ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อทับ อินทโชติ
วัดสุวรรณาราม (วัดทอง)
เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
พระครูเทพสิทธิเทพาธิบดี (หลวงพ่อทับ อินทโชติ) วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร (วัดทอง) ตำนานเบญจภาคีพระปิดตามหาอุตม์เนื้อโลหะอันลือลั่น วัดสุวรรณาราม (วัดทอง) เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
◉ ชาติภูมิ
พระครูเทพสิทธิเทพาธิบดี หรือ หลวงพ่อทับ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๐ ตรงกับวันเสาร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะแม ที่บ้านคลองชักพระ บางกอกน้อย ธนบุรี บิดา-มารดา ชื่อ นายทิม-นางน้อย ปัทมานนท์
◉ ปฐมวัย
อายุได้ ๑๗ ปี บิดาได้นำไปฝากเป็นศิษย์ของพระปลัดแก้ว รักษาการเจ้าอาวาสวัดทอง ในช่วงก่อนที่พระศีลาจารพิพัฒน์(ศรี) จะย้ายจากวัดสุทัศนเทพวรารามมาเป็นเจ้าอาวาส เพื่อศึกษาหนังสือไทยและขอม อายุ ๑๘ ปี บรรพชาเป็นสามเณร
นอกจากศึกษาในสำนักแล้ว ยังไปศึกษาเพิ่มเติมกับ พระอาจารย์พรหมน้อย และ พระครูประสิทธิสุตคุณ ที่วัดอัมรินทร์
◉ อุปสมบท
ลุถึงปี พ.ศ.๒๔๑๑ อายุครบบวช ได้อุปสมบทที่วัดช่างเหล็ก บางกอกน้อย มี พระอธิการม่วง วัดตลิ่งชัน เป็นพระอุปัชฌาย์, พระปลัดแก้ว วัดทอง และ พระอาจารย์พึ่ง วัดรวก เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า “อินทโชติ”
หลังจากนั้นกลับมาจำพรรษาที่วัดทอง ศึกษาพระปริยัติธรรม เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๐ เข้าสอบไล่พระปริยัติธรรม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้งหนึ่ง แต่สอบตก หากแต่ยังได้ร่ำเรียนวิปัสสนากรรมฐาน พุทธา คม และไสยศาสตร์ จากพระอุปัชฌาย์ม่วง ที่วัดตลิ่งชัน มิได้ขาด จนกระทั่งสำเร็จ นอกจากนี้ยังได้ศึกษากับอีกหลายสำนัก
โดยนิสัยส่วนตัว ใฝ่ศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ พระอาจารย์รูปใดที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะไกลลำบากเพียงใด ท่านจะดั้นด้นไปขอฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อขอเรียนวิชาจากพระเกจิอาจารย์รูปนั้นๆ โดยมิย่อท้อ
ต่อมา หลวงพ่อทับ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดทอง และได้บูรณปฏิสังขรณ์จนมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นที่รู้จักมาจนทุกวันนี้ ด้วยความรู้ความสามารถในเชิงช่างไม้ช่างปูนของท่าน ท่านจึงซ่อมแซมเสนาสนะต่างๆ ด้วยตัวเอง
เมื่อชาวบ้านเห็นก็ได้ร่วมแรงร่วมใจมาช่วยกันสร้างและซ่อมแซมด้วยความเคารพศรัทธาในตัวหลวงพ่อ ท่านจึงได้สร้าง “พระปิดตาเนื้อโลหะ” เพื่อแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านและลูกศิษย์ลูกหาที่มาช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์วัด
◉ มรณภาพ
ในช่วงบั้นปลายของชีวิต หลวงพ่อทับ ท่านอาพาธ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ยังเสด็จมาเยี่ยมและให้แพทย์หลวงรักษา แต่เนื่องจากอาการอาพาธหนัก ท่านจึงมรณภาพเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๕ สิริอายุได้ ๖๖ ปี พรรษา ๔๕
◉ ด้านวัตถุมงคล
พระปิดตามหาอุด หลวงพ่อทับ โดยส่วนใหญ่จะเป็นแบบลอยองค์ พระประธานนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ที่ล้วงปิดทวาร จะล้วงลงทางด้านในไม่ผ่านหน้าแข้ง จึงทำให้เห็นกิริยาขัดสมาธิเพชรได้เด่นชัด หรือที่เรียกกันว่า “โยงก้นด้านใน” ด้านข้างองค์พระไม่ปรากฏรอยตะเข็บ เนื่องจากท่านสร้างโดยวิธีปั้นหุ่นด้วยเทียนขี้ผึ้งทีละองค์ แล้วจึงใช้ดินเหนียวประกอบด้านนอก
จากนั้นจึงใช้โลหะที่หลอมละลายเทหยอดทางก้นหุ่น เนื้อโลหะที่ร้อนจัดจะทำให้เทียนละลายและสำรอกออกทางรูที่เจาะไว้ เหลือแต่เนื้อโลหะเป็นรูปองค์พระแทน การกำหนดเลขยันต์ที่จะบรรจุลงบนพระนั้น ท่านจะเลือกอักขระที่เหมาะสม มีความหมาย มีอำนาจแห่งพุทธาคม บรรจุลงตามส่วนต่างๆ ขององค์พระ เว้นช่องไฟได้เหมาะเจาะสวยงาม
องค์พระจึงไม่เหมือนกันเลยทั้งรูปทรงและลวดลายของอักขระยันต์ จึงหาผู้สร้างลอกเลียนได้ยากมาก
แบ่งออกได้เป็น ๔ พิมพ์ใหญ่ๆ คือ พิมพ์นั่งบัว, พิมพ์บายศรี, พิมพ์ตุ๊กตา และ พิมพ์ยันต์ยุ่ง โดยยังแยกออกเป็นพิมพ์ย่อยและมีหลายขนาด แต่ก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะที่สามารถจดจำได้ว่าเป็นของท่าน ทุกพิมพ์ล้วนเป็นที่เสาะแสวงหาของนักนิยมสะสมพระเครื่อง
ในทำเนียบเบญจภาคีมหาอุด บรรจุพระปิดตามหาอุตม์หลวงพ่อทับ อินทโชติ ไว้คือ พระปิดตาพิมพ์ยันต์ยุ่งเศียรบาตร และพระปิดตาพิมพ์ยันต์น่อง แต่ความจริงแล้ววงการแบ่งแยกพิมพ์ทรงพระปิดตาหลวงพ่อทับไว้อีกหลายพิมพ์ทรง คือ พิมพ์ชะลูด พิมพ์นั่งยอง พิมพ์ภควัม พิมพ์หัวบายศรี พิมพ์ตุ๊กตายันต์น่อง พิมพ์นั่งบัวเศียรแหลม ฯลฯ
หลวงพ่อทับได้สร้างพระปิดตามหาอุดไว้หลายเนื้อ ได้แก่ เนื้อสัมฤทธิ์เงิน เนื้อชินตะกั่ว เนื้อเมฆพัด เนื้อสัมฤทธิ์แบบขันลงหิน เนื้อผงคลุกรัก และเนื้อแร่บางไผ่ ที่ได้มาจาก หลวงปู่จัน วัดโมลี จ.นนทบุรี เจ้าของและต้นฉบับพระปิดตาแร่บางไผ่แห่งเมืองนนทบุรีนั่นเอง
พระปิดตามหาอุตม์ พิมพ์ยันต์ยุ่ง เป็นพระปิดตานั่งสมาธิเพชร ขาไขว้ บางองค์มีพระกร ๓ คู่ บางองค์มีถึง ๔ คู่ โดยคู่แรกยกขึ้นปิดพระพักตร์ คู่ที่ ๒ ยกมือขึ้นปิดพระกรรณ คู่ที่ ๓ ล้วงลงปิดทวารหนักและทวารเบา และคู่ที่ ๔ ปิดพระนาภี (สะดือ) ด้านหลังองค์พระ ตรงกลางเป็นยันต์เฑาะว์ อุณาโลมหางสะบัดขึ้นด้านบนเศียร หรืออาจเป็นตัวอักขระขอมตัวอื่น ด้านข้างตัวเฑาะว์อุณาโลม เป็นตัวอุณาโลมขนาบข้าง ๒ ตัว ด้านล่างเป็นอักขระว่า “นะ มะ พะ ทะ”
มนต์เสน่ห์ของพระปิดตาหลวงพ่อทับ วัดทอง เนื้อสัมฤทธิ์ กทม. ถือได้ว่าเป็นพระปิดตาเพียงสำนักเดียวที่มีพิธีการสร้างอย่างประณีตที่สุด โดยเป็นการสร้างขึ้นด้วยการปั้นหุ่นขี้ผึ้งทีละองค์ จากนั้นจึงปั้นด้วยยันต์ขึ้นมาเบ้าหล่อพระปิดตาวัดทอง ทำแบบเบ้าหล่อละลายตัว หุ่นขี้ผึ้งจะละลายไปด้วยเมื่อเทโลหะหลอมลงไปในเบ้าทีละเบ้า จึงทำให้พุทธลักษณะขององค์พระจะออกมาไม่เหมือนกันแบบฝาแฝด แต่จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันได้บ้างในบางองค์เท่านั้น
พระปิดตาของหลวงพ่อทับ วัดทอง นอก จากได้รับความนิยมและมีสนนราคาสูงแล้ว ยังได้รับการยกย่องว่ามีพุทธศิลปะที่งดงามมาก ซึ่งพระปิดตาของหลวงพ่อทับนั้น ท่านออกแบบการสร้างพระด้วยตัวเอง พร้อมทั้งกำหนดเนื้อโลหะที่สร้างด้วย หลวงพ่อทับมีศีลาจารวัตรที่งดงาม และมีฝีมือในทางช่าง ท่านออกแบบพระเครื่องได้งดงามและแฝงคติธรรมสอนศิษย์ให้ระลึกอยู่ในศีลธรรมอีกด้วย
พระปิดตามหาอุดของท่านถ้าเรานำมาพิจารณาดูและนำมาเป็นคติสอนใจจะเห็นได้ว่า มีมือปิดที่ใบหน้าหมายถึงปิดปาก ปิดตา ปิดจมูก มีมืออีกคู่หนึ่งปิดที่หูทั้ง ๒ ข้าง มืออีกคู่หนึ่งปิดที่ท้อง และมืออีกคู่หนึ่งโยงปิดที่ทวารหนักเบา เสมือนหนึ่งไม่ยินดีต่อสิ่งอันเป็นโลกิยะ ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร่งเร้า แวดล้อม งดเว้น ข่มใจ ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่อาฆาต
สองมือปิดตา ไม่มองในสิ่งชั่ว ไม่เห็นในทรัพย์ศฤงคาร
ปิดปาก เตือนให้พึงสำรวมวาจาใจ ปากนำมาซึ่งทุกข์และสุข มากต่อมากต้องเสียคนเพราะปาก ปากที่พูดไม่เข้าหูคน ก่อให้เกิดทั้งมิตรและศัตรู
ปิดหูเสียบ้าง ไม่รู้ไม่ยินดีต่อคำสรรเสริญ ไม่ฟังต่อคำส่อเสียด
ปิดท้อง ไม่โลภหลง พึงมีพึงพอต่อสินทรัพย์
ปิดทวาร ความไม่มักมากในกามารมณ์ ไม่ผิดลูกผิดเมียใคร
ข่มใจลงเสียบ้าง ความผ่องใสย่อมบังเกิดในดวงจิต ผ่องใสปราศจากความขุ่นมัว ชีวิตก็จะมีความสุขอย่างยั่งยืน
หลวงพ่อปรมาจารย์ผู้ออกแบบสร้าง ล่วงรู้เข้าใจในเหตุอันเป็นบ่อเกิดที่มาแห่งความทุกข์ โดยนำศิลปะประจงประจุคำสอนอย่างสมบูรณ์ลงในองค์พระเครื่องเล็กๆ ชิ้นหนึ่งอย่างประณีต ตลอดทั้งรูปแบบขององค์พระการวางยันต์ เข้ากันอย่างพอเหมาะพอเจาะ การเคลื่อนไหวของเส้นก็อ่อนช้อยละมุนละไม