ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อบ่าย ธัมมโชโต
วัดช่องลม
อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม
หลวงพ่อบ่าย ธัมมโชโต วัดช่องลม พระเกจิอาจารย์ชื่อดังลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ศิษย์เอกหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย จ.สมุทรสงคราม
◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๔ ที่บ้านบางครก ต.สวนทุ่ง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เดิมเป็นเด็กกำพร้า พระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ (พี่ชายของหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย) ได้นำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เมื่ออายุได้ ๑๐ ปี ได้ศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านทั้งภาษาไทยและภาษาบาลีกับพระอาจารย์คล้ำ วัดสวนทุ่ง
◉ อุปสทบท
ปี พ.ศ. ๒๔๒๔ เมื่อหลวงพ่อมีอายุ ๒๐ ปี ถึงเวลาครบบวช จึงได้อุปสมบทที่วัดทองนพคุณ โดยมีพระอุปัชฌาย์แดง วัดเขาบันไดอิฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์พุก วัดสวนทุ่ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “ธัมมโชโต”
เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงพ่อบ่าย ก็จำพรรษาอยู่ที่วัดทองนพคุณ จ.เพชรบุรี เป็นเวลา ๑ พรรษา ระหว่างที่หลวงพ่อบ่ายจำพรรษาอยู่ที่วัดทองนพคุณ ได้ศึกษาพุทธาคมกับหลวงพ่อพุก วัดสวนทุ่ง และพระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ จนสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว พระอาจารย์ทั้ง ๒ ท่านไม่มีสิ่งใดจะสั่งสอนอีก จึงแนะนำให้หลวงพ่อบ่ายมาฝากตัวศึกษาวิชากับหลวงพ่อแก้ว วัดช่องลม ต่อไป
หลวงพ่อบ่าย จึงได้ตามหลวงพ่อแก้วมาอยู่ที่วัดช่องลม ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและพุทธาคมกับหลวงพ่อแก้วอีกด้วย นับได้ว่าหลวงพ่อบ่าย ท่านเป็นผู้ที่ใกล้ชิด หลวงพ่อแก้ว มากที่สุด
ปี พ.ศ.๒๔๓๐ หลวงพ่อแก้ว ได้รับนิมนต์ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาส วัดพวงมาลัย หลวงพ่อบ่ายก็ได้รับนิมนต์ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลมสืบแทนต่อไป
หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ท่านเป็นพระที่เก่งแบบหาได้ยากยิ่งรูปหนึ่ง เพราะนอกจากจะได้รับการยกย่องนับถือว่าเป็นพระที่ปฏิบัติตัวตรงตามพุทธบัญญัติแล้ว ยังมีคุณสมบัติที่ควรยกย่องอีกหลายประการ นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระนักพัฒนา ได้ก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดช่องลมให้เจริญขึ้นมากมาย
ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ หลวงพ่อบ่าย ได้ทำการย้ายวัดใหม่ เนื่องด้วยทำเลที่ตั้งวัดช่องลม เดิมติดโค้งน้ำของแม่น้ำแม่กลอง ทำให้เกิดน้ำกัดเซาะตลิ่งพังไปเรื่อยๆทุกปี จนท้ายที่สุดน้ำกัดเซาะพังจวนจะถึงกุฏิ หลวงพ่อบ่าย จึงโยกย้ายวัดมาตั้งวัดใหม่ในพื้นที่ปัจจุบัน
ในปี พ.ศ.๒๔๗๒ หลวงพ่อบ่าย ได้โยกย้ายก่อสร้างพระอุโบสถใหม่ เพราะพระอุโบสถเดิมถูกน้ำเซาะใกล้กำแพงโบสถ์แล้ว
ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ หลวงพ่อบ่าย ได้ก่อสร้างอาคารเรียนแบบ ป.๓ จำนวน ๑ หลังด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว เปิดทำการสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้วให้ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนธรรมโชติ”
โดยที่การก่อสร้างหรือการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ นั้นหลวงพ่อไม่เคยบอกใคร ไม่เคยเรี่ยไรนอกวัด เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวว่าหลวงพ่อจะทำอะไร ก็จะมีผู้คนจำนวนมากมายมาร่วมทำบุญกับหลวงพ่อ บางรายถวายอิฐบ้าง บางรายถวายไม้บ้าง บางรายถวายกระเบื้องบ้าง บางรายไม่มีทรัพย์ก็เอาแรงมาถวาย บางรายถวายปัจจัยบ้าง สุดแต่ว่าใครมีอะไรก็นำมาทำบุญตามกำลังศรัทธา
หลวงพ่อบ่าย ท่านได้รับการถ่ายทอดพุทธาคมจากหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย ท่านจึงมีอำนาจพุทธาคมเข้มขลังและเป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ของแม่กลอง ได้รับเกียรตินิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคล ในงานหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้าวัดราชบพิธ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ และในงานพุทธาภิเษกใหญ่ๆ แทบทุกงาน และท่านก็เป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ด้วย
◉ มรณภาพ
หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ท่านมรณภาพลงเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ สิริอายุได้ ๘๑ ปี พรรษาที่ ๖๐
◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงพ่อบ่าย ท่านได้สร้างเครื่องรางของขลังไว้หลายชนิดด้วยกัน เหรียญหล่อโบราณ พระพิมพ์ พระผง ทั้งตะกรุดโทน ตะกรุดพิศมร ผ้ายันต์ ลูกอม เสื้อยันต์ และเหรียญสตางค์รูซึ่งหาดูได้ยากชาวบ้านที่มีก็หวงแหนกันมากจนปัจจุบัน
เหรียญปั๊มหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม รุ่นแรก สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๖๑ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ข้างกระบอกค่อนไปในทางกลม ตัวเหรียญมีหูเชื่อม เท่าที่พบเห็นมีเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียว ในบางเหรียญมีกะไหล่ทอง สมัยก่อนมีการแบ่งลักษณะเหรียญออกเป็น ๒ บล็อกคือ “บล็อกแตก” และ “บล็อกไม่แตก” จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ด้านหน้า แกะเป็นรูปหลวงพ่อบ่ายแบบครึ่งองค์ ห่มจีวรแบบลดไหล่ พาดผ้าสังฆฏิ มีช่อรวงข้าวล้อมรอบเหนือรวงข้าวมีตัว อุ อยู่บนยอด รอบนอกมีอักขระยันค์ล้อมรอบไปกับตัวเหรียญ
ด้านหลัง มีอักขระยันต์จำนวน ๔ แถว ด้านล่าง มีอักษรไทยระบุปีที่สร้าง “พ.ศ.๒๔๖๑”
เหรียญปั๊มพัดยศ หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๖๑ เป็นเหรียญรูปไข่ ตัวเหรียญมีหูเชื่อม สร้างด้วยเนื้อเงิน ทองเหลือง อัลปาก้า ทองแดง และทองแดงกะไหล่ทอง มูลเหตุที่เรียกกันว่าเหรียญพัดยศเพราะภายในเหรียญมีตาลปัด แบ่งเป็น ๒ บล็อกคือ “บล็อกยันค์ ภู ภิ ภุ ภะ” และ “บล็อกหลังยันต์ห้า” จำนวนการสร้างไม่มีการบันทึกไว้ แต่น่าจะมีจำนวนน้อยมาก
เหรียญบล็อกหลังยันต์ ภู ภิ ภุ ภะ
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อบ่ายประทับนั่งสมาธิ บนตั่ง มีอาสนะรองรับ ขวามือของหลวงพ่อปรากฏรูปตาลปัดตั้งอยู่ ด้านซ้าย-ขวา มีอักขระยันต์ขอม อ่านได้ความว่า “พุท ธะ สัง มิ” ใต้องค์พระมีอักขระขอมอ่านได้ว่า “ธรรมโชโต ภิกขุ”
ด้านหลัง มีการผูกยันต์หัวใจพญาเสือโคร่ง “ภูภิภุภะ” มีเส้นวงกลมล้อมตัวยันต์ล้อไปกับขอบเหรียญ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก pra-maeklong.com