ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อชื่น สุจิตโต
วัดมาบข่า
อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง
พระครูพิพิธวรญาณ (หลวงพ่อชื่น สุจิตโต) วัดมาบข่า พระเกจิอาจารย์ผู้มีฌานสมาบัติสูง เชี่ยวชาญทางด้านวิปัสนากรรมฐานแห่งทะเลตะวันออก จ.ระยอง
◉ ชาติภูมิ
พระครูพิพิธวรญาณ (หลวงพ่อชื่น สุจิตโต) วัดมาบข่า เกิดเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำเดือน ๘ ตรงกับวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ปีมะเมีย ท่านเป็นชาวมาบข่าโดยกำเนิด เกิดที่บ้านห้วงตาถึงหมู่ ๔ ต.มาบข่า อ.บ้านค่าย จ.ระยอง และได้ย้ายไปอยู่บ้านหนองผักหนาม(บริเวณท้องที่เดียวกัน) บิดาชื่อ “เหน่ง” มารดาชื่อ “จ้อย บุญทีวะ” มีพี่น้องด้วยกัน ๗ คน คือ
๑.หลวงพ่อชื่น บุญทีวะ (หลวงพ่อชื่น สุจิตโต)
๒.นางแวว
๓.นางเป้า
๔.นางปุ้ย
๕.นายบุญมาก
๖.นางเชย
๗.เป็นผู้ชายคลอดมาได้ ๕ วันแล้วเสียชีวิต
ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนาและเก็บของป่าขาย มีงานอดิเรกคือการจักสานเล็กๆ น้อย ๆ
◉ ปฐมวัย
ในเยาว์วัยท่านมีความจำเป็นเลิศกว่าเด็กในวัยเดียวกันและชอบฟังเทศน์มหาชาติมากโดยเฉพาะพระเวสสันดรชาดก โดยจะจดจำนำมาร้องเล่นตามประสาเด็ก แถมเสียงดีเสียด้วย ด้านการศึกษาได้หาความรู้จากวัดเหมือนกับคนทั่วๆไปในสมัยนั้น เพียงแต่ท่านจะตั้งใจเรียนกว่าคนอื่นวิ่งเล่นกัน โดยได้เรียนเพิ่มเติมกับหลวงพ่อจาด วัดบ้านสวน จ.ชลบุรี ซึ่งมาจำวัดอยู่ที่วัดมาบข่า จนท่านอ่านออกเขียนได้อย่างคล่องแคล่ว
เมื่ออายุ ๑๙ ปีได้ถูกคัดเลือกไปเป็นทหารเรืออยู่ ๒ ปี ช่วงที่เป็นทหารอยู่นั้นในยามว่างท่านจะท่องหนังสือสวดมนต์จนจำได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเจ็ดตำนาน, สิบสองตำนาน, ธรรมจักรกัปวัตนสูตรและสมัยสูตรเพราะตั้งใจว่า เมื่อพ้นภาระหน้าที่รับใช้ชาติเมื่อใดจะขอบวชทันที ดังนั้น พอปลดประจำการกลับมาบ้านเพียง ๓ วัน ท่านก็บอกกับบิดาและมารดาว่าจะบวช ทำให้โยมทั้งสองปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่ง
◉ อุปสมบท
หลังจากนั้นในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๘ ท่านจึงเข้าอุปสมบท ณ วัดทับมา จ.ระยอง โดยมี หลวงพ่อขาว เจ้าอาวาสวัดทับมา ในสมัยนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อทองอยู่ เจ้าอาวาสวัดมาบข่า เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อจี๊ด เจ้าอาวาสวัดเขาโบสถ์ (เขาซากแขก) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และ หลวงพ่อหิน วัดหนองสนม เป็นพระอาจารย์บอกอนุศาสน์ ได้รับฉายาว่า “สุจิตโต”
หลังบวชแล้วท่านได้อยู่รับใช้หลวงพ่อทองอยู่ที่วัดมาบข่ามาโดยตลอด โดยช่วงหนึ่งได้ไปจำพรรษาที่วัดเขาโบสถ์นาน ๒ เดือนเพื่อเรียนภาษาขอมกับหลวงพ่อจี๊ดจนอ่านออกเขียนได้ และได้เริ่มศึกษาพระปริยัติธรรมครั้งแรกที่วัดป่าประดู่ จ.ระยองโดยมีหลวงพ่อแอ่วเป็นครูสอน
หลวงพ่อชื่น เป็นพระที่ดำรงตนอย่างสมถะ ไม่ยึดติด หรือมุ่งหวังในเรื่องลาภยศสรรเสริญ เรื่องสมศักดิ์หรือตำแหน่งหน้าที่ ท่านไม่เคยใฝ่ฝันดิ้นรนขวนขวายเพราะท่านถ่อมตนอยู่เสมอว่า หนังสือท่านไม่ค่อยเก่ง แต่ก็ต้องยอมรับและปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีตลอดมา โดยตำแหน่งที่ได้รับคือ
ในปี พ.ศ.๒๔๘๖ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง
ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นพระครูชั้นประทวนสมณศักดิ์
ในปี พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นเจ้าคณะตำบลหนองละลอก
ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นตรีที่ “พระครูพิพิธวรญาณ”
ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อชื่น มีอุปนิสัยอ่อนโยน พูดจาเรียบร้อย นุ่มนวลเสียงทุ้มลึกกังวานแจ่มใสแต่แฝงไว้นุ่มนวลเสียงทุ้มลึกกังวาน เป็นพระที่สุขุม มีสติปัญญาความคิดปฏิภาณเฉียบแหลมว่องไว สามารถแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ทันที แม้จะเป็นพระที่หัวโบราณ แต่ก็ทันสมัยอยู่เสมอ อีกทั้งมีเมตตาธรรมสูง เวลาคุยกับญาติโยมจะนั่งพับเพียบไม่ค่อยเปลี่ยนอิริยาบถ กล่าวคือนั่งท่าไหนก็ท่านั้นจนเสร็จกิจกรรมนั้นๆ หลวงพ่อชื่น วัดมาบข่า ไม่เลือกชนชั้นว่าผู้ดีหรือยากจน และพบหลวงพ่อได้ทุกโอกาส
ในด้านวิชาอาคมและการปฏิบัติ หลวงพ่อชื่น ได้รับการถ่ายทอดวิชาจาก หลวงพ่อขาว วัดทับมา, หลวงพ่อทองอยู่ วัดมาบข่า และเกจิดังๆ ในยุคนั้นอีกหลายองค์ แต่ที่โดดเด่นเป็นที่รับรู้โดยทั่วก็คือ ท่านมีความเชี่ยวชาญด้านหมอแผนโบราณ,หมอกระดูก ใครเจ็บป่วยก็จะมาตามท่านไปรักษา ไม่ว่าจะเวลาใด หรือดึกแค่ไหนก็ไม่เคยปฏิเสธ ท่านจะรักษาให้ทุกรายจนเป็นที่นับถือเลื่อมใสของชาวบ้าน นอกจากนี้ น้ำมนต์ไล่ภูตผีของท่านกล่าวขานกันว่าขลังมาก
ช่วงบั้นปลายชีวิตในปี พ.ศ.๒๕๒๑ ได้เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นกับท่าน ครั้งหนึ่งท่านมีกิจนิมนต์ ๒ แห่งคือช่วงเพลที่โรงงานโม่แป้งมัน (มาบข่า) และช่วงเย็นที่สวนศรีเมือง เหตุการณ์ที่โรงโม่แป้งมัน หลังจากทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ฉันภัตตาหาร และให้พรแล้ว ท่านได้สั่งให้เดินเครื่องโม่แป้งแล้วเริ่มประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เมื่อใกล้จะเสร็จเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น เมื่อสายพานเย่อเอาจีวรจนดึงตัวของท่านติดกับสายพานซึ่งมีอยู่ ๓ เส้นๆ ละ ๘ นิ้ว แม้ท่านจะดึงจีวรกลับแต่สู้แรงเครื่องไม่ได้ จึงท่องคาถาแคล้วคลาดว่า “ยัมมะโข ภะคะวันตัง สะระณังคะตาติ อุทธังอัทโธ นะโมพุทธายะ พุทธังปัดคลาดแคล้ว ธังมังปัดคลาดแคล้ว สังฆังปัดคลาดแคล้ว พระเจ้าเกิดแล้ว อิติปิโส ภะคะวาติ”
◉ มรณภาพ
ลุถึงปี พ.ศ.๒๕๒๓ อาการของท่านยังทรงๆ อยู่เช่นเดิมและมีโรคปวดท้องเพิ่มขึ้นมาอีก แม้จะฉันยาหม้อก็ไม่ทุเลา กลับมีอาการหนักขึ้นเรื่อยๆจนต้องเข้าโรงพยาบาลสัตหีบอีกครั้ง อยู่ได้ ๑๐ วันแพทย์ก็ยังหาสาเหตุของโรคไม่พบ จึงนำอุจจาระไปตรวจพบว่ามีเลือดปนออกมา เมื่อใช้สายยางดูดเอาน้ำในกระเพาะอาหารออกมาตรวจอีกครั้ง ปรากฏว่ามีเลือดสดๆ ปะปนมากับน้ำนั้นด้วย จึงสันนิษฐานว่า ท่านเป็นแผลในกระเพาะอาหารและต้องผ่าตัด แต่ท่านไม่ยอมให้ผ่าตัดและขอกลับวัด ทางโรงพยาบาลไม่ยอมให้กลับ กระทั่งอาการหนักขึ้นท่านจึงยอมให้ผ่าตัด
ผลปรากฏว่า ท่านเป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ทะลุโดยแผลที่ทะลุนั้นอยู่ตรงถุงน้ำดีและตับอ่อนพอดีไม่สามารถจะตัดต่อลำไส้ได้จึงอุดช่องเดิมแล้วลัดตรงข้ามแผลไปออกลำไส้ เมื่อท่านฟื้นขึ้นมาอาการก็ยังไม่ดีขึ้นต้องนำเข้าห้องไอซียูอีกครั้ง สุดท้ายท่านก็มรณภาพไปด้วยอาการสงบเมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๓ สิริอายุ ๘๗ ปี
◉ ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคล หลวงพ่อชื่น วัดมาบข่า มีจัดสร้างไม่กี่รุ่น ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือเหรียญรุ่นแรก ปีพ.ศ.๒๕๑๑ ซึ่งมีหลายบล็อก แต่ที่เล่นกันในพื้นที่เป็นสากลคือ “บล็อกหน้าหนุ่ม เนื้ออัลปาก้า” ถ้าเป็นเหรียญชุบนิกเกิล หน้าดูใหญ่ๆ จะเล่นหากันถูกกว่ามาก แต่ที่ต้องระวังคือเหรียญเก๊ที่ทำออกมานานนับสิบปีแล้ว เคยได้ยินชาวบ้านในแถบมาบตาพุด กล่าวถึงเหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อชื่น ซึ่งคนในพื้นที่ยกนิ้วโป้งให้ว่ามีประสบการณ์มาก เคยมีการเอาไปลองยิง ปรากฏว่า”ยิงไม่ออก” ส่วนรูปหล่อโบราณ สร้างประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๗ เป็นหล่อแบบโบราณ เทหล่อกันในวัด ประสบการณ์ด้านแคล้วคลาดดีเหมือนกัน
สำหรับนักเล่นสายตรงแล้ว บอกว่าพระเครื่องของท่าน “สุดยอด” ทุกอย่างขอเพียงให้เป็นของแท้ แม้ราคาเช่าหาจะไม่สูงเหมือนเกจิระยององค์อื่นๆ แต่ก็หายากขึ้นทุกวัน เพราะคนพื้นที่ตามเก็บหมด ที่สำคัญ เชื่อกนัว่าหากมีวัตถุมงคลของท่าน ชีวิตจะสดชื่น ทำการใดจะราบรื่นสมกับชื่อของท่าน
“หลวงพ่อชื่น สุจิตโต” หรือ พระครูพิพิธวรญาณ อดีตเจ้าอาวาสวัดมาบข่า อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง ท่านเป็นเกจิ ๕ เสือแห่งระยองที่อาวุโสใกล้เคียงกันประกอบด้วย
๑.หลวงพ่อทาบ วัดกระบกขึ้นผึ้ง
๒.หลวงพ่อหิน วัดหนองสนม
๓.หลวงพ่อหอม วัดชากหมาก
๔.หลวงพ่อชื่น วัดมาบข่า
๕.หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่
ทั้งนี้ ท่านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโด่งดังในภาคตะวันออกมานานก่อน หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ประมาณ ๑๐ ปี เคยได้รับนิมนต์เข้าร่วมงานพุทธาภิเษกพระเครื่องใหญ่ๆ เช่น พิธี ๒๕ พุทธศตวรรษ, พิธีวัดประสาทบุญญาวาส, พิธีวัดท่าเกวียน รวมทั้งพิธีพระกริ่งไชยคีรี ของหลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว นครปฐม ที่รวมพระเกจิอาจารย์ทรงวิทยาคมทั่วประเทศทุกจังหวัด แต่ท่านเป็น ๑ ใน ๙ เกจิที่ได้รับนิมนต์ให้ปลุกเสกเม็ดกริ่ง ที่จะใช้บรรจุในพระกริ่งไชยคีรี