับมือไว้ และสั่งให้ยุติการต่อสู้ ทั้งสองจับมือแสดงความเป็นมิตรต่อกัน ท่ามกลางความอกสั่นขวัญแขวนของผู้ที่มองดู นับจากนั้นเสือฉาย และนายพรหม ต่างเป็นมิตรสหายที่ดีต่อกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้รับการกล่าวขานถึงความหนังเหนียวและมีของดีคุ้มครองของทั้งคู่อย่างกว้างขวาง
การทำนาในสมัยก่อนชาวบ้านใช้ควายไถนา แต่ละบ้านมีควายหลายตัวเพื่อพลัดเปลี่ยนกัน บ้านไหนมีฐานะบ้านนั้นมักมีควายเป็นฝูงใหญ่ ตกค่ำควายทุกตัวจะถูกต้อนเข้าคอกซึ่งอยู่นอกบ้าน ของแต่ละบ้าน ยุคข้าวอยากหมากแพง โจรขโมยชุกชุม เสือหลายกลุ่มออกปล้นกวาดต้อนเอาวัวควายชาวบ้าน สร้างความเดือดร้อนเป็นอันมาก
กิติศัพท์ความหนังเหนียวมีดีคุ้มครองตัว ของนายพรหม เอี่ยมอนุกูล เป็นที่ยอมรับกันไปไกลหลายหมู่บ้าน ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวไม่กลัวใคร กล้าได้กล้าเสีย เป็นที่เกรงกลัวต่อบรรดาเสือและโจรทั้งหลาย มิมีใครอยากยุ่งด้วย เหล่าเสือมีชื่อในเสียงเป็นที่เกรงกลัวของชาวบ้านในยุคนั้นไม่มีใครไม่รู้จัก “เสือฉาย และ เสือแต้ม” และเสือที่ว่าขึ้นชื่อนี้ก็ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก “เสือพรหม” เช่นกัน ด้วยความห้าวหาญไม่เกรงกลัวต่อผู้ที่คิดร้าย ชาวบ้านต่างเรียกนายพรหมว่า “เสือพรหม” การปล้นวัวควายของเสือฉาย และ เสือแต้ม สร้างความหวาดผวาให้แก่ชาวบ้านเป็นอันมาก อำนาจรัฐไม่สามารถช่วยเหลือได้เนื่องจากกำลังเจ้าหน้าที่มีน้อย เสือแต่ละคนล้วนเป็นผู้มีวิชาอาคม อาวุธของเจ้าหน้าที่ไม่ทำให้ระคายผิว หรือเรียกว่ายิงไม่เข้า ชาวบ้านจึงลงความเห็นว่าบุคคลที่สามารถต้านบรรดาเสือทั้งหลายได้นั้น มีเพียงนายพรหม เอี่ยมอนุกูล ผู้เดียวที่สามารถ สยบพวกเสือได้ นายพรหมเป็นกำลังสำคัญช่วยเหลือชาวบ้านในการเฝ้าเวรยาม ได้เตรียมการป้องกันอย่างเข้มแข็ง การมีนายพรหมเป็นผู้นำนั้น ทำให้พวกเสือไม่สามารถทำตามแผนการได้ เมื่อพบว่ามีนายพรหมเฝ้าอยู่จึงได้ยกเลิกแผนการปล้น แล้วพากันกลับไป ชาวบ้านเห็นว่าได้ผล ก็พากันขึ้นป้ายที่หน้าบ้านของตนว่า “นายพรหม” เหตุการณ์ความเดือดร้อนของชาวบ้านจึงเริ่มสงบลง
◉ อุปสมบท
นายพรหม ใช้ชีวิตอย่างปกติแต่ยังคงฝึกฝนวิชาอาคมกับบิดา อย่างต่อเนื่อง ครบอายุ ๒๐ ปี นายพรหมตั้งใจที่จะเป็นทหารรับใช้ชาติเสียก่อน แต่ไม่สมหวัง คุณพ่อสุวรรณจึงพาบุตรชายไปฝากเข้าทำงานกับท่าน หลวงเสรีรณฤทธิ์ นายพรหมเข้าทำงานในตำแหน่ง หัวหน้าแผนกพัสดุการรถไฟฯ นายพรหมทำงานด้วยความขยันขันแข็งเป็นที่ถูกใจของผู้ใหญ่หลายท่าน ด้วยนิสัยรักการศึกษาวิชาอาคม นายพรหมเก็บตัวเป็นคนเรียบร้อยศึกษาวิชาไม่ยุ่งกับใคร จนเป็นที่รู้กันในกลุ่มเพื่อนร่วมงานว่า นายพรหมมีของดี จากเด็กบ้านนาที่รักสงบกับชีวิตในกรุงที่มีแต่แสงสี ความแก่งแย่ง แข่งขันชิงดีชิงเด่น ของผู้คนในกรุงทำให้ นายพรหมเกิดความเบื่อหน่ายกับชีวิตในเมือง จึงขอลาออกจากงานที่ทำ กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดของตนดังเดิม
นายพรหม ได้เข้าพิธีอุปสมบท เดือน ๖ ปี พ.ศ.๒๔๗๙ อายุ ๒๓ ปี โดยมี พระครูสารกิจ (ฝัก) วัดทำเลไทย อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ชุ่ม วัดขนอนเหนือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ทอง วัดขนอนเหนือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้ฉายาว่า “ติสฺสเทโว”
เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงพ่อพรหม ได้อยู่รับใช้พระอุปัชฌาย์ ที่วัดทำเลไทย และได้ศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติมจากท่าน จึงได้กลับไปจำพรรษาที่วัดขนอนเหนือบ้านเกิด ด้วยความที่เป็นผู้มีวิชาอาคมอยู่ก่อนแล้ว หลวงพ่อพรหมจึงมีลูกศิษย์เข้ากราบไหว้ทำบุญกับท่านอยู่ไม่ขาด ทั้งยังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ หลวงพ่อพรหม นำปัจจัยที่ได้ ก่อสร้างเสนาสนะเพิ่มเติมและบูรณะส่วนที่ชำรุดทรุดโทรมภายในวัดขนอนเหนือ หลวงพ่อพรหมท่านเป็นพระลูกวัด ในขณะนั้นมีท่านพระอาจารย์ชุ่มเป็นเจ้าอาวาส การที่ท่านเป็นพระลูกวัดจึงถือเป็นโอกาสดี ที่ท่านสามารถเดินทางไปศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติมจากครูบาอาจารย์ต่างๆ ได้โดยไม่ติดภาระอันใด
◉ เป็นศิษย์หลวงพ่อขัน
หลวงพ่อพรหม จำพรรษาอยู่วัดขนอนเพียงไม่กี่พรรษา โยมบิดาเห็นว่าควรที่จะให้พระบุตรชาย ได้ศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติมจึงได้พาไปฝากตัวเป็นศิษย์ กับหลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ ซึ่งเป็นพระที่เก่งกล้าในวิชาอาคมแบบไม่เป็นสองรองใครรูปหนึ่ง หลวงพ่อพรหม มีพื้นฐานในวิชามาจากโยมบิดาซึ่งเป็นศิษย์หลวงพ่อขันมาก่อนแล้ว หลวงพ่อขันจึงสอนเพียงวิชาการสักอักขระเลขยันต์รูปแบบต่างๆและเชือกคาดเอว, ผ้าขอด, การลงตะกรุด, เดินธาตุสี่ หลวงพ่อพรหมเรียนวิชาอยู่ไม่นานจากพื้นฐานที่มีมาก่อนนั้น ทำให้ท่านสำเร็จแต่ละวิชาอย่างแตกฉาน ท่านได้อยู่รับใช้ หลวงพ่อขันอีกระยะหนึ่งจึงกราบลาพระอาจารย์กลับ ความเก่งกล้าในวิชาอาคม และเคร่งครัดในพระธรรมวินัยของหลวงพ่อพรหม ทำให้เกิดศรัทธาจากคณะศิษย์มากขึ้น แต่ละวันหลวงพ่อพรหมจะรับลูกศิษย์เป็นเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น เวลาที่เหลือท่านจะใช้ในกิจของสงฆ์ และการปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิ ข้อวัตรปฏิบัติประจำวันมีดังนี้
เวลา ๑๐.๐๐ น.- ๑๖.๐๐ น. อนุเคราะห์ศิษย์และญาติโยมที่มากราบไหว้
เวลา ๑๖.๐๐ น.- ๒๐.๐๐ น.สวดมนต์ ธรรมวัตร
เวลา ๒๐.๐๐ น.-๐๒.๐๐ น.จำวัด
เวลา ๐๕.๐๐ น.-๑๐.๐๐ น.ทำกิจ ส่วนตัวและภาระอื่นๆ
หลวงพ่อพรหม ปฏิบัติข้อวัตรต่างๆ อย่างเสมอต้นเสมอปลาย เป็นที่ทราบกันดี หากผู้ใดอยากมากราบท่าน ควรรู้ว่าจะมาเวลาไหนจึงสามารถพบท่านได้ ทั้งท่านยังเป็นพระที่กตัญญูต่อ บิดา-มารดา ท่านจะปลีกเวลาเพื่อแสดงธรรมให้แก่คุณแม่ผลได้ฟังเสมอ แลคอยดูแลบิดาท่านเป็นอย่างดีเนื่องจากคำทำนายของบิดาท่านนั้นแม่นยำนัก
◉ ขอเป็นศิษย์หลวงปู่อ่ำ
ขอเป็นศิษย์ หลวงปู่อ่ำ หลวงพ่อพรหมเดินทางไปยังวัดงิ้วงาม อ.เมือง จ.สระบุรี เพื่อขอเป็นศิษย์หลวงปู่อ่ำตามคำร่ำลือว่า ท่านเป็นพระที่เก่งในวิชาอาคม และบรรลุธรรมชั้นสูง โดยมิได้แจ้งให้ทางวัดทราบแต่อย่างใด ครั้นถึงวัดพบหลวงปู่อ่ำท่านคอยอยู่ เหมือนดั่งท่านรู้ล่วงหน้า หลวงพ่อพรหมทราบว่า ท่านน่าจะได้สำเร็จญาณชั้นสูง หรือเจโตปริยญาณ คือการหยั่งรู้อารมณ์จิตของคนและสัตว์เป็นแน่ หลวงพ่อพรหมเข้ากราบนมัสการหลวงปู่อ่ำ รู้สึกศรัทราในปฏิปทาอันงดงามของท่าน เมื่อได้สนทนายิ่งรู้สึกเคารพในตัวท่านมากขึ้น หลวงปู่อ่ำพูดจาไพเราะยิ้มแย้มมีเมตตาธรรม อารมณ์ดีไม่ดุด่าว่าใคร ชอบพูดจา หยอกล้อกับลูกศิษย์ แต่ในถ้อยคำที่ท่านสนทนานั้นมักแฝงด้วยคติธรรมให้นำเก็บไปคิดเสมอ หลวงปู่อ่ำเมื่อทราบความประสงค์ของหลวงพ่อพรหม ท่านมิได้ขัดข้อง จึงอนุญาตให้พระภิกษุหนุ่ม อยู่ปรนนิบัติรับใช้ตามเจตนา วันเวลาผ่านไป หลวงพ่อพรหมยังไม่เห็นวี่แววว่า ตัวท่านจะได้เริ่มเรียนวิชากับพระอาจารย์เมื่อใด เพราะก่อนเพลเกือบทุกวัน หลวงพ่อพรหมจะถูกใช้ให้ ไปรับอาหารจากหลานสาวท่าน ที่ท้ายทุ่ง หลวงพ่อพรหมได้แต่เก็บความสงสัยอยู่ในใจมิกล้าเอ่ยถามหรือ ทักท้วง แม้กระทั่งเรื่องการเรียนวิชาอาคม เจตนาของหลวงปู่อ่ำเพื่อพิสูจน์ว่าพระหนุ่มรูปนี้มีจิตใจมั่นคงเพียงใด หากพบกิเลสตรงหน้าจะพ่ายแก่กิเลสหรือไม่ เมื่อท่านแน่ใจว่ามีความมั่นคงในเพศบรรพชิต อย่างแน่วแน่ หลวงพ่อพรหมจึงผ่านการทดสอบและได้เริ่มเรียนวิชาอาคมต่างๆจากหลวงปู่อ่ำ วิธีการสอนวิชาของแต่ละครั้งท่านมีวิธีที่แตกต่างกันไป การสอนของจะเป็นลักษณะแฝงอยู่กับเหตุการณ์จริงใน ชีวิตประจำวัน ซึ่งหากศิษย์คนใดเป็นคนไม่มีไหวพริบปฏิภาณ แล้ว จะไม่สามารถเข้าใจในอารมณ์ของท่านเลย ด้วยความเฉลียวฉลาด และการเป็นคนช่างสังเกต หลวงพ่อพรหมแม้จะรู้ไม่ทันในบางเรื่อง แต่ก็มิได้ทำให้หลวงปู่อ่ำ ผิดหวังในตัวของลูกศิษย์คนนี้ วิชาที่ร่ำเรียนกับหลวงปู่อ่ำมีหลากหลายด้วยกัน เนื่องจากท่านเป็นพระที่แก่กล้าในวิชาอาคม แม้ภายนอกท่านนั้น สำรวมกริยา วาจาไพเราะเปี่ยมด้วยเมตตาธรรมแต่ภายในใจนั้นกลับเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ชอบความเป็นระเบียบยิ่งนัก ความสามารถของหลวงปู่อ่ำไม่เพียงเก่งกล้าในด้านวิชาอาคมเท่านั้น ในด้านสมุนไพรต่างๆท่านล่วงรู้ถึงสรรพคุณทางยาเป็นอย่างดี ท่านสอนหลวงพ่อพรหมให้ได้รู้เรื่องของสมุนไพร การที่พระภิกษุสามารถรู้ถึงสรรพคุณของสมุนไพรแต่ละชนิดถือเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในยามออกธุดงค์ หลวงพ่อพรหมเรียนรู้เรื่องสมุนไพรและจดจำได้อย่างขึ้นใจ
◉ สอนวิชาแปรธาตุ
วันหนึ่งหลวงพ่อปู่อ่ำได้สอนวิชาแปรธาตุให้กับศิษย์ โดยหลวงปู่ได้ให้ หลวงพ่อพรหม เตรียมชะแลงมาหนึ่งอัน น้ำหนักของชะแลงนั้นประมาณ ๑๐ กิโลกรัม หลวงปู่ได้พาหลวงพ่อพรหมไปยังสระน้ำซึ่งอยู่ภายในบริเวณวัด หลวงปู่อ่ำบอกว่า ทุกสิ่งในโลกล้วนปรุงแต่งประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ คือ ปฐวี ดิน ,อาโป น้ำ , เตโช ไฟ , วาโย ลม ด้วยกันทั้งสิ้น การเจริญสมาธิ เมื่อจิตมีความตั้งมั่นแน่วแน่เป็นหนึ่งเดียว เราสามารถแปรธาตุต่างๆได้ ตามความต้องการ เช่น
เปลี่ยนของหนักให้เป็นของเบา
เปลี่ยนความร้อนให้เป็นความเย็น
เปลี่ยนของเหลวให้เป็นของแข็ง
เปลี่ยนอากาศให้สงบ หรือแปรปรวน
หลวงปู่ได้เอาชะแลงซึ่งมีน้ำหนักมาก ยกขึ้นบริกรรมคาถากำกับ ให้หลวงพ่อพรหมเห็น แล้วโยนลงไปในสระน้ำที่มีความลึก ชะแลงจมลงหายไปสักครู่ จึงโผล่ขึ้นมาลอยอยู่เหนือน้ำ หลวงพ่อพรหมดีใจในสิ่งอัศจรรย์ที่ได้เห็นตรงหน้า หลวงปู่อ่ำอธิบายและบอกหลวงพ่อพรหมให้เข้าใจในวิชาแปรธาตุ ซึ่ง สำหรับผู้ที่มีการฝึกฝนวิชาอาคมมาก่อนแล้วย่อมบังเกิดผลอย่างง่ายดาย สำหรับหลวงพ่อพรหมนั้นท่านได้ รับการสอนวิชาธาตุสี่จากหลวงพ่อขันเป็นฐานอยู่แล้ว เมื่อนำมาใช้ในการแปรธาตุโดยที่มี พระอาจารย์เก่งกล้าในวิชา เช่นหลวงปู่อ่ำ เพียงไม่นานหลวงพ่อพรหมก็สามารถปฏิบัติตามได้สำเร็จ นอกจากวิชาแปรธาตุที่ได้ร่ำเรียนจากหลวงปู่ยังมีวิชาที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่นวิชาเดินเหิน วิชาเดินเหินนี้มีประโยชน์สำหรับพระภิกษุในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากระยะทางที่ต้องเดินด้วยเท้า ยามเมื่อได้รับกิจนิมนต์จากญาติโยมซึ่งอยู่ห่างไกล การสอนของหลวงปู่เน้นการปฏิบัติจริง จากที่ได้กล่าวมาแล้วว่าวิธีการหลวงปู่อ่ำนั้นท่านจะสอนในลักษณะแฝงร่วมอยู่ในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยไม่บอกกล่าวให้รู้ตัวก่อน เป็นส่วนใหญ่ครั้งนี้ก็เช่นกัน
◉ วิชาเดินเหิน
หลวงปู่อ่ำ พาหลวงพ่อพรหม เข้าป่าหาสมุนไพร ขณะเดินด้วยกันนั้น หลวงปู่อ่ำจะชวนพูดคุยหรือชวนชมนกชมไม้ให้เพลิดเพลินขาดสติ ครั้นเมื่อเห็นว่าลูกศิษย์หลงกลท่านแล้ว จึงได้เริ่มวิชาเดินเหิน ให้ได้เห็นทันที หลวงพ่อพรหม ขณะเพลิดเพลินอยู่นั้น เมื่อหันมองมายังพระอาจารย์ก็ไม่พบ แต่กลับเห็นท่านเดินอยู่ไกลๆกำลังยกมือกวักเรียกอยู่ไหวๆ หลวงพ่อพรหม ทราบในทันทีว่าท่านหลงกลพระอาจารย์เข้าแล้ว และทราบว่าขณะนี้พระอาจารย์กำลังใช้วิชาเดินเหินให้เห็นนั่นเอง นอกจากวิชาเดินเหินแล้วหลวงปู่อ่ำได้สอน วิชชาประสาน วิชชาถอนคุณไสยต่างๆ และเสกวัตถุสิ่งของให้กลายเป็นสัตว์ตามความต้องการหรือเรียกว่าการ “ผูกพยนต์” หลวงปู่อ่ำได้ถ่ายทอดวิชาที่มีให้กับหลวงพ่อพรหมอย่างไม่ปิดบัง คงมีเพียงวิชาเสกหนังควายเท่านั้นที่หลวงปู่ไม่ยอมสอนให้ เนื่องจากหลวงปู่เห็นว่าหากผู้ใดนำไปใช้แบบผิดๆหรือเห็นเป็นเรื่องสนุก อาจเป็นโทษกับคนอื่นที่เขาไม่รู้เรื่องหรือไม่ใช่คู่กรณีของเรา จึงได้ยินกันอยู่บ่อยๆว่า “ถูกของ หรือโดน คุณไสย” จาก ผู้มีวิชาอาคมปล่อยมาเพื่อทดสอบวิชาของตน หลวงปู่จึงให้หลวงพ่อพรหมเรียนเฉพาะวิชาถอน ที่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้เท่านั้น
◉ ออกธุดงค์
หลังจากที่หลวงพ่อพรหมได้ออกศึกษาวิชาอาคมจากครูบาอาจารย์จนเป็นที่พอใจ พิจารณาเห็นถึงความเสื่อมของทุกสรรพสิ่ง ซึ่งล้วนเกิดขึ้น แล้วตั้งอยู่เพียงชั่วขณะหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ตลอดเวลาบนโลก เกิดความเบื่อหน่ายท่านจึงได้ออกธุดงค์เพื่อค้นหาพระสัจจะธรรมตามคำสั่งสอนแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้ธุดงค์พร้อมพระภิกษุอีก ๖ รูป ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ป่าลึกแทบภาคเหนือตอนล่าง
◉ ตัดเหล็กไหล
หลวงพ่อพรหมพร้อมพระสหายธรรมธุดงค์รอนแรมผ่านป่าเขา บางวันพบบ้านเรือนมีผู้คนอาศัย และบางวันไม่มีแม้อาหารจะฉันเนื่องจากบริเวณนั้นมีแต่ป่ารกชัฏ ออกเดินพิจารณาธรรมอย่างไม่ย่อท้อ กระทั่งวันหนึ่ง หลวงพ่อพรหมและพระภิกษุที่ติดตามได้เข้าพักภายในถ้ำพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ หลังจากพิจารณาสถานที่หลวงพ่อท่านทราบในทันทีว่าในถ้ำแห่งนี้ มีของดี อาศัยอยู่ ของดีที่ว่าคือเหล็กไหล เหล็กไหลเป็นวัตถุอาถรรพ์ที่ศักดิ์สิทธิ์มาก เทวดานั้นรักษาอยู่ อานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ครอบจักรวาล เด่นในด้านคงกระพันชาตรี หนังเหนียว ยากที่จะหาวัตถุอาถรรพ์ใดเปรียบได้ เหล็กไหลเป็นของศักดิ์สิทธิ์จากธรรมชาติ ผู้ที่จะทำการตัดหรือทำการขอหากไม่มีวาสนาบารมี หรืออยากได้ด้วยความโลภแล้ว เหล็กไหลจะไม่ออกมาให้เห็นเลยหรืออาจมีอันเป็นไปก่อนได้มาครอบครอง หลังจากพักเหนื่อย หลวงพ่อได้ทำพิธีบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง เพื่อขอเหล็กไหล ท่ามกลางความสนใจของพระภิกษุที่ร่วมธุดงค์มาด้วย เหตุการณ์ผ่านไปด้วยดีปราศจากอุปสรรคใดๆ หลวงพ่อพรหม ตัดเอาเหล็กไหลเพียงแค่พอประมาณ แม้โอกาสจะเอื้ออำนวย แต่หลวงพ่อพรหมตัดเอาเพียงแค่ส่วนที่ท่านต้องการเท่านั้น เมื่อได้เหล็กไหลมา หลวงพ่อทำพิธีฝังเหล็กไหลไว้บริเวณ ต้นขาขวา และเป็นที่ทราบกันในหมู่ลูกศิษย์ว่าท่านฝังเหล็กไหล(หลวงพ่อยังบอกไว้อีกว่าวันที่ร่างท่านถูกเผา ให้ลูกศิษย์คอยดูให้ดีว่าจะเกิดปาฏิหาริย์อะไรในวันนั้น)
◉ โดนลองของ
หลวงพ่อพรหม เหลือภิกษุร่วมธุดงค์เพียง ๓ รูป รวมทั้งตัวท่านด้วย อีก ๓ รูป ขอเดินทางกลับวัด คณะธุดงค์ของหลวงพ่อแม้มีจำนวนน้อยแต่หาย่อท้อไม่ ยังคงออกเดินธุดงค์รอนแรมผ่านลงมาทาง ภาคอีสานตอนใต้ มาถึงยัง จ.บุรีรัมย์ วันนั้นเป็นเวลาก่อนเพล ขณะกำลังเดินธุดงค์อยู่นั้น คณะของหลวงพ่อได้รับการนิมนต์ จากชาวบ้านซึ่งบริเวณนั้นเป็นหมู่บ้านชาวส่วย( ชนชาติหนึ่งอยู่ทางภาคอีสาน มีภาษาพูดคล้ายเขมร) ชาวส่วยมักมีวิชาอาคมแต่เป็นประเภทมนต์ดำ หลวงพ่อเมื่อรับนิมนต์ ได้พิจารณาเหตุการณ์ และทราบว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ชาวบ้านได้ปูผ้าและตั้งสำหรับอาหาร รอท่า อยู่ก่อนแล้ว อาหารมื้อนั้น มีขนมจีนน้ำยา ข้าวเหนียว และพริกป่น หลวงพ่อสั่งพระร่วมธุดงค์ทั้ง ๒ รูปนั่งลงนอกผ้าที่ชาวบ้านปูไว้ ส่วนหลวงพ่อพรหมนั่งลงบนผ้า ท่านแบ่งยกอาหารเพียงข้าวเหนียวและพริกป่นให้กับพระทั้ง ๒ หลวงพ่อท่านได้เลือกฉันข้าวเหนียวกับพริกป่นมิได้ฉันขนมจีนน้ำยาแต่อย่างใด แม้ชาวบ้านร้องขอให้ท่านฉันก็ไม่เป็นผล สถานการณ์ที่เห็นพระทั้ง ๒ รูป พอจะเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ขณะที่หลวงพ่อนั่งอยู่นั้น ผ้าปูได้ขยายออกเป็นผืนใหญ่ขึ้น ต่อหน้าต่อตาพระร่วมธุดงค์ทั้ง ๒ หลวงพ่อไม่แสดงอาการตื่นตระนกแต่อย่างใด กลับเอื้อมมือไปดึงชายผ้าให้หดลง ผ้าผืนนั้นจึงอยู่ในลักษณะ หดเข้าขยายออกเป็นอยู่เช่นนี้ แบบไม่ยอมความง่ายๆ หลวงพ่อพรหมท่านจึงนำน้ำที่ติดตัวไว้ เทราดลงบนผ้า
ผ้าผืนนั้นจึงกลายเป็นหนังควายผืนขนาดเขื่อง จากนั้นท่านได้เทน้ำลงบนขนมจีนอีกครั้ง ขนมจีนได้กลายเป็นขดลวดหนามวางอยู่บนจาน ชาวบ้านเห็นว่าท่านรู้ทันจึงเกิดความกลัว ได้กราบขอขมาต่อท่าน หลวงพ่อได้เทศน์อบรมสั่งสอน ก่อนออกจากพื้นที่ไป
◉ โดนยาสั่ง
จากบุรีรัมย์ได้เดินธุดงค์ ผ่านภูเขาข้ามเข้าสู่ จ.ปราจีนบุรี เรื่อยมา กระทั่งถึง อ.บ้านนา จ .นครนายก วันนั้นเป็นเวลาอาหารเพล ได้มีชาวบ้านนำอาหารมาถวาย พระทั้ง ๓ รูป เมื่อได้พิจารณาอาหารแล้วก่อนฉันหลวงพ่อได้ยก อาหารอย่างหนึ่งซึ่งดูน่ารับทานกว่าอาหารทั้งหมดตรงหน้า สร้างความแปลกใจให้แก่พระร่วมธุดงค์อีกครั้ง หลวงพ่อทราบแล้วว่าในอาหารนั้นมียาสั่ง แต่ยังคงนั่งฉันเป็นปกติ เพื่อให้เจ้าของยาสั่งนั้นได้เห็นว่าท่านก็มีดีคุ้มกันอยู่เช่นกัน เจ้าของยาสั่งเห็นหลวงพ่อเจาะจงหยิบเฉพาะอาหารของเขา จึงรู้ทันทีว่าพระธุดงค์รูปนี้ไม่ธรรมดา หลังหลวงพ่อฉันเสร็จ ได้แสดงตัวและกราบขอขมาต่อท่าน หลวงพ่อให้ธรรมและคติธรรมหลายข้อก่อนออกเดินธุดงค์ต่อไป
◉ งานสร้างวัตถุมงคล
หลวงพ่อพรหม ได้จัดสร้างวัตถุมงคลครั้งแรก ปี พ.ศ.๒๔๙๔ เป็นเหรียญเสมา รุ่นแรก จัดสร้างครั้งต่อๆ มาโดยมากสมนาคุณผู้ที่ร่วมทำบุญ จึงไม่ค่อยพบเห็นวัตถุมงคลในยุคต้นสักเท่าไรนัก ซึ่งต่อมาภายหลังท่านได้จัดสร้าง เหรียญซึ่งมีลักษณะเป็นรูปพระนารายณ์ในรูปแบบต่างๆกันเช่น นารายณ์เส้น ,นารายณ์ออกศึก ,นารายณ์ทรงเมือง และเหรียญหนุมานออกศึก เหรียญสิงห์ , ยันต์ต่างๆ รูปทรงที่เป็นพระนารายณ์ หนุมาน และสิงห์นี้ถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวของท่าน
◉ ประสบการณ์วัตถุมงคล
วัตถุมงคลของท่านล้วนมีประสบการณ์ แคล้วคลาด คงกระพัน ทั้งสิ้น เป็นที่โจษขานกัน ทั้งในอดีตและปัจจุบัน อย่างกว้างขวาง ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านเป็นที่ต้องการของลูกศิษย์ เหรียญที่ทำให้คนรู้จักชื่อเสียงของหลวงพ่อมากคือ เหรียญนารายณ์ทรงศาสตราวุธ เหรียญหนุมานออกศึก เหรียญยันต์เก้ายอดหรือเรียกว่ายันต์ครู เพราะจัดสร้างน้อยและหายาก เนื่องจากมีประสบการณ์เรื่องเล่า จากผู้ใช้ย่างโชกโชน
จากตำราเกี่ยวกับพระนารายณ์ที่ได้ร่ำเรียนจากโยมบิดา ซึ่งสืบทอดมาจาก “ขรัวแสง วัดเสาประโคน” ในตำรานั้นได้พรรณนาถึงโองการการอัญเชิญ ศาสตราวุธ มาประจำประหัตถ์ซ้าย-ขวา,บน-ล่าง แล้วอัญเชิญพระมหาพิชัยมงกุฏ ตลอดจนคล้องสังวาล จนถึงรองพระบาท บรรจุธาตุทั้งสี่ให้เกิดอาการสามสิบสอง และ ประจุหัวใจใส่ไว้เป็นที่สุด ให้เกิดอานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์พระนารายณ์ อันทรงฤทธิ์ ล.พ.พรหม ท่านมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์วิชานี้เป็นอย่างมาก จึงทำให้เหรียญนารายณ์ที่ท่านสร้างเกิดประสบการณ์มากมาย และถือว่าท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่สร้างเรียญพระนารายณ์ได้ไม่เป็นรองใคร หลวงพ่อได้จัดสร้างอีกหลายรายการด้วยกัน ผู้เขียนจึงขอนำประสบการณ์เรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงของลูกศิษย์ที่แขวนเหรียญนารายณ์ ปี พ.ศ.๒๕๐๙ เรื่องมีอยู่ว่า ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ นายทัย มีอาชีพขับเรือหางยาว อยู่ในเขตอำเภอบางปะอิน ซึ่งจะบริการส่งทั่วไป การสัญจรไปมาในยุคนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้เส้นทางน้ำเป็นหลัก นายทัยจึงบริการส่งทั้งลูกค้าประจำและขาจรทั่วไป การแล่นเรือไปในเส้นทางเปลี่ยวเป็นประจำของนายทัยจึงเป็นที่จับตาของมิจฉาชีพทั้งหลาย กระทั่้งวันหนึ่งเวลาประมาณ ๓ ทุ่มเศษ นายทัยได้รับผู้โดยสารเป็นชายฉกรรจ์ ๓ คน เรือของนายทัยได้แล่นฝ่าความมืดเข้าสู่คลองลึก สองฝากฝั่งเต็มไปด้วยป่ารกและเงียบสงัดไร้ผู้คนผ่านไปมา นายทัยรู้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้นกับตน ชายทั้ง ๓ จับนายทัย มัดมือไขว้หลังและยิงซ้ำไปที่ร่างของนายทัย ก่อนชิงเรือของนายทัย ชาย ๑ ใน ๓ ใด้ถืบร่างของนายทัยตกน้ำไป ร่างของนายทัย ลอยไปติดอยู่ใต้บรรไดท่าน้ำของชาวบ้าน จนรุ่งเช้าขณะที่เจ้าของบ้านเตรียมอาหาร รอใส่บาตรเช่นทุกวันก็ต้องแปลกใจเมื่อเห็นร่างคนลอย อยู่ใต้บรรไดท่าน้ำของตน เมื่อก้มลงไปดูสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าทำให้ผู้เป็นเจ้าของท่าแทบช็อค!
นายทัยถูกลูกบรรไดท่าน้ำเกี่ยวอยู่ในลักษณะลอยคอ หมดสติชาวบ้านช่วยกันดึงร่างของนายทัย ที่คิดว่าเสียชีวิตแล้วขึ้นจากน้ำ เมื่อตรวจดูอย่างละเอียดพบว่ายังมีชีวิตและไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด จึงช่วยกันปฐมพยาบาล เมื่อนายทัยฟื้นขึ้นเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ผู้ที่มามุงดูได้ฟัง ผู้คนต่างอยากรู้ว่านายทัยมีของดีอะไร ในตัวของนายทัยมี เหรียญหลวงพ่อพรหม ด้านหลังนารายณ์ ปี พ.ศ.๒๕๐๙ เพียงเหรียญเดียวที่เป็นวัตถุมงคลติดตัว หลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายทัย ชาวบ้านต่างร่ำลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเหรียญนารายณ์ปี พ.ศ.๒๕๐๙ ของหลวงพ่อพรหม อย่างกว้างขวาง
หลวงพ่อพรหม แห่งวัดขนอนเหนือ ต. บ้านกรด อ. บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันร่างท่านไม่เน่าเปื่อยบรรจุอยู่ในโลงแก้วตั้งอยู่ที่วัดขนอนเหนือ