วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงพ่อจาด คังคสโร วัดบางกระเบา อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อจาด คังคสโร

วัดบางกระเบา
อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

หลวงพ่อจาด คังคสโร วัดบางกระเบา อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี
หลวงพ่อจาด คังคสโร วัดบางกระเบา อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

พระครูสิทธิสารคุณ (หลวงพ่อจาด คังคสโร) พระเกจิเรืองวิทยาคมแห่งวัดบางกระเบา อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

◉ ชาติภูมิ
พระครูสิทธิสารคุณ (หลวงพ่อจาด คังคสโร) นามเดิมชื่อ “จาด วงษ์กำพุช” เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๑๕ ตรงกับวันอังคาร เดือนสี่ ปีวอก แรม ๖ ค่ำ ที่บ้านดงน้อย อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา บิดาชื่อ นายปอ (บางตำราว่าชื่อ นายเป๊อะ) วงษ์กำพุช ส่วนมารดานั้นไม่ทราบชื่อ เนื่องจากถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเยาว์

ต่อมาบิดาจึงยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของนายถิน และนางหลิน สีซัง คหบดีชาวบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

◉ อุปสมบท
เมื่อท่านอายุครบ ๒๐ ปี บิดาบุญธรรมนำท่านไปฝากกับพระอาจารย์ที่วัดบ้านสร้าง เพื่อเรียนขานนาค และรับใช้ปรนนิบัติ เมื่อได้เป็นเวลาพอสมควร ในวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖ พิธีอุปสมบทที่พัทธสีมา วัดบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี โดยมี พระครูปราจีนบุรี แห่งวัดหลวงปรีชากุล เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์อ้วน วัดบ้านสร้าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์หลี วัดบางคาง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “คังคสโร

ต่อมาได้เดินทางไปโปรดโยมบิดา ที่วัดเกาะแก้วเวฬุวัน ต.ดงน้อย อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา แล้วได้จำพรรษาที่วัดดังกล่าว

ขณะที่จำพรรษาที่วัดเวฬุวัน มีโอกาสศึกษาวิชาจากพระอาจารย์จัน (บางตำราว่าชื่อ พระอาจารย์จีน) ซึ่งเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น และยังเป็นผู้สอนภาคปฏิบัติ ฝึกกรรมฐานจนแก่กล้า

ครั้นพรรษาที่สอง จึงได้ติดตามพระอาจารย์อ้วนไปศึกษาพระปริยัติธรรมกับพระอาจารย์อยู่ วัดไกรสีห์ บางกะปิ กทม. และเมื่อพรรษาที่สี่ ท่านจึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดบางกระเบา

หลังจากนั้นจึงได้ออกธุดงค์อยู่ในป่าเป็นเวลาหลายปี ได้พบพระภิกษุมากมาย อาทิ หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ จ.ชลบุรี, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง จ.นครปฐม เป็นต้น

ศึกษาวิชาหลายแขนง เช่น คาถาการปล่อยคุณไสย เมตตามหานิยม และอยู่ยงคงกระพัน

เมื่ออายุประมาณ ๔๐ ปี เดินทางกลับไปจำพรรษา ณ วัดบางกระเบา อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

เป็นพระที่เชี่ยวชาญวิทยาคม โดยเฉพาะในด้านวิชามหาอุดอยู่ยงคงกระพัน แต่จะไม่แสดงตนอวดวิชา แต่จะใช้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น

ยุคสงครามมหาเอเชียบูรพา วัตถุมงคลหลวงพ่อจาดจัดสร้างกันหลายครั้ง แต่ครั้งที่ยิ่งใหญ่และสร้างกันเป็นจำนวนมาก เกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ซึ่งพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวิทยาคมทั่วประเทศ สร้างวัตถุมงคลแจกทหาร

หลวงพ่อจาด ได้รับอาราธนาจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ร่วมประกอบพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลัง เป็นเหรียญนั่งเต็มองค์ ด้านหลังเป็นพระมหาอุตม์ นั่งอยู่กลางดอกบัว มีทั้งเนื้อเงินลงยาและทองแดง

เกียรติคุณได้มาประจักษ์ขึ้น เมื่อเครื่องบินฝรั่งเศสมาทิ้งระเบิด แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเกิดปาฏิหาริย์เลื่องลือไปทั่ว จนได้รับสมญานามว่าเทพเจ้าแห่งภาคตะวันออก

หลวงพ่อจาด คังคสโร วัดบางกระเบา ท่านดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พระภิกษุทั่วไป และเป็นที่เคารพนับถือของพระเถระผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ)

◉ ลำดับสมณศักดิ์และงานปกครองคณะสงฆ์
ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ พ.ศ.๒๔๕๗ เป็นเจ้าคณะแขวง อ.บ้านสร้าง
ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ เป็นพระอุปัชฌาย์
ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ที่ พระครูสิทธิสารคุณ ระดับชั้นโท

หลวงพ่อจาด คังคสโร วัดบางกระเบา อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี
หลวงพ่อจาด คังคสโร วัดบางกระเบา อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

◉ มรณภาพ
หลวงพ่อจาด คังคสโร วัดบางกระเบา ท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๙ สิริอายุรวมได้ ๘๕ ปี พรรษา ๖๕

◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา จ.ปราจีนบุรี พระเกจิอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมขลังที่สุดรูปหนึ่งของเมืองปราจีนบุรี ว่ากันว่า ท่านได้เดินธุดงค์ไปศึกษาวิชาอาคมถึงประเทศเขมร จนเชี่ยวชาญในคาถาอาคมอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะวิชาการถอนคุณไสย และวิชามหาอุด คงกระพันชาตรี ท่านได้ปลุกเสกวัตถุมงคลจนโด่งดังไปทั่ว มีลูกศิษย์ให้ความเคารพนับถือทั่วมืองไทย รวมถึงข้าราชการนายทหารตำรวจผู้ใหญ่สมัยนั้น

และที่สำคัญสุด ท่านได้เป็นที่พึ่งของชาวบ้านที่มักจะถูกคุณไสยจากอาจารย์ชาวเขมรที่ชอบลองวิชาปล่อยของในสมัยก่อน เป็นต้องถูกหลวงพ่อสยบจนสิ้นฤทธิ์ทุกรายไป ด้วยคุณประโยชน์ที่ หลวงพ่อจาด สร้างให้กับวัด และเป็นที่ศรัทธาของประชาชน

สำหรับวัตถุมงคลของหลวงพ่อจาด ที่ได้รับความนิยมกันมาก มีราคาสูง และหายาก คือ เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นเหรียญกลม รูปหลวงพ่อจาดครึ่งองค์ ด้านหลังเป็นรูปพระปิดตา นอกจากนี้ยังมี เหรียญรุ่น ๒ พ.ศ.๒๔๘๕ มีหลากหลายแบบพิมพ์ เหรียญรุ่น ๓ รูปเหมือนลอยองค์ พระกริ่งออกที่วัดบางหอย ตะกรุด เสื้อยันต์ ผ้ายันต์ ฯลฯ

เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา รุ่นแรก
เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา รุ่นแรก

วัตถุมงคลของหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา ได้รับความนิยมในทุกรุ่นที่ท่านปลุกเสก เพราะชื่อเสียงที่เชื่อถือได้ทางมหาอุด คงกระพันชาตรี ยังรวมถึงเมตตาค้าขายก็มีอย่างครบถ้วน เป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับนิมนต์นั่งปรกปลุกเสกในพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ๆ ทุกครั้ง

เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา ปี พ.ศ.๒๔๘๔ นี้ เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสทำบุญฉลองอายุครบ ๗๐ ปี เนื้อหามวลสาร เท่าที่พบมี เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง ซึ่งจำนวนการจัดสร้างแต่ละเนื้อไม่มากนัก พุทธลักษณะ ลักษณะเป็นเหรียญกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ ซม. หูเชื่อม ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อจาดครึ่งองค์ มีอักขระขอมด้านบนเป็นพระนามของพระพุทธเจ้า ๑๖ พระองค์ อ่านว่า “นะมะนะอะ นอกอนะกะ กอออนออะ นะอะกะอัง” และอักษรไทยโดยรอบว่า “ศรีสร้างสนองพระคุณ พ.ศ.๒๔๘๔ พระครูสิทธิสารคุณ (จาด) ปีที่ ๗๐ แห่งอายุขัย” ด้านหลัง ตรงกลางเป็นรูป “พระปิดตา” อยู่ภายในวงกลม มีอักขระขอมคำว่า “อุณาโลม” และ “มะ อะ อุ” มีอักษรภาษาไทยด้านล่างว่า “จ.เจริญลาภ” ส่วนรอบนอกของวงกลมเป็นกลีบบัวบานซ้อนกันอย่างสวยงาม

เหรียญหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา เจริญลาภ
เหรียญหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา เจริญลาภ

นอกจากนี้ยังมี เหรียญที่สร้างในปี พ.ศ.๒๔๙๕ ที่ระลึกสำหรับคณะกรรมการวัด

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊ม รูปทรงคล้ายน้ำเต้า มีหู ด้านหน้าเหรียญตรงกลางเป็นรูปเหมือน หน้าตรง จีวรลงยาสีเหลืองอยู่ในซุ้มรูปทรงเสมา ด้านข้างเป็นลายกนก ด้านบนเป็นยันต์อุณาโลม ด้านล่างเขียนคำว่า “(จาด) พระครูสิทธิสารคุณ” ขอบเหรียญลงยาเป็นสีต่างๆ

เหรียญ หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา พ.ศ.๒๔๙๕
เหรียญ หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา พ.ศ.๒๔๙๕

ด้านหลัง มีข้อความว่า “ที่ระลึกคณะกรรมการ วัดบางกระเบา ๒๔๙๕” ด้านบนข้อความมีอักขระยันต์มหาอุด

ด้านหน้ามีแบบเดียว แต่ด้านหลังมี ๒ แบบ คือ แบบหลังหนังสือ “ที่ระลึกคณะกรรมการ วัดบางกระเบา ๒๔๙๕” มีทั้งแบบติดเข็มกลัดและไม่ติดเข็มกลัด

ส่วนอีกแบบหลังเรียบ โดยหลวงพ่อจาดลงจารอักขระยันต์ให้ทุกเหรียญ ได้รับการยกย่องเป็นเหรียญยอดนิยมของ จ.ปราจีนบุรี