ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อจ้อย จันทสุวัณโณ
วัดศรีอุทุมพร (วังเดื่อ)
ต.หนองกรด อ.เมือง จ.นครสวรรค์
หลวงพ่อจ้อย จันทสุวัณโณ พระเถระนักพัฒนาที่มีอายุกาลพรรษาสูงอีกรูปของนครสวรรค์ วัดศรีอุทุมพร (วังเดื่อ) ต.หนองกรด อ.เมือง จ.นครสวรรค์
◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อจ้อย จันทสุวัณโณ นามเดิมชื่อ “จ้อย” (ภาษาลาวพื้นบ้านแปลว่าผอม บางคนก็เรียกท่านว่าหลวงพ่อจ่อย ซึ่งก็แปลว่าตัวเล็ก) เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ เกิดในตระกูล “ปานสีทา” ที่ ต.พลวงสองนาง อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี
◉ ปฐมวัย
ในช่วงวัยเยาว์ได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาจบชั้น ป.๔ ที่โรงเรียนดอนหวาย อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี แต่ด้วยครอบครัวมีฐานะยากจน ต่อมาได้โยกย้ายที่ทำกินไปถึงบ้านวังเดื่อ ต.หนองกรด อ.เมือง จ.นครสวรรค์
◉ อุปสมบท
หลวงพ่อจ้อย จันทสุวัณโณ เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๖ ที่วัดดอนหวาย ต.พลวงสองนาง อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี โดยมีพระครูปลัดตุ้ย เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์บุญธรรม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ บุญตา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “จนฺทสุวณฺโณ”
อยู่จำพรรษาที่วัดดอนม่วง อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ สอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ.๒๔๗๘ แล้วย้ายมาจำพรรษาที่วัดพรหมจริยาวาส อ.เมือง จ.นครสวรรค์ สอบได้นักธรรมชั้นโท พ.ศ.๒๔๗๙ หลังจากนั้นได้เดินทางไปวัดระฆังโฆสิตาราม ก่อนไปศึกษาเล่าเรียนพระอภิธรรมที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เขตพระนคร
ต่อมาชาวบ้านวังเดื่อเห็นว่าวัดศรีอุทุมพรขาดเจ้าอาวาส จึงรวมตัวกันไปกราบอาราธนานิมนต์ให้หลวงพ่อจ้อยกลับมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดศรีอุทุมพร
พ.ศ.๒๔๘๕ ท่านจึงกลับมาเป็นเจ้าอาวาส วัดศรีอุทุมพร
หลวงพ่อจ้อย ท่านมีความรู้ความชำนาญในการเผยแพรีธรรมแก่พุธบริษัท และพระสงฆ์ที่ไปอยู่ปริวาสเป็นอย่างดี นอกจากนี้ท่านยังมีความรู้ความชำนาญในการก่อสร้างทุกชนิด
หลวงพ่อจ้อย ได้ศึกษาวิทยาคม รวมทั้งวิธีการทำวัตถุมงคลจากพระเถระผู้มีชื่อเสียงหลายรูป เช่น หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เรียนวิชาการทำตะกรุดโทน ผ้าประเจียด การทำน้ำมนต์ การแก้คุณไสย ยันต์ตรีนิสิงเห และยันต์มหาอำนาจ
เรียนการทำผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงพุทธคุณ ผงมหาราช จาก หลวงพ่อฉาบ วัดคลองจันทร์ อ.หันคา จ.ชัยนาท ท่านได้แลกเปลี่ยนวิชาและเรียนพระคาถานะ ๑๐๘ หัวใจธาตุทั้ง ๔ หัวใจคาถาต่างๆ จาก หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม อ.เมือง จ.นครปฐม
นอกจากนี้ ยังไปฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชาการทำมีดหมอ วิธีสร้างสิงห์งาแกะ วิชาการทำน้ำมนต์จากหลวงพ่อเดิม วัด หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
รวมทั้งศึกษาวิชาด้านการหุงน้ำมัน วิชาการประสานกระดูก ท่านเรียนจากหลวงพ่ออินทร์ วัดเกาะหงษ์ ต.ตะเคียนเลื่อน อ.เมือง จ.นครสวรรค์
◉ ลำดับงานปกครอง
ในปี พ.ศ.๒๔๘๕ เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีอุทุมพร
ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม
ในปี พ.ศ.๒๔๙๕ แผนกบาลี
ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฎฐาน
ในปี พ.ศ.๒๕๑๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน
ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ ได้รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักรและประกาศเกียรติคุณในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประเภทส่งเสริมการพัฒนาชุมชนโดยใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนา จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
มีกิจวัตรที่สำคัญคือ การบิณฑบาต สวดมนต์ ทำสมาธิ ปฏิบัติกัมมัฏฐาน อีกทั้งทำงานด้านการก่อสร้างถาวรวัตถุในวัด การพัฒนาสร้างถนน ทำบ่อน้ำ เหมือง–ฝายกักเก็บน้ำให้ประชาชนได้มีน้ำใช้ทำการเกษตรใช้ในการอุปโภคบริโภค
ยึดถือคติว่า เวลามีค่ายิ่งจึงยิ่งเร่งทำงานตามที่ท่านตั้งใจเพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งงานหลวง งานราษฎร์ไม่ได้ขาด
พ.ศ.๒๕๓๗ สร้างหอสมุดเฉลิมพระเกียรติฯ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานเปิด รวมทั้งเยี่ยมชมโครงการต่างๆ ของหลวงพ่อจ้อย
ด้านวัตถุมงคลของหลวงพ่อจ้อยมีมากมายหลายชนิด หลายรุ่น ทั้งรูปหล่อ รูปถ่าย เหรียญ พระกริ่ง พระผง พระสมเด็จ พระพรหม ฤๅษี พระรอด พญาครุฑ ตะกรุด ผ้ายันต์ เสื้อยันต์ ธง มีดหมอ งาแกะ รูปนางกวัก เป็นต้น
สร้างเอง เสกเอง เพียงรูปเดียว ไม่เคยจัดพิธีปลุกเสกหมู่ หรือนำของไปให้ใครช่วยปลุกเสก มีบางส่วนที่คณะกรรมการวัดจำเป็นต้องเปิดให้เช่าบูชาเพื่อหาทุนก่อสร้างถาวรวัตถุในวัด มาทำถนน ขุดบ่อน้ำ สร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างอาคารเรียน ศาลาการเปรียญ หอสมุด และอื่นๆ อีกมากมาย
◉ มรณภาพ
ในช่วงบั้นปลายชีวิต หลวงพ่อจ้อย จันทสุวัณโณ วัดศรีอุทุมพร สุขภาพท่านเริ่มอ่อนแอลง จนกระทั่งวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ ท่านมรณภาพอย่างสงบ สิริอายุรวมได้ ๙๔ ปี พรรษา ๗๔