วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปัญฺโญ วัดป่าบ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

ประวัติและปฏิปทา พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปัญฺโญ วัดป่าบ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปัญฺโญ วัดป่าบ้านค้อ

หลวงพ่อทูล ขิปฺปปัญฺโญ เกิด ณ บ้านหนองค้อ ตําบลบัวค้อ อําเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

เกิด วันจันทร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นบุตร ของนายอุทธา-นางจันทร์ นนฤาชา เป็นบุตรคนที่ ๕ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๑๐ คน ท่านได้อุปสมบทเมื่อ วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ณ วัดโพธิสมภรณ์ อําเภอเมืองอุดรธานี มีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นท่านได้ศึกษาจนมีความมั่นคงในพระพุทธศาสนาและมาอยู่เป็นลูกศิษย์ หลวงปู่ขาว อนาลโย และในกาลต่อมาเมื่อหลวงปู่ขาวท่านมรณภาพลง หลวงพ่อทูล ท่านได้มาสร้างวัดป่าบ้านค้อ และขึ้นดํารงตําแหน่งเจ้าอาวาสรูปแรก (๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๘ – ๑๐ พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๕๕๑) หลวงพ่อท่านได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑

สิริรวมอายุได้ ๗๓ ปี ๕ เดือน พรรษา ๔๘

หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ วัดป่าบ้านค้อ

ตลอดระยะเวลา ๔๘ พรรษาที่อยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ พระอาจารย์ทูลมีความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะเดินตามรอย พระพุทธองค์ คือ “จะประพฤติพรหมจรรย์เพื่อกระทําที่สุด แห่งทุกข์โดยชอบ และออกเผยแผ่ธรรมเพื่อให้ผู้ปฏิบัติตามเกิด ความเห็นชอบในศาสนธรรมคําสอนของพระพุทธเจ้าอย่าง แท้จริง

โดยท่านมีสัจจะเป็นอุบายในการสร้างความเพียร และ มีสติปัญญาความรอบรู้ในการหาอุบายธรรมมาสอนใจตัวเอง อยู่เสมอ จนท่านสามารถถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ที่บ้านป่าลัน อําเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย

พระอาจารย์ทูล เป็นทั้งปราชญ์แห่งธรรม และเป็นผู้นําทางด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ท่านเป็นผู้ก่อตั้งวัดป่าบ้านค้อ พระมหาธาตุเจดีย์ฯ สถานที่ปฏิบัติธรรม และวัดหลายแห่งในต่างประเทศ อาทิ วัดซานฟรานธัมมาราม วัดนิวยอร์คธัมมาราม และศูนย์ปฏิบัติธรรมเคพีวาย ท่านได้เขียนหนังสือธรรมะภาคปฏิบัติกว่า ๒๐ เล่ม อันเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา

พระอาจารย์ทูล เป็นตัวอย่างของพระอริยบุคคลผู้ผ่านประสบการณ์ในทางโลกมาอย่างมากมายก่อนที่ท่านจะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัยวัยเด็ก ท่านมีนิสัยเป็นผู้นําเสียสละ มีเมตตาสูง รักความยุติธรรม และมีสัจจะวาจาที่มั่นคง

ท่านเป็นหัวหน้าชั้นเรียนเป็นผู้ช่วยสอนของคุณครูเป็นผู้นําของหนุ่มสาวในหมู่บ้าน และเป็นหัวหน้ากองคาราวานนําควายไปขายยังต่างเมือง ในสมัยบวชเป็นสามเณรตามประเพณี ท่านเป็นผู้ใครในการศึกษา ขยันหาตํารามาอ่านจนเป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก และภาษาต่างๆ อาทิ ขอม ลาว และบาลี นอกจากนี้ ท่านยังสามารถท่องจําบทสวดมนต์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยํา มีครั้งหนึ่งพระอาจารย์ผู้ดูแลของท่านได้นําท่านพร้อมพระรูปอื่นๆ ไปสวนมนต์บทมาติกาฯ ที่ท่านไม่รู้จักในงานศพ ในครั้งนั้นปรากฏว่ามีท่านองค์เดียวที่สวดไม่ได้ทําให้ท่านเกิดความรู้สึกละอายใจเป็นอย่างมาก เมื่อท่านกลับมาจึงตั้งสัจจะว่าจะท่องจําบทสวดมนต์ทั้งหมดให้ได้ในคืนเดียวในวันต่อมาท่านก็สามารถทําได้จริงๆ ทําให้ทุกคนที่ได้ฟังรู้สึกแปลกใจและมีความประทับ ใจในตัวท่านเป็นอย่างมาก

นอกจากเป็นผู้เลิศทางด้านปัญญาแล้ว พระอาจารย์ทูล มีคุณสมบัติที่พิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ในสมัยที่ท่านเป็นฆราวาส ท่านมีโอกาสได้ฟังธรรมสั้นๆ จากหลวงพ่อบุญมาว่า “เกิด-ดับๆ” เมื่อได้ฟังท่านก็เกิดความประทับใจ และได้นําธรรมหมวดนี้ไปพิจารณาจนได้มีดวงตาเห็นธรรม หลังจากนั้นไม่นาน ท่านก็ได้อุปสมบท และ ตั้งใจปฏิบัติจนสําเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ในพรรษาที่ ๘ เมื่อท่านได้ทํากิจส่วนตนเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว ก็ยังไม่ลืมบุญคุณของ หลวงพ่อบุญมา ซึ่งในขณะนั้น การปฏิบัติของหลวงพ่อบุญมายังติดอยู่กับความสงบของสมาธิ ท่านจึงได้มาอธิบายชี้แจงและ แนะนําให้หลวงพ่อบุญมาเริ่มใช้อุบายพิจารณาทางด้านปัญญา จนท้ายที่สุดหลวงพ่อบุญมาก็ได้ตั้งหลักในการปฏิบัติใหม่ และ ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในปีเดียวกันนั้นเอง

นับได้ว่า หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ เป็นเนติแบบอย่างที่ดีของพระสุปฏิปันโน ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ใน ปัจฉิมโอวาทว่า

“จงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”

หลักคําสอนของท่านมีมากมายนัก แต่จะยกเฉพาะหลักคําสอนที่สําคัญๆ ของท่านมา เพื่อสืบต่อภูมิปัญญาด้านแหล่งธรรมะของพระพุทธศาสนาต่อไป

อัฐิธาตุแปรสภาพเป็นพระธาตุ ของท่านหลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ
น้ำเหลืองที่แปรสภาพเป็นพระธาตุ ของท่านหลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ

หลวงพ่อทูล ท่านได้เขียนลงบนแผ่นกระดาษไว้มีเนื้อความว่า

“โรค คือ ยา กิเลสตัณหา คือ ต่อธรรม จึงยากที่จะแก้ไข แต่ไม่เหลือวิสัยถ้าผู้นั้นมีสติปัญญาที่ดี”

“กระจกไม่มีประโยชน์แก่คนตาบอดฉันใด ความรู้ไม่มีประโยชน์แก่ผู้ไร้ปัญญาฉันนั้น”

“ปัญญาไม่เกิดแก่ผู้หมดความคิด ความเห็นผิดย่อมเกิดจากการไร้เหตุผลที่ถูกต้อง”

“การฝึกใจให้มีความฉลาดนั้นแลดี บางกรณีต้องทําตัวเป็นคนโง่เองไว้บ้าง” “สังเกตให้เป็น คิดให้เป็น พูดให้เป็น ทําให้เป็น วางแผนให้เป็น ถามให้เป็น ตอบให้เป็น”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง