ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ
วัดพระพุทธบาทชนแดน
อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์
พระครูวิชิตพัชราจารย์ (หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ) วัดพระพุทธบาทชนแดน พระเกจิชื่อดัง ผู้มีพลังจิตแก่กล้า แห่งเมืองมะขามหวานเพชรบูรณ์
◉ ชาติภูมิ
พระครูวิชิตพัชราจารย์ (หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ) วัดพระพุทธบาทชนแดน เกิดเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๒๔ ที่บ้านยางหัวลม (ปัจจุบันคือ ต.วังชมภู) ต.นายม อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ บิดาชื่อ “นายเผือก” และมารดาชื่อ “นางอินทร์ ม่วงดี”
ในช่วงวัยเยาว์เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดี เมื่ออายุ ๑๖ ปี บิดานำไปฝากให้ พระอาจารย์สี วัดช้างเผือก ต.วังชมภู อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ให้บวชเป็นสามเณร ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและวิทยาคมจนแตกฉานจากพระอาจารย์สี
◉ อุปสมบท
พ.ศ.๒๔๔๕ เมื่ออายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดศิลาโมง ต.นายม อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ โดยมี พระครูเมือง เป็น พระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ปาน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์สี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ธมฺมปญฺโญ” หมายถึง “ผู้มีความรู้ในพระธรรม”
หลังอุปสมบท กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดช้างเผือก และศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติมจาก พระอาจารย์สี พระอาจารย์ปาน และหลวง ทศบรรณ ฆราวาสผู้มีอาคมแก่กล้า
นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิปัสสนาจากพระ ครูเมืองจนเป็นที่เลื่องลือว่า “สามารถนั่งวิปัสสนาได้หลายวัน โดยไม่ฉันอาหารเลย”
จากนั้นได้ออกเดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ บำเพ็ญภาวนา แสวงหาสถานที่สัปปายะทำกัมมัฏฐาน ขณะเดียวกัน ได้ศึกษาหาความรู้ เพิ่มเติมด้านวิทยาคมจากพระเกจิอาจารย์ต่างๆ
ในขณะออกท่องธุดงค์ได้มีโอกาสพบกับหลวงพ่อเขียน ธัมมรักขิโต พระเกจิชื่อดัง โดยหลวงพ่อเขียน เป็นคนบ้านตลิ่งชัน ต.ชอนไพร อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ แต่มีอายุ และพรรษามากกว่า หลวงพ่อทบจึงเรียกขานหลวงพ่อเขียน ว่า “หลวงพี่” ทุกครั้งไป
ทั้งสองท่านเป็นสหายธรรมที่ใกล้ชิดกันมากที่สุด ออกธุดงค์ บำเพ็ญศีล และเจริญภาวนาไปจนถึงนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว กระทั่งเห็นว่าสมควรแก่เวลาที่จะกลับสู่มาตุภูมิ จึงมุ่งหน้าเข้าประเทศไทยทางจ.ตราด สู่วัดศิลาโมง ต.นายม อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
จากนั้นดำเนินการบูรณะวัดครั้งใหญ่ สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดบ่อน้ำ ประการสำคัญคือ สร้างอุโบสถจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ ใช้ประกอบศาสนกิจต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน
ระหว่างท่องธุดงค์ท่านยังได้พบพระเกจิดังหลายรูป อาทิ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และหลวงพ่อเง่า อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีภูมิ และรับถ่ายทอดพระเวทวิทยาคมต่างๆ อย่างครบถ้วน
◉ เรียนวิชากับหลวงปู่ศุข
หลัง จากที่ หลวงพ่อทบ ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดศิลาโมงแล้ว ท่านยังคงตั้งใจที่จะแสวงหาวิชาความรู้อยู่อย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อท่านทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดศิลาโมงเข้าที่เข้าทางแล้ว ท่านได้ยินชื่อเสียงเกียรติคุณของ พระครูวิมลคุณากร หรือ หลวงปู่ศุข แห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ว่าเป็นผู้สำเร็จวิชา ๘ ประการ ซึ่งมีน้อยองค์นักที่จะสำเร็จได้ ท่านจึงได้เดินธุดงค์ออกจากวัดศิลาโมง มุ่งหน้าไปที่จังหวัดชัยนาท
ในที่สุดท่านก็ได้กราบนมัสการหลวงปู่ศุขสมความปรารถนา และที่วัดปากคลองมะขามเฒ่านี้เอง ท่านก็ได้พบกับพระเกจิอาจารย์อีก ๒ รูปที่ได้เดินทางมากราบนมัสการหลวงปู่ศุข เพื่อขอเรียนวิชาก่อนหน้าที่ท่านจะมาคือ หลวงพ่อเอีย วัดบ้านด่าน, หลวงพ่อหน่าย วัดบ้านแจ้ง
การเรียนวิชาจากหลวงปู่ศุขนั้นก่อนที่ท่านจะมอบวิชาอาคมอะไรก็ ตามให้กับศิษย์นั้น ท่านจะทดสอบพลังจิตของศิษย์แต่ละองค์เสียก่อนว่ามีความกล้าแข็งสักเพียงใด จากนั้นจะถามถึง วัน เดือน ปี เกิด ของแต่ละองค์เสียก่อน ซึ่งการที่ท่านต้องทดสอบและไต่ถามก็เพื่อท่านจะได้ทราบถึงความสามารถ วาสนา บารมีของแต่ละองค์ ว่ามีมากน้อยเพียงใด ควรจะมอบวิชาอะไรให้ถึงจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งหลวงปู่ศุขท่านก็ได้มีเมตตา มอบวิชาอาคมต่างๆ ให้กับหลวงพ่อทบหลายอย่าง ซึ่งท่านก็ได้ใช้วิชาเหล่านั้นสงเคราะห์ญาติโยมมาตลอดชีวิตของท่าน
◉ มอบตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเง่า
หลังจากที่ หลวงพ่อทบ ได้กลับจากการธุดงค์ไปกราบนมัสการ ท่านพระครูวิมลคุณากร หรือ หลวงปุ่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งหลวงพ่อทบก็ได้เดินธุดงค์กลับมาจำพรรษาที่วัดศิลาโมงตามเดิม หลังจากนั้นในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๖๑-พ.ศ.๒๔๖๘ หลังจากการออกพรรษาทุกปี ท่านได้ใช้เวลาในช่วงนี้เดินทางไปกราบนมัสการขอเรียนวิชาอาคมเพิ่มเติมกับ ท่านพระครูสังวรธรรมคุต หรือ หลวงพ่อเง่า พระเถระผู้เฒ่า อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีภูมิ (วัดบ้านติ้ว) และอดีตเจ้าคณะจังหวัดหล่มสัก ซึ่งท่านก็ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเง่า และหลวงพ่อเง่าได้มีความเมตตาถ่ายทอดพระเวทวิทยาคมให้กับท่านอย่างไม่มีปิด บังอำพราง ไม่ว่าจะเป็นทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาด คงกระพัน มหาอุด มหาอำนาจ กำบัง ล่องหนหายตัว ซึ่งท่านก็ใช้เวลาหลังออกพรรษาถึง ๓ ปี จึงได้เล่าเรียนจนสำเร็จ
ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอชนแดน และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่ พระครูวิชิตพัชราจารย์
จากนั้นกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระพุทธบาทเขาน้อย อำเภอชนแดน และกลับมาที่วัดช้างเผือกตามที่พระอาจารย์สีกล่าวฝากไว้ในอดีตว่า “หากจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแล้ว ก็ให้กลับมาพัฒนา วัดช้างเผือก อย่าปล่อยให้ร้าง”
◉ ปฏิปทาของหลวงพ่อ
หลวงพ่อทบ ท่านเป็นพระที่มีเมตตา เยือกเย็นสุขุม ปรานีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย พูดน้อย ชอบการก่อสร้าง จะเห็นได้ว่าภายหลังจากที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว ได้ทำการก่อสร้างบูรณะวัดวาอาราม ไปตามสถานที่ต่างๆ ท่านได้เป็นผู้นำทำการก่อสร้างพระอุโบสถสำเร็จเรียบร้อยไปแล้วถึง ๑๖ หลัง ทั้งยังได้วางศิลาฤกษ์หลังที่ ๑๗ ไว้แล้วที่วัดช้างเผือก ตำบลวังชมภู อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ก็พอดีท่านมรณภาพเสียก่อน ทั้งนี้ไม่นับผลงานของท่านอีกมากมาย เช่น กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ บ่อน้ำ สระน้ำ และอื่นๆ อีก คุณวิเศษอีกอย่างหนึ่งของหลวงพ่อทบก็คือ ท่านเป็นพระภิกษุที่ไม่เลือกชั้นวรรณะ ตลอดชีวิตของท่านให้การต้อนรับแกบุคคลทั้งหลายเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการมียศถาบรรดาศักดิ์ใหญ่โตเพียงใด มั่งมีหรือยากจน ผู้ใดเดินทางไปกราบท่านก็จะได้รับการต้อนรับเท่าเทียมกันหมด ไม่มียินดียินร้ายหรือทะเยอทะยานในลาภ ยศ สรรเสริญ ตรงกันข้าม เมื่อผู้ใดมีความทุกข์ไปหาท่าน ก็จะได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดี เป็นผู้มักน้อยสันโดษ ไม่นิยมการสะสมเงินทองหรือทรัพย์สมบัติใดๆ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเมื่อท่านมรณภาพแล้วจึงไม่มีทรัพทย์สินใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางโลกอันเป็นส่วนตัวของท่านเลยแม้แต่น้อย
นอกจากนี้ ยังเป็นผู้มีกตัญญูรู้คุณครูบาอาจารย์ ตั้งอยู่ในโอวาทคำสั่งสอน ท่านเคยพูดว่าที่ต้องกลับมาอยู่วัดช้างเผือกอีก ก็เพราะว่าพระอาจารย์สี พระอาจารย์ของท่านได้สั่งเอาไว้ว่า วาระสุดท้ายให้มาอยู่ประจำวัดนี้อย่าให้ร้าง ทั้งท่านยังได้กล่าวอีก(พ.ศ.๒๕๑๘) ว่าตัวของท่านขณะนี้ตายแล้ว เพียงแต่ไม่เน่าเท่านั้นเอง
◉ มีวาจาสิทธิ์
คุณวิเศษอีกอย่างหนึ่งของหลวงพ่อทบก็คือ ท่านเป็นผู้มี วาจาสิทธิ์ คือกล่าวอะไรก็เป็นเช่นนั้น คนที่ทราบเรื่องดีต่างก็มีความยำเกรงมาก โดยเฉพาะพวกอันธพาลงานวัดหลายคนประสบมา ในสมัยที่หลวงพ่อทบเคยเป็นประธานในงานพระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ วิหาร ที่ได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว บางแห่งได้มีพวกนักเลงหัวไม้ก่อการทะเลาะวิวาทตีหัวฟันแทนกันบ้าง เสร็จแล้วก็วิ่งมาหลบหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนละทิศละทาง จนเป็นที่หวั่นเกรงของประชาชนทำให้ไม่กล้ามาเที่ยวงาน เป็นอุปสรรคในการจัดงานของทางวัดอย่างใหญ่หลวง แต่พอเรื่องราวทราบถึงหลวงพ่อทบเท่านั้น ท่านก็บอกกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เจ้าพวกที่มาก่อเรื่องนี้มันไปไหนไม่รอดหรอก วนเวียนอยู่กับวัดนี้แหละ แล้วเหตุการณ์ก็จริงอย่างที่ท่านว่าไว้ อันธพาลก่อกวนงานวัดมันหาได้หลบหนี้ไปพ้นไม่ เหมือนมีอะไรมาฉุดรั้งพวกมันไว้ ให้พวกมันวิ่งวนเวียนอยู่ภายในวัดนั้นเองไปไหนไม่รอด ในที่สุดก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจลากตัวไปเข้าห้องขังจนได้ เมื่อเหตุเกิดบ่อยครั้งเข้าข่าวก็ขจายไปทั่ว ทุกคนก็เริ่มเชื่อแล้วว่าต้องเป็นเพราะความที่หลวงพ่อทบท่านมีวาจาสิทธิ์ นั่นเอง มาในระยะหลังนี้จึงปรากฏว่าหากวัดไหนมีงาน ก็มักจะมานิมนต์หลวงพ่อไปเป็นประธาน ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่ามีอันธพาลพวกไหนกล้าไปตอแยอีกเลย งานวัดก็ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยทุกประการ อุทาหรณ์เกี่ยวกับการมีวาจาสิทธิ์ของหลวงพ่อทบนี้ มีผู้เล่าลือต่อๆ กันไปหลายเรื่องด้วยกัน เคยมีผู้สมัครสอบเข้ารับราชการหรือนักเรียนนักศึกษาเป็นจำนวนมากได้มาขอพร จากหลวงพ่อขอให้สอบได้ ซึ่งท่านก็มักจะใช้มือตบที่ศรีษะผู้นั้นเพียบเบาๆ และให้พรว่า “สอบได้” เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จพิธี ส่วนมากก็จะเป็นไปตามที่ท่านให้พรนั้นทุกประการ ดังนั้นผู้ใดที่ได้สละเวลาเข้าไปให้ถึงตัวของท่านแล้วจึงไม่ผิดหวัง มีแต่ความสมหลังด้วยกันทั้งนั้น บางคนภรรยาลงเรือนไปหลายวันแล้วยังไม่กลับไม่ทราบว่าไปไหน เป็นตายร้ายดีอย่างไรก้บากหน้ามาหาท่าน ขอพรให้เมียกลับมาบ้านเสียที ท่านบอกกับผู้เป็นสามีว่า “กำลังกลับ” วันต่อมาชายคนที่ว่านี้ก็กลับมาหาหลวงพ่ออีกครั้ง คราวนี้เขาพูดว่า “เมียผมกลับบ้านแล้ว จึงมามนัสการหลวงพ่อ” ว่าแล้วก็ให้หลวงพ่อเป่ากระหม่อมให้ ท่านก็เมตตาเป่าให้ ชายคนดังกล่าวจึงเดินตัวปลิวลงจากกุฏิไป
เกี่ยวกับเรื่องวาจาสิทธิ์ของหลวงพ่อทบนั้น มิใช่เหตุการณ์บังเอิญ อาจจะเป็นไปได้สองประการคือ ท่านรู้เหตุการณ์ข้างหน้าหนึ่ง และท่านเป็นผู้มีวาจาสิทธิ์หนึ่ง จะสังเกตเห็นได้ว่าท่านไม่เคยดุด่าว่ากล่าวใครเลย แม้แต่พระเณรในวัดท่านก็ไม่มีที่จะดุด่า ตรงกันข้ามท่านมักจะกล่าวแต่ถ้อยคำเสนาะ ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้บางคนเห็นว่าท่านเป็นคนพูดน้อยจนเกินไป ยิ่งถ้าเป็นพวกเด็กๆ ด้วยแล้วหลวงพ่อจะเลือกสรรกล่าวแต่ถ้อยคำที่เป็นสิริมงคลแกพวกเขามากยิ่ง ขึ้น เพื่อให้เด็กๆ ได้รับแต่สิ่งที่ดีนั่นเอง
◉ ปัจฉิมวัย
เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๐๗ หลวงพ่อทบท่านมีอายุได้ ๘๓ ปี ความไม่เที่ยงแห่งสังขารก็เริ่มรุกรานท่านให้เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ในระยะนี้นัยน์ตาของท่านก็เริ่มฝ้าฟางลง จนในที่สุดก็บอดมืดสนิททีเดียว ซึ่งนายแพทย์ผู้รักษากล่าวว่า นัยน์ตาของหลวงพ่อได้หมดอายุแล้ว ถึงแม้ว่าดวงตาของท่านจะมืดบอดไม่เห็น แต่ท่านก็ยังสร้างและบูรณะวัดวาอารามอีกหลายแห่ง และภายหลังจากที่ท่านได้ระลึกว่า การที่ท่านจะอยู่ในตำแหน่งโดยที่นัยน์ตาของท่านมองอะไรไม่เห็นเช่นนี้ น่าจะไม่ก่อประโยชน์อะไรขึ้นมา ฉะนั้นท่านจึงได้ขอลาออกจากตำแหน่งพระครูวิชิตพัชราจารย์ เจ้าคณะอำเภอชนแดน แต่ด้วยอำนาจบุญบารมีของท่านเกินกว่าจะกล่าวได้ เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยฐานะกรมการศาสนา ก็มีมติให้ท่านคงดำรงตำแหน่งพระครูวิชิตพัชราจารย์กิตติมศักดิ์ต่อไปจนตลอด อายุ เมื่อหลวงพ่อทบท่านได้ลาออกจากสมณศักดิ์แล้ว ท่านยังคงคิดถึงวัดที่ท่านได้เคยอาศัยอยู่กับพระอาจารย์สีมาก่อน นั่นคือ วัดช้างเผือก ตำบลวังชมภู อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นวัดร้างไม่มีผู้ใดจะคิดบูรณะ ร้างมาประมาณกว่า ๓๐-๔๐ ปี แล้ว อนึ่งท่านก็ยังคงจดจำคำของพระอาจารย์สีที่เคยบอกกับท่านไว้เมื่อ ๖๘ ปีที่แล้ว่า หากถึงวาระสุดท้ายก็ให้กลับไปวัดช้างเผือก อย่าปล่อยให้ร้างนั้นได้อย่างแม่นยำ
ดังนั้นท่านจึงได้ออกจากวัดพระพุทธบาทชนแดนทันทีที่ได้รับนิมนต์ให้มาช่วย บูรณะวัดศิลาโมง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดช้างเผือกนัก เพราะเห็นว่าสะดวกดีที่จะได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดช้างเผือกต่อไป หลวงพ่อทบท่านได้บูรณะวัดศิลาโมง จนเห็นว่าสมควรจะได้ไปทำการบูรณะวัดช้างเผือกแล้ว ท่านก็ได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดช้างเผือกซึ่งร้างรอท่านให้ช่วยปลูกฟื้นฟูอยู่ หลังจากนั้นวัดช้างเผือกก็เปลี่ยนสภาพจากวัดร้างที่ไม่มีใครสัญจรไปมา นอกเสียจากพวกเด็กเลี้ยงควายจะได้ไปอาศัยพักร่มเงาบนกุฏิที่เก่าคร่ำคร่าจะ พังมิพังแหล่ ซึ่งมีอยู่หลังเดียวกับศาลาการเปรียญที่ทรุดโทรมอย่างถึงที่สุดแล้ว พระอุโบสถแลเห็นเพียงแต่ฐาน เพราะส่วนบนปรักหักพังลงมาจนหมดสิ้น กลับกลายเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองมากที่สุดของตำบลวังชมพูในปัจจุบัน
◉ อาพาธมาเยือน
เมื่อ วันที่ ๑๓ เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๐๙ ทางคณะกรรมการ วัดช้างเผือก ได้จัดให้มีงานประจำปี พร้อมทั้งทำพิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถหลังใหม่ ซึ่งจะได้สร้างขึ้นแทนหลังเดิม ซึ่งได้ปรักหักพังจนหมดสิ้นดังกล่าวข้างต้น ในวันดังกล่าวปรากฏว่า ประชาชนได้หลั่งไหลไปยังบริเวณงานวัดช้างเผือกอย่างมือฟ้ามัวดิน และอย่างไม่คาดฝันมาก่อน พอตกกลางคืนนั้นเองก็บังเกิดพายุจัด ฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก การแสดงมหรสพทั้งหมดที่มีผู้นำมาเปิดวิกจึงได้งดทำการแสดงทั้งหมด ฝนตกกระหน่ำอยู่ประมาณ ๕ ชั่วโมงจึงหยุด ทุกสิ่งทุกอย่างแห่งธรรมชาติกลับคืนสู่สภาพปกติ แต่ทว่าที่บนกุฏิของหลวงพ่อทบ ซึ่งแวดล้อมไปด้วยลูกศิษย์และญาติโยม ทุกคนเริ่มใจคอไม่ดี ด้วยสังเกตเห็นว่าหลวงพ่อทบเริ่มมีอาการผิดปกติกว่าที่เป็นมามาก พยายามลุกนั่งและฉันหมากอยู่เสมอ มิหนำซ้ำยังได้พูดถึงศพของท่านว่า หากตัวท่านมรณภาพลงจริงๆ แล้ว อย่าได้เผาเป็นอันขาด ให้สร้างเป็นวิหารหรือมณฑปเก็บศพไว้ มิฉะนั้นแล้วความเจริญหรือการปฏิสังขรณ์ใดๆ ที่วัดช้างเผือก ที่กำลังดำเนินการอยู่จะหยุดชะงักลงไปทันที วัดก็จะกลับไปร้างอีก นายแฉล้ม ชีพราหมณ์ ซึ่งในระยะหลังนี้นับว่าเป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดมากที่สุด มีหน้าที่คอยติดตามหลวงพ่อทบไปทุกแห่งที่ได้รับนิมนต์ไป ได้รับคำหลวงพ่อทบว่า “จะทำตามที่สั่งทุกอย่าง” หลวงพ่อทบจึงมีอาการแจ่มใสขึ้น พูดคุยอย่างสนุกสนาน ทำให้บรรยากาศที่ตึงเครียดด้วยหัวใจที่หวาดหวั่นของลูกศิษย์และผู้ที่เฝ้า อยู่นั้นผ่อนคลายลงได้
◉ ถึงกาลมรณภาพ
แต่แล้วเหมือนฟ้าผ่ามาลงท่ามกลางท้องฟ้าที่ปลอดโปร่งปราศจากเมฆฝนแม้แต่น้อย เมื่อเวลาประมาณเที่ยงวันเศษของวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๙ หลวงพ่อทบเหมือนเป็นไข้ นายแฉล้ม ชีพราหมณ์ เป็นผู้สังเกตอาการของหลวงพ่อทบได้ดีกว่าผู้อื่น เริ่มมีอาการวิตกกังวลเต็มไปด้วยความกระสับกระส่าย เขาตัดสินใจนำรถมารับหลวงพ่อทบ เพื่อที่จะรีบพาท่านไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ ทันที แล้วอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ในขณะที่รถกำลังพาท่านไปกรุงเทพฯ มาถึงตำบลนาเฉลียง ออกจากวัดช้างเผือกมาได้ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร หลวงพ่อทบก็ปิดเปลือกตาลงอย่างสนิท พร้อมกับการกำหนดลมหายใจเป็นครั้งสุดท้าย มันเป็นเวลาสี่โมงเย็นพอดี หลวงพ่อทบก็มรณภาพลงอย่างสงบบนรถนั่นเอง
ข่าว หลวงพ่อทบ มรณภาพดังกึกก้องอย่างรวดเร็ว ประชาชนทั่วทุกสารทิศที่ได้ทราบข่าวต่างก็พากันมุ่งตรงมายังวัดช้างเผือกใน ทันที วันแล้ววันเล่าที่คณะกรรมการวัดต้องทำงานอย่างหนัก ข้าวของเครื่องบริขารของหลวงพ่อได้รับการสำรวจอย่างถี่ถ้วนโดยเฉพาะพระ เครื่องรางของขลังทั้งหมดได้ถูกเก็บรวบรวมในทันที เพื่อรอการตรวจเช็คของกรรมการต่อไป ประชาชนจำนวนเรือนหมื่นได้ไปออกันอยู่ที่วัดช้างเผือกตลอดเวลาที่มีพิธี บำเพ็ญกุศลมิได้ขาด จนกระทั่งครบ ๑๐๐ วัน ศพของท่านยังคงเก็บไว้ที่วัดช้างเผือกตลอดมา มิได้ทำการณาปนกิจหรือเผาแต่อย่างใด ทั้งนี้เพื่อทำตามคำสั่งของท่านที่ให้เก็บศพไว้เพื่อสร้างมณฑปและโลงแก้ว สำหรับใช้เป็นที่เก็บศพของท่านอย่างถาวร ให้ลูกหลานได้กราบไหว้ต่อไป ความมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งสำหรับพระเกจิอาจารย์อย่างหลวงพ่อทบ เป็นเรื่องเกี่ยวกับวันเกิดและวันมรณภาพของท่าน ซึ่งไม่น่าจะมาคล้องจองกันได้อย่างประหลาด กล่าวคือ หลวงพ่อทบเกิดเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๔ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง แล้วมรณภาพในวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๙ เวลาบ่าย ๔ โมงเย็น ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ สิริอายุรวมได้ ๙๕ ปี พรรษา ๗๔ (๙+๕=๑๔)
คณะศิษยานุศิษย์ได้นำศพบรรจุไว้ในโลงแก้วตามคำสั่งสุดท้ายก่อนมรณภาพที่สั่งไว้ว่า “ห้ามนำร่างกายกูไปเผา ต่อไปในวันข้างหน้า ร่างกายนี้จะมีคุณประโยชน์ต่อวัด”
ปัจจุบัน วัดช้างเผือกกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง ในแต่ละวันจะมีประชาชนทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด พากันมากราบสักการะสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยและกลายสภาพเป็นหิน นอนสงบนิ่งอยู่ภายในโลงครอบแก้ว
ทุกปี วัดช้างเผือกจะเปลี่ยนผ้าไตรจีวรให้แก่ท่านเป็นประจำ และผ้าจีวรที่เปลี่ยนออกมา ชาวบ้านญาติโยมต่างพากันนำไปเป็นเครื่องราง
หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ (พระครูวิชิตพัชราจารย์) วัดพระพุทธบาทชนแดน อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ นับเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้มีพลังจิตแก่กล้าเหนือธรรมชาติ อีกท่านหนึ่งที่เชื่อกันว่าท่านได้บรรลุธรรมชั้นสูง จนสำเร็จเป็น พระอรหันต์ อีกรูปหนึ่งที่มีผู้ให้ความเคารพศรัทธาเลื่อมใสอย่างกว้างขวาง เมื่อท่านมรณภาพแล้ว สรีระของท่านไม่เน่าเปื่อยแต่ประการใด จนถึงทุกวันนี้
◉ ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคล พระครูวิชิตพัชราจารย์ (หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ) วัดพระพุทธบาทชนแดน ของท่านมีทั้งรูปหล่อโลหะ เหรียญ ตะกรุด แหวน ฯลฯ เป็นที่กล่าวขวัญถึงประสบการณ์ของผู้บูชาอยู่ เป็นเนืองนิตย์ และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง