ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อชุ่ม ชุติวณฺโณ
วัดท่ามะเดื่อ
อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
หลวงพ่อชุ่ม ชุติวณฺโณ วัดท่ามะเดื่อ (วัดอุทุมพรทาราม) อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นพระเกจิที่มีพุทธาคมเข้มขลังในสายพระนักปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน ผู้สร้างตำนาน “ปาฏิหาริย์ปราบผี” จนมีชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธาตลอดมา
◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ สันนิษฐานว่าเกิดในราวปี พ.ศ. ๒๔๐๔ เป็นคนบ้านดอนยายหอม อ.เมือง จ.นครปฐม บิดาชื่อ “ขุนโชติคำแหง” มารดาชื่อ “นางเนย” รวมชื่อพ่อ-แม่ รวมเป็นนามสกุลภายหลังว่า “เนโชติ” มีพี่น้อง ๕ คน
๑. นางกรอง เนโชติ (แม่หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม) ภายหลังใช้นามสกุล “ด้วงพูล”
๒. หลวงพ่อชุ่ม ชุติวัณโณ วัดท่ามะเดื่อ
๓. นายทัพ เนโชติ
๔. นางขิม ภายหลังมีครอบครัวเปลี่ยนนามสกุลไป
๕. จ่านายสิบขุนโสภณสงคราม (ช่วง) เนโชติ (ทหารรบในสงครามโลกครั้งที่1)
เข้าพิธีอุปสมบท เมื่ออายุ ๒๓ ปีพ.ศ.๒๔๒๘ ณ อุโบสถวัดโพธิ์บัลลังก์ โดยมี พระครูเมธาธิการ (เกิด) วัดโพธิ์บัลลังค์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการต๊ะ วัดโพธิ์โสภาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการมี วัดตาลปากลัด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับชื่อฉายาว่า “ชุติวณฺโณ”
หลวงพ่อชุ่ม ชุติวณฺโณ เป็นพระนักปฏิบัติธรรมชอบสมถะ เชี่ยวชาญทางวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนรอบรู้วิทยาคม เวทมนตร์อาคมต่างๆ สานุศิษย์ทั้งหลายให้ความเลื่อมใสศรัทธา เป็นอย่างมาก เป็นพระถือสันโดษเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีปฏิปทาปฏิบัติน่าเลื่อมใส ทำวัตรสวด มนต์ถือครองผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต บิณฑบาตเป็นกิจไม่เคยขาด
หลวงพ่อชุ่ม ท่านเป็นพระที่ไม่ประสงค์รับตำแหน่งใดๆทางคณะสงฆ์ทั้งสิ้น แต่ถึงกระนั้นเวลามีการบวชพระหลวงพ่อกล่อม วัดขนนอน มักขอให้หลวงพ่อชุ่มเป็นพระคู่สวด
หลวงพ่อชุ่มสำเร็จวิชาทศกัณฑ์หน้าทอง ซึ่งได้มอบให้กับศิษย์ท่านคือเจ้าของคณะโขน ลิเกคณะโกสุม คือท่านแก้ว โกสุม และท่านกุหลาบ โกสุม ภายหลังท่านทั้งสองได้เป็นที่โปรดปราณของรัชกาลที่ ๖ มาก ท่านแก้ว โกสุมได้เป็นขุนแก้ว กัฑลีเขต และท่านกุหลาบ โกสุม ได้เป็นพระราชวรินทร์ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นถึงหลวงสถานพิทักษ์
ด้วยเหตุนี้วัดท่ามะเดื่อและเหรียญรุ่นของหลวงพ่อชุ่มจึงได้รับการอุปถัมภ์สร้างโดยท่านแก้ว โกสุมและท่านกุหลาบ โกสุม ด้วยวิชาทศกัณฑ์หน้าทองนั้น เป็นวิชาที่เมื่อบวงสรวงก่อนทำการแสดงทำให้คนดูหลงไหลดังถูกมนต์สะกด ทั้งร้องไห้ และเคลิบเคลิ้มไปกับการแสดงในท้องเรื่องนั้นๆ
วิชานี้เท่าที่มีการบันทึกผู้ที่สำเร็จได้คือ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ และปู่เอม อยู่สถาพร หลวงพ่อชุ่ม นั้นนอกจากวิชาเมตตาแล้ว วิชาวัวธนูไล่ผีและตบะฌานของท่านป้องคุณไสยได้ กล่าวคือเวลาท่านกับลูกศิษย์พายเรือบิณฑบาตร มักมีหัวหมูหรือชิ้นเนื้อตกมาจากอากาศ สิ่งนั้นคือคุณไสย์ที่ปล่อยมาแล้วถูกตบะฌานของหลวงพ่อแก้ได้ก็จะตกมาเป็นของกินได้ และลูกศิษย์จะแย่งกันกินเพราะถือว่าหากได้กินคุณไสยแก้แล้ว เหล่านี้จะโดนคุณไสย์ชนิดนั้นทำร้ายได้อีก
ยิ่งวัวธนูของท่านนอกจากสู้กับโหงพรายได้สบายบรือแล้วยังเฝ้าบ้านได้เป็นอย่างดี ชื่อเสียง หลวงพ่อชุ่ม ท่านมาโด่งดังมากในคราวที่ไฟไหม้ตลาดบ้านโป่งปี พ.ศ.๒๔๙๗ ไฟไหม้วอดทั้งตลาดเหลือรอดมาเพียงหลังเดียว คือบ้านเจ็กไช้ ซึ่งมีรูปหลวงพ่อชุ่มแขวนไว้ในบ้าน นับว่าเป็นเรื่องที่ฮือฮามากที่เดียว ที่ไฟเมื่อไหม้มาถึงบ้านเจ็กใช้แต่กลับไม่ไหม้ และกระโดดข้ามไหม้หลังต่อไปจนหมดทั้งตลาด
ในอดีตนั้นหลวงพ่อชุ่มถือว่าเป็นพระเถราจารย์ที่ชาวบ้านโป่งนับถือมาก และที่สำคัญหลวงพ่อชุ่มคือพระอาจารย์คนสำคัญที่ถ่ายทอดวิชาให้กับหลวงพ่อเงินและหลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม ด้วยเป็นทั้งอาจารย์และพระน้าชาย หลวงพ่อเงินได้ใช้ชีวิตในตอนอุปสมบทเรียนวิชาจากหลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อและหลวงพ่อเกิด วัดโพธิ์บัลลังค์ จนถึงขนาดว่าหลวงพ่อเงินได้รับการยอมรับจากพระเกจิยุคเดียวกันในเขตอำเภอบ้านโป่งอย่างมาก
วัดท่ามะเดื่อ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองด้านตะวันออก ที่บ้านสวนกล้วย อ.บ้านโป่ง แต่เดิมบริเวณวัดมีต้นมะเดื่อใหญ่อยู่ที่ท่าน้ำชาวบ้านจึงเรียกชื่อว่า วัดท่ามะเดื่อ
ต่อมา สมเด็จพระธีรญาณมุนี อดีตครั้งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอบ้านโป่ง ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดอุทุมพรทาราม คำว่า อุทุมพรทาราม เป็นคำภาษาบาลีมีความหมายว่า ต้นมะเดื่อ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดท่ามะเดื่อ จนถึงปัจจุบัน
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙ (ร.ศ.๑๒๑) ครั้งหลัง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ ปัจจุบัน มีพระครูประสิทธิ์สุตกิจ สามตถิโก เป็นเจ้าอาวาส
วัดท่ามะเดื่อ เป็นวัดที่ตั้งมากว่าร้อยปีไม่ปรากฏนามผู้สร้าง เล่ากันว่าบริเวณที่ตั้งวัดแต่เดิมเป็นป่ารกทึบแนวเดียวกับวัดบ้านโป่ง มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มาก มีต้นมะเดื่อใหญ่ริมแม่น้ำแม่กลอง สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในเขตอำเภอบ้านโป่งหลายแห่ง ที่หนองปลาดุก หนองตะแคงได้สร้างทางรถไฟไปจังหวัดกาญจนบุรีทหารอเมริกันทิ้งระเบิดทางเครื่องบิน โจมตี ทหารญี่ปุ่น ๔ ลูก ถูกต้นโพธิ์ใหญ่ที่ท่าวัด มีพระภิกษุบาดเจ็บจากแรงระเบิดหลายรูปด้วยกัน
ในอดีตบริเวณวัดท่ามะเดื่อ เป็นป่ารกร้างน่ากลัว ชาวบ้านเล่าขานกันว่ามีผีดุ เมื่อเดินผ่านหน้าวัดจะ ถูกผีหลอกเป็นประจำ ท้ายที่สุด หลวงพ่อชุ่ม ได้ใช้วิทยาคมปราบผีปีศาจทั้งหลายจนหนีกระเจิงสร้างความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชุมชนแห่งนี้
ตามประวัติก่อนที่หลวงพ่อชุ่มจะมาปกครอง วัดท่ามะเดื่อ มีพระโยคาวจร ผู้ถือธุดงค์ผ่านมาแวะอาศัยเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ นอกฤดูพรรษา ในบางคราวมีพระภิกษุบางรูปอยู่จำพรรษา แต่ที่สุดก็จาริกจากไป สิ่งก่อสร้างทั้งหมดได้เริ่มขึ้นสมัยหลวงพ่อชุ่มมาอยู่วัดท่ามะเดื่อ ทั้งอุโบสถ กุฏิสงฆ์ หอฉัน ศาลาการเปรียญหลังเก่า ซึ่งเจ้าอาวาสวัดท่ามะเดื่อรูปปัจจุบัน บูรณะในสิ่งที่ชำรุดไปบ้างแล้ว
◉ มรณภาพ
หลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เศษ แม้จะละสังขารไปแล้ว แต่ความเลื่อมใสศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อชุ่ม ยังคงปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้
◉ วัตถุมงคล
หลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ สร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลัง ที่มีชื่อเสียง โด่งดังคือ ควายธนูเป็นที่กล่าวขวัญกันว่า ครั้งหนึ่งมีโจรเข้าไปขโมยควายของญาติที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับหลวงพ่อ หลวงพ่อชุ่มได้เสกควายธนูไล่ จนโจรหนีหายเตลิดเปิดเปิง แม้แต่สัตว์มีพิษ เช่น งูตะขาบ แมงป่อง ยังไปอยู่ร่วมห้อง โดยที่ไม่ทำอันตรายหลวงพ่อแม้แต่น้อย
นอกจากนี้ยังมีเหรียญ หลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ หรือ วัดอุทุมพรทาราม จ.ราชบุรี รุ่นแรก เนื้อทองแดง เป็นเหรียญที่สร้างปี พ.ศ.๒๔๖๓ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ ด้านหน้าเหรียญตรงกลางเป็นรูปหลวงพ่อชุ่มครึ่งองค์ หน้าตรง และมีวงรีล้อมรอบรูป วงรีด้านในใต้รูปเป็นโบว์ซ้อนระบุปีที่สร้าง”๒๔๖๓” ขอบเหรียญด้านหน้าเขียนอักขระขอมล้อมรอบวงรีชั้นใน ด้านหลังเหรียญเป็นยันต์และเขียนเป็นภาษาไทยว่า “ไว้เปนที่ระฤก” ด้านข้างเหรียญป็นแบบตัดอัดกระบอก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก amuletheritage.com