ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อทอง สุทธสีโล
วัดบ้านไร่
อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
◎ ชาติภมิ
หลวงพ่อทอง สุทธสีโล เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๒ บิดาชื่อ นายบัว กล้าหาญ และมารดาชื่อ นางภู กล้าหาญ เดิมอยู่บ้านโนนสูง ต.วังหิน อ.ประทาย จ.นครราชสีมา
◎ ปฐมวัย
หลวงพ่อทอง ท่านเล่าว่า.. ท่านเกิดมาก็อาภัพ พ่อกับแม่แยกทางกัน ต้องไปอาศัยอยู่กับพ่อใหญ่แม่ใหญ่ (ตายาย) โดยไปอยู่พร้อมกับพี่สาวชื่อนางบุญตา(เสียชีวิตแล้ว) ต่อมาแม่ก็มาเสียชีวิตลง ทำให้ไร้ที่พึ่งตั้งแต่วัยเด็ก ดีที่ตาเที่ยงกับยายเทียม ให้ความรักใคร่หลานทั้ง ๒ คน ชีวิตวัยเด็ก ไม่ได้สนุกสนานเหมือนเด็กในวัยเดียวกัน ต้องทำนาและเลี้ยงควาย ช่วยตากับยายซึ่งแก่ชราแล้ว มีวันหนึ่งที่ หลวงพ่อซุกซนปืนขึ้นไปเล่นบนกิ่งไม้ แล้วหักลงมาถูกคันนา หัวแตกจนเป็นรอยแผลเป็นทุกวันนี้
เมื่อจบชั้น ป.๔ จาก ร.ร.วัดบ้านโนนสูง ต.วังหิน อ.ประทาย จ.นครราชสีมา หลวงพ่อทองต้องเร่ร่อนตามน้าบ่าว (น้องชายแม่) ไปรับจ้างทั่วไป ทั้งทำนาหรือเกี่ยวข้าว ได้ค่าจ้างวันละ ๕ บาท เพื่อมาใช้จ่ายจุนเจือในครอบครัว เพื่อหารายได้เสริม เพราะพ่อใหญ่แม่ใหญ่อายุมากแล้ว แต่ครั้งที่ท่านลำบากที่สุดในชีวิตส ก็คือการติดตามคนในหมู่บ้าน ไปรับจ้างตัดฟืน ที่อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา (เผาถ่านส่งขายนายทุน) ช่วงนั้นต้องอยู่กินอย่างอดๆ อยากๆ ต้องไปเซ็นข้าวพริกหรือปลาทูเค็มมากินถึงเวลาขายฟืนและเผาถ่านได้ เค้าก็หักเงินไป การไปรับจ้างตัดฟืนและเผาถ่านครั่งนั้น หลวงพ่อทองท่านต้องล้มป่วยลง ด้วยเป็นไข้ดง (มาเลเรีย) ท่านถูกส่งมารักษาตัวอยู่ที่โคราช เมื่อหายดีก็ไปทำงาน รับจ้างเฝ้าสวนมะม่วงให้เจ้านาย ที่หัวทะเล (ใกล้กับป่าช้าจีน จ.นครราชสีมา)
เมื่อถึงอายุ ๒๑ ปี ท่านผ่านการเกณฑ์ทหาร จับได้ใบดำ จึงคิดออกบวช ทดแทนบุญคุณพ่อแม่ (แม้นว่าท่านจะสิ้นไปแล้ว) แต่ปัญหาก็คือ ไม่มีเงินแม้นแต่จะซื้อผ้าไตรจีวร ดีที่มีญาติของเจ้านาย เป็นครูที่ ร.ร.ราชสีมาวิทยาลัย รับเป็นเจ้าภาพ จัดซื้อเครื่องบวชให้ ท่านว่าบุญคุณครั้งนี้ ท่านไม่เคยลืมจำได้กระทั่งลูกหลาน ของผู้มีพระคุณ
◎ อุปสมบท
หลวงพ่อทอง เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดสระแก้ว อ.เมือง จ.นครราชสีมา เมื่ออายุครบ ๒๒ ปี พ.ศ.๒๕๑๔ หลวงพ่อทอง สุทธสีโล ก็ได้มาจำพรรษาอยู่วัดศรีแก้ว อ.เมือง จ.นครราชสีมา พ.ศ.๒๕๑๔ ขณะนั้นมี หลวงพ่อแถว เป็นเจ้าอาวาสวัด ส่วนหลวงพ่อคูณ เป็นพระลูกวัด หลวงพ่อคูณได้เห็นหลวงพ่อทอง เป็นพระที่มีอัธยาศัยดี เงียบขรึม ไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยค่อยจา มีความนอบน้อมอ่อนโยน เป็นพระที่เรียบร้อย และมีความตั้งใจในการทํากิจเป็นอย่างมาก หลวงพ่อคูณ จึงได้ถ่ายทอดวิชาและพระคาถารวมไปถึงการจารอักขระต่างๆ ในตะกรุด และยันต์ ก็เลยนับกันเป็นศิษย์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา หลวงพ่อคูณไปไหนก็จะนำพาหลวงพ่อทองไปด้วย ศิษย์หลวงพ่อคูณมีอยู่ทั่วประเทศ แต่ที่ถ่ายทอดวิชา ให้และรับเป็นศิษย์เอกก็คือ “หลวงพ่อทอง สุทธสีโล”
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๗ หลวงพ่อคูณ เห็นว่า “หลวงพ่อทอง สุทธสีโล” ควรแล้วที่จะต้องนําวิชาที่มีออกมาใช้บําเพ็ญประโยชน์ จึงได้ให้ร่วมปลุกเสก เหรียญ หลวงพ่อคูณ ปี พ.ศ.๒๕๑๗” ซึ่งในปัจจุบัน เหรียญหลวงพ่อคูณ ปี พ.ศ.๒๕๑๗ นี้ เป็นที่ต้องตาต้องใจเหล่าเซียนพระเป็นอย่างยิ่ง
“หลวงพ่อทอง สุทธสีโล” คือพระที่หลวงพ่อคูณไว้วางใจมากที่สุด จนถึง ปี พ.ศ.๒๕๓๓ หลวงพ่อคูณ เห็นว่า วัดพระพุทธบาทเขายายหอม ต.นายางกลัก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ เป็นวัดที่เรียบสงบร่มเย็น เหมาะอย่างยิ่งที่จะฝึกสมาธิและเจริญภาวนา จึงได้ส่งหลวงพ่อทองไปจําพรรษาที่วัดพระพุทธบาทเขายายหอม ทั้งนี้ หลวงพ่อคูณ ก็ยังให้ลูกศิษย์นําตะกรุดทองคําฝังแขน ตะกรุดโทน รวมไปถึงตะกรุดชายจีวร ไปให้หลวงพ่อทองลงเหล็กจารอักขระ ถึงบนวัดพระพุทธบาทเขายายหอม เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
◎ พระจะขลังหรือไม่ขลัง เขาวัดกันตรงไหน?
หลวงพ่อทอง ท่านว่า.. ลองสังเกตุดู ทำไมพระที่สร้างสมัยก่อน ถึงได้ขลังนัก เพราะคนสร้างมีเจตนา”ซื่อตรง” สร้างพระด้วยความศรัทธา การจะสร้างพระ ขึ้นมาแต่ละครั้ง ล้วนมีวาระสำคัญ เจตนาการสร้าง ส่วนใหญ่ก็เพื่อแจกจ่ายกัน ในเหล่าบรรดาลูกศิษย์ หรือคนที่มาร่วมทำบุญ ไม่ได้สร้างเพื่อเชิงการค้า หรือพุทธพาณิชย์ เหมือนทุกวันนี้
จำนวนการจัดสร้าง ก็ไม่ได้มากน้อย เอาแต่พอเพียง พอแต่ได้แจกจ่ายกัน หรือเหลือไว้ให้วัด ทำบุญนิดหน่อย (ใครมาทำบุญ ก็ได้รับแจกเหรียญ ที่เหลือจากการแจกจ่าย ในโอกาสหรือวาระสำคัญ ของการสร้างเหรียญนั้นๆ)
เมื่อเรียนถาม หลวงพ่อทองเกี่ยวกับการจัดสร้างวัตถุมงคล ที่มีออกมาเป็นระยะๆ หลวงพ่อทองท่านว่า แม้นไม่ได้อนุญาต ให้จัดสร้าง แต่เมื่อเค้านำมาให้เสก ก็ต้องเสกให้ ด้วยความเมตตา ซึ่งคนส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจ ว่าแต่ หลวงพ่อทองสร้างพระ ซึ่งจุดนี้ก็แล้วแต่คนจะเข้าใจ เราคงไม่สามารถ ไปห้ามเค้าได้ ส่วนการปลุกเสกนั้น หลวงพ่อทองจะเน้นด้านเมตตา เพราะหากคนเรา มีเมตตาต่อกัน ทุกอย่างก็ดีหมด ไม่ต้องไปเจ็บตัว เข้าหาผู้อื่นก็ง่าย
เมื่อเรียนถามถึงเรื่องการเสกหมู่กับเสกเดี่ยว อันไหนจะขลังกว่ากัน ท่านว่าการเสกหมู่ ก็เหมือนพระไปบวชในโบสถ์ มีพระหลายรูปช่วยสวดสำเร็จ เป็นองค์พระได้เลย ส่วนการเสกเดี่ยว ก็เหมือนการบวชชีพรามณ์ ค่อยปฏิบัติไป ก่อนจะสำเร็จเป็นพระ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า คนที่นำไปห้อยเป็นคนดีแค่ไหน
เมื่อเรียนถาม หลวงพ่อทอง ว่าท่านชอบเสกแบบไหน ท่านว่าชอบแบบพิธีพุทธาภิเษก คือมีพระมาสวด คาถาพุทธมนต์ต่างๆ เพื่อขอบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้มาช่วยประสิทธิ์ประสาท ความเข้มขลังในวัตถุมงคลนั้นๆ ส่วนการนิมนต์เกจิอาจารย์ มาร่วมพิธีเสกนั้นๆ ท่านว่าไม่จำเป็น สมัยก่อนก็ยังเสก แค่องค์เดียว (นี่ก็เป็นทัศนะ ที่เคยรับฟังจากปาก หลวงพ่อทอง ที่อยากจะนำ มาถ่ายทอดให้รับทราบ ร่วมกันครับ)
เรื่องแบบนี้ มันเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก วัดกันลำบาก ก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคล ผมเองก็ต้องทำใจ ลำบากเหมือนกัน ที่เขียนเรื่องทำนองนี้ แต่ก็จำเป็นต้องเขียน เพื่อเผยแพร่ เป็นวิทยาทานครับ (เคยโดนโจมตีเหมือนกัน เมื่อนำเรื่องประสบการณ์ ในวัตถุมงคลของ หลวงพ่อทองมาเล่า แม้นว่าจะเขียนคำเตือนแล้วว่า โปรดฟังโดยใช้วิจารณญาณ)
เรื่องการขอบารมี เคยกราบเรียนถามหลวงพ่อทองว่า ทำไมท่านไม่ขอบารมี หลวงพ่อทองคูณ ช่วยเสกตะกรุด เสกเหรียญ ที่ท่านสร้างท่านทำ (แบบว่าอยากได้ขลังเพิ่มขึ้น) หลวงพ่อทองให้คำตอบว่า ฉันก็เรียนมาเหมือนกัน ถ้าไม่มั่นใจ ไม่ให้ทำเหรียญขึ้นมา ส่วนจะไปขอองค์ไหน ให้ช่วยเสกให้นั้น ท่านว่า”ชาติเสือ ไม่ขอเนื้อใครกิน” ที่คือคำพูดของหลวงพ่อทอง ท่านได้เล่าไว้เมื่อกลางปี พ.ศ.๒๕๕๔
◎ ตำนานประวัติรอยพระพุทธบาทเขายายหอม
รอยพระพุทธบาทเขายายหอม เดิมชื่อ รอยพระพุทธบาทเขายายเหมีน ได้เปลี่ยนชื่อนับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้นมา รอยพระพุทธบาทเขายายหอม ตั้งอยู่ใน อ.นายางกลัก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ ท่านพระครูมนูญชัยกิจ ได้พาพระภิกษุสามเณรออกเดินธุดงค์มาทางตําบลนายางกลักและได้พบตาขำอายุ ๗๐ ปี กับนายหมี อายุ ๓๕ ปี คนบ้านวังตาท้าว มากราบนมัสการ ตาขำเล่าถวายว่า ไม่นยอดเขายายเหม็น มีรอยเท้าคนใหญ่ปรากฎอยู่ ส่วนนาย หมีก็เล่ายืนยันว่ามารดาของตนเคยเล่าว่าให้ฟังว่า ตอนที่ยายของนายหมียังเล็กอยู่ ได้ติดตามผู้ใหญ่ขึ้นไปบนยอดเขายายเหม็น ได้เห็นรอยเท้าคนใหญ่อยู่พลาญหิน ข้างบ่อเตาทอง รอยใหญ่มาก
ต่อมาได้มีชาวบ้าน (ชาวมอญโบราณ) ที่มาทํากิน ขึ้น-ลงบนเขาอยู่เนืองๆ ได้เห็นช้างเก็บดอกไม้มาวางบริเวณนี้บ่อยๆ จึงพากันค้นหา จนพบรอยเท้าคนใหญ่เข้าก็เกิดความกลัวว่าถ้าทางหน่วยงานราชการมาพบเข้าจะทําให้พวกตนเข้ามาทํามาหากินที่นี่ลำบาก จึงพากันทุบต่อยรอยเท้าให้แตก จุดไฟเผา และนําต้นสลักไดมาปลูกเพื่อปกปิดไม่ให้ใครพบเห็น
ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๙๓ พระครูมนูญชัยกิจ ทราบเรื่องราวรอยพระพุทธบาทบนเขายายเหม็น ซึ่งได้มีหนังสือเรียนไปยังท่านพระครูพินิจสมณวัตร (คง ชาลีวรรณ) เจ้าคณะกิ่งอำเภอบําเหน็จณรงค์ วัดเพ็ชรภูมิสุวรรณ ในสมัยนั้น และได้เรียกประชุมญาติโยมบ้านชวน บ้านวังเสมา และอำเภอจัตุรัส ออกสํารวจค้นหาจนพบรอยพระพุทธบาท นิ้วเบื้องซ้ายพระบาทและปลายนิ้วเรียบเสมอกัน หันปลายนิ้วพระบาทไปทางอาคเนย์ ท่านพระครูพินิจสมณวัตร (คง ชาลีวรรณ) ลงมือวัดตรวจสอบความยาว ๑๘๐ เซนติเมตร ความกว้าง ๗๕ เซนติเมตร ความลึก ๔๕ เซนติเมตร ลักษณะหินรอยพระบาทมีสีแดง ด้านซ้ายแตกตามง่ามนิ้วพระบาท
พระครูพินิจสมณวัตรฯ จึงได้ร่วมกับญาติโยมในอําเภอจัตุรัสและกิ่งอำเภอบําเหน็จณรงค์ ทำทางพอเป็นถนนให้ขึ้น-ลงได้ และยกที่นี้เป็นวัดพระพุทธบาท เขายายเหม็น สงวนอาณาเขตกว้าง ๑๐๐ เส้น ยาว ๑๐๐ เส้น มีเนื้อที่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ไร่ เมื่อทําถนนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงร่วมบอกบุญกับญาติโยม จัดงาน นมัสการรอยพระพุทธบาทขึ้นเป็นงานประจําปี ตรงกับวันขึ้น ๑๑ ค่ำ จนถึงวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ํา เดือน ๓ ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชาของทุกๆ ปี
แม่ชีพราหมณ์ ขวัญตา วัดพระพุทธบาทเขายายหอม เล่าให้ฟังว่า ในวันที่ ๓๑ สิงหาคมของทุกปี ศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อทอง ทั้งใกล้และไกลทั่วทุกสารทิศ จะเข้ามาทําบุญคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อทอง และเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ทางคณะกรรมการวัดพระพุทธบาทเขายายหอม ใด้ทําพิธีพุทธาภิเษกเหรียญรุ่น ๒ (รุ่นบารมี) เหรียญเต็มองค์รุ่นแรก หลวงพ่อทอง สุทธสีโล และเป็นวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อทอง สิริอายุ ๖๓ พรรษา โดยมี พล.อ.เสริมศักดิ์ วิเศษไชยศรี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง มาเป็นประธานในที่นี้ด้วย
ปัจจุบันนี้ หลวงพ่อทอง สุทธสีโล ได้กลับมาปฏิบัติธรรม ณ วัดบ้านไร่ ตามรอยอาจารย์ของท่าน ซึ่งก็คือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ท่านมีอายุ ๗๑ ปี พรรษา ๔๙ (พ.ศ.๒๕๖๓)
ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ บารมีหลวงพ่อทอง สุทธสีโล