วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงพ่อทรัพย์ ธัมมโสภโณ วัดอินทราราม (วัดตลุก) อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อทรัพย์ ธัมมโสภโณ

วัดอินทราราม (ตลุก)
อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

หลวงพ่อทรัพย์ ธมฺมโสภโณ วัดอินทราราม (วัดตลุก) อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
หลวงพ่อทรัพย์ ธมฺมโสภโณ วัดอินทราราม (วัดตลุก) อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

หลวงพ่อทรัพย์ ธมฺมโสภโณ วัดอินทราราม (ตลุก) พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เชี่ยวชาญทางด้านโชคลาภ เมตตามหานิยม แห่งเมืองชัยนาท

๏ ชาติภูมิ
หลวงพ่อทรัพย์ ธมฺมโสภโณ วัดตลุก นามเดิมชื่อ “ทรัพย์ ขำสุข” เกิดเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๐ ตรงกับวันพฤหัสบดี ปีกุน ที่บ้านโรงปลา หรือ หัวหาด หมู่ที่ ๒ ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท บิดาชื่อ “นายสุ” และมารดาชื่อ “นางปราง ขำสุข” ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๑ คน คือ
๑.นายจ่าง ขำสุข
๒.นายเจิม ขำสุข
๓.นายปั่น ขำสุข
๔.นางทิม ขำสุข
๕.นายบุญ ขำสุข
๖.นายทรัพย์ ขำสุข (หลวงพ่อทรัพย์ ธมฺมโสภโณ)
๗.นางทับ ขำสุข
๘นางพลับ ขำสุข
๙.นางจีบ ขำสุข
๑๐.นายลับ ขำสุข
๑๑.นางจาบ ขำสุข

๏ ปฐมวัย
เมื่อท่านอายุได้ ๑๐ ขวบ บิดามารดาได้นำไปฝาก หลวงพ่ออ่ำ วัดอินทราราม โดยให้อยู่กับ หลวงพ่ออยู่ ซึ่งเป็นลูกผู้พี่ หลวงพ่อทรัพย์ท่านเป็นผู้ที่มีความสนใจในการศึกษาเล่าเรียนมาตั้งแต่ท่านยังเป็นเด็กเล็กๆ และมีความจำเป็นเลิศ ท่านเรียนหนังสืออยู่ที่วัดอินทรารามประมาณ ๓ ปี ก็อ่านออกเขียนได้ทั้งหนังสือไทยและหน้งสือขอม นับว่าเก่งกว่าเด็กๆ รุ่นเดียวกันมาก

ต่อมา “หลวงพ่ออยู่” ได้ย้ายจากวัดอินทาราม ไปเป็นเจ้าอาวาส วัดดักคะนนท์ อ.เมือง จ.ชัยนาท ท่านจึงได้ย้ายตามไปด้วยกับหลวงพ่ออยู่ และได้บรรพชาเป็นสามเณรที่ วัดดักคะนนท์ ท่านอยู่ที่วัดดักคะนนท์ ระยะหนึ่งไม่นานนัก หลวงพ่ออยู่ ก็นำท่านไปฝากเรียนบาลีในสำนักของ “พระสุนทรมุนี” (ใจ) วัดทุ่งแก้ว อุทัยธานี ท่านอยู่วัดทุ่งแก้ว เรียนนักธรรม เรียนบาลี และฝึกหัดเป็นนักเทศน์เจริญรอยพระสุนทรมุนี (ใจ) ซึ่งเป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงอยู่ในสมัยนั้นอีกด้วย

ต่อมา ท่านได้ลาจากสำนัก “วัดทุ่งแก้ว” กลับมาอยู่วัดอินทาราม อุปสมบทที่ วัดอินทาราม หลวงพ่อทรัพย์อุปสมบทได้ ๑๕ พรรษา ก็ลา (หลวงพ่ออ่ำ) ลาสิขา เมื่อลาสิขาไปแล้ว ตัวท่านก็อยู่กับพี่น้องที่ยังไม่ได้แต่งงาน ตัวท่านเองไม่ยอมแต่งงาน ชีวิตของท่านตอนนี้สนุกมาก เครื่องดองของเมาเอาทุกอย่าง แต่ท่านมีสัจจะของท่านว่า อาจารย์ทรัพย์ดื่มครั้งเดียวมากหรือน้อยดื่มให้พอเลย บ้วนปากแล้ววันนั้นไม่ดื่มซ้ำอีก ท่านมักพูดว่า ข้าสนุกกับมันทั้งนั้น ท่านมีชีวิตโสดอยู่อย่างนี้หลายปี

คราวหนึ่งนางจาบ น้องสาวคนเล็ก ป่วยมาก รักษาอย่างไรก็ไม่หาย มีแต่ทรงกับทรุดท่านจึงบนครูหลวงพ่ออ่ำ (ตอนนั้นหลวงพ่ออ่ำ มรณภาพแล้ว) ว่าถ้าให้ยาตามตำราหลวงพ่อแล้วน้องสาวหายป่วย จะบวชถวาย ๑ พรรษา พอสึกออกมาตอนนี้ ท่านจึงได้แต่งงานกับ น.ส. น้อม เมื่อแต่งงานแล้ว ท่านมีบุตรหญิงหนึ่งคน คือ น.ส.ฉลอง ขำสุข

๏ อุปสมบท
ลุถึงปี พ.ศ.๒๔๘๐ หลวงพ่อบุญ (พระครูบุญวิทยโสภณ) มรณภาพ บรรดาท่านที่เคยร่วมสำนักเรียนกันมาเช่น “หลวงพ่อหลิน” (พระวิชัยวุฒาจารย์) วัดสมอ ได้ขอร้องให้ท่านกลับมาบวชใหม่ เพื่อช่วยหลวงพ่อเทียบ ปกครองวัดอินทารามต่อไป หลวงพ่อเทียบเป็น เจ้าอาวาสวัดอินทาราม เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ ต่อจากหลวงพ่อบุญในการบวชครั้งหลังนี้ ท่านจึงบวชเมื่อวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ.๒๔๘๑ โดยมี พระชัยนาทมุนี (หรุ่น ) วัดบรมธาตุ เป็นพระอุปํชฌาย์ “พระครูสรรพยานกิจวิชัย” (หลิน) วัดสมอ เป็น พระกรรมวาจาจารย์ “พระวินัยธรทรัพย์” (หลวงพ่อทรัพย์) วัดกำแพง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ธมฺมโสภโณ

เมื่อโยมทั้งสองของท่าน ถึงแก่กรรมแล้ว และน้องสาวของท่านแต่งงานแยกครอบครัวแล้ว ท่านได้รื้อฝากระดาน ซึ่งเป็นเรือนหอของโยม กระดานซึ่งเป็นเรือนหอของโยม แล้วเป็นสิทธิของท่านถวายวัดมาปลูกไว้ในวัดอินทาราม เมื่อบวชครั้งหลังนี้ ท่านก็อยู่กุฏิที่เป็นของโยมหลังนี้ และท่านได้ยกที่นาของท่านจำนวน ๓๐ ไร่เศษ ถวายวัด ทำงานรานถึงกรมศาสนา แต่มีข้อแม้ว่าถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ท่านจะขอเก็บค่าเช่าเป็นส่วนตัวก่อน เพื่อใช้จ่ายไม่ลำบากใจว่าจะเป็นเงินวัด

ท่านสนใจในการศึกษามากพระรูปใดเป็นครูสอน นักธรรม-บาลี ท่านจะมีรางวัลให้ แม้พระเณรที่เป็นนักเรียน ท่านจะเอาใจใส่ดูแล อุปการะช่วยเหลือ ให้ได้รับความสะดวกในการเรียนและท่านจะบอกว่า เงินที่ใช้หนี้ของข้า และพระเณรหรือคฤหัสถ์ที่ทำงานให้วัดท่านจะเป็นห่วงมากคอยดูแลให้การช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา

ในย่ามท่านจะมีห่อผ้าเช็ดปากอยู่ห่อนึง นั่นคือห่อเงินส่วนตัว ถ้าท่านจ่ายเงินไปแล้วรับเงินทอนมาเผลอใส่ ย่ามโดยไม่ใด้ใส่ห่อส่วนตัว ของท่านท่านจะถือเป็นเงินวัดแล้วรวมยอดเข้าวัด เงินเทศมหาชาติทั้งหมด ที่ท่านเทศเองหรือท่านให้พระรูปอื่นเทศแทน ถ้าท่านใดนำไปถวายท่านท่านจะถือว่าเงินวัดทั้งหมด และเงินที่ได้จากการสวดมนต์-บังสุกุล ในระหว่างปีท่านจะใช้ตามปกติธรรมดาของท่านแต่พอถึงวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ หรือ วันเข้าพรรษา ท่านจะรวมยอดถวายวัดทั้งหมด ท่านทำอย่างนี้ตั้งแต่ บวชครั้งแรกกับหลวงพ่ออ่ำ

ในด้านความรู้ส่านตัวของท่าน การแปลหนังสือ ท่านจำได้แม่นยำ อ้างคำภีร์ คาถา วรรคตอนถูกต้อง จนขนาด เปรียญ ๖ ประโยค ยอมรับท่านแม่นจริงๆ ในการเทศไม่ว่าคู่หรือเดี่ยว ท่านไม่ชอบเยิ่นเย้อ ท่านชอบพูดสั้นๆ กระทัดรัดแต่ได้ใจความชัดแจ้ง เรื่องเทศนี้ครั้งนึงท่านอยู่วัดมหาธาตุ กรุงเทพ พอถึงฤดูร้อนท่านกลับมาพักผ่อนที่วัด อินทาราม งานศพ ขุนไชยสุภา ที่วัดพยาตาก เจ้าภาพนิมนต์ หลวงพ่อบุญ แต่ไม่พบ จึงนิมนต์ไว้กับ หลวงพ่ออ่ำ หลวงพ่ออ่ำท่านจึง รับไว้ ให้ไปเทศกับอาจารย์บุญ วัดงิ้วงาม ต.ท่าชัย อ.เมือง จ.ชัยนาท อาจารย์บุญท่านนี้เป็นพระนักเทศรุ่นใหญ่ ชอบเทศหักนักเทศด้วยกัน หลวงพ่ออ่ำ รับนิมนต์ไว้ให้หลวงพ่อบุญ วัดตลุกไป แต่พอ อาจารย์ฟู โพธิ์เทพ รู้เรื่องเข้าไม่ยอมให้หลวงพ่อบุญไปจึงบอกกับหลวงพ่ออ่ำ ว่า “งานนี้หลวงพี่บุญไปไม่แหมาะแน่ต้องเจอกับหลวงพี่ทรัพย์จึงจะเหมาะกว่า” และเมื่อถึงวันเทศหลวงพ่อทรัพย์ไปเทศ ก็เป็นความจริง พระอาจารย์บุญ ท่านเล่นลูกนอก หลวงพ่อทรัพย์ พระหนุ่ม ศิษเอกหลวงพ่อใจ (พระสุนทรมุนี) วัดทุ่งแก้ว แก้เสียพูดไม่ออกเลยยอมกันตั้งแต่นั้นมา

อาจารย์สวัสดิ์ อินทร์มา บ้านข้างวัดตลุกด้านเหนือ เล่าว่า บางคนเรียกท่านว่าท่านแขก เพราะมีเรื่องอยู่ว่า เป็นธรรมเนียมของพระวัดตลุก เวลาเย็นพระผู้ใหญ่จะมาคุยกับหลวงพ่ออ่ำ ที่หอนกเป็นประจำทุกวัน เย็นวันหนึ่งของเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๐ หลวงพ่ออ่ำ หลวงพ่อบุญ หลวงพ่ออยู่ พระอาจารฟู หลวงพ่อเทียบ และพระอาจารสวาสดิ์ นั่งคุยกันอยู่ที่หอนก ในขณะนั่งคุยกันอยู่นั้นได้มีพระลังกาเดินทางมาหาหลวงพ่ออ่ำ เพื่อขอพักอาศัย และพระลังกาพูดไทยไม่ได้ หลวงพ่ออ่ำ ท่านได้แต่ยิ้มๆ มองตาหลวงพ่อบุญ หลวงพ่อบุญจึงให้คนไปตามหลวงพ่อทรัพย์มา เมื่อหลวงพ่อทรัพย์มาแล้ว ก็พูดกับพระรังกาเสียงดัง และรู้เรื่องกันดี มีตอนนึงพระลังกาพูดแล้วชี้ไปที่นกหลายตัวบนต้นไม้ หลวงพ่อทรัพย์ก็ตอบเป็นบาลีแล้วชี้มือไปอีกทางนึงแล้วนกที่อยู่ที่ต้นไม้ก็บินไปทิศที่หลวงพ่อทรัพย์ชี้ พระลังกาปรบมือพร้อมหัวเราะเสียงดังชอบใจที่ หลวงพ่อทรัพย์ รู้ภาษานก นี่แหละที่ทำให้ผู้คนล่ำลือว่าหลวงพ่อรู้ภาษานก ดังนั้นจึงทำให้ท่านโด่งดังเรื่องของ นกคุ่ม หรือ นกคุ้มและที่หลวงพ่อบุญให้เณรไปตาม หลวงพ่อทรัพย์ มาความจริง คือหลวงพ่อบุญ ก็รู้แล้วรู้ดีกว่า หลวงพ่อทรัพย์ เสียอีก แต่หลวงพ่อบุญต้ องการยกย่องหลวงพ่อทรัพย์ให้ปรากฏเกียตินั่นเอง

เรื่องนั่งทะนานอันลือลั่นของท่าน เมื่อท่านเป็นฆราวาสท่านเรียนมาจาก (ปู่เครือน) และรับปฏิญาณว่าจะต้องมีเมตตา ทำคนแตกร้าวให้ดีกันเพียงอย่างเดียว ทำคนดีกันให้แตกกันไม่ได้ ทำคนผิดให้ถูกไม่ได้ และไม่ยอมมอบวิชานี้ให้ใครมา ๓๗ ปี เพราะกลัวจะไปทำผิดตามคำปฎิญาณ เพิ่งมาถ่ายทอดให้ (เจ้าอธิการบุญคง โชติธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์มงคล (บ้านอ้อย) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ และได้มรณภาพไปแล้วเช่นกัน

เรื่องรูปเหรียญ มีผู้เคารพนับถือท่านจำนวนมากมาขอเอารูปท่าน ออกเป็นเหรียญแต่ท่านไม่ยอม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ หลวงพ่อทรัพย์ กับเจ้าอธิการบุญคง ไปปั้นรูปหล่อหลวงพ่อเทียบ ในปีนั้นสุขภาพท่านไม่ดี เจ้าอธิการบุญคง จึงขออนุญาตปั้นรูปท่านด้วยท่านก็ยอมให้ปั้นแต่ไม่ยอมให้ทำเหรียญ ท่านให้เอารูปหลวงพ่ออ่ำบ้าง หลวงพ่อบุญบ้างไปทำเหรียญ ต่อมามีผู้รบเร้าท่านมากเข้าท่านจึงยอมแต่ต้องมีรูปของอาจารย์ท่านอยู่ด้วย คือหลวงพ่ออ่ำและหลวงพ่อบุญ อยู่อีกด้านนึงจึงยอมไห้ไปทำเหรียญได้ปี พ.ศ.๒๔๙๒ หลวงพ่อเทียบ เจ้าอาวาสวัดอินทาราม มรณภาพ หลวงพ่อทรัพย์จึงเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา

หลวงพ่อทรัพย์ วัดตลุก จ.ชัยนาท ท่านดังมากเรื่องโชคลาภ เมตตา มหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่่งเครื่องลางของขลังที่เป็นนกคุ้ม ท่านเป็นพระที่เก่งมากอีกรูปหนึ่งของสายชัยนาท โดยวัดตลุกนี้จะมีหลวงพ่อที่สืบต่อกันมาดังนี้ หลวงพ่ออ่ำ, หลวงพ่อบุญ, หลวงพ่อเทียบ, หลวงพ่อทรัพย์ และ หลวงพ่อชม

หลวงพ่อทรัพย์ ธมฺมโสภโณ วัดอินทราราม (วัดตลุก) อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
หลวงพ่อทรัพย์ ธมฺมโสภโณ วัดอินทราราม (วัดตลุก) อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

๏ มรณภาพ
หลวงพ่อทรัพย์ ธมฺมโสภโณ วัดตลุก ท่านถึงแก่มรณะภาพลงอย่างสงบ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑ สิริอายุรวมได้ ๙๑ ปี

๏ วัตถุมงคล
วัตถุมงคลที่ หลวงพ่อทรัพย์ วัดตลุก จัดสร้างขึ้นมี เหรียญ ตะกรุด ผ้ายันต์ ด้ายมงคล ขี้ผึ้ง นางกวัก พระผงสมเด็จ ฯลฯ ในบรรดาวัตถุมงคลที่ท่านจัดสร้างขึ้นที่เด่นดังที่สุดคือ นกคุ้มมหาลาภ นอกจากจะบันดาลให้เกิดลาภสักการะแก่ผู้นำไปบูชาแล้ว ยังป้องกันไฟอีกด้วย

เหรียญที่ได้รับความนิยมของท่านคือ เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อทรัพย์ วัดตลุก ปี พ.ศ.๒๕๑๗ บล๊อคเลข ๑ นิยม เป็นเหรียญ ที่ด้านหลังเป็นยันต์นะมหาอุต อักขระด้านบนสุดเป็นหัวใจพระรัตนตรัย อิ (ย่อเอามาแต่ตัวต้นในบทพุทธคุณคือ อิติปิโสฯ) สวา (ย่อเอามาแต่ตัวต้นในบทธรรมคุณคือ สวากขาโตฯ) สุ (ย่อเอามาแต่ตัวต้นในบทสังฆคุณคือ สุปฏิปันโนฯ) ตรงกลางประทับด้วยนะมหาอุต เริ่มจากขมวดหัวนะแล้วลากเส้นเวียนเป็นตัวนะหางวกกลับเข้ามาบรรจบหัวตัวนะ เข้าตำราที่ว่า ขึ้นด้วยนะลงด้วยนะ เป็นเคล็ดทางมหาอุต มีคาถาบริกรรมว่า นะอุดทัง นะอุดทวารัง ปิดนะ ขมวดหางเข้าไปในหัวตัวนะพอดี ล้อมรอบด้วยหัวใจแก้ว ๓ ประการ คือ มะอะอุ ล่างสุดลงด้วยหัวใจมหาอุด นะอุดทวารัง

เหรียญหลวงพ่อทรัพย์ วัดอินทาราม (ตลุก) ปี ๒๕๑๗
เหรียญหลวงพ่อทรัพย์ วัดอินทาราม (ตลุก) ปี ๒๕๑๗
เหรียญหลวงพ่อทรัพย์ วัดอินทาราม (ตลุก) จ.ชัยนาท ปี ๒๕๑๙
เหรียญหลวงพ่อทรัพย์ วัดอินทาราม (ตลุก) จ.ชัยนาท ปี ๒๕๑๙
พญานกคุ้มมหาลาภ หลวงพ่อทรัพย์ วัดตลุก จ.ชัยนาท
พญานกคุ้มมหาลาภ หลวงพ่อทรัพย์ วัดตลุก จ.ชัยนาท