ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อทองสุข อินทโชโต
วัดโตนดหลวง
อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
พระครูพินิจสุตคุณ (หลวงพ่อทองสุข อินทโชโต) พระเกจิอาจารย์ชื่อดังวิชาอาคมสุดขลังที่ชาวเมืองเพชรบุรีรวมถึงประชาชนทั่วประเทศให้ความเคารพนับถือ วัดโตนดหลวง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
◉ ชาติภูมิ
พระครูพินิจสุตคุณ (หลวงพ่อทองสุข อินทโชโต) นามเดิมว่าชื่อ “สุข ดีเลิศ” เกิดเมื่อวันศุกร์ขึ้น ๙ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๒๐ บิดาชื่อ “นายจู” และมารดาชื่อ “นางทิม ดีเลิศ” พื้นเพเป็นชาวบ้านทับใต้ ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี มีพี่น้อง ๖ คน ท่านเป็นคนสุดท้อง
เมื่อท่านอายุได้ ๙ ปี บิดามารดาย้ายถิ่นฐานครอบครัวไปประกอบอาชีพที่บ้านโพธิ์อำเภอบ้านลาดในปัจจุบัน และได้มีโอกาสเรียนหนังสือรวมถึงหนังสือขอมและบาลีจากท่านเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ ครั้งนั้นท่านชอบในการต่อสู้รักวิชาหมัดมวยกระบี่กระบอง ต่อมาภายหลังท่านมีศิษย์ในสายวิชาเหล่านี้หลายคน
ต่อเมื่ออายุ ๑๕ ปี ครอบครัวได้ย้ายจากบ้านโพธิ์ไปอยู่ที่บ้านเพลง จังหวัดราชบุรี เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นหนุ่มคะนองชอบเที่ยวเตร่คบเพื่อน ไม่อยู่ติดบ้านชอบไปแสดงละครโขนหนังกับเพื่อนๆ จนมีความสามารถขนาดเป็นครูสอนผู้อื่นได้ ต่อมาได้เกิดความเบื่อหน่าย เที่ยวเตร่ไร้จุดหมายปลายทาง กระทั่งคบนักเลงอันธพาลในที่สุดกลายเป็นอาชญากรสำคัญในย่านเพชรบุรีราชบุรีและสมุทรสงคราม ต้องคอยหลบหนีอาญาบ้านเมืองหลบซ่อนตัวตามป่าเขาลำเนาไพรไร้ความสงบสุข
ครั้งหนึ่งได้หลบหนีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไปซ่อนตัวอยู่โดยไม่มีอาหารตกถึงท้องเป็นเวลาถึง ๓ วัน ทั้งอ่อนล้าหิวโหยเหลือสุดจะทน จนทำให้สำนึกได้ว่าที่ผ่านมาตนเองได้ดำเนินชีวิตผิดทางเสียแล้วทางสายนี้หากไม่กลับตัวกลับใจย่อมได้รับแต่ความทุกข์ ดังประสบอยู่ทรมานทั้งกายทรมานทั้งใจ เป็นการใช้ชีวิตที่ไร้ประโยชน์และแก่นสารโดยแท้ จึงตัดสินใจบวชเอาพระศาสนาเป็นที่พึ่ง
อุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคมพ.ศ.๒๔๕๒ ณ วัดปราโมทย์ ตำบลโรงหวี อำเภอบางคณที จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อตุย วัดปราโมทย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อคง วัดแก้ว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “อินทโชโต”
พำนักจำพรรษาที่วัดปราโมทย์ ๔ พรรษาและวัดแก้ว ๒ พรรษา ศึกษาพระธรรมวินัยและวิปัสสนากับหลวงพ่อตุย-หลวงพ่อคงผู้เป็นพระกรรมวาจาจารย์และอนุสาวนาจารย์ด้วยความ มานะขยันหมั่นเพียร จึงได้รับถ่ายทอดวิทยาคมมาจนหมดสิ้น
ทั้งยังเป็นที่รักใคร่เมตตาของครูบาอาจารย์ถ่ายทอดให้อย่างไม่ปิดบังอำพรางจนครบถ้วนกระบวนความ และแนะนำให้ไปหาหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านเอง หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง นั้นท่านเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ท่านหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง ท่านจึงเป็นศิษย์อาจารย์เดียวกันกับท่านหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม และท่านหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง ยังได้ศึกษาวิชาจากหลวงปู่นาค วัดหัวหินประจวบคีรีขันธ์อีกด้วย
หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ยุคนั้นท่านได้ชื่อว่าเป็นพระคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญพระเวทย์วิทยาคมแตกฉานในวิปัสสนากัมมัฏฐานยิ่ง เกียรติคุณขจรขจายทั่วลุ่มน้ำแม่กลอง ศิษยานุศิษย์หลายรูปต่อมาปรากฏเกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดังเช่น หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม เป็นต้น ปี พ.ศ.๒๔๕๗ หลวงพ่อเทียน วัดโตนดหลวง ถึงแก่มรณภาพ ขณะนั้นท่านหลวงพ่อทองศุข ออกธุดงค์ผ่านมากับสามเณรจันทร์ (จันทร์ธมฺมสโร วัดมฤคทายวัน) ชาวบ้านศรัทธาท่านหลวงพ่อทองศุขจึงได้นิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาส และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสในปีพ.ศ.๒๔๕๘
ท่านหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ท่านปกครองดูแลพระภิกษุ-สามเณรด้วยความเอาใจใส่พัฒนาพระอารามให้เจริญรุ่งเรืองสืบมาด้วยคุณงามความดีของท่าน คณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้ท่านเป็นพระครูกรรมการศึกษา กระทั่งได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระครูพินิจสุตคุณ หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ท่านพัฒนาวัดและชนบทย่านนั้นจนมีความเจริญเป็นอันมาก กิจนิมนต์ด้านการเป็นพระอุปัชฌาย์ แม้วัดห่างไกลเพียงใดท่านหลวงพ่อทองศุขไม่เคยปฏิเสธ
แม้บางแห่งต้องเดินทางด้วยเท้าเปล่าเป็นระยะทางหลายสิบกิโลก็ตาม ท่านจึงเป็นที่เคารพศรัทธา ของศิษยานุศิษย์ทุกหมู่เหล่า คราใดทางวัดมีงานบรรดาศิษย์ต่างพร้อมใจร่วมใจกันทำด้วยดีเสมอมา
หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ท่านเป็นพระที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม มีความรู้ในทางแพทย์แผนโบราณ อีกทั้งยังมีวิทยาคมขลัง จนมีผู้เลื่อมใสนับถืออยู่ทั่วไป ท่านมีชื่อเสียงในด้านการสักยันต์และลงกระหม่อม ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงและบรรดาศิษยานุศิษย์จากต่างถิ่น นิยมชมชอบเรื่องการสักยันต์ และลงกระหม่อม จึงทำให้มีคนเดินทางมายังวัดโตนดหลวงมากมาย กุฏิจึงแน่นขนัดไปด้วยลูกศิษย์ แม้แต่คนใหญ่คนโตระดับประเทศยังเคารพเลื่อมใส ถวายตัวเป็นศิษย์ และรักการสักยันต์ ตลอดจนให้ลงกระหม่อม อาทิ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา, จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้น
ด้วยคุณูปการสร้างความเจริญแก่ท้องถิ่นชุมชนดังปรากฏผลงานมากมาย คณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้เป็นพระครู กรรมการศึกษา, พระอุปัชฌาย์ ในที่สุดได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูพินิจสุตคุณ
พ.ศ.๒๔๕๘ ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโตนดหลวง
เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ในช่วงสงครามอินโดจีน ท่านได้รับนิมนต์ให้เป็น ๑ ใน ๑๐๘ พระเกจิ ที่นั่งปลุกเสกพระพุทธชินราชที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย จัดสร้าง ณ พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม และพิธีพุทธาภิเษกครั้งสำคัญอีกหลายครั้ง อาทิ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในงานปลุกเสกแหวนมงคล ๙, นิมนต์ท่านเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก พระเครื่อง งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ซึ่งเป็นพิธีครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด
◉ มรณภาพ
หลวงพ่อทองสุข อินทโชโต วัดโตนดหลวง ได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๐ รวมสิริอายุ ๘๐ ปี ๔๘ พรรษา รวมระยะเวลาเป็นเจ้าอาวาสวัดโตนดหลวงนานถึง ๔๒ ปี
◉ วิชาอาคมและเครื่องรางของขลังของหลวงพ่อทองสุข
วิชานะปัดตลอด : เล่ากันว่าเมื่อตอนที่หลวงพ่อไปหาไม้ใหญ่ช่วยสร้างวัดช้างแทงกระจาดนั้นลูกศิษย์ได้ตัดไม้กันจนเหนื่อยล้าจนชักจะไม่มีใครอยากจับขวานกันแล้ว หลวงพ่อเห็นดังนั้นจึงเขียนตัวนะลงบนรอยถากของไม้แล้วตบเบาๆ จากนั้นให้ลูกศิษย์แข่งกันฟันตัวนะนี้ออกมาให้ได้ ใครถากออกมาได้แล้วจะมีรางวัลให้ ตอนนั้นพระไพ่(บุญรวบ)ที่ต่อมาเป็นเจ้าอาวาส วัดในปากทะเลเป็นคนอาสาฟัน แต่ขวานยิ่งจามลงบนไม้เท่าไร รอยนะนี้ก็ไม่ยอมหลุดหายไปกลับยังปรากฏอยู่ดังเดิม จนต้นไม้นั้นหลุดโค่นออกจากกัน รอยนี้จึงหายไปและอีกครั้งหนึ่งมีคนมาขอยาต้มจากท่าน ท่านให้พระเณรช่วยกันเขียนอักขระขอมลงบนใบมะกาทุกใบแต่ท่านเห็นว่าชักช้าไม่ทันใจจึงให้ศิษย์เรียงซ้อนๆกันทีละ๒๐ใบจากนั้นท่านลงใบบนใบเดียวแต่ปรากฏว่าใบล่างๆติดอักขระเหมือนกันทุกใบ
การสักยันต์ : สักยันต์ครูที่เหนือราวนมขวา ทำให้คงกระพันชาตรี นายชวน เชื้อวิหก ศิษย์ที่หลวงพ่อทองสุข สักให้ไปถูกฟันด้วยง้าวที่ขาแต่ไม่เข้า นายหนู หนูสวัสดิ์ ถูกยิงที่ห้วยทวาย อ.ท่ายาง ไม่เข้า นายเลื่อน บรรจงศิลป์ หลานหลวงพ่อเองถูกรุมฟันด้วนสารพัดอาวุธมีคมแต่ไม่เข้าเป็นเพียงรอยถลอกแบบหนามข่วน เรื่องนี้มีผู้รู้เห็นหลายคน เช่นครูประสิทธิ์ พ่วงพี เป็นต้น
ตาทิพย์และล่วงรู้เหตุการณ์ต่างๆ : ครั้งหนึ่งลูกศิษย์ของท่านธุดงค์อยู่อุตรดิตถ์ แล้วถูกควายไล่ขวิด ในขณะที่หลวงพ่อทองสุขกำลังนั่งคุยกับญาติโยมอยู่ หลวงพ่อท่านได้ขอตัวกับญาติโยมบอกว่าลูกศิษย์ถูกควายขวิด ขอช่วยเขาก่อน พอหลวงพ่อนิ่งไปสักพักก็ลืมตาขึ้นมาบอกว่าเสร็จแล้ว ภายหลังพระที่ไปธุดงค์กลับมาชาวบ้านได้รีบสอบถามก่อน พระก็ยอมรับว่าถูกควายไล่ขวิดมาจริงๆ พระวิ่งหนีจนจีวรปลิว แต่อยู่ๆควายก็หยุดกึกแล้วหันหลังกลับวิ่งหนีไปดื้อๆอย่างนั้น
◉ อิทธิปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อทองสุข
อิทธิปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อนั้นยากจะกล่าวหมดในเนื้อที่อันจำกัดเช่นนี้ จึงนำมาเพียงบางเรื่องเช่น ครั้งหนึ่งที่หลวงพ่อเดินทางไปฉลองพระอุโบสถที่วัดช้างแทงกระจาดระหว่างเดินทางจากบ้านห้วยทวายมาในคืนเดือนหงาย คณะได้พักเกวียนและหลวงพ่อได้ลงไปที่ลำห้วยก้มดื่มน้ำ ก็ถูกนายพรานป่ายิงถึง๒นัดแต่ไม่ออกมีเพียงเสียงแก็กๆ พอหลวงพ่อขยับตัวเดินพ้นพุ่มไม้ออกมานายพรานถึงกับตะลึงว่าเมื่อครู่ได้ยิงพระจึงรีบไต่ลงจากห้างที่ผูกไว้บนต้นไม้มากราบขอขมาหลวงพ่อว่าเห็นท่านเป็นเสือเพราะจีวรเหลืองๆ หลวงพ่อก็เลยสอนให้เลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
อีกเรื่องหนึ่งมีผู้หญิงคนหนึ่งถูกผีเข้า ญาตินำมาไว้บนศาลาวัด และมาอาราธนาหลวงพ่อทองสุขที่กุฏิให้ไปขับผี เมื่อหลวงพ่อทราบแล้ว ท่านก็นั่งหลับตาอยู่ตรงนั้น (ไม่ต้องลุกเดินไปที่ศาลา) ปรากฏว่าคนที่ถูกผีเข้าร้องครวญคราง ตอบคำถามต่างๆนานาๆ ผีที่มาเข้าได้บอกชื่อของตน พร้อมบอกชื่ออาจารย์ที่ใช้ให้มากระทำ อีกทั้งขอหลวงพ่อโปรดให้อภัยและปล่อยมันไปผุดไปเกิดด้วย พอหลวงพ่อให้อภัยแล้ว ผีตนนั้นก็รีบออกจากร่างคนทันที
◉ ด้านวัตถุมงคล
พระครูพินิจสุตคุณ (หลวงพ่อทองสุข อินทโชโต) วัดโตนดหลวง ต.บางเก่า อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มิใช่เฉพาะคนเมืองเพชร ตลอดถึงชาวจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะวัตถุมงคลที่มากด้วยพุทธคุณและประสบการณ์
เครื่องรางของขลังของหลวงพ่อที่โดดเด่นได้แก่
๑. ลูกอม ปืนยิงไม่ออก คนทำร้ายไม่ถูก
๒. เหรียญ ใช้ทางคงกระพัน
๓. แหวน ใช้ทางป้องกัน นายใจ ม่วงมงคลเคยจะถูกฉลามกัดแต่ฉลามอ้าปากไม่ได้
๔. ตะกรุด ใช้ทางป้องกันคงกระพันชาตรี มีอานุภาพแบบเดียวกันกับการสักยันต์ โดยเฉพาะตะกรุดพอกครั่งนั้นเป็นที่นิยมอย่างมากมีประสบการณ์สูง แต่มีตะกรุดอีกชนิดหนึ่งที่หลวงพ่อปลุกเสกจนลอยน้ำวิ่งวนในบาตรให้เห็นๆก่อนจะช้อนขึ้นใส่ในเปลือกตาให้ญาติโยม คือ ตะกรุดสาลิกา มีพุทธคุณทางเมตตามหานิยมสูงมาก
กล่าวสำหรับวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม คือ เหรียญหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง รุ่น ๒ ถือได้ว่าเป็นเหรียญที่มีความยอดนิยมอย่างสูงในวงการพระเครื่อง
เหรียญรุ่นนี้จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๙๘ เพื่อแจกในงานฉลองกุฏิ จัดสร้างด้วยกัน ๓ เนื้อ คือ เนื้อทองคำ เงิน และทองแดง จำนวนสร้างไม่มีการบันทึกไว้แต่อย่างใด
เหตุที่เหรียญรุ่น ๒ ได้รับความนิยมมากกว่าเหรียญรุ่นแรก เนื่องมาจากเหรียญรุ่น ๒ มีใบหน้าคล้ายมากกว่าเหรียญรุ่นแรก ซึ่งแม้แต่หลวงพ่อทองสุขก็ชอบเหรียญรุ่น ๒ มาก
ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนครึ่งตัว ด้านบนเขียนคำว่า “พระครูทองศุข อินทโชโต”
ด้านหลังตรงกลางเป็นยันต์ประจำตัว ด้านบนยันต์ เขียนคำว่า “ที่ระลึกในงานฉลองกุฏิ” ด้านล่างสุดเขียนคำว่า “วัดโตนดหลวง ๒๔๙๘”
เหรียญทั้งหมดนี้ได้ปั๊มเนื้อทองแดงก่อน หลังจากได้ปั๊มเหรียญเป็นจำนวนมาก แม่พิมพ์เคลื่อน ทำให้ด้านหน้าตรงอักษร “อินทโชโต” สระอิมีเนื้อเกินขึ้นมาชิดติดขอบเหรียญ
หลังจากปั๊มเนื้อทองแดงครบตามจำนวน จึงปั๊มเนื้อเงินกับเนื้อทองคำ ทำให้ทั้ง ๒ เนื้อ สระอิมีเนื้อเกินทั้งหมด
ปัจจุบัน แบ่งเป็น ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์สระอิลอย และพิมพ์สระอิติดขอบ เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมสูงมาก ทั้งยังเป็นที่รู้จักและมีประสบการณ์ จนติดอันดับเหรียญยอดนิยมของเมืองเพชร