วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อตาด

วัดบางวันทอง
อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง พระมหาเถราจารย์ยุคเก่าผู้มีพุทธาคมเข้มขลังแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม

◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ท่านเป็นชาวเบิกไพล อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ท่านอุปสมบทเมื่ออายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ที่วัดบ้านเกิดของท่าน ใครเป็นพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ กระทั่งพระอนุสาวนาจารย์ หามีหลักฐานอ้างถึงไม่

หลังจากที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว ท่านก็ได้เรียนพระธรรมวินัย ท่องจำบทสวดมนต์ต่างๆ จนจบ แล้วก็ได้ศึกษาวิปัสสนาธุระ และวิทยาคมต่างๆ จากพระอุปัชฌาย์จน์เกล้าแกร่งจึงออกธุดงค์ ได้ศึกษาวิชาต่างๆกับพระอาจารย์ที่ท่านพบในป่ามากมาย

ท่านธุดงค์อยู่หลายพรรษาจนมาถึงแม่น้ำแม่กลอง มุ่งเข้ามาทางแคล้วอ้อม มาหยุดพักจำพรรษาอยู่ที่ วัดบางวันทอง ในปีพ.ศ ๒๔๓๘ ซึ่งวัดบางวันทองขนาดนั้นเป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร เนื่องจากวัดบางวันทองขนาดนั้นเป็นวัดรกร้างรุงรัง เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย ในสมัยนั้นยังไม่มีบ้านผู้คนอาศัยอยู่มากนัก ท่านก็ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดบางวันทองจนเจริญรุ่งเรืองกลับมาอีกครั้ง

เมื่อหลังจากออกพรรษาแล้วหลวงพ่อตาดท่านก็จะออกธุดงค์อยู่เสมอ ท่านได้ไปเจอสมุนไพรต่างๆมากมายท่านก็นำกลับมาไว้ที่วัด เพื่อทำเป็นยาแผนโบราณ ช่วยรักษาโรคให้แก่ชาวบ้านและประชาชนโดยทั่วไป ที่มาให้ท่านรักษาโรคให้ ใครมีเรื่องทุกข์ร้อนต่างๆมาหาท่านก็ยินดีช่วยเหลือปัดเปาให้คลายทุกข์ร้อนไปได้เสมอ ท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านและประชาชนทั่วไป ท่านได้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้แก่ชาวบ้านมากมาย แม้ในจังหวัดใกล้เคียงก็ยังพาบุตรหลานมาบวชกับท่านมาก

วัตถุมงคลที่เลื่องชื่อของ หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง เห็นจะไม่พ้นตะกรุดคงคาวดี เวลาที่หลวงพ่อตาดทำตะกรุดนี้จะนำแผ่นตะกั่วใส่อังสะแล้วจุดเทียนระเบิดน้ำ ลงไปในแม่น้ำ ลงอักขระใต้น้ำจนเสร็จแล้วจึงขึ้นมา เมื่อม้วนแล้วท่านยังเดินถือตะกรุดไปยังบริเวณที่ปูชายเลนอยู่ ปูจะพากันกรูออกมาจากรู หลวงพ่อตาด จะใช้เท้ากดทับบริเวณปากรูปูไว้แล้วเสกตะกรุด เล่ากันมาว่า ยามที่ท่านเสกนั้น บรรดาปูทั้งหลายต่างสงบนิ่ง จนเมื่อท่านเสกเสร็จเรียบร้อยแล้วนั่นแหละ จึงวิ่งกรูกันไป ตะกรุดของหลวงพ่อตาดมีสรรพคุณด้านมหาอุดเป็นสุดยอดทีเดียว ยังเรื่อง เล่าบางเรื่องเกี่ยวกับหลวงพ่อตาด อย่างเรื่องนี้ที่เล่าขานสืบกันมาว่า

ครั้งหนึ่ง “เสือหรั่ง” ขุนโจรชื่อดังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไล่ล่าอย่างกระชั้นกระชิด และเจ้าตัวเองก็คิดจะเลิกจากการเป็นโจรปล้นเสียที ตกกลางคืนได้เข้าไปกราบหลวงพ่อตาดสารภาพผิด และขอให้หลวงพ่อตาดช่วยเหลือ หลวงพ่อตาดได้ให้จุดธูปเทียนสาบานต่อหน้าพระว่าจะเลิกเป็นโจร จะบวชเรียนจนมรณภาพคาผ้าเหลือง เมื่อเสือหรั่งสาบานแล้วก็ได้รับตะกรุดจากหลวงพ่อตาด พร้อมกับสายสิญจน์คล้องคอแล้วไปหลบอยู่กุฏิพระอีกหลังหนึ่ง ครั้นเจ้าหน้าที่มาค้นหาที่วัดบางวันทอง ขึ้นไปบนกุฏิที่เสือหรั่งหลบซ่อนอยู่ ก็พบเห็นเพียงพระภิกษุแก่ๆ รูปหนึ่งนั่งตัวสั่นงกๆ เงิ่นๆ อยู่ จึงได้กราบนมัสการลาไปค้นยังที่อื่น ต่อมาเสือหรั่งได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุตราบจนมรณภาพ

หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

◉ มรณภาพ
หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ท่านมรณภาพลงในปี พ.ศ.๒๔๕๙ ด้วยโรคชรา คณะศิษย์และประชาชนจึงได้ปรึกษากันว่าจะตั้งศพของท่านไว้ที่กุฏิ เพื่อบำเพ็ญกุศลถวายจนครบ ๑ ปีแล้วจะได้ถวายเพลิงศพของท่าน

ก่อนหน้าที่ หลวงพ่อตาด จะมรณภาพ ท่านได้ลงไปสรงน้ำในแม่น้ำหน้าวัด ฝูงปลาใหญ่น้อยมาห้อมล้อมหลวงพ่อตาดอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง หลวงพ่อตาด ลูบคลำเหล่าปลานั้นอย่างเมตตา ครั้นสรงน้ำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้เรียกกรรมการวัดมาประชุมบอกว่า ท่านจะไปแล้ว กรรมการวัดล้วนต่างคิดว่า ท่านชราภาพมาแล้วคงกล่าวเล่นๆ ไม่มีใครคิดสงสัย กระทั่งตกค่ำท่านก็ เรียกกรรมการวัดมาประชุมอีก แล้วบอกกรรมการวัดว่า ถึงเวลาจะลาลับ พูดจบก็มีลมพัดกระโชกมาทำให้ตะเกียงที่จุดไว้ดับสนิท พอจุดตะเกียงขึ้นใหม่พบว่า หลวงพ่อตาดนั่งสมาธิคอเอียงไปด้านข้างหมดลมหายใจไปแล้ว

◉ ด้านวัตถุมงคล
เมื่อครั้งจัดงานฌาปนกิจศพ หลวงพ่อตาด ลูกศิษย์หลวงพ่อตาด คือ นายพุก ได้ร่วมปรึกษากับศิษย์คนอื่นๆ พร้อมใจกันสร้างเหรียญรูปท่านเพื่อไว้เป็นที่ระลึก ในงานถวายพระเพลิงศพของท่าน โดยมีนายพุก เป็นผู้แกะพิมพ์ และบุตรช่วยกันสร้าง มีสามชนิด เนื้อทองคำประมาณ ๕๐ เหรียญสำหรับผู้สั่งจอง เนื้อเงินประมาณ ๒๐๐ เหรียญ นอกนั้นเป็นเนื้อสัมฤทธ์ทั้งหมด เป็นเหรียญหล่อรูปขนาดกลาง มีเส้นผ่าศูนย์กลางวัดตามแนวยืนได้ ๓ เซนติเมตร จำนวนที่สร้างประมาณ ๑,๕๐๐ เหรียญ ด้าน หน้า มีรูปหลวงพ่อตาดครึ่งรูป อยู่ภายในวงล้อมของเส้นวงรี นอกกรอบวงรีที่ล้อมรูปเหมือนหลวงพ่อตาด มีอักขระขอมจารึกโดยรอบขนานไปกับขอบเหรียญ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ช่อง ถ้าหากอ่านจากขวาเวียนไปซ้ายมือของเรา โดยเริ่มต้นที่อักขระขอมตัว “สัง” เหนือศีรษะจะอ่านได้ความดังนี้ “สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ” อันได้แก่หัวใจพระธรรม ๗ คัมภีร์ และหัวใจนวหรคุณ (หัวใจอิติปิโส) ด้านหลัง มีอักขระขอมจารึกอยู่ ๔ แถว พร้อมด้วยปี พ.ศ. ที่ออกเหรียญ คือ “มะ อุณาโลม อะ ทุ สะ มะ มิ จะ อะ ปะ ตะ พะ รา จนฺทโชติ พ.ศ.๒๔๕๙” โลหะที่นำมาสร้าง มีทั้งเนื้อทองคำ เงิน และเนื้อสัมฤทธิ์ขันลงหิน เหรียญรุ่นแรกของท่านสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙

เหรียญ หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง รุ่นแรก ปี พ.ศ.๒๔๕๙
เหรียญ หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง รุ่นแรก ปี พ.ศ.๒๔๕๙

เมื่อสร้างเสร็จได้ให้พระเกจิอาจารย์ปลุกเสกได้แก่ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, หลวงพ่อคง วัดศรัทธาราษฎร์, หลวงพ่อคง วัดแก้วเจริญ, หลวงพ่อปลั่ง วัดเพลง, หลวงพ่อตุย วัดปราโมทย์ เป็นต้น ปัจจุบันนับว่าเหรียญของท่านหาดูได้ยากครับ เหรียญของท่านนับว่าเป็นเป็นเหรียญเก่าแก่เหรียญหนึ่งของแม่กลอง

วัดบางวันทอง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
วัดบางวันทอง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

◉ ประวัติวัดบางวันทอง
วัดบางวันทอง ตั้งอยู่ริมคลองแควอ้อม เขตตำบลเหมืองใหม่ เป็นวัดโบราณสันนิฐานว่าสร้างมา ประมาณ ๒๕๓ ปีก่อน จากการพบหลักฐานวัตถุโบราณต่างๆ ซึ่งวัดเดิมนั้นตั้งอยู่ในคลองวัดป่า (คลองบางวันทองในปัจจุบัน ) ห่างจากที่ตั้งวัดปัจจุบัน ๗ เส้นเศษ ทราบจากจารึกที่ฐานพระพุทธรูป ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๒๔๘ ซึ่งวัดตั้งอยู่ในคลองวัดป่า ได้ย้ายออกมาตั้งในบริเวณวัดปัจจุบัน ริมฝั่งแม่น้ำแควอ้อม โดยการบริจาคที่ดิน จากคหบดี ท่านหนึ่งนายวัน และนางทอง จึงมีการเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดบางวันทอง พร้อมทั้งชื่อคลองในคราวเดียวกัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก khaosod.co.th